- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 13 October 2014 07:54
- Hits: 3828
วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8720 ข่าวสดรายวัน
เหลิมโต้-ยังไม่ตาย สบายดี เจอแน่งานอภิวันท์ เสื้อแดงร่วมพิธีแน่นวัด รุมให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ สปช.ยัน-ปฏิรูป'ปปช.'ฟ้องกลับไม่มีอายุความ
อาลัย - น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เคารพศพ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภา ผู้แทนฯ โดยมีอดีตส.ส.และคนเสื้อแดงร่วมงานจำนวนมาก ที่วัดบางไผ่ จ.นนทบุรี วันที่ 12 ต.ค. |
อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ร่วมงานศพ'อภิวันท์' คนเสื้อแดงแน่นวัดโห่ร้องให้กำลังใจ รุมล้อมจับมือ-ถ่ายรูปอย่างอบอุ่น ไร้ความเคลื่อนไหวทางการเมือง'ทักษิณ-จารุพงศ์'ส่งพวงหรีดร่วมอาลัย'เหลิม'ลั่นยังไม่ตาย ขำข่าวลือร้ายๆ ช่วยต่ออายุ อยากเห็นตัวเป็นๆ ไปเจอกันงานศพดร.เปีย สปช.รายงานตัวเพิ่ม 23 คน รวมยอดรายงานตัวแล้ว 209 คน 'พะจุณณ์'มุ่งปฏิรูปแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น'ดำรงค์'อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ แนะตั้งผู้ทรงคุณวุฒิแห่งชาติ พิจารณาตั้งข้าราชการประจำกระทรวงสกัดการเมืองเข้าแทรก สปช.อดีตทนายปูย้ำแนวคิดปฏิรูปป.ป.ช. ยันไร้อคติ ประธานป.ป.ช.เดินหน้าถอดถอนยิ่งลักษณ์คดีจำนำข้าว วิปสนช.โยน 'พรเพชร'พิจารณานำสำนวนถอดถอน'นิคม-ขุนค้อน'เข้าสภา คาดไม่เกินสัปดาห์นี้รู้ผล ป.ป.ช.เล็งเอาผิด 12 ครม.ปูปมสกัดม็อบ
คนร่วมรดน้ำศพอภิวันท์แน่นวัด
วันที่ 12 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศงานศพ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย วันแรกหลังจากเคลื่อนย้ายศพจากสนามบินสุวรรณภูมิมาประกอบ พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ ที่ศาลา 2 วัดบางไผ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรีว่า ครอบครัวพ.อ.อภิวันท์เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมรดน้ำศพตั้งแต่เวลา 09.00 น. โดยมีสมาชิกพรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง ประชาชน และบุคคลสำคัญ ทยอยเดินทางมาร่วมรดน้ำศพเพื่อแสดงความอาลัยอย่างไม่ขาดสาย อาทิ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก อดีตรมช.คมนาคม นางวิมลรัตน์ กุลดิลก ภรรยา น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก บุตรสาว นพ. ประแสง มงคลศิริ นายนิติภูมิ เนาวรัตน์ นพ.เหวง โตจิราการ นางธิดา โตจิราการ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บรรยากาศเป็นไปอย่างเศร้าสร้อยและดำเนินไปอย่างเรียบร้อย ไม่มีการแสดงออกทางการเมือง
ทักษิณ-จารุพงศ์ส่งหรีดร่วมอาลัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผู้เข้าร่วมงานบางกลุ่มพร้อมใจกันสวมเสื้อยืดสกรีนคำว่าด้วยรักและอาลัยพร้อมรูปภาพพ.อ.อภิวันท์ ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ส่งพวงหรีดมาแสดงความอาลัยด้วย
ยงยุทธปธ.พิธีน้ำหลวงอาบศพ
จากนั้นเวลา 16.00 น. นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ โดยมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สุทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม นายเจริญ จรรย์โกมล อดีตรองประธานสภา นายอำนวย คลังผา อดีตประธานวิปรัฐบาล นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำนปช. และอดีตส.ส.จำนวนหนึ่งร่วมงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพเพียงไม่กี่นาที เกิดเหตุไฟดับติดกัน 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเวลา 15.00 น. นานประมาณ 10 นาที และครั้งที่ 2 ในเวลา 15.45 น. นานประมาณ 5 นาที ประชาชนที่มาร่วมงานต่างจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์
ปูร่วมงานศพ-ปชช.ให้กำลังใจพรึบ
เวลา 19.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์เดินทางมาร่วมพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ โดยทันทีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาถึงประชาชนที่รอรับต่างโห่ร้องแสดงความดีใจและปรบมือต้อนรับ พร้อมตะโกนว่า "นายกฯ ยิ่งลักษณ์ สู้ๆ นายกฯ ที่รักสู้ๆ" พร้อมกับกรูเข้าไปจับไม้จับมือและถ่ายภาพเป็นที่ระลึก การปรากฏตัวท่ามกลางกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนมากของน.ส.ยิ่งลักษณ์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกหลังการยึดอำนาจ ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงพยายามเบียดเสียดเพื่อจะได้เห็นอดีตนายกฯ จนทำให้ประชาชนผู้สูงอายุหลายคนที่เบียดเข้าไปไม่ถึงทรุดตัวนั่งลงร้องไห้ อีกทั้งยังมีประชาชนหลายคนพยายามเข้าไปมุงดูรถยนต์ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์นั่งมา เพื่อนำเลขทะเบียนไปซื้อลอตเตอรี่ ซึ่งเป็นรถตู้โฟล์ก สีเทาดำ ทะเบียน ฮน-333 กรุงเทพมหานคร
สำหรับ การสวดพระพิธีธรรม พระอภิธรรมศพ พ.อ.อภิวันท์ กำหนดให้อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ ตั้งแต่วันที่ 12-14 ต.ค. ส่วนวันที่ 15-18 ต.ค. พรรคเพื่อไทยรับเป็นเจ้าภาพหลัก โดยมีกลุ่มนปช. กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยและอดีตส.ส.พรรคในแต่ละภาครับเป็นเจ้าภาพด้วย สำหรับพิธีพระราชทานเพลิงศพจะมีขึ้นในวันที่ 19 ต.ค. เวลา 16.00 น.
