- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 12 October 2014 23:47
- Hits: 3570
สปช.แห่ขายสูตรปฏิรูป รื้อใหญ่กทม. เลือกตั้งผู้อำนวยการเขต ชงถ่วงดุลองค์กรอิสระ ร้องสภาเอาผิดปปช.ได้ กต.แจงปมตั้งทูตมะกัน
'พงศ์โพยม'เสนอยกเครื่อง กทม.ใหม่หมด ทั้งข้อเสนอเปลี่ยนเป็นเทศบาลมหานคร เลือกตั้งผู้อำนวยการเขตแทนการแต่งตั้ง
@ 21 ต.ค.เลือกปธ.-รองปธ.สปช.
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่รัฐสภา นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สำนักเลขาธิการฯเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุม สปช.นัดแรก ในวันที่ 21 ตุลาคมนี้แล้ว โดยหารือกับนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา สมาชิก สปช.ที่มีความอาวุโสสูงสุด จะทำหน้าที่ประธานการประชุมนัดแรก เบื้องต้นมีวาระการประชุมการเลือกประธานและรองประธาน สปช. ส่วนวาระอื่นๆ ต้องอยู่ที่การพิจารณาของสมาชิก สปช. จะใช้ข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาอนุโลมใช้ไปก่อน จากนั้นจะมีการร่างข้อบังคับของ สปช.ขึ้น ส่วนค่าตอบแทนของสมาชิก สปช.ได้ผ่านมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนประกาศบังคับใช้
@ 'เลิศรัตน์'หนุนเทียนฉายเต็มตัว
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปช.ด้านพลังงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังรายงานตัวว่า ข้อบังคับการประชุม สปช.มีความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิก แม้ในช่วงแรกจะใช้ข้อบังคับการประชุมของ สนช.ไปพลางก่อน แต่ สปช.ต้องมีข้อบังคับของตนเอง เพราะมีหน้าที่แตกต่างกันและต้องมีคณะกรรมาธิการหลายด้านด้วย ในการประชุมวันที่ 21 ตุลาคมนี้ จะหารือเพื่อยกร่างข้อบังคับ สปช. รวมทั้งตั้งกรรมการประสานงานชั่วคราวเพื่อให้งานของ สปช.เดินหน้าไปก่อน คาดว่าการยกร่างข้อบังคับ สปช.ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับคุณสมบัติของประธาน สปช.จะต้องมีความเป็นกลาง รอบรู้ และเด็ดขาด เท่าที่ดูมีชื่อของนายเทียนฉาย กีระนันทน์ สปช.ด้านอื่นๆ เป็นบุคคลที่มีความรู้จะทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันยังมีอีกหลายคนขึ้นอยู่ว่าจะถูกนำเสนอชื่อขึ้นมาหรือไม่
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวอีกว่า เคยเป็นประธานกรรมาธิการพลังงานของวุฒิสภา ได้ศึกษาและมีข้อมูลในด้านพลังงาน ประเด็นการปฏิรูปด้านพลังงาน คือ เรื่องพัฒนาองค์กรและบุคลากรด้านพลังงาน รวมทั้งปัญหาความมั่นคงทางด้านพลังงานเรื่องที่น่าห่วงว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีปัญหาแน่ โดยเฉพาะการใช้ก๊าซธรรมชาติถึง 70% ต้องหาพลังงานอื่นมาทดแทน จะเสนอรัฐบาลให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน คือ ลมและพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ขณะนี้มีต้นทุนสูงมากจึงต้องผลิตได้เอง
@ 'พงศ์โพยม'ชูยกเครื่องกทม.
