WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8724 ข่าวสดรายวัน


ม็อบหนุน-ต้านโผล่ รับ'บิ๊กตู่'ถกอาเซมที่มิลาน 
ปลื้มคุยนายกจีน-ยุ่น อิตาลจี้คดี'โปเลงกี'สนช.วันนี้ถอด 2 ปธ. เล็งทางออก-2 แนว ตีตกหรือยื้อไป 30 วัน


ให้กำลังใจ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ขณะร่วมประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ที่นครมิลาน ประเทศอิตาลี โดยมีคนไทยจำนวนหนึ่งมาให้กำลังใจถึงที่พักโรงแรม สตาร์โฮเทลส์ โรซา แกรนด์ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.

"พรเพชร"นัดสนช.ประชุมวันนี้ ชี้ขาดมีอำนาจถอดถอน"ขุนค้อน-นิคม"หรือไม่ เผยผลถกนอกรอบอาจใช้วิธีตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาก่อน 30 วันแล้วค่อยชงมาพิจารณา อีกครั้ง วิปไฟเขียวให้งดออกเสียงได้ หลังสายข้าราชการ-นักธุรกิจกังวลลังเลข้อกฎหมาย "บิ๊กตู่"ถึงมิลานได้คิวจับเข่า 2 นายกฯจาก จีน-ญี่ปุ่น โอดกับทูต-นักธุรกิจที่มาเลี้ยงต้อนรับชีวิตไม่มีความสุข ครอบครัวจะไปไหนก็ต้องระวังตัว ม็อบฮือประท้วงผู้นำไทยจี้คืนประชาธิปไตยพร้อมทวงถามความคืบหน้าคดี"ฟาบิโอ โปเลงกี"ช่างภาพเหยื่อกระสุนพ.ค.2553 ขณะที่ฮิวแมน ไรต์ วอตช์จี้รัฐมนตรีต่างประเทศ 50 ชาติที่มาร่วมประชุมกดดัน หัวหน้าคสช.คืนประชาธิปไตย-เสรีภาพให้ คนไทย 

"พรเพชร"นัดสนช.ถกถอดถอน

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 ต.ค. ให้บรรจุเรื่องเพิ่มเติมในระเบียบวาระการประชุมสนช. ครั้งที่ 17/2557 วันที่ 17 ต.ค. นี้ คือเรื่องการพิจารณารายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ลับที่ ปช 0028/0802 ลงวันที่ 27 มี.ค. 2557 กรณีกล่าวหานายนิคม ไวยรัชพานิช และตามหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ลับที่ ปช 0028/0804 ลงวันที่ 4 เม.ย. 2557 กรณีกล่าวหานายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของส.ว. เป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ว่าเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของสนช.จะพิจารณาถอดถอน ตามข้อบังคับการประชุมสนช. พ.ศ. 2557 หรือไม่

เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ว่า การประชุม สนช.วันที่ 17 ต.ค. จะพิจารณาเรื่องการถอดถอนนายนิคม และนายสมศักดิ์ หากสนช.รับหลักการต้องกำหนดแถลงเปิดคดีให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงและยื่นพยานหลักฐาน จากนั้นตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา อาจใช้เวลาไม่เกิน 25 วัน ขอให้มั่นใจว่าสนช.จะพิจารณาตามข้อกฎหมาย ผู้มีส่วนได้เสียอย่ากังวลใจ อย่าแสดงความคิดเห็นต่อต้านและคัดค้าน และอย่าแสดงความคิดเห็นชี้นำ ส่วนที่พรรคเพื่อไทยมายื่นหนังสือต่อประธานสนช.นั้น ต้องแล้วแต่สมาชิกจะหยิบขึ้นมาพิจารณาหรือไม่ ทุกความเห็นจะนำมาประกอบการพิจารณา ซึ่งจะพิจารณาอย่างเปิดเผย เว้นแต่สมาชิกจะเสนอให้ประชุมลับ

สนช.ไม่แน่ใจทำได้-จ่องดออกเสียง

พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกสนช. ในฐานะคณะกรรมาธิการสามัญกิจการ สนช. (วิปสนช.) กล่าวว่า ในการประชุมสนช.วันที่ 17 ต.ค. เพื่อพิจารณารับเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคม หรือไม่นั้น วิปสนช.จะเสนอให้ประชุมลับ เนื่องจากเอกสารที่จะแจกจ่ายให้สนช.ประกอบการตัดสินใจลงมติ บางส่วนเป็นชั้นความลับและพาดพิงถึงบุคคลที่สาม แต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสนช. จะเห็นชอบให้ประชุมลับหรือไม่ 

พล.อ.อกนิษฐ์กล่าวว่า ยอมรับว่าขณะนี้มีสนช.หลายคน โดยเฉพาะสนช.หน้าใหม่ยังไม่แน่ใจและไม่เข้าใจข้อกฎหมายเรื่องการถอดถอน จึงอาจจะมีปัญหา ลังเล ไม่กล้าตัดสินใจในการลงมติวันที่ 17 ต.ค. ซึ่งมีสนช.บางส่วนเริ่มคุยกันแล้วว่า อาจลงมติงดออกเสียงในการถอดถอนดังกล่าว เพราะไม่กล้าตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับเรื่องถอดถอนไว้พิจารณา เป็นห่วงว่าหากสนช.ลงมติงดออกเสียงกันมากๆ จะเกิดปัญหาตามมาว่าจะทำอย่างไรต่อไป ดังนั้น ในการประชุมสนช.วันนี้ เชื่อว่าสมาชิกสนช.คงปรึกษาหารือกันนอกรอบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นถึงการพิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมว่า อยู่ในอำนาจของสนช.ที่จะดำเนินการได้หรือไม่

เมื่อถามว่าฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว วิปสนช.พิจารณาในประเด็นนี้อย่างไร พล.อ.อกนิษฐ์กล่าวว่า วิปสนช.ยังไม่กล้าตัดสินใจและยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องนี้ จึงต้องถามความเห็นในที่ประชุมสนช.ว่าจะเห็นอย่างไร ซึ่งมติที่ประชุมสนช.วันที่ 17 ต.ค. คงมีแค่รับหรือไม่รับเรื่องถอดถอนเท่านั้น คงไม่มีทางเลือกอื่น เช่น การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือส่งสำนวนกลับไปให้ป.ป.ช.

เสรีให้เลือกเอาทะเลาะต่อหรือหยุด

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสปช. และอดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2550 กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็น กระบวนการเอาผิดทางการเมือง มีผลให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 35 (4) บัญญัติมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติ มิชอบ หรือเคยกระทำการทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด ซึ่งบรรยากาศ เช่นนี้ประชาชนทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันให้การปฏิรูปประเทศประสบความสำเร็จ แต่บางครั้งจำเป็นต้องเลือกระหว่างทะเลาะกันต่อไปหรือจะหยุดทะเลาะ เพื่อร่วมมือกันปฏิรูปประเทศด้วยกัน

นายเสรีกล่าวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถูกยกเลิก มีผลให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ นายสมศักดิ์ นายนิคม รวมทั้งอดีตนายกฯ รัฐมนตรี ส.ส.และส.ว. ต้องพ้นจากตำแหน่ง ไม่ต่างจากถูกถอดถอน เพียงแต่ยังไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี ขณะเดียวกันมีข้อถกเถียงว่าสนช. มีอำนาจถอดถอนได้หรือไม่ เพราะบุคคลเหล่านั้นพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว หาก สนช.พิจารณาต่อ การถอดถอนจะลามเป็นปัญหาการเมือง ปลุกกระแสให้ออกมาต่อสู้เรียกร้อง จึงเป็นสัญญาณว่าประเทศเริ่มมีปัญหาแตกแยกอีกแล้ว ทั้งที่ยังไม่ลงมือปฏิรูปประเทศ จึงเป็นห่วง ขอเตือนสติว่าควรหาทางที่ดีที่สุดแก้ปัญหา อย่าใช้อารมณ์ ความเคียดแค้นหรือความสะใจมาแก้ปัญหาบ้านเมือง ไม่เช่นนั้นจะไม่มีทางปฏิรูปประเทศได้สำเร็จ

อดีตส.ว.เชื่อถอดถอนไม่สำเร็จ

ด้านนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตส.ว.อุทัยธานี และเป็น 1 ใน 39 ส.ว.ที่ถูกยื่นถอดถอน กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาส.ว. กล่าวว่า สนช.ถอดถอนได้โดยใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ให้อำนาจ สนช.ทำหน้าที่แทนส.ส.และส.ว. แต่ถามว่าควรทำหรือไม่ เพราะมีการให้โทษย้อนหลังผู้อื่นซึ่งขัดหลักนิติธรรม ทั้งนี้เห็นว่าถ้ามีการถอดถอนก็จะมีคนสะใจ ระบายความแค้น และได้ทำลายล้างทางการเมือง อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาส.ว. ก็เพื่อให้ลงไปถึงประชาชนมากที่สุด ขณะที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉีกรัฐธรรมนูญ และการถอดถอนตอนนี้ถือว่าเป็นการดำเนินการต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นการจุดประเด็นให้ฝ่ายตรงข้าม คสช. นำเรื่องการถอดถอนมาเคลื่อนไหว ต่อต้าน คสช.ได้ เพราะแต่ละฝ่ายได้สร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง สุดท้ายแล้วเชื่อว่าไม่น่าจะถอดถอนได้สำเร็จ เพราะคสช.มองเรื่องปรองดอง

นัดหารือแบ่งข้อมูลก่อนตัดสินใจ

พล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม สมาชิกสนช. ในฐานะวิปสนช. กล่าวว่า วิปสนช.ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม เพราะยังไม่เห็นรายละเอียดในสำนวนของป.ป.ช. จึงต้องให้ที่ประชุมสนช.เป็นผู้ชี้ขาด คาดว่าในวันเดียวกันนี้ สำนักเลขาธิการวุฒิสภาจะส่งข้อมูลสำนวนการถอดถอนของป.ป.ช.มาให้สนช.ทุกคนศึกษา วิเคราะห์ เพื่อตัดสินใจลงมติต่อไป ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีสนช.หน้าใหม่หลายคนยังลังเลในการลงมติ เนื่องจากไม่ทราบข้อมูล จึงไม่รู้ว่าจะไปทางไหน แต่คาดว่าเมื่อได้เห็นข้อมูลในสำนวนป.ป.ช. และได้คุยกับเพื่อนสนช.แต่ละคนคงมีแนวทางในการลงมติ สิ่งที่วิปสนช.จะทำคือ การให้ข้อมูลเท่านั้น ส่วนการตัดสินใจลงมติ เป็นเรื่องของสนช.แต่ละคน วิปสนช.จะไม่เข้าไปชี้นำ จะเปิดให้สมาชิกสนช.ฟรีโหวต หากสนช.คนใดยังลังเล ขอใช้สิทธิงดออกเสียง ก็ถือเป็นสิทธิ ไปห้ามไม่ได้

ที่รัฐสภา นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกหนังสือนัด ประชุมสปช.ครั้งที่ 1/2557 ในวันที่ 21 ต.ค. เวลา 09.30 น. มีระเบียบวาระการประชุมรับทราบพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งสปช. และวาระเลือกประธานและรองประธานสปช. 

สนช.ส่อยื้อ-ตั้งกก.กลั่นกรองสอย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมสนช.วันที่ 16 ต.ค. สำนักงานเลขา ธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสนช. ได้แจกสำนวนการถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคม ที่ป.ป.ช.ส่งมาให้สนช.ทุกคน ใช้ศึกษาและประกอบการพิจารณาในการประชุมสนช.วันที่ 17 ต.ค. โดยที่ประชุมจะหารือวาระดังกล่าวในช่วงบ่าย ซึ่งปรากฏว่าตลอดช่วงบ่ายวันที่ 16 ต.ค. สนช.บางส่วนได้หารือกันนอกรอบ โดยเฉพาะสนช.สายทหาร สายนักธุรกิจ และสายนักปกครอง ซึ่งสนช.สายทหารส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะถอดถอน เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว ไม่สามารถเอาผิดได้ อีกทั้งไม่อยากสร้างความขัดแย้ง ต้องการให้ปรองดองกันมากกว่า และหลายคนใกล้เกษียณอายุราชการ จึงเกรงว่าหากทำผิดกฎหมายจะถูกฟ้องภายหลังได้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในสนช.ยังมีความเห็นเรื่องถอดถอนหลายแนวทาง อาทิ สนช.จะขอมติที่ประชุมขอยกเว้นใช้ข้อบังคับการประชุมสนช. กรณีประธานสนช.ต้องบรรจุสำนวนการถอดถอนภายใน 30 วัน หลังได้รับสำนวนจากป.ป.ช. เพราะเรื่องดังกล่าวยังมีการถกเถียงข้อกฎหมาย จึงควรหาความชัดเจนให้ตกผลึกก่อน โดยตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองใน 30 วัน แล้วค่อยเสนอต่อที่ประชุมสนช.อีกครั้ง ซึ่งแนวทางดังกล่าวมีสนช.สนับสนุน 30-40 คน แต่ส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องข้อกฎหมาย ต้องการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าสนช.มีอำนาจหน้าที่ทำได้หรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไร สนช.ก็พร้อมปฏิบัติตาม แต่ยังมีสมาชิกสนช.ส่วนหนึ่งต้องการให้เข้าสู่กระบวนการถอดถอนทันที


ป๋าเปิดงาน - พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานเปิดโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ รุ่นที่ 22 มีพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. ร่วมงานที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ เมื่อ 16 ต.ค.

"บิ๊กกี่"ให้ยึดกฎหมายตัดสินใจ

พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิกสนช.กล่าวว่า สนช.เพิ่งได้รับเอกสารรายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของป.ป.ช. กรณีกล่าวหานายสมศักดิ์และนายนิคมจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งสนช.สายทหารได้หารือกันและยังไม่มีข้อตกลงกันว่าจะลงมติอย่างไร ให้แต่ละคนไปศึกษาข้อมูลให้ละเอียดครบถ้วน โดยเฉพาะคนที่มีความรู้ด้านกฎหมายให้อ่านข้อมูลให้ดีและละเอียดเพื่อสรุปให้สนช.คนอื่นฟังก่อนประชุมวันที่ 17 ต.ค. ในวาระพิจารณาเรื่องถอดถอนเพื่อทำตามกฎหมาย หากรู้ว่ากฎหมายว่าอย่างไรก็ให้ตามนั้น เชื่อว่าสนช.ทุกคนมีภูมิความรู้เพียงพอที่จะรู้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจตามกฎหมายได้

นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกสนช.กล่าวว่า สนช.หลายคนยังลังเลเรื่องการลงมติในวันที่ 17 ต.ค. เพราะไม่ถนัดและยังสงสัยในข้อกฎหมาย จึงอยากฟังความเห็นของที่ประชุมวันที่ 17 ต.ค.อีกครั้งก่อนลงมติ ซึ่งกรณีดังกล่าวในความจริงแล้ว เป็นอำนาจหน้าที่ของประธานสนช.สั่งบรรจุวาระเรื่องการถอดถอนได้ทันที แต่ประธานสนช.เห็นว่ากรณีดังกล่าวยังมีปัญหาข้อกฎหมายที่ยังมีความเห็นหลากหลาย จึงอยากให้ที่ประชุมสนช.ช่วยกันวินิจฉัย หากยังไม่มีความชัดเจนในข้อกฎหมายก็เป็นไปได้ที่จะเสนอต่อที่ประชุมสนช. ขอยกเว้นการใช้ข้อบังคับการประชุมกรณีต้องบรรจุวาระการถอดถอนภายใน 30 วัน โดยให้รอจนกระทั่งมีความชัดเจนทางข้อกฎหมายก่อน แล้วค่อยมาหารือกันอีกครั้ง

สายคมช.ดันถอดถอน-อ้างผิด

ด้านพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสนช. กล่าวถึงการประชุมสนช. เพื่อพิจารณารายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของป.ป.ช. กรณีถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมว่า ส่วนตัวเห็นว่าสนช.ควรรับเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการถอดถอนตามข้อบังคับสนช. แม้หลายฝ่ายจะให้ข้อมูลว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว แต่ฐานความผิดของทั้ง 2 ยังมีอยู่ และพฤติกรรมของทั้ง 2 คนถือเป็นการสร้างจุดเริ่มต้นของกระบวนการล้มล้างประชาธิปไตย และก่อให้เกิดปฏิวัติ แม้กฎหมายที่เป็นฐานความผิดจะไม่มีอยู่แล้ว ความผิดนั้นยังคงมีอยู่จึงต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสนช. เพื่อไม่ให้เป็นบรรทัดฐานในอนาคตว่าหากผู้ใดทำความผิดแล้ว แต่กฎหมายที่บังคับการเอาผิดสิ้นสภาพไป ความผิดนั้นจะถือว่าหายไปด้วย ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าสมาชิกสนช.จะลงมติไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณานั้น ตนไม่ทราบและไม่มีใครแจ้งให้ลงมติข้างไหน ดังนั้นถือเป็นดุลยพินิจของสนช. ตนพร้อมรับฟัง

ปชป.เสี้ยมทันที-ต้องถอดอถอน

วันเดียวกัน นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงประธานสนช.บรรจุเรื่องการถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมเข้าสู่วาระการประชุมของสนช.ใวันที่ 17 ต.ค.ว่า เรื่องนี้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง มีการสอดไส้เนื้อหา เสียบบัตรแทนกัน เขาจึงไม่เถียงในข้อเท็จจริง แต่ในข้อกฎหมายเมื่อไม่มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อยู่แล้ว การถอดถอนจึงไม่มีผล แต่ไม่พูดถึงว่ายังมีพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รองรับและมีโทษ ไม่เช่นนั้น ป.ป.ช.คงไม่กล้าลงมติให้ถอดถอน โดยส่งเรื่องให้ สนช.ดำเนินการ อีกทั้งยังมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 5 และมตรา 6 รองรับ ที่ระบุชัดถึงการทำหน้าที่ของ สนช. 

"ปัญหาวันนี้จึงอยู่ที่ว่า สนช.จะกล้าทำ กล้าผ่าตัดเนื้อร้ายเพื่อเยียวยารักษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความจริงใจของ สนช.บางคน บางกลุ่ม จะกล้าแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองหรือไม่ หรือได้ชื่อแค่ว่ามาเป็นสนช.เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลเท่านั้น ในฐานะนักกฎหมายยืนยันว่า ถอดถอนได้เพราะพฤติกรรมความผิดได้กระทำจริง มีกฎหมายรองรับ หากไม่มีการดำเนินการใดๆ จะเป็นเยี่ยงอย่างให้กระทำเช่นนี้ต่อไป" นายถาวรกล่าว 

"มาร์ค"โผล่แนะสเป๊กประธานสปช.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการคัดเลือกประธานและรองประธานสปช.ในวันที่ 21 ต.ค. นี้ว่า แนวคิดในการคัดเลือก คือ 1.ควรเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และดำเนินการการประชุม รวมถึงวางระบบการทำงานในกรณีที่มีความเห็นที่หลากหลาย และ 2.ต้องเป็นคนที่มีความรอบรู้พอสมควร เพราะประเด็นที่พูดคุยกันกว้างถึง 11 ด้าน ถือเป็นงานยาก ดังนั้น ขอให้แสดงความเห็นที่แตกต่างโดยอยู่ในขอบเขตที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรง ขัดแย้ง

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ประเด็นปฏิรูปการเมืองเชื่อว่าจะเกิดความขัดแย้ง และมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าแต่ละคนจะแสดงความเห็นไม่เหมือนกัน ต้องยอมรับว่าบรรยากาศการปฏิรูปนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะราบรื่น เรียบร้อย เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะพูดตรงกัน ฉะนั้น ต้องเริ่มปรับตัวเข้ากับความเป็นจริงว่าต่อไปนี้ประเด็นการปฏิรูปจะมีการเสนอประเด็นหลากหลาย มีการถกเถียง สับสน อาจมีความขัดแย้งทางความคิด

เมื่อถามว่าจะปฏิรูปอย่างไรให้ฝ่ายที่ไม่ค่อยเห็นด้วยยอมรับ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คงยาก อย่าลืมว่าการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงอาจถึงขั้นถอนรากถอนโคนก็ได้ และย่อมกระทบโครงสร้างในปัจจุบัน ดังนั้น ความสำคัญอยู่ที่การสร้างความชอบธรรมที่ดีที่สุดที่ทำได้ ถ้ากระบวนการเป็นที่ยอมรับ ข้อเสนอออกมามีเหตุผล อาจจะไม่ถูกใจ แต่อย่างน้อยก็เป็นภูมิคุ้มกันให้ข้อเสนอนั้นได้รับการยอมรับ แล้วนำไปสู่การปฏิบัติและสานต่อได้

"ป๋า"ไม่ทราบ"ตู่"ทำหน้าที่ดีหรือไม่

ที่สโมสรกองทัพบกเทเวศร์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ให้สัมภาษณ์ถึงจะให้กำลังใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.อย่างไรว่า ขอให้ช่วยกันดูแลชาติบ้านเมืองให้มีความสงบสุขร่มเย็น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนายกฯ เท่านั้น ส่วนการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้จะแก้กันอย่างไร ตนไม่รู้ ส่วนเหตุการณ์เผาโรงเรียนนั้น ก็เป็นห่วงทุกคน 

เมื่อถามว่าจะมีเรื่องอะไรพิเศษแนะนำนายกฯ พล.อ.เปรมกล่าวว่า ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เมื่อถามย้ำว่าพล.อ.ประยุทธ์ทำหน้าที่นายกฯ ดีอยู่แล้วหรือไม่ พล.อ.เปรมกล่าวว่าไม่ทราบ

เมื่อถามว่าพล.อ.เปรม เคยเป็นนายกฯ มาแล้ว 8 ปีจะแนะนำอะไร พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.เปรมกล่าวว่า ก็แนะนำไปแล้ว แต่สื่อมวลชนไม่รู้เอง ที่ผ่านมาการพบกับนายกฯ ก็ให้คำแนะนำไปเยอะแยะ

บิ๊กตู่ถึงมิลาน-มีคนมอบดอกไม้ให้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.05 น. วันที่ 15 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 5 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมทั้งคณะ ได้เดินทางถึงท่าอากาศยานมาลเพนซา (Malpensa) นครมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี เพื่อเข้าร่วมประชุมผู้นําเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting-ASEM) ครั้งที่ 10 โดยมีรองอธิบดีกรมพิธีการทูตอิตาลีให้การต้อนรับ 

จากนั้นนายกฯ และคณะ เดินทางต่อไปยังโรงแรม Starhotels Rosa Grand ที่พัก ปรากฏว่ามีคนไทยจำนวนหนึ่ง นำรูปภาพพล.อ.ประยุทธ์ ธงชาติไทย ป้ายข้อความให้กำลังใจและมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ได้ทักทายและกล่าวขอบคุณ

จากนั้นเวลา 19.00 น. นายสุรพิทย์ กีรติบุตร เอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงโรม เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ มีพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ เอกอัครราชทูตไทยในยุโรป ทีมประเทศไทยในอิตาลี และนักธุรกิจไทยที่มาร่วมประชุมสภาธุรกิจเอเชีย-ยุโรปเข้าร่วม โดยนายกฯ กล่าวตอนหนึ่งในงานเลี้ยงอาหารค่ำ กรณีมีคนไทยในอิตาลีมาให้กำลังใจว่า รู้สึกชื่นใจ หลังจากก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะมีคนมาต่อต้าน ถือเป็นเรื่องดีที่กระทรวงการต่างประเทศทำความเข้าใจได้

โอดครอบครัวไม่มีความสุข-ระวัง

นายกฯ กล่าวว่า ขอขอบคุณหลายภาคส่วนที่ร่วมทำงานเดินหน้าประเทศไทย โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศต้องทำหน้าที่ชี้แจงให้นานาประเทศเข้าใจสถานการณ์ในประเทศ การสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ จะต้องกำหนดวิสัยทัศน์ให้ชัดเจน และขอให้ทุกคนร่วมกันทำงาน ใช้ความเป็นคนไทยแสดงให้เห็นว่าเราจริงใจ

"เมื่อเดินมาถึงวันนี้แล้ว ต้องสู้เดินหน้าต่อไป เพราะถ้าไม่สำเร็จก็ไม่รู้จะอยู่ยังไง ชีวิตผมก็อันตรายเหมือนกัน ครอบครัวไม่มีความสุข วันนี้ถามว่าลูกเมียไปไหนได้บ้าง ไม่ได้กลัว แต่ต้องระวัง ตั้งแต่เข้ามาผมไม่เคยกล่าวโทษให้ร้ายใคร แต่ถ้ามาพาดพิงมากก็อดไม่ได้ เพราะรักเกียรติยศศักดิ์ศรี ผมอาจพูดจาไม่ไพเราะมากนัก เป็นธรรมดาที่มีคนรักและไม่รัก แต่ผมเชื่อว่าคนในประเทศไทยเข้าใจ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

หัวหน้าคสช.กล่าวว่า การเข้ามาเป็นรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนประเทศที่หยุดชะงักให้เดินหน้าจากการปลดล็อก ถ้าไม่ทำอะไร ประเทศถอยหลัง ติดขัด จากการก้าวเข้ามาเป็น คสช. ช่วงแรกก็หนักใจ แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องทำงานให้ประเทศ แต่ที่ผ่านมาติดกับดักคำว่าประชาธิปไตย โดยรัฐบาลเดินหน้าด้วยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและจะไม่ปล่อยให้มีการทุจริตเกิดขึ้น และพร้อมให้โอกาสทุกฝ่ายต่อสู้คดี

กลับบ้านก็ทะเลาะกับเมียทุกวัน

นายกฯ กล่าวถึงปัญหาด้านความมั่นคงว่า ยังจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษควบคุมสถานการณ์ ลดความขัดแย้งและเดินหน้าสู่การปฏิรูปประเทศ ให้สัมฤทธิผลใน 1 ปี หากไม่จบ รัฐบาลใหม่ต้องรับไปดำเนินการ ทั้งนี้ ตนไม่ต้องการอยู่ในตำแหน่งนายกฯ เกินกว่ากรอบเวลาที่วางไว้ ทหารไม่ได้ยึดอำนาจรัฐบาล แต่สถานการณ์สุกงอม รัฐบาลชั่วคราวทำงานไม่ได้แล้ว ทหารมีหน้าที่ดูแลแผ่นดินรักษาสถาบันชาติ พระมหากษัตริย์ ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกละเมิด ทหารก็อยู่เฉยๆ ที่ผ่านมาได้พูดกับนายกฯ หลายครั้ง เตือนทุกเรื่อง แต่ด้วยวิถีทางการเมืองก็ช่วยไม่ได้ สิ่งที่ทำวันนี้ทำเพื่อไม่ให้เกิดการปฏิวัติอีกในอนาคต ต้องเอาประเทศชาติเดินหน้าไปให้ได้


กลุ่มต้าน - กลุ่มเคลื่อนไหวประชาธิปไตยซึ่งมีทั้งคนอิตาลีและคนไทย เดินขบวนชูป้ายประท้วงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาร่วมประชุมอาเซม กรณีนายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพอิตาลีถูกยิงเสียชีวิตช่วงสลายม็อบในไทยเมื่อ ปี 2553

"ผมพร้อมจะลาออก อยากจะลาออกทุกวัน แต่เห็นประชาชนเดือดร้อนทนไม่ได้ และไม่ได้อยากอยู่เกินแม้แต่วันเดียว ทุกวันนี้ ผมสู้รบทุกวัน ในบ้านกลับมาก็ทะเลาะกับเมีย เมียถามว่าทำไมอันนี้ไม่ทำ ผมบอกทำแล้ว บางเรื่องทำไม่ไหว ก็หงุดหงิด สรุปว่าผมไม่มีความสุข ทุกคนไม่มีความสุข ผมจึงต้องคืนความสุขให้ประชาชน และได้รับความทุกข์ไง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เตรียมเสนอขายข้าวในอาเซม

นายกฯ กล่าวถึง การเข้าร่วมประชุมผู้นำอาเซมว่า จะใช้เวทีอาเซมสะท้อนแนวคิดการรวมกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้ตลาดยุโรปเห็นคุณค่าสินค้าการเกษตรโดยเฉพาะข้าว เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ ประชาคมโลกจะมีศักยภาพเพียงพอดูแลทรัพยากรมนุษย์ในอนาคตหรือไม่ จึงต้องเตรียมแหล่งอาหารโลกให้เพียงพอ ซึ่งประเทศอาเซียนจะทำเรื่องเหล่านี้ได้ ขณะเดียวกันต้องเตรียมขายสินค้า เช่น ข้าว ปาล์มน้ำมัน ให้ได้มาก เริ่มต้นด้วยการรวมตัวในกลุ่มประเทศอาเซียนก่อน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น ช่วยกันวิจัยข้าว เพิ่มมูลค่า ขายของให้มีราคา อาทิ ขายข้าวสำหรับคนเป็นเบาหวาน และข้าวที่รับประทานแล้วทำให้อ่อนวัย

"ข้าวในโครงการรับจำนำข้าวไม่สามารถขายได้ เนื่องจากจะขาดทุนเพราะถ้าขายข้าว 20 ล้านตัน จะขาดทุน 4-7 แสนล้านบาท หากปล่อยไปอีก 3 ปี อาจทำให้ประเทศล้มละลายได้ แต่รัฐบาลไม่สามารถเลิกโครงการนี้ จึงต้องช่วยเหลือต่อไป" นายกฯ กล่าว 

ได้คิวถกผู้นำจีน-นายกฯญี่ปุ่น

สำหรับภารกิจในวันที่ 16 ต.ค. ในช่วงเช้า นายกฯ มีกำหนดหารือทวิภาคีกับนายชินโซะ อาเบะ นายกฯ ญี่ปุ่น และนายหลี่ เค่อเฉียง นายกฯ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจระดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ยังหารือกับนายยีรี รุสนอค นายกฯ สาธารณรัฐเช็กด้วย เพื่อกระชับความสัมพันธ์และเพิ่มพูนมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกัน

จากนั้น นายกฯ เข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ซึ่งเป็นเวทีแรกที่พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ เบื้องต้น นายกฯ จะแสดงวิสัยทัศน์บนเวทีนานาชาติชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ของไทยและการเดินหน้าแผนโรดแม็ป เพื่อเรียกความเชื่อมั่น รวมถึงเสนอแนะแนวทางการรองรับการเปลี่ยน แปลงของโลกอย่างฉับพลัน เช่น ภัยพิบัติ และปัญหาการขาดแคลนอาหารในอนาคต

บัวแก้วสั่งทูตไทยในอียูช่วยชี้แจง 

ที่เมืองมิลาน นายวิทวัส ศรีวิหค ทูตไทยประจำกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก กล่าวถึงการประชุมเอกอัครราชทูตไทยประจำภูมิภาคยุโรปที่มีพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รอง นายกฯและรมว.ต่างประเทศเป็นประธานว่า ได้พูดคุยเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทย ต้องย้ำกับมิตรประเทศในยุโรปว่าไทยยังยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย ขอเวลาสร้างความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ขอให้ทูตดำเนินการอย่างแข็งขัน และพูดคุยเรื่องการส่งเสริมการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย ขอให้ทูตดำเนินการอย่างแข็งขัน และพูดคุยเรื่องส่งเสริมการแข่งขันของเศรษฐกิจ การที่ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนเป็นจุดหนึ่งที่ยุโรปสนใจที่จะเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจกับไทยมากขึ้นเมื่อเรากำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีหน้า

นายวีรชัย พลาศรัย ทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า มีการมอบนโยบายว่าเราต้องไปพูดจาอย่างสร้างสรรค์ สิ่งที่จำเป็นต้องพูดมากคือเรื่องหนทางข้างหน้าที่เราจะกลับสู่ประชาธิปไตย

ฮิวแมนไรต์ฯจี้รมว.50ปท.กดดัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ (HRW) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีต่างประเทศที่อยู่ระหว่างการประชุมอาเซม ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี มีเนื้อหาเรียกร้องให้รัฐมนตรีต่างประเทศ ประกอบด้วย 28 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู 2 ชาติในยุโรป และอีก 20 ชาติจากทวีปเอเชีย ร่วมกดดันพล.อ.ประยุทธ์ นายกฯไทย ให้เพิ่มมาตรฐานด้านสิทธิเสรีภาพ และคืนระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประเทศไทย

นายแบรด อดัมส์ ผอ.ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรตระหนักว่าผู้นำสมาชิกประเทศในทวีปยุโรปจะไม่ยอมรับการปกครองในระบอบเผด็จการในไทยอีกต่อไป ขณะที่ธุรกิจและนักลงทุนจะไม่กลับมาทำการค้าในไทยตามปกติ ตราบใดที่ไทยยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่สุจริตและยุติธรรม ทั้งนี้ รัฐบาลไทยจำเป็นต้องแก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่หลายประการอย่างเร่งด่วน ซึ่งกว่า 4 เดือนที่ผ่านมา คสช.ไม่มีความคืบหน้าในการคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เห็นได้จากพล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจมหาศาลโดยปราศจากการตรวจสอบ ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและกฎอัยการศึก ปกป้องและให้อำนาจในการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสถาบันหลักจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว อาทิ สนช. และสปช. เต็มไปด้วยสมาชิกที่เป็นนายทหารและผู้ที่ภักดีกับฝ่ายเผด็จการทหาร

ระบุให้เร่งคืนประชาธิปไตย

ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ระบุว่า นอกจากนี้ยังขัดขวางเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนที่จำเป็นต่อการกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง คสช.ใช้มาตรการปิดกั้นและสั่งห้ามสื่อมวลชนวิจารณ์การทำงานของคสช. เช่น ปิดเว็บไซต์กว่า 200 แห่ง รวมถึงเว็บไซต์ของฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ประเทศไทยอ้างว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง คสช.ยังห้ามชุมนุมเกิน 5 คน และห้ามจัดกิจกรรมที่เข้าข่ายต่อต้านการรัฐประหาร ประชาชนที่แสดงออกถึงความไม่พอใจก็ถูกจับกุมและส่งไปดำเนินคดีในศาลทหารและรับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี คสช.ยังถือว่าการสนทนาทางการเมืองและความเห็นต่างด้านการเมือง เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติด้วย โดยคสช.ขยายอำนาจการควบคุมไปตามมหาวิทยาลัย และห้ามไม่ให้สนทนาถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย หรือวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์

"ประเทศไทยกำลังอยู่ท่ามกลางการปราบปรามครั้งใหญ่ต่อเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การสมาคม และการจัดกิจกรรมสาธารณะ ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะจบลง แรงกดดันจากรัฐบาลของกลุ่มชาติยุโรปและหุ้นส่วนที่สำคัญทางเศรษฐกิจน่าจะช่วยเป็นตัวเร่งให้ระบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศไทยได้เร็วขึ้น" นายอดัมส์กล่าว

"ประยุทธ์"ถกทวิภาคีกับ"อาเบะ"

เมื่อเวลา 08.50 น. วันที่ 16 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าเวลาประเทศไทย 5 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์หารือทวิภาคีกับนายชินโซะ อาเบะ นายกฯญี่ปุ่น ทั้งนี้ นายกฯญี่ปุ่นแสดงความยินดีที่พล.อ.ประยุทธ์เข้ารับตำแหน่งและพร้อมเสริมสร้างความสัมพันธ์กับไทยในทุกระดับ ทั้งการบริหารจัดการน้ำ ที่ทราบว่าไทยให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมการลงทุน และขอให้ทำอย่างโปร่งใส ต่อเนื่อง และหวังว่าจะมีโอกาสต้อนรับนายกฯไทยหากเดินทางเยือนญี่ปุ่น 

นายกฯญี่ปุ่นกล่าวยกย่องความเป็นผู้นำของนายกฯไทยอีกครั้งที่พยายามแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างรวดเร็ว พร้อมระบุว่า จะส่งผู้เชี่ยวชาญวิจัยและพัฒนาผ่านช่องทางการทูต และขอให้ใช้เทคโนโลยีเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่มีความปลอดภัยสูงของญี่ปุ่นมาไทย หวังว่าจะได้รับความร่วมมือด้านความมั่นคง นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าชอบรับประทานอาหารไทย เช่น ต้มยำกุ้ง

โดนม็อบประท้วง-ต้านที่มิลาน

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์กล่าวขอบคุณและแสดงความยินดีที่ไทย-ญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ยาวนานทุกระดับ เป็นเวลา 127 ปีแล้ว และมีความร่วมมือที่ดีเสมอมา ขณะนี้ไทยกำลังเดินหน้าปฏิรูปประเทศ และหวังให้ทัดเทียมญี่ปุ่น โดยขอเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นที่จะเดินหน้าลงทุนในภูมิภาคอาเซียนได้ 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยของไทยว่า ไม่ต้องกังวล เพราะขณะนี้ไทยอยู่ในช่วงโรดแม็ป ระยะที่ 2 และพร้อมรับคำแนะนำจากประเทศต่างๆ ขณะเดียวกันไทยจะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ เร่งการค้าการลงทุน พัฒนาระบบสาธารณูปโภค ที่สำคัญจะเร่งเดินหน้าเรื่องการลงทุนกับญี่ปุ่น ทั้งระบบราง ดาวเทียม การบริหารจัดการน้ำ และขอชื่นชมนักลงทุนญี่ปุ่นที่ไม่ทอดทิ้งไทยในช่วงที่ลำบาก ทั้งนี้ จะพิจารณาเดินทางเยือนญี่ปุ่นในเวลาที่เหมาะสม 

นอกจากนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานข่าวการไปร่วมประชุมผู้นำยุโรป-เอเชีย(อาเซม) ครั้งที่ 10 ที่นครมิลาน อิตาลี พร้อมนำเสนอภาพและข่าวกลุ่มผู้ชุมนุมที่มารวมตัวเพื่อประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ โดยผู้ชุมนุม ประกอบด้วยกลุ่มเคลื่อนไหวด้านประชา ธิปไตย ประชาชนทั่วไป ซึ่งมีทั้งชาวอิตาลีและคนไทย ที่มายืนชูป้ายและภาพข้อความประท้วง รวมทั้งมีชาวอิตาลีชูป้ายประท้วงเพื่อเรียกร้องในกรณีของนายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลีที่ถูกกระสุนยิงเสียชีวิตช่วงสลายการชุมนุมเมื่อเดือนพ.ค. 2553 ด้วย

"ไก่อู"โต้ลั่นม็อบต้านบิ๊กตู่ที่อิตาลี

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า จากที่มีข่าวในสังคมโซเซี่ยลเน็ตเวิร์ก โดยเฉพาะจากเว็บไซต์ไทยอีนิวส์ บล็อก สปอร์ทดอทคอม เสนอภาพในทำนองมีคนมาต่อต้านพล.อ.ประยุทธ์ และคณะที่เดินทางเข้าประชุมอาเซม ที่อิตาลีนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง หลังจากเห็นภาพและข้อความดังกล่าวได้โทรศัพท์ติดต่อคณะทำงานที่ร่วมคณะไปด้วย ซึ่งได้รับการยืนยันว่าไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว มีแต่คนไทยจำนวนหนึ่งมาต้อนรับ ซึ่งผู้สื่อข่าวที่ร่วมคณะไปด้วยสามารถเป็นพยานได้ จึงไม่ทราบวัตถุประสงค์แต่ทราบว่ามีความพยายามให้เห็นภาพว่ามีการต่อต้านนายกฯ 

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งไอซีทีและคสช.จะตรวจสอบเว็บดังกล่าวอีกครั้ง ยืนยันไม่มีเรื่องต่อต้านนายกฯอย่างแน่นอน

รัชตะโต้ตั้งแพทย์ชนบทกุนซือ

นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการยื่นหนังสือลาออกจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่มีผลในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ว่า สาเหตุที่การลาออกมีผลในอีก 2 เดือน เนื่องจากสภามม. ให้เวลาสะสางงานที่ยังค้างคาอยู่ตามปกติ ส่วนการทำหน้าที่ในฐานะ รมว.สาธารณสุข จะเดินหน้าเร่งด่วนในหลายเรื่อง อาทิ การให้บริการประชาชน การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค 

ส่วนที่มีการวิจารณ์การแต่งตั้งทีมที่ปรึกษา ซึ่งมาจากกลุ่มแพทย์ชนบทเพียงกลุ่มเดียว อาจเกิดปัญหาในกระทรวงขึ้นนั้น นพ.รัชตะกล่าวว่า การแต่งตั้งไม่ได้มีกลุ่มแพทย์ชนบทเพียงกลุ่มเดียว แต่มีตัวแทนจากกลุ่มอื่นด้วย อย่างตัวแทนจากโรงเรียนแพทย์ก็มี ดูจากรายชื่อได้

ทั้งนี้ นพ.รัชตะ จะลงพื้นที่ที่ จ.สงขลา และปัตตานี เพื่อตรวจเยี่ยมการจัดบริการในพื้นที่พิเศษ การส่งต่อผู้ป่วย รวมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชายแดนใต้ ในวันที่ 24-25 ต.ค.นี้ ซึ่งทำการ์ดเชิญผู้สื่อข่าวโดยระบุว่าจะเชิญร่วมทานข้าวและพูดคุยเรื่องทิศทางการปฏิรูป พร้อมเปิดใจตอบทุกคำถามด้วย

ปปช.ลุยสอบ 39 อดีตสว.แก้รธน.

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ว่า ที่ประชุมมีมติให้เจ้าหน้าที่ไปพิจารณาว่าการกระทำของอดีต 39 ส.ว. กรณีป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอดีต 39 ส.ว.แก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.มิชอบนั้น เป็นการกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างเดียว หรือเป็นความผิดต่อกฎหมายอื่นด้วยหรือไม่ พร้อมให้เปรียบเทียบกับกรณีนายสมศักดิ์ และนายนิคม ว่ามีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร แล้วให้เสนอคณะกรรมการป.ป.ช.พิจารณาต่อไปเร็วที่สุด แต่คาดว่าคงไม่ทันในสัปดาห์หน้า หากพิจารณาแล้วเป็นฐานความผิดเดียวกันกับนายสมศักดิ์และนายนิคม ป.ป.ช.จะส่งให้สนช. พิจารณาถอดถอนต่อไป 

นายวรวิทย์กล่าวว่า ในวันที่ 24 ต.ค. สำนักงานป.ป.ช.จะเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินสนช. กรณีเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง 5 ราย ประกอบด้วย นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และพล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ จากนั้นวันที่ 31 ต.ค.-14 พ.ย. จะเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯของครม. ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์

"เต้น"แนะบิ๊กตู่ยันเลือกตั้งในอาเซม

วันเดียวกัน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรมช.พาณิชย์และแกนนำนชป. โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า มีเรื่องใหญ่ 2 ประเด็นที่ต้องแสดงความเห็น เรื่องแรกคือกรอบเวลาการเลือกตั้งครั้งต่อไป คนไทยส่วนใหญ่รับรู้และเข้าใจตรงกันจากคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ และเนื้อเพลงที่เปิดให้ฟังทั้งวันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเดือนต.ค.2558 แต่พอนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกว่าอาจเลื่อนไปถึงปี 2559 โดยอ้างกระบวนการร่างกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์ก็ตอบไม่ชัดเรื่องเวลาขึ้นมาด้วย โดยหลักการจะเลือกตั้งได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญใหม่ กฎหมายลูก และเนื้อหาการปฏิรูปต้องเสร็จสิ้นเสียก่อน แต่ในโลกของความเป็นจริง เรื่องเหล่านี้จะแล้วเสร็จเมื่อไหร่อยู่ที่คสช. ถ้าเดินตามโรดแม็ปทุกอย่างก็จะเป็นตามสัญญา หากขาดความชัดเจนตั้งแต่วันนี้ คำสัญญาจะกลายเป็นเรื่องเลื่อนลอย จับต้องไม่ได้ อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ใช้เวทีอาเซมยืนยันความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาคืนอำนาจ เพิ่มความเชื่อมั่นในสายตานานาชาติและคนไทยทั้งประเทศ

เตือนถอดถอน-ฆาตกรรมหมู่

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า นายวิษณุพูดเรื่องกระบวนการก็เป็นความเห็นของคณะผู้รับเหมา ที่รับงานร่างรัฐธรรมนูญกันมาแล้วหลายฉบับ ถ้าเจ้าของโครงการยืนยันตามแผนเดิม ผู้รับเหมาย่อมดำเนินการตอบสนองได้ ต้องเข้าใจว่าเจ้าของโครงการตกลงไว้กับประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคอย่างไร ถ้าทำไม่ได้เขาจะโวยวายเอากับเจ้าของโครงการ ส่วนผู้รับเหมาก็แค่เก็บของรองานหากมีโครงการใหม่ ตนไม่ได้คาดคั้นพล.อ.ประยุทธ์ แต่เอาใจช่วย และไม่มีความคิดจะเคลื่อนไหวให้เป็นอุปสรรค เพราะเห็นว่าเท่าที่เป็นอยู่ก็ไม่ใช่งานง่ายอยู่แล้ว

อดีตรมช.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องคือการพิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมที่จะลงมติกันในวันที่ 17 ต.ค. ในฐานะผู้ไม่มีส่วนได้เสียเพราะไม่อยู่ในบัญชีถอดถอนใดๆ ตนยืนยันว่า สนช.ไม่มีอำนาจทำได้ ถ้าลงมือทำความหมายของเรื่องนี้คือการเริ่มต้นฆาตกรรมหมู่ทางการเมือง ที่อาจรวมถึงนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และส.ส. ส.ว.อีกกว่า 300 ชีวิต แถมเป็นการลงมือของคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งไปนั่งอยู่ใน สนช.หลายคนด้วย

"ถ้าคำว่าไม่เสียของคือการสร้างความสามัคคีปรองดองของทุกฝ่ายในบ้านเมือง ผมฟันธงล่วงหน้าว่า หาก สนช.มีมติบรรจุวาระถอดถอนแล้วลงมติถอดถอนกันไปจริงๆ เสียของตั้งแต่วันนั้นเลยครับ" นายณัฐวุฒิกล่าว

บิ๊กต๊อกตั้ง"สุวณา"รักษาการดีเอสไอ 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงยุติธรรมว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ลงนามคำสั่งกระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งข้าราชการรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประกอบด้วย 1. แต่งตั้ง พล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงยุติธรรม 2. แต่งตั้ง นางสุวณา สุวรรณจูฑะ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ 3. แต่งตั้ง นายวีระยุทธ สุขเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยนางสุวณา ได้รับแต่งตั้งให้รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ เนื่องจากเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมที่รับผิดชอบกลุ่มภารกิจด้านบริหารงานยุติธรรม

ขุนค้อน-นิคมร่วมสวดศพอภิวันท์

เมื่อเวลา 18.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลา 2 วัดบางไผ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี จัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาและส.ส.พรรคเพื่อไทย ต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ซึ่งวันนี้พรรคเพื่อไทย นำโดยกลุ่มส.ส.ภาคอีสานและกทม. กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อบจ.นนทบุรี และอีก 8 คณะรับเป็นเจ้าภาพร่วม บรรยากาศยังคงมีประชาชนมาแสดงความไว้อาลัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหตุการณ์ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ท่ามกลางการดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

จากนั้นเวลา 19.00 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา เดินทางมาเป็นเจ้าภาพพิธีสวดพระอภิธรรมศพ พร้อมด้วยนายพานทองแท้ ชินวัตร นายนิคม ไวยรัช พานิช อดีตประธานวุฒิสภา พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตรองนายกฯและรมว.ยุติธรรม พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรมว.กลาโหม นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตรมว.พลังงาน นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำนปช. และอดีตส.ส.จำนวนมาก 

ทั้งนี้ การปรากฏตัวของนายสมศักดิ์และนายพานทองแท้ ได้รับความสนใจจากประชาชนที่มาร่วมงาน โดยมีประชาชนโห่ร้องแสดงความดีใจปรบมือกันก้องวัดและพยายามขอถ่ายภาพ

คิวถกนายกฯจีน-ชื่นชมสัมพันธ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งช้ากว่าไทย 5 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ได้หารือทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกฯสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนายกฯจีนกล่าวว่าความสัมพันธ์ของสองประเทศไม่เคยเปลี่ยนแปลงแม้สถานการณ์จะเปลี่ยนไป ถือว่าเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่ดีต่อกันและพร้อมพัฒนาความร่วมมือต่างๆ ต่อไป และขอเป็นกำลังใจให้นายกฯทำงาน จีนยินดีต้อนรับนายกฯไทยในการเดินทางเยือน ทั้งนี้ จีนพร้อมให้การสนับสนุนสินค้าทางการเกษตร ทั้งข้าวและยางพารา ส่วนเรื่องรถไฟความเร็วสูง จีนสนใจเข้ามาดำเนินโครงการ

ด้านพล.อ.ประยุทธ์กล่าวขอบคุณจีนที่เข้าใจไทย พร้อมระบุว่า ไทยต้องการความเข้มเข็งและเท่าเทียมและความเชื่อมั่น จีนถือเป็นมิตรประเทศที่ดีเสมอมา จึงต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศให้ดีขึ้นทุกด้าน และขอให้จีนสนับสนุนเรื่องข้าว เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ จะได้นำเงินไปลงทุนด้านอื่นๆ ทั้งนี้ รัฐบาลเร่งดำเนินการโครงการบริหารจัดการน้ำ และรถไฟความเร็วสูง และขอให้จีนอย่ากังวลว่าจะยกเลิกโครงการต่างๆ เพียงแค่ทบทวนในบางโครงการเท่านั้น รัฐบาลไทยขอขอบคุณรัฐบาลจีนที่จะช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรของไทย

สื่อเทศตีข่าว"บิ๊กตู่"ในนครมิลาน

เอเอฟพีรายงานการร่วมประชุมอาเซมของพล.อ.ประยุทธ์ว่า เป็นการร่วมประชุมในเวทีระดับโลกครั้งแรกของพล.อ.ประยุทธ์ นับตั้งแต่ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อเดือนพ.ค. โดยระบุว่าพล.อ.ประยุทธ์มา ถึงที่ประชุมในนครมิลาน ประเทศอิตาลีด้วยหน้าตายิ้มแย้ม โบกมือทักทายช่างภาพที่ รุมบันทึกภาพกันอย่างเนืองแน่น แต่พล.อ. ประยุทธ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามของสื่อ มวลชน

ขณะเดียวกัน มีกลุ่มนักศึกษาผู้เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้ลี้ภัยอีกจำนวนหนึ่งรวมกลุ่มถือป้ายขับไล่และกล่าวหาพล.อ.ประยุทธ์เป็นอาชญากร โดยนักเคลื่อนไหวคนหนึ่งกล่าวว่า คาดว่าการประท้วงพล.อ.ประยุทธ์ที่มาร่วมประชุมอาเซม จะกระตุ้นให้นานาประเทศกดดันรัฐบาลทหารของไทยให้เร่งฟื้นคืนสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชนไทย แม้จำนวนผู้ประท้วงจะไม่มาก แต่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการ เรียกร้องประชาธิปไตย ประเทศไทยมีการรัฐประหาร และผู้คนล้มตายมามากพอแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยุโรปควรรู้จุดยืนที่ จะร่วมปกป้องสิทธิของพลเรือนมากกว่าต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!