สปช.รายงานตัวเพิ่ม 23-รวม 209
วันเดียวกัน ที่บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้าแสดงตนเป็นวันที่ 5 แม้จะเป็นวันหยุดราชการแต่สมาชิก สปช.ทยอยเข้ารายงานตัวต่อเนื่อง โดยมีพล.อ.อ. มนัส รูปขจร น้องชายพล.ต.มนูญกฤต รูปขจร อดีตประธานวุฒิสภา เข้ารายงานตัวเป็นคนแรก นอกจากนี้ยังมีนายกิตติ โกสินสกุล นายไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ นายนิมิต สิทธิไตรย์ นายจรูญ จึงยิ่งเรืองรุ่ง นายไกรราศ แก้วดี นายปรีชา เถาทอง นางทิฆัมพร กองสอน นาย สุพร สุวรรณโชติ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายเอกราช ช่างเหลา นายพงศ์โพยม วาศภูติ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป นางกอบแก้ว จันทร์ดี พล.อ.อ. คณิต สุวรรณเนตร นายดำรงค์ พิเดช พล.ร.อ. ชาญชัย เจริญสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอดทั้งวันรวมผู้มารายงานตัวจำนวน 23 คน สรุปยอดรวม 5 วันมีผู้มารายงานตัวรวม 209 คนจากทั้งหมด 250 คน ยังไม่มารายงานตัวอีก 41 คน
พะจุณณ์มุ่งแก้คอร์รัปชั่น
พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตนายทหารคนสนิท พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ให้สัมภาษณ์ว่าตนสนใจด้านกฎหมายและยุติธรรม ปัญหาของประเทศขณะนี้คือปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะที่ผ่านมาทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และนักการเมืองต่างเข้ามาแสวงหาอำนาจเพื่อทุจริต จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อลงโทษคนทุจริตด้วยความรวดเร็วและรุนแรงเพื่อทำลายวงจรการทุจริตนี้ ประชาชนจะได้ไม่ต้องออกมาเดินบนถนนอีก ในส่วนของผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นอยู่กับเพื่อนสมาชิก สปช.จะคัดเลือก คนที่เข้ามาเป็น สปช.ล้วนมีความรู้ความสามารถ ตนคงตอบไม่ได้ว่าเหมาะกับการเป็นกรรมา ธิการหรือไม่ และยังไม่ได้รับการทาบทามแต่อย่างใด เชื่อว่าการปฏิรูปครั้งนี้ต้องดีกว่าที่ผ่านมา ขึ้นอยู่กับว่าจะได้มากแค่ไหน เพราะยังไม่เคยมีการปฏิรูปประเทศจริงจังขนาดนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานการณ์การเมืองขณะนี้พล.อ.เปรมฝากข้อเสนอการปฏิรูปอะไรมาหรือไม่ พล.ร.อ.พะจุณณ์กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยอะไรกับพล.อ.เปรม นานๆ จะได้พบกันสักที ส่วนใหญ่พูดคุยแต่เรื่องสุขภาพ และโดยธรรมชาติพล.อ.เปรมจะเป็นคนวางตัวเฉย
สมบัติเน้นการเมือง-การศึกษา
ด้านนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สปช. อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าโดยส่วนตัวถนัดด้านการเมืองและการศึกษา จะผลักดันแนวทางการปฏิรูปด้านการศึกษา โดยเฉพาะกระบวนการเรียนการสอน รวมถึงแนวทางการปฏิรูปการเมือง การทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เป็นพรรค การเมืองของประชาชนไม่ใช่ของนายทุน รวมทั้งการทำให้กระบวนการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ปราศจากการซื้อเสียงในทุกระดับโดยเฉพาะการเลือกตั้งท้องถิ่น สำหรับการให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงไม่ใช่แนวความคิดของตน โดยส่วนตัวเสนอแนวคิดป๊อปปูลาร์โหวต คือให้ประชาชนเลือกพรรคการเมือง ถ้าพรรคไหนได้คะแนนเสียงเกินครึ่งก็จัดตั้งรัฐบาล แล้วให้หัวหน้าพรรค การเมืองพรรคนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตนอาจไม่เข้ารับเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกระบวนการที่กำหนดให้ยกร่างมีเวลาระยะสั้นเพียง 4 เดือนเท่านั้น สำหรับบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งประธาน สปช.ยังไม่มีใครอยู่ในใจ เท่าที่เห็นชื่อปรากฏตามสื่อก็เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ
ดำรงค์แนะตั้งกก.ผู้ทรงคุณวุฒิ
นายดำรงค์ พิเดช สมาชิก สปช. อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่าส่วนตัวสนใจที่จะปฏิรูประบบการเมืองไทยเป็นลำดับแรก เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะการเมืองจะเป็นชนวนสำคัญทำให้ประเทศเดินหน้าหรือถอยหลัง อยากผลักดันเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการประจำกระทรวงต่างๆ ควรตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแห่งชาติขึ้น โดยให้เป็นตัวแทนจากแต่ละกระทรวง เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการแทนคณะรัฐมนตรี ป้องกันกระบวนการแทรกแซง และให้อำนาจคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีสิทธิเสนอปรับเปลี่ยนหากข้าราชการประจำกระทำผิดหรือวางตัวไม่เหมาะสม ทั้งนี้ยังไม่มีชื่อประธาน สปช.อยู่ในใจ เพราะไม่รู้จักใคร และไม่รู้ว่าใครเป็นคนดีหรือไม่ดี และขณะนี้ยังไม่มีใครทาบทามหรือสนับสนุนบุคคลใดมาเป็นประธาน สปช.
