- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 13 October 2014 11:56
- Hits: 3761
ลั่นรู้ทันไม่เอาไข่ไปต้านหิน'เฉลิม'โผล่ โต้ข่าวตาย-เย้ยแค่เกม'ยั่ว'ปูปธ.สวดศพ'อภิวันท์''สมบัติ'ดันที่มานายกฯ พรรคข้างมากจัดตั้งรบ. พะจุณณ์หนุนกม.สู้โกง
'เฉลิม'โต้ข่าวลือตายยันแข็งแรง ชี้หวังล่อให้ออกมาเคลื่อนไหว ลั่นไม่เอาไข่ไปต้านหิน แกนนำ พท.-นปช.แห่ร่วมงานศพ'อภิวันท์'ชาวบ้านตะโกนให้กำลังใจ'ปู'
จาตุรนต์โพสต์แนะปฏิรูปองค์กรอิสระชี้ทำงานล้มเหลว ซัด ป.ป.ช. เลือกปฏิบัติปล่อยคดีค้าง
@ 'สมบัติ'หนุนทำพรรคให้เข้มแข็ง
เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 12 ตุลาคม ที่รัฐสภา นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการเมือง อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวหลังการเข้ารายงานตัว สปช.ว่า สปช.ทั้ง 250 คน ควรเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกฝ่าย เพื่อให้กระบวนการปฏิรูปเกิดความสำเร็จ ส่วนตัวมีความถนัดด้านการเมือง เนื่องจากเป็นอาจารย์สอนหนังสือและเคยแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งการปฏิรูปประเทศในฐานะอาจารย์สอนหนังสือจะผลักดันแนวทางการปฏิรูปด้านการศึกษา โดยเฉพาะกระบวนการเรียนและการสอน เพื่อยกระดับให้การศึกษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
"ขณะเดียวกันจะผลักดันและเสนอแนวทางการปฏิรูปด้านการเมือง โดยเฉพาะการทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง เป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง ปลอดจากนายทุน รวมทั้งการทำให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ปราศจากการซื้อเสียงเลือกตั้งในทุกระดับ โดยเฉพาะการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ปัจจุบันพบว่าจ่ายเงินซื้อเสียงในระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มากกว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว." นายสมบัติกล่าว
นายสมบัติ กล่าวถึงข้อเสนอของนิด้ากว่า 77% ที่ต้องการให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงว่า ไม่ใช่แนวความคิดของตน ส่วนตัวเสนอแนวคิดป๊อปปูลาร์โหวตคือ ให้ประชาชนเลือกพรรคการเมือง ถ้าพรรคไหนได้คะแนนเสียงเกินครึ่งก็จัดตั้งรัฐบาล ให้หัวหน้าพรรคการเมืองนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี
@ ปัดนั่งกมธ.ยกร่างรธน.
ผู้สื่อข่าวถามว่า สนใจที่จะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสมบัติกล่าวว่า อาจจะไม่รับ เนื่องจากกระบวนการที่กำหนดให้ยกร่างมีเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น ซึ่งมองว่าสั้นเกินไปจึงอยากเข้ามาทำงานด้านการปฏิรูปมากกว่า เมื่อถามถึงบุคคลที่เหมาะสมที่จะมาดำรงตำแหน่งประธาน สปช.มีอยู่ในใจแล้วหรือยัง นายสมบัติกล่าวว่า ยังไม่มีใครอยู่ในใจ อีกทั้งก็ยังไม่มีใครมาพูดคุยเกี่ยวกับการเลือกประธาน สปช. แต่เท่าที่เห็นชื่อที่ปรากฏตามสื่อก็เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ แต่ต้องขึ้นอยู่กับเพื่อนสมาชิก สปช. ว่าจะพิจารณาเลือกบุคคลใดเข้ามาทำหน้าที่สำคัญตรงนี้
@ 'พะจุณณ์'หนุนปฏิรูปกม.ปราบโกง
พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษและนายทหารคนสนิท พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวหลังรายงานตัว สปช.ว่า เสนอชื่อเข้ามาปฏิรูปประเทศในด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมก็อยากจะผลักดันกฎหมายของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ต้องหาทางแก้ไขกฎหมายเพื่อทำลายวงจรนี้ให้หมดไป ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ตำรวจ ทหาร และนักการเมือง ส่วนใหญ่เข้ามาเพื่อแสวงหาอำนาจ ดังนั้นจึงควรมีกฎหมายที่มีบทลงโทษอย่างรุนแรงเพื่อป้องกันปัญหาในจุดนี้ เพื่อป้องกันการออกมาเรียกร้องตามท้องถนนด้วย
