- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 12 October 2014 23:51
- Hits: 3964
วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8719 ข่าวสดรายวัน
'ตร.-ทหาร'ตรึง แกนแดง พรึบ-รับ'อภิวันท์' 'จตุพร'ขอให้คสช.เลิกระแวง ยิ่งลักษณ์ร่วมงานสวดคืนนี้ สปช.ทนายปูดันปฏิรูปปปช.
ร่วมรับศพ - แกนนำนปช.และคนเสื้อแดงนับพันคนร่วมกันรับศพพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยนำมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดบางไผ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 11 ต.ค. และจะมีพิธีพระราชทานเพลิงวันที่ 19 ต.ค.นี้ |
แกนนำนปช.-คนเสื้อแดงนับพันคนแห่รับศพ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย แน่นวัดบางไผ่ ตะโกนลั่น 'วีรบุรุษ'จตุพรชี้คสช. อย่าวิตกยันไม่มีกิจกรรมโยงการเมือง ทุกคนอยากร่วมไว้อาลัย เผย'ยิ่งลักษณ์'ร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพคืนนี้ และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ 19 ต.ค. สปช.แสดงตน 4 วันรวม 186 คน นัดเลือกประธาน 21 ต.ค.นี้ บัญชา ปรมีศณาภรณ์ อดีตทนายยิ่งลักษณ์ ชูต้องปฏิรูปป.ป.ช. เปิดช่องให้ผู้เสียหายฟ้องศาลได้หากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากป.ป.ช. 'ปานเทพ'โต้พัลวัน ไม่ได้เร่งคดีสอย'ปู' อ้างเสร็จนานแล้วแต่รอดูฐานอำนาจของสนช. ยันแยกสำนวนถอดถอน-อาญาชัดเจน เลขาฯป.ป.ช.อ้างสอบพยานเพิ่มคดีจำนำข้าวยังไม่ได้ข้อยุติ จึงไม่ใช่ประเด็นขัดแย้งอสส. รอถก 7 พ.ย.
สปช.รายงานตัว 4 วัน 186 คน
วันที่ 11 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เปิดให้สมาชิกสปช.เข้าแสดงตนเป็นวันที่ 4 ที่ห้องโถง อาคารัฐสภา 1 ปรากฏว่า นายจุมพล รอดคำดี สมาชิก สปช. มาแสดงตนเป็นคนแรกในเวลา 08.05 น. จากนั้นสมาชิกสปช.ทยอยเข้ารายงานตัว อาทิ พล.อ.วัฒนา สรรพานิช อดีตส.ว. กาญจนบุรี นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ อดีตทนายความคดีจำนำข้าวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายจรัส สุทธิกุลบุตร ประธานหอการค้าภาคเหนือตอนบน กลุ่ม 2 นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์ นายโกเมศ แดงทองดี อดีตผู้ว่าฯราชบุรี นาย วิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีตผู้ช่วยผบ.ทบ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาเวลา 16.30 น. สรุปมีผู้มารายงานตัวในวันที่ 4 จำนวน 23 คน รวม 4 วันมีผู้มารายงานตัวแล้ว 186 คนจากทั้งหมด 250 คน ยังไม่มาอีก 64 คน ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภา จะเปิดให้สปช.เข้าแสดงตนจนถึงวันที่ 15 ต.ค. ตั้งแต่ 08.30-16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ
ถกนัดแรก 21 ต.ค.นี้เลือกปธ.
เวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสปช. ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เตรียมความพร้อมการประชุมสปช.นัดแรกในวันที่ 21 ต.ค.นี้แล้ว โดยหารือกับนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา สมาชิกสปช. ที่มีอาวุโสสูงสุดและจะทำหน้าที่ประธานการประชุมนัดแรก เบื้องต้นมีวาระแค่การเลือกประธานและรองประธานสปช. ส่วนวาระอื่นๆ อยู่ที่การพิจารณาของสมาชิกสปช. โดยจะนำข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มาอนุโลมใช้ไปก่อน จากนั้นจะร่างข้อบังคับของสปช.ขึ้น ส่วนค่าตอบแทนของสมาชิกสปช. ทราบว่าได้ผ่านมติของคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนประกาศบังคับใช้
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสปช. ให้สัมภาษณ์ว่า ตนหารือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องว่าข้อบังคับการประชุมสปช. มีความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิก แม้ในช่วงแรกจะใช้ข้อบังคับการประชุมของสนช.ไปพลางก่อน แต่สปช.จำเป็นต้องมีข้อบังคับเป็นของตนเอง เพราะทำหน้าที่แตกต่างกันและต้องมีกรรมาธิการหลายด้านด้วย ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งแรกวันที่ 21 ต.ค.นี้ จะหารือเพื่อยกร่างข้อบังคับสปช. รวมทั้งตั้งกรรมการประสานงานชั่วคราวเพื่อให้งานของสปช.เดินไปก่อนได้ เพราะคาดว่าการยกร่างข้อบังคับสปช.อย่างน้อยต้องใช้เวลา 1 เดือน
เสธ.อู้ชี้"เทียนฉาย"เหมาะสม
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า คุณสมบัติของ ผู้ที่จะมาเป็นประธานสปช. จะต้องเป็นกลาง รอบรู้ และเด็ดขาด เพื่อควบคุมการประชุมและการดำเนินงานของสปช.ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ให้ได้ เท่าที่ดูมีชื่อของนายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เชื่อว่าจะทำหน้าที่ได้อย่างดี ขณะเดียวกันในสปช.ยังมีอีกหลายคนที่มีความรู้ความสามารถ แต่ขึ้นอยู่กับมีสมาชิกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งหรือไม่
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ตนเคยเป็นประธานกรรมาธิการพลังงานของวุฒิสภา ซึ่งศึกษาและมีข้อมูลด้านพลังงานพอสมควร ฉะนั้นประเด็นที่ต้องการให้ปฏิรูปในด้านพลังงานของไทย คือเรื่องพัฒนาองค์กรและบุคลากรในด้านพลังงาน รวมทั้งปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งน่าห่วงว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีปัญหาแน่ โดยเฉพาะการใช้ก๊าซธรรมชาติถึง 70 % ดังนั้นเราต้องพัฒนาพลังงานอย่างอื่นขึ้นมาทดแทน ตนอยากเสนอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนคือ ลม และ โซลาร์เซลล์ เนื่องจากขณะนี้มีต้นทุนสูงมาก เราจึงต้องผลิตได้เอง
อดีตทนายปูลั่นปฏิรูปองค์กรอิสระ
นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ สมาชิก สปช. และอดีตทนายความคดีจำนำข้าวน.ส. ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังรายงานว่า ตนตั้งใจและวางแนวทางการทำงานว่าจะปฏิรูปองค์กรอิสระเพื่อให้เกิดการคานอำนาจ จะได้เป็นหลักประกันให้ประชาชนพอใจในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการสอบสวนพยาน ควรมีการบันทึกภาพ เสียง ในทุกปากเพื่อนำส่งศาล จะได้ทราบว่าพยานสมัครใจหรือให้การเพราะถูกดำเนินการด้วยวิธีใดหรือไม่ ดังนั้น การสอบสวนในกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องจะต้องได้รับความเชื่อถือจากประชาชน
