- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 21 May 2014 11:02
- Hits: 4487
วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8575 ข่าวสดรายวัน
เร่งเลือกตั้ง สหรัฐแถลงถึงกองทัพ ห่วงประชาธิปไตยไทย ให้ใช้อำนาจแค่ชั่วคราว'อียู'เตือนยึดหลักสากล'สปป.-นิติราษฎร์'ชี้ปม ต้องเป็น-ราชโองการ
นานาประเทศมีปฏิกิริยาต่อ'กฎอัยการศึก'สหรัฐห่วงใยประเทศไทย เรียกร้องผบ.ทบ.บังคับใช้ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ละเมิดหลักประชาธิปไตย แล้วเร่งจัดการเลือกตั้งอันเป็นทางออกที่แท้จริงโดยเร็วที่สุด กลุ่มนักวิชาการทั้งสปป. นิติราษฎร์ และชาวบ้านสมัชชาคนจน ระบุเป็นการออกประกาศโดยมิชอบ เพราะบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรเกินความจำเป็น แล้วไม่ได้เป็นพระบรมราชโองการออกมา จี้ให้ยกเลิกประกาศใช้โดยเร็วที่สุด
สหรัฐแถลงหนุนเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. น.ส.เจน ซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐออกแถลง การณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยว่า เรารับทราบการประกาศพ.ร.บ.กฎอัยการศึกของกองทัพบกไทย และได้ติดตามสถาน การณ์อย่างใกล้ชิด เรายังคงเป็นกังวลเกี่ยวกับวิกฤตทางการเมืองที่ตึงเครียด และขอให้ทุกฝ่ายเคารพหลักเกณฑ์ทางประชาธิปไตย อันรวมไปถึงการเคารพสิทธิเสรีภาพในการพูดและแสดงออก เราทราบว่ากองทัพบกไทยได้แถลงแล้วว่าการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้มิใช่เป็นการรัฐประหาร
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า เราจึงหวังว่ากองทัพบกไทยจะยึดมั่นในคำแถลงที่ว่าการดำเนินการครั้งนี้จะเป็นไปเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเพื่อป้องกันเหตุรุนแรง และจะไม่เป็นการบ่อนทำลายสถาบันประชาธิปไตย ประเทศสหรัฐอเมริกาเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายควรต้องร่วมมือกันเพื่อหาทางออกและแก้ปัญหาความขัดแย้ง สถานการณ์ดังกล่าวตอกย้ำความจำเป็นในการจัดการเลือกตั้งเพื่อตรวจสอบและยืนยันความประสงค์ของประชาชนชาวไทย
อียูให้ทหารเคารพสิทธิ
วันเดียวกันที่กรุงบรัสเซลส์ สหภาพยุโรปออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ในไทยว่า ขอให้หาทางออกวิกฤตทางการเมืองครั้งนี้ด้วยการเจรจาและสันติ เคารพต่อหลักการประชา ธิปไตย ภารกิจที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือการกำหนดการเลือกตั้งที่ต้องมีโดยเร็ว และจัดตั้งรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มตามกฎหมาย และตามแนวทางประชาธิปไตย รวมทั้งขอให้ทุกฝ่ายอดกลั้นและทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประเทศ และขอให้ทหารเคารพมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในระดับสากล รวมถึงเสรีภาพสื่อมวลชน
สปป.ชี้ขัดหลักปชต.