"คาดหวังว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะดีขึ้นเพราะเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ที่จริงจัง ส่วนบุคคลใดจะเข้ามาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบ้าง ขอให้ที่ประชุม สปช.เป็นผู้พิจารณาว่าใครจะเป็นผู้เหมาะสมในการทำหน้าที่นี้จะดีกว่า" พล.ร.อ.พะจุณณ์กล่าว
เมื่อถามว่า พล.อ.เปรมแนะนำแนวทางในการปฏิรูปมาบ้างหรือไม่ พล.ร.อ.พะจุณณ์กล่าวว่า ไม่เคย ส่วนตัวไปพบ พล.อ.เปรมประมาณเดือนละครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการพูดคุยสอบถามกันเรื่องสุขภาพมากกว่า ซึ่ง พล.อ.เปรมมีสุขภาพแข็งแรงและสบายดี และคิดว่า พล.อ.เปรมคงไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว คงรอดูเฉยๆ มากกว่า
@ 'บัญชา'ชี้ต้องปฏิรูปองค์กรอิสระ
นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และอดีตทนายความคดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวคิดการปฏิรูปองค์กรอิสระว่า อยากเสนอแนวทางปฏิรูปองค์กรอิสระให้คานอำนาจ โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องถูกตรวจสอบการทำงานได้มากกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันการจะร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.ต้องยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ซึ่งช่องทางตรวจสอบค่อนข้างจะลำบาก
"จึงจะเสนอแนวทางตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช. 2 แนวทางคือ 1.ให้ผู้เสียหายจากการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.ร้องเรียนต่อรัฐสภาให้ตั้งคณะไต่สวนคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ กรณีถูกร้องเรียนปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หากพบว่ามีมูลให้ส่งเรื่องต่อศาลฎีกาฯ 2.ให้ผู้ร้องเรียนสามารถยื่นเรื่องฟ้อง ป.ป.ช.ต่อศาลยุติธรรมได้โดยตรง รวมถึงจะเสนอให้ขยายอายุความในการเอาผิดกรรมการ ป.ป.ช.จากเดิม 15 ปี เป็นไม่มีอายุความด้วย" นายบัญชากล่าว และว่า ที่ผ่านมาบางคดีกว่าที่ผู้ถูกกล่าวหาจะไปสู้คดีหลุดในชั้นศาล เสียเวลาไปสิบกว่าปี พอจะฟ้องกลับ ป.ป.ช.เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม กลับทำไม่ได้ เพราะคดีหมดอายุความ 15 ปีไปแล้ว
@ ปัดมีอคติ-กลั่นแกล้ง'ป.ป.ช.'
"สิ่งที่เสนอไม่ได้มีอคติต่อ ป.ป.ช. หรือโกรธ อยากกลั่นแกล้ง ป.ป.ช. และไม่ได้ทำในฐานะทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะขณะนี้ไม่ได้เป็นทีมทนายความแล้ว จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน แต่อยากเสนอในฐานะ สปช.ที่ต้องการให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจ ป.ป.ช. เพื่อให้ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้อง ป.ป.ช.เป็นจำเลยได้ง่ายขึ้น จะทำให้องค์กร ป.ป.ช.ดูศักดิ์สิทธิ์ขึ้น" นายบัญชากล่าว และว่า ป.ป.ช.ไม่ต้องไปเกรงกลัวอะไร เพราะถ้าทำหน้าที่ถูกต้อง ตรงไปตรงมา ศาลจะให้ความเป็นธรรม เมื่อ ป.ป.ช.ตรวจสอบคนอื่นได้ ต้องยอมรับที่จะถูกตรวจสอบเช่นกัน
@ 'ดำรงค์'ชูปฏิรูปแต่งตั้งขรก.
เวลา 14.00 น. นายดำรงค์ พิเดช สปช.ด้านการเมือง และอดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวหลังรายงานตัวว่ามีความสนใจที่จะปฏิรูประบบการเมืองไทยเป็นลำดับแรกเพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเนื่องจากการเมืองเป็นชนวนสำคัญที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าหรือถอยหลัง
"มีแนวคิดที่จะปฏิรูประบบการแต่งตั้งข้าราชการประจำกระทรวงต่างๆ ว่าควรจะแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแห่งชาติขึ้นมาประจำกระทรวงต่างๆ ประมาณ 20- 30 คน เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อป้องกันกระบวนการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย และควรให้อำนาจคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯมีสิทธิเสนอปรับเปลี่ยนหากว่าข้าราชการประจำกระทำผิดหรือวางตัวไม่เหมาะสม" นายดำรงค์กล่าว และว่า ยังไม่มีชื่อประธาน สปช.อยู่ในใจ เพราะไม่รู้จักใคร และไม่รู้ว่าใครเป็นคนดีหรือไม่ดี อีกทั้งยังไม่มีใครทาบทามหรือให้สนับสนุนบุคคลใดมาเป็นประธาน สปช.
