- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 11 October 2014 18:02
- Hits: 3654
มะกันย้ายทูตคริสตี้กลับ ไม่ตั้งแทน ห่วงฉุดสัมพันธ์ 2 ประเทศ จัด 4 เวทีรับสปช.อกหัก 7 พันคนช่วยคิดปฏิรูป ฟัน'ปู'คดีข้าวยังไม่ยุติ
'บิ๊กตู่'เตรียมดึง 7 พันคนที่พลาดหวัง สปช.มาช่วยงานวงนอก 3-4 เวที ลั่นคนเป็นทหารไม่ใช่ต้องจนเหมือนกันทุกคน สั่งแก้เกณฑ์ห้ามที่ปรึกษา-เลขาฯ-ผู้ช่วย รมต.มีผลประโยชน์ทับซ้อน
"บิ๊กตู่"ตั้ง 4 เวทีช่วยนอกวงสปช.
เมื่อเวลา 20.15 น. วันที่ 10 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตั้งมาแล้ว ยินดีกับผู้ที่ได้รับการคัดสรร ใครที่ไม่รับการคัดสรรก็จะพยายามหาหนทางให้เข้ามาร่วมในการปฏิรูป โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กำลังไปดูว่าจะทำอย่างไรให้มีส่วนร่วม จะได้ไม่มีคำกล่าวว่านำเฉพาะข้าราชการมา นำเฉพาะทหารมา "ผมไม่มีพวกใครทั้งนั้น มองประเทศชาติเป็นหลัก แต่การคัดสรรก็เป็นขั้นตอนของเขามาอยู่แล้ว ใครไม่มาแต่พูดข้างนอก นี่ไม่เป็นธรรมกับผม สมัครซิครับ ท่านไม่สมัคร เพราะฉะนั้นท่านไม่สมัครก็อย่าพูด
แต่ถ้าท่านอยากจะช่วยเราไปช่วยข้างนอก ผมจะตั้งอีกประมาณ 3-4 เวที ทั้งหมดรวมกันประมาณ 5 เวที เพื่อให้คนทั้ง 6-7 พันคนมีส่วนร่วมทั้ง 5 เวทีนี้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ย้ำไม่ชี้นำสปช.แค่ให้โจทย์
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า บางคนก็อยากจะเป็น สปช. ถือว่าอยู่ใน 7,000 กว่าคน ได้รับเกียรติจากตน จากคนในชาติ เพราะสมัครเข้ามา ไม่สมัครแล้วอย่าพูดอย่างเดียว ประเทศวันนี้ต้องการความรู้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เดี๋ยวจะกลายเป็นว่ารัฐคิดเอง ประชาชนไม่รู้เรื่อง ประชาชนไม่เห็นชอบ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น สปช.ต้องไปตั้งหลักในการดำเนินการ เขาเตรียมการมาแล้วระยะที่ 1 ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพราะฉะนั้นข้อมูล 11 เรื่องนี้เขาย่อยไว้หมดแล้ว ฟังทุกภาคส่วนจากทุกกลุ่มทุกฝ่าย ประชุมตั้ง 700-800 ครั้งมาแล้ว สรุปเป็น 11 เล่ม 11 เรื่อง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ใน 11 เรื่องแต่ละเรื่องเขาก็จะมีหัวข้อแล้วเลือกตั้งมีวิธีการ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า การเข้าสู่กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร การใช้งบประมาณอย่างไร การควบคุมทุจริตเขาเขียนไว้แบบนี้ แต่มีวิธีการหลายวิธีการ นำเรื่องนี้ไปพิจารณา เป็นแนวทาง หากจะเพิ่มเติมตรงไหน จะแก้ไขตรงไหนไม่เห็นด้วยก็ไปสู้กันในปฏิรูปนั่น ไม่ใช่คนเหล่านี้จะมีความรู้หรือเปล่า เข้ามาทำได้ไหม ยังไม่เริ่มทำเลยและไม่เคยฟังว่าเขาเตรียมอะไรกันไปอย่างไร ได้คิดมาหมดแล้วถูกผิดก็ไม่รู้ ไปลองดูก่อน ตนว่าไม่น่าจะมีอะไรที่ใช้ความรู้พิเศษไปมากกว่านี้แล้ว เตรียมข้อมูลให้ไม่มีใครชี้นำ ไม่มีคำตอบ มีแต่โจทย์มาให้ แล้วไปแปรญัตติกันเอง
แจงทหารไม่ใช่จนทั้งหมด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องการรับตำแหน่งข้าราชการการเมือง ได้ออกคำสั่งไปแล้วว่าไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำหน้าที่ ถ้าเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขาฯรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี หรือกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ จะต้องไม่มีทับซ้อนในเชิงผลประโยชน์ แก้ไขหลักเกณฑ์ไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น สร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน วันนี้รัฐมนตรีทุกคนเขาลาออกหมดทุกอย่างแล้ว และพร้อมชี้แจงทรัพย์สิน มีที่มาที่ไปกันหมด จะมีมากมีน้อยก็ไปว่ากันเอาเอง สงสัยก็ไปตรวจสอบมา
"ผมว่าอย่าพูดด้วยอารมณ์อย่าตัดสินคนด้วยความรู้สึก ให้ความเป็นธรรมกับเขาบ้าง ติทุกเรื่องทุกอย่างคงจะไม่ได้ คนทุกคนจนเท่าเทียมกันก็ไม่ได้ จะรวยเท่าเทียมก็ไม่ได้ บางคนบอกว่าข้าราชการทำไมรวย ก็เขาชาติตระกูลไม่เหมือนกัน ก็ไปดูว่าเขามีมรดกพกห่อกันมาหรือเปล่า เขาโกงใครมาหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าพอเป็นทหารต้องจนเหมือนกันหมด หรือเป็นข้าราชการต้องจนเท่ากันหมด นำเงินเดือนมาคูณ 12 เดือนเท่านี้ เพราะฉะนั้นเกษียณแล้วมีเงินเท่านี้ ผมว่าไม่เป็นธรรม" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ยันไม่เคยพูดยุบ"อบจ.-อบต."
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องข่าวลือในสื่อ อย่าไปเชื่อมากนัก การยุบองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีที่ไหนใครไปยุบ ตนยังไม่ได้พูดอะไรซักคำ เพราะฉะนั้นไปลงว่า คสช.จะยุบ จะไปหาเรื่องทำไม การปฏิรูปเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นก็ไปว่ากันมาจะเอาแบบไหน อย่าเพิ่งไปลือกันเสียหาย มีแต่โจทย์ยังไม่มีวิธีการเลย ข้อยุติก็ยังไม่มีจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ยุติตัวเองไว้ก่อน อย่ามีอัตตา
"มีผู้พยายามก่อความวุ่นวาย พูดจาสร้างความขัดแย้ง ไม่เข้าใจ หรือแสร้งไม่เข้าใจให้กับประชาชน ขอให้ทุกคนมีสติ ฟังแล้วมีเหตุมีผลด้วย เรื่องการละเมิดมาตรา 112 อย่านำสถาบันลงมา เมื่อมี 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็เอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างก็หาเครื่องมือมาต่อสู้กัน ฝ่ายหนึ่งอาจจะใช้เงิน ใช้งบประมาณ หรือใช้การโฆษณาชวนเชื่อหรืออะไรก็แล้วแต่ อีกฝ่ายก็นำสถาบันมาสู้ ก็เลยทำให้ท่านต้องลงมา ณ วันนี้มีการยุยงปลุกปั่น ทางโซเชียลมีเดีย ทางสื่อให้ลุกมาต่อต้าน คสช. ต่อต้านรัฐบาล ผมไม่ได้เกรงตรงนี้ แต่ผมเกรงประชาชนจะเดือดร้อน อย่าไปเชื่อเขา คนยุอยู่หรือเปล่า อยู่ในประเทศหรือเปล่า อยู่ต่างประเทศหมด ถึงเวลามาก็ถูกจับถูกดำเนินคดี ถ้าเกิดมีเจ็บ มีตาย ถูกจับกุม มีการต่อสู้กัน ก็กลับมาวงจรเดิม" นายกฯกล่าว
แจงพูดยาวเพื่ออธิบายทุกเม็ด
ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการพูดในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ที่นานเกิน 1 ชั่วโมง ว่าพูดจนเจ็บคอจะตาย นึกว่าอยากพูดหรือ แต่ที่พูดเพราะต้องสร้างความเข้าใจ ถ้าไม่พูดกับประชาชน วันนี้ยังมีคนส่วนหนึ่งที่ไม่เข้าใจ จึงยอมเสียส่วนหนึ่งเพื่อได้ส่วนหนึ่ง คนหนึ่งฟังตน อีกคนไม่ฟัง พูดอย่างไรก็ไม่ฟัง แม้พูด 5 นาที หรือ 10 นาทีก็ไม่ฟัง แต่อีกคนเขาพร้อมจะฟัง ต้องการคนที่ฟังเพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่พูดไปว่าใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ให้เขาไปอธิบายคนที่ไม่ฟังดูบ้าง นั่นแหละสิ่งที่ต้องการมีแค่นั้น
"ถ้าไม่ตั้งใจเข้ามาทำงานในระดับนี้จะพูดทำไม ทั้งนี้ ไม่ต้องพูดแต่นั่งเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ใช้แต่อำนาจก็ได้ แต่ที่ต้องอธิบายทุกวันเพื่อสร้างความเข้าใจ ไม่อยากให้ทะเลาะเบาะแว้งกัน อธิบายชัดทุกเม็ดแล้วบอกผมพูดมาก ถ้าไม่พูดแล้วใครจะพูด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า คสช.ห้าม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร อดีตนายกฯไปเป็นประธานพิธีไหลเรือไฟที่ จ.หนองคาย เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่าจะไปห้ามเขาเรื่องอะไร ทางรัฐบาลยังไม่ทราบเลยว่าเขาไปเป็นประธานงานอะไร งานดังกล่าวก็มีทุกปี ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นประธาน ไม่ทราบ จะไปห้ามได้อย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นประชาชน เพียงแค่ว่าหากจะเดินทางไปต่างประเทศก็ให้ขออนุญาตมา
มท.1 เผยดึงคนวืดสปช.นั่งกมธ.
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายกฯมีความคิดที่จะนำบุคคลที่พลาดการคัดเลือกเป็น สปช. มาร่วมปฏิรูปหลายส่วนด้วยกัน ส่วนหนึ่งจะนำมาเป็นผู้ช่วย สปช.โดยตรง อีกส่วนหนึ่งอาจจะเข้าเป็นคณะกรรมาธิการต่างๆ ซึ่งมีอยู่ 11 คณะ นอกจากนี้ อาจจะหาวิธีการอย่างไรเพื่อนำมารวมกันเป็นกลุ่ม จะได้นำความคิดเหล่านั้นมาให้ สปช.ใช้ในการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม ต้องรอนายกฯสั่งการให้แน่ชัดก่อน
กกต.ส่งชื่อคนวืดสปช.ให้คสช.
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า วันเดียวกันนี้ ตนลงนามในหนังสือส่งถึงประธานคณะกรรมการปรองดองและการปฏิรูป ของ คสช. เพื่อนำส่งรายชื่อและข้อมูลประวัติของผู้ที่เข้ารับการเสนอชื่อเป็นสมาชิก สปช.ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 7,120 คน แบ่งเป็นเสนอชื่อเข้าสรรหาตามความเชี่ยวชาญ 11 ด้าน จำนวน 4,412 คน ส่วนจังหวัด 77 จังหวัด จำนวน 2,708 คน ตามที่ คสช.มีหนังสือแจ้งขอให้รวบรวมส่งเป็นการด่วนเพื่อนำไปพิจารณาว่าบุคคลเหล่านี้จะสามารถเข้ามาช่วยทำงานควบคู่ในเรื่องของการปฏิรูปได้อย่างไร
"บวรศักดิ์"ชูความเป็นธรรม
ที่อาคารรัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการรายงานตัวของสมาชิก สปช.วันที่สาม โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สปช.ด้านการเมือง รายงานตัวเป็นคนแรก จากนั้นสมาชิก สปช.คนอื่นๆ ทยอยรายงานตัว
นายบวรศักดิ์กล่าวถึงกรณีที่มีชื่อเป็นแคนดิเดตประธาน สปช. ว่า ถ้าจะได้รับเลือกก็ต้องแล้วแต่สมาชิกที่จะเห็นสมควร แต่ใน สปช.มีผู้ที่อาวุโสน่าเคารพนับถืออยู่หลายคน ส่วนตัวนั้นมีชื่อประธาน สปช.อยู่ในใจแล้ว สปช.เกิดขึ้นบนความหวังของคนทั้งประเทศ ฉะนั้นต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องเวลา หากสมาชิกหาข้อสรุปในการทำงานให้ไปในทิศทางเดียวกันได้ โดยเชื่อมโยงและสังเคราะห์ความคิดเห็นของคนกลุ่มต่างๆ การปฏิรูปก็จะออกมาดี ที่สำคัญคือเรื่องความเป็นธรรมที่จะต้องเกิดขึ้นในสังคมซึ่งเป็นหัวข้อใหญ่ในสภาปฏิรูป จากนั้นต้องดูเรื่องโครงสร้างอำนาจรัฐ การปฏิรูปการเมืองและระบบราชการที่ต้องทำให้สอดคล้องกับการจัดสรรกระบวนทัศน์ในระบบ ซึ่งงานของสถาบันพระปกเกล้าที่ทำไว้ สปช.สามารถนำงานวิจัยในเรื่องการปฏิรูปมาใช้สังเคราะห์ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์
ชี้ทำประชามติต้องแก้รธน.
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนที่มีชื่อจะร่วมเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อถึงเวลาจะพูด แต่ถ้าได้รับเลือกจาก คสช. ต้องมาพูดคุยกันอีกครั้งว่าความหวังของตนกับ คสช.ตรงกันหรือไม่ ถ้าความหวังไม่ตรงกันก็คงไปกันไม่ได้ แต่ถ้าตรงกับความคิดของตนก็รับได้
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า หาก สปช.ไม่สามารถทำงานไม่เสร็จตามกำหนด ไม่เห็นด้วยที่จะขยายเวลาการทำงานออกไป รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างไรเราก็ต้องทำตามอย่างนั้น ส่วนเรื่องการทำประชามติต้องมาคุยกันตอนที่รัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้วว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ไม่มีเขียนว่าให้ทำประชามติ ฉะนั้นหากจะทำประชามติ จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน
"เอกชัย"ให้ปธ.สปช.ควบกมธ.
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สมาชิก สปช. ให้สัมภาษณ์หลังเข้ารายงานตัวว่า ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ประธาน สปช.นั้น ยังไม่มีในใจ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มองว่าประธานและรองประธาน สปช. มีหน้าที่หนึ่งที่สำคัญคือ ต้องเป็นประธานและคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้นจึงต้องมีความเชี่ยวชาญ เป็นกลาง ไม่มีอคติกับใคร และพร้อมรับฟังทุกคน ซึ่งมีสมาชิก สปช.หลายคนมีคุณสมบัติเหล่านี้ ส่วนรัฐธรรมนูญใหม่นั้นต้องทำประชามติหรือไม่ เห็นว่า ถ้าไม่ทำประชามติก็ควรเปิดเป็นเวทีเพื่อสะท้อนสิ่งที่เราจะเขียนลงไปเพื่อให้ประชาชนทราบ อาจจะดีกว่าทำประชามติก็ได้ เพราะข้อท้วงติงและข้อห่วงใยต่างๆ เราสามารถรับมาแก้ไขได้ นี่คือความปรองดองตามที่ คสช.ต้องการ
เล็งสปช.คู่ขนานสภาสกัดแก้รธน.
เมื่อถามว่า หากเปิดเวทีขึ้นจะไม่ทันกับกรอบเวลาที่กำหนดไว้ 1 ปีหรือไม่ พล.อ.เอกชัยกล่าวว่า กรอบเวลากำหนดไว้ที่ 1 ปีอยู่แล้ว หากทำออกมาแล้วไม่ได้รับการยอมรับ สปช.ก็ต้องออกไปทั้งหมด และให้ สปช.ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการแทน โดยระยะเวลาดังกล่าวคงจะได้เพียงแค่รูปแบบและตัวหนังสือของรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่จะยังไม่ได้รูปแบบของความปรองดองอย่างแท้จริง
"รัฐธรรมนูญใหม่อาจจะเขียนบรรจุไว้เลยก็ได้ว่า หลังจากนี้ไปอาจให้มี สปช.คู่ขนานไปกับสภาฯปกติ เพื่อจะแก้ไขรัฐธรรมนูญยากขึ้น ถ้าไม่ผ่าน สปช.ก็จะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ตรงนี้เห็นว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญใหม่คงทนมากขึ้น เพื่อไม่ให้ใครก็ตามมาล้มรัฐธรรมนูญได้ง่ายๆ
โดยจะเขียนไว้ระหว่างขั้นตอนการเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อ คณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการประชุม สปช.ครั้งแรก" นายเอกชัยกล่าว
"จ้อน"ขออย่าล็อกสเปก"ปธ.-รอง"
นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช.ด้านพลังงาน กล่าวถึงการคัดเลือกประธานและรองประธาน สปช.ว่า ผู้ที่จะมาทำหน้าที่รองประธาน สปช. 2 คนนั้น คนที่ 1 ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน เพราะ สปช.ต้องร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนคนที่ 2 ต้องเป็นนักบริหาร มีความรอบรู้ทุกด้าน เพื่อช่วยเหลือประธาน สปช.ในการจัดทำพิมพ์เขียวประเทศไทย หากเป็นเช่นนี้จะทำให้เกิดความครอบคลุมตามภารกิจของ สปช.มากขึ้น
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ สมาชิก สปช. จะได้เป็นประธาน สปช. และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กับ น.ส.ทัศนา บุญทอง สมาชิก สปช. จะได้เป็นรองประธาน สปช.นั้น ตนเห็นว่า อย่าเพิ่งกีดกันและปิดกั้นคนอื่นๆ ด้วย 2-3 ชื่อนี้เท่านั้น เพราะใน สปช. 250 คน มีมากกว่า 10 คน ที่มีความเหมาะสมจะดำรงตำแหน่งประธานและรองประธาน สปช. อยากให้เปิดกว้าง โปร่งใสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติ มีความรู้ความสามารถได้แสดงตัว ไม่อยากให้ล็อกสเปก ไม่อยากให้ซ้ำรอยการสรรหา สปช. ไม่เช่นนั้นจะปฏิรูปได้อย่างไร
สปช.กลุ่ม 40 ส.ว.นัดถกทำงาน
นายวันชัย สอนศิริ สปช. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า ใน 2-3 วันนี้ ทราบว่าจะมีการพูดคุยกันของอดีต ส.ว.และกลุ่มคนที่มีแนวความคิดเดียวกันประมาณ 40-50 คน เพื่อหารือถึงแนวทางและกรอบการทำงานของ สปช. เพื่อให้เป็นเอกภาพ ทั้งนี้ คงจะไม่เสนอตัวไปร่วมเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ขอทำหน้าที่ สปช.อย่างเต็มที่
นายจรัส สุวรรณมาลา สปช.ด้านปกครองท้องถิ่น กล่าวหลังเข้ารายงานตัว ว่า จากการศึกษายังพบว่า มีองค์กรส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กๆ ไม่สามารถทำทุกเรื่องที่รัฐบาลใส่ลงไปได้ ต้องจัดการแบ่งอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นใหม่ การปฏิรูปต้องคิดถึงการจัดโครงสร้างอำนาจรัฐ ทำอย่างไรจะบริหารเมืองและพื้นที่การเกษตรอยู่ร่วมกันได้ การปกครองท้องถิ่นในอนาคตต้องเป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็น คือการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น ถ้าคิดจะปฏิรูปเดินไปสู่การแต่งตั้งไม่ใช่การพัฒนา การปฏิรูปเป็นการจัดโครงสร้างและทิศทางจะทำให้เสร็จภายในปีเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เวลาเนื่องจากมีการแก้ไขกฎหมาย
บิ๊กอ๊อดชูปฏิรูปกีฬา-ปรองดอง
เมื่อเวลา 15.15 น. ที่รัฐสภา พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็น สปช.ด้านอื่นๆ กล่าวภายหลังรายงานตัวเป็นสมาชิก สปช. ว่า ส่วนตัวมีแนวคิดที่จะขอร่วมปฏิรูป 2 เรื่อง คือ 1.ด้านกีฬาที่ยังมีปัญหา เนื่องจากคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ส่งให้ตนเข้ารับการสรรหาให้เป็น สปช. และ 2.เรื่องการปรองดอง เบื้องต้นศึกษาแนวคิดแก้ไขปัญหากับ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สมาชิก สปช.ด้านอื่นๆ ในฐานะผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้ามาบ้างแล้ว
พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า การเข้ามาของนายทหารครั้งนี้มุ่งหวังที่จะทำเรื่องปรองดอง ดังนั้นหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดโอกาสให้ตนเข้าไปร่วม ไม่ว่าจะเป็นคณะทำงานด้านความปรองดองที่ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมีพล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ร่วมทำงาน ซึ่งบุคคลทั้งสองตนมีความสนิทสนม
ดังนั้นตนจึงขอปวารณาตัวทำงานเรื่องการสร้างความปรองดอง และเชื่อว่าหากตนได้ทำจะเกิดประโยชน์ให้กับกองทัพและรัฐธรรมนูญอย่างมาก
คลอดรายชื่อวิปสนช.28คน
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธาน โดยที่ประชุมรับรองตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำ สนช.16 คณะ จากนั้นตั้ง กมธ.วิสามัญประจำ สนช.หรือ วิป สนช.โดยมีประธาน สนช.กับ รองประธาน สนช. 2 คน นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนัก
นายกฯ เป็น กมธ.โดยตำแหน่ง นอกจากนั้นมีผู้แทนจาก กมธ.สามัญประจำ สนช.16 คน รวมกับสมาชิกจากที่ประชุมเลือก 7 คน ประกอบด้วย พล.อ.นพดล อินทปัญญา นายยุทธนา ทัพเจริญ พล.อ.ศิริชัย
ดิษฐกุล นายสมชาย แสวงการ นางสุวิมล ภูมิสิงหราช พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ พล.อ.อ.อิทธพรศุภวงศ์ รวมแล้วไม่เกิน 28 คน ตามข้อบังคับ
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมาธิการกิจการ สนช.หรือ วิป สนช.ถาวร ครั้งแรก มีวาระการพิจารณาจัดสรรตำแหน่งต่างๆ ในวิป สนช.นอกจากนี้ยังมีวาระแจ้งที่ประชุมโดยรัฐบาลจะตั้งวิปรัฐบาลขึ้นมา โดยให้สัดส่วน สนช.จำนวน 17 คน ซึ่ง วิป สนช.จะคัดเลือกสมาชิก โดยเปิดให้สมาชิกสมัครได้ แต่ต้องไม่เป็น วิป สนช. ยกเว้นตำแหน่งประธาน สนช. กับรองประธาน สนช.ทั้ง 2 คน ที่เป็นวิปรัฐบาลโดยตำแหน่ง โดยจะคัดเลือกในการประชุมวิป สนช.ครั้งต่อไปวันที่ 14 ตุลาคมนี้
รายงานข่าวแจ้งว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. จะสละสิทธิเป็นวิปรัฐบาล โดยให้รองประธาน สนช.ทำหน้าที่แทน
ปปช.-อสส.ยังไม่ยุติคดีข้าว"ปู"
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด (อสส.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานร่วมฝ่าย อสส. และคณะทำงานรวม 10 คนร่วมประชุมกับคณะทำงานร่วมฝ่าย ป.ป.ช.ที่มีนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นหัวหน้าคณะ ในคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯถูกกล่าวหากรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ส่งสำนวนคดีอาญาให้ อสส.พิจารณา แต่ อสส.พบว่ายังมีข้อไม่สมบูรณ์ จึงตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่ายขึ้นมาพิจารณาสำนวนให้สมบูรณ์ก่อนส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ต่อมา นายวุฒิพงศ์ กล่าวภายหลังประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง ว่า จากการหารือข้อไม่สมบูรณ์หลายด้าน ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยฝ่ายมีความเห็นตรงกันเพียง 1-2 ข้อเท่านั้นจาก 4 ข้อที่ อสส. เคยเสนอมา โดยประเด็นที่เหลือยังต้องพูดคุยกันในรายละเอียด ส่วนมีประเด็นใดบ้างนั้น ขอไม่เปิดเผย
เล็งสอบพยานเพิ่มที่"ปู"ขอ
นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า ทาง ป.ป.ช.ขอไปพิจารณารายละเอียดในบางประเด็นอีกครั้ง และจะให้ความเห็นกลับมา ทั้งนี้ ประเด็นข้อไม่สมบูรณ์ยังคงเดิมตามที่ อสส.ส่งหนังสือมา เพียงแต่ต้องลงลึกในแต่ละข้อ เพราะยังมีรายละเอียดอีกเยอะ อย่างไรก็ตาม คณะทำงานร่วมพยายามพูดคุยกันให้ได้ข้อยุติเพื่อประโยชน์ของคดี โดยทาง อสส.เองก็ต้องการให้คดีมีความสมบูรณ์ทุกอย่างเพื่อจะนำไปฟ้องแล้วศาลสามารถลงโทษได้
เมื่อถามว่า จะมีการสอบพยานเพิ่มเติมหรือไม่ นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า หากจะสอบพยานเพิ่ม ก็ต้องดำเนินการร่วมกัน โดยจะให้มีการสอบพยานเพิ่มอีกหลายคนด้วยกัน ซึ่งพยานบางส่วนที่จะให้สอบเพิ่มก็เคยเป็นพยานที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยร้องขอให้ ป.ป.ช.สอบมาก่อนแล้ว ทั้งนี้ มีบางประเด็นที่อาจใช้พยานคนเดิม เพียงแต่ต้องการสอบรายละเอียดให้ได้มากยิ่งขึ้น เรื่องการสอบพยานเพิ่มเป็นเรื่องที่ อสส.ขอเพิ่ม แต่ยังไม่ได้มีการคุยกับฝ่าย ป.ป.ช.ในประเด็นนี้
ปัดถ่วงคดี-นัดถกอีก7พ.ย.
นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า เชื่อว่าเมื่อ ป.ป.ช.รับฟังความคิดเห็นของ อสส.แล้ว คงจะนำไปพิจารณาและดูว่าข้อไหนที่ตกลงกันได้ ข้อไหนที่จะต้องกลับมาพูดคุยกันอีก โดยนัดหมายหารือกันอีกครั้งวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ อาจจะได้ข้อสรุปหรืออาจจะไม่จบก็ได้ เพราะอาจมีประเด็นที่จะต้องหารือกันเพิ่มเติม
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า อสส.ต้องการถ่วงเวลาคดี นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่ได้ถ่วงเวลา เพราะ อสส.อยากให้จบโดยเร็ว เพราะมีงานอื่นอีกมาก ไม่ใช่มีเรื่องนี้เรื่องเดียว ไม่มีถ่วงเวลา ทุกคนทำคดีก็ต้องการให้เสร็จ เพราะยิ่งช้า เดี๋ยวจะลืม
เมื่อถามว่า ข้อสงสัยของ อสส.กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีอำนาจยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ขอตอบ เพราะถ้าตอบอะไรไป จะเป็นประเด็นทันที ตรงนั้นเป็นประเด็นของคดี จึงไม่ขอตอบ แต่ไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียวที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ยังมีอีกหลายข้อที่จะต้องพิจารณา
ยันไม่ถึงขั้นป.ป.ช.ฟ้องเอง
เมื่อถามว่า ป.ป.ช.ระบุว่าทำสำนวนสมบูรณ์ที่สุดแล้ว นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า ที่ว่า ป.ป.ช.ทำสำนวนสมบูรณ์ที่สุดแล้วนั้นก็เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนถึงขั้นที่ ป.ป.ช.จะฟ้องเองหรือไม่ ก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น ตอนนี้อยู่ในขั้นรวบรวมพยานหลักฐาน คุยความเห็นที่ไม่ตรงกัน หากข้อใดยังเห็นว่าไม่สมบูรณ์ก็ต้องคุยกันก่อน
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงผลการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับ อสส. กรณีพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนกรณีโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่ายังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากยังตกลงในข้อไม่สมบูรณ์ของคดียังไม่แล้วเสร็จ จึงนัดหารือกันอีกครั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ การประชุมครั้งนี้จึงหารือกันได้เพียงไม่กี่ประเด็นเท่านั้น
นายสรรเสริญกล่าวว่า ส่วนที่ทาง อสส.ขอให้มีการไต่สวนพยานเพิ่มเติมนั้น เป็นการที่เสนอจากที่ ป.ป.ช.ไต่สวนพยานแล้ว เนื่องจากเห็นว่าควรแสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานเพิ่มเติม เพื่อให้ข้อเท็จจริงมีความชัดเจนขึ้น แต่ประเด็นดังกล่าวยังพูดคุยกันไม่ลงตัว คงต้องหารือกันอีก ซึ่งทาง อสส.ขอให้ไต่สวนพยานเพิ่มพอสมควร เรื่องดังกล่าวยังไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้ ต้องพูดคุยในภาพรวมต่อไป
ทนาย"ปู"ยกคำสั่งคสช.63
นายพิชิต ชื่นบาน ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) และที่ปรึกษากฎหมายทีมทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คดีโครงการรับจำนำข้าว กล่าวว่า ทำไม ป.ป.ช.ต้องเร่งรีบรวบรัดส่งเรื่อง วันนี้ อสส.ชี้ว่าสำนวนของ ป.ป.ช.มีข้อไม่สำบูรณ์ถึง 3 ประเด็น แต่ ป.ป.ช.แยกการถอดถอนออกไปให้ สนช. เมื่อเหตุในการถอดถอนยังไม่สมบูรณ์ แล้วผลมันจะสมบูรณ์ได้อย่างไร และเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 แต่เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 ป.ป.ช.กลับไม่กล่าวถึงมูลเหตุให้ถูกถอดถอนตามมาตรา 178 อีก กลับอ้างกฎหมายลูกคือ พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ทำไมต้องทิ้งประเด็นเดิม หรือเพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกแล้ว นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ไม่มีบทบัญญัติเรื่องนี้
"การต่อสู้คดีเราแยกเป็น 2 ส่วน คือส่วนกระบวน เราเห็นว่าอำนาจการพิจารณาถอดถอนไม่มี ส่วนเนื้อหา เราจะชี้แจงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้กระทำผิด ไม่ได้จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ไม่ได้ละเว้นหรือปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต เราเตรียมพร้อมไว้แล้ว เราเสียใจอย่างเดียวคือการอำนวยความยุติธรรม เราก็ค่อนข้างหนักใจต่อกระบวนการยุติธรรมที่เปลี่ยนผ่านในเวลานี้ เราไม่ได้คิดจะหลีกเลี่ยงการถูกถอดถอนให้
น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่การปฏิบัติควรดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เราจึงคิดว่าคำสั่งที่ 63/2557 ของ คสช. ที่บอกว่า การปฏิบัติหน้าที่ทุกองค์กรให้คำนึงถึงหลักนิติธรรม ทีมทนายคิดว่าที่เขียนคำสั่งที่ 63 นี้ เขียนให้ดูดี หรือเขียนให้เอาจริง" นายพิชิตกล่าว
"สมชาย"เชื่อสนช.ถอด"ปู"ได้
ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช. มีมติให้ส่งสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีโครงการรับจำนำข้าวให้ สนช.พิจารณาว่า ป.ป.ช.ยังไม่ได้ส่งสำนวนมา ต้องรอสำนวนก่อน ส่วนจะพิจารณาถอนถอด น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เมื่อใดนั้น คงไม่สามารถตอบได้ แต่ สนช.มีกรอบระยะเวลากำหนดไว้ภายใน 30 วัน นับจากที่ ป.ป.ช.ส่งสำนวนมาถึง
นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ในฐานะเลขานุการ วิป สนช. กล่าวว่า เมื่อ ป.ป.ช.ส่งเรื่องถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาให้แล้ว จะเป็นหน้าที่ของประธาน สนช.ที่ต้องนำเรื่องบรรจุเป็นระเบียบวาระเพื่อเรียกประชุม สนช.ภายใน 30 วัน ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สนช.น่าจะดำเนินการถอดถอนตามกระบวนการได้ เพราะ ป.ป.ช.แจ้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
"สมชัย"ชี้ท้องถิ่นซื้อเสียงมากสุด
ที่สถาบันพระปกเกล้า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งบรรยายพิเศษหัวข้อ "การเลือกตั้งในบริบทของท้องถิ่น" แก่นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายท้องถิ่น รุ่น 5 ตอนหนึ่งว่า ต้องถามประชาชนในพื้นที่โดยตรงว่าอยากได้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการแต่งตั้ง เชื่อว่าคำตอบของประชาชนคงอยากได้มาจากการเลือกตั้งมากกว่าการแต่งตั้งแน่นอน แม้หลายคนจะมองว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นมีการซื้อเสียงมากสุดก็ตาม
นายสมชัย กล่าวว่า เป็น กกต.มา 10 เดือน พบสำนวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 400 สำนวน เมื่อเทียบแล้วจะเห็นว่า ส.ว.จ่ายเงินซื้อเสียงน้อยสุด เพียงแค่หลักสิบประมาณ 20-40 บาทเท่านั้น ส่วน ส.ส.หลักร้อยประมาณ 200-500 บาท แต่สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นระดับหลักพัน ประมาณ 1,000-3,000 บาท เวลาจ่ายเงินจะจ่ายตามหัวที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน กลายเป็นวิธีการปฏิบัติของชาวบ้านว่าแม้จะไปทำงานที่อื่นหรือพักที่กรุงเทพฯก็ตาม แต่ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ดังนั้น จะเห็นภาพเวลาเลือกตั้งจะมีการขนคนจาก กทม.กลับมาท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง
ไม่เลือกตั้งชี้เดินหลงทาง
"เมื่อการซื้อเสียงรุนแรง ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต สังคมไทยจึงเอาปรากฏการณ์การซื้อเสียงขึ้นมาเป็นตัวตั้งว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ควรมีการเลือกตั้ง ผมมองว่าเป็นการหลงทาง ควรคงการเลือกตั้งไว้เช่นเดิม แต่ควรหาวิธีการป้องกันการซื้อเสียงและทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไรนั้นค่อยว่ากันอีกครั้ง" นายสมชัยกล่าว
"หลายคนตั้งคำถามว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะหายไปหรือไม่ ขณะนี้ยังให้คำตอบไม่ได้ แต่ยืนยันว่าสำนักงาน กกต.ไม่หาย เพราะองค์กรที่ควบคุมดูแลการเลือกตั้งไม่หายแน่นอน แต่ กกต. 5 คนหายไม่หายไม่รู้ แต่คิดว่าไม่มีทางได้กำไร มีแต่เท่าทุนและขาดทุน หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในส่วนของบทเฉพาะกาลเขียนว่าให้ กกต.ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระ นี่คือเท่าทุน ส่วนขาดทุน คือหากบทเฉพาะกาลเขียนให้ดำรงตำแหน่งต่อไปแค่ครึ่งวาระ แต่ถ้าล่มจมที่สุดคือให้สรรหา กกต.ชุดใหม่" นายสมชัยกล่าว