สปช.อดีตทนายปูย้ำปฏิรูปปปช.
นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ สปช. อดีตทนายความคดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวคิดการปฏิรูปองค์กรอิสระโดยเริ่มที่ป.ป.ช.ว่า อยากเสนอแนวทางปฏิรูปองค์กรอิสระให้มีการคานอำนาจ โดยเฉพาะป.ป.ช.ต้องถูกตรวจสอบการทำงานได้มากกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันการร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของป.ป.ช.ต้องยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ช่องทางตรวจสอบค่อนข้างลำบาก จึงจะเสนอแนวทางตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช. 2 แนวทางคือ 1.ให้ผู้เสียหายจากการทำหน้าที่ของป.ป.ช.ร้องเรียนต่อรัฐสภาตั้งคณะไต่สวนคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ ในกรณีถูกร้องเรียนปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หากพบว่ามีมูลให้ส่งเรื่องต่อศาลฎีกาต่อไป
ยันไม่มีอคติหรือกลั่นแกล้ง
นายบัญชากล่าวต่อว่า 2.ให้ผู้ร้องเรียนสามารถยื่นเรื่องฟ้องป.ป.ช.ต่อศาลยุติธรรมได้โดยตรง รวมถึงจะเสนอให้ขยายอายุความการเอาผิดกรรมการป.ป.ช.จากเดิม 15 ปีเป็นไม่มีอายุความด้วย ที่ผ่านมาบางคดีกว่าที่ผู้ถูกกล่าวหาจะไปสู้คดีหลุดในชั้นศาลเสียเวลาไปกว่า 10 ปี พอจะฟ้องกลับป.ป.ช.เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมกลับทำไม่ได้ เพราะคดีหมดอายุความ 15 ปีไปแล้ว
"สิ่งที่เสนอไม่ได้มีอคติต่อป.ป.ช. โกรธหรืออยากกลั่นแกล้งป.ป.ช. และไม่ได้ทำในฐานะทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะขณะนี้ไม่ได้เป็นทีมทนายความแล้ว จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน แต่อยากเสนอในฐานะสปช.ที่ต้องการให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจป.ป.ช. เพื่อให้ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องป.ป.ช.เป็นจำเลยได้ง่ายขึ้น จะทำให้องค์กรป.ป.ช.ดูศักดิ์สิทธิ์ขึ้น ป.ป.ช.ไม่ต้องเกรงกลัวอะไร หากถ้าทำหน้าที่ถูกต้องตรงไปตรงมาศาลจะให้ความเป็นธรรม เมื่อป.ป.ช.ตรวจสอบคนอื่นได้ก็ต้องยอมรับที่จะถูกตรวจสอบเช่นกัน" นายบัญชากล่าว
ปานเทพไม่ขัด-เดินหน้าถอดถอนปู
ด้านนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ดังกล่าวว่าการปฏิรูปประเทศนั้นต้องทำ เป็นหน้าที่ของสปช. เรื่องไหนที่จะทำให้ประเทศดีขึ้นก็ไม่มีปัญหา ขอให้สปช.ทำงานเต็มที่ คงต้องแล้วแต่ว่าจะปฏิรูปประเด็นใด เพราะการปฏิรูปนั้นคือการทำทุกอย่างให้ดีขึ้น ผู้เสนอสามารถเสนอได้ทุกเรื่อง แต่ควรเสนอในสิ่งที่จะทำให้อะไรๆ ดีขึ้นน่าจะเป็นประโยชน์กว่า
ประธานคณะกรรมการป.ป.ช.กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการป.ป.ช.ลงมติพิจารณาส่งสำนวนคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีโครงการรับจำนำข้าวไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาถอดถอนแล้วนั้น ในวันที่ 13 - 14 ต.ค. นี้ เจ้าหน้าที่จะนำหนังสือนำส่งพร้อมเอกสารประกอบทั้งหมดมาให้ตนลงนาม เพื่อส่งไปถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภาสนช.ต่อไป ส่วนกรณีถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภา 39 ราย ผู้ถูกกล่าวหา ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นตามมาตรา 58 แห่งพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2542 นั้น เจ้าหน้าที่เตรียมรายงานให้คณะกรรมการป.ป.ช.ทั้งคณะพิจารณาในวันที่ 14 ต.ค.นี้เช่นกัน เพื่อพิจารณา ส่งสำนวนดังกล่าวให้สนช.ต่อไป
สุภาจี้เป็นกลางอย่าตั้งธง