นายพงศ์โพยม วาศภูติ สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น และเป็นอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงแนวคิดการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) คงไม่ใช่ตัวอย่างที่ต้องการจะไปให้ถึง เพราะกรุงเทพฯมีปัญหาหลายด้านและซ้อนกับรัฐบาล ในหลายเรื่องรัฐบาลแย่งไปทำ ก็มีปัญหาขัดแย้งกับส่วนกลาง ทั้งไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ หรือรถไฟฟ้าบีทีเอสก็ไม่ใช่ของท้องถิ่น ทำให้บทบาทของ กทม.มีไม่มาก อีกทั้งกฎหมายหลายฉบับก็ขัดแย้งกัน เช่น ฟุตปาธเป็นของ กทม. แต่ถนนเป็นของตำรวจหรือของทางหลวงแผ่นดิน หรือเรื่องการดูแลน้ำเสียโรงพยาบาล ก็ไม่ใช่ของท้องถิ่นเช่นกัน ที่ผ่านมา กทม.ก็มีการเมืองท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้องทั้ง ส.ก.และ ส.ข.ก็มาจากพรรคการเมือง ทำให้ กทม.ต้องบริหารทั้งการเมือง และบริหารงานท้องถิ่นที่ค่อนข้างยาก
"สิ่งที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นในต่างจังหวัดหลังจากนี้คงไม่ใช่สิ่งที่ กทม.เป็นอยู่ จึงอาจต้องมีการออกแบบโครงสร้างของ กทม.ใหม่ มีคนพูดว่าอาจจะมีรูปแบบเป็นเทศบาลมหานคร หรือมีผู้อำนวยการเขตมาจากการเลือกตั้งได้หรือไม่ เพื่อดูแลประชาชนโดยไม่ผ่าน ส.ก.หรือ ส.ข. จะต้องมีการหารือกับ สปช.ก่อน อาจจะศึกษารูปแบบจากกรุงลอนดอน กรุงโตเกียว หรือในประเทศสิงคโปร์เคยมีนายกรัฐมนตรีเป็นนายกเทศมนตรีคนเดียวกัน เพื่อดูแลทั้งเกาะได้และดูแลท้องถิ่นไปด้วย" นายพงศ์โพยมกล่าว
@ 'อดีตทนายปู'ปฏิรูปองค์กรอิสระ
นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และอดีตทนายความคดีรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องการให้ปฏิรูปองค์กรอิสระเพื่อให้มีการคานอำนาจกัน จะได้เป็นหลักประกันให้ประชาชนพึงพอใจในกระบวนการยุติธรรม อย่างเช่น การสอบสวนพยานขององค์กรกลาง ให้มีการบันทึกภาพเสียงของพยานทุกปาก ให้ทราบว่าพยานที่ให้การมีความรู้สึกสมัครใจหรือกังวลอย่างไร เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมมีความสำคัญมาก ทุกคนต้องได้รับความเป็นธรรมที่น่าเชื่อถือ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหน่วยงานสำคัญในการปราบปรามการทุจริต กระบวนการต้องโปร่งใสสุจริตให้ความเป็นธรรม โดยเฉพาะที่มีการร้องขอให้กรรมการ อนุกรรมการ และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.จะต้องถูกดำเนินคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
@ ยันไม่เกี่ยวคดีจำนำข้าว
"ตรงนี้ผมน้อมรับ แต่หากใช้รัฐธรรมนูญเดิม การเข้าชื่อร้องโดย ส.ส.และ ส.ว.ทำไม่ได้ ราษฎรผู้เดือดร้อนทำไม่ได้ ทางแก้เรื่องนี้คือ ผู้เสียหายที่ถูกกล่าวหาไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ป.ป.ช. ควรให้มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวน หากมีมูลจริงให้รัฐสภาลงมติ หากได้เสียง 1 ใน 10 ให้เข้าสู่กระบวนการส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมือง หากไม่มีมูลก็จบไป ป.ป.ช.ไม่ควรวิตกเพื่อจะได้พิสูจน์ความจริงให้ปรากฏและเป็นความสง่างามของ ป.ป.ช.ว่าไม่ได้กลั่นแกล้งใคร" นายบัญชากล่าว
