- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 19 October 2014 22:09
- Hits: 5100
วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8725 ข่าวสดรายวัน
'บิ๊กตู่'ยัน ไม่เห็นม็อบประท้วง ปลื้มดอกไม้-ให้กำลังใจ ได้จับเข่านายกฯอีก3ชาติ ปิ๊ง'เดินหน้าไทย 2025' สนช.เลื่อนถอด 2 อดีตปธ.
ทวิภาคี - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯไทย เข้าหารือทวิภาคีกับสมเด็จฮุนเซน นายกฯกัมพูชา ระหว่างประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป หรืออาเซม ครั้งที่ 10 ที่นครมิลาน ประเทศอิตาลี เมื่อ17 ต.ค. |
สนช.ถกลับ 3 ชั่วโมงครึ่งกรณีถอด ถอน"นิคม-สมศักดิ์"ก่อนจะงดใช้ข้อบังคับและเลื่อนไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อให้สมาชิกได้มีเวลาศึกษาทำความ เข้าใจ ปชป.ผิดหวังอัดพวกขี้กลัว ด้าน "บิ๊กตู่" ขึ้นเวทีอาเซมกล่าวถ้อยแถลงด้วยภาษาไทย เรียกร้องให้ยุโรป-เอเชียตระหนักเรื่องการขาด แคลนอาหาร ปลื้มต่างชาติให้การต้อนรับและเข้าใจ เผยมีประเทศในยุโรปมาขอหารือด้วย แต่ไม่ขอบอกว่าใคร ยืนยันไม่เห็นม็อบออกมาประท้วงต่อต้านแต่ทราบจากสื่อเท่านั้น พร้อมขอบคุณคนที่นำดอกไม้มาให้กำลังใจ
'บิ๊กตู่'ขึ้นเวทีอาเซม-แถลงภาษาไทย
วันที่ 17 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 16 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 5 ชั่วโมง ที่มิลาน คองเกรส นครมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรปหรืออาเซม ครั้งที่ 10 อย่างเป็นทางการ โดยกล่าวถ้อยแถลงระหว่างการประชุมเต็มคณะเป็นภาษาไทย ในหัวข้อ "การส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินและเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างยุโรป-เอเชีย"ว่า ไทยเป็นสถานที่จัดการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 1 และยังคงมีส่วนร่วมพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสองภูมิภาค จากสถานการณ์โลกที่มีความซับซ้อน จึงต้องทบทวนยุทธ ศาสตร์ที่จะส่งเสริมความร่วมมือทั้งด้านการเงินและเศรษฐกิจ โดยพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย-ยุโรปให้มากยิ่งขึ้น
นายกฯ กล่าวย้ำว่า การขยายความเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย-ยุโรป ต้องอาศัยภาวะความเป็นผู้นำทางการเมือง ยึดมั่นพันธกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งความรู้ความเชี่ยวชาญ ทั้งด้านทรัพยากรและการลงทุน โดยเสนอยุทธศาสตร์ 3 ด้านหลัก 1.การเพิ่มบทบาทความเป็นหุ้นส่วนกับเอเชีย สร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นหนึ่งเดียว มีการร่วมระดมทุน การร่วมลงทุนโครง สร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชีย การถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์และเทคโนโลยี ซึ่งไทยมีโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพัฒนาการขนส่งสินค้า บริการและแรงงาน เพื่อเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ รองรับประชาคมอาเซียนและความร่วมมือเอเชีย-ยุโรปในอนาคต พร้อมพัฒนายุทธศาสตร์เส้นทางการค้าใหม่ๆ
เอเชีย-ยุโรปตระหนักขาดอาหาร
นายกฯ กล่าวว่า 2.การบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดจากความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค มีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคง เพื่อการพัฒนาและความร่วมมือที่ยั่งยืน และ 3.การขยายความตกลงการค้าเสรีระหว่างเอเชียและยุโรป เช่นเดียวกับการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก และข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก โดยให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจได้หารือกัน
ในช่วงท้าย นายกฯกล่าวว่า ขอให้ตระหนัก ถึงปัญหาการขาดแคลนอาหารและพลังงานในอนาคต จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศในเอเชียและอาเซียนเป็นแหล่งผลิตอาหารและพลังงานที่สำคัญ ดังนั้น ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ คือเกษตรกรต้องได้รับการดูแล ทั้งรายได้ ราคาสินค้าเกษตร ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความมั่นคงในอาชีพ พร้อมทั้งส่งเสริมการวิจัยด้วย
ได้คิวหารือกับนายกฯสิงคโปร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการร่วมประชุมอาเซม นายกฯ หารือทวิภาคีกับนาย ลี เซียน ลุง นายกฯสิงคโปร์ โดยพล.อ. ประยุทธ์กล่าวแสดงความยินดีที่ความสัมพันธ์ทั้ง 2 ประเทศมีความใกล้ชิดและราบรื่นในทุกระดับ และทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการทหาร หวังว่าจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไปในทุกโอกาส ไทยพร้อมเข้าร่วมการประชุม Leaders" Retreat ที่สิงคโปร์ หลังจากว่างเว้นไม่ได้ประชุมมานานกว่า 9 ปี
นอกจากนี้ นายกฯยังชี้แจงสถานการณ์ในไทยให้นายกฯสิงคโปร์ทราบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและอยากเห็นภาคเอกชนของสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะการแปรรูปสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว ยางพารา และน้ำตาล รวมทั้งเสนอให้มีความร่วมมือเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ขนส่งระหว่างกัน และเชิญชวนให้สิงคโปร์ร่วมลงทุนในด้านการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงภายในประเทศและอาเซียน
ด้านนายกฯสิงคโปร์ กล่าวว่า เข้าใจสถาน การณ์ของไทย ซึ่งไทยควรเร่งสร้างความมั่นใจ ให้กับนักลงทุนและนักท่องเที่ยว จึงจะเชิญ นายกฯไทยไปอธิบายให้นักธุรกิจของสิงคโปร์ ที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ตอบรับแต่ยังไม่กำหนดวันที่ชัดเจน ขณะที่นายกฯสิงคโปร์ ตอบรับจะมาเยือนไทยเช่นกัน
ต่อด้วยจับเข่า'สมเด็จฮุนเซน'
จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์หารือทวิภาคีกับ สมเด็จฮุนเซน นายกฯกัมพูชา โดยพล.อ. ประยุทธ์ กล่าวขอบคุณการสนับสนุนที่กัมพูชา มีให้กับรัฐบาลไทย ซึ่งแสดงออกถึงมิตรภาพต่อกันในยามยาก จากนี้จะกระชับความสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น โดยไม่ให้ปัญหาชายแดนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งบางพื้นที่จำเป็นเปิดการค้าขายและพัฒนาเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ส่วนการปักปันเขตแดนจะดำเนินการโดยคณะกรรมา ธิการร่วมจัดทำหลักเขตแดนทางบก ไทยเสนอให้มีความร่วมมือแหล่งพลังงานทางทะเลร่วมกัน และจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดนที่ตรงข้ามปอยเปตของกัมพูชา เพื่อให้กัมพูชาข้ามมาทำงานได้สะดวกและเสนอว่ากัมพูชาอาจตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกันในพื้นที่ติดกันด้วยได้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยจะดูแลแรงงานกัมพูชาให้ดีที่สุด ซึ่งปีที่ผ่านมาได้จัดตั้งศูนย์ให้บริการจดทะเบียนเบ็ดเสร็จ และขอบคุณรัฐบาลกัมพูชาที่สนับสนุนเรื่องนี้ นอกจากนี้ไทยจะรับซื้อสินค้าเกษตร เช่น ในพื้นที่ตาพระยาเพื่อช่วยซื้อสินค้าเกษตรนำมาแปรรูปเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งกัมพูชาให้ความสนใจและยืนยันว่าร่วมมือกันต่อไป
ด้านนายกฯกัมพูชา ยังเห็นพ้องกับไทยในการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้า เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว รวมทั้งความร่วมมือด้านพลังงาน และเสนอให้พิจารณาเรื่องนี้ระหว่างที่นายกฯของไทยไปเยือนกัมพูชาในวันที่ 30-31 ต.ค.นี้
พบ'ท่านทองสิง'นายกฯลาว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้หารือทวิภาคี กับนายทองสิง ทำมะวง นายกฯ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศในทุกระดับ เชื่อมั่นว่ามิตรภาพและความร่วมมือจะเพิ่มพูนขึ้น และคณะผู้แทนไทยจะเดินทางไปทอดกฐินพระราชทาน ที่วัดสีสุมังคะลาลาม เมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทน์ ในวันที่ 25 ต.ค. โดยกฐินพระราชทานจะมีส่วนช่วยกระชับความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมระหว่างประชาชนของไทยและลาว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้นำทั้ง 2 ประเทศหารือเรื่องการเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยส่งเสริมการสร้างการคมนาคมระหว่างไทย-ลาว เพื่อเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาคและภูมิภาคให้มากขึ้น และช่วยส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวในภูมิภาค ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวขอบคุณและยินดีต้อนรับนายกฯ ลาว ที่จะเข้าร่วมการประชุมผู้นำ GMS ครั้งที่ 5 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 19-20 ธ.ค.