วันเดียวกัน นักวิชาการกลุ่มสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย(สปป.) ออกแถลง การณ์มีสาระสำคัญดังนี้ 1.สปป.ไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้กฎหมายที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตยและมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับทหาร อีกทั้งยังเป็นการประกาศใช้ที่มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ซึ่งไม่มีความจำเป็นแต่ประการใด เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศยังอยู่ในภาวะปกติ สปป.เห็นว่ากฎอัยการศึกไม่สามารถใช้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนที่ยืนยันในหลักสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน
2.ผบ.ทบ.พึงตระหนักว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกนี้ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำใดๆ ของกองทัพจะต้องส่งเสริมต่อระบอบการปกครองของประเทศ ฉะนั้น กองทัพจึงมีหน้าที่เพียงรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ โดยให้ความร่วมมือกับรัฐบาลรักษาการและ กกต. ผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็ว
3.สปป.เห็นว่ากฎอัยการศึกมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอันเป็นปกติ มีผลจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วจากความไม่มั่นใจของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ผบ.ทบ.ต้องจำกัดขอบเขตและเวลาของการใช้อำนาจกฎอัยการศึกอย่างชัดเจนว่าเพื่อรักษาความสงบแก่ประชาชน
4.ขณะนี้รัฐบาลรักษาการยังมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น ต้องติดตามการบังคับใช้กฎอัยการศึกอย่างเคร่งครัด หากมีการบังคับใช้ที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนสิทธิด้านอื่นๆ ของประชาชน รัฐบาลรักษาการมีอำนาจดำเนินการสนองพระบรมราชโองการต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อยกเลิกกฎอัยการศึกโดยเร็ว
ระบุต้องเป็นราชโองการ
คณะนิติราษฎร์ออกแถลงการมีสาระสำคัญดังนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 188 บัญญัติว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึกตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก" และวรรคสอง "ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก" และมาตรา 195 บัญญัติว่า "บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้" พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 2 บัญญัติว่า "เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกทุกมาตราหรือแต่บางมาตรา หรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตรา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขแห่งการใช้บทบัญญัตินั้นบังคับในส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรหรือตลอดทั่วราชอาณา จักร และถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใดๆ ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับต้องระงับ และใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน"
จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ. กฎอัยการศึกดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้มีผลใช้บังคับตลอดทั่วราชอาณาจักรเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะต้องกระทำในรูปแบบพระบรมราชโองการ และต้องมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้กฎอัยการศึก หาใช่อำนาจของผบ.ทบ.ไม่
การประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งซึ่งเป็นอำนาจของผู้บัญชาการทหารในเขตพื้นที่นั้น ต้องเป็นกรณีที่เกิด 'สงคราม'หรือ 'จลาจล'เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นยังไม่ปรากฏว่าเกิด "สงคราม" หรือ "จลาจล" ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอันจะเป็นเหตุให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่แห่งนั้น หรือผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใดๆ มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้แต่อย่างใด อนึ่ง หากมีการใช้อำนาจตามมาตรานี้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ผู้ประกาศจะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด อันแสดงให้เห็นว่าแม้จะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเมื่อมีเหตุสงครามหรือจลาจลในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ทหารก็ไม่สามารถมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือนได้
ให้รัฐบาลกราบทูลฯยกเลิก
การประกาศกฎอัยการศึกโดยให้มีผลทั่วราชอาณาจักรเกินความจำเป็น ขัดกับหลักความพอสมควรแก่เหตุ หรือหลักความได้สัดส่วน ที่เรียกร้องว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพต้องกระทำเท่าที่จำเป็น อนึ่ง ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยอย่างรุนแรงจนถึงขนาดจำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษเพื่อจัดการแก้ไขปัญหา รัฐบาลสามารถใช้มาตรการตามกฎหมายพิเศษ 2 ฉบับได้แก่ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกแต่อย่างใด
คณะนิติราษฎร์เห็นว่าประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เนื่องจากผบ.ทบ.ไม่ใช่องค์กรเจ้าหน้าที่ผู้ทรงอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกให้มีผลใช้บังคับตลอดทั่วราชอาณาจักร และการประกาศใช้กฎอัยการศึกดังกล่าวไม่ได้กระทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด คือ ไม่ได้กระทำในรูปของประกาศพระบรมราชโองการ แต่กลับกระทำในรูปของ "ประกาศกองทัพบก" การกระทำผิดแบบดังกล่าวเป็นความบกพร่องที่ร้ายแรงและเห็นประจักษ์ชัด จึงส่งผลให้ประกาศกองทัพบกฉบับที่ 1/2557 และฉบับต่อๆ มาไม่มีผลในทางกฎหมาย
คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้รัฐมนตรีผู้รับ ผิดชอบนำร่างพระบรมราชโองการยกเลิกประกาศกองทัพบกฉบับที่ 1/2557 ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามมาตรา 5 ของพ.ร.บ.กฎอัยการศึก ต่อไป
4 สมาคมชนกฎอัยการศึก
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ออกแถลงการณ์คัดค้านการประกาศใช้กฎอัยการศึก ด้วยขัดต่อหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเหตุความรุนแรงในสถานการณ์ปัจจุบันยังอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถใช้มาตรการตามกฎหมายเพื่อควบคุมสถานการณ์ได้ กรณีนี้ถือได้ว่าไม่มีเหตุจำเป็นเพียงพอ จึงขอให้ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกฉบับนี้โดยทันที
ไม่เห็นด้วย - นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการชื่อดัง พร้อมอาจารย์-นักศึกษา จากสถาบันต่างๆ ในจ.เชียงใหม่ ชูป้ายต่อต้านการประกาศกฎอัยการศึก และการทำรัฐประหาร ที่ข่วงประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. |
สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ความขัดแย้งหรือความเห็นต่างๆ ทางการเมืองถือเป็นเรื่องปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และสามารถแก้ไขได้ตามครรลองของหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องเคารพในกติกาและเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แต่การที่ผบ.ทบ.อ้างสถานการณ์ที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองหลายกลุ่ม ชุมนุมประท้วงในพื้นที่กรุงเทพฯ เขตปริมณฑล ตลอดจนพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ และมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์ความรุนแรงด้วยการใช้อาวุธสงครามต่อประชาชน จึงนำมาสู่การประกาศใช้กฎอัยการศึกนั้น ถือเป็นการใช้อำนาจทางทหารเข้าแทรกแซงการเมือง ไม่ต่างอะไรกับการรัฐประหาร ทำให้ประเทศเดินถอยหลัง และเป็นการเติมเชื้อไฟให้ความขัดแย้งทางการเมืองทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำสู่สงครามกลางเมืองในที่สุด
สมัชชาคนจนจี้เลิกประกาศ
สมัชชาคนจนขอเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ยุติการแทรกแซงการเมือง และให้ทหารกลับกรมกอง เพื่อให้เป็นไปตามครรลองของหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
สื่อนอกประโคมข่าวใหญ่
ขณะที่สื่อมวลชนต่างประเทศรายงานเป็นข่าวใหญ่ และข่าวนำในหน้าเว็บไซต์อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นบีบีซี ซีเอ็นเอ็น เอพี เอเอฟพี รอยเตอร์ ดีพีเอ บลูมเบิร์ก รวมถึงซินหัวของจีน และอัลจาซีราของอาหรับ นอกจากนี้เว็บไซต์ น.ส.พ.และนิตยสารข่าวชื่อดัง เช่น ไทม์ นิวยอร์กไทมส์ เดอะการ์เดียน ต่างรายงานสถานการณ์สดและบทวิเคราะห์เหตุการณ์อย่างละเอียด
นายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีระบุว่า แม้กองทัพยืนยันว่าความเคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่การรัฐประหารและพยายามหาทางออก ซึ่งรัฐบาลและกลุ่มเสื้อแดงเชื่อในคำพูดของผบ.ทบ. ส่วนกลุ่ม กปปส.ยกเลิกแผนเคลื่อนขบวนวันที่ 20 พ.ค. แต่ทั้งหมดนี้ไม่ปรากฏว่าจะแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมา 8 ปี หากสิ่งที่ทหารทำคือการควบคุมด้านความมั่นคง ปัญหายังอยู่ต่อไป และระบบการบริหารราชการจะเป็นอัมพาต
"ถ้ากองทัพพยายามจะตั้งทางออกเอง จากสภาพการณ์ตอนนี้ที่เหมือนการรัฐประหารอยู่ครึ่งหนึ่งอาจเติมเต็มในที่สุด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น กลุ่มเสื้อแดงระบุว่าจะลุกฮือและต่อต้าน" ผู้สื่อข่าวบีบีซีกล่าว
นิตยสารไทม์ของสหรัฐรายงานว่า การประกาศใช้กฎอัยการศึกถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการทำรัฐประหารอีกครั้ง ต่อจากปี 2549 แม้ว่ากองทัพจะปฏิเสธ แต่นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์พิเศษจากศูนย์ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเกียวโต มองว่า การประกาศใช้กฎอัยการศึกครั้งนี้เป็น การทำรัฐประหาร เพราะดึงอำนาจไปจากประชาชน และเข้าควบคุมการเมืองและสิทธิมนุษยชน
ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า นายแบรด อดัมส์ ผอ.ฮิวแมนไรต์วอตช์ องค์กรเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนสากล ประจำภูมิภาคเอเชีย ประณามการกระทำของกองทัพไทย และเรียกร้องชาติมหาอำนาจที่เป็นพันธมิตรกับไทยแสดงท่าทีชัดเจนว่า ต้องการให้รัฐประหารนี้ยุติลงทันที ประเทศไทยกำลังใช้กฎหมายโบราณ และบทบัญญัติที่เข้มงวดเกินเหตุซึ่งเปิดทางให้ทหารใช้อำนาจได้อย่างไม่จำกัด
ซีเอ็นเอ็น ระบุคำสัมภาษณ์นายสุนัย ผาสุก ผู้ประสานงานที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ ประจำประเทศไทยว่า กฎอัยการศึกเป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับหลักประชาธิป ไตย ทำให้กองทัพเข้าใกล้การยึดครองอำนาจทั้งหมดจากฝ่ายบริหารพลเรือน และว่าไม่มีการปกป้องใดๆ ที่จะได้มาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระกล่าวว่า ขณะนี้ยังต้องรอดูสถานการณ์ว่า กองทัพจะเลือกเดินทางใด ระหว่างพยายามรักษาความปลอดภัยและมั่นคงของบ้านเมืองเพื่อดำเนินการเลือกตั้งและปฏิรูปต่อไป หรือกำลังสร้างอำนาจเทียมเพื่อถอดถอนรัฐบาลรักษาการ และส่งผ่านการปกครองไปยังกลุ่มชนชั้นสูงตามธรรมเนียมปฏิบัติ
บลูมเบิร์กรายงานว่า กฎอัยการศึกไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทยเพราะเคยประกาศใช้อยู่แล้วในบางส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเคยประกาศใช้ช่วงสั้นๆ ในสมัยอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระหว่างปรามกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
ยักษ์ใหญ่ลังเลลงทุนต่อ
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานปฏิกิริยานักลงทุนต่างชาติว่า นักลงทุนญี่ปุ่นวิตกอย่างหนักต่อสถานการณ์ของไทย เพราะบริษัทญี่ปุ่นลงทุนอยู่เกือบ 4,000 แห่ง ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่าญี่ปุ่นมีเงินลงทุนเมื่อปี 2556 ทั้งสิ้น 6,890 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2 แสนล้านบาท ตัวเลขดังกล่าวมากกว่าเม็ดเงินจากนักลงทุนสหรัฐ อังกฤษ และชาติอาเซียนรวมกัน
ฮอนด้า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นในไทยระบุว่า ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของไทยทำให้ฮอนด้าต้องพิจารณาว่าจะสร้างโรงงานแห่งที่ 2 หรือไม่ โดยโรงงานแห่งนี้มีกำหนดเปิดการผลิตเดือนเม.ย.ปีหน้า
ด้านโตโยต้า บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกจากญี่ปุ่นระบุเช่นกันว่า กำลังจับตาดูสถานการณ์อย่างระมัดระวัง โรงงานของ โตโยต้าในไทยทั้งหมด 3 แห่งยังดำเนินการตามปกติ
สำหรับท่าทีของรัฐบาลประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง ทยอยประกาศเตือนพลเมืองของตนเองที่จะเดินทางมายังไทยให้ใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดความไม่สงบ และให้หลีกเลี่ยงบริเวณพื้นที่ชุมนุม
นายโยชิฮิเดะ ซูงะ หัวหน้าเลขาธิการครม.ของญี่ปุ่นแถลงว่า ญี่ปุ่นติดตามสถานการณ์ในประเทศไทยด้วยความห่วงใย ขอสนับ สนุนให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้น หลีกเลี่ยงจากความรุนแรง และหวังว่าสถานการณ์จะสงบลงอย่างสันติผ่านกระบวนการทางประชาธิป ไตย และการพูดคุยอย่างจริงใจระหว่างประชาชนไทย ญี่ปุ่นจะยังคงใช้มาตรการที่เหมาะสมทั้งหมดต่อไป เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยของชาวญี่ปุ่นผู้มีถิ่นพำนักในประเทศไทย
ในส่วนของชาติอาเซียน นายซีซาร์ ปูริ ซิมา รมว.คลังฟิลิปปินส์กล่าวว่า แม้สถาน การณ์ความสงบในไทยจะกระทบต่อการลงทุน แต่การค้ายังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ฟิลิปปินส์ขอเป็นกำลังใจให้ไทยแก้วิกฤตในครั้งนี้ได้ ไทยเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ และมีศักยภาพในการยืดหยุ่นสูง ซึ่งรัฐบาลฟิลิป ปินส์มีความมั่นใจว่า เหตุการณ์นี้จะเป็นเพียงการสะดุดในระยะสั้นๆ เท่านั้น
นายมาร์ตี นาตาเลกาวา รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซียแถลงว่า รู้สึกวิตกกังวลอย่างยิ่ง และหวังว่าประเทศไทยจะกลับคืนสู่สถาน การณ์ปกติได้โดยเร็ว พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพต่อรัฐธรรมนูญและกระบวนการทางประชาธิปไตยเพื่อส่งเสริมความปรอง ดองและความสามัคคีของประชา ชนชาวไทย
ทำกิจกรรมต้านอัยการศึก
วันเดียวกันที่หน้ามหาวิทยาลัยอุบลราช ธานี กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมตัวเขียนข้อความต่อต้านกฎอัยการศึก โดยระบุว่า เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนและแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลรักษาการที่มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้กฎอัยการศึกและร่วมกันจุดเทียนเป็นสัญลักษณ์ส่องแสงสว่างให้กับทหารด้วย
ที่ลานอเนกประสงค์ ข่วงประตูท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการชื่อดัง พร้อมบุคลากรมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นักศึกษาสถาบันต่างๆ รวมตัวเขียนป้ายต่อต้านรัฐประหาร และกฎอัยการศึก โดยมีชาวเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรม
นายนิธิ กล่าวว่า ทุกคนต่อต้านกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นกึ่งการทำรัฐประหาร กองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมืองแบบไม่มีประโยชน์ ไม่ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด การชุมนุมทุกคนมีสิทธิทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ การที่ทหารออกมาเป็นการไม่เหมาะสม จากนี้กลุ่มเราจะรณรงค์ให้ประชาชนทั่วประเทศ นักเรียนนักศึกษาออกมาต่อต้านเป็นแนวทางเดียวกัน
เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรม แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ กลุ่มประชาชนประมาณ 300 คน รวมตัวใช้ผ้าเทปปิดปาก ชูป้ายข้อความประท้วงกฎอัยการศึก นอกจากนี้ยังมีผู้นำรถแท็กซี่สีชมพู นำสีมาพ่นข้อความที่ฝากระโปรงรถ ว่า หยุดฉวยโอกาสปล้นประชาชน โดยมี อั้ม เนโกะ ขึ้นนั่งบนฝากระโปรงรถ ด้านข้างพ่นข้อความ นวม ทองมี เป็นล้าน พร้อมทั้งนำดอกไม้จันทน์ แจกผู้ชุมนุมนำมาวางที่รูปรถถัง ก่อนร่วมกันจุดเทียน ร้องตะโกน คัดค้านกฎอัยการศึก ต่อต้านรัฐประหาร ต้องการเลือกตั้ง จนถึงเวลา 19.00 น. จึงสลายการชุมนุม