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอของนายบัญชาว่า เป็นสิทธิของเขา เขาอาจมองจากข้างนอกมาข้างใน ต้องรับฟัง ไม่มีปัญหา แต่ต้องฟังข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่เขาเห็นตรงกับสิ่งที่เป็นจริงหรือไม่ การปฏิรูปคือปฏิรูป การมีสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิมเป็นเรื่องดี เชื่อว่าหากสปช.จะปฏิรูปจริงอาจเชิญป.ป.ช.ไปรับฟัง ส่วนตัวเห็นว่าหน่วยงานที่ปฏิรูปหรือคนที่จะปฏิรูปต้องเข้าใจ ต้องมองทั้งบวกทั้งลบ มองด้วยความเป็นกลาง ไม่มีธง ส่วนที่เสนอให้มีกลไกลตรวจสอบป.ป.ช.นั้น ในอดีตมีป.ป.ช.ชุดหนึ่งถูกตรวจสอบกรณีเพิ่มค่าตอบแทนตัวเอง โดยมีสมาชิกวุฒิสภาไปร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กลไกตรวจสอบป.ป.ช.มีอยู่แล้ว ในส่วนของป.ป.ช.เองเวลาพิจารณาเรื่องต่างๆ เราดูกฎหมายกันระวังมากและเป็นอิสระ
พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ
น.ส.สุภากล่าวต่อว่า เรื่องนี้คงต้องรอดู ข้อเท็จจริงก่อนว่าจะปฏิรูปเรื่องอะไร หากเป็นการตรวจสอบป.ป.ช.ต้องดูข้อเท็จจริงว่า กระบวน การตรวจสอบมีอยู่แล้วหรือไม่ หากมีกระบวน การตรวจสอบแล้วมีปัญหาหรือไม่ หากไม่มีปัญหาก็ไม่เห็นต้องปฏิรูป แต่หากมีปัญหาเขาคงเสนอแนะกันเข้ามา ข้อเสนอที่สะท้อนเข้ามาเราเคารพ แต่การปรับปรุงต้องรับฟังทั้งบวกทั้งลบ ใครมีความเห็นอย่างไรไม่เป็นไร เพราะสุดท้ายการปฏิรูปต้องใช้ดุลพินิจ สำหรับผู้ที่เสนออย่าเพิ่งคิดว่าเขาคิดไม่ดี แต่เอามาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ตนรู้สึกเฉยๆ ถือว่าเขามีส่วนร่วม ทำให้เห็นประเด็นต่างๆ
วิปโยนปธ.ถกสำนวนนิคม-ขุนค้อน
ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำ สนช. หรือวิป สนช. กล่าวถึงการพิจารณาสำนวนการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ประเด็นที่มา ส.ว.ว่า ขณะนี้สำนวนยังไม่เข้ามายังวิป สนช. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. และประธานวิป สนช.จะใช้ดุลพินิจเสนอให้วิป สนช.พิจารณาหรือไม่ก็ได้ หากไม่นำเข้า วิป สนช. นายพรเพชรสามารถนำเรื่องบรรจุวาระการประชุม สนช.ให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาเลยก็ได้ ส่วนกระแสข่าวว่า สนช.เสียงแตกเรื่องการถอดถอนนั้นไม่จริง สนช.เป็นเอกภาพมาก แต่ถ้าเป็นความเห็นต่างเรื่องกฎหมายนั้นเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
นายสมชายกล่าวต่อว่า เรื่องดังกล่าวต้องดูสำนวนของคณะกรรมการป.ป.ช.ก่อน ฐานความผิดนั้นหากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ แต่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตบัญญัติฐานความผิดไว้ก็จะผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. การถอดถอนเป็นไปตามหลักกฎหมาย สนช.ไม่ได้ดูที่ตัวบุคคล ถ้าทำผิดตามพ.ร.บ.หรือรัฐธรรมนูญก็ต้องเข้าสู่กระบวนการถอดถอน
คาดพิจารณาไม่เกินสัปดาห์นี้
ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. ในฐานะโฆษกวิป สนช. กล่าวว่านายพรเพชรจะใช้เวลาพิจารณาสำนวนถอดถอน จากนั้นจะส่งให้วิป สนช.พิจารณา คาดว่าไม่เกินสัปดาห์นี้ เนื่องจากมีเงื่อนไขเวลาที่ต้องบรรจุวาระการประชุม สนช.ใน 30 วัน ก่อนส่งให้ที่ประชุม สนช.วินิจฉัยจะถอดถอนได้หรือไม่ ขณะนี้ภายใน สนช.ยังถกเถียงกันในประเด็นฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญอยู่ว่าสามารถถอดถอนได้หรือไม่ ถ้าใช้ฐานความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญตนเห็นว่าถอดถอนได้ สำนวนที่ ป.ป.ช.ส่งมาให้ยังอยู่ที่นายพรเพชร ยังไม่ส่งให้วิป สนช.พิจารณา จึงต้องแล้วแต่ดุลพินิจของนายพรเพชร
ปปช.เล็งเอาผิด 12 ครม.ปูสกัดม็อบ
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป.ป.ช. เปิดเผยว่าเมื่อไม่นานมานี้คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะรัฐมนตรีรวม 12 คน กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีดำเนินการออกประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ฉบับลงวันที่ 31 ก.ค. 2556 ฉบับลงวันที่ 9 ต.ค. 2556 และฉบับลงวันที่ 18 ต.ค. 2556 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 63 โดยมีนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน
สำหรับรัฐมนตรีทั้ง 12 คนที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อดีตรองนายกฯและรมว.เกษตรและสหกรณ์ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตรองนายกฯ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ และรมว.ศึกษาธิการ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรมว.มหาดไทย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตรมช.กลาโหม นายวราเทพ รัตนากร อดีตรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ อดีตรมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายชัยเกนิติสิริ อดีตรมว.ยุติธรรม นายสนธยา คุณปลื้ม อดีตรมว.วัฒนธรรม และนายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีตรมว.อุตสาหกรรม
อ้างม็อบใช้สิทธิชุมนุมตามรธน.
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับพฤติการณ์กระทำความผิดคือคณะรัฐมนตรีออกประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ฉบับลงวันที่ 31 ก.ค. 2556 ในพื้นที่ 3 เขต โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยมิชอบ เนื่องจากการอ้างว่ากลุ่มผู้ชุมนุมอาจมีการขัดขวาง การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังไม่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และยังไม่มีเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มที่จะมีอยู่ต่อเป็นเวลานาน นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำวินิจฉัยว่าผู้ชุมนุมใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 63 และการออกประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 9 ต.ค. 2556 และวันที่ 18 ต.ค. 2556 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2553 ซึ่งดำเนินการโดยมิชอบ เนื่องจากการจัดเวทีปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
รมต.รับทราบข้อหา-เว้นจารุพงศ์
รายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้ส่งหนังสือแจ้งให้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ พร้อมคำสั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 12 รายรับทราบแล้ว แต่มีเพียงนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ที่ไม่มีผู้รับหนังสือที่จัดส่งทางไปรษณีย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การออกประกาศเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้ง 3 ฉบับในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น อยู่ในช่วงที่กลุ่ม กปปส. และคปท.จัดการชุมนุมทางการเมืองในหลายพื้นที่ของกทม.
ณรงค์เผยเร่งรวบรวมหลักฐาน
นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีกรณีกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรี รวม 12 ราย กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการมีมติครม.ออกประกาศพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง 3 ฉบับ เมื่อเดือนก.ค.และต.ค. ปี 2556 กล่าวว่าคณะทำงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้อยู่ระหว่างเริ่มต้นกระบวนการไต่สวน และกำลังรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องกับการออกประกาศพื้นที่ความมั่นคง จึงต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเนื่องจากการออกประกาศดังกล่าวถือว่าส่งผลกระทบกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในหลายด้าน การทำงานจึงต้องพยายามเร่งรัดและรัดกุมมากที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่การไต่สวนอาจพบผู้เกี่ยวข้องกับการออกประกาศดังกล่าวเพิ่มหรือลดจำนวนลงจาก 12 ราย ที่ถูกกล่าวหา นายณรงค์กล่าวว่าต้องรอรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการไต่สวนอย่างจริงจังให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ขณะนี้การไต่สวนยังไม่คืบหน้า เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้น จึงไม่สามารถตอบอะไรเกี่ยวกับคดีได้มากกว่านี้
วิษณุเล็งยุบคณะกรรมการชื่อซ้ำ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาทบทวนและลดจำนวนคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่แต่ละกระทรวงตั้งขึ้นซึ่งมีจำนวนมากเกินไปว่า กำลังรอการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมการคณะต่างๆ ที่ตั้งขึ้นตามมติครม. ซึ่งมีมากเป็นร้อยคณะ ปัญหาคือเมื่อคณะกรรมการชุดนั้นๆ เสร็จสิ้นภารกิจแล้วกลับไม่มีการยุบยกเลิกไป ในการประชุม ครม.ครั้งแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้แต่ละกระทรวงไปดูว่าจะให้คงคณะกรรมการใดไว้หรือควรยุบรวมคณะกรรมการชุดใด ปรากฏว่าทุกกระทรวงยืนยันให้คงคณะกรรมการทั้งหมดเอาไว้ เพราะคงไม่มีใครอยากทุบหม้อข้าวตัวเอง หลังได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีจะพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกับนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และพล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยดูที่เนื้องานเป็นหลัก หากพบว่าคณะใดไม่มีการประชุมหรือประชุมน้อยครั้งมากในช่วง 1 ปีย้อนหลังต้องถูกยุบเลิกไป เท่าที่ดูเบื้องต้นมีประมาณ 4-5 คณะที่ควรนำมารวมเป็นคณะเดียว เพราะมีชื่อบุคคลเป็นกรรมการซ้ำกัน