ขณะที่พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ หารือทวิภาคีกับนายไซอิด ทารีค ฟาเตมี ผู้ช่วยพิเศษของนายกฯ ด้านการต่างประเทศของปากีสถาน โดยพล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวถึงการดำเนินการตามแผนโรดแม็ปที่จะนำประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน และขอบคุณรัฐบาลปากีสถานที่เข้าใจและสนับสนุนสถานการณ์และพัฒนาการทางการเมืองไทย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังย้ำถึงความสำคัญของการจะสานความสัมพันธ์ระหว่างกันทั้งในมิติการเมืองและเศรษฐกิจ และการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ
'ไก่อู'ยังยืนยันม็อบต้านเหยียดผิว
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงสำนักข่าวต่างประเทศรายงานข่าวนายกฯไปร่วมประชุมผู้นำอาเซม ครั้งที่ 10 ที่อิตาลี และนำเสนอภาพและข่าวกลุ่มผู้ชุมนุมที่รวมตัวเพื่อประท้วงพล.อ.ประยุทธ์ โดยผู้ชุมนุม ประกอบด้วยกลุ่มเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย ประชาชนซึ่งมีทั้งชาวอิตาลีและคนไทย มายืนชูป้ายและภาพข้อความประท้วง รวมทั้งมีชาวอิตาลีชูป้ายประท้วงเพื่อเรียกร้องกรณีนาย ฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลีที่ถูกกระสุน ยิงเสียชีวิตช่วงสลายการชุมนุมเมื่อเดือนพ.ค.2553 ว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการชุมนุมในต่างประเทศจะจัดสถานที่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ รวมทั้งต้องแจ้งถึงเหตุผลการชุมนุมด้วยทุกครั้ง จากการตรวจสอบทราบว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเหยียดสีผิว ขณะที่กลุ่มคนไทยบางคนใช้โอกาสนี้เคลื่อนไหวแสดงความจุดยืนของตัวเอง
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ส่วนที่มีกลุ่มญาติของนายฟาบิโอ โปเลงกี ออกมาเคลื่อนไหวด้วยนั้น การเคลื่อนไหวดังกล่าว อยู่คนละพื้นที่กับสถานที่ประชุมและโรงแรมที่พักของนายกฯ
พท.โต้ประยุทธ์กรณีจำนำข้าว
วันเดียวกัน นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวกรณี พล.อ. ประยุทธ์กล่าวระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำที่กรุงมิลาน ถึงโครงการรับจำนำข้าวที่มีตัวเลขขาดทุน 400,000-700,000 ล้านบาท หากปล่อยไว้ 3 ปี ประเทศจะล้มละลายว่า โครง การรับจำนำข้าวเคยทำมาตั้งแต่สมัย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ต่อเนื่องมาหลายรัฐบาลจนมาถึงรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ใช่เพิ่งมาทำครั้งแรก ก็ไม่เห็นประเทศจะล้มละลายกับการช่วยเหลือชาวนาแต่อย่างใด ที่ผ่านมาสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ก็เคยอุ้มนักธุรกิจในคดีปรส.ใช้เงินไปกว่า 8 แสนล้าน ก็ยังไม่เห็นประเทศจะล้มละลายตรงไหน พล.อ.ประยุทธ์เคยไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวบ้างหรือไม่
นายสุชาติ กล่าวว่า ส่วนที่อ้างว่าขายข้าวแล้วขาดทุน นายกฯ เคยตั้งใจที่จะขายแล้วหรือยัง ที่ผ่านมาขายไป 7 หมื่นตัน เคยตรวจสอบหรือไหมว่ามีการทุจริต หรือมีนอกมีในใครได้ประโยชน์บ้าง เพราะเท่าที่ทราบมีพ่อค้าขายข้าวอักษรย่อ น. ไปพูดที่หอการค้าจังหวัดพิษณุโลก ว่าจะซื้อข้าวหอมมะลิ ตันละ 28,000 บาทแต่ไม่ขาย กลับขายในราคาตันละ 27,000 บาท ทำให้มีส่วนต่างกว่า 70 ล้านบาท เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เคยตรวจสอบบ้างหรือยัง ทางที่ดีควรจะขายข้าวให้เสร็จก่อนค่อยออกมาพูดจะดีกว่า ตนเงียบมานานเพราะให้โอกาสนายกฯ ทำงานมาโดยตลอด แต่ที่ต้องลุกขึ้นมาพูดบ้าง ก็เพราะชาวนาบ้านตนต้องมาเผาตัวเองที่หน้าทำเนียบ
สนช.ถกลับถอดนิคม-สมศักดิ์
เมื่อเวลา 12.10 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า นายอำนาย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นหนังสือขอให้สนช.ยุติการพิจารณาถอดถอนเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งมา
จากนั้น เข้าสู่วาระการพิจารณารายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ลับ ที่ ปช 0028/0802 ลงวันที่ 27 มี.ค. 2557 กรณีกล่าวหา นายนิคม ไวยรัชพานิช และตามหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ลับ ที่ ปช 0028/0804 ลงวันที่ 4 เม.ย. 2557 กรณีกล่าวหานายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ในการดำเนินการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของส.ว. เป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ว่าเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของสนช. ที่จะพิจารณาถอดถอน ตามข้อบังคับ การประชุมสนช. พ.ศ.2557 หรือไม่
นายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิปสนช. เสนอให้ประชุมลับ โดยที่ประชุมมีมติให้ประชุมลับด้วยคะแนน 175 ต่อ 1 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 6 ทั้งนี้ ที่ประชุมใช้เวลาประชุมลับ 3 ชั่วโมง 30 นาที
กระทั่งเวลา 16.10 น. เมื่อเปิดการถ่ายทอดสดการประชุมผ่านทีวีรัฐสภาให้สื่อมวลชนรับชมอีกครั้ง ปรากฏว่าเป็นภาพการสั่งปิดประชุมสนช.ไปเรียบร้อยแล้ว สร้างความงุนงงให้กับสื่อมวลชน และไม่มีการแถลงข่าวผลการประชุมอีกด้วย
ไม่มีการลงมติ-งดใช้ข้อบังคับ
นายวิทวัส บุญสถิตย์ สมาชิกสนช. กล่าวถึงผลการประชุมลับว่า ที่ประชุมสนช.ยังไม่มีการลงมติว่า จะรับหรือไม่รับเรื่องการถอด ถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมไว้พิจารณา เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเพียงการขอหารือเท่านั้น ยังไม่ได้เริ่มต้นเข้าสู่กระบวน การถอดถอน อีกทั้งข้อมูลที่สนช.ได้รับทราบเรื่องการถอดถอน ยังมีไม่เพียงพอ เป็นเพียงใบปะหน้า 3-4 แผ่นเท่านั้น ทั้งที่สำนวนการถอดถอนของป.ป.ช.ที่ส่งมาให้สนช. มีถึง 4,000 หน้า ทำให้สนช.ต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูล
นายวิทวัส กล่าวว่า ดังนั้น ที่ประชุมจึงขอยกเว้นข้อบังคับการประชุมที่ว่า ประธานสนช.ต้องบรรจุวาระเพื่อพิจารณาถอดถอนภายใน 30 วัน นับจากวันที่ป.ป.ช.ส่งสำนวนถอดถอนมาให้ ซึ่งที่ประชุมจึงมีมติให้ยกเว้นข้อบังคับการประชุมดังกล่าวด้วยคะแนน 165 และหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนาย พรเพชร ในฐานะประธานสนช. จะบรรจุวาระ เรื่องนี้กลับเข้าสู่ที่ประชุมสนช.เมื่อใด ไม่จำเป็น ต้องภายใน 30 วัน เพราะมีการยกเว้นข้อบังคับการประชุมแล้ว
สุรชัย เผยแค่หารือ-เลื่อน 2 สัปดาห์
ด้านนายสมชายกล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเลื่อนการพิจารณาออกไป เพื่อให้สมาชิกสนช.ศึกษาเอกสารรายงานการไต่สวนสำนวนถอดถอนของป.ป.ช.ที่มีหลายพันหน้าให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ ยืนยันว่าสนช.มีอำนาจถอดถอนตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 6 โดยเนื้อหาอภิปรายในที่ประชุมลับ นำเสนอแง่มุมทางกฎหมายให้สมาชิกสนช.รับทราบเท่านั้น ไม่มีการถกเถียงกัน แต่มีการอภิปรายถึงประเด็นต่างๆ ว่า หากสนช.รับเรื่องไว้พิจารณา กระบวนการทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร หรือหากไม่รับเรื่องไว้ เป็นไปตามกระบวนการกฎหมายใด โดยไม่มีการชี้นำ ในที่สุดที่ประชุมลงมติขอยกเว้นข้อบังคับการประชุมดังกล่าว
ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเพียงการหารือ ยังไม่ได้ข้อสรุป สุดท้ายแล้วได้เสนอเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อให้สมาชิกสนช.ได้พิจารณาสำนวนอย่างครบถ้วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมลับของสนช. เพื่อพิจารณาการถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมนั้น เป็นไปอย่างเข้มข้น สมาชิกสนช.มีความเห็นแตกออกเป็น 3 แนวทางคือ กลุ่มสนช.สายทหาร นำโดยพล.อ.นพดล อินทปัญญา อภิปรายว่า สนช.ไม่สามารถรับสำนวนถอดถอนไว้พิจารณาได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ขอให้ที่ประชุมสนช.ลงมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณา เนื่องจากไม่อยากให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นในสังคมอีก อยากให้สนช.เดินหน้าทำงานอื่นมากกว่า
เผยเบื้องหลังชะลอออกไปก่อน
ขณะที่กลุ่มอดีตส.ว.และนักกฎหมาย เสนอแนวทางออก 2 แนวทางคือ 1.ให้ที่ประชุม สนช.ลงมติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายว่า สนช.มีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่ และ 2.ขอให้ที่ประชุมชะลอการพิจารณาลงมติออกไปก่อน โดยให้ประธานสนช.บรรจุระเบียบวาระการถอดถอน นายสมศักดิ์และนายนิคมเข้าสู่ที่ประชุมสนช.อย่างเป็นทางการอีกครั้ง เนื่องจากการประชุมครั้งนี้ เป็นแค่การขอหารือเท่านั้น ยังไม่ใช่วาระเริ่มต้นกระบวนการถอดถอน พร้อมขอให้ส่งเอกสารสำนวนการถอดถอนของป.ป.ช. อย่างละเอียดให้สมาชิกสนช.ประกอบการตัดสินใจ เพราะข้อมูลที่สนช.มีอยู่ เป็นเพียงเอกสาร 3-4 แผ่นเท่านั้น ซึ่งสนช.ที่เสนอความเห็นในแนวทางนี้ อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก นายตวง อันทะไชย นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์
ในที่สุดที่ประชุมสนช.ได้ข้อสรุปตรงกันว่า เพื่อให้เกิดความรอบคอบ เนื่องจากสำนวน ของป.ป.ช.มีจำนวนมากกว่าเอกสารที่ประธาน สนช.ส่งมาให้สมาชิกสนช.ก่อนหน้านี้ จึงมีมติให้เลื่อนการพิจารณาถอดถอนไปก่อน โดยขอมติงดเว้นการใช้ข้อบังคับการประชุมสนช. ที่ให้ประธานสนช.ต้องบรรจุระเบียบวาระการถอดถอนภายใน 30 วันนับตั้งแต่ได้รับเรื่องจากป.ป.ช.