เมื่อถามว่า มีชื่อประธาน สปช.อยู่ในใจแล้วหรือไม่ นายบัญชากล่าวว่า ตนมีชื่ออยู่ในใจแต่ขอไม่เอ่ย ซึ่งประธานสปช.ต้องมีองค์ประกอบหลายด้าน ชื่อแต่ละคนที่สื่อนำเสนอนั้นต่างมีความรู้ความสามารถ
พุ่งเป้าป.ป.ช.อันดับแรก
นายบัญชา กล่าวว่า ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีการไต่สวนพยานเหมือนกันนั้น อยากฝากด้วยว่าป.ป.ช.ต้องมีกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรม ก่อนหน้านี้ประธานคณะกรรมการป.ป.ช.เคยระบุจะขอให้กรรมการป.ป.ช. อนุกรรมการและเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. ต้องถูกดำเนินคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งตนน้อมรับและให้ความเคารพต่อป.ป.ช. ดังนั้น จึงต้องปรับปรุงว่าการจะไปสู่ศาลฎีกาฯ ต้องไปให้ถึง โดยผู้เสียหายที่ถูกกล่าวหาและ ระบุว่าป.ป.ช.ไม่ให้ความเป็นธรรม ควรมีอำนาจยื่นต่อรัฐสภา เพื่อให้ส.ส. ส.ว. ตั้งคณะกรรมการไต่สวนว่าถูกป.ป.ช.กลั่นแกล้งหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร ถ้าคณะกรรมการสอบแล้วพบว่าเป็นความจริง ให้รัฐสภาลงมติด้วยคะแนนแค่ 1 ใน 10 ก่อนส่งไปยังศาลฎีกาฯ ต่อไป
"ป.ป.ช.ไม่ควรวิตก จะได้พิสูจน์ความจริงว่าป.ป.ช.ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร ยังเป็น การพิสูจน์การทำงาน ทำให้สง่างาม ต่างชาติเชื่อมั่น ทุกอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ส่วนจะมีองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ต้องได้รับการปฏิรูปอีกหรือไม่นั้น ขอให้มีการประชุมคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายและกระบวน การยุติธรรมของ สปช.ก่อน ที่ผมพูดถึงป.ป.ช.ก็พูดตามหลักการไม่ได้กล่าวหา" นายบัญชากล่าว
อ้างเพื่อความเป็นธรรม-โปร่งใส
นายบัญชา กล่าวว่า ตนไม่ได้ทำหน้าที่ทนายในคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์มาตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ยืนยันไม่ได้กล่าวหาป.ป.ช.ว่ากลั่นแกล้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ต้องการให้กระบวนการพิจารณาความนั้นโปร่งใส หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ผิดก็ต้องน้อมรับ แต่ถ้าถูกป.ป.ช.น่าจะให้ความเป็นธรรมต่อน.ส. ยิ่งลักษณ์ ทั้งนี้ ตนจะใช้ความรู้ความสามารถและความซื่อสัตย์ทำงานอย่างดีที่สุดเพื่อให้สปช.ทำงานสำเร็จบรรลุผล
เมื่อถามว่า ที่ตั้งใจปฏิรูปป.ป.ช.นั้นเพราะได้เห็นจากคดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ นายบัญชากล่าวว่า สิ่งที่ตนพบได้บอกกับป.ป.ช.แล้วว่าการไต่สวน สอบสวน จะต้องคำนึงถึงกระบวนการยุติธรรมให้ผู้ถูกกล่าวหายอมรับได้ เพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่เพียงแค่อดีตนายกฯ แต่มีอีกหลายคน ซึ่งตนเสนอให้ปฏิรูปป.ป.ช.ก่อนเพื่อเป็นหลักประกัน เช่น เรื่องอายุความของผู้ถูกกล่าวหาที่ร้องขอความเป็นธรรมโดยการฟ้องกลับป.ป.ช.ที่ถูกกำหนดไว้ 15 ปี แต่คดียังไม่เสร็จ ขาดอายุความก่อน ถามว่าผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับความเป็นธรรมได้อย่างไร เพราะในหลายคดีเมื่อศาลพิพากษาถึงที่สุดก็ใช้เวลาถึง 20 ปี ตนพูดอย่างนี้เพราะต้องการสร้างบรรทัดฐานของความเป็นธรรมในคดี
ค้านยุบป.ป.ช.แต่ต้องปฏิรูป