โบ้ยถามหม่อมอุ๋ยยุบรวมพณ.-อุตฯ
นายวิษณุกล่าวถึงแนวทางการปฏิรูประบบราชการ ซึ่งมีข้อเสนอให้นำกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมยุบรวมกัน ว่า พูดกันมานาน แต่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายในเรื่องดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้นานเป็นปี แบ่งเป็นคณะกรรมการศึกษากระทรวงด้านสังคมซึ่งตนเป็นประธาน ขณะที่คณะกรรมการศึกษากระทรวงด้านเศรษฐกิจนั้นมีม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จึงควรสอบถามม.ร.ว. ปรีดิยาธรถึงข่าวยุบรวม 2 กระทรวงนี้เข้าด้วยกัน ทั้งนี้คณะกรรมการทั้ง 2 ยังไม่ได้รายงานผลการศึกษากลับมายังก.พ.ร. ตนจึงเตรียมเรียกประชุมคณะกรรมการก.พ.ร.เพื่อรับฟังรายงานเรื่องดังกล่าว ยังไม่ขอตอบแนวโน้มในขณะนี้ แม้แต่เรื่องกระทรวงน้ำที่ตนเคยพูดถึงก็ไม่ได้หมายความว่าตนสนับสนุนให้ตั้งขึ้น เพียงแต่เห็นว่ามีการพูดกันมากว่าอยากให้มี จึงคิดว่าถ้าทุกฝ่ายอยากให้เกิดขึ้นจริงต้องเริ่มทำตอนนี้ แต่ถ้าไม่ต้องการให้มีก็ไม่ต้องทำ ไม่มีปัญหาใดๆ
พร้อมรับฟังความเห็นปชช.
ต่อข้อถามถึงข้อเสนอให้ยุบกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงกรณีที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะขอมาอยู่ในการกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี นายวิษณุกล่าวว่ามีการศึกษาเรื่องดังกล่าวอยู่ ยังไม่มีคำตอบออกมา ไม่อยากให้ใช้คำว่ายุบเพราะดูเหมือนจะมีความรุนแรง แต่การปฏิรูปคือการจัดใหม่
ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานราชการต่างๆ ในเรื่องการยุบรวมหน่วยงานหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า การปฏิรูประบบราชการและการยุบรวมหน่วยงานราชการนั้นต้องรับฟังความคิดเห็นจาก 4 ส่วน คือ 1.ก.พ.ร. 2.หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ 3.ข้อมูลจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เป็นองค์กรขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และ 4.ประชาชนที่ถือเป็นผู้ได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากเรื่องนี้ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอาจทำผ่านสื่อมวลชนหรือตั้งเวทีเสวนาวงเล็กๆ ซึ่งต้องมีรูปแบบตัวอย่างออกมาเป็นตุ๊กตาเสียก่อน อะไรที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนต้องใช้เวลาทำนานเป็นปี แต่อะไรที่เร่งด่วนก็มีวิธีทำให้เสร็จเร็วขึ้นได้
ยกเครื่องกระทรวงรับยุคดิจิตอล
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างของกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลเพื่อให้ทำงานตอบโจทย์ตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลว่า ตนตรวจดูร่างกฎหมายเหล่านั้นแล้ว เนื่องจากเรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วน จึงส่งต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตรวจก่อนส่งเข้าครม. หากครม.มีมติเห็นชอบในหลักการก็จะส่งเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เร็วขึ้น ขณะนี้ต้องรอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างให้เสร็จก่อน อาจเปิดรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอที่เกี่ยวกับเรื่องนี้จากผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการและ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิตอล
นายวิษณุกล่าวอีกว่า เรื่องนี้จะมีผลต่อ การปรับโครงสร้างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จะทำให้การบริหารราชการง่ายขึ้นและไม่สร้างภาระงบประมาณมากนัก ทุกกระทรวงต้องใช้ระบบดิจิตอลและระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการขับเคลื่อนงาน แต่ควรมีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลาง จึงจะเพิ่มบทบาทกระทรวงไอซีทีให้มากขึ้น โดยให้เป็นหน่วยงานกลางคุมมาตรฐานหรือควบคุมดูแลระบบดิจิตอลและระบบอิเล็กทรอ นิกส์ของกระทรวงต่างๆ ส่วนจะต้องเปลี่ยนชื่อกระทรวงหรือไม่คงจะพิจารณากันต่อไป