@ 'ขจัดภัย'เร่งปฏิรูประบบขรก.
นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ สปช.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน กล่าวหลังเข้ารายงานตัวว่า ในฐานะที่เคยเป็นอดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สิ่งที่ต้องการเข้ามาปฏิรูปคือ อยากจะปฏิรูประบบราชการให้ข้าราชการปลอดจากฝ่ายการเมือง โดยเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เป็นข้าราชการที่มีคุณธรรม สุจริต โปร่งใส
"ที่ผ่านมามีข้อเสนอในเรื่องการปรับระบบราชการมากมาย แต่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ดังนั้น จะต้องร่วมกันคิดเพื่อให้ได้แนวทางแก้ปัญหาในส่วนนี้" นายขจัดภัยกล่าว
@ 'ปานเทพ'เมินสปช.ยกเครื่อง
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีนายบัญชาระบุว่ามีแนวความคิดปฏิรูปองค์กรอิสระโดยเริ่มที่ ป.ป.ช.ว่า การปฏิรูปประเทศนั้นต้องทำ เป็นหน้าที่ของ สปช. เรื่องไหนที่จะทำให้ประเทศดีขึ้นก็ไม่มีปัญหา ขอให้ สปช.ทำงานอย่างเต็มที่ คงต้องแล้วแต่ว่าจะปฏิรูปประเด็นใด เพราะการปฏิรูปนั้นคือการทำทุกอย่างให้ดีขึ้น ผู้เสนอก็สามารถเสนอได้ทุกเรื่อง ดังนั้น ต้องแล้วแต่ผู้ที่จะเสนอ แต่ควรเสนอในสิ่งที่จะทำให้อะไรๆ ดีขึ้นน่าจะเป็นประโยชน์กว่า
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงนายบัญชาเสนอให้ปฏิรูป ป.ป.ช.ว่า เป็นสิทธิของเขา เขาอาจจะมองจากข้างนอกมาข้างใน ต้องรับฟัง ไม่มีปัญหา แต่ต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจริงๆ สิ่งที่เขาเห็นตรงกับสิ่งที่เป็นจริงหรือไม่ การปฏิรูปคือปฏิรูป การมีสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิมเป็นเรื่องดี เชื่อว่าหาก สปช.จะปฏิรูปจริงอาจจะเชิญ ป.ป.ช.ไปรับฟัง
"ส่วนตัวเห็นว่าหน่วยงานที่ปฏิรูปหรือคนที่จะปฏิรูปต้องเข้าใจต้องมองทั้งบวกทั้งลบ มองด้วยความเป็นกลาง ไม่มีธง ส่วนที่เสนอให้มีกลไกลตรวจสอบ ป.ป.ช.นั้น เห็นว่าในอดีตมี ป.ป.ช.ชุดหนึ่งถูกตรวจสอบกรณีเพิ่มค่าตอบแทนตัวเอง โดยมีสมาชิกวุฒิสภาไปร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น กลไกตรวจสอบ ป.ป.ช.มีอยู่แล้ว ในส่วนของ ป.ป.ช.เวลาพิจารณาเรื่องต่างๆ ยึดหลักกฎหมายระวังมาก และมีความเป็นอิสระ" น.ส.สุภากล่าว
@ ดักคอต้องฟังทั้งบวก-ลบ
น.ส.สุภากล่าวว่า คงต้องรอดูข้อเท็จจริงก่อนว่าจะปฏิรูปเรื่องอะไร หากเป็นเรื่องการตรวจสอบ ป.ป.ช.ต้องดูข้อเท็จจริงว่ากระบวนการตรวจสอบมีอยู่แล้วหรือไม่ หากมีกระบวนการตรวจสอบแล้วมีปัญหาหรือไม่ หากไม่มีปัญหาก็ไม่เห็นต้องปฏิรูป แต่หากมีปัญหาเขาคงเสนอแนะกันเข้ามา อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอการปฏิรูปที่เขาสะท้อนมาเราเคารพ แต่การจะปรับปรุงต้องรับฟังทั้งบวกทั้งลบ ใครจะมีความเห็นอย่างไรไม่เป็นไร เพราะสุดท้ายการจะปฏิรูปต้องใช้ดุลพินิจ
เมื่อถามว่า กรณีนี้เป็นข้อเสนอของนายบัญชา ซึ่งเคยเป็นทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คดีรับจำนำข้าว อาจถูกมองว่ามีอคติกับ ป.ป.ช. น.ส.สุภากล่าวว่า อย่าเพิ่งคิดว่าเขาคิดไม่ดี แต่เอามาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ส่วนตัวเฉยๆ ถือว่าเขามีส่วนร่วม ทำให้เห็นประเด็นต่างๆ
@ 'ปชป.'หนุนคง'ป.ป.ช.'ไว้ปราบโกง
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงแนวคิดการปฏิรูปองค์กรอิสระว่า อาจต้องมาดูว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเดิมนั้นหากมีเยอะและทำหน้าที่คล้ายกัน อาจจะนำมายุบหรือรวมกัน จัดกลุ่มใหม่ แต่ในส่วนของ ป.ป.ช.คิดว่าต้องอยู่ เพราะเราปฏิรูปเพื่อป้องการทุจริต เรียกร้องการปราบปรามการทุจริต โดยเฉพาะการทุจริตของนักการเมืองไม่ใช่หรือ เพราะฉะนั้นต้องมีหน่วยงานรองรับอย่าง ป.ป.ช. เพียงแต่ว่าอาจต้องหาวิธีให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตทำงานได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพจริง
@ ชี้เป้ายกเครื่อง'กกต.'ก่อน
นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ส่วนที่มีคนบอกว่าการทำงานของ ป.ป.ช.ไม่โปร่งใสนั้น ต้องดูว่าคนพูดต้องการอะไร แล้วอะไรจะทำให้โปร่งใส เพราะคิดว่า ป.ป.ช.ให้ความยุติธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้ไปชี้แจงตามสมควรแล้ว ทั้งนี้ หากคนที่ถูกกระทบมีวิธีการไหนน่าสนใจก็ควรเสนอมา
"แต่องค์กรอิสระอย่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องปรับวิธีการทำงานอีกเยอะมาก เพราะเวลานักการเมืองซื้อเสียงชาวบ้านรู้หมด แต่มีคนไม่รู้เพียงกลุ่มเดียวคือ กกต. เรียกว่าไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง กกต.มีประสิทธิภาพอย่างเดียว คือ เวลาหาเสียงตามไปอัดเทปทุกเวทีว่ามีการใส่ร้ายกันหรือไม่ แต่การซื้อเสียงไม่เคยจับได้ หรือจับได้น้อยมาก ดังนั้น กกต.ต้องปรับเยอะมาก" นายนิพิฏฐ์กล่าว
@ 'พท.'แนะรื้อที่มาองค์กรอิสระ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง คณะกรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงแนวคิดการปฏิรูปองค์กรอิสระ ว่า ความเห็นที่ปรากฏเป็นข่าวมีความหลากหลายยังไม่มีความชัดเจน ทำให้ไปคนละทิศทาง เพราะฉะนั้นคงยังไม่มีใครรู้สุดท้ายจะเกิดอะไรขึ้น ความเห็นที่ให้ยุบองค์กรอิสระนั้นอาจเกิดจากการเห็นความล้มเหลวในการทำงานขององค์กรอิสระ แต่จะให้ยุบไปเลยนั้น อาจจะยังไม่ใช่ทางออก เพราะต้องมองอีกมากหากยุบองค์กรอิสระแล้วจะใช้อะไรแทน หรืองานต่างๆ ที่องค์กรอิสระทำอยู่ จะทำอย่างไร
"ฉะนั้นควรจะมาเริ่มต้นจากการประเมินบทบาท การทำหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ผ่านมาเสียก่อน โดยเฉพาะความเหมาะสมของที่มา ความสำเร็จล้มเหลวขององค์กรอิสระ ในความเห็นคิดว่าในระยะหลังมามีความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ เป็นเพราะที่มาที่ไปไม่ถูกต้องจนทำให้องค์กรอิสระมีสังกัดชัดเจน ทำให้เกิดการเลือกข้าง เลือกปฏิบัติ นอกจากนั้นยังทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น เช่น กกต. ไม่สามารถจับผู้ทุจริตในการเลือกตั้งได้ แต่ลงโทษผู้ไม่มีความผิด ส่วน ป.ป.ช.ไม่สามารถจับผู้กระทำผิดทุจริตหรือจับได้น้อยมาก ปล่อยให้ค้างคาจำนวนมากและเลือกปฏิบัติในแง่ของการดำเนินคดี การเลือกเรื่องมาดำเนินคดีก่อนหลัง ทำให้สังคมเห็นว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตล้มเหลว" นายจาตุรนต์กล่าว
นายจาตุรนต์กล่าวว่า นอกจากที่มาบทบาทหน้าที่แล้ว ที่สำคัญอีกอย่าง คือ การตรวจสอบองค์กรอิสระโดยภาคประชาชน สังคม ทำได้น้อย จะทำอย่างไรให้มีการตรวจสอบมากกว่านี้ สิ่งเหล่านี้น่าจะประเมินก่อนแล้วก็หาทางออกทางแก้ ควรจะเกิดการแลกเปลี่ยน เริ่มจากการทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ก่อนและตั้งโจทย์ให้ได้ก่อน
@ อจ.จี้ให้ปชช.สอบองค์กรอิสระ
นายบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ถ้าจะปฏิรูปองค์กรอิสระต้องคิดในกรอบตามหลักการสากลของการออกแบบองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ และทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ การทำงานของรัฐ การใช้อำนาจของรัฐ ดังนั้น จะต้องทำให้ยึดโยงกับประชาชน การคัดสรรบุคคลที่จะเข้าไปทำหน้าที่ จะต้องหาจุดเชื่อมโยงกับประชาชนไม่ใช่ผ่านช่องทางที่ตีบแคบเหมือนเมื่อก่อน
"อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ที่เข้าไปใช้อำนาจตรวจสอบ ดังนั้น องค์กรอิสระควรจะต้องมี 1.ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ 2.มีประสิทธิภาพ 3.ยึดโยงกับประชาชน และอีกประเด็นหนึ่งต้องประเมินด้วยว่า บทบาทขององค์กรอิสระในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีส่วนร่วมให้เกิดปัญหาทางการเมือง หรือ ช่วยลดปัญหาทางการเมือง โดยองค์กรอิสระต้องมีคำอธิบายแก่สังคมว่าทำไมจึงควรที่ต้องจะมีอยู่ ต้องมีคำอธิบาย มีภารกิจที่ชัดเจน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ" นายบัณฑิตกล่าว