เมื่อถามว่า กระแสที่ให้ยุบ ป.ป.ช.มองอย่างไร นายบัญชากล่าวว่า จะยุบทำไม ต้องกลับไปถามว่ายุบเพราะอะไรทั้งที่ชื่อก็เพราะ ส่วนตัวไม่อยากให้ยุบแต่ควรปฏิรูป เมื่อถามว่า กลั่นแกล้งที่ว่านี้คือคดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ นายบัญชากล่าวว่า หมายถึงหลักคดีทั่วไปและอยากบอกว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาแล้ว เมื่อถามย้ำความชัดเจนในตัวต่อคดีจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งนายบัญชากล่าวว่า ไม่ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์มาตั้งแต่เดือนเมษายน และไม่ได้ลาออกแต่ไม่ได้รับมอบหมาย
@ เห็นด้วยฟ้องปปช.ไม่มีอายุความ
"ผมไมได้กล่าวหา ป.ป.ช.กลั่นแกล้งอดีตนายกฯ แต่ต้องการให้โปร่งใส เมื่ออดีตนายกฯผิด ผมคิดว่าอดีตนายกฯก็ต้องน้อมรับผิด แต่หากอดีตนายกฯ ถูก ป.ป.ช.น่าจะให้ความเป็นธรรม" นายบัญชากล่าว เมื่อถามว่า ที่ได้เข้ามาเพราะมีข่าวว่าเป็นทนายความให้ตระกูลวงษ์สุวรรณมาก่อน นายบัญชากล่าวว่า "ผมเป็นทนายให้กับทุกคนไม่ได้ว่าเป็นของใคร ทำตามหน้าที่"
นายบัญชา ยังกล่าวกรณี ป.ป.ช.ยื่นสำนวนการถอดถอนนักการเมืองต่อ สนช.ว่า อยากฝากไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถ้าจะไต่สวนคดีทุจริตใดๆ ให้คำนึงถึงความยุติธรรม และเมื่อตนเข้าไปทำงานจะเสนอเรื่องนี้เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนมีความพอใจ ส่วนข้อเสนอที่จะให้คดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่มีอายุความนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่กระบวนการกล่าวหาและการดำเนินการทางคดีใช้เวลานาน อาจทำให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับความเสียหาย จึงขอให้มีการแก้กฎหมาย ให้ผู้เสียหายสามารถฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยไม่มีอายุความเช่นเดียวกัน ถ้า ป.ป.ช.ไม่มีความผิดก็สามารถตอบสังคมได้
@ สปช.รายงานตัว 4 วันรวม 186 คน
เมื่อเวลา 10.30 น. ที่อาคารรัฐสภา นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาของคนในชาติคือความขัดแย้ง โดยเฉพาะเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมก่อให้เกิดความเห็นต่างสีกันมาจนทุกวันนี้ ที่เป็นอย่างนี้เพราะการประชุม 3 วาระรวด และเร่งออกกฎหมาย หากถามว่าทำได้หรือไม่ คือ ทำได้ แต่ตามจริยธรรมไม่ควรทำ และไม่เคยเห็นสภาที่ไหนทำ อย่างไรก็ตามต้องอย่ามองกฎหมายสร้างความแตกแยกหรือควบคุมพวกมากลากไปและยังมีอีกหลายเรื่องต้องแก้ไขแต่ขอประชุมก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเข้ารายงานตัวของ สปช. ที่อาคารรัฐสภา 1 ในวันที่ 4 ตลอดทั้งวันมี สปช.เข้ารายงานตัว 23 คน อาทิ นายโกเมศ แดงทองดี, นายจุมพล รอดคำดี, นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์, นายมานิจ สุขสมจิตร, พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช, นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา, นายกงกฤช หิรัญกิจ, พ.อ.สิรวิชญ์ นาคทอง, นางประภาภัทร นิยม, นางอัญชลี ชวนิชย์, นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน, นายเดชฤทธิ์ ปัญจะมูล, นายจรัส สุทธิกุลบุตร, นายเชิดชัย วงศ์เสรี, นายชูชาติ อินสว่าง, พล.ต.ต.ปรีชา สมุทระเปารยะ และ พล.อ.วรวิทย์ พรรณสมัย รวมตลอดทั้ง 4 วัน มีสมาชิก สปช.แสดงตนรวมทั้งสิ้น 186 คน ยังเหลืออีก 64 คน
@ ปปช.ยันเคยตัดพยานจำนำข้าว