สำหรับกรณีที่แกนนำกลุ่มคนที่เคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์การจัดทำร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่ขอตอบเรื่องนี้ เพราะยังไม่เห็นร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว และคนเหล่านั้นก็ยังไม่ได้เห็นเช่นกัน ต่างคนต่างตาบอดคลำช้าง จึงอยากให้รอดูเนื้อหาที่แท้จริงของร่างพ.ร.บ.นี้ก่อน
เรืองไกรยื่นสอบเงินราชการลับ
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าตนทำหนังสือถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินขอให้ตรวจสอบเงินราชการลับของพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร. สืบเนื่องจาก ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของสนช. ปรากฏว่าพล.ต.ท.จักรทิพย์แสดงรายได้ต่อปีเป็นรายได้ประจำ (3) เงินราชการลับ จำนวน 720,000 บาท ทำให้เกิดประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าเงินราชการลับเหตุใดจึงปรากฏเป็นรายได้ของข้าราชการประจำ และการเบิกจ่ายเงินราชการลับดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร มีเจ้าหน้าที่รัฐรายใดได้รับเงินราชการลับในลักษณะดังกล่าวอีกหรือไม่ และการใช้จ่ายเงินราชการลับของส่วนราชการต่างๆ เป็นไปตามภารกิจและระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่
ผู้ว่าฯโคราชกำชับจ่ายชาวนาถูกคน
ที่จ.นครราชสีมา นายธงชัย ลืออดุลย์ ผวจ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รมว.มหาดไทยกำชับการจ่ายเงินเกษตรกรชาวนาไร่ละ 1 พันบาท ในส่วนของจ.นครราชสีมาว่า สั่งการไปยังเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอทั้ง 32 อำเภอแล้วให้จ่ายไร่ละ 1,000 บาท แต่ต้องสำรวจให้ได้ข้อเท็จจริงว่าเกษตรกรแต่ละรายมีนากี่ไร่ และมีการไปแอบซอยหรือไม่ ต้องไม่จ่ายผิดคนผิดตัวหรือซ้ำซ้อนกัน และอาจต้องทำประชาคมที่หมู่บ้านก่อนแล้วจึงประกาศรายชื่อออกมา เพราะหมู่บ้านแต่ละแห่งจะรู้ว่าที่นาแปลงนี้เป็นของใคร ถ้าประกาศรายชื่อแบบโปร่งใสเปิดเผย หากมีชื่อคนนอกหมู่บ้านแปลกปลอมเข้ามาจะรู้ได้ทันที ข้อมูลเดิมที่ขึ้นทะเบียนไว้น่าจะมีประมาณ 2 แสนครัวเรือน ส่วนนาให้เช่าต้องจ่ายคนเช่าทำนา ไม่ใช่จ่ายเจ้าของที่นา
คิดเปลี่ยนอาชีพชาวนาทำยาก
ที่จ.สุพรรณบุรี นายเสมียน หงส์โต ประธานเครือข่ายชาวนาภาคกลาง เผยถึงกรณีจ้างชาวนาเปลี่ยนอาชีพว่า สำหรับพื้นที่ภาคกลางทำไม่ได้แน่นอน เพราะทุกคนถนัดและฝังรากลึกในการทำนากันทุกคน จะให้ชาวนาไปเริ่มต้นอาชีพอื่นใหม่ๆ นั้นยากมาก เพราะทุกวันนี้ชาวนาร้อยละ 80-90 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินจริงๆ เป็นเพียง ผู้เช่านา หากให้ชาวนาไปเลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้ง ทำอย่างอื่นที่ไม่ถนัด ชาวนาต้องเริ่มต้นใหม่ การช่วยเหลือชาวนาไร่ละพันเป็นการช่วยเหลือโดยตรงทันที เป็นเรื่องยากที่จะมาเปลี่ยนกลไกชาวนาให้ขับเคลื่อนไปในทางอื่น เพราะชาวนามีจิตวิญาณของชาวนาตั้งแต่เกิด
ชาวสวนยางขอชดเชยไร่ละ 2.5พัน
ที่จ.พะเยา นายสาย อิ่นคำ ประธานเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรยางพาราครบวงจรจังหวัดพะเยา กล่าวว่ามาตรการระยะสั้นที่จะช่วยลดความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางพาราทั่วประเทศในขณะนี้ คือรัฐบาลควรช่วยเหลือด้วยวิธีการชดเชยไร่ละ 2,520 บาท ตามข้อเสนอของเครือข่ายเกษตรกรยางพาราทั่วประเทศที่เคยเสนอไปแล้ว โดยชดเชยรายละไม่เกิน 25 ไร่ แม้จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งระบบแต่เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยเหลือชาวสวนยางให้ลดหรือบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ได้บ้าง เป็นน้ำเย็นยาใจคนจนถือว่าเป็นผลดีเหมือนมาตรการที่รัฐบาลกำลังจะช่วยชาวนาอยู่ในขณะนี้