@ ชี้บิดเบือนเจตนารมณ์
นายเอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการนิติศาสตร์ กล่าวว่า องค์กรอิสระนั้นมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 โดยนายวิษณุ วรัญญู ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ขณะนั้นเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ที่ทำวิจัย ผลักดันองค์กรอิสระให้เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เจตนารมณ์ตามกฎหมายขององค์กรอิสระคือ 1.องค์กรฝ่ายบริหาร ที่มีอิสระจากอำนาจบังคับบัญชาและกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร 2.ต้องมีความเป็นกลาง 3.ต้องตรวจสอบได้โดยอำนาจองค์กรอื่น
"นี่คือเจตนารมณ์เดิมของผู้ร่างและนิยามความหายของคำว่าองค์กรอิสระ ในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่เจตนานี้ได้ถูกบิดเบือนให้กลายเป็นองค์กรที่มีอิสระปราศจากการตรวจสอบ ในทางการเมืองแทบจะตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน องค์กรอิสระปัจจุบันถูกเสนอผ่านทาง ส.ว. ที่ครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งและเมื่อจะมีการถอดถอนองค์กรอิสระก็ต้องกลับไปที่องค์กรที่เป็นผู้แต่งตั้ง คือ ส.ว. ในความเป็นจริงแทบไม่มีการตรวจสอบหรือมีมาตรการใดๆ กับองค์กรอิสระได้" นายเอกชัยกล่าว
@ ประธานสภากทม.แนะปฏิรูปคน
ร.ต.อ.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายพงศ์โพยม วาศภูติ สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น และอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นของ กทม. ว่า ที่ผ่านมา กทม. มีความพยายามในการปรับปรุง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ที่ยังมีความล้าหลังให้ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่ต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้าน
"ความเห็นส่วนตัวมองว่า กทม.มีรูปแบบการบริหารงานที่สมบูรณ์ดีอยู่แล้ว แต่ที่ต้องปรับปรุงคือการกำหนดคุณสมบัติของบุคลากร อย่างระดับผู้บริหารคือผู้ว่าฯ กทม. ต้องเหมาะสมกับองค์กร มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ไม่ใช่ใครก็สามารถมาบริหาร กทม. ได้ เหมือนกับหน่วยงานอื่นๆ ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับการสรรหาให้มาเป็นผู้บริหาร เนื่องจากผู้ว่าฯกทม.ต้องมาบริหารเมืองหลวงและองค์กรที่มีงบประมาณกว่าปีละ 60,000 ล้านบาท รวมทั้งคุณภาพของข้าราชการ กทม. ด้วย ที่ต้องพัฒนาให้สูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นผู้รักษากฎหมาย แต่ขณะนี้หนักใจที่ประชาชนไม่ศรัทธาและเคารพผู้รักษากฎหมาย จึงไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมายด้วย" ร.ต.อ.เกรียงศักดิ์
@ ติงเลือกตั้งผอ.เขตไม่เหมาะ
ร.ต.อ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า ส่วนการเลือกตั้งนั้น มองว่า กทม.มีการเลือกตั้งตัวแทนประชาชนอยู่แล้วในทุกระดับ ตั้งแต่สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รวมทั้งผู้ว่าฯ กทม. จึงมองว่าเพียงพอแล้วและครบวงจรตามหลักประชาธิปไตย แต่หากจะให้เลือกตั้งผู้อำนวยการเขตอีกระดับ มองว่ายังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากอาจทำให้การทำงานติดขัด สมมุติว่าพื้นที่เขตติดกันแต่ผู้อำนวยการเขตมาจากคนละพรรค อาจทำให้การประสานงานมีปัญหาได้ เหมือนกับการทำงานระหว่าง กทม.และรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งหลายอย่างแก้ปัญหาไม่ต่อเนื่องเพราะมาจากคนละพรรค
"ไม่มีเมืองใดในโลกที่มีการบริหารงานราบรื่นสมบูรณ์ ทุกเมืองมีปัญหาในตัวเอง กทม.ก็เช่นกัน มีภาระหน้าที่มากมายที่ต้องดูแลเมืองและประชาชนกว่า 10 ล้านคน แต่อำนาจไม่เบ็ดเสร็จ เหมือนยักษ์ไม่มีกระบอง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลส่วนกลางที่ต้องกระจายอำนาจมาให้ กทม. นี่คือสิ่งที่ กทม.ต้องได้รับการปฏิรูป เรื่องนี้ต้องศึกษากันอีกยาว" ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์กล่าว
นายสัญญา ชีนิมิตร ปลัด กทม. กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิดการปฏิรูปการปกครอง กทม.ของ สปช. จึงไม่สามารถให้ความเห็นได้ หาก สปช. มีข้อสงสัยหรือต้องการความเห็นจาก กทม. พร้อมให้ความร่วมมือ ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ก็ได้ศึกษาไว้แล้ว
@ 'พท.'หนุนเลือกผอ.เขตกทม.
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธาน ส.ส.ภาค กทม.พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ สปช. บางคนจะเสนอให้เลือกตั้งผู้อำนวยการเขตว่า เห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนการปฏิรูปท้องถิ่นโดยให้เลือกตั้งผู้อำนวยการเขต เพราะเคยศึกษาเรื่องนี้ในอนุกรรมการปกครองส่วนท้องถิ่นสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ ได้ทำประชาพิจารณ์ไปยัง 50 เขตใน กทม.พบว่า 80 เปอร์เซ็นต์คนกรุงเทพฯเห็นด้วยกับการเลือกตั้งผู้อำนวยการเขต เพราะจะได้ตัวแทนที่รู้ปัญหาในพื้นที่และประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิดของตนเองอย่างแท้จริง
@ วอน'บิ๊กต๊อก'เร่งผลักดัน
นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต ส.ส.กทม. เพื่อไทย กล่าวว่า แนวคิดการเลือกตั้งผู้อำนวยการเขต เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะปกติผู้อำนวยการเขตจะมาจากการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการ คนที่รับแต่งตั้งจะไม่ค่อยรู้พื้นที่ ติดขัดเรื่องการประสานงาน หากได้คนที่มาจากการเลือกตั้งจะรู้ปัญหาในพื้นที่มากกว่า เรื่องนี้ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยในคณะอนุกรรมการปกครองท้องถิ่นของสภาเห็นด้วย ที่จะให้ผู้อำนวยการเขตมาจากการเลือกตั้ง และได้ส่งร่างกฎหมายไปแล้วอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย
"ได้ตามเรื่องนี้โดยส่งหนังสือไปถึง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา อยากให้ พล.อ.ไพบูลย์ช่วยเร่งพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วย ในฐานะที่ พล.อ.ไพบูลย์เป็นประธานดูแลกฎหมายเรื่องการปฏิรูปท้องถิ่น เพราะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนกรุงเทพฯ และจากการทำโพลประชาชน กทม.เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าวถึง 80%" นายพลภูมิกล่าว
@ 5วันสปช.รายงานตัว209คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการรายงานตัวของสปช.ที่อาคารรัฐสภา 1 ซึ่งเปิดให้รายงานตัวเป็นวันที่ 5 พบว่า มี สปช.เข้ารายงานตัว 23 คน อาทิ นายกิตติ โกสินสกุล นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ นายปรีชา เถาทอง นายพงศ์โพยม วาศภูติ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป พล.อ.อ.มนัส รูปขจร นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายเอกราช ช่างเหลา นางกอบแก้ว จันทร์ดี นายดำรงค์ พิเดช พล.ร.อ.ชาญชัย เจริญสุวรรณ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ทั้งนี้เมื่อรวมตลอด 5 วัน มี สปช.มารายงานตัวทั้งสิ้น 209 คน จากทั้งหมด 250 คน เหลืออีก 41 คน ขณะที่นายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีชื่อเป็นแคนดิเดตประธาน สปช. จะเข้ารายงานตัวในวันที่ 13 ตุลาคม ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะเปิดให้ สปช.เข้ารายงานตัวตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ไปจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม
@ ปปช.คาดส่งถอด'ปูཉ-14ต.ค.
นายปานเทพ ประธาน ป.ป.ช.กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติพิจารณาส่งสำนวนคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีโครงการรับจำนำข้าวไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาถอดถอน ว่า ในวันที่ 13 ตุลาคม หรือ 14 ตุลาคม เจ้าหน้าที่จะนำหนังสือนำส่งพร้อมเอกสารประกอบทั้งหมดมาให้ตนลงนาม เพื่อส่งไปถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.
"ส่วนกรณีถอดถอนอดีต ส.ว. 39 ราย ถูกกล่าวหาส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 นั้นทางเจ้าหน้าที่ได้เตรียมรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะได้พิจารณาในวันที่ 14 ตุลาคมนี้เช่นกัน เพื่อพิจารณาส่งสำนวนดังกล่าวไปให้ สนช." นายปานเทพกล่าว
@ วิปปัดเสียงแตกปมถอดถอน
นายสมชาย แสวงการ สนช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำ สนช. หรือวิป สนช. กล่าวถึงการพิจารณาสำนวนการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ประเด็นที่มา ส.ว.ว่า สำนวนยังไม่เข้ามายังวิป สนช. ซึ่งนายพรเพชร จะใช้ดุลพินิจเสนอให้วิป สนช. พิจารณาหรือไม่ก็ได้ หากไม่นำเข้าวิป สนช. นายพรเพชรสามารถนำเรื่องบรรจุวาระการประชุม สนช. ให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาเลยก็ได้
"ที่มีกระแสข่าวว่า สนช.เสียงแตกมีความเห็นว่าถอดถอนได้กับไม่ได้นั้น อขยืนยันไม่เป็นความจริง สนช.มีความเป็นเอกภาพมาก แต่ถ้าเป็นความเห็นต่างเรื่องกฎหมายนั้นเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว" นายสมชายกล่าว
@ โยนให้'พรเพชร'ชี้ขาด
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช.ในฐานะโฆษกวิป สนช. กล่าวว่า นายพรเพชรจะต้องใช้เวลาพิจารณาสำนวนถอดถอน จากนั้นจะส่งให้วิป สนช. พิจารณาคาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้า เนื่องจากมีเงื่อนไขของเวลาที่ต้องบรรจุวาระประชุม สนช.ใน 30 วัน ก่อนส่งให้ที่ประชุม สนช.วินิจฉัยจะถอดถอนได้หรือไม่
"ขณะนี้ภายใน สนช.ยังถกเถียงกันในประเด็นฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญอยู่ว่าสามารถถอดถอนได้หรือไม่ ถ้าใช้ฐานความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่าถอดถอนได้ ทั้งนี้ สำนวนที่ ป.ป.ช.ส่งมาให้ ยังอยู่ที่นายพรเพชรและยังไม่ส่งให้วิป สนช. พิจารณา จึงต้องแล้วแต่ดุลพินิจของนายพรเพชรแล้วว่าจะวินิจฉัยอย่างไร" นพ.เจตน์กล่าว
@ โพล37%เชื่อปฏิรูปราชการได้
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หรือ "นิด้าโพล" เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "มุมมองของประชาชนต่อระบบราชการและการปฏิรูประบบราชการไทย" สำรวจระหว่างวันที่ 9- 10 ตุลาคม จากประชาชนทั่วประเทศที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษาและอาชีพรวมทั้งสิ้นจำนวน 1,249 ตัวอย่าง
โดยถามถึงความมั่นใจของปประชาชนต่อความสามารถของ สปช.ในการปฏิรูประบบราชการไทย พบว่าค่อนข้างมั่นใจร้อยละ 37.63 และร้อยละ 19.77 ระบุว่ามั่นใจมาก โดยให้เหตุผลว่ามีความเชื่อมั่นต่อการบริหารของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ สปช.เห็นถึงความมุ่งมั่นและความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาและปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรมโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เป็นคนพูดจริง ทำจริง ที่ผ่านมามีผลงานและรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ขณะผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยมั่นใจถึงไม่มั่นใจเลยให้เหตุผลเพราะว่าระบบราชการไทยมีโครงสร้างที่ใหญ่และสลับซับซ้อนและปัญหาบางอย่างเป็นปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทยมาช้านานยากเกินกว่าที่จะแก้ไข เช่น การใช้เส้นสายหรือระบบอุปถัมภ์การทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ อีกทั้งยังแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายหรือกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องของผลประโยชน์ไม่ยอมให้ความร่วมมือในการปฏิรูประบบราชการไทย
@ ปชช.87%เชื่อการเมืองดีขึ้น
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตหรือ "สวนดุสิตโพล" สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ทั่วประเทศ 1,459 คน ระหว่างวันที่ 7-11 ตุลาคมหัวข้อ "บ้านเมือง ณ วันนี้ ในสายตาประชาชน" พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 87.05 เห็นว่าการเมืองไทย กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ รองลงมาร้อยละ 84.24 เห็นว่ายังคงมีความขัดแย้ง ความแตกต่างทางความคิด ร้อยละ 64.08 เห็นว่ารัฐบาลมีนโยบายในการทำงานที่ชัดเจนตั้งใจแก้ปัญหาอย่างเต็มที่
@ 73%พอใจไร้ประท้วง
เมื่อถามว่า เปรียบเทียบ "การเมืองไทย" วันนี้ กับก่อนที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ (22 พฤษภาคม) ประชาชนคิดว่าเป็นอย่างไร ร้อยละ 73.54 ระบุว่าดีขึ้น เพราะการทะเลาะลดน้อยลง ไม่มีการชุมนุมประท้วง การเมืองกำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 20.70 ระบุว่าเหมือนเดิม เพราะไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารประเทศ ยังคงมีปัญหา มีความขัดแย้ง ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ฯลฯ ขณะที่ร้อยละ 5.76 ระบุว่า แย่ลง เพราะปัญหาการเมืองฝังรากลึกมานาน ยากที่จะแก้ไข เป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ ฯลฯ เมื่อถามต่อว่าคิดว่าสถานการณ์ทาง "เศรษฐกิจ" เป็นอย่างไร ร้อยละ 74.02 เห็นว่าค่อนข้างดีขึ้น แต่ยังเป็นห่วงเรื่องการท่องเที่ยวและการเกษตร ร้อยละ 73.75 เห็นว่าค่าครองชีพสูง ของกิน ของใช้ ราคาสินค้ายังคงมีราคาแพง ร้อยละ 62.85 ยังคงมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน
@ 42%มองศก.ยังเหมือนเดิม
เมื่อถามว่า "เศรษฐกิจ" ณ วันนี้กับก่อนที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ประชาชนคิดว่าเป็นอย่างไร ร้อยละ 42.43 เห็นว่าเหมือนเดิม เพราะเศรษฐกิจชะลอตัว รายได้ยังเหมือนเดิม มองว่าดีขึ้นร้อยละ 40.16 เพราะสถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้น และร้อยละ 17.41 บอกเพราะค่าครองชีพสูง ข้าวของแพง ยังมีหนี้สิน ฯลฯ
เมื่อถามว่า "สังคมไทย" ณ วันนี้กับก่อนที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ประชาชนคิดว่าเป็นอย่างไร ร้อยละ 59.43 ระบุว่าดีขึ้น เพราะประชาชนตระหนัก ตื่นตัว เห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น หวังเห็นบ้านเมืองก้าวหน้าสงบสุข ร้อยละ 30.29 ระบุว่าเหมือนเดิม เพราะปัญหาสังคมยังมีอยู่มาก และร้อยละ 10.28 ระบุว่าแย่ลง เพราะคนขาดจิตสำนึก คุณธรรมลดลง ห่างไกลศาสนา พฤติกรรมเยาวชนยังน่าเป็นห่วง ฯลฯ
@ 'ปู'ยินดี'มาลาลา-ไกลาศ'
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Yingluck Shinawatra" ชื่นชมรางวัลโนเบล ข้อความว่า "เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ น.ส.มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) เด็กสาวชาวปากีสถานอายุเพียงแค่ 17 ปี ผู้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิการศึกษาของเด็กและสตรี และนายไกลาศ สัตยาธี (Kailash Satyarthi) ชาวอินเดียผู้เคลื่อนไหวต่อสู้กับการกดขี่เพื่อสิทธิเด็กและเยาวชน ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่า ดิฉันเคยกล่าวไว้ว่า ทุกวันนี้ในเกือบทุกภูมิภาคของโลก ผู้หญิงยังคงต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ โดยเฉลี่ยผู้หญิงยังคงมีความยากลำบากในการเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสม เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก มีรายได้น้อย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงยังตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศและการทารุณกรรมอีกด้วย ในฐานะผู้หญิงด้วยกัน ขอชื่นชมความอดทน มุ่งมั่น กล้าหาญของ "มาลาลา" แม้จะเกือบแลกด้วยชีวิตและขอเป็นกำลังใจให้
"มาลาลา" ตลอดจนเด็ก ผู้หญิงและผู้คนอีกมากมายที่ต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพ ขอให้การได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ของ "มาลาลา" และ "ไกลาศ" เป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลกได้รับรู้