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์เรื่องคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับอัยการสูงสุด (อสส.) กรณีการฟ้องคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่การหารือยังไม่ได้ข้อยุติว่า ในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ จะหารือในกรอบการทำงานเดิม ตรงกับที่รอง อสส.กล่าวไปแล้วว่ายังไม่ได้ข้อยุติ ต้องคุยกันอีก ส่วน อสส.ขอเพิ่มพยานก็ยังไม่ได้ข้อยุติ ทั้งนี้ ป.ป.ช.ทำสำนวนไป 3 รายพร้อมเอกสาร แต่ อสส.บอกว่า 3 รายไม่พอ ขอเพิ่มอีก 4 เป็น 7 ราย ป.ป.ช.ก็ต้องมาคุยกันอีกจะให้หรือไม่ให้อย่างไร เพราะเดิมผู้ถูกกล่าวหาขอเพิ่มพยานมา 8 ราย ป.ป.ช.พิจารณาแล้วตัดไปตามที่เคยชี้แจงไปแล้ว
นายสรรเสริญ กล่าวว่า เรื่องพยานทาง ป.ป.ช.ยืนยันว่าไต่สวนไปครบถ้วนแล้ว หาก อสส.ขอเพิ่มต้องพิจารณาว่าเป็นการเสียเวลาหรือไม่ หากอะไรคุยกันและยอมกันได้ก็ต้องยอม จะได้ทำงานร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ตอนนี้ยังไม่ได้มีการลงมติใดๆ จึงยังไม่ถือว่าเป็นความเห็นที่ไม่ตรงกันเพราะยังไม่ได้ตกลงกัน
@ ปธ.ปปช.ระบุคนละสำนวน
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวกรณีทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุ ป.ป.ช.เร่งรีบรวบรัดส่งสำนวนคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ สนช.พิจารณาถอดถอนว่า ป.ป.ช.ไม่ได้เร่งรีบทุกอย่างทำตามขั้นตอน ซึ่ง ป.ป.ช.พิจารณาลงมติเสร็จไปนานแล้ว แต่ไม่สามารถส่งให้วุฒิสภาในขณะนั้นได้ เนื่องจากมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ยุบวุฒิสภา ทำให้ ป.ป.ช.ต้องรอความชัดเจนด้านข้อกฎหมายเรื่องอำนาจหน้าที่ของ สนช.ก่อน จึงส่งให้ สนช.พิจารณาต่อได้ ส่วนที่ทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า อัยการสูงสุด (อสส.) ยังมีข้อโต้แย้งในสำนวนคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยังไม่สมบูรณ์ แต่เหตุใด ป.ป.ช.จึงรีบส่งเรื่องให้ สนช.ดำเนินการ ซึ่งสำนวนที่ ป.ป.ช.ส่งให้ สนช.พิจารณาเป็นคดีถอดถอน เป็นคนละสำนวนกับคดีอาญาที่ อสส.ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ สำนวนทั้งสองคดีแยกออกจากกัน ไม่เกี่ยวข้องกัน ยันไม่ตัดฐานความผิดรัฐธรรมนูญ 50 ทิ้ง
@ มติส่งสนช.ครบสองความผิด
เมื่อถามว่า ทีมทนายความระบุว่า มติล่าสุดของ ป.ป.ช.ที่ส่งสำนวนให้ สนช.ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีการพูดถึงการกระทำความผิดตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยอ้างความผิดตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว ทั้งที่มติของ ป.ป.ช.ก่อนหน้านี้ชี้มูลความผิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำผิดตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 นายปานเทพกล่าวว่า มติของ ป.ป.ช.ที่จะส่งให้ สนช.พิจารณาถอดถอนครั้งนี้ยืนยันว่า มีการระบุความผิดชัดเจนทั้งเรื่องความผิดตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ และความผิดตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ไม่มีการตัดฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550
ทิ้ง จึงไม่ใช่การใช้เทคนิคทางกฎหมายมา
เล่นงาน คาดว่าประมาณต้นสัปดาห์หน้าจะลงนามในคำสั่งส่งสำนวนถอดถอนดังกล่าวให้ สนช.ได้ จากนั้นภายในอีก 1-2 วันก็จะส่งสำนวนไปยัง สนช.ต่อไป
@ แยกสำนวน'ถอดถอน-อาญา'
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การส่งสำนวนคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ สนช.พิจารณาถอดถอน ไม่ได้เร่งรีบ คาดว่าจะส่งสำนวนคดีถอดถอนให้ สนช.ดำเนินการได้ในสัปดาห์หน้า ส่วนที่ทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ป.ป.ช.เร่งรีบส่งสำนวนคดีถอดถอนให้ สนช.ดำเนินการ โดยไม่รอคำทักท้วงของ อสส. เรื่องความไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีจำนำข้าวนั้น สำนวนที่ ป.ป.ช.ส่งให้ สนช.ดำเนินการเป็นเรื่องคดีถอดถอน ขณะที่สำนวนที่ฝ่าย อสส.ทักท้วงเรื่องความไม่สมบูรณ์ในพยานหลักฐาน เป็นสำนวนคดีอาญา ทั้งสองคดีแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่เกี่ยวกัน
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนที่ทีมทนายความระบุว่า ป.ป.ช.ตัดฐานความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ทิ้ง ให้เหลือแต่ความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เพียงอย่างเดียว เพื่อให้สามารถเอาผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้นั้น คงเป็นความเข้าใจผิดของทีมทนายความ เพราะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่ ป.ป.ช.อ้างถึงเป็นการชี้แจงถึงอำนาจของ ป.ป.ช.ที่ใช้ช่องทางตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ส่งเรื่องให้ สนช.ดำเนินการถอดถอน แต่ ป.ป.ช.ไม่ได้ไปแตะต้องหรือแก้ไขฐานความผิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติไปก่อนหน้านี้
@ 'น้องบิ๊กป้อม'ชี้ถอดถอนลำบาก
พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ กล่าวถึงอำนาจของ สนช.เพื่อพิจารณาเรื่องถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งหลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ คดีโครงการรับจำนำข้าว ว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นสำนวนดังกล่าว ต้องดูว่า ป.ป.ช.ส่งสำนวนมาอย่างไร ส่วนข้อถกเถียงเรื่องอำนาจในการถอดถอนของ สนช.นั้น เป็นที่สิ้นสุดแล้ว นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. วินิจฉัยไปแล้วว่ามีแน่ๆ เพียงแต่ต้องดูที่ฐานความผิดของแต่ละสำนวนว่าอยู่ที่กฎหมายใด ถ้าข้อกล่าวหาผิดตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ก็คงถอดถอนลำบาก เพราะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่หากเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ก็เป็นหน้าที่ของนายพรเพชร ในฐานะประธาน สนช.ว่าจะใช้ดุลพินิจพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างไร และจะบรรจุวาระให้ที่ประชุมพิจารณาหรือไม่
@ กต.แจงสหรัฐยังไม่ตั้งทูตคนใหม่
นายทรงศักดิ์ สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรณีการตั้งข้อสังเกตว่าสหรัฐแสดงความไม่พอใจต่อการยึดอำนาจในไทย ยังไม่แต่งตั้งเอกอัครราชทูตคนใหม่แทนนางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยที่หมดวาระลงเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ยืนยันว่าการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐไม่มีปัญหา แต่การที่ยังไม่มีชื่อเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่เป็นเพราะการเสนอชื่อของสหรัฐมีขั้นตอนภายใน ระหว่างนี้ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองจากเอกอัครราชทูตก็จะทำหน้าที่รักษาการแทนไปก่อน เป็นขั้นตอนปกติ เช่นเดียวกับเมื่อมีการเปลี่ยนเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ หากคนใหม่ยังเดินทางไปรับตำแหน่งไม่ได้ก็ต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกัน
"นางเคนนีย์ดำรงตำแหน่งจนครบวาระและมีการต่ออายุมาแล้วอีก 1 ปี หลังจากฝ่ายบริหารมีรายชื่อของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตแล้วจะต้องส่งให้วุฒิสภาสหรัฐรับรองก่อน เอกอัครราชทูตท่านใหม่จึงจะเดินทางมารับตำแหน่งได้ จึงเป็นเรื่องของขั้นตอนอยู่ระหว่างการพิจารณาเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับประเด็นการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินในไทย" นายทรงศักดิ์กล่าว
@ รบ.แจงทูตคริสตี้หมดวาระปกติ
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีนางคริสตี้หมดวาระตามปกติ จากนี้ไปเป็นกระบวนการของสหรัฐในการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตคนใหม่ เป็นกระบวนการปกติรวมถึงการตั้งในประเทศอื่นๆ ด้วย ช่วงนี้ก็จะมีทูตลำดับที่สองที่มีความอาวุโสดูแลประจำการอยู่ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ยังคงเดิมเป็นไปด้วยดี สำหรับอุปสรรคที่ทำให้การเสนอชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไม่ได้รับการรับรอง จนทำให้สหรัฐไม่มีเอกอัครราชทูตในเกือบ 50 ประเทศ ที่อาจรวมถึงประเทศไทยนั้นคิดว่าเป็นกระบวนการของสหรัฐอเมริกา ทราบมาว่าได้มีตำแหน่งที่รอการแต่งตั้งอยู่ แต่ต้องรอนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดี และรัฐสภาสหรัฐแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ
@ 'คสช.'ยันความสัมพันธ์คงเดิม
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค ผู้ชำนาญการกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษก คสช. กล่าวว่า ทางการไทยคงไม่มีท่าทีใดๆ เพราะกรณีนางคริสตี้หมดวาระไม่ได้เป็นการปรับลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐ อีกทั้งไม่ใช่กรณีการเรียกตัวกลับ หากแต่เป็นช่วงรอกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐคัดเลือกเอกอัครราชทูตให้มาประจำที่ไทย ขอชี้แจงว่าไม่ได้เป็นประเด็นน่าเป็นห่วงเลย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็คงเดิมปกติ เพราะยังคงมีผู้ช่วยทูตประจำการอยู่
"สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลว่ารัฐบาลสหรัฐเกรงว่าการที่ไทยมีรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา และมีการจำกัดสิทธิพลเมืองหลายอย่าง ปกครองประเทศโดยไม่มีกรอบเวลาชัดเจนนั้น ผมคิดว่าทางเราก็ต้องปฏิบัติไปตามโรดแมปที่วางไว้ พัฒนาการต่างๆ ที่เราได้ทำจะเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นเอง ช่วงนี้ท่าทีของนานาชาติก็มีแนวโน้มเข้าใจเรามากขึ้น" พล.ต.วีรชนกล่าว
@ 'นักวิชาการ'เผยเป็นเรื่องภายใน
นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มสธ. กล่าวว่า การย้ายเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเป็นไปตามวาระปกติ อาจเป็นปัญหาการเมืองภายในของสหรัฐอเมริกาเอง เนื่องจากพรรครีพับลิกันไม่ค่อยให้ความเห็นชอบประเด็นต่างๆ ที่เสนอโดยรัฐบาลของนายบารัค โอบามา กรณีนี้ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่กรณีเอกอัครราชทูตสหรัฐที่ประจำประเทศเวียดนามก็ยังไม่มีการแต่งตั้ง หรือประเทศในจุดยุทธศาสตร์อย่างซีเรียก็ไม่มีการแต่งตั้ง ส่วนการมีท่าทีลดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยปกติจะมีการประกาศลดความสัมพันธ์ทางการทูต เรียกทูตกลับเหมือนกรณีประเทศซาอุดีอาระเบียที่ทำมาแล้ว
เมื่อถามว่า หากสถานการณ์ไทยมีปัญหาการเมืองภายในจะส่งผลกระทบและไม่เป็นไปตามโรดแมปที่ คสช.วางไว้ นายยุทธพรกล่าวว่า ถ้าสถานการณ์ไปถึงจุดนั้น เป็นไปได้ที่สหรัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศจะเริ่มออกมาเคลื่อนไหว จะตั้งคำถามต่างๆ มากขึ้น ทว่าวันนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น เพียงแต่นานาชาติจับตาดูมากกว่า
@ 'ปณิธาน'ย้ำไม่มีอะไรผิดปกติ
นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ผิดปกติอะไร เนื่องจากวาระเฉลี่ยการทำงานของทูตแต่ละประเทศ 3-5 ปี จะมีบางประเทศอาจดำรงตำแหน่งเกินกว่านั้น เช่น สิงคโปร์ เพราะมีบุคลากรน้อย สหรัฐจึงส่งทูตไปประจำอยู่เกินกว่า 10 ปี ถือเป็นข้อยกเว้น คิดว่าประธานาธิบดีสหรัฐกำลังให้ความสำคัญกับสถานการณ์การเคลื่อนไหวต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเป็นพิเศษ รวมถึงประเทศไทยก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น จึงต้องมีการตัดสินใจและพิจารณา การจะให้ทูตเข้ามาทำหน้าที่มีปัจจัยหลายอย่างในการคัดเลือกคนที่เหมาะสม ดังนั้นจึงต้องใช้เวลา
นายปณิธาน กล่าวอีกว่า การที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งแต่เป็นส่วนน้อย เขาอาจดูแนวโน้มว่ารัฐบาลใหม่ของไทยจะเป็นไปในทิศทางใด ราบรื่นหรือไม่
"ที่ผ่านมาเรามีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง เขาก็ส่งทูตผู้หญิงมา ที่มองว่าอาจทำงานร่วมกันแล้วราบรื่น ดังนั้น ทูตคนใหม่ที่จะส่งมาอาจต้องใช้เวลา ถือว่าเป็นหลักสากลของทุกประเทศที่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอกอัครราชทูตให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ เวลาประเทศไทยส่งทูตไปประเทศอื่นๆ เรายังมองว่าใครจะเหมาะสมกับการเป็นทูตในประเทศไหนเช่นกัน" นายปณิธานกล่าว
@ 'ปชป.'จี้รัฐเร่งสร้างผลงาน
นายนริศ ขำนุรักษ์ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายเร่งให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงทำผลงานเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนคนไทยว่า ในฐานะที่เคยทำงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มา เห็นว่างานในกระทรวงนี้ต่างจากกระทรวงอื่น จะต้องไปแก้ไขปัญหาในอดีตให้เสร็จสิ้นก่อน จึงเห็นว่าระยะเวลาที่จำกัดภายใน 3 เดือน คงเป็นไปได้ยาก ส่วนกรณีรัฐบาลประกาศเดินหน้าแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินและป่าไม้นั้น ต้องสะสางสำรวจทำแผนที่ตามโครงการจัดทำให้เป็นมาตราส่วนเดียวกัน ซึ่งใช้เงินไปกว่า 2,000 ล้านบาทแล้ว แต่กลับไม่สามารถนำมาใช้งานได้ ต้องไปแก้ไขเรื่องแผนที่ให้ชัดเจนก่อน หรือการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในอุทยานฯ ก็ต้องไปตรวจสอบการใช้จ่ายเงินทั้งงบปกติและเงินรายได้ของอุทยานฯที่ผ่านมาด้วย ทั้งนี้หากรัฐบาลจะเดินหน้าสร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิรูปการโยกย้ายแต่งตั้งที่มีการซื้อขายตำแหน่งต่อเนื่องในอดีต ต้องตรวจสอบหลายเรื่อง ก่อนที่จะเดินหน้าจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้