- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 14 October 2014 15:10
- Hits: 5916
ดัน'เดชณรงค์'ข้ามห้วย คุมดีเอสไอ ยธ.หนุน'ณรัชต์'คนใน 'เทียนฉาย'จ่อปธ.สปช. หนักใจ-ลุ้นพิจารณ์รธน. 'สมหมาย'เชื่อมือบิ๊กตู่ เทียบ'สฤษดิ์-ป๋าเปรม'อุ๋ยพา'อำนวย'พบนายก
งานศพอภิวันท์ - ร่วมพิธี - นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นายวิทยา บุรณศิริ และนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำพรรคเพื่อไทย ร่วมพิธีศพ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ที่วัดบางไผ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม
รมว.คลังแจงต่างชาติ หวัง'บิ๊กตู่'ไม่แตกต่างจากจอมพลสฤษดิ์-ป๋าเปรม สามารถพัฒนาประเทศได้ดีเช่นกัน ป.ป.ช.ส่งแฟ้มถอดถอน'ปู'เรื่องจำนำข้าวให้ สนช. รวมกว่า 3 พันแผ่น
@ รมว.คลังขอโทษกลุ่มอาเซียน
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่กระทรวงการคลัง นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระหว่างวันที่ 9-12 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า รู้สึกไม่สบายใจ เพราะเศรษฐกิจไทยเติบโตน้อยที่สุดในอาเซียน แม้ว่าธนาคารโลกมองว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้แค่ 1.5% แต่เท่าที่ดูเชื่อว่าเศรษฐกิจของไทยโตได้มากกว่า 1.5% และหากการส่งออกขยายตัวได้ดีในช่วงที่เหลือของปี จะทำให้เศรษฐกิจของไทยโตได้ใกล้ระดับ 2%
"ผมต้องขอโทษประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่ไทยเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจในปี 2557 ของอาเซียนต่ำจากระดับที่ควรจะเป็น แม้แต่ลาวยังโตถึง 7% ผมรู้สึกอายที่เศรษฐกิจไทยโตในอัตราเศรษฐกิจของไทยต่ำที่สุดในอาเซียน"นายสมหมายกล่าว
นายสมหมาย กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ต่ำ แต่ไทยยังมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งอัตราการว่างงานต่ำ อัตราเงินเฟ้อต่ำ และอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ซึ่งนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่มุ่งเน้นการสร้างความโปร่งใสทางการคลัง การปฏิรูปภาษีเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนสหรัฐ
@ คาดปีหน้าเครดิตไทยเป็น'A'
นายสมหมาย กล่าวว่า ยังได้หารือทวิภาคีกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินระหว่างประเทศชั้นนำต่างๆ อาทิ สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด แบงก์ และเอชเอสบีซี รวมทั้งเข้าพบสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต) ของโลก 3 แห่ง คือ สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (เอสแอนด์พี) มูดี้ส์
อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และฟิตช์ เรตติ้ง ทั้ง 3 แห่งได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้ที่ระดับเดียวคือ BBB+ และหากไทยมีความเข้มแข็งในเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น มีธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ สามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น มีความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีขึ้น มีโอกาสที่สถาบันจัดอันดับทั้ง 3 แห่งจะปรับเครดิตไทยเพิ่มขึ้นเป็นระดับ A ในปี 2558 โดยในช่วงรัฐบาลชุดนี้เครดิตไทยจะไม่ถูกปรับลดลงอย่างแน่นอนและมีโอกาสที่ปรับขึ้น หากได้ปรับขึ้นจะเป็นหน้าตาของประเทศ สิ่งที่จะตามมาเวลาคือทำให้ดอกเบี้ยที่รัฐบาล หรือเอกชนไปกู้เงินต่ำลง
"ผมได้ขอบคุณทางสถาบันจัดอันดับเครดิตที่มีความอดทนไม่ลดเครดิตไทยปีที่แล้ว ซึ่งการพิจารณาเครดิตไทยนั้นดูโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ พบว่าของไทยยังดีอยู่ และมีความมั่นคงด้านการเงิน รวมถึงความมั่นคงของค่าเงินบาท แม้คนไทยจะทะเลาะกัน ถือมีดถือดาบ แบ่งเป็น 2-3 สี แต่การเงินและการคลังของไทยยังดี ทำให้เครดิตไทยไม่ถูกปรับลดลง"นายสมหมายกล่าว
@ ชู"บิ๊กตู่"เทียบผลงาน'สฤษดิ์-เปรม'
นายสมหมาย กล่าวว่า จากการหารือกับนักลงทุนของสหรัฐ ธนาคารต่างๆ รวมถึงสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ พบว่าเขาเข้าใจไทยมากขึ้นว่าทำไมถึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งนักลงทุนเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับไทย และพอใจกับการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ที่ทำในรูปแบบประชาธิปไตยแม้จะไม่ผ่านการเลือกตั้ง แต่มีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
"ผมบอกกับนักลงทุนและกลุ่มที่ไปพบว่า ถ้าประเทศไทยไม่ทำอย่างนี้ไทยก็จะดีลำบาก และนายกรัฐมนตรีดีๆ ที่มาในลักษณะนี้ ทั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้เข้ามาพัฒนาประเทศมาก และผมก็หวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน จะไม่ต่างจาก 2 ท่านที่ถูกยกชื่อขึ้นมา" นายสมหมายกล่าว
@ "มีชัย"ปฏิรูปการศึกษา-คนไทย
ที่อาคารรัฐสภา นายมีชัย วีระไวทยะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการศึกษา ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้ารายงานตัวว่า ได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เห็นว่ามีความหมาย ควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก การปฏิรูปด้านการศึกษาเป็นแผนระยะยาว ดังนั้นจึงต้องเข้ามาช่วยกันคิด ดูเหตุและผลให้ดีที่สุด ตนไม่ได้ต้องการให้คนเพียงคนเดียวที่ได้เข้ามาเป็นฮีโร่ขี่ม้าขาว แต่ต้องมาช่วยศึกษาและร่วมกันคิด นอกจากนี้ การปฏิรูปไม่ใช่แค่ปฏิรูปโครงสร้างการบริหาร แต่ต้องปฏิรูปคนไทยด้วยเพราะมีหลายอย่างที่ป่วยต้องได้รับการแก้ไข และต้องผลักดันให้คนไทยตระหนักว่าการศึกษาสำคัญ และต้องปฏิบัติให้ได้ตามกรอบเวลาตามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เมื่อถามว่า มีข้อเสนอให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกให้เป็น สปช.มาเป็นที่ปรึกษาช่วย สปช. มองอย่างไร นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนตัวหากใครอยากมาทำหน้าที่ยินดีต้อนรับหมด ไม่ใช่เพียงผู้ที่ไม่ได้รับเลือกกว่า 7,000 คน แต่รวมถึงคนไทยทั้งประเทศ นอกจากนี้ไม่เพียงผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะเข้ามาปฏิรูป แต่เห็นว่าควรมีสภาปฏิรูปจากเยาวชน นักเรียน นักศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยตรง และควรมีสภาปฏิรูประดับเยาวชนในแต่ละท้องถิ่น
@ "เทียนฉาย"ชี้สปช.เปิดใจรับฟัง
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ สปช.ด้านอื่นๆ ให้สัมภาษณ์ว่า วาระเร่งด่วนที่จะต้องทำในการปฏิรูป คือ 1.ประชาชนจะต้องมีส่วนสำคัญมากที่จะมีโอกาสเสนอความเห็น และ สปช.ทั้ง 250 คนต้องฟังเสียงประชาชน โดยจะพยายามทำตรงนั้นให้มากที่สุด คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ 2.สปช.ครั้งนี้ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่มีข้อมูลที่มีการเตรียมการปฏิรูปด้านต่างๆ ไว้ล่วงหน้าพอสมควร รวมทั้งมีมหาวิทยาลัย สถาบันพระปกเกล้า หรือทีมงานของ คสช.ก่อนหน้านี้ศึกษาและเตรียมการไว้ ตรงนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องเหล่านั้นได้ฟังเสียงประชาชนมาแล้วจำนวนหนึ่งในแต่ละด้าน บางด้านที่ยังขาดอยู่ต้องมีข้อมูลเพิ่มเติม และ 3.ใน สปช. 250 คนคงจะต้องรวมพลังให้ดีเพราะมีเวลาไม่มากที่จะต้องทำภารกิจนี้ให้สำเร็จเพื่อประเทศชาติของเรา โดยปฏิรูปทุกด้านควบคู่กันไปด้วยเป็นปัจจัยเกื้อหนุนกัน เรื่องเศรษฐกิจก็เป็นตัวอย่าง ถ้าตั้งเป้าที่จะทำ 2 เรื่องแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความเติบโต ขณะเดียวกันเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตระบบเศรษฐกิจด้วยจะเกื้อหนุนกระบวนการทางการเมืองด้วย และประชาธิปไตย อาจจะไม่ได้ประโยชน์โดยตรงแต่โดยอ้อมด้วย
@ ตั้งใจดีไม่พอต้องทำให้ดีที่สุด
เมื่อถามว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการตั้ง สปช.ขึ้นมาไม่เสียของ นายเทียนฉายกล่าวว่า หลักประกันยากมากเลย มีแต่ความตั้งใจ ตนคิดว่าแค่นั้นพอหรือไม่ไม่รู้ แต่ตั้งใจและจะใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
เมื่อถามว่า สปช.ส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายเทียนฉายกล่าวว่า ถึงเวลานี้ต้องหยุดคิดเรื่องขั้ว เรื่องสี เพราะยังเหลือเวลาไม่มากที่จะทำ 2-3 เรื่อง คือ 1.ฟื้นฟูสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีกลับขึ้นมา 2.มองไปข้างหน้าและทำให้ดีที่สุด นี่คือหน้าที่ของ สปช. ออกแบบระบบและงานชาติให้ดีที่สุดซึ่งสำคัญมาก เมื่อถามย้ำว่าสังคมคาดหวังกับ สปช.มาก นายเทียนฉายกล่าวว่า ขอก่อนเพราะจะมีหลายกรณีที่ทำได้
นายเทียนฉาย ยังกล่าวถึงกรณีกระแสข่าวเป็นเต็ง 1 สำหรับเก้าอี้ประธาน สปช.ว่า เป็นเพียงกระแสข่าว ไม่มีใครมาทาบทาม หากได้รับตำแหน่งก็พร้อมทำหน้าที่ ทั้งนี้ สปช.มีหลายเรื่องที่ต้องทำเป็นพิเศษ ขณะที่เงื่อนเวลามีไม่มากต้องทำภารกิจให้เสร็จ โดยเฉพาะการเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องแล้วเสร็จภายใน 15 วัน หลังจาก สปช.ประชุมนัดแรก ดังนั้นส่วนที่เสนอโดย สปช.น่าจะเสร็จก่อน จากนั้นเป็นของ คสช. และ ครม.จะต้องเสนอรายชื่อเข้ามา
@ รับหนักใจหากเป็นประธานสปช.
เมื่อถามว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาก่อนหรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า จะต้องพิจารณากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน หรือประมาณวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ซึ่ง 20 คน ในส่วนของ สปช.ที่จะไปยกร่างรัฐธรรมนูญน่าจะเกิดก่อน เพราะทาง ครม.และ คสช.ก็อยากจะดูเพื่อจะเติม ขึ้นอยู่กับว่าใครก่อน ซึ่ง 20 คนใน สปช.ทำก่อนได้ก็จะดี เร็วกว่านี้ได้ยิ่งดี คำถามมีว่าจะทำอย่างไรในเวลา 10 กว่าวัน ตรงนี้ให้เสร็จตามภารกิจและเรียบร้อย ดังนั้น ตามกติกาการเปิดประชุม สปช.นัดแรก ในวันที่ 21 ตุลาคมนี้ จะต้องได้คนที่เป็นประธาน รองประธาน สปช. แล้วนำชื่อขึ้นโปรดเกล้าฯ เพราะฉะนั้นจะให้ดีก็มีใครสักกลุ่มช่วยกันคิดจะเรียกกรรมาธิการหรืออะไรก็ได้น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นจะไม่มีองคาพยพจะไปดูแลในช่วงนั้น
เมื่อถามว่า ด้วยกรอบเวลาหนักใจหรือไม่หากได้รับเลือกเป็นประธาน สปช. นายเทียนฉายกล่าวว่า หนักใจ แต่มี 2-3 ประการ คือ 1.ไม่เคยทำหน้าที่นี้มาก่อน แต่มีประสบการณ์อยู่บ้าง ก็คงพอจะช่วยทำหน้าที่ไปได้ในระดับหนึ่ง 2.เราไม่เคยมี สปช.ในประเทศไทย เป็นครั้งแรกเหมือนกัน กำลังเจอความใหม่นี้ด้วยกัน ทั้งคนทำงานใน สปช.และประชาชนทั่วไป ทุกคนมีคำถามจะทำอะไรและทำไปถึงไหน คงต้องช่วยกันคิด
@ ย้ำต้องทำประชาพิจารณ์รธน.
นายเทียนฉายกล่าวถึงการทำประชามติสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังจากนี้ว่า การฟังเสียงประชาชนน่าจะเป็นประโยชน์ ส่วนจะฟังเสียงด้วยวิธีการอะไรขึ้นอยู่กับสถานการณ์ซึ่งประชามติเป็นเพียงกระบวนการหนึ่ง อย่างไรคิดว่าประชาพิจารณ์ต้องทำแน่ คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ เพราะฉะนั้นรอให้ถึงเวลานั้นก่อนยังมีเวลาอีก 1 ปี ทั้งนี้ ที่คิดคร่าวๆ คือ รูปแบบปกติคือประชาพิจารณ์ แต่รูปแบบอื่น เช่น การเสวนาทางวิชาการฟังแต่เริ่มต้น เมื่อได้กรอบหรือประเด็นบางอันแล้วไปฟังความเห็นอีกว่าประชาชนคิดอย่างไรน่าจะเป็นประโยชน์ ทำหลายขั้นตอน แต่เวลากระชับ เพราะฉะนั้นทำอย่างไรจะต้องทำทั้งหมดภายในกรอบเวลาได้ ส่วนตำแหน่งประธานยกร่างรัฐธรรมนูญควรจะมีตำแหน่งใน สปช.ด้วยหรือไม่นั้น ก็เป็นได้ทั้งเป็นและไม่เป็น ไม่มีกติกาบังคับ เพราะต้องมีการประสานงานกันใกล้ชิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ สปช.ทั้ง 250 คน จะพิจารณาอย่างไร
เมื่อถามว่า การทำงานของ คสช.ต้องฟังเสียงประชาชนหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ยังคงกฎอัยการศึกด้วย นายเทียนฉายกล่าวว่า คำถามเฉพาะเจาะจงมาก ขอไม่ตอบตอนนี้ได้ไหม สถานการณ์ความมั่นคงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน คงต้องการการวิเคราะห์เป็นเรื่องเทคนิคอยู่ด้วย ไม่ใช่เรื่องพื้นฐานปกติ ตอนนี้เราดูในกรอบของ สปช.จะเดินหน้าอย่างไรในเงื่อนไขนั้นให้ดีที่สุด
เมื่อถามว่าการปฏิรูป 11 ด้าน ถ้าไม่เสร็จจะบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า มี 2 ประเด็น คือ 1.แนวคิดและวิธีการที่น่าจะปฏิรูป และ 2.ลงมือปฏิบัติจริง แต่แนวคิดและวิธีการน่าจะลุล่วงไปได้ในระดับหนึ่ง
@ "สปช."เกลี่ยให้งานคนหลุดโผ
พล.อ.นพดล อินทปัญญา สนช.และที่ปรึกษา คสช. กล่าวถึงแนวคิดการนำบุคคลที่ไม่ได้รับเลือกเป็น สปช. กว่า 7,000 คน เข้ามาทำหน้าที่ในการปฏิรูปว่า ตนรู้แนวคิดกว้างๆ ว่า คสช.จะเสนอให้ผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกไป
ช่วยงานเป็นที่ปรึกษาของสมาชิก สปช.ทั้ง 250 คน เนื่องจาก สปช.ต้องมีที่ปรึกษาประจำตัว 5 คน และ 1 ใน 5 คน ต้องมาจากผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือก นอกจากนั้น บุคคลที่เหลือรวมถึงกรรมการสรรหา สปช.ที่ผ่านมา อาจจะมีการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่กรรมาธิการต่างๆ คนเหล่านี้มีความรู้ ความสามารถ จะช่วยปฏิรูปประเทศได้ จึงต้องหางานให้ทำ อาจจะเข้ามาเป็นแนวร่วมแต่ละหน่วย ส่วนตัวเชื่อว่าผู้ที่สมัคร สปช.คือ บุคคลที่อยากช่วยชาติทำงาน ต้องการเสนอแนะความคิดเห็น ที่เป็นประโยชน์ในการปฏิรูป แต่บุคคลเหล่านี้จะไม่ได้รับเงินเดือนเหมือนอย่าง สปช.
เมื่อถามว่า คสช.มีการพิจารณาเรื่องการยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่ พล.อ.นพดลกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ยอมรับว่ามีการจับอาวุธสงครามทุกวัน และการที่มีกฎอัยการศึกทำให้ทำงานง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องรอขอหมายศาลในการเข้าค้น จับผู้กระทำความผิดได้ ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวที่หลายฝ่ายเป็นห่วงนั้น ตนเห็นว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา อย่างไรต้องยอมรับการมีกฎอัยการศึกก็เพื่อมีอำนาจปกป้องผู้บริสุทธิ์ ส่วนตัวมองว่าน่าจะเป็นเรื่องดี
@ "บิ๊กป๊อก"ขอหยุดพูดปมยุบกกต.
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวกรณี สปช.บางคนเสนอให้ยุบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วให้กระทรวงมหาดไทยเป็นคนจัดการเลือกตั้งว่า มาตั้งหลักกันแบบนี้ไหมว่าอะไรก็แล้วแต่ให้ได้ข้อยุติก่อนแล้วค่อยพูดกัน น่าจะดีกว่ามาพูดกันโดยไม่ได้ข้อยุติ ถ้า สปช.พูดกันทั้งหมดแล้วเห็นเป็นหนึ่งเดียวแล้วแบบนี้ค่อยพูด แต่เข้าใจว่า สปช.ยังไม่มีข้อยุติ คิดว่าให้ยุติก่อนดีกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานการเข้ารายงานตัวของ สปช.ในวันที่ 6 ที่อาคารรัฐสภา 1 ว่า มี สปช.รายงานตัว 27 คน อาทิ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ สปช.ด้านอื่นๆ นายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ สปช.ด้านพลังงาน นายพิสิฐ ลี้อาธรรม สปช.ด้านเศรษฐกิจ นายมีชัย วีระไวทยะ สปช.ด้านการศึกษา และ พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น รวม 6 วัน มีสมาชิก สปช.มาแสดงตน 236 คน ยังเหลืออีก 14 คน
@ ที่ปรึกษากทม.แจงเหตุข้อสงสัย
นายวสันต์ มีวงษ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้ความเห็นต่อแนวคิดของนายพงศ์โพยม วาศภูติ สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่นต่อการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นของ กทม.ว่า อาจจะออกความเห็นมากไม่ได้ ขอรอดูแนวทางการปฏิรูป กทม.ทั้งระบบก่อน การจะปฏิรูปโครงสร้างต้องมองอย่างรอบด้านเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า อย่างแนวคิดเลือกตั้งผู้อำนวยการเขต ต้องดูว่าหากกำหนดให้มีการเลือกตั้ง จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งส่วนอื่นหรือไม่ คือ สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) อีกทั้งบทบาทหน้าที่การทำงานจะทับซ้อนกันหรือไม่ ต้องมาพิจารณากันด้วยว่าผู้อำนวยการเขตที่มาจากการแต่งตั้งในปัจจุบันมีปัญหาอะไร ทำไมจึงต้องมีการเลือกตั้งผู้อำนวยการเขต ที่ผ่านมาก็มีกลุ่มการเมืองเสนอแนวคิดการปฏิรูป กทม.ให้เป็นเทศบาลนคร แต่ที่สำคัญคือ การฟังความต้องการและสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพราะเป็นผู้ใช้สิทธิ
@ รับกทม.ขาดอำนาจแก้ปัญหา
"เรื่องนี้ต้องมองอย่างรอบด้าน หารือกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องดูว่าโครงสร้างมีปัญหาหรือมีปัญหาที่คน ส่วนใดควรปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ส่วนตัวคิดว่าไม่มีหลักประกันใดการันตีว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งจะดีกว่าคนที่มาจากการแต่งตั้ง ที่ผ่านมาก็เกิดความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพราะไม่เคารพความเห็นที่แตกต่าง จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง" นายวสันต์กล่าว และว่า ส่วนเรื่องอำนาจหน้าที่แน่นอนว่า กทม.ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จหลายเรื่อง อาทิ ระบบสาธารณูปโภค ประปา ไฟฟ้า แตกต่างจากเมืองหลวงหลายแห่งในต่างประเทศ เมื่อเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น ประชาชนก็มักจะคิดว่า กทม. ต้องรับผิดชอบทุกเรื่อง แต่จริงๆ ไม่มีอำนาจแก้ปัญหาเลย อาทิ การจราจรติดขัดเป็นหน้าที่ของตำรวจ หรือถนนยุบตัว มักเกิดจากท่อน้ำใต้ดินรั่วหรือแตก หรือหาก กทม.ต้องการตัดถนนใหม่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะติดระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน เป็นต้น ที่ผ่านมา ยอมรับว่าการประสานทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นไม่ดีเท่าที่ควร สุดท้ายประชาชนได้รับผลกระทบ ดังนั้น รัฐบาลต้องพิจารณาว่าภารกิจด้านใดที่ควรถ่ายโอนมาให้ท้องถิ่น ไม่ได้หมายความว่า กทม.ต้องการอำนาจ แต่ต้องการแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จ
@ "นิพิฏฐ์"ดักคอสปช.สมคบคิด
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้า ปชป.กล่าวกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สปช.ด้านการเมือง เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ระบุการปฏิรูปไม่จำเป็นต้องเริ่มที่ศูนย์ให้ใช้ผลการวิจัยของสถาบันได้เลยว่า เห็นด้วยที่ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ ต้องดูว่ารัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดคือฉบับใด และสาเหตุของการรัฐประหารเกิดจากอะไร เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ดีที่สุด เพราะตรวจสอบฝ่ายการเมืองเข้มข้น แต่รัฐบาลที่ผ่านมากลับไม่ยอมรับคำวินิจฉัยในการตรวจสอบถ่วงดุลของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตายไปตั้งแต่วันที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทยประกาศไม่ยอมรับศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ทำให้กระบวนการยุติธรรมเดินต่อไม่ได้ ฝ่ายตุลาการไร้พลัง มีทั้งปิดล้อมศาล ข่มขู่ตุลาการ
"ขอให้นายบวรศักดิ์คิดถึงความจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง หากมุ่งจะสร้างรัฐบาลให้เข้มแข็งโดยละเลยหลักการถ่วงดุลของ 3 อำนาจ บริหาร นิติบัญญัติและตุลาการแล้ว เหมือนการเดินหน้าสู่เดดล็อกทางการเมืองอีกครั้ง แต่ควรสร้างระบบตรวจสอบให้ยืดหยุ่นถ่วงดุลในสามอำนาจ ไม่ใช่นัดแนะหลิ่วตาสมคบคิดเช่นที่ผ่านมา จึงขอให้ สปช.ดูข้อบกพร่องของพฤติกรรมการเมืองในอดีต" นายนิพิฏฐ์กล่าว
@ หวั่นเลือกนายกฯระบบปธน.
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ขอเตือน สปช.บางคนว่าอย่าปากไว เริ่มมีบางคนโยนหินถามทางเสนอการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชนอ้างว่าต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่ลืมคิดไปว่าถ้าเลือกตั้งนายกฯโดยตรงก็ไม่ต่างจากระบบกึ่งประธานาธิบดี เพราะการปกครองระบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องเลือกนายกฯที่มาจาก ส.ส.ในสภา มีเพียง 4-5 ชาติในโลกที่ใช้ระบบรัฐสภา และเลือกนายกฯโดยตรงจากการเลือกตั้ง แต่ชาติเหล่านั้นก็ไม่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น อย่าปากไว อย่าพยายามให้ไทยเป็นหนูทดลองชาติแรกในโลกที่จะรวมข้อดีต่างๆ แต่ไม่ดูข้อเท็จจริง การพูดขายความคิดใดๆ เช่นนี้จะยิ่งทำลายศรัทธาความเชื่อมั่นใน สปช. เห็นด้วยที่นายบวรศักดิ์พูดว่าจะแก้ในบางจุด บางเรื่องที่มีปัญหาเท่านั้น
@ ปธ.สนช.ยังไม่เคาะปมถอดถอน
ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. (วิป สนช.) ในวันที่ 14 ตุลาคม ว่า ยังไม่นำประเด็นที่ ป.ป.ช.ส่งสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กับนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตรองประธานรัฐสภา เข้าสู่วาระการประชุมวิป สนช. เนื่องจากต้องรอการพิจารณาประเด็นอื่นก่อน ขณะที่สำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีรับจำนำข้าว ยังไม่ได้รับสำนวนจาก ป.ป.ช.
นายพรเพชร กล่าวว่า วาระประชุมวิป สนช.ในวันดังกล่าว จะมีการพิจารณาถึงการคัดเลือก สนช. เข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยวิป สนช.จะวางกรอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเท่านั้น เบื้องต้นหากสมาชิก สนช.คนใดเสนอตัวเข้าไปทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ คิดว่าจะต้องเป็นคนที่ขยัน เนื่องจากผู้ที่ต้องเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ต้องทำงานทั้งส่วนของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสภา สนช. ดังนั้น ต้องพิจารณาเพื่อไม่ให้มีปัญหาองค์ประชุมด้วย
@ ปปช.ยื่นส่งสำนวน"ปู"11 แฟ้ม
เมื่อเวลา 17.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงการส่งสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีรับจำนำข้าวให้ สนช.ว่า ได้เซ็นลงนามสำนวนถอดถอนเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 13 ตุลาคม พร้อมส่งสำนวนให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ในวันที่ 14 ตุลาคม มีทั้งหมด 11 แฟ้ม รวมกว่า 3,000 แผ่น ถือว่าหมดหน้าที่ ป.ป.ช.แล้ว ขึ้นอยู่กับ สนช.ว่าจะดำเนินการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อไปหรือไม่ ส่วนสำนวนการถอดถอนอดีต 39 ส.ว.กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบนั้น ที่ประชุม ป.ป.ช.จะนำเข้าพิจารณาในวันที่ 14 ตุลาคม จะส่งสำนวนให้ สนช.ถอดถอนต่อไปหรือไม่ แต่เชื่อว่าแนวโน้มคงส่งให้ สนช.ถอดถอนเช่นเดียวกับกรณีการถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคม เพราะเป็นความผิดในลักษณะเดียวกันคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบ
@ หม่อมอุ๋ยพาเข้าพบนายกฯ
เมื่อเวลา 14.55 น. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ พร้อมนายอำนวย ปะติเส อดีต รมช.คลังสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ที่คาดว่าจะได้เข้ามารับตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในการปรับ ครม. "ประยุทธ์ 2" ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ใช้เวลาพูดคุยกว่า 1 ชั่วโมง คาดว่าเป็นการหารือเรื่องการแก้ไขปัญหายางพารา ที่ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางยังไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายอำนวยหลังการเข้าพบถึงการรับตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนายอำนวยยิ้มก่อนกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "นายกรัฐมนตรีบอกแล้วว่าให้รอการโปรดเกล้าฯ ลงมาก่อน"
@ "ยงยุทธ"ร่วมสวดศพอภิวันท์
เมื่อเวลา 17.00 น. ที่วัดบางไผ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี มีพิธีสวดพระอภิธรรม พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นคืนที่ 2 โดยนางรัชนี วิริยะชัย ภริยาของ พ.อ.อภิวันท์ คอยให้การต้อนรับแขกเหรื่อผู้ใหญ่และประชาชนที่ทยอยเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ต่อมาเวลา 19.00 น. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เดินทางมาเป็นประธานพิธีสวดพระอภิธรรม โดยมีสมาชิกและอดีต ส.ส.พท.เข้าร่วมงาน อาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายกอบแก้ว พิกุลทอง นายประวัฒน์ อุตตะโมต นายชวลิต วิชยสุทธิ์ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ นายวิทยา บุรณศิริ นพ.เหวง โตจิราการ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นางธิดา ถาวรเศรษฐ น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ นายอารี ไกรนารา นายอุดมเดช รัตนเสถียร นายนิทัศน์ ศรีนนท์ นางอรุณลักษณ์ กิจเลิศไพโรจน์ พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ และนายยศวิรศ ชูกล่อม
@ ตั้งอธิบดี"ดีเอสไอ"ควันโขมง "เดชณรงค์-ณรัชต์"ชิงเก้าอี้
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงยุติธรรม เตรียมเสนอแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยมีกระแสข่าวว่า พล.ต.ท.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รักษาราชการแทนผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผู้ช่วย ผบ.ตร.) จะได้รับการเสนอชื่อเป็นอธิบดีดีเอสไอ แทน พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดีดีเอสไอ ที่ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ทั้งนี้ คาดว่ากระทรวงยุติธรรมจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีความเห็นว่าจะเสนอคนในกระทรวงยุติธรรม มาเป็นอธิบดีดีเอสไอ คาดว่า น่าจะเป็น พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ แต่ พล.ต.ท.เดชณรงค์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้มีอำนาจนอกกระทรวง อีกทั้งเจ้าตัวอาสามารับตำแหน่งดังกล่าว เพราะก่อนนี้มีการทาบทามนายตำรวจหลายคนให้มาดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ทั้ง พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รรท.ผบช.ภ.1 และ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. แต่ไม่มีบุคคลใดสมัครใจเข้ารับตำแหน่ง
รายงานข่าวยังระบุว่า พล.ต.ท.เดชณรงค์ เสนอตัวมาทำงานในตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ 2 ปี จากนั้นจะขอโอนกลับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เนื่องจาก พล.ต.ท.เดชณรงค์ จะเกษียณอายุราชการปี 2561 และมีกระแสข่าวว่าได้ส่งทีมงานมาพบ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ เพื่อเตรียมห้องทำงานแล้วเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า เมื่อมีกระแสข่าวว่ากระทรวงยุติธรรมจะเสนอชื่อ พล.ต.ท.เดชณรงค์ มาเป็นอธิบดีดีเอสไอนั้น พล.อ.ไพบูลย์ เตรียมพูดคุยหารือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยอาจมีการโต้แย้งเรื่องนำคนนอกมาเป็นอธิบดีดีเอสไอ เนื่องจากเห็นว่า คนในกระทรวงยุติธรรมอาจมีความเหมาะสมมากกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ พล.ต.ท.เดชณรงค์ เคยดำรงตำแหน่ง รอง ผบช.ศชต. ก่อนขึ้นเป็น ผบช.สำนักงบประมาณและการเงิน หลังรัฐประหารถูกเลือกไปรักษาราชการแทน ผบช.ภ.4 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทั่งคำสั่งแต่งตั้งล่าสุดได้ขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้รับมอบหมายให้คุมงานด้านความมั่นคง และเป็นหัวหน้าส่วนประสานงานด้านความมั่นคงฝ่ายตำรวจกับกระทรวงกลาโหม