นายสายกล่าวต่อว่า กลุ่มเกษตรกรที่ยังกรีดยางขายเป็นยางก้อนถ้วยขณะนี้เดือดร้อนหนัก แม้ว่าที่ผ่านมาจะรวมกลุ่มประมูลยางก้อนถ้วยแล้วได้ราคาสูงกว่าท้องตลาด ก.ก.ละ 2-3 บาทก็ตาม แต่ขณะนี้ทางกลุ่มพ่อค้ารายย่อยที่รับซื้อยางก้อนถ้วยประสบปัญหาโรงงานปลายทางที่รับซื้อ หากค่าดีอาร์ซีสูงมากพ่อค้ารายย่อยที่นำยางก้อนถ้วยไปส่งโรงงานต้องส่งยางทิ้งไว้ 2 วัน จากนั้นทางโรงงานจะแจ้งค่าดีอาร์ซีและราคายางก้อนถ้วยกลับมาพร้อมกับโอนเงินค่ายางก้อนถ้วยมาให้ ซึ่งพ่อค้ารายย่อยไม่สามารถต่อรองกับทางโรงงานได้เลย จึงกระทบถึงกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวเปิดประมูลยางก้อนถ้วย
ปูโพสต์ส่งกำลังใจกัปตันชัชวาลย์
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เขียนข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ทราบว่ากัปตันชัชวาลย์ แท่นทอง กลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ถือโอกาสนี้ขอส่งกำลังใจ ความปรารถนาดีให้กัปตันผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้และมีสุขภาพกายสุขภาพจิตที่แข็งแรงสมบูรณ์โดยเร็ว เพราะจริงๆ แล้วตนเองก็เคยร่วมบินกับกัปตันชัชวาลย์ช่วงรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ เพียงไม่กี่วันในเดือนสิงหาคม 2554 จำได้ว่าลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมที่จังหวัดน่านแล้วเฮลิคอปเตอร์มีปัญหาเล็กน้อย แต่กัปตันชัชวาลย์ใช้ความเชี่ยวชาญและความสามารถที่มีอยู่แก้ปัญหาไม่นานก็สามารถนำตนและคณะกลับมายังกองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างปลอดภัย ต้องขอขอบคุณกัปตันในครั้งนั้นด้วย
เหลิมฮัลโหลโต้ข่าวลือเสียชีวิต
วันที่ 12 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกิดกระแสข่าวลือทางโซเชี่ยลมีเดียอย่างกว้างขวางว่าร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกฯ และแกนนำพรรคเพื่อไทยเสียชีวิตแล้ว โดยผู้สื่อข่าวโทรศัพท์สอบถาม ร.ต.อ.เฉลิมถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งร.ต.อ.เฉลิมรับโทรศัพท์ด้วยตนเองพร้อมกล่าวติดตลกว่า ไม่เป็นความจริง ตนยังสบายและแข็งแรงดีอยู่เพราะออกกำลังกายทุกวัน วันนี้มีแต่คนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามถึงเรื่องนี้จำนวนมาก หวังว่าข่าวลือนี้จะช่วยต่ออายุให้กับตน
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวต่อว่าเหตุที่มีข่าวลือเรื่องนี้ออกมาอาจเป็นเพราะไม่ได้ออกนอกบ้านไปงานสังคมต่างๆ มีเพียงการไปร่วมงานศพบุคคลที่สนิทเท่านั้น เพราะไม่ต้องการให้ทหารหวาดระแวงว่าออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งตนประเมินแล้วว่าการแสดงความเห็นทางการเมืองในช่วงนี้ไม่เหมาะสมและไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งนี้ตนจะเดินทางไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพพ.อ.อภิวันท์ในวันที่ 16 ต.ค.นี้ และจะไปร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 19 ต.ค.นี้ ที่วัดบางไผ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ด้วย ใครที่อยากพบตนไปพบกันในวันนั้นได้
ก.ร.นัดถกเล็งยุบรัฐสภาจังหวัด
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ในฐานะรองประธานคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (ก.ร.) เปิดเผยว่าในวันที่ 13 ต.ค. จะประชุม ก.ร. ชุดใหญ่ วาระสำคัญคือพิจารณาผลการประเมินโครงการรัฐสภา 6 จังหวัดนำร่อง หลังจากคณะอนุกรรมการ ก.ร. พิจารณาแล้วเสร็จและส่งผลประเมินให้ ก.ร. ลงมติว่าจะยุติโครงการดังกล่าวหรือไม่ ส่วนผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไรต้องรอฟังการชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะเข้าร่วมประชุมก่อน
รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่าสำหรับผลการประเมินโครงการรัฐสภา 6 จังหวัดนำร่องนั้น ในคณะอนุกรรมการ ก.ร. ตรวจสอบพบความผิดปกติการดำเนินโครงการ เช่น งานปรับปรุงพื้นที่ที่ใช้เป็นที่ทำการสำนักงานรัฐสภาจังหวัด พบการว่าจ้างที่ไม่เป็นไปตามระเบียบราชการ รวมถึงความผิดปกติของการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อดำเนินงาน การดำเนินโครงการรัฐสภาจังหวัดบางแห่งยังพบความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับการตบแต่งและปรับปรุงอาคารสำนักงานที่เลี่ยงการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบราชการ ส่งผลให้ราชการได้รับความเสียหาย เพราะถึงปัจจุบันยังปรับปรุงไม่แล้วเสร็จ คณะทำงานที่เกี่ยวข้องจึงเตรียมตรวจสอบต่อไป