ปชป.ผิดหวังไม่สอย-อัดสนช.ขลาด
ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงสนช.มีมติเลื่อนการพิจารณารับเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคม ว่า ไม่แปลกใจ เพราะคนเหล่านี้ไม่กล้าตัดสินใจ ข้ออ้างว่าต้องศึกษาเอกสาร 4 พันกว่าหน้าไม่ใช่ประเด็น เพราะการหารือครั้งนี้ไม่ใช่พิจารณาว่าจะถอดถอนหรือไม่ เพียงแต่ลงมติว่าจะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ หากรับไว้ สมาชิกมีเวลาศึกษาเอกสารเหล่านี้ได้ ถือเป็น การเตะถ่วงมากกว่าทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญและเป็นหัวใจของการปฏิรูป แต่เมื่อสนช.ทำเช่นนี้ จะทำให้ความมั่นใจของประชาชนต่อการปฏิรูปลดลงอย่างมาก น่าสังเกตคือสมาชิกที่อ้างว่าไม่แน่ใจว่ามีอำนาจถอดถอนหรือไม่ หรือคนที่เสนอให้เลื่อนออกไป ส่วนใหญ่มาจากสายทหาร ซึ่งเป็นกำลังหลัก หากมาจากกลุ่มอื่นยังพอรับฟังได้ แต่เมื่อสายทหารลังเล ทำให้กลุ่มอื่นเกิดความไม่แน่ใจตามมา
"ผมคิดว่า น่าจะไม่มีการถอดถอนเกิดขึ้น เพราะสนช.บางคนกลัวคำขู่ของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มว่าจะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ หลายคนไม่อยากขึ้นศาลตอนแก่ การยื้อเวลาออกไปย่อมเป็นผลเสียต่อสถานการณ์บ้านเมือง เพราะ กลุ่มต่อต้านจะสะสมกำลังรอถึงวันที่สนช.จะพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง เมื่อได้คนไม่กล้ามาทำงาน ถือเป็นเวรกรรมของบ้านเมือง ผมไม่อยากใช้คำว่าเห็นแก่ตัว จะให้โอกาสสนช.ตั้งหลักอีกครั้ง แต่ผลครั้งนี้ทำให้สังคมคาดหวังน้อยลง" นายนิพิฏฐ์กล่าว
สปช.หารือนอกรอบเลขาฯสภา
ที่อาคารรัฐสภา 3 สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ประมาณ 30 คน อาทิ พล.ท. ฐิติวัจน์ กำลังเอก พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย นางพรรณี จารุสมบัติ นายคำนูณ สิทธิสมาน นางตรึงใจ บูรณสมภพ พร้อมเชิญนายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเลขาธิการสปช.และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง หารือนอกรอบและชี้แจงกระบวนการประชุมสปช.นัดแรกในวันที่ 21 ต.ค.นี้ นอกจากนี้ ยังหารือถึงการจัดสัมมนาเพื่อทำความรู้จักระหว่างสมาชิก ที่พัทยา จ.ชลบุรี วันที่ 31 ต.ค.-2 พ.ย.นี้ด้วย
จากนั้น พ.ต.อาณันย์ เผยว่า ได้หารือถึงกรอบสำคัญในการประชุมสปช. นัดแรกที่มีเรื่องเร่งด่วนคือ การตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของ สปช. 20 คน และกมธ.กิจการสปช. (วิปสปช.) รวมถึงกมธ.ยกร่างข้อบังคับการประชุม สปช. เมื่อกระบวนการดังกล่าวเสร็จจะนำไปสู่การตั้งกมธ.เพื่อทำเรื่องปฏิรูปในด้านต่างๆ
พ.ต.อาณันย์กล่าวว่า ส่วนแนวทางปฏิรูป ที่ผ่านมามีสมาชิกพรรคเพื่อไทยโทรศัพท์พูดคุยถึงการปฏิรูป โดยแสดงความเป็นห่วงในเรื่องกระบวนการยุติธรรม และฝากให้การปฏิรูปต้องทำให้ทุกอย่างเข้ารูปและอยู่ในระบบ ซึ่งตนบอกสมาชิกพรรคเพื่อไทยว่าไม่ต้องห่วง คิดว่าการออกกฎหมายจะต้องไม่ทำร้ายใคร ต้องบังคับใช้อย่างเป็นธรรม และกฎหมายต้องทันสมัย การปฏิรูปที่เกิดขึ้นจะต้องมีความเหมาะสม เพราะประชาธิปไตยเป็นระบอบปกครองที่ดีที่สุด แต่ต้องดูประเพณี วัฒนธรรมของสังคมไทยด้วย เพื่อให้ออกมาเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ
วิษณุ คาดปลายก.ย.ได้รธน.ใหม่
ที่สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บรรยายพิเศษ เรื่อง "ทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย" ตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปประเทศไทยนั้น ต้องอาศัยความกล้าของผู้นำและผู้ตาม ความเฉลียวฉลาดในการหว่านล้อม ประชาสัมพันธ์ก่อนลงมือทำ จึงต้องใช้เวลาปฏิรูป 1 ปี แต่คงไม่เสร็จทั้งหมด ซึ่งบางเรื่องน่าจะเสร็จได้
นายวิษณุ กล่าวว่า การปฏิรูปวันนี้มี 2 เวที ได้แก่เวทีทางการ คือสปช. 250 คน มีหน้าที่เสนอความคิดและโหวตว่าเสียงข้างมากจะปฏิรูปอะไร ให้ใครเป็นคนทำ เพื่อรัฐบาล จะได้รับลูกไปทำต่อ นอกจากนี้สปช.ยังมีหน้าที่ ตั้งกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วันหลังเปิดประชุมวันแรกวันที่ 21 ต.ค.นี้ คาดว่าจะตั้งได้ภายในวันที่ 4 พ.ย.นี้ สัดส่วนจากสปช. 20 คน สนช. คสช.และครม.ฝ่ายละ 5 คน และประธานกมธ.มาจากคสช. ทั้งนี้ สัดส่วนที่มาจาก ครม.ต้องเป็นคนนอก หากเป็นรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง จากนั้น สปช.มีเวลา 2 เดือนให้กรอบแนวทางกมธ.ไปเขียนรัฐธรรมนูญ 4 เดือน รวมเป็น 6 เดือนให้เสร็จ จากนั้นมีขั้นตอนการแปรญัตติ ก่อนส่งกลับให้สปช.เพื่อลงมติ สรุปเบื้องต้นคาดว่าวันนี้ของปีหน้าคือประมาณปลายเดือนก.ย. หรือต้นเดือนต.ค. 2558 รัฐธรรมนูญอาจประกาศใช้ได้ ขั้นตอนต่อไปคือจัดทำกฎหมาย ลูกเพื่อเตรียมการเลือกตั้งต่อไป
นายวิษณุ กล่าวว่า หากให้ตนคาดการณ์หลังรัฐธรรมนูญเสร็จจะเลือกตั้งได้เมื่อใดนั้น ต้องบอกว่าประมาณ 3 เดือน หากทุกอย่างราบรื่น และเมื่อกมธ.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ต้อง นำเข้าสปช.เพื่อโหวตรับหรือไม่รับร่างได้เท่า นั้น จะแก้ไขอะไรอีกไม่ได้ หากรับก็นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถ้าไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ ก็ตกไป และให้ยุบสปช.และกมธ.ยกร่างฯ 36 คน เพื่อเริ่มต้นกระบวนการใหม่
อ้างตัดสิทธิ์แค่คนโกงเลือกตั้ง
รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนเวทีที่ 2 คือเวทีให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นสปช.อีก 7,000 คน ได้แสดงความรู้ความสามารถ โดยมีส่วนร่วมกับกมธ.ด้านต่างๆ ที่สปช.จะตั้งขึ้น 20-30 คณะ และเวทีในส่วนของรัฐบาล ให้ทำหน้าที่ในสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ เป็นต้น ส่วนกรรมการสรรหาสปช.ทั้ง 77 คน จะจัดเวทีสมทบให้เสนอแนวทางการปฏิรูป ควบคู่กันไปโดยทั้งหมดต้องไม่ได้ทำหน้าที่ในครม. หรือเป็นสนช.
นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมี 10 เรื่องที่บังคับและบวก 1 เรื่องให้ช่วยคิด ที่สำคัญคือไทยต้องเป็นรัฐเดียว มีการปกครองแบบประชา ธิปไตยที่เหมาะสมและมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกำหนดมาตรการคนที่ทุจริตคดโกงเลือกตั้งไม่ให้มีบทบาททางการเมืองได้อย่างถาวร ส่วนที่หลายคนตกใจว่าไปตัดสิทธิ์พวกบ้านเลขที่ต่างๆ ตลอดชาตินั้นไม่ใช่ แต่คนที่ถูกตัดสิทธิ์อย่างถาวรคือคนที่ทุจริตเลือกตั้ง ไม่ใช่พวกที่ติดร่างแห ส่วนจะมีกำหนดเวลาหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับกมธ.ยกร่างฯ
แนะกมธ.ยกร่างยึดมาตรา 5 และ 6
นายวิษณุ กล่าวว่า นอกจากนี้ต้องแก้โจทย์ที่เป็นปัญหามานาน อย่างสมัยรัฐบาลน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยุบสภาแล้วยังมีเสียงเรียกร้องให้ลาออก แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่าลาออก ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญบังคับไว้ว่าให้รักษาการ และพูดประโยคคลาสสิคว่าถ้าออกได้แล้วไม่ผิดก็ยินดีทำ ซึ่งตนไม่รู้ว่าได้หรือไม่ได้ แต่สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ยุบสภาเดือนก.พ. 2549 ตนเป็นรองนายกฯรักษาการ ต่อมายื่นใบลาออกวันที่ 24 มิ.ย.2549 ไม่มีใครบอกว่าออกไม่ได้ และก่อนหน้านั้นก็มีคนออกมาแล้ว แต่ตรงนี้ต่างกับการที่นายกฯลาออก จึงเกิดคำถามว่าได้หรือไม่ได้ เมื่อไปถามคณะกรรมการกฤษฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้ายก็เสี่ยงไปหมด เพราะไม่มีใครกล้าตอบได้
รองนายกฯ กล่าวว่า จึงอยากฝากกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ หาทางออกของโจทย์ที่เป็นปัญหา ซึ่งมีแนวทางอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 5 และ 6 ถ้าเรื่องใดเกิดจากสนช.ให้จบที่สนช. ส่วนเรื่องที่มีคำถามว่ารัฐบาลทำได้หรือไม่ได้ ให้องค์กรเหล่านั้นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าให้ไปลองทำมาก่อนแล้วถึงส่งเรื่องมาให้ช่วยตีความเหมือนก่อนหน้านี้ เช่น หากครม.สงสัยว่าใช้มาตรา 7 ได้หรือไม่ ให้ออกเป็นมติครม.แล้วส่งไปตีความได้เลย ดังนั้น รัฐธรรมนูญใหม่ต้องเขียนให้ละเอียดรอบคอบ เพราะจะช่วยสกัดกั้นความไม่ปรองดอง
ชี้วันเลือกตั้งที่ระบุมาแค่คาดเดา
นายวิษณุ กล่าวว่า ตนเป็นห่วงว่าจะเขียนอะไรในรัฐธรรมนูญต้องรอบคอบ หากผิดใจกันแล้วต้องมาแก้รัฐธรรมนูญนั้นไม่คุ้ม ให้ไปออกกฎหมายลูกแล้วไปแก้ที่กฎหมายลูก เพราะรัฐธรรมนูญที่ดีควรสั้น ไม่ควรเขียนยาว หากมีปัญหาควรเปิดให้ศาลตัดสินโดยควบคุมกระบวนการศาลให้หาคนที่ดี และควรยืด หยุ่นไม่มัดว่าแก้ไม่ได้หรือฉีกทิ้ง
เมื่อถามถึงกรณีระบุเลือกตั้งประมาณเดือนต.ค.2558 หากไม่เกิดการเลือกตั้งตามนั้น จะแนะนำนายกฯอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว กำหนดเวลาล็อกเอาไว้แล้วว่าภายใน 10 เดือนบวก รัฐธรรมนูญถาวรจะแล้วเสร็จ และระหว่างนั้นภายในเดือนที่ 8-9 น่าจะเริ่มร่างกฎหมายลูกได้แล้ว เมื่อครบเวลาจะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 30 วัน ซึ่งนายกฯจะอธิบายเป็นอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ไม่ได้
"เรื่องวันเลือกตั้งที่ออกมานั้น เป็นการคาดเดาทั้งนั้น ต้องดูจากที่รัฐธรรมนูญเสร็จ หากไปพูดเป็นอื่นเท่ากับโกหก และเชื่อว่ากมธ.ยกร่างฯคงจะไม่เขียนอะไรส่งเดช หรือเสนออะไรที่วิลิศมาหรา เช่น การเลือกตั้ง 2 รอบ" นายวิษณุระบุ
'บิ๊กตู่'ได้กลิ่นคูปองทีวีดิจิตอล
เมื่อเวลา 18.00 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยบันทึกเทปตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.ว่าเรื่องนโยบายหรือโครงการที่เป็นการช่วยเหลือของรัฐ หรือองค์กรอิสระที่จะถึงมือประชาชน ไม่ว่าโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนา การแจกจ่ายคูปองทีวีดิจิตอล ได้กำชับส่วนราชการติดตามตรวจสอบไม่ให้เกิดการทุจริต วันนี้ตนได้ข่าวมามาก จะใช่หรือไม่ใช่ จริงหรือไม่จริง ให้ไปตรวจสอบมา ต้องมีความรับผิดชอบตามลำดับ ไม่ใช่สั่งไปแล้ว ถ้ายังมีทุจริตอยู่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ เตือนข้าราชการแล้วอย่าเอารัดเอาเปรียบประชาชน
นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้เรื่องร้องเรียนเริ่มเข้ามาอีกแล้ว ขบวนการแสวงหาผลประโยชน์การแจกจ่ายคูปองทีวีดิจิตอลของ กสทช. ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ตำรวจ ทหาร คสช. จะเร่งตรวจสอบและปราบปรามผู้กระทำผิด นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ประชาชนต้องช่วยเป็นหูเป็นตา ตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน อย่าไปกล่าวร้ายใครโดยที่ยังไม่มีหลักฐาน ให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินการ จะไม่ปล่อยให้เอารัดเอาเปรียบ มีทุจริตเกิดขึ้นเหมือนอย่างในอดีต
โต้เปล่าดิสเครดิตนักการเมือง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อยากให้คนไทยทุกคนทราบว่าปัญหาของประเทศมีมาก การที่เราเข้ามาบริหารประเทศตอนนี้ประมาณ 5 เดือน คสช.บวกรัฐบาลด้วย มุ่งหวังให้ประเทศ มีความเจริญมั่นคงยั่งยืน หากพวกเราทุกคนไม่ร่วมมือกัน ไม่เริ่มทำกันตอนนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะให้ใครมาทำอีก วันเวลาอาจไม่มีอีกแล้วในการแก้ปัญหา ถ้ารอให้ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ มาแก้คงไม่ทัน ต้องแก้ด้วยวิธีการนี้ไปก่อน และเมื่อมีวิธีการปกติได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งค่อยว่ากันอีกที วันนี้เราต้องใช้อำนาจที่มีอยู่แก้ปัญหาในอดีต พร้อมเดินหน้าประเทศ ไปด้วย ไม่งั้นติดขัดข้อกฎหมาย ติดขัดรัฐ ธรรมนูญ เห็นอยู่แล้วว่ามันมีปัญหา
"ผมไม่ได้ดิสเครดิตนักการเมือง ธรรมดาทุกที่มีทั้งคนดี คนไม่ดี ถ้าคนไม่ดีก็มุ่งหวังกอบโกย หาช่องทางยังไงก็หาจนได้ ผมว่ามีอยู่เยอะ นักการเมืองดีๆ ก็เยอะ ส่วนหนึ่งมีความจริงใจ แต่สู้คนไม่ดีไม่ได้ วันนี้ต้องเอาคนดีให้ทำงานมากขึ้นแล้วสู้กับคนไม่ดีให้ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวม ขอให้นักการเมืองในอดีตและนักการเมืองที่จะบริหารในอนาคตช่วยกันคิด นึกถึงประเทศชาติอย่างแท้จริงก่อน อย่ามุ่งเพียงอย่างเดียวว่าเราจะมีอะไรที่ร่ำรวยขึ้น แย่งชิงอำนาจ ใช้กฎกติกากฎหมายมาต่อสู้กัน สร้างความเดือดร้อนให้คนในชาติ" นายกฯ กล่าว
เตรียมกำหนดวิสัยทัศน์ 2025
"วันนี้เราต้องระมัดระวังเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมือง ใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น เราอยากให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักของชาวโลกในนาม สยามเมืองยิ้ม ไม่ใช่เป็นเมืองของความขัดแย้ง เรื่องของความมีน้ำใจ อัธยาศัยของคนไทยจะเป็นสิ่งดึงดูดและสร้างความประทับใจให้กับชาวต่างชาติ ขอให้คนไทยร่วมกันเป็นเจ้าบ้าน ต้อนรับอาคันตุกะต่างชาติด้วยกัน อย่ามัวแต่ทะเลาะกันเลย รวมกันให้ได้แล้วเอาประเทศชาติมาก่อน" นายกฯ กล่าวและว่าสำหรับผู้ที่ไปติเตียนอยู่ต่างประเทศ ตนไม่ให้ความสำคัญมากนัก เพราะไม่ได้มาร่วมกับเราในการแก้ปัญหา มีคดีความ เยอะแยะไปหมด อย่าไปให้เครดิตเขาเลย
นายกฯ กล่าวว่า ตนกำลังกำหนดคำนิยมสำหรับประเทศไทย สร้างความรับรู้ในต่างประเทศด้วย กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป อาจใช้คำว่า "THAILAND FORWARD 2025" เราจะก้าวหน้าไปอย่างไรในปี 2025 เหมือนต่างประเทศเขาก็มี แต่ประเทศไทยยังไม่มี ซึ่งกำลังคิดอยู่ ตนให้แนวทางว่าให้คิดว่าประเทศไทยต้องเดินหน้าให้ได้ภายใน 2 แผนพัฒนาคือ 10 ปี วันนี้ เราเหลือแผนนี้อีก 3 ปี ก็ประมาณ 13 ปี ไปคิดมาและในสัปดาห์หน้าเขาจะนำเสนอ อีกครั้ง
ขอกำลังใจ-พร้อมเจอแรงต้าน
นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้ตนมีภารกิจในการประชุมอาเซม ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี มีความสำคัญในเรื่องการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้นำเอเชียและยุโรป ทั้ง 50 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ สหภาพยุโรปหรืออียู กับสำนักเลขาธิการอาเซียนด้วย การหารือคงเน้นเรื่องการเผชิญภัยคุกคามในมิติต่างๆ เราต้องเดินไปตามสังคมโลกเขาด้วย
"ก็เป็นกำลังใจให้ผมหน่อย ผมจะไปเผชิญกับใคร ใครต่อต้านเรา ผมจะอดทนให้มากที่สุด ทั้งนี้ ผมอดทนเพื่อประเทศไทย อดทนเพื่อคนไทย ไม่ว่าใครจะไม่เข้าใจผม ผมก็จะอดทน มีอะไรถามมา ถามผ่านสื่อ พูดผ่านสื่อมาก็ได้ ถามกันดีๆ ผมก็ตอบดีๆ ทุกครั้ง บางครั้งอาจจะเสียงดังไปหน่อยก็ธรรมดา พอพูดมากๆ เสียงแหบแห้งก็ต้อง ส่งเสียงให้แรงขึ้น ต้องเห็นใจผมบ้าง เพราะผมตอบทุกคำถาม ถ้าไม่ตอบแล้วใครจะตอบ ผมพูดก็บอกว่าผมมัวแต่พูดไม่ได้ทำ เวลาพูดกับเวลาทำ คนละเวลา ผมพูดกับท่านเป็นวันๆ วันไหนประชุมครม. ผมก็พูดมากหน่อย ไปงานไหนถามผม ผมก็พูด อธิบายว่าผมคิดอะไร วันหน้าจะได้เข้าใจกัน คนทำมีอยู่แล้ว เราก็กำหนดติดตามดูแล เยอะแยะไปหมด ไม่ใช่พูดแล้วไม่ได้ทำ แล้วถามว่าจะให้ผมทำอะไร ไม่พูดเลยไหม ฝากประชาชนด้วยแล้วกัน ให้ทำยังไง ผมจะพยายามปรับตัวเองให้ได้มากที่สุด แต่ประเทศชาติ เป็นหลัก สำหรับผม รัฐบาลทุกคน และคสช. ขอบคุณในน้ำใจไมตรี ขอบคุณในความร่วมมือ ขอบคุณในความเข้าใจทุกประการ ผมว่าคงเข้าใจเรามากขึ้น ขอให้มีความสุข อีก 2-3 วันเจอกัน" นายกฯ กล่าว
'บิ๊กตู่'ปลื้มผู้นำต่างชาติยอมรับ
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ระหว่างเข้าร่วมประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ว่าได้หารือทวิภาคีกับผู้นำหลายประเทศโดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งทุกประเทศบอกว่ายังเชื่อมั่นในความมั่นคงและเสถียรภาพในไทย และเข้าใจปัญหาความขัดแย้งในไทย ขณะเดียวกันผู้นำประเทศยุโรปได้เข้าหารือกับตน แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าประเทศใดบ้าง เพราะมีข้อจำกัดในบทบาทเรื่องประชาธิปไตยของแต่ละประเทศ
นายกฯ กล่าวว่า ทุกประเทศเข้าใจสถาน การณ์ของไทย และขอให้รัฐบาลไทยไม่ต้องกังวล เพราะวันนี้โลกเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น แม้จะมีกระแสลบในสังคมออนไลน์ แต่รัฐบาลทุกประเทศก็มีข้อมูลอีกด้านหนึ่งมาหักล้าง ทำให้เข้าใจมากขึ้นและพร้อมมาลงทุนในไทย แต่ไทยต้องเตรียมความพร้อมรองรับ ยืนยันว่าการดำเนินการใดๆ ของรัฐบาลต้องโปร่งใส และเปิดเผย
"ผมพอใจที่ทุกประเทศตอบรับไทยเป็นอย่างดี ทุกประเทศให้เกียรติ ไม่มีทีท่ารังเกียจเรา เราไม่ควรเอาปัญหาความขัดแย้งมาเป็นอุปสรรคในการเดินหน้าประเทศ หรือติดกับดักประชาธิปไตย แต่ควรหันมาร่วมมือกันพัฒนาประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีหน้า" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ไม่เห็นม็อบต้าน-แต่รู้จากสื่อ
เมื่อถามถึงกระแสข่าวมีม็อบต่อต้านการมาประชุมอาเซม ในโซเชี่ยลมีเดีย นายกฯ กล่าวว่า ระหว่างเดินทางมาปฏิบัติภารกิจยังไม่พบการเคลื่อนไหวประท้วงต่อต้าน และไม่เห็นด้วยตาตัวเอง ทราบจากการรายงานของสื่อเท่านั้น และไม่ทราบว่าจุดที่ประท้วงอยู่ในพื้นที่ใดของอิตาลี แต่มีความพยายามนำภาพมาเผยแพร่ทางสังคมออนไลน์ ว่ามาประท้วงในจุดที่ตนอยู่ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะอิตาลีมีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมบังคับใช้อย่างเคร่งครัด มีการจัดพื้นที่ให้ชุมนุมเฉพาะ ทำให้การชุมนุมเรียบร้อย ซึ่งประเทศไทยก็เตรียมออกกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย
"ดีใจที่มีคนไทยในอิตาลีมาให้กำลังใจตั้งแต่วันแรกที่มาถึง ขอให้รัฐบาลเข้มแข็ง ซึ่งผมเห็นว่าหากมีผู้ต่อต้านก็จะอดทน เพราะเป็นผู้แทนคนไทย และอยากขอให้ทุกฝ่ายยุติการเคลื่อนไหว เพื่อให้รัฐบาลเดินหน้าทำงานเพื่ออนาคตของลูกหลาน ต่อต้านไปก็ไม่มีประโยชน์ ขอให้ทุกคนที่เคลื่อนไหวและหลบหนีอยู่ กลับประเทศมาสู้คดี ผมจะให้ความยุติธรรม ให้กระทรวงยุติธรรมดูแลให้ความเป็นธรรม และไม่ควรอ้างว่าถูกรัฐบาลรังแก เพราะที่ผ่านมารัฐบาลใช้อำนาจทางกฎหมายในทางสร้างสรรค์ ไม่ได้บังคับใช้ทั้งหมด เพียงแต่ใช้จัดระเบียบและแก้ปัญหาเร่งด่วนเท่านั้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
สายทหารดันล้มถอดถอน โต้ดุเดือด มติสนช.เลื่อนไม่มีกำหนด บิ๊กตู่-ฮุนเซนถกร่วมมือ พัฒนาพลังงานในทะเล ปัดวุ่นม็อบต้านที่อาเซม
สนช.เลื่อนถกถอดถอน'นิคม-ขุนค้อน' 2 สัปดาห์ ขอดูสำนวน ป.ป.ช.กว่า 4 พันหน้าก่อน ปชป.ชี้สายทหารไม่กล้าถอดถอน
@ "บิ๊กตู่"ชี้รอปชต.แก้ปัญหาไม่ทัน
เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 17 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า เข้ามาบริหารประเทศมาประมาณ 5 เดือน ทั้งนี้มุ่งหวังให้ประเทศมีความเจริญมั่นคงอย่างยั่งยืน หากทุกคนไม่ร่วมมือกัน ไม่เริ่มทำกันตอนนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะให้ใครมาทำอีก
"วันเวลาอาจจะไม่มีอีกแล้วในการแก้ปัญหา ถ้าจะรอให้ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ มาแก้ตอนนี้คงไม่ทัน ต้องแก้ด้วยวิธีการนี้ไปก่อน และเมื่อมีวิธีการปกติได้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งค่อยมาว่ากันอีกที วันนี้เราต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ในวันนี้ แก้ปัญหาในอดีตพร้อมกับเดินหน้าประเทศไปด้วย ไม่อย่างนั้นติดขัดข้อกฎหมาย ติดขัดรัฐธรรมนูญมากมาย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
@ หวังมีนักการเมืองน้ำดีมากขึ้น
"ผมไม่ไปดิสเครดิตนักการเมือง ธรรมดาทุกที่ ก็มีทั้งคนดีและไม่ดี ถ้าคนไม่ดีก็มุ่งหวังกอบโกย หาช่องทางยังไงก็หาจนได้นะ ถ้าคิดมุมมืดอย่างเดียว ถ้าคิดประเทศชาติ ผมว่ามีอยู่เยอะ นักการเมืองดีๆ ก็เยอะ ส่วนหนึ่งก็มีความจริงใจแต่สู้คนไม่ดีไม่ได้ วันนี้ต้องเอาคนดีให้มากขึ้น แล้วก็สู้กับคนไม่ดีให้ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็ฝากประเทศชาติไว้กับนักการเมืองในอนาคตไว้ด้วย ในอดีตที่ดีก็เยอะแยะ วันหน้าก็มาร่วมกันพัฒนาประเทศต่อไป ขอให้นึกถึงประเทศชาติอย่างแท้จริงก่อน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯกล่าวว่า ขอให้นักการเมืองในอดีตมาช่วยกันคิด อย่ามุ่งเพียงอย่างเดียวว่าจะมีรายได้ มีอะไรที่ร่ำรวยขึ้น แย่งชิงอำนาจ ใช้กฎหมายมาต่อสู้กัน สร้างความเดือดร้อน ทุกคนก็เดือดร้อนไปหมด ตนก็ไม่อยากทำให้ทุกอย่างมันแย่ไปกว่าเดิม วันนี้ต้องการทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิมเพราะอย่างนั้นถึงเวลาที่คนไทยทุกคนจะต้องช่วยกันแก้ปัญหาที่สะสมมานานให้เหลือน้อยที่สุด ด้วยการปรับปรุงเพิ่มเติมกฎหมาย
@ ลั่นล้างทุจริต-รื้อกม.ทุกมิติ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้งบประมาณของชาติไม่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่าย มีรั่วไหลไปเป็นผลประโยชน์ส่วนบุคคล มันเกิดมานานแล้ว ทุกยุคทุกสมัย วันนี้เข้ามา 5 เดือนก็พยายามไม่ให้เกิดขึ้นเลย อะไรที่ผิดก็ต้องดำเนินการ วันนี้การตัดสินผิดถูกอย่าให้รวดเร็วเกินไปนัก ถ้าเร็วไปก็ไม่รับกันอีก ฉะนั้นต้องสร้างความเข้มแข็งด้านกระบวนการยุติธรรมให้ได้ด้วย กลไกตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นวันนี้ กระทรวงยุติธรรมเสนอมา 11 องค์กรด้วยกัน ที่จะต้องไปตรวจสอบทั้งหมดไล่ล่าการทุจริต ของใหม่ ของเก่าอยู่ในขบวนการก็ไปว่ากันมา และจะตรวจสอบทันทีตามที่ได้รับแจ้ง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องปรับปรุงกฎหมายทั้งหมดให้ครบทุกมิติ ทั้งฐานความผิดโทษทัณฑ์ต่างๆ ครบ ทั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร ข้าราชการการเมือง ต้องปูพื้นฐานในอนาคตไว้ด้วย แต่อย่าให้จนละเมิดสิทธิมนุษยชน จนจำกัดการทำงานมากเกินไปก็ยาก จนกระดิกอะไรกันไม่ได้ ก็ลำบาก แต่มีวิธีการ นอกจากกฎหมายแล้วสร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างจิตสำนึกให้มากขึ้น ตนคิดว่าคนไทยต้องมองในภาพเดียวกัน ตนกำลังกำหนดค่านิยมสำหรับประเทศไทย
@ "บิ๊กตู่"แถลงที่ประชุมอาเซม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 16 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่น ที่มิลานคองเกรส นครมิลานประเทศอิตาลี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ร่วมพิธีเปิดการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ครั้งที่ 10 โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงระหว่างการประชุมเต็มคณะ ในหัวข้อ "การส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินและเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างยุโรป-เอเชีย" ว่า ไทยเป็นสถานที่จัดการประชุมผู้นำอาเซม ครั้งที่ 1 และยังคงมีส่วนร่วมในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่าง 2 ภูมิภาคตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จากสถานการณ์โลกที่ซับซ้อน จึงต้องทบทวนยุทธศาสตร์ส่งเสริมความร่วมมือทั้งด้านการเงินและเศรษฐกิจ โดยพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย-ยุโรปให้มากยิ่งขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การขยายความเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย-ยุโรป ต้องอาศัยภาวะความเป็นผู้นำทางการเมือง ยึดมั่นพันธกิจระหว่างประเทศ ทั้งด้านทรัพยากรและการลงทุน โดยเสนอยุทธศาสตร์ 3 ด้านหลัก คือ 1.การเพิ่มบทบาทความเป็นหุ้นส่วนกับเอเชีย สร้างระบบเศรษฐกิจเป็นหนึ่งเดียว มีการร่วมระดมทุน การร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชีย การถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์และเทคโนโลยี ไทยเองก็มีโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพัฒนาการขนส่งสินค้า บริการและแรงงาน เพื่อเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ รองรับประชาคมอาเซียนและความร่วมมือเอเชีย-ยุโรปในอนาคต
@ เตือนขาดแคลนอาหาร-พลังงาน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า 2.การบริหารจัดการความเสี่ยง อาจเกิดจากความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค มีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือที่ยั่งยืน 3.การขยายความตกลงการค้าเสรีระหว่างเอเชีย-ยุโรป เช่นเดียวกับการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก โดยให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจหารือกัน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อยากให้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนอาหารและพลังงานในอนาคต จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ประเทศในเอเชียและอาเซียนเป็นแหล่งผลิตอาหารและพลังงานที่สำคัญ ดังนั้น ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์คือเกษตรกรต้องได้รับการดูแล ทั้งรายได้ ราคาสินค้าเกษตร ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความมั่นคงในอาชีพ พร้อมทั้งส่งเสริมงานวิจัยด้วย
@ "ประยุทธ์"ยันไม่เห็นม็อบต้าน
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ที่ประเทศอิตาลีถึงกระแสข่าวมีม็อบต่อต้านการเดินทางมาประชุมอาเซมว่า ระหว่างเดินทางมาปฏิบัติภารกิจยังไม่พบการเคลื่อนไหวประท้วงต่อต้าน และไม่เห็นด้วยตาตัวเอง ทราบจากการรายงานของสื่อเท่านั้น และไม่ทราบว่าจุดที่ประท้วงอยู่พื้นที่ใดของอิตาลี แต่มีความพยายามนำภาพมาเผยแพร่ทางสังคมออนไลน์ว่ามาประท้วงในจุดที่ตนอยู่ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะอิตาลีมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมบังคับใช้อย่างเคร่งครัด มีการจัดพื้นที่ให้ชุมนุมเป็นการเฉพาะ ทำให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งไทยก็เตรียมจะออกกฎหมายลักษณะดังกล่าวเพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย
"ดีใจที่มีคนไทยในอิตาลีมาให้กำลังใจตั้งแต่วันแรกที่มาถึง ขอให้รัฐบาลเข้มแข็ง ผมเห็นว่าหากมีผู้ต่อต้าน ก็จะอดทน เพราะเป็นผู้แทนคนไทย และอยากขอให้ทุกฝ่ายยุติการเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลเดินหน้าทำงานเพื่ออนาคตของลูกหลาน ต่อต้านไปก็ไม่มีประโยชน์ ขอให้ทุกคนที่เคลื่อนไหวและหลบหนีอยู่ กลับประเทศมาสู้คดี ผมจะให้ความยุติธรรม ให้กระทรวงยุติธรรมดูแลให้ความเป็นธรรม และไม่ควรกล่าวอ้างว่าถูกรัฐบาลรังแกเพราะที่ผ่านมารัฐบาลใช้อำนาจทางกฎหมายในทางที่สร้างสรรค์ ไม่ได้บังคับใช้ทั้งหมดเพียงแต่ใช้ในการจัดระเบียบและแก้ปัญหาเร่งด่วนเท่านั้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
@ "บิ๊กตู่"ดันอาเซียนแหล่งอาหาร
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในการมาร่วมประชุมผู้นำอาเซม มีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม ไม่ใช่เฉพาะอาเซียนและยุโรปเท่านั้น แต่ต้องรับผิดชอบต่อประชาคมโลกในทุกมิติ โดยเฉพาะเรื่องการขาดแคลนอาหารและพลังงานในอนาคต ที่ต้องเตรียมความพร้อมไว้ในการหามาตรการออกมาช่วยเหลือในช่วงที่พืชผลทางการเกษตรตกต่ำและมีการแข่งขันสูง หากปล่อยไว้อาจทำให้อาชีพเกษตรกรรมสูญหายไปทั้งที่เป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อโลก
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนได้เสนอมุมมองและแนวคิดการดูแลภาคการเกษตรของอาเซียน เพื่อให้มีความสำเร็จในการดูแลด้านอาหาร ทำให้ผลผลิตมีราคาสูงขึ้น แข่งขันได้ ส่วนพืชพลังงาน เช่น ยางพารา ปาล์ม และมันสำปะหลัง ก็มีความสำคัญ ในช่วงที่โลกต้องการพลังงานทดแทน ซึ่งยังไม่เคยมีการเสนอแนวคิดดังกล่าวในเวทีนี้เลย และต่างชาติให้ความสนใจ ดังนั้นตนจึงให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปขับเคลื่อนเพื่อให้อาเซียนมีความสำคัญและมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น สามารถแข่งขันกับภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม สามารถกำหนดราคาพืชผลทางการเกษตรได้
@ คุยไทยเนื้อหอม-ตปท.สนลงทุน
"อาเซียน-ยุโรปจะต้องส่งเสริมซึ่งกันและกัน สร้างแรงจูงใจทั้งเรื่องการลงทุนและมาตรการทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงระบบสาธารณูปโภคภายในและโครงข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมอาเซียน ให้เห็นว่าถ้าเข้ามาลงทุนค้าขายในไทยจะได้เปรียบอย่างไร ทั้งเรื่องรถไฟทางคู่ การส่งสินค้า และการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดน 5 พื้นที่ ไทยเนื้อหอม ผมมา 3-4 วัน ทั้งจีนและญี่ปุ่นถามเรื่องรถไฟ และพร้อมให้ความร่วมมือสนับสนุนและพร้อมเข้ามาลงทุน แต่ผมก็บอกว่ามีงบน้อยก็ต้องทำเท่าที่จำเป็นไปก่อน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯกล่าวว่า "การเดินทางมาร่วมประชุมครั้งนี้ ได้หารือทวิภาคีกับผู้นำหลายประเทศโดยเฉพาะอาเซียน ทุกประเทศบอกว่าเป็นเวลาที่ดีที่สุดของอาเซียนที่จะขยายฐานการค้าอาเซียนให้เดินหน้าไปได้ ซึ่งประเทศเหล่านี้ยังเชื่อมั่นในความมั่นคงและเสถียรภาพในไทย และเข้าใจปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศไทย ขณะเดียวกันผู้นำประเทศยุโรปเข้าหารือกับตน แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าประเทศใดบ้าง เพราะมีข้อจำกัดในบทบาทเรื่องประชาธิปไตยของแต่ละประเทศ"
@ ยันตปท.เข้าใจไทยมากขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกประเทศเข้าใจสถานการณ์ของไทยและขอให้รัฐบาลไทยไม่ต้องกังวล เพราะวันนี้โลกเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น แม้จะมีกระแสลบในสังคมออนไลน์ แต่รัฐบาลทุกประเทศก็มีข้อมูลอีกด้านหนึ่งมาหักล้าง ทำให้เข้าใจมากขึ้นและพร้อมมาลงทุนในไทย แต่ไทยต้องเตรียมความพร้อมรองรับ
"ยืนยันว่า การดำเนินการใดๆ ของรัฐบาลต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและเปิดเผย ผมพอใจที่ทุกประเทศตอบรับไทยเป็นอย่างดี ทุกประเทศให้เกียรติ ไม่มีทีท่ารังเกียจเรา เราก็ไม่ควรเอาปัญหาความขัดแย้งมาเป็นอุปสรรคในการเดินหน้าประเทศหรือติดกับดักประชาธิปไตย แต่ควรหันมาร่วมมือกันพัฒนาประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีหน้า ซึ่งไทยมีปัญหาที่ต้องคิดคือ การโยกย้ายแรงงานและแก้อุปสรรคด้านภาษาที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาแรงงานไทย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
@ จีบสิงคโปร์แปรรูปเกษตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเข้าร่วมประชุมผู้นำอาเซม พล.อ.ประยุทธ์ได้หารือทวิภาคีกับนายลี เซียน ลุง นายกฯสิงคโปร์ด้วย ทั้งนี้ ไทย-สิงคโปร์เห็นพ้องจะเร่งผลักดันกลไกทวิภาคีระหว่างกัน ไทยพร้อมจะเข้าร่วมการประชุมลีดเดอร์ส รีทรีท (Leaders Retreat) ที่สิงคโปร์ หลังจากว่างเว้นไม่ได้ประชุมมานานกว่า 9 ปี และยินดีที่ทั้ง 2 ประเทศกำลังจะฉลองครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 50 ปีในปีหน้า และหวังจะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงระหว่างกันต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สิงคโปร์เป็นประเทศที่ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ไทยอยากเห็นภาคเอกชนสิงคโปร์เข้ามาลงทุน โดยเฉพาะการแปรรูปสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ข้าว ยางพารา และอ้อยมากขึ้น และนายกฯไทยเสนอให้มีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยกับสิงคโปร์ รวมทั้งเชิญชวนให้สิงคโปร์ร่วมลงทุนด้านการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงภายในประเทศและอาเซียนด้วย ซึ่งนายกฯสิงคโปร์ตอบรับคำเชิญเดินทางมาเยือนประเทศไทยในโอกาสแรกที่อำนวย
@ ถก"ฮุนเซน"พัฒนาพลังงาน
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังได้หารือทวิภาคีกับสมเด็จฯฮุน เซน นายกฯกัมพูชา โดย พล.อ.ประยุทธ์ขอบคุณไมตรีจิต รวมทั้งการสนับสนุนรัฐบาลไทย และการแสดงออกถึงมิตรภาพต่อกันในยามยาก โดยจะไม่ให้ปัญหาชายแดนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการการค้า การลงทุนระหว่างกัน ส่วนการปักปันเขตแดนจะดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการร่วมจัดทำหลักเขตแดนทางบก พร้อมเสนอให้มีความร่วมมือแหล่งพลังงานทางทะเลร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ไทยจะรับซื้อสินค้าเกษตรจากประเทศกัมพูชา เพื่อนำมาแปรรูปส่งออกไปต่างประเทศ โดยกัมพูชาให้ความสนใจ นอกจากนี้ฝ่ายไทยจะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดนตรงข้ามปอยเปตของกัมพูชา พร้อมส่งเสริมจัดตั้งโรงงานขนาดเล็กเพื่อให้กัมพูชาข้ามเข้ามาทำงานได้สะดวก ซึ่งกัมพูชาอาจพิจารณาตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกันในพื้นที่ติดกันด้วยได้ โดยไทยจะดูแลแรงงานกัมพูชาให้ดีที่สุด ขณะที่นายกฯกัมพูชาเห็นพ้องกับไทยในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทุกด้าน และนายกฯไทยจะเดินทางไปเยือนกัมพูชา ในวันที่ 30-31 ตุลาคมนี้
@ "ไก่อู"ปัดม็อบต้าน"บิ๊กตู่"
วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ไปร่วมประชุมผู้นำกลุ่มเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ที่นครมิลาน ประเทศอิตาลี และมีกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งคนไทยและชาวอิตาลีชูป้ายประท้วงว่า การชุมนุมในต่างประเทศนั้นจะมีการจัดสถานที่ให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ รวมทั้งต้องแจ้งเหตุผลการชุมนุมด้วย จากการตรวจสอบทราบข้อเท็จจริงทราบว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการเหยียดสีผิว ขณะที่กลุ่มคนไทยบางคนที่ไปร่วมเคลื่อนไหวถือโอกาสดังกล่าวออกมาเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนของตัวเอง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามกรณีที่มีญาติของนายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลีที่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความคืบหน้าของคดีดังกล่าวด้วย พล.ต.สรรเสริญปฏิเสธที่จะตอบคำถามโดยกล่าวเพียงว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวอยู่คนละพื้นที่กับสถานที่ประชุมและโรงแรมที่พักของนายกฯ
@ เผยนายกฯยุ่นจี้บิ๊กตู่ฟื้น"ปชต."
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นอกเหนือจากยูเครนซึ่งเป็นประเทศที่มีประเด็นร้อนได้รับความสนใจจากที่ประชุมผู้นำ อาเซม ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลีแล้ว ผู้ที่ถือว่าโดดเด่นในวันเปิดประชุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ที่เป็นการเดินทางเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกนับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
สิ่งหนึ่งที่เป็นการส่งสัญญาณว่า ประชาคมนานาชาติดูเหมือนจะยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีบทบาทและอยู่ในอำนาจไปชั่วระยะเวลาหนึ่งคือการได้รับโอกาสในการประชุมหารือทวิภาคีกับนายชินโสะ อาเบะ นายกฯญี่ปุ่น โดยเจ้าหน้าที่ที่ร่วมประชุมเปิดเผยว่า นายอาเบะบอกกับ พล.อ.ประยุทธ์ว่า การลงทุนมหาศาลของญี่ปุ่นในไทยอาจตกอยู่ในความเสี่ยงในระยะยาว หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ฟื้นฟูประชาธิปไตยโดยเร็วและขจัดปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากความไร้เสถียรภาพทางการเมือง
@ สนช.ถกลับถอด"ขุนค้อน-นิคม"
เมื่อเวลา 12.10 น. วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า นายอำนาย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ยื่นหนังสือขอให้ สนช.ยุติการพิจารณาถอดถอนเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งมา ก่อนเข้าสู่วาระการพิจารณารายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ตามหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ลับลงวันที่ 27 มีนาคม 2557 กรณีกล่าวหานายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และตามหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ลับลงวันที่ 4 เมษายน 2557 กรณีกล่าวหานายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ในการดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.เป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่า เป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของ สนช.ที่จะพิจารณาถอดถอน ตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2557 หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการ สนช.อ่านวาระการประชุมแล้วเสร็จ นายสมชาย แสวงการ สนช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญกิจการ สนช. หรือวิป สนช. เสนอให้ประชุมวาระดังกล่าวเป็นการพิจารณาลับ เนื่องจากการอภิปรายกระทบข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง และอาจมีการพาดพิงถึงบุคคลที่ 3 ต่อมานายพรเพชรได้ขอมติ โดยที่ประชุมมีมติให้ประชุมลับด้วยคะแนน 175 ต่อ 1 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 6 เสียง
@ เลื่อนถกถอดถอน 2 สัปดาห์
ต่อมา เวลา 16.10 น. หลังใช้เวลาประชุมลับประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง นายพรเพชรได้กดออด พร้อมสัญญาณวงจรปิดถ่ายทอดสดการประชุมกลับมาให้สื่อมวลชนที่ติดตามรอรายงานข่าวรับชมอีกครั้ง แต่ปรากฏว่าเป็นภาพหลังจากที่นายพรเพชรสั่งปิดประชุมแล้ว โดยสมาชิก สนช.ทยอยเดินออกจากห้องประชุม ทำให้ผู้สื่อข่าวไปรอที่บริเวณโถงอาคารรัฐสภา 1 เพื่อรอแถลงข่าวผลการประชุม แต่กลับไม่มีการแถลงข่าวแต่อย่างใด นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นเพียงการหารือ ยังไม่ได้ข้อสรุป สุดท้ายแล้วมีการเสนอเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิก สนช.ได้พิจารณาสำนวนอย่างครบถ้วน
@ เว้นข้อบังคับบรรจุวาระ30วัน
นายวิทวัส บุญสถิตย์ สนช. กล่าวว่า ที่ประชุม สนช.ยังไม่ลงมติว่าจะรับทั้ง 2 สำนวนหรือไม่ เนื่องจากการประชุมครั้งนี้เป็นการหารือ ยังไม่ได้เริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการถอดถอน อีกทั้งข้อมูลที่ สนช.ได้รับทราบยังมีไม่เพียงพอ เป็นแค่ใบปะหน้า 3-4 แผ่นเท่านั้น ทั้งที่สำนวนที่ ป.ป.ช.ส่งมาให้ สนช.มีถึง 4,000 หน้า ดังนั้นต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูล และที่ประชุมขอยกเว้นข้อบังคับการประชุมที่ระบุว่า ประธาน สนช.ต้องบรรจุวาระเพื่อพิจารณาถอดถอนภายใน 30 วัน นับจากวันที่ ป.ป.ช.ส่งสำนวนมาให้ โดยที่ประชุมมีมติ 165 เสียงให้ยกเว้นข้อบังคับการประชุมดังกล่าว หลังจากนี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประธาน สนช. จะบรรจุวาระเรื่องนี้กลับเข้าสู่ที่ประชุม สนช.เมื่อใด ไม่จำเป็นต้องเป็นภายใน 30 วัน เพราะยกเว้นข้อบังคับการประชุมแล้ว
นายสมชาย แสวงการ สนช. แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากต้องการให้สมาชิก สนช.ศึกษารายงานการไต่สวนสำนวนถอดถอนของ ป.ป.ช.ที่มีหลายพันหน้าให้รอบคอบก่อน ยืนยันว่า สนช.มีอำนาจถอดถอนตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 6 โดยเนื้อหาอภิปรายที่ประชุมลับ เป็นการนำเสนอแง่มุมทางกฎหมายให้สมาชิก สนช.รับทราบเท่านั้น ไม่มีการถกเถียงกัน มีการอภิปรายถึงประเด็นต่างๆ ว่า หาก สนช.รับเรื่องไว้พิจารณา กระบวนการทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร หรือหากไม่รับเรื่องไว้พิจารณา เพราะเป็นไปตามกระบวนการกฎหมายใด โดยไม่มีการชี้นำประเด็นใดที่ชัดเจน ในที่สุด ที่ประชุมจึงลงมติขอยกเว้นข้อบังคับการประชุมที่กำหนดให้ประธาน สนช.ต้องบรรจุวาระการถอดถอนภายใน 30 วัน
@ "บิ๊กกี่"ชงสนช.ไม่รับถอดถอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมลับของ สนช. เป็นไปอย่างเข้มข้น สมาชิก สนช.มีความเห็นหลากหลายมาก โดยสมาชิก สนช.สายทหาร นำโดย พล.อ.นพดล อินทปัญญา อภิปรายแสดงความเห็นว่า สนช.ไม่สามารถรับสำนวนถอดถอนของนายสมศักดิ์ กับนายนิคมไว้พิจารณาได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว ขณะเดียวกัน ก็ไม่อยากให้เรื่องดังกล่าวเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นมาในสังคมอีกด้วยฝีมือของ สนช. อยากให้ สนช.เดินหน้าทำงานอื่นมากกว่า จึงขอให้ที่ประชุม สนช.ลงมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณา แต่มีสมาชิก สนช.พลเรือนบางส่วน อยากให้ที่ประชุม สนช.ลงมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) มาศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายว่า สนช.มีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่
@ 40 ส.ว.ขอชะลอพิจารณา
ด้านสมาชิก สนช. กลุ่ม 40 ส.ว.กับสายนักวิชาการ อาทิ นายตวง อันทะไชย นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ รวมถึง นายกล้านรงค์ จันทิก ลุกขึ้นอภิปราย ขอให้ที่ประชุมชะลอการพิจารณาลงมติออกไปก่อน เนื่องจากเห็นว่า ประธาน สนช.นัดประชุมครั้งนี้ เป็นเพียงแค่การหารือยังไม่ใช่วาระเริ่มต้นกระบวนการถอดถอน เพราะไม่ได้บรรจุระเบียบวาระการถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมเข้าสู่ที่ประชุม สนช.อย่างเป็นทางการ จึงอยากให้บรรจุวาระใหม่อีกครั้ง พร้อมขอให้ส่งสำนวนการถอดถอนของ ป.ป.ช.อย่างละเอียดมาให้สมาชิก สนช.พิจารณาประกอบการตัดสินใจ เพราะข้อมูลที่ สนช.มีอยู่ เป็นเพียงเอกสาร 3-4 แผ่นเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังใช้เวลาอภิปรายหลายชั่วโมง ที่สุดที่ประชุม สนช.ได้ข้อสรุปตรงกันว่า เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการพิจารณา เนื่องจากสำนวนของ ป.ป.ช.จำนวนมาก จึงมีมติให้เลื่อนการพิจารณาถอดถอนไปก่อน โดยขอมติงดเว้นการใช้ข้อบังคับการประชุม สนช. ที่ให้ประธาน สนช.ต้องบรรจุระเบียบวาระการถอดถอนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับเรื่องจาก ป.ป.ช.
@ "บิ๊กกนธ์"ปัดสนช.ยื้อเวลา
พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ที่มีมติเลื่อนพิจารณาถอดถอนนักการเมืองออกไป ไม่ใช่เพราะไม่กล้า แต่เนื่องจากสมาชิกอภิปรายกันกว้างขวางจับอะไรไม่ได้ สนช.มีหน้าที่อยู่แล้ว แต่การทำอะไรอย่าผลีผลาม ทุกคนมองว่านิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ต้องแน่น ต้องมองแบบองค์รวมเพื่อการปฏิรูปข้างหน้า
"เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่เห็นว่ามันเย็นแล้วและเป็นวันศุกร์ควรหยุดการประชุมไปก่อนแล้วค่อยมาพิจารณากันใหม่ในวันข้างหน้า ส่วนสังคมอาจกังขาว่า สนช.ยื้อเวลาออกไปหรือไม่นั้น คงไม่ใช่ เพียงแต่หลายคนเห็นว่าควรพิจารณาเพิ่มเติม พวกผมเป็นทหารแก่ๆ ไม่รู้ข้อกฎหมาย ต้องขอเวลาศึกษาก่อน เอกสารตั้ง 4 พันกว่าหน้า แต่ละคนดูกันตาแฉะจะให้ดูในเวลาสั้นๆ คงเป็นไปไม่ได้" พล.อ.สกนธ์กล่าว
@ "นิพิฏฐ์"ชี้สายทหารขอเลื่อน
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณี สนช.มีมติเลื่อนการพิจารณารับเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม ว่าไม่แปลกใจที่ผลการประชุม สนช.จะออกมาเช่นนี้ เพราะคนเหล่านี้ไม่กล้าตัดสินใจ ข้ออ้างต้องศึกษาเอกสาร 4 พันกว่าหน้าไม่ใช่ประเด็น เพราะการหารือครั้งนี้ไม่ใช่พิจารณาว่าจะถอดถอนหรือไม่ เพียงแต่เป็นการลงมติว่าจะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ หากรับไว้พิจารณาสมาชิกมีเวลาศึกษาเอกสารเหล่านี้ได้ ดังนั้น จึงถือเป็นการเตะถ่วงมากกว่า ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญและเป็นหัวใจของการปฏิรูป
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า เมื่อ สนช.ทำเช่นนี้จะทำให้ความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อการปฏิรูปลดลงอย่างมาก ที่น่าสังเกตคือสมาชิกที่อ้างว่าไม่แน่ใจว่ามีอำนาจถอดถอนหรือไม่ หรือคนที่เสนอให้เลื่อนออกไปส่วนใหญ่มาจากสมาชิกสายทหาร ซึ่งเป็นกำลังหลัก หากมาจากกลุ่มอื่นยังพอที่จะรับฟังได้ แต่เมื่อสายทหารลังเลว่าจะรับหรือไม่รับทำให้กลุ่มอื่นเกิดความไม่แน่ใจตามมา
@ เชื่อสนช.กลัวขึ้นศาลตอนแก่
"เมื่อกำลังหลักเขวแบบนี้ทำให้กำลังเสริมพากันกลับบ้านหมด ถ้าเป็นรูปแบบนี้ผมว่าน่าจะไม่มีการถอดถอนเกิดขึ้นเพราะ สนช.บางคนกลัวคำขู่ของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มว่าจะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ หลายคนไม่อยากขึ้นศาลตอนแก่ การยื้อเวลาออกไปย่อมเป็นผลเสียต่อสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้แน่นอน เพราะกลุ่มต่อต้านสามารถสะสมกำลังรอถึงวันที่ สนช.จะพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง ขณะนี้สังคมต้องการคนกล้ามากกว่าคนดีมาแก้วิกฤตประเทศ แต่คนดีกลับกลัวขึ้นมาแล้วเราจะทำอย่างไร ดังนั้น ไม่ควรเพาะเชื้อความขัดแย้งให้เกิดขึ้น ทั้งที่หวังว่า สนช.จะมีมติรับเรื่องไว้พิจารณา ส่วนผลจะถอดถอนหรือไม่เรารับได้ แต่นี่รีบเลื่อนออกไปตั้งแต่วาระแรก เราก็หมดหวังแล้ว ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสังคมต้องการคนกล้าเพราะการปฏิรูปต้องเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ แต่เมื่อได้คนไม่กล้ามาทำงานถือเป็นเวรกรรมของบ้านเมือง แต่ผมไม่อยากใช้คำว่าเห็นแก่ตัว จะให้โอกาส สนช.ตั้งหลักอีกครั้ง แต่ผลครั้งนี้ก็ทำให้สังคมคาดหวังน้อยลง" นายนิพิฏฐ์กล่าว
@ "วิษณุ"ชี้รธน.ใหม่เสร็จก.ย.58
วันเดียวกัน ที่สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บรรยายพิเศษ เรื่อง "ทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย" ในหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 5 (พตส.5) ว่าการปฏิรูปวันนี้ต้องพึ่งพา 2 เวที ได้แก่เวทีทางการ คือสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีหน้าที่ช่วยเสนอความคิดและโหวตว่าเสียงข้างมากจะปฏิรูปอะไร ให้ใครเป็นคนทำ เพื่อรัฐบาลจะได้รับลูกไปทำต่อ
นายวิษณุ กล่าวว่า วันนี้มีหลายเรื่องที่รัฐบาลจะทำแต่ต้องรอความเห็นจาก สปช.เพราะเกรงว่าจะสวนทางกัน หาก สปช.เสนอมาตรงกับรัฐบาลก็จะทำได้โดยง่าย นอกจาก สปช.ยังมีหน้าที่ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรรมนูญ หลังเปิดประชุม สปช.วันแรก วันที่ 21 ตุลาคมนี้ โดย สปช.เลือกคนในหรือคนนอก 20 คน มาจาก สนช. คสช. และ ครม. ฝ่ายละ 5 คน โดยกำหนดว่ามาจาก ครม.ต้องเป็นคนนอก หากเป็นรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง คาดว่าจะตั้งได้ภายในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ จากนั้น มีเวลา 2 เดือนในการให้กรอบและเวลาเขียนรัฐธรรมนูญ 4 เดือน รวมเป็น 6 เดือน ให้แล้วเสร็จ เบื้องต้นคาดว่าประมาณปลายเดือนกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคม 2558 รัฐธรรมนูญอาจประกาศใช้ได้ ขั้นตอนต่อไปคือการจัดทำกฎหมายลูกก่อนการเลือกตั้ง
@ รอร่างกม.ลูกอีก 8-9 เดือน
นายวิษณุกล่าวว่า ด้าน สปช.ต้องตั้ง กมธ.ด้านต่างๆ ขึ้น จะมีชุดที่เป็นพระเอกและต้องมีคำตอบให้เร็วที่สุด คือชุด กมธ.ด้านการเมือง ชุด กมธ.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ชุด กมธ.ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น และชุด กมธ.ด้านกระบวนการยุติธรรม ต้องรีบทำให้เสร็จและนำมาใส่ในรัฐธรรมนูญ
ต่อมาผู้สื่อข่าวถามว่า กรอบเวลาที่จะเลือกตั้งประมาณเดือนตุลาคม 2558 หากไม่มีเลือกตั้งตามนั้น จะแนะนำนายกฯอย่างไร และจะชี้แจงประชาชนอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่เคยร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวรหรือรัฐธรรมนูญปี 2550 และรัฐธรรมนูญปี 2540 ส่วนจะแนะนำนายกฯอย่างไร ตนเข้าใจว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 ออกมาแล้วนั้น มีกำหนดเวลาล็อกเอาไว้แล้วว่าภายในเวลา 10 เดือน บวกรัฐธรรมนูญถาวรจะแล้วเสร็จ และระหว่างนั้นภายในเดือนที่ 8-9 น่าจะเริ่มร่างกฎหมายลูกได้แล้ว เมื่อครบเวลาจะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 30 วัน ซึ่งนายกฯจะอธิบายเป็นอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ไม่ได้
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนที่ออกมาจะเป็นวันนั้นวันนี้ว่าจะเลือกตั้งตอนไหนเป็นการคาดเดาทั้งนั้น ต้องดูที่รัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว หากไปพูดเป็นอื่นก็เท่ากับโกหก และต้องบอกว่าให้ใช้ได้โดยเร็ว เชื่อว่า กมธ.คงจะไม่เขียนอะไรส่งเดช หรือเสนออะไรที่วิลิศมาหรา เช่น การเลือกตั้ง 2 รอบ
"ต้องดูรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จแล้วว่ากำหนดไว้อย่างไร ที่ต้องเขียนเอาไว้ว่าจะจัดเลือกตั้งภายในกี่วัน และทุกคนต้องเดินไปตามนั้น ซึ่งเป็นการกำหนดโดยกรรมาธิการยกร่างกำหนดไว้ โดยดูจากความเป็นไปได้และความพร้อมของ กกต. ของพรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้ง และความเป็นไปได้ ซึ่งจะมีหรือไม่ยังไม่รู้ โดยเขียนไว้ในตอนท้ายของรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 ครม. สนช. สปช.ก็กำหนดไม่ได้ ผมเชื่อว่าเมื่อร่างไปสักพักจะเห็นทิศทาง รอให้มีกรรมาธิการยกร่างก่อนและเริ่มประชุมสัก 1-2 เดือน ก็จะทราบ" นายวิษณุกล่าว
@ อธิการฯรามชี้เลือกตั้งปี 59 ไม่ช้า
นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคําแหง (มร.) และสมาชิก สนช. กล่าวถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจล่าช้าทำให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งไปปี 2559 ว่าไม่ได้ช้า เป็นไปตามโรดแมป รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีกำหนดชัดเจนว่าจะเสร็จเมื่อไร ต้องตรวจสอบประเด็นต่างๆ ที่ร่างว่าตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่กำหนดไว้หรือไม่ แล้วยังมีกฎหมายลูกที่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เชื่อว่าคนใน คสช.และ สนช. ไม่มีใครอยากยื้อ ต่างทำงานด้วยเจตนาบริสุทธิ์ทั้งสิ้น อีกทั้งการเลือกตั้งในปี 2558 ก็ไม่มีใครพูด