- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 11 October 2014 10:03
- Hits: 3881
วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8718 ข่าวสดรายวัน
อัยการ-ปปช.ถกข้าวปู งัดกันอีก'บวรศักดิ์-ทัศนา'แบะ พร้อมนั่งรองปธ.สปช.
มหาเจดีย์ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และภริยา เข้าสักการะพระมหาเจดีย์ชเว ดากอง ที่กรุงย่างกุ้ง ระหว่างเยือนประเทศเมียนมาร์ อย่างเป็นทางการ เมื่อ 10 ต.ค. |
อัยการ-ป.ป.ช.ถกสำนวนคดีฟ้องยิ่งลักษณ์อีก แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ พร้อมนัดใหม่อีกวันที่ 7 พ.ย. เผยงัดกันหนักประเด็นอัยการให้สอบพยานเพิ่ม แต่ป.ป.ช.ไม่ยอม ด้านทนายความซัดป.ป.ช.ชงยื่นถอดถอนไม่มีอำนาจ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกฉีกไปแล้ว "บิ๊กตู่" ออกทีวีสั่งเข้มเงินช่วยชาวนาไร่ละพันต้องถึงมือทุกบาททุกสตางค์ ฮึ่มเจ้าของที่นาให้เช่าอย่าขอส่วนแบ่ง ถ้าไม่เชื่อถือว่าไม่ให้ความร่วมมือ เผยสั่งตั้งคณะกรรมการ 11 คณะติดตามตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ปลื้มกลับจากพม่าสำเร็จด้วยดี เตรียมเปิดด่านสิงขร โต้สั่งห้าม "ปู" ไปเป็นประธานเปิดงานไหลเรือไฟบั้งไฟพญานาค
"บวรศักดิ์"แบะรับ"รองปธ.สปช".
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเข้ารายงานตัวของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่สามว่าช่วงเช้าเป็นไปอย่างคึกคัก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เข้ารายงานตัวเป็นคนแรกตั้งแต่เวลา 08.30 น. จากนั้นสมาชิกสปช.คนอื่นๆ ทยอยเข้ารายงานตัว อาทิ พล.อ.ประสูตร รัศมีแพทย์ นายวุฒิสาร ตันไชย นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายจรัส สุวรรณมาลา
นายบวรศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีชื่อแคนดิเดตเป็นประธานสปช.ว่า ต้องแล้วแต่สมาชิกเห็นสมควร แต่ต้องดูอีกครั้งเนื่องจากในสปช.มีผู้ที่อาวุโสน่าเคารพนับถืออยู่หลายคน ตนมีชื่อประธานสปช.อยู่ในใจแล้ว เนื่องจากสปช.เกิดขึ้นบนความหวังของคนทั้งประเทศ ฉะนั้นเราต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องเวลา และหากสมาชิกหาข้อสรุปในการทำงานในทิศทางเดียวกันได้ โดยเชื่อมโยงและสังเคราะห์ความคิดเห็นของคนกลุ่มต่างๆ การปฏิรูปก็จะออกมาดี ที่สำคัญคือความเป็นธรรมต้องเกิดขึ้นในสังคม ซึ่งเป็นหัวข้อใหญ่ในสภาปฏิรูป จากนั้นต้องดูเรื่องโครงสร้างอำนาจรัฐ การปฏิรูปการเมืองและระบบราชการที่ต้องทำให้สอดคล้องกัน ซึ่งสปช.สามารถนำการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า เรื่องการปฏิรูปมาใช้สังเคราะห์ร่วมกันได้โดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์
ชี้รธน.ชั่วคราวไม่ให้ทำประชามติ
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ส่วนที่มีชื่อตน อาจได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ถ้าได้รับเลือกจากคสช. ก็ต้องมาพูดคุยกันอีกครั้ง ว่าความหวังของตนกับ คสช.ตรงกันหรือไม่ ถ้าไม่ตรงกันก็ไปกันไม่ได้ แต่ถ้าตรงกับความคิดของตนก็รับได้ ทั้งนี้ หากสปช.ทำงานไม่เสร็จตามกำหนด ตนไม่เห็นด้วยที่จะขยายเวลาการทำงานออกไป เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างไรเราต้องทำตามนั้น ส่วนการทำประชามติต้องมาพูดคุยกันตอนที่รัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้วว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ไม่มีการเขียนว่าให้ทำประชามติ ฉะนั้นหากจะทำประชามติ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน
นายจรัส สุวรรณมาลา สมาชิกสปช. ให้สัมภาษณ์แนวทางการปฏิรูปท้องถิ่นว่า การปฏิรูปต้องคิดถึงการจัดโครงสร้างอำนาจรัฐทำอย่างไรจะบริหารเมือง และพื้นที่การเกษตรอยู่ร่วมกันได้ ดังนั้น การปกครองท้องถิ่นในอนาคตต้องเป็นไปตามหลักการที่ควรเป็นคือการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น ถ้าคิดจะปฏิรูปแต่เดินไปสู่การแต่งตั้งก็ไม่ใช่การพัฒนา อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปเป็นการจัดโครงสร้าง ทิศทางการเดินให้เข้าที่เข้าทาง แต่ทำให้เสร็จภายในปีเดียวเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เวลาต้องแก้ไขกฎหมาย
อลงกรณ์ขอให้อย่าเพิ่งชี้ตัวบุคคล
นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสปช. ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้ที่จะมาทำหน้าที่รองประธาน สปช. 2 คน แยกเป็นคนที่ 1 ต้องเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน เพราะ สปช.ต้องร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนรองประธานคนที่ 2 ต้องเป็นนักบริหาร มีความรอบรู้ทุกด้าน เพื่อช่วยเหลือประธาน สปช. จัดทำพิมพ์เขียวประเทศไทย หากเป็นเช่นนี้จะครอบคลุมตามภารกิจของ สปช.มากขึ้น ทั้งนี้ รองประธาน สปช.ไม่ได้ทำหน้าที่ควบคุมการประชุมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องช่วยประธาน สปช.ทำงานตามกรอบเวลาด้วย
นายอลงกรณ์กล่าวว่า ส่วนรายชื่อที่ปรากฏออกมาว่านายเทียนฉาย กีระนันทน์ สมาชิก สปช. จะเป็นประธาน สปช. และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กับน.ส.ทัศนา บุญทอง สมาชิก สปช. จะเป็นรองประธาน สปช.นั้น ส่วนตัวเห็นว่าอย่าเพิ่งกีดกันและปิดกั้นคนอื่นๆ ด้วย 2-3 ชื่อนี้เท่านั้น เพราะในสปช. 250 คน มีมากกว่า 10 คน ที่เหมาะสมจะเป็นประธาน และรองประธาน สปช. อยากให้เปิดกว้าง โปร่งใสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติ มีความรู้ความสามารถได้แสดงตัวและไม่อยากให้ล็อกสเป๊ก เนื่องจากไม่อยากให้ซ้ำรอยการสรรหา สปช.ที่มีเสียงวิจารณ์ ไม่เช่นนั้นจะปฏิรูปได้อย่างไร
"พล.อ.เอกชัย"แนะให้เปิดกว้าง
เวลา 13.30 น. พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สมาชิกสปช. กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากลุ่มที่เห็นต่างยังเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเราได้เข้าไปรับฟังความเห็นของคนเหล่านี้ ทั้งระดับกลางและระดับล่างมาแล้ว และได้รับการตอบรับอย่างดี ส่วนประธานสปช.นั้น ยังไม่มีในใจ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มองว่าประธานและรองประธานสปช. มีอีกหน้าที่ที่สำคัญคือ ต้องเป็นประธานและกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย จึงต้องเชี่ยวชาญ เป็นกลาง ไม่มีอคติ และพร้อมรับฟังทุกคน ซึ่งมีหลายคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้
เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติหรือไม่ พล.อ.เอกชัยกล่าวว่า ถ้าไม่ทำประชามติก็ควรเปิดเวทีสะท้อนสิ่งที่เราจะเขียนลงไปให้ประชาชนทราบ ซึ่งอาจดีกว่าการทำประชามติ เพราะข้อท้วงติงและข้อห่วงใยต่างๆ สามารถรับมาแก้ไขได้ นี่คือความปรองดองตามที่คสช. ต้องการ ส่วนเปิดเวทีแล้วอาจไม่ทันกรอบเวลา 1 ปีนั้น พล.อ.เอกชัยกล่าวว่า กรอบเวลากำหนดไว้ 1 ปีอยู่แล้ว หากเราทำออกมาแล้วไม่ได้รับการยอมรับ สปช.ก็ต้องออกไปทั้งชุด และให้สปช.ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการแทน ทั้งนี้ ระยะเวลา 1 ปี เราจะได้แค่รูปแบบและตัวหนังสือของรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังไม่ได้รูปแบบความปรองดองอย่างแท้จริง
"รัฐธรรมนูญใหม่อาจเขียนบรรจุไว้ว่า หลังจากนี้ให้มี สปช.คู่ขนานกับสภาปกติ เพื่อต่อไปจะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญยากขึ้น ถ้าไม่ผ่าน สปช. จะแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ตรงนี้จะทำให้รัฐธรรมนูญใหม่คงทนมากขึ้น ไม่ให้ใครมาล้มรัฐธรรมนูญได้ง่ายๆ โดยจะเขียนไว้ในขั้นตอนการเสนอความเห็นต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประชุมสปช.ครั้งแรก" พล.อ.เอกชัย กล่าว
"บิ๊กอ๊อด"พร้อมช่วยงานปรองดอง
ที่รัฐสภา พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา สมาชิกสปช. ให้สัมภาษณ์หลังเข้ารายงานตัวว่า ส่วนตัวมีแนวคิดปฏิรูปใน 2 เรื่องคือ 1.การปฏิรูปด้านกีฬาที่ยังมีปัญหา และ 2.เรื่องการปรองดอง ซึ่งการเข้ามาของนายทหารครั้งนี้มุ่งหวังทำเรื่องปรองดอง ดังนั้น หากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดโอกาสให้ตนร่วม ไม่ว่าคณะทำงานด้านความปรองดองที่พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมีพล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ร่วมทำงาน ซึ่งตนสนิทกับทั้ง 2 จึงขอปวารณาตัวทำงานเรื่องสร้างปรองดอง เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์กับกองทัพ และรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่ารูปแบบของการทำงานเรื่องปรองดองหมายถึงการช่วยพูดคุยกับแกนนำคนเสื้อแดงใช่หรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวว่า ขอพูดคุยก่อน ยังตอบตอนนี้ไม่ได้
เมื่อเวลา 14.30 น. นางสาวทัศนา บุญ ทอง สมาชิกสปช. กล่าวถึงกระแสข่าวเป็น แคนดิเดตรองประธานสปช. คนที่ 2 ว่า ยังไม่ทราบ ได้ยินข่าวจากสื่อเท่านั้น แต่หากสมาชิกให้เกียรติเลือกผู้หญิงเข้ามาทำหน้าที่ ถือเป็นเกียรติยศ และพร้อมทำงาน
เวลา 16.30 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันเดียวกันนี้ มีสมาชิกสปช.มารายงานตัวทั้งสิ้น 59 คน เมื่อรวมจากยอดของผู้ที่มารายงานตัว 2 วันที่ผ่านมา 104 คน ยอดรวม 163 คน ทั้งนี้ เหลือสมาชิกสปช.ที่ยังไม่มารายงานตัวอีก 87 คน ซึ่งมารายงานตัวได้ถึงวันที่ 15 ต.ค. เวลา 08.30-16.30 น.
40 ส.ว.อ้างถอดถอนยิ่งลักษณ์ได้
เมื่อเวลา 10.25 น. ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติส่งสำนวนถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กรณีโครงการรับจำนำข้าว ให้สนช.พิจารณาว่า ต้องรอสำนวนจากป.ป.ช. ก่อนจึงจะพิจารณาได้ว่าจะนำมารวมกับคดีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ได้หรือไม่ หากเป็นฐานความผิดเดียวกันอาจพิจารณารวมกันได้ แต่หากเป็นคนละฐานความผิดก็ทำไม่ได้
ด้านนายสมชาย แสวงการ สนช. ในฐานะเลขานุการวิปสนช.ชั่วคราว เผยว่า เมื่อป.ป.ช. มีมติส่งเรื่องการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ มาให้สนช.แล้ว ตามขั้นตอนในข้อบังคับสนช. จะเป็นหน้าที่ของประธานสนช.จะต้องนำเรื่องบรรจุเป็นระเบียบวาระเพื่อเรียกประชุมสนช.ภายใน 30 วัน ยืนยันว่าสนช.มีอำนาจถอด ถอนบุคคลออกจากตำแหน่งอย่างแน่นอน แต่ต้องรอดูว่านายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.จะดำเนินการอย่างไร มองว่าคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ สนช.น่าจะดำเนินการถอดถอนตามกระบวนการ เพราะ ป.ป.ช.แจ้งข้อหาความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
ทนายชี้พิรุธคำถอดถอนของป.ป.ช.
เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษากฎหมายทีมทนายความคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ว่า จากการแถลงข่าวของป.ป.ช. ตนในฐานะที่ปรึกษาเห็นว่า เหตุใดป.ป.ช.ต้องเร่งรีบ รวบรัด ทั้งที่มีข้อโต้แย้งถึงรายงานและสำนวนการสอบสวนของอัยการสูงสุด(อสส.) ว่าคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ว่า กระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 จงใจใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญนั้นมีข้อไม่สมบูรณ์ อีกทั้งสำนวนของ ป.ป.ช.รวมเรื่องการถอดถอนกับการพิจารณาคดีอาญาไว้ด้วยกัน ทั้งที่เป็นคนละกรณี และทีมทนายความได้โต้แย้งการรวมคดีมาตลอด แต่เมื่ออสส.ชี้ว่ารายงานและสำนวนของ ป.ป.ช. มีข้อไม่สมบูรณ์ การไต่สวนยังไม่สิ้นประเด็น ดังนั้น การที่ ป.ป.ช.แยกสำนวนถอดถอน และไปยื่นให้ สนช.นั้น จะทำได้อย่างไรในเมื่อองค์กรในกระบวนการยุติธรรมยังโต้แย้งกันอยู่ จึงอยากให้ ป.ป.ช.คำนึงถึงหลักนิติธรรมด้วย
นักปฏิรูป - นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ตัวเก็งประธานยกร่างรัฐธรรมนูญ รายงานตัวเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่ห้องโถงอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 10 ต.ค. |
นายพิชิตกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ชี้มูลว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ กระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 เป็นเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรม นูญมาตรา 270 แต่ในสำนวนถอดถอนไม่ได้ใส่ประเด็นนี้ไว้ จึงตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด ป.ป.ช.ต้องหลีกเลี่ยง และสละประเด็นที่น.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำผิดรัฐธรรมนูญไป ซึ่งป.ป.ช.ต้องตอบคำถามนี้ เพราะป.ป.ช.เคยระบุว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ทำผิดรัฐธรรมนูญ แต่ในสำนวนถอดถอนกลับทิ้งประเด็นนี้ หรือกลัวว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการถอดถอนแล้ว จะถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เพราะรัฐธรรม นูญ พ.ศ.2550 ไม่มีแล้ว
เตือนยึดคำสั่ง63-ยึดนิติรัฐนิติธรรม
"แม้ ป.ป.ช.จะอ้างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 6 ว่าสนช.มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้นั้น แต่เพื่ออำนวยความยุติธรรมและดำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม โดยคสช. ผู้แต่งตั้ง สนช.ก็มีเจตนารมณ์ตามคำสั่งที่ 63 ให้ทุกองค์กรปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงหลักนิติรัฐ นิติธรรม ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงแล้ว สนช.จะดำเนินคดีถอดถอนได้หรือไม่ หรือประกาศฉบับนี้มีเขียนไว้ให้สวยหรูเท่านั้น" นายพิชิตกล่าว
เมื่อถามว่าหากทีมทนายเห็นว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ความยุติธรรม จะทำอะไรได้บ้าง นายพิชิตกล่าวว่า สิ่งใดหรือข้อกฎหมายใดที่เป็นประโยชน์ ทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับความยุติธรรม ทีมทนายจะทำถึงที่สุด แต่เราค่อนข้างหนักใจต่อกระบวนการยุติธรรมที่เปลี่ยนผ่านในเวลานี้
เมื่อถามว่าการตรวจสอบการทำหน้าที่ของป.ป.ช.ทำได้ช่องทางไหนบ้าง นายพิชิต กล่าวว่า ในฐานะนักกฎหมายขอเสนอต่อสปช.ว่า อยากให้ป.ป.ช.ทำงานอย่างมีอายุความว่าจะเสร็จเมื่อไร และอยากให้มีองค์กรหรือคณะอะไรก็ได้มาตรวจสอบว่าจะชี้มูลหรือไม่
เมื่อถามถึงโอกาสที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องนี้ นายพิชิตกล่าวว่า เราพิจารณาทุกประเด็น แต่ต้องค่อยๆ ทำเป็นขั้นตอน ตนเป็นเพียงที่ปรึกษาทีมทนาย ต้องให้เป็นดุลพินิจของทีมทนายที่จะพิจารณา
อสส.ถกร่วมป.ป.ช.คดียื่นฟ้อง"ปู"
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายสรรเสริญ พล เจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. กับนายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด (อสส.) นำคณะทำงานร่วมระหว่างป.ป.ช.และอสส. หารือเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์
นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปกครอง รักษาราชการแทนอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ คณะทำงานของ อสส. ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมว่า อสส.จะขอข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากสำนวนคดีเดิมที่ป.ป.ช.ส่งให้ยังมีข้อไม่สมบูรณ์ เพื่ออสส.จะกลับไปพิจารณาและมาประชุมร่วมกันอีกครั้งว่าจะนำสำนวนคดีดังกล่าวส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เชื่อว่าการประชุมวันนี้คงไม่ได้ข้อยุติอย่างแน่นอน
ด้านนายสรรเสริญกล่าวว่า หากการประชุมวันนี้ไม่สามารถสรุปสำนวนส่งฟ้องโดยอสส.ได้ แต่ละฝ่ายจะต้องกลับไปพิจารณาและมาประชุมร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าในการประชุมนัดต่อไปจะได้ข้อสรุปว่า หากอสส.ไม่สั่งฟ้องคดี ป.ป.ช.จะฟ้องเองหรือไม่
เผยยังเห็นต่าง-นัดประชุมใหม่
หลังประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง นายวุฒิพงศ์ให้สัมภาษณ์ว่า จากการหารือข้อไม่สมบูรณ์หลายด้าน ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยมีความเห็นตรงกันเพียง 1-2 ข้อเท่านั้น จาก 4 ข้อที่ อสส.เสนอมา ประเด็นที่เหลือยังต้องพูดคุยในรายละเอียด ส่วนมีประเด็นใดบ้างนั้นขอไม่เปิดเผย ซึ่งทางป.ป.ช.ขอไปพิจารณารายละเอียดในบางประเด็นอีกครั้งและจะให้ความเห็นกลับมา ทั้งนี้ ในประเด็นข้อไม่สมบูรณ์ยังคงเดิมตามที่ อสส.ส่งหนังสือมา ไม่มีอะไรเพิ่มเติม แต่ต้องลงลึกในแต่ละข้อ เพราะมีรายละเอียดอีกมาก ซึ่งคณะทำงานร่วมพยายามพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อยุติเพื่อประโยชน์ของคดีเอง ทั้งนี้ไม่กังวลใดๆ อสส.ต้องการให้คดีมีความสมบูรณ์ทุกอย่าง เพื่อฟ้องแล้วศาลลงโทษได้
เมื่อถามว่า จะสอบพยานเพิ่มเติมหรือไม่ นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า หากจะสอบพยานเพิ่มก็ต้องดำเนินการร่วมกัน โดยจะให้สอบพยานเพิ่มอีกหลายคน พยานบางส่วนที่จะให้สอบเพิ่มนั้นเคยเป็นพยานที่น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยร้องขอให้ป.ป.ช.สอบมาก่อนแล้ว ทั้งนี้ มีบางประเด็นที่อาจใช้พยานคนเดิม แต่เราต้องสอบรายละเอียดให้ได้มากยิ่งขึ้น "เรื่องการสอบพยานเพิ่ม เป็นเรื่องที่ อสส.ขอเพิ่ม แต่ยังไม่ได้คุยกับฝ่ายป.ป.ช.ในประเด็นนี้"
ผู้สื่อข่าวถามว่าพยานที่จะขอสอบเพิ่มต้องสอบลึกในประเด็นใดบ้าง นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า มีหลายเรื่อง แต่ยังไม่ขอเปิดเผย เชื่อว่าเมื่อป.ป.ช.รับฟังความคิดเห็นของ อสส.ในวันนี้แล้วจะนำไปพิจารณาโดยละเอียด และ ดูว่าข้อไหนที่ตกลงกันได้ ข้อไหนต้องกลับมาคุยกันอีก โดยนัดหารือกันอีกครั้งในวันที่ 7 พ.ย.นี้ เชื่อว่าในการประชุมครั้งหน้านั้นอาจได้ข้อสรุป แต่อาจจะไม่จบก็ได้ เพราะมีประเด็นที่ต้องหารือเพิ่มเติม
ให้ไต่สวนพยานเพิ่ม-แต่ปปช.ค้าน
เมื่อถามว่าขณะนี้มีเสียงวิจารณ์ว่า อสส.ถ่วงเวลาคดี นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่ได้ถ่วงเวลา เพราะ อสส.อยากให้จบ ทุกคนต้องการให้จบโดยเร็วเพราะมีงานอื่นอีกมาก ไม่ใช่มีเรื่องนี้เรื่องเดียว ไม่มีถ่วงเวลา ทุกคนทำคดีก็ต้องการให้เสร็จเพราะยิ่งช้า เดี๋ยวจะลืม เมื่อถามว่าข้อสงสัยของ อสส. กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์มีอำนาจยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า ไม่ขอตอบ ถ้าตอบอะไรไปจะเป็นประเด็นทันที ยังไม่มีข้อยุติในเรื่องนี้ ซึ่งตรงนั้นเป็นประเด็นของคดี แต่ไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียวที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ยังมีอีกหลายข้อต้องพิจารณา
นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า ส่วนที่ป.ป.ช.ระบุทำสำนวนดังกล่าวสมบูรณ์ที่สุดแล้วนั้น ก็เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนจะถึงขั้นป.ป.ช.ฟ้องเองหรือไม่ ก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น ตอนนี้อยู่ในขั้นรวบรวมพยานหลักฐาน คุยความเห็นที่ไม่ตรงกัน หากข้อใดยังเห็นว่าไม่สมบูรณ์ต้องคุยกันก่อน
ด้านนายสรรเสริญกล่าวถึงผลการประชุมคณะทำงานร่วมว่า ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากยังตกลงในข้อไม่สมบูรณ์ยังไม่เสร็จ จึงนัดหารืออีกครั้งในวันที่ 7 พ.ย.นี้ ส่วนข้อหารือแต่ละประเด็นมีจำนวนมาก วันนี้หารือได้ไม่กี่ประเด็น ส่วนที่ อสส.ขอให้ไต่สวนพยานเพิ่มเติมจากที่ป.ป.ช.ไต่สวนพยานแล้วนั้น ประเด็นดังกล่าวยังคุยกันไม่ลงตัว ต้องหารือกันอีก ซึ่งอสส.ขอให้ไต่สวนพยานเพิ่มพอสมควร เนื่องจากบางเรื่องที่ขอให้ไต่สวนจากพยานแค่คนเดียวแต่มีประเด็นซ้ำกันหลายประเด็น ทั้งนี้ ยังหาข้อตกลงกันไม่ได้ ต้องพูดคุยในภาพรวมต่อไป
บิ๊กตู่โต้ลั่นห้าม"ปู"เปิดงานบั้งไฟ
เวลา 16.45 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. กล่าวถึงกรณีพูดในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ในคืนวันศุกร์ที่ 10 ต.ค.ที่ยาวนานกว่า 1 ชั่วโมงว่า พูดจนเจ็บคอจะตาย นึกว่าอยากพูดหรือ แต่ที่อยากพูดเพื่อสร้างความเข้าใจ วันนี้ยังมีคนส่วนหนึ่งที่ไม่เข้าใจ ตนจึงยอมเสียส่วนหนึ่งเพื่อให้ได้ส่วนหนึ่ง คนหนึ่งฟัง อีกคนไม่ฟัง ตนพูดอย่างไรก็ไม่ฟัง พูด 5 นาทีหรือ 10 นาทีก็ไม่ฟัง แต่อีกคนเขาพร้อมจะฟัง
เมื่อถามถึงกระแสข่าวคสช.สั่งห้าม น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธานในพิธีงานเทศกาลไหลเรือไฟ ที่จ.หนองคาย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนจะไปห้ามเรื่องอะไร และตนยังไม่รู้ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปเป็นประธานอะไรซึ่งงานไหลเรือไฟที่จ.หนองคาย มีทุกปีและตนไม่รู้ว่าใครเป็นประธาน แต่ตอนหลังเห็นว่ารมว.มหาดไทย และฝ่ายปกครองไป ยืนยันไม่ทราบ
เมื่อถามว่ายืนยันคสช.ไม่ได้สั่งห้ามใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนจะไป ห้ามได้อย่างไร เพราะน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประชาชน เรื่องบางอย่างที่อยู่ในกระบวนการก็ว่าไป ทั้งนี้ เวลาไปต่างประเทศ ขออนุญาตมา ตนก็ให้ไป ตราบใดที่ยังไม่มีความผิดออกมาก็แค่นั้น จบ อย่าเอาตนไปรบกันเลย วันนี้เป็นวันแห่งมิตรภาพไทย พม่าและสื่อไทย
วอนอย่าปลูกพืชเกษตรตามๆ กัน
เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่าค่านิยม 12 ประการนั้น เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยสร้างอนาคตของชาติ ขอให้ช่วยกันเผยแพร่และนำมาใช้ทั้งหมด อยากให้ทั้ง คสช. รัฐบาลและทุกส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชนดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คงต้องใช้เวลาปลูกฝังเยาวชนยาวนาน ซึ่งตนหวังอย่างยิ่งว่า ค่านิยม 12 ประการจะเป็นแรงผลักดันให้กับการปฏิรูปประเทศไทย สร้างอนาคตให้คนในชาติต่อไป
นายกฯ กล่าวว่า ด้านการส่งเสริมการ เกษตร ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการอย่างเป็นระบบ ทั้งการจัดโซนนิ่ง พื้นที่เพาะปลูก ประเภทของพืชที่จะเพาะปลูกให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องประสานบูรณาการกัน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนจึงสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยขอความร่วมมือจากท้องถิ่นเก็บข้อมูลการเกษตร เพราะท้องถิ่นรู้ดีว่าพื้นที่ที่อยู่นั้นเหมาะสมกับพืชชนิดใด มีน้ำพอเพียงหรือไม่ อย่าไปฝืนกัน พออะไรราคาดีก็ไปปลูกตามกัน พอไม่ได้ผลก็ต้องชดเชย เยียวยา เสียเงินหลายทาง จึงควรส่งเสริมให้ยั่งยืน ปรับให้ตรงกับพื้นที่ เพื่อทำให้การเติบโตทางภาคการเกษตรของไทยยั่งยืน ไม่มาแก้ปลายเหตุ ไม่มาช่วยเหลือเรื่องราคา ไม่มาจำนำ หรือประกัน
สั่งเข้มเงินช่วยชาวนาต้องถึงมือ
นายกฯ กล่าวว่า การช่วยเหลือชาวนาที่มีรายได้น้อยในปีการผลิต 2557/2558 เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้าปีนี้เท่านั้น จะเริ่มจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาทในเดือนต.ค.นี้ ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ หากกังวลว่าเงินจะไม่ถึงมืออย่างที่ตนรับฟังเสียงมาทางสื่อ ทุกส่วนรวมทั้งท้องถิ่นต้องช่วยกันตรวจสอบให้เงินถึงมือชาวนาจริงๆ ไม่ใช่ผู้ให้เช่านาหรือนายทุน อย่างไรก็ตาม ตนให้กระทรวงยุติธรรมตั้งคณะทำงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีตัวแทนหน่วยงานต่างๆ อีก 11 หน่วย วางระบบร่วมกับป.ป.ช. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ตรวจสอบทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางให้เงินถึงมือชาวนา ไม่ให้มีการรั่วไหลเกิดขึ้น ไม่ให้ไปแกะห่อขนมกิน ขอให้ชาวนาเชื่อมั่น รัฐบาลมีความตั้งใจและจริงใจ ต้องช่วยกันดูแลเกษตรกรให้ได้มากที่สุด
"ดังนั้น ต้องทำให้ข้อมูลพื้นฐานสมบูรณ์ ทั้งการขึ้นบัญชี ลงทะเบียน การเปิดบัญชีธนาคาร ข้อมูลต้องทัน อย่ามาหลอก อย่ามาเตี๊ยมกัน ต้องช่วยกัน ชาวนาต้องรักษาสิทธิ์ตัวเอง นายทุนเจ้าของนาต้องเสียสละ อย่าไปเอาเขาเลย ค่าเช่านาก็มากอยู่แล้ว วันนี้อย่าไปขู่เขาว่าถ้าไม่แบ่งเงินให้นายทุน บางส่วนครึ่งหนึ่ง 1 ใน 3 แล้ว ปีหน้าไม่ให้เช่านา อย่าให้เกิดขึ้น อย่างนี้ผมจะถือว่าไม่ร่วมมือกับรัฐบาล ต้องถูกดำเนินการทางกฎหมาย ถือว่าขัดต่อนโยบาย ต้องหาวิธีแก้ปัญหาให้ได้ทุกส่วนราชการส่วนพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ใจเย็นเล็กน้อยไม่ว่ายาง ปาล์ม พยายามจะแก้ไขทุกอัน ถ้าพร้อมกันทีเดียว ผมไปไม่ไหว รัฐบาลก็ไปไม่ไหว เพราะเงินมีเท่านี้ ต้องจัดสรรเงินให้ได้ เดือดร้อนก่อนก็ต้องแก้ก่อนระยะสั้นเร่งด่วน แต่ต้องแก้ระยะยาวเตรียมไว้ด้วย เดินหน้าไปด้วยตรงนั้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
หน่ายคนชอบวิจารณ์อยู่ข้างนอก
นายกฯ กล่าวถึงสมาชิกสปช. ว่า ตนได้สั่งการให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯไปดูว่าบุคคลที่ไม่รับการคัดสรรเป็นสปช.จะมีส่วนร่วมอย่างไร จะได้ไม่มีคำกล่าวว่านำเฉพาะข้าราชการ เฉพาะทหาร เฉพาะพวกตนมา ไม่มีพวกใครทั้งนั้น ตนมองประเทศชาติเป็นหลัก แต่การคัดสรรก็เป็นขั้นตอนอยู่แล้ว ทั้งนี้ ตนตั้งอีก 3-4 เวที ทั้งหมดรวมกัน 5 เวที ให้คนทั้ง 7 พันคนมีส่วนร่วมทั้ง 5 เวทีนี้ ส่วนคนที่ไม่สมัครเข้ามาแต่พูดข้างนอก ถือว่าไม่เป็นธรรมกับตน อย่าพูดอย่างเดียว ขอร้อง ประเทศต้องการความรู้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เดี๋ยวจะกลายเป็นว่ารัฐคิดเอง ประชาชนไม่รู้เรื่อง ประชาชนไม่เห็นชอบไม่ได้
นายกฯ กล่าวว่า ดังนั้น สปช.ต้องตั้งหลักดำเนินการ ซึ่งตนให้เขาเตรียมการแล้ว ข้อมูล 11 เรื่องย่อยไว้หมดแล้ว โดยฟังทุกภาคส่วนจากทุกกลุ่มทุกฝ่ายประชุม 700-800 ครั้งแล้วสรุปเป็นเล่ม 11 เล่ม 11 เรื่อง ใน 11 เรื่องมีหัวข้อ เลือกตั้งมีวิธีการอย่างไร การเข้าสู่กระบวนการจัดตั้งรัฐบาล การใช้งบประมาณ เป็นแนวทางมาแล้ว สปช.จะเพิ่มเติมตรงไหน จะแก้ไข ไม่เห็นด้วยก็ไปสู้กันในปฏิรูป "เราจัดระเบียบให้ เตรียมข้อมูลให้ ไม่มีคำชี้นำ ไม่มีคำตอบ มีแต่โจทย์มาให้แล้วไปแปรญัตติมาเอง แล้วข้างนอกที่พูดตามสื่อไม่เกิดประโยชน์ ไม่ฟัง เขามีหลายช่องทางไม่เคยฟัง ชอบพูดดีนัก ไปแก้ไขตัวเองด้วย ผมเหนื่อยหน่ายกับคนเหล่านี้"
ขรก.รวย-เพราะมีชาติตระกูล
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ครม.จะเน้นเรื่องโปร่งใสและธรรมาภิบาล ซึ่งการรับตำแหน่งข้าราชการการเมือง ได้ออกคำสั่งไปแล้วว่าไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำหน้าที่ เพื่อป้องกันการทุจริต และสร้างความไว้วางใจกัน วันนี้รัฐมนตรีทุกคนลาออกหมดทุกอย่างแล้ว และเตรียมชี้แจงทรัพย์สิน ถึงไม่ใช่ทรัพย์สินก็พร้อมชี้แจง มีที่มาที่ไปทั้งหมด สงสัยก็ไปตรวจสอบ ดังนั้น อย่าพูดด้วยอารมณ์ อย่าตัดสินคนด้วยความรู้สึก ให้ความเป็นธรรมบ้าง ติทุกเรื่องคงไม่ได้ ทุกคนจนเท่าเทียมกันไม่ได้ จะรวยเท่าเทียมก็ไม่ได้ บางคนบอกว่าข้าราชการทำไมรวย ก็ชาติตระกูลไม่เหมือนกัน ต้องดูว่าเขามีมรดกหรือไม่ เขาโกงใครมาหรือไม่ ไม่ใช่พอเป็นทหารต้องจนเหมือนกันหมด หรือเป็นข้าราชการต้องจนเท่ากันหมด นำเงินเดือนมาคูณ 12 เดือนเท่านี้ เกษียณแล้วมีเงินเท่านี้ ตนคิดว่าไม่เป็นธรรม
"ข่าวลือต่างๆ ในสื่อในหนังสือพิมพ์ อย่าไปเชื่อมากนัก เดี๋ยวทะเลาะกับสื่ออีก ซึ่งข่าวยุบอบจ. อบต. มีที่ไหนใครไปยุบ ผมยังไม่ได้พูดซักคำ แต่ไปลงว่าคสช.จะยุบ จะไปหาเรื่องทำไม อะไรทำได้ก็ทำไป เรื่องปฏิรูปก็ไปปฏิรูปมา เขาเรียกว่าการปฏิรูประเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นก็ว่ากันมาจะเอาแบบไหน อย่าเพิ่งลือกันเสียหาย มีแต่โจทย์ยังไม่มีวิธีการเลย ข้อยุติก็ยังไม่มีจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ยุติตัวเองไว้ก่อน อย่ามีอัตตา" นายกฯ กล่าว
อย่าเพิ่งออกมาติเรือทั้งโกลน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการเยือนต่างประเทศว่า นายกฯ จำเป็นต้องไปสร้างความเข้าใจ แนะนำตัว กระชับความสัมพันธ์ในทุกระดับในทุกมิติให้เกิดผลประโยชน์ต่อ 2 ชาติด้วยความเท่าเทียมกัน ลดความหวาดระแวงบนพื้นฐานความไว้วางใจ อย่าไปขยายความขัดแย้งกันอีกเลย ทะเลาะกันในประเทศยังไม่พอ ทะเลาะกับต่างประเทศเขาอีก แล้วจะอยู่อย่างไรในโลกนี้ วันนี้อยู่คนเดียวไม่ได้ รัฐบาลพยายามสร้างความเข้าใจ แต่มีคนขยันจะนำเรื่องในประเทศไปต่างประเทศ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจริง ไปพูดจาไม่ดีเสียหายกับประเทศ เราต้องช่วยกันสร้างสภาวะแวดล้อม ให้สงบ ปลอดภัย ปฏิรูปให้ได้ ตั้งใจปฏิรูปมากี่ชาติแล้วไม่เคยทำได้ วันนี้จะเกิดขึ้นได้ เพราะตั้งสภา ออกเป็นกฎหมาย บางอย่างต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญ ถึงจะทำได้ เป็นการปฏิรูปให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อย่ามาบอกว่าเดี๋ยวก็เหมือนกับครั้งที่ผ่านมาๆ อย่าพึ่งติเรือนทั้งโกลน ติโขนยังไม่ได้ทรงเครื่อง
นายกฯ กล่าวว่า การทำงานของรัฐบาล ย้ำอีกครั้งมี 3 ลักษณะ 1.เร่งด่วน แก้ไขทันที ทั้ง คสช.และรัฐบาลจะแก้เลย สั่งวันนี้เกิดพรุ่งนี้ สั่งมะรืนนี้เกิดมะเรื่องนี้ ทำทันที 2.บริหารราชการแผ่นดินตามภารกิจ พันธกิจทุกหน่วยงานในเชิงรุก เน้นทุกกส่วนราชการต้องทำเชิงรุก อย่าให้เกิดปัญหา ถ้าปัญหามากก็ต้องพิจารณา แก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนให้เร็วที่สุดตรงภารกิจของกระทรวง อะไรที่ต้องใช้เวลา ต้องทำแผนงานให้ต่อเนื่อง มีโครงการ ผูกพันงบประมาณ สิ่งนี้ต้องทำคู่ขนานกับการช่วยเหลือเร่งด่วน จะได้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต 3.งานด้านความมั่นคง เราจำเป็นต้องสร้างสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัย เอื้อต่อการปฏิรูป สร้างความเข้าใจกับต่างประเทศ รักษาความสงบ ปลอดภัย ไม่งั้นก็ทะเลาะ ขัดแย้ง ใช้อาวุธสงครามทำให้บ้านเมืองเสียหาย เราจะปฏิรูปกันก็ต้องหยุดขัดแย้ง
เตือนอย่านำสถาบันเป็นเครื่องมือ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนการจัดระเบียบงาน 1.เร่งด่วน ทันที ทำจริง เร็ว มีผลสัมฤทธิ์ 2.งานที่ต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี ทั้งเรื่องปฏิรูป เรื่องที่ต้องใช้เวลาแก้ 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน 12 เดือน 3.เราต้องวางยุทธศาสตร์ระยะยาวให้ได้ครบทั้งระบบว่า ใน 5 ปีข้างหน้า อีก 10 ปี แผนพัฒนาฯ จะเกิดอะไร รถไฟกี่ราง ที่ไหนบ้าง อย่างไร ต้องเขียนไว้อย่างนี้ แต่เราจะค่อยๆ สร้างการปฏิรูปทีละอัน ไม่อย่างนั้นดูตัวเลขแล้วน่าตกใจ ทำทีเดียวไม่ได้ ทุกคนอยากได้ทุกอย่างพร้อมกันแต่เราไม่มีเงิน จึงพันกันไปหมด วันนี้เราพยายามจะแกะออกมา ขอให้เข้าใจด้วย อย่ามามองว่าจะมามีผลประโยชน์
"ปัญหาแทรกซ้อนที่มีผู้พยายามก่อความวุ่นวาย พูดจาสร้างความขัดแย้ง ไม่เข้าใจหรือแสร้งไม่เข้าใจให้กับประชาชน ขอให้ทุกคนมีสติ ฟังแล้วก็มีเหตุมีผลด้วย ที่ผ่านมามักฟังแล้วเห็นดีเห็นงาม แล้วประเทศชาติอยู่ตรงไหน จะเชื่ออย่างไรก็ได้แต่ต้องเอาประเทศชาติก่อน เดินหน้าประเทศไปก่อน ส่วนการละเมิดมาตรา 112 อย่าไปนำสถาบันลงมา ท่านอยู่ของท่าน อยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง เมื่อมี 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างหาเครื่องมือต่อสู้กัน ฝ่ายหนึ่งอาจใช้เงินหรือใช้การโฆษณาชวนเชื่อ อีกฝ่ายก็นำสถาบันมาสู้ เลยทำให้ท่านต้องลงมา ดึง ท่านผิดกฎหมาย วันนี้มีการยุยงปลุกปั่นทาง โซเชี่ยลมีเดียให้ลุกมาต่อต้าน คสช. ต่อต้านรัฐบาล ผมไม่ได้เกรงตรงนี้ แต่ผมเกรงประชาชนจะเดือดร้อน อย่าไปเชื่อเขา คนยุอยู่หรือเปล่า อยู่ในประเทศหรือเปล่า อยู่ที่ไหน อยู่ต่างประเทศหมด ถึงเวลามาก็ถูกจับถูกดำเนินคดี แล้วใครมาดูแล ถ้าเกิดมีเจ็บ มีตาย ถูกจับกุม มีการต่อสู้กัน ก็กลับมาวงจรเดิม" นายกฯ กล่าวว่า
ไม่เอาคำชม-ดีใจทำชาติปลอดภัย
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ใช้เวลามากพอควรก็ขอโทษ แต่อยากให้รู้ถึงเจตนาของพวกเรา ทั้งรัฐบาลและส่วนราชการต่างๆ ก็ทุ่มเทเต็มที่ มีการประชุมร่วมกันทั้งคสช. รัฐบาล ซึ่งต่อไปทุก 3 เดือนต้องมีผลงานปรากฏ ต้องแถลง ต้องมีภาพให้ดู แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ซึ่งกันและกันและบูรณาการ เพราะการแยกกันทำจะไม่เกิดผล วันหน้าก็กลับมาเหมือนเดิม วันนี้ขอร้องอีกครั้งหนึ่ง ความขัดแย้งเลิกสักที
"ผมไม่ต้องการความชื่นชม ไม่ต้องการคำชมเชย แต่ผมภูมิใจที่มีส่วนทำให้ชาติบ้านเมืองปลอดภัย ให้คนไทยทุกคนปลอดภัย ผมต้องการแค่นั้น และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต ไม่สร้างความขัดแย้ง ได้รับความเชื่อถือ ต่างชาติอยากมาเที่ยวบ้านเรา อย่าทำให้บ้านเราเป็นสนามรบอีกเลย พอได้แล้ว ขอร้องช่วยกันปฏิรูปแล้วรอดูว่าใครจะมาเป็นอยู่ในคณะไหน ค่อยว่ากันอีกที ผมให้เกียรติทุกคนที่สมัครมา อย่ากังวล จะได้คิดกันช่วยกันเข้ามา อย่าไปตีอยู่ข้างนอกแล้วไม่ร่วมมือ ไปตั้งเวทีคู่ขนาน เขามีช่องทางเข้ามาให้ถูกต้อง ถ้ามีอะไรถามมา คราวหน้าผมจะได้ตอบหมดทุกเรื่อง" นายกฯ กล่าว
บิ๊กโด่งลั่นเดินหน้าเวทีพูดคุยกัน
เมื่อเวลา 11.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคสช. กล่าวถึงการประเมินผลงานสร้างความปรองดองของคสช.ว่า คสช.จัดโครงสร้างการทำงาน โดยกองทัพบกเป็นส่วนหลัก ขณะนี้ยังดำเนินการอยู่ ไม่ได้หยุดนิ่ง เพราะพล.อ.ประยุทธ์ วางรูปแบบว่าทุกพื้นที่ ทหารจะต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มต่างๆ ที่จะพบปะกัน
พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ที่ผ่านมากองทัพบกดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดเวทีพูดคุยทำความเข้าใจกันเพื่อสร้างความสุข ซึ่งเป็นเทคนิคให้คนกลุ่มต่างๆ มาพบเพื่อทำความเข้าใจ และอีกก้าวหนึ่งจะเข้าสู่ระบบการปฏิรูป ซึ่งต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่รัฐบาลดำเนินการไว้ ส่วนงานปรองดองต้องทำต่อเนื่อง คิดว่าประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีความรู้สึกที่ดีและเข้าใจกันดี ซึ่งมีบางส่วนอาจมีปัญหาบ้าง แต่มีจำนวนไม่มาก เราต้องดำเนินการต่อไป
"มท.ป๊อก"เตรียมประเมินปรองดอง
ที่กระทรวงมหาดไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดช่วงเช้ามีบุคคลสำคัญเข้าอวยพรวันคล้ายวันเกิดครบ 65 ปีของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย อาทิ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. พร้อมผช.ผบ.ทบ.และคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ในฐานะอดีตผบ.ทบ. ก่อนที่พล.อ.อนุพงษ์ รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับผู้บริหารกระทรวง
เวลา 13.00 น. พล.อ.อนุพงษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ผบ.ทบ.มาอวยพรวันคล้ายวันเกิด และมาบอกว่าจะตั้งใจทำงาน ซึ่งตนตอบรับว่ายินดีสนับสนุน ผบ.ทบ. ส่วนการสร้างความปรองดองนั้น ตนได้เน้นย้ำบุคลากรในพื้นที่ทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน ให้ดูแลความสงบสุข หากสังคมไม่เรียบร้อยจะเกิดความวุ่นวาย ขัดแย้งรุนแรง เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ในฐานะกำนันผู้ใหญ่ และอปท.ใกล้ชิดประชาชน จึงต้องทำให้ประชาชนเข้าใจว่าถึงจะมีความเห็นความชอบต่าง แต่ต้องอยู่ร่วมกันได้ ที่ผ่านมาไม่เคยขัดแย้งกันทั้งเรื่องเชื้อชาติและศาสนา แต่มาขัดแย้งกันในเรื่องความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ซึ่งตนเห็นว่าไม่ควรเป็นเช่นนั้น เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้
รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ส่วนการประเมินผลนโยบายสร้างความปรองดองนั้น ได้ปรึกษากับปลัดกระทรวงมหาดไทยว่าจะมีการประเมิน จะได้รู้ว่า ได้ทำงานตามแนวนโยบายหรือไม่และมีผลอย่างไร เพื่อหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข ทั้งนี้ มาตรการด้านการข่าวจะเป็นส่วนหนึ่ง ทั้งแหล่งข่าวเปิดและปิด รวมทั้งการสอบถามเพื่อนำมาประเมิน ประชาชนจะรู้ว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
กกต.ส่งชื่อผู้สมัครสปช.ปิ๋วเก้าอี้
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. กล่าวว่า ตนได้ลงนามในหนังสือส่งถึงประธานคณะกรรมการปรองดองและการปฏิรูปของ คสช. เพื่อนำส่งรายชื่อและข้อมูลประวัติของผู้ที่เข้ารับการเสนอชื่อเป็นสปช.แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก 7,370 คนและได้ส่งข้อมูลทั้งหมดไปแล้วในบ่ายวันนี้ เอกสารมีทั้งหมด 36 แฟ้ม รวม 6-7 กล่อง
นายภุชงค์ กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปขณะนี้ สำนักงานได้ตั้งคณะทำงาน 3 คณะเพื่อศึกษาข้อกฎหมาย ปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมาของกกต. ซึ่งอาจเสนอแก้ไขหรือเสนอเป็นข้อมูลเมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยกฎหมายที่กกต.ตรวจสอบขณะนี้มี 6 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.กกต. พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและ ผู้บริหารท้องถิ่น และพ.ร.บ.การถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น โดยคณะทำงานจะประชุมทุกสัปดาห์เพื่อศึกษาประเด็นต่างๆ และจัดให้เป็นระบบไว้รองรับกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเสนอต่อกกต.โดยเร็ว
เครือข่ายฯค้านกม.เท่าเทียมเพศ
วันที่ 10 ต.ค. ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 รับจดหมายเปิดผนึกเรื่องขอคัดค้านร่างพ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ....ที่รอเข้าสู่การพิจารณาของสนช. จากตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาชน นำโดยน.ส.อุษา เลิศศรีสันทัด ประธานเครือข่ายฯ เนื่องจากเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับรัฐบาลยังมีหลายมาตราที่ไม่สอดคล้องกับสาระสำคัญและหลักการในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี เช่น การกำหนดคำนิยามการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ คือเว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ และยังขาดหมวดสำคัญที่ว่าด้วยการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งจะกำหนดให้มีการดำเนินมาตรการตามสิทธิด้านต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ
ทางเครือข่ายฯ จึงเสนอให้คณะกรรมาธิการสามัญกิจการ สนช. (วิป สนช.) ชั่วคราว พิจารณาส่งร่างกฎหมายดังกล่าวต่อรัฐบาล เพื่อให้เป็นประเด็นหนึ่งในการปฏิรูปประเทศ และเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม โดยต้องมีหลักประกันว่าจะมีกลไกที่เข้มแข็งพอที่จะส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมถึงกำหนดคำนิยามที่สอดคล้องตามหลักสากล
ด้านนายสุรชัย กล่าวว่า ครม.ยังไม่ได้ส่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมาที่สนช. ดังนั้น ตนจะส่งหนังสือจากเครือข่ายฯ ไปยังรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อรับทราบข้อเรียกร้อง ขณะเดียวกันจะส่งให้คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส พิจารณาเรื่องนี้ด้วย
"บิ๊กตู่"กลับจากพม่า-ชูเปิดด่านสิงขร
เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 10 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยาและคณะ ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนสหภาพพม่าอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค. ได้เดินทางจากกรุงเนปิดอว์ ไปยังกรุงย่างกุ้ง เพื่อพบกับคณะกรรมการบริหารสมาคมนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจไทยในพม่า ประมาณ 50 คน ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงความสำเร็จในการเยือนพม่าอย่างเป็นทางการว่า ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า ซึ่งการเยือนพม่าเป็นประเทศแรกเพราะเป็นประธานอาเซียน จากนี้จะเดินทางเยือนประเทศอื่นๆ ต่อไป ยืนยันว่าการพูดคุยกับประธานาธิบดีพม่า ไม่จำกัดแค่ผลประโยชน์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ให้เกิดความเข้มแข็งควบคู่กัน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญทำให้อาเซียนเข้มแข็งในอนาคต เช่น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่เกิดจากความร่วมมือไทย-พม่า ที่มีความคืบหน้า ซึ่งหากสร้างความเชื่อมั่นได้ จะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน
เวลา 16.45 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ผลการเยือนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีความร่วมมือสนับสนุนกันในทุกมิติ ทั้งด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน แรงงานต่างด้าว การปักปันเขตแดน ยาเสพติด การบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลังจากนี้ทั้ง 2 ประเทศจะมีการคุยกันอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องไม่ให้การปักปันเขตแดนเป็นปัญหา และจะทำส่วนที่ทำได้ก่อน เช่น การเปิดด่านสิงขร จากเดิมมีปัญหาเรื่องเส้นเขตแดน ขณะนี้จะเปิดใช้ไปก่อนแต่จะไม่มีการอ้างว่าเป็นเขตแดนของใคร ให้ยึดถือตามเดิมของแต่ละประเทศไปก่อน
นายกฯ กล่าวว่า ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนั้นเป็นเรื่องของพม่า ไทยทำเท่าที่ทำได้เพราะเป็นผลประโยชน์ของทุกประเทศโดยเฉพาะในอาเซียน ที่จะสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและเชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่นๆ รัฐบาลยืนยันว่าเราทำด้วยความโปร่งใส หากมีการลงทุนใด เราจะตรวจสอบทุจริตให้ได้ "อย่าเอาของเดิม ของใหม่มาปนกัน ของผมหลังวันที่ 22 พ.ค. ส่วนก่อนวันที่ 22 พ.ค.อยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็ว่ากันไป ไม่ไปก้าวล่วงตรงนั้น ส่วนของผมก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเหมือนกัน เราไม่มีอำนาจไปลงโทษ กรุณาเข้าใจ"
"บิ๊กโด่ง"ร่วม 35 ปีสถาปนา"พล.ม.2"
เมื่อเวลา 06.30 น. วันที่ 10 ต.ค. ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2รอ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. เป็นประธานในวันสถาปนา พล.ม. 2 รอ. ครบรอบ 35 ปี มีพล.ต.สมโภชน์ วังแก้ว ผบ.พล ม.2 รอ. ให้การต้อนรับ โดยพล.อ.อุดมเดชนั่งรถขบวนหมู่ทหารม้าเข้ามาบริเวณลานพิธี และขึ้นแท่นรับการเคารพจากกองทหารเกียรติยศ ก่อนถวายสักการะพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 และเข้าพิธีสงฆ์ นอกจากนี้จัดรถสายพานลำเลียงพลแบบ 85 จำนวน 20 คัน มาประกอบพิธี
พล.อ.อุดมเดช ให้โอวาทกำลังพลตอนหนึ่งว่า ขอชื่นชมในความทุ่มเท เสียสละของกำลังพลทุกนายที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังเพื่อพัฒนาศักยภาพของหน่วยและกองทัพบก พร้อมสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวมตลอดมา พล.ม.2 รอ. ได้สร้างชื่อเสียง ปฏิบัติราชการอย่างมีประสิทธิภาพมายาวนาน สนับสนุนงานของกองทัพบกให้สัมฤทธิผลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพล.ม.2รอ. ได้รับเกียรติสูงสุดที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยรักษาพระองค์เพื่อถวายความปลอดภัยแด่องค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ จึงขอให้ภาคภูมิใจ ขอให้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ด้วยอุดมการณ์ทหารอาชีพ มีความรักสามัคคี ซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม ตั้งใจจริงในการปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จ ยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