- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 10 October 2014 10:24
- Hits: 3782
ปปช.ดันถอดถอน'ปู' ส่งสนช.ฟัน มติ 8:1 คดีรับจำนำข้าว พท.จับพิรุธข้อกฎหมาย'อำนวย'นั่งรมช.เกษตร 'ประยุทธ์'บินเยือนพม่า ร่างอภิวันท์ถึงไทย11ตค. 'บิ๊กโด่ง'ปรามจุดกระแส
สปช.เข้ารายงานตัววันที่สองคึกคัก 'พารณ'เล็งนัก กฎหมายนั่งประธาน
@ สปช.เข้ารายงานตัววันที่สอง
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 9 ตุลาคม ที่รัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เปิดให้สมาชิก สปช.เข้ารายงานตัวเป็นวันที่สอง ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยนายวิชัย ด่านรุ่งโรจน์ เดินทางเข้ารายงานตัวเป็นคนแรกในเวลา 08.10 น. ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ ที่ทยอยเข้ารายงานตัว อาทิ นายเจน นำชัยศิริ นายกาศพล แก้วประพาฬ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา นางสุกัญญา สุดบรรทัด พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ และนายชัย ชิดชอบ เป็นต้น ทั้งนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เดินทางมาตรวจความเรียบร้อยสถานที่รับรายงานตัวด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สปช.ที่มารายงานตัวในวันที่สองมีทั้งสิ้น 63 คน โดยรวมจากยอดของผู้ที่มารายงานตัวในวันแรก 41 คน เป็นจำนวน 104 คน ทั้งนี้ ยังคงเหลือสมาชิกที่ยังไม่มารายงานตัวอีก 146 คน โดยต้องมารายงานตัวภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
@ 'พารณ'มองนักกม.นั่งปธ.สปช.
นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา สมาชิก สปช.ที่มีความอาวุโสสูงสุด ให้สัมภาษณ์ถึงการทำหน้าที่ประธานชั่วคราวในการประชุม สปช.นัดแรก ในฐานะที่มีอาวุโสสูงสุด ว่า ในวันที่ 21 ตุลาคม เวลา 08.30 น. ตนจะซักซ้อมการทำหน้าที่เป็นประธานกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก่อนจะเริ่มการประชุมจริงในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เพื่อให้กระบวนการถูกต้อง ไม่เสียเวลาการประชุม ยืนยันว่าไม่หนักใจและไม่มีความกังวลใดๆ ส่วนบุคคลที่เหมาะสมจะทำหน้าที่เป็นประธาน สปช.นั้น มองว่าบุคคลที่เหมาะสมควรเป็นนักกฎหมายมือดี เพื่อที่จะสามารถตอบข้อซักถามต่างๆ ได้ ทุกฝ่ายให้การยอมรับสูง มีประสบการณ์ทำงานที่ใสสะอาด ไม่มีประวัติการฉ้อโกงหรือผิดขนบธรรมเนียมประเพณี แต่ยังไม่มีรายชื่อใครเป็นพิเศษ
@ 'บวรศักดิ์'จ่อควบปธ.ยกร่าง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สำหรับความเคลื่อนไหวตำแหน่งประธาน สปช. กับรองประธาน สปช. 2 คนนั้น สมาชิก สปช.ส่วนใหญ่ให้ความเห็นในการเสนอชื่อ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ สมาชิก สปช. เป็นประธาน สปช. และเสนอชื่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นรองประธาน สปช.คนที่ 1 และ น.ส.ทัศนา บุญทอง เป็นรองประธาน สนช.คนที่ 2 โดยขณะนี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวผู้ใหญ่บางคนได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังสมาชิก สปช. เพื่อขอคะแนนเสียงและรวบรวมผู้สนับสนุนให้กับทั้ง 3 คน ขณะที่สมาชิก สปช.ส่วนใหญ่ได้ติดต่อและพูดคุยกันแล้วและมีเสียงตอบรับไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมให้การสนับสนุนนายเทียนฉายเป็นประธาน สปช. และสนับสนุนให้นายบวรศักดิ์กับ น.ส.ทัศนา เป็นรองประธาน สปช.จำนวนมาก ทั้งนี้ สมาชิก สปช.ส่วนใหญ่เห็นว่านายเทียนฉายมีความเหมาะสม เพราะมีความอาวุโสและมาจากสายวิชาการ วางตัวเป็นกลางได้ดี อีกทั้งเคยเป็นอดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับนายบวรศักดิ์จะไปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญควบอีก 1 ตำแหน่งด้วย
น.ส.ทัศนา บุญทอง สมาชิก สปช. ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ทราบว่ามีชื่อเป็นแคนดิเดตรองประธาน สปช. ยังไม่มีใครติดต่อประสานมายังตน แต่หากเสนอชื่อขึ้นมาก็พร้อมจะทำงาน เพราะถือเป็นเกียรติยศสูงสุด
@ กกต.ส่งชื่อคนอกหัก 10 ต.ค.
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงาน กกต.ได้จัดเตรียมประวัติและรายละเอียดของผู้ที่เสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น สปช.ในส่วนของผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น สปช. ทั้งหมด 7,120 คน แบ่งเป็นเสนอชื่อเข้าสรรหาตามความเชี่ยวชาญ 11 ด้าน จำนวน 4,412 คน ส่วนจังหวัด 77 จังหวัด จำนวน 2,708 คน ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประสานมาเพื่อขอนำรายชื่อกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งอาจจะได้รับการพิจารณาเข้ามาช่วยเหลืองานด้านการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ คาดว่าน่าจะสามารถส่งประวัติดังกล่าวได้ภายในวันที่ 10 ตุลาคม
@ 'บิ๊กตู่'ชี้ปฏิรูปฟังทุกกลุ่ม
ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบินที่ 6 (บน.6) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงข่าวชี้แจงก่อนการเดินทางไปเยือนประเทศพม่า กรณีที่ สปช.แสดงความกังวลถึงกรอบระยะเวลา 6 เดือนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ขอให้ใจเย็นมีกำหนดการอยู่แล้ว ต้องเตรียมโรดแมปเช่นกัน จะเดินหน้าอย่างไรจะปฏิรูปให้มีความก้าวหน้าอย่างไร ไม่ใช่แค่ประชุมสภาลงความเห็นแล้วจะจบ หลายอย่างต้องถามว่ารัฐบาลเห็นชอบหรือไม่ หากเห็นชอบก็ต้องผ่าน สนช.ออกเป็นกฎหมาย และข้อมูลของ สปช.ที่มีการจัดทำเป็นรูปเล่ม 11 เล่ม เนื้อหามีความเห็นจากทุกสีเสื้อ จะเกิดข้อครหาว่าเสื้อสีโน้นสีนี้ไม่ได้เข้ามา ขอให้ไปดูได้ เพราะมีตัวแทนเข้ามาทั้งหมด แม้แต่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง ได้มาแสดงความคิดเห็น ทุกคนต่างมีความหวังดีกับประเทศ แต่ถึงวันนี้เมื่อไม่ได้มีการสมัครเข้ามาเป็น สปช. แต่จะดูความคิดเห็นทั้งหมดที่ผ่านมาด้วย ยืนยันว่าฟังความคิดเห็นจากทุกกลุ่ม ส่วนของนักวิชาการก็ได้มีเอาผลงานของผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น สปช. เข้ามาอยู่ในหัวข้อต่างๆ ด้วย จากผู้ที่ออกมาติติง และคณะปฏิรูปที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ทั้ง 3 คณะ เก็บหมดทุกเม็ด คู่ขัดแย้ง นักการเมือง เพียงแต่ว่าเวลามาสมัคร สปช.ไม่ได้มาสมัคร ต้องเข้าใจตรงนี้ ถ้าไม่เข้าใจพูดไปเท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์
@ ติงทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญอย่าเพิ่งกังวล ถ้าพูดจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น ควรทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องเล็กมาก ทำเรื่องเล็กมากให้ไม่มีปัญหา แต่กลับเอาเรื่องเล็กมาให้เป็นเรื่องใหญ่สุด เริ่มมาก็เอาเรื่องการเมือง สุดท้ายก็กลับมาที่ตนอีกว่า นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งเพื่อจะได้มีประสิทธิภาพ อย่าเพิ่งไปพูดถึงเรื่องเหล่านี้เลย วันนี้เป็นเพียงการเริ่มต้น การเมืองต้องเริ่มต้นโดยการเข้าสู่กระบวนการว่าเราจะเดินไปอย่างไร ใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล เรื่องนี้ก็ต้องไปคิดส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ต้องว่ากัน มีทั้งฝ่ายกฎหมายและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อย่าเพิ่งไปกังวล ถ้าทุกคนเห็นว่าประเทศชาติจะไปอย่างไรก็ไปตามนั้น คงไม่มีอะไรไปบังคับได้ ต้องฟังเสียงคนไทยทั้งประเทศ
@ กลุ่มอกหักนั่งสภาที่ปรึกษา
เมื่อถามว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย ได้เสนอรูปแบบเวทีแสดงความคิดเห็นสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น สปช.ในกลุ่ม 7,000 คน เข้ามาหรือยัง นายกฯกล่าวว่า ได้คุยกับนายวิษณุแล้ว มีรายละเอียดมาก จำไม่ได้ทั้งหมด และทุกคนจะต้องเป็นผู้อนุมัติ ดังนั้นจะให้พูดอะไรก่อนคงไม่ได้ เพราะบางเรื่องต้องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ได้กำชับไปกับทุกคนแล้วว่าอย่าเพิ่งพูดอะไรตอนนี้เดี๋ยวจะกลายเป็นปัญหา บางครั้งสื่อมวลชนมาถามข่าวก็หลุดออกไป อยากขอร้องสื่อว่าอย่าเพิ่งซักถามมาก เมื่อถามว่า มีรูปแบบใดบ้างที่ดูแล้วจะเป็นแนวทางที่ดี นายกฯกล่าวว่า ขณะนี้มี สปช. 250 คน แล้วจะพิจารณาคัดเลือกจากกลุ่มที่ 550 คน ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาตั้งขึ้นมาอีก 1 กลุ่ม เหมือนสภาที่ปรึกษา จากนั้นจะพิจารณาในส่วนของจังหวัด ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกมาเป็นกลุ่มที่ 2 และจะพิจารณาในส่วนที่นอกเหนือจากนี้ อาจจะไปดูแลในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เสนอแนะผ่าน กอ.รมน. ศูนย์ดำรงธรรม และทางจังหวัด โดยทุกคนจะมีส่วนร่วมในการปฏิรูป และขอร้องว่าอย่ากดดันรัฐบาลเพราะเป็นเรื่องของสภาปฏิรูป รัฐบาลมีหน้าที่เพียงการอำนวยความสะดวกไม่มีการชี้นำ ไม่มีการมุ่งสู่อำนาจในอนาคต ขอทำวันนี้ให้จบและในวันข้างหน้าประเทศเดินหน้าต่อไปโดยไม่มีความขัดแย้ง
@ ตั้ง'อำนวย'นั่งรมช.เกษตรฯ
เมื่อถามว่า จะแต่งตั้งนายอำนวย ปะติเส เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คงต้องมาช่วยกันมีการเสนอ ตอนนี้ปัญหาซับซ้อนกันมาก เมื่อถามย้ำว่า สรุปว่าใช่นายอำนวยใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ยิ้มก่อนกล่าวว่า "ไม่รู้ ให้รอดูการโปรดเกล้าฯก่อนแล้วกัน"
เมื่อถามว่า มีการเสนอชื่อขึ้นทูลเกล้าฯไปแล้วหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมมีชื่อแล้ว คิดไว้แล้ว ขอให้รอการโปรดเกล้าฯลงมา ทำไมจะต้องมาถามย้ำ มันอะไรนักหนา ก็ผมบอกว่าให้รอการโปรดเกล้าฯลงมา แล้วทำไมต้องมาถามอีกว่าทูลเกล้าฯไปแล้วหรือยัง จะถามด้วยไหมว่าผมเซ็นชื่อแล้วหรือยัง ก็ผมบอกแล้วว่าให้รอการโปรดเกล้าฯจะถามอะไรกันมากมาย"
@ อัดสื่อกดดันมาตรฐาน'รัชตะ'
ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปแล้วจะมีการปรับ ครม.กี่ตำแหน่งจะปรับให้ครบเต็มจำนวนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่า "ตอนนี้มีอยู่เท่าไหร่" เมื่อผู้สื่อข่าวตอบว่ามีรัฐมนตรี 33 คน ขาดอยู่ 2 ตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบคำถาม แต่ถามผู้สื่อข่าวว่า "แล้วอยากเป็นกันไหมล่ะ" เมื่อถามถึงกรณีที่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า 'เป็นเรื่องที่ นพ.รัชตะตัดสินใจเอง'เมื่อถามว่า จะทำให้เป็นบรรทัดฐานกับรัฐมนตรีคนอื่นที่มีตำแหน่งอื่นอยู่ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "จะให้เป็นบรรทัดฐานอะไร คุณอย่ามาโยงกับพวกผมสิ อย่ามาสร้างแรงกดดัน เขาเป็นข้าราชการประจำ พวกสื่อก็อย่านำมาโยงเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องนั้น มันเป็นคนละเรื่องนะ"
@ 'วิษณุ'เผย 15 วันเสนอกมธ.รธน.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการจำนวน 5 คนว่า ครม.ยังไม่ได้มีการหารือในเรื่องนี้ แต่ต่างคนอาจจะต่างคิดในใจอยู่บ้าง อาจจะไม่ถึงการระดมความคิดของ ครม.ทั้งหมด เมื่อส่งรายชื่อไปในนาม ครม. ต้องออกเป็นมติ ครม. จนถึงวันนี้ยังไม่มีการพูดถึง แต่ถ้าหากว่า สปช.มีการประชุมในวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งเป็นการประชุมวันแรก ทุกฝ่ายมีเวลาในการเสนอรายชื่อคนเข้าไปเป็นกรรมาธิการภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ 21ตุลาคม คิดว่า ครม.อาจจะเสนอรายชื่อเป็นลำดับสุดท้ายหลังจากส่วนอื่นเสนอชื่อไปหมดแล้วเพื่อเติมส่วนที่ขาด
"คงจะมีรัฐมนตรีบางคนที่เกี่ยวข้อง อาจจะคิดแล้วเมื่อถึงเวลาก็อาจจะเสนอ เผื่อท่านนายกฯถาม แต่สุดท้ายท่านนายกฯเองที่จะเอ่ยชื่อขึ้นมาเสนอให้ ครม.เห็นชอบ แต่ยืนยันว่ายังไม่ได้มีการคิดใน ครม." นายวิษณุกล่าว และว่า ส่วนของ ครม.ไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีด้วยได้ ต้องลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีก่อน เพราะต้องทำงานเต็มเวลา
@ ต้องยึดโยงรธน.ชั่วคราว
เมื่อถามว่า รายละเอียดของรัฐธรรมนูญในบางมาตราจะต้องยึดโยงกับรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ต้องยึดโยงกัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 35 กำหนดเอาไว้ว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องกำหนดเรื่องใดไว้บ้าง มีการกำหนดไว้จำนวน 10 เรื่อง บวกกับอีกหนึ่งวรรค ที่ระบุให้พิจารณาด้วยในเรื่องของการทบทวนองค์กรอิสระที่มีในรัฐธรรมนูญ อาทิ ป.ป.ช. กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนั้นจะเป็นเหมือนการบ้าน 10 บวก 1 ที่กรรมาธิการต้องนำไปคิด
"รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้บอกว่าใน 10 ข้อต้องเขียนออกมาอย่างไร แต่บอกหัวข้อเรื่องให้มีสิ่งเหล่านี้ แต่รายละเอียดจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาให้ไปคิดเอาเอง เช่น ทำอย่างไรจะป้องกันการทุจริตโกงเลือกตั้ง และกันไม่ให้คนที่ทุจริตโกงเลือกตั้งกลับเข้าสู่วงการการเมืองตลอดไป รัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนแค่นี้ แต่จะไปหาทาง ยังไงกรรมาธิการยกร่างต้องไปคิดหาทางเอง" นายวิษณุกล่าว และว่า สปช.มีเวลาอีก 60 วัน ในการแจ้งคณะกรรมาธิการยกร่างว่าจะนำไปร่างในลักษณะใด และนอกจากนี้คณะกรรมาธิการยกร่างจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
@ วางกรอบวิธีการตั้งโจทย์
"วิธีตั้งโจทย์คือนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาดู อะไรที่เราชอบใจ ก็กำหนดเป็นกรอบให้เขียนแบบเดิม อะไรที่ไม่พอใจก็ต้องให้โจทย์ไปว่าอย่าเขียนแบบนั้น รวมทั้งเรื่องนายกฯมาจากไหน การเลือกตั้งจะเลือกยังไง จะเป็นแบบเขต พวงใหญ่พวงเล็ก ปาร์ตี้ลิสต์จะมีหรือไม่ ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่" นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า แบบนี้จะเหมือนว่าการร่างรัฐธรรมนูญมีใบสั่งหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า พูดตรงๆ ว่าหน้าที่ของการร่างรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของกรรมาธิการยกร่าง ดังนั้นการที่บอกว่าการที่ สปช.ให้กรอบเป็นใบสั่งก็ไม่ใช่ เพราะเป็นหน้าที่ของเขา เพียงแต่จะมากความเพราะมีคนมากถึง 250 คน จึงจำเป็นจะต้องตั้ง 36 คน ไปเป็นคณะกรรมาธิการที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญตามกรอบที่มีการเสนอ โดยมีเวลาร่างเพียง 120 วัน แต่ไม่ใช่ว่าร่างเสร็จแล้วจะประกาศบังคับใช้ได้ทันที ที่จะมีการนำไปถามความเห็นจาก สปช. สนช. ครม. และ คสช.พิจารณา จะใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน ซึ่งทุกขั้นตอนกำหนดเวลาไว้หมดแล้วจะเบี้ยวไม่ได้
@ ไม่บังคับต้องลงประชามติ
นายวิษณุกล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่างไม่ได้ถูกบังคับว่าต้องลงประชามติ เพราะคิดว่าถ้าบังคับนั่นหมายความว่าต้องทำ เพราะถ้าทำแล้วผลดีก็มี ผลเสียก็มี ผลดีก็คือการตอบความในใจของประชาชนที่อยากมีส่วนร่วม ผลเสียก็คือใช้เวลาอีกนานในการพิมพ์เผยแพร่ สร้างความเข้าใจ และเข้ากระบวนการเข้าคูหากาบัตรทำประชามติเหมือนกับการเลือกตั้ง
@ 'รัชตะ'อ้าง15ต.ค.ชัดเจน
ที่สถาบันพระปกเกล้า ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) บรรยายพิเศษ เรื่อง'ธรรมาภิบาลกับวงการแพทย์ไทย'ในการสัมมนาหลักสูตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ เพื่อผู้บริหารระดับสูงรุ่นที่ 3 จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า ว่า ตนจะทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นกระทรวงสีขาว โดยได้ประกาศเป็นนโยบายเรื่องธรรมาภิบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายบุคคล แนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างที่ชัดเจนและต่อต้านการทุจริต ซึ่งการจะตรวจจับบุคคลที่ทุจริตได้ต้องมีคนช่วยจับหรือเป่านกหวีดว่ามีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นตรงจุดใด แต่ปัจจุบันมีปัญหาