- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 17 October 2014 13:15
- Hits: 4309
ไม่รับถอดถอน 2 อดีตปธ. โหวตวันนี้ สนช.ทหาร'ปลดชนวน' ปปช.ชลอเชือด 39 สว. รอดูผล'นิคม-ขุนค้อน''บิ๊กตู่'ร่วมเวทีอาเซม ม็อบโผล่ทั้งหนุน-ต้าน
สนช.ขอถกลับถอดถอน'ขุนค้อน-นิคม' วิปให้ฟรีโหวต แนะใครลังเลให้งดออกเสียง 'เสรี'หวั่นสัญญาณแตกแยก ปชป.ยุมีอำนาจฟัน
@ บิ๊กตู่ถึงอิตาลีถกเวทีอาเซม
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะ เดินทางไปยังนครมิลาน ประเทศอิตาลี เพื่อเข้าร่วมประชุมผู้นําเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting-ASEM) ครั้งที่ 10 โดยเมื่อเวลา 17.05 น. วันที่ 15 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 5 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีเดินทางถึงท่าอากาศยานมาลเพนซา (Malpensa) นครมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี โดยมีรองอธิบดีกรมพิธีการทูตอิตาลีให้การต้อนรับ จากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางต่อไปยังโรงแรมที่พัก เพื่อร่วมรับประทานอาหารค่ำ ที่เอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำที่โรงแรม สตาร์โฮเทล โรซา แกรนด์ (Starhotels Rosa Grand) ที่พัก ปรากฏว่ามีคนไทยจำนวนหนึ่งมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้ทักทายและกล่าวขอบคุณ
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติ ชูป้ายข้อความโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ก่อการรัฐประหาร ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ซึ่งถือเป็นการเยือนชาติตะวันตกเป็นครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์
@ ร่วมหารือผู้นำหลายประเทศ
สำหรับวันที่ 16 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์มีกำหนดเข้าหารือทวิภาคีกับผู้นำหลายประเทศ ประกอบด้วย นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และนายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และจะร่วมพิธีเปิดการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป หรืออาเซม ครั้งที่ 10 อย่างเป็นทางการ ก่อนจะรับฟังผลการประชุมสภาเอเชีย-ยุโรป การประชุมเวทีประชาชนเอเชีย-ยุโรป และสภาธุรกิจเอเชีย-ยุโรป และร่วมประชุมเต็มคณะในหัวข้อการส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินและเศรษฐกิจผ่านการเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย-ยุโรป การเป็นหุ้นส่วนระหว่างเอเชีย-ยุโรป เพื่อกำหนดประเด็นโลก ภายใต้โลกที่มีความเชื่อมโยงกัน
@ เผยอาเซมจับตานายกฯไทย
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ในเวทีการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ครั้งที่ 10 ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถือเป็นอีกหนึ่งในผู้เข้าร่วมการประชุมที่มีแนวโน้มว่าจะถูกจับตามองมากที่สุด เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางเยือนชาติตะวันตกนับตั้งแต่ยึดอำนาจโดยการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ออกมาประณามการรัฐประหารในไทยครั้งนี้อย่างรุนแรง
@ นายกฯร่วมดินเนอร์ทูตยุโรป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ รับประทานอาหารค่ำร่วมกับ นายสุรพิทย์ กีรติบุตร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี คณะเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศในทวีปยุโรป ทีมประเทศไทยในประเทศอิตาลี และนักธุรกิจไทยที่มาร่วมประชุมสภาธุรกิจเอเชีย-ยุโรปเข้าร่วม โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอบคุณหลายภาคส่วนที่ร่วมทำงานเดินหน้าประเทศไทย โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ที่ต้องทำหน้าที่ชี้แจงให้นานาประเทศเข้าใจสถานการณ์ในประเทศ การสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ ซึ่งจะต้องกำหนดวิสัยทัศน์ให้ชัดเจน และขอให้ทุกคนร่วมกันทำงานใช้ความเป็นคนไทย แสดงให้เห็นว่ามีความจริงใจ
@ ชีวิตอันตราย-ครอบครัวไม่มีสุข
"เมื่อเดินมาถึงวันนี้แล้ว ต้องสู้เดินหน้าต่อไป เพราะถ้าไม่สำเร็จก็ไม่รู้จะอยู่ยังไง ชีวิตผมก็อันตรายเหมือนกัน ครอบครัวก็ไม่มีความสุข วันนี้ถามว่าลูกเมียไปไหนได้บ้าง ไม่ได้กลัวแต่ก็ต้องระวัง ตั้งแต่เข้ามาผมไม่เคยกล่าวโทษให้ร้ายใครแต่ถ้ามาพาดพิงมากก็อดไม่ได้ เพราะรักเกียรติยศศักดิ์ศรี ผมอาจพูดจาไม่ไพเราะมากนัก ก็เป็นธรรมดาที่มีคนรักและไม่รัก แต่ผมเชื่อว่าคนในประเทศไทยเข้าใจ การเข้ามาเป็นรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนประเทศที่หยุดชะงักให้เดินหน้า จากการปลดล็อก ถ้าไม่ทำอะไรประเทศถอยหลัง ติดขัด จากการก้าวเข้ามาเป็น คสช. ช่วงแรกก็หนักใจ แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องทำงาน ใครก็อยากทำอะไรให้ประเทศทั้งนั้น แต่ที่ผ่านมาติดกับดักคำว่าประชาธิปไตย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
@ อ้างเตือนนายกฯปูทุกเรื่อง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปัญหาด้านความมั่นคง จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ ควบคุมสถานการณ์ ลดความขัดแย้ง และเดินหน้าสู่การปฏิรูปประเทศ ให้สัมฤทธิ์ผลใน 1 ปี หากไม่จบ รัฐบาลใหม่ต้องรับไปดำเนินการ ย้ำว่าไม่ต้องการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกินกว่ากรอบเวลาที่วางไว้
"ใครจะรักใครผมไม่ว่า จะเกลียดผม แต่อย่าเกลียดประเทศตัวเอง อย่าเกลียดคนไทย ที่ผมต้องทำเพราะสถานการณ์สุกงอม ไม่ได้ยึดอำนาจรัฐบาล แต่รัฐบาลชั่วคราวทำงานไม่ได้แล้ว ก็จำเป็นไม่มีอะไรแก้ได้ ทหารมีหน้าที่ดูแลแผ่นดินรักษาสถาบันชาติ พระมหากษัตริย์ ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกละเมิด ทหารก็อยู่เฉยๆ รัฐบาลที่แล้วผมพูดกับนายกฯไม่รู้กี่ครั้ง ทุกเรื่องเตือนหมดทุกเรื่อง แต่ด้วยวิถีทางการเมืองก็ช่วยไม่ได้ สิ่งที่ทำวันนี้ทำเพื่อไม่ให้เกิดการปฏิวัติอีกในอนาคต ต้องเอาประเทศชาติเดินหน้าไปให้ได้ ผมพร้อมจะลาออก อยากจะลาออกทุกวัน แต่เห็นประชาชนเดือดร้อนทนไม่ได้ และไม่ได้อยากอยู่เกินแม้แต่วันเดียว ทุกวันนี้ผมสู้รบทุกวัน ในบ้านกลับมาก็ทะเลาะกับเมีย เมียถามว่าทำไมอันนี้ไม่ทำ ผมบอกทำแล้ว บางเรื่องทำไม่ไหวก็หงุดหงิด สรุปว่าผมไม่มีความสุข ทุกคนไม่มีความสุข ผมจึงต้องคืนความสุขให้ประชาชน และได้รับความทุกข์ไง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
@ ป๋าเปรมให้กำลังใจบิ๊กตู่
ที่สโมสรกองทัพบกเทเวศร์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ว่า ขอให้ช่วยกันดูแลชาติบ้านเมืองให้มีความสงบสุขร่มเย็น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนายกฯเท่านั้น เมื่อถามว่ามีอะไรพิเศษแนะนำนายกฯ
พล.อ.เปรมกล่าวว่า คิดว่าไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เมื่อถามย้ำว่า ในฐานะที่เคยเป็นนายกฯมาแล้ว 8 ปี จะแนะนำอะไร พล.อ.เปรมกล่าวว่า ก็แนะนำไปแล้ว แต่สื่อมวลชนไม่รู้เอง ที่ผ่านมาการพบกันกับนายกฯก็ให้คำแนะนำไปเยอะแยะแล้ว
เมื่อถามต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ทำหน้าที่นายกฯดีหรือไม่ พล.อ.เปรมกล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อถามถึงการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้จะแก้กันอย่างไร พล.อ.เปรมกล่าวว่า ตนไม่รู้ ทว่าจากเหตุการณ์เผาโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ผ่านมาก็รู้สึกเป็นห่วงทุกคน
@ สปช.นัดประชุมแรก 21 ต.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาฯสำนักงานเลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ออกหนังสือนัดประชุม สปช.ครั้งที่ 1/2557 ในวันที่ 21 ตุลาคม เวลา 09.30 น. โดยมีระเบียบวาระการประชุม รับทราบพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้ง สปช. และวาระเลือกประธานและรองประธาน สปช.
@ วิปสนช.ดันประชุมลับถอดถอน
พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะวิป สนช. กล่าวว่า การประชุม สนช. วันที่ 17 ตุลาคม เพื่อพิจารณารับเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบหรือไม่นั้น วิป สนช.จะเสนอให้เป็นการประชุมลับ เนื่องจากเอกสารที่จะแจกจ่ายให้ สนช.ประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงมติ บางส่วนเป็นชั้นความลับและพาดพิงถึงบุคคลที่สาม อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับที่ประชุม สนช.จะเห็นชอบให้ประชุมลับหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว วิป สนช.พิจารณาในประเด็นนี้อย่างไร พล.อ.อกนิษฐ์กล่าวว่า วิป สนช.ก็ยังไม่กล้าตัดสินใจ และยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องนี้ จึงต้องถามความเห็นในที่ประชุม สนช.ว่าจะเห็นอย่างไร ซึ่งมติของที่ประชุม สนช. วันที่ 17 ตุลาคม คงจะมีแค่รับหรือไม่รับเรื่องถอดถอนเท่านั้น คงไม่มีทางเลือกอื่น เช่น การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือส่งสำนวนกลับไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
@ สนช.ลังเลส่องดออกเสียง
"ขณะนี้มี สนช.หลายคน โดยเฉพาะ สนช.หน้าใหม่ ยังไม่แน่ใจและไม่เข้าใจข้อกฎหมายเรื่องการถอดถอน จึงอาจจะมีปัญหาลังเลหรือไม่กล้าตัดสินใจในการลงมติวันที่ 17 ตุลาคม เริ่มมี สนช.บางส่วนเริ่มคุยกันแล้วว่าอาจจะลงมติงดออกเสียงในการถอดถอนดังกล่าว เพราะไม่กล้าตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับเรื่องถอดถอนไว้พิจารณา เป็นห่วงว่าหาก สนช.ลงมติงดออกเสียงกันมากๆ ก็จะเกิดปัญหาตามมาว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป สมาชิก สนช.คงต้องปรึกษาหารือกันนอกรอบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นถึงการพิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมว่าอยู่ในอำนาจของ สนช.ที่จะดำเนินการได้หรือไม่" พล.อ.อกนิษฐ์กล่าว
@ เสนอฟรีโหวต-แนะงดออกเสียง
พล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม วิป สนช. เปิดเผยว่า วิป สนช.ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องสำนวนถอดถอน เพราะยังไม่เห็นรายละเอียดในสำนวน ป.ป.ช.จึงต้องให้ที่ประชุม สนช.เป็นผู้ชี้ขาด ขณะนี้สมาชิก สนช.ทุกคนยังไม่มีใครเห็นสำนวนจาก ป.ป.ช.เลย คาดว่าทางสำนักเลขาธิการวุฒิสภาจะส่งข้อมูลเรื่องสำนวนการถอดถอนของ ป.ป.ช.มาให้ สนช.ทุกคนได้ไปศึกษา วิเคราะห์เพื่อตัดสินใจในการลงมติต่อไป ยอมรับว่ามี สนช.หน้าใหม่หลายคนยังลังเลในการลงมติ เนื่องจากไม่ทราบข้อมูล จึงไม่รู้ว่าจะไปทางไหน แต่คาดว่าเมื่อได้เห็นข้อมูลในสำนวน ป.ป.ช.และได้คุยกับ สนช.แล้ว คิดว่าแต่ละคนคงจะมีแนวทางของตัวเองในการลงมติ สิ่งที่วิป สนช.จะทำคือ การให้ข้อมูลเท่านั้น ส่วนเรื่องการตัดสินใจลงมติในแนวทางใดเป็นเรื่องของ สนช.แต่ละคนต้องไปคิดเอาเอง วิป สนช.จะไม่เข้าไปชี้นำ จะเปิดโอกาสให้ สนช.ฟรีโหวตในการลงมติ หาก สนช.คนใดยังลังเลขอใช้สิทธิงดออกเสียงก็ถือเป็นสิทธิไปห้ามไม่ได้
@ 'บิ๊กกี่'เผยปล่อยตัดสินใจอิสระ
พล.อ.นพดล อินทปัญญา สนช. กล่าวว่า สนช.สายทหารได้หารือกัน ซึ่งยังไม่ตกลงกันว่าจะลงมติอย่างไร แต่ให้แต่ละคนไปศึกษาข้อมูลที่ได้รับให้ละเอียดครบถ้วน โดยเฉพาะคนที่มีความรู้ด้านกฎหมายให้อ่านข้อมูลให้ดีและละเอียดเพื่อสรุปให้ สนช.คนอื่นฟังก่อนการประชุมวันที่ 17 ตุลาคมนี้ หากรู้ว่ากฎหมายว่าอย่างไรก็ให้มาถกกัน เชื่อว่า สนช.ทุกคนมีภูมิความรู้เพียงพอที่จะรู้ข้อมูลเพื่อให้ได้ตัดสินใจตามกฎหมายได้
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า เห็นว่า สนช.ควรรับเรื่องเข้าสู่กระบวนการถอดถอนตามข้อบังคับ สนช. เพื่อไม่ให้เป็นบรรทัดฐานในอนาคตว่าหากผู้ใดทำความผิด แต่กฎหมายที่บังคับเอาผิดสิ้นสภาพไป ความผิดนั้นถือว่าหายไปด้วย ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า สนช.จะลงมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณานั้น ไม่ทราบและไม่มีใครแจ้งให้ลงมติข้างไหน จึงเป็นดุลพินิจของ สนช.
นายธานี อ่อนละเอียด สนช. กล่าวว่า สนช.หลายคนยังลังเลเรื่องการลงมติ เพราะหลายคนไม่ถนัดและยังสงสัยในข้อกฎหมาย จึงอยากฟังความเห็นของที่ประชุม สนช.อีกครั้งก่อนลงมติ
@ 'สมชาย'เผยออกได้3แนวทาง
นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ในฐานะวิป สนช. กล่าวว่า ที่ประชุมจะพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ใน 3 แนวทาง คือ 1.เห็นว่าเป็นฐานความผิดที่ถอดถอนได้ก็รับไว้ดำเนินการ 2.ไม่รับไว้ดำเนินการเพราะมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า ผลจากเรื่องนี้จะทำให้คนที่ถูกกล่าวหาพ้นความผิดไปเลยหรือไม่ หรือ 3.อาจจะมีการยกเว้นข้อบังคับการประชุมที่ระบุให้ดำเนินการถอดถอนภายใน 30 วัน และให้มีการพักการพิจารณาเรื่องนี้ไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีสภาชุดใหม่
@ สนช.สายทหารส่งสัญญาณไม่เอา
รายงานข่าวจากรัฐสภาว่า มีสมาชิก สนช.สายทหาร สายนักธุรกิจ นัดหารือกัน ซึ่ง สนช.สายทหารไม่เห็นด้วยที่จะดำเนินการถอดถอน เพราะไม่อยากสร้างความขัดแย้ง แต่มี สนช.บางส่วนมีแนวทางที่จะขอมติที่ประชุมเพื่อยกเว้นใช้ข้อบังคับการประชุมการบรรจุสำนวนการถอดถอนภายใน 30 วัน เพื่อตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาเพื่อเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้ง มี สนช.สนับสนุนประมาณ 30-40 คน ขณะเดียวกันกลุ่ม 40 ส.ว.ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการถอดถอนทันที
@ 'เสรี'เตือนสัญญาณแตกแยก
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กล่าวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกมีผลให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว.ต้องพ้นจากตำแหน่ง ไม่ต่างกับถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง จะต่างกันเพียงยังไม่ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ขณะเดียวกันมีข้อถกเถียงว่า สนช.มีอำนาจถอดถอนได้หรือไม่ เพราะพ้นจากตำแหน่งแล้ว ขณะที่ต่างฝ่ายก็มีเหตุผลตัวเอง และ ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องนี้ หาก สนช.พิจารณาต่อจะลามสู่การถอดถอนเป็นปัญหาทางการเมืองที่ปลุกกระแสให้มีการออกมาต่อสู้เรียกร้อง จึงเป็นสัญญาณให้เห็นว่าประเทศเริ่มมีปัญหาทางเมืองเกิดความแตกแยกอีกแล้ว ทั้งที่ยังไม่ลงมือปฏิรูปประเทศ ทำให้รู้สึกเป็นห่วง จึงขอเตือนสติว่าควรหาทางที่ดีที่สุดแก้ปัญหา อย่าใช้อารมณ์ ความเคียดแค้นหรือความสะใจมาแก้ปัญหาบ้านเมือง ไม่เช่นนั้นจะไม่มีทางปฏิรูปประเทศสำเร็จไปได้
@ 'สิงห์ชัย'อ้างถูกทำลายล้าง
นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี และ 1 ใน 39 ส.ว.ที่ถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. กล่าวว่า สนช.สามารถถอดถอนได้ในฐานะที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์อยู่แล้ว แต่ถามว่า ควรทำหรือไม่ เพราะมีการให้โทษย้อนหลังจึงเป็นสิ่งที่ขัดหลักนิติธรรม ถ้ามีการถอดถอนจะมีคนสะใจที่ได้ระบายความแค้นและได้ทำลายล้างศัตรูทางการเมืองลงได้ แต่ยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.เพื่อให้ลงอำนาจถึงมือประชาชนมากที่สุด ขณะที่ คสช.ฉีกรัฐธรรมนูญ และการถอดถอนตอนนี้ถือว่าเป็นดำเนินการต่างกรรมต่างวาระ ทั้งนี้ เรื่องนี้จะเป็นการจุดประเด็นให้ฝ่ายตรงข้าม คสช.นำเรื่องการถอดถอนมาเคลื่อนไหวสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง และยังนำประเด็นดังกล่าวมาจุดกระแสต่อต้าน คสช.ได้ด้วย สุดท้ายแล้วเชื่อว่าไม่น่าจะถอดถอนได้สำเร็จ เพราะ คสช.มองเรื่องสร้างความปรองดองเป็นหลัก
@ ปชป.ยุส่งมีอำนาจถอดถอน
นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้โดยข้อเท็จจริงมีการ กระทำความผิดเกิดขึ้นจริงที่มีการสอดไส้เนื้อหา มีการเสียบบัตรแทนกัน จึงไม่เถียงในข้อเท็จจริง แต่มาใช้องค์กฎหมายเถียงว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญปี 50 อยู่แล้ว จึงไม่มีผล แต่ไม่พูดถึงว่ายังมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รองรับและมีโทษ ไม่เช่นนั้น ป.ป.ช.จะกล้าลงมติให้ถอดถอนหรือ โดยส่งเรื่องมาให้ สนช.ดำเนินการ อีกทั้งยังมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 5 และ 6 รองรับอีก ที่ระบุชัดถึงการทำหน้าที่ของ สนช. ดังนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า สนช.ที่ถูกแต่งตั้งมาเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้อำนาจของฝ่ายการเมือง จะกล้าผ่าตัดเนื้อร้ายเพื่อเยียวยารักษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความจริงใจของ สนช.บางคน บางกลุ่มที่เข้ามาเป็นแล้วว่าจะกล้าแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมือง หรือได้ชื่อแค่ว่ามาเป็น สนช.เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลเท่านั้น
@ มาร์คชี้วงปฏิรูปขัดแย้งแน่
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการคัดเลือกประธานและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 21 ตุลาคม ว่าสำหรับแนวคิดในการคัดเลือก คือ 1.ควรเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และสามารถดำเนินการประชุม รวมถึงวางระบบในการทำงานในกรณีที่มีความเห็นที่หลากหลาย 2.ต้องเป็นคนที่มีความรอบรู้พอสมควร เพราะประเด็นที่พูดคุยกันกว้างถึง 11 ด้านถือว่าเป็นงานที่ยาก ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมืองเชื่อว่าจะเกิดความขัดแย้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าคนแต่ละคนนั้นจะแสดงความเห็นไม่เหมือนกัน สิ่งที่อยากเห็นคือ การปฏิรูปทำอย่างไรไม่ให้มีการทุจริต ทำอย่างไรให้นักการเมืองที่เข้ามานั้น ประชาชนมั่นใจ ศรัทธา ทำงานเพื่อส่วนรวม เช่น จะเลือกตั้งระบบไหนอย่างไร จะวางความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติอย่างไร บทบาทพรรคการเมืองเป็นอย่างไร
@ ปชป.หนุน2สภา-เลือกผู้ว่า
นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และกิจกรรมพิเศษภาคอีสาน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะเลขานุการทีมประสานงานมวลชนพรรคฯ กล่าวถึงร่างพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ทีมประสานงานมวลชนของพรรค ที่มีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรค เป็นหัวหน้าคณะ มีความเห็น 3 ประเด็นคือ 1.เห็นด้วยกับการเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยทยอยทำในจังหวัดที่มีความพร้อมในทุกด้านก่อน 2.ควรคงไว้ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และ 3.มีความกังวลเรื่องการจำกัดสิทธิการดำรงตำแหน่ง ส.ส.ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน อาจเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คณะทำงานของพรรคจะติดตามความคืบหน้าและเสนอสิ่งที่เป็นจุดยืนของพรรคต่อไป
@ ปปช.ชี้ข้อมูลไม่พอเชือด39ส.ว.
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นาย วรวิทย์ สุขบุญ รองเลาขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงมติที่ประชุม ป.ป.ช. เรื่องถอดถอน 39 ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.นั้น ว่า จากข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณานั้น ข้อมูลเบื้องต้นยังไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะพิจารณาได้ จึงมีความเห็นให้เจ้าหน้าที่กลับไปพิจารณาเรื่องนี้ใหม่อีกครั้งว่า นอกจากความผิดตามรัฐธรรมนูญ 50 แล้วยังมีความผิดในกฎหมายอื่นอีกหรือไม่ อีกทั้งยังต้องนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา มีข้อกฎหมาย ความผิด แตกต่างกันอย่างไร และจะนำกลับมาพิจารณาอีกครั้งคาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมได้ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้
@ เปิดบัญชีครม.บิ๊กตู่31ต.ค.
นายวรวิทย์กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ช.จะเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของ สนช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง 2 ราย ได้แก่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รวมถึง สนช.ที่พ้นตำแหน่งอีก 5 ราย ได้แก่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม - 7 พฤศจิกายน นอกจากนี้จะเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 14 พฤศจิกายน