"ดังนั้น ควรแก้ไขกฎหมายให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ต้องการความเป็นธรรม สามารถฟ้องศาลชั้นต้นได้อีกทางหนึ่ง และป.ป.ช.ไม่ควรหวั่นไหว เชื่อว่าป.ป.ช.จะให้ความร่วมมือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมศาลชั้นต้นในฐานะผู้เสียหาย หากป.ป.ช.ให้ความร่วมมือในการแก้กฎหมายได้ ป.ป.ช.จะสง่างามและตอบสังคมได้" นายบัญชากล่าว
เมื่อถามว่าขณะนี้มีเสียงวิจารณ์ว่าควรยุบป.ป.ช. นายบัญชากล่าวว่า ที่มีเสียงวิจารณ์นั้นเป็นเพราะเหตุใดก็ต้องดูด้วย ทำไมอยู่ดีๆ ถึงมีเสียงวิจารณ์เช่นนั้น ตนไม่ต้องการให้ยุบป.ป.ช. ซึ่งตนให้ความเคารพต่อกรรมการป.ป.ช. จึงอยากให้ออกมาแสดงความบริสุทธิ์และรับผิดชอบ แสดงสปิริตยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมชั้นต้นและยินดีเข้าสู่ช่องทางของศาลฎีกาฯ ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรยุบเพราะดีอยู่แล้ว แต่ควรได้รับการปฏิรูป ชื่อก็ดีคือป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งเป็นนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล
สนช.รอ"พรเพชร"บรรจุคดีถอดถอน
พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงอำนาจของสนช.เพื่อพิจารณาเรื่องถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งหลังป.ป.ช.ชี้มูลความผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ คดีโครงการรับจำนำข้าวว่า ยังไม่เห็นสำนวน ต้องรอให้สำนวนส่งมาก่อนเพราะกรณีถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งต้องดูว่า ป.ป.ช.ส่งสำนวนความผิดมาอย่างไร
พล.ร.อ.ศิษฐวัชรกล่าวว่า ส่วนข้อถกเถียงเรื่องอำนาจถอดถอนของ สนช.นั้น เป็นที่สิ้นสุดแล้ว เพราะนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.วินิจฉัยไปแล้วว่ามีแน่ๆ แต่ต้องดูที่ฐานความผิดของแต่ละสำนวนว่าอยู่ที่กฎหมายใด ถ้าข้อกล่าวหาผิดตามรัฐธรรม นูญ ปี 2550 คงถอดถอนลำบาก เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่หากเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ก็เป็นหน้าที่ของประธาน สนช.ว่าจะใช้ดุลพินิจพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างไร และจะบรรจุวาระให้ที่ประชุมพิจารณาหรือไม่
ป.ป.ช.โต้ทนาย-รวบรัดคดีปู
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยระบุป.ป.ช.เร่งรีบรวบรัดส่งสำนวนคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สนช.พิจารณาถอดถอนว่า ป.ป.ช.ไม่ได้เร่งรีบรวบรัด ทุกอย่างทำตามขั้นตอน กรณีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ป.ป.ช.ลงมติเสร็จไปนานแล้ว แต่ไม่สามารถส่งให้วุฒิสภาขณะนั้นดำเนินการได้ เนื่องจากมีคำสั่งของคสช.ให้ยุบวุฒิสภา ทำให้ป.ป.ช.ต้องรอความชัดเจนด้านข้อกฎหมายเรื่องอำนาจหน้าที่ของสนช.ก่อน ส่วนที่ทีมทนายตั้งข้อสังเกตว่าอัยการสูงสุด(อสส.) ยังมีข้อโต้แย้งในสำนวนคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยังไม่สมบูรณ์ แต่เหตุใดป.ป.ช.จึงรีบส่งเรื่องให้สนช.ดำเนินการนั้น สำนวนที่ป.ป.ช.ส่งให้สนช.เป็นคดีถอดถอน เป็นคนละสำนวนกับคดีอาญาที่อสส. ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ สำนวนทั้งสองคดีแยกออกจากกัน ไม่เกี่ยวข้องกัน
เมื่อถามว่าทีมทนายระบุมติล่าสุดของป.ป.ช.ที่ส่งสำนวนให้สนช.ถอดถอนน.ส. ยิ่งลักษณ์ ไม่มีการพูดถึงการกระทำผิดตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยอ้างความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรม นูญเพียงอย่างเดียว ทั้งที่มติป.ป.ช.ก่อนหน้านี้ชี้มูลว่ากระทำผิดตามมาตรา 178 นายปานเทพกล่าวว่า มติป.ป.ช.ครั้งนี้ ยืนยันว่ามีการระบุความผิดชัดเจน ทั้งความผิดตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ และความผิดตามมาตรา 11 ของพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ไม่มีการตัดฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ทิ้ง จึงไม่ใช่การ ใช้เทคนิคทางกฎหมายมาเล่นงานน.ส. ยิ่งลักษณ์ คาดว่าต้นสัปดาห์หน้าจะลงนามในคำสั่งส่งสำนวนถอดถอนดังกล่าวให้สนช.ได้ จากนั้น 1-2 วันจะส่งสำนวนไปยังสนช.ต่อไป
ยันส่งถึงมือสนช.สัปดาห์หน้า
ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า การส่งสำนวนคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สนช.นั้น ดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ไม่ได้เร่งรีบ เมื่อคณะกรรมการป.ป.ช.มีมติแล้ว ต้องส่งเรื่องให้สนช.ดำเนินการต่อไป คาดว่าจะส่งสำนวนให้สนช.ได้ในสัปดาห์หน้า ส่วนที่ทีมทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตั้งข้อสังเกตว่าป.ป.ช.เร่งรีบส่งสำนวนโดยไม่รอคำทักท้วงของอสส. เรื่องความไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีจำนำข้าวนั้น สำนวนที่ป.ป.ช.ส่งให้สนช. เป็นคดีถอดถอน ขณะที่สำนวนที่ฝ่ายอสส.ทักท้วง เป็นสำนวนคดีอาญา ทั้ง 2 คดีแยกกันชัดเจน ไม่เกี่ยวกัน
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนที่ทีมทนายระบุป.ป.ช.ตัดฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ทิ้งให้เหลือแต่ความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เพื่อเอาผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้นั้น คงเป็นความเข้าใจผิดของทีมทนาย เพราะ พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช.ที่ป.ป.ช.อ้างถึงนั้น เป็น การชี้แจงถึงอำนาจของป.ป.ช.ที่ใช้ช่องทางตามพ.ร.บ.ดังกล่าวส่งเรื่องให้สนช.ถอดถอน แต่ป.ป.ช.ไม่ได้แตะต้องหรือแก้ไขฐานความผิดของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามที่ป.ป.ช.ลงมติไปก่อนหน้านี้ เพราะไม่สามารถแก้ไขฐานความผิดได้ ยืนยันว่าฐานความผิดของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ยังมีอยู่ 2 ฐานความผิดเช่นเดิมคือ ความผิดตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 และความผิดตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
นัดถกอสส.-ปมเพิ่มพยานคดี"ปู"
นายสรรเสริญ กล่าวถึงคณะทำงานร่วมระหว่างป.ป.ช.-อสส. ในการฟ้องคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้ข้อยุติว่า ในวันที่ 7 พ.ย.นี้จะหารือกันในกรอบการทำงานเดิม ซึ่งเรื่องที่อสส.ขอเพิ่มพยานนั้น ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยป.ป.ช.ทำสำนวนไป 3 รายพร้อมเอกสารแต่อสส.บอก 3 รายยังไม่พอ ขอเพิ่มอีก 4 ราย เป็น 7 ราย ซึ่งเราต้องมาคุยกันในเรื่องนี้ก่อนว่าที่ขอมาจะให้หรือไม่อย่างไร เดิมที่ผู้ถูกกล่าวหาขอเพิ่มพยานมา 8 รายนั้น ป.ป.ช.พิจารณาแล้วตัดไป ดังนั้น เมื่ออสส.มาขอให้เพิ่มก็ต้องคุยกันก่อน ยังหาข้อยุติไม่ได้และยังมีอีกหลายประเด็นในลักษณะนี้ อยู่ในกรอบข้อไม่สมบูรณ์เดิม ยังไม่ได้เพิ่มประเด็นใดๆ
นายสรรเสริญ กล่าวว่า เรื่องพยานทางป.ป.ช.ยืนยันว่าไต่สวนครบถ้วนแล้ว หากอสส.ขอเพิ่มก็ต้องคุยกันว่าอะไรแค่ไหน โดยเฉพาะต้องพิจารณาว่าจะยิ่งเสียเวลาหรือไม่ หากอะไรยอมกันได้ก็ต้องยอม จะได้ทำงานร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ ตอนนี้ยังไม่ได้คุยกัน ยังไม่มีการลงมติใดๆ จึงยังไม่ถือว่าเป็นความเห็นที่ไม่ตรงกัน วันที่ 7 พ.ย.จึงต้องตกลงกันว่าอะไรได้หรือไม่ได้ โดยต้องยึดกรอบกฎหมายเป็นหลัก
ตร.คุมเข้มรับศพ"อภิวันท์"
สำหรับ การรับศพพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทยและแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เสียชีวิตด้วยอาการปอดติดเชื้อ หลังเข้ารับการรักษาที่ประเทศฟิลิปปินส์นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค. เวลา 15.29 น. พล.ต.ต.ธนา ชูวงศ์ ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ ลงนามเป็นบันทึกข้อความ สภ.บางพลี เลขที่ 0016.313/6617 เรื่องการป้องกันเหตุการณ์ชุมนุมกรณีการรับศพ พ.อ.อภิวันท์ มีเนื้อหาว่า วันที่ 11 ต.ค. เวลา 13.00-16.00 น. จะนำศพ พ.อ.อภิวันท์ จากประเทศฟิลิปปินส์ กลับมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และจากการสืบสวนหาข่าวพบว่าจะมีผู้มารับศพจำนวนมากและอาจมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งขัดต่อประกาศกฎอัยการศึกและคำสั่งคสช.
ดังนั้น เพื่อป้องกันเหตุ จึงสั่งเตรียมพร้อมรับในทุกภาคส่วน โดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า(ศปก.สน.) ที่สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้ ผกก.สภ.ท่าอากาศฯจัดเตรียมสถานที่ เจ้าหน้าที่ อุปกรณ์และเครื่องมือตามที่เคยปฏิบัติ โดยพร้อมปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา 10.00 น. วันที่ 11 ต.ค. นอกจากนี้ให้จัดชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) 2 กองร้อย ให้แต่งชุดปกติและชุดคฝ. รวมถึงให้ ผกก.สภ.เมือง, สำโรงเหนือ, สำโรงใต้, บางปู, บางบ่อ, เสาธง, บางพลี, บางแก้ว จัดเจ้าหน้าที่มาสมทบด้วย และให้ผกก. ทุกสภ. ทำความเข้าใจกับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมทุกกลุ่มเพื่อหลีกเลี่ยงการมาชุมนุมหรือร่วมกลุ่ม เสี่ยงต่อการละเมิดต่อประกาศคสช.และกฎอัยการศึก
แกนนำนปช.-เสื้อแดงร่วมอาลัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีแกนนำนปช. อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. นางธิดาและนพ.เหวง โตจิราการ นายสิงห์ทอง บัวชุม นายสมหวัง อัสราษี นายอารี ไกรนารา รวมทั้งคนเสื้อแดงประมาณ 400 คนซึ่งสวมชุดดำ มารอรับศพ พ.อ.อภิวันท์ ที่เสียชีวิตด้วยอาการปอดติดเชื้อหลังเข้ารับการรักษาที่ประเทศฟิลิปปินส์ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจภูธร จ.สมุทรปราการ 1 กองร้อย และทหารอีกจำนวนหนึ่งกระจายกำลังอยู่รอบพื้นที่ เพื่อดูแลความเรียบร้อย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ซึ่งการจราจรติดขัดอย่างหนักเนื่องจากมีคนเสื้อแดงมารอรับศพจำนวนมากแต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่เพราะเป็นเขตหวงห้าม จึงรออยู่บริเวณหน้าคลังสินค้า
ทั้งนี้ ศพพ.อ.อภิวันท์ มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิในเวลา 15.20 น. โดยสายการบินไทย TG 621 เมื่อมาถึงได้ผ่านกระบวนการและขั้นตอนของศุลกากร นิติเวช ตรวจอัตลักษณ์บุคคล จากนั้นนายจตุพรพร้อมแกนนำนปช.และคนเสื้อแดง ได้ร่วมกันเคลื่อนศพพ.อ.อภิวันท์ ไปที่วัดบางไผ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี เพื่อทำพิธีทางศาสนาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนในพื้นที่จ.นนทบุรี มารอที่หน้าศูนย์ไทยคม ถนนรัตนาธิเบศร์ ตรงข้ามศูนย์ราชการนนทบุรี เพื่อร่วมขบวนเดินทางไปยังวัดบางไผ่ พร้อมคณะที่มาจากสนามบินสุวรรณภูมิด้วย
"ตู่"ยันไม่มีกิจกรรมการเมือง
นายจตุพรกล่าวว่า พ.อ.อภิวันท์ เปรียบเสมือนพี่ชายที่พวกเราเคารพนับถือ ส่วนที่ห่วงว่าเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น ไม่ต้องห่วง เพราะเป็นการแสดงความไว้อาลัยเท่านั้น และสวดพระอภิธรรมศพเพียง 7 วัน ทุกอย่างน่าจะผ่านพ้นด้วยดี กลุ่มที่มารับศพในวันนี้ไม่ได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายไหนเลย ตนโทรศัพท์พูดคุยกับพล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. เรื่องการอำนวยความสะดวก ขั้นตอนที่เกี่ยวกับตำรวจ ซึ่งผบ.ตร.บอกว่าจะช่วยให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างไม่มีอะไร นอกจากงานสวดพระอภิธรรมศพ วันนี้เป็นเพียงการไว้อาลัย หวังว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะให้เกียรติเราด้วย
นายจตุพรกล่าวว่า ส่วนขั้นตอนการชันสูตรศพ เจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานอนุญาตให้ญาติพี่น้องและภรรยาเท่านั้น และหลังเสร็จขั้นตอนทางกฎหมายแล้วจะเดินทางไปที่วัดทันที ส่วนที่ห่วงว่านปช.จะจัดกิจกรรมอื่นๆ นั้นไม่มี มีเพียงการร่วมฟังพระอภิธรรมศพเท่านั้น โดยคนเสื้อแดงจะมาร่วมงานอย่างวิญญูชน อาจมาจำนวนมาก ขอคสช.อย่าหวั่นวิตก อย่าระแวง เรายืนยันว่าจะไม่เป็นปัญหาทุกอย่างจะผ่านพ้นไปด้วยดี ขณะนี้ไม่ใช่เวลามาประหัตประหารกัน
พระราชทานเพลิงศพ 19 ต.ค.นี้
นายจตุพรกล่าวอีกว่า จะมีการจัดงานสวดอภิธรรมศพเป็นเวลา 7 วัน ในวันที่ 12 ต.ค. นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯและอดีตรมว.พาณิชย์ มาเป็นประธานรดน้ำศพ และเวลา 19.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะมาร่วมฟังพระอภิธรรมศพ
สำหรับวันที่ 12-14 ต.ค. เวลา 19.00 น. พระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรมศพ อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ วันที่ 15-18 ต.ค. พรรคเพื่อไทยและ นปช. เป็นเจ้าภาพ และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 19 ต.ค. โดยมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธาน
มวลชนแน่นวัดตะโกน"วีรบุรุษ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อขบวนเคลื่อนศพพ.อ.อภิวันท์ มาถึงวัดบางไผ่ ซึ่งมีแกนนำนปช. อาทิ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภา นาย ชินวัฒน์ หาบุญพาด รวมทั้งมวลชนนับพันคนที่มารออยู่ภายในวัด ต่างส่งเสียงตะโกน "อภิวันท์ วีรบุรุษ" โดยเจ้าภาพได้ตั้งบำเพ็ญกุศลไว้ที่ศาลา 2 ทั้งนี้ บรรยากาศเป็นไปอย่างเศร้าสลด ไม่มีการฉายสื่อวิดีโอหรือมีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือปราศรัยโจมตีรัฐบาลและคสช.แต่อย่างใด ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบมาดูแลความเรียบร้อยประมาณ 80 นาย ทั้งนี้ กลุ่มมวลชนได้ทยอยเดินทางกลับโดยระบุว่าจะมาร่วมรดน้ำศพในวันที่ 12 ต.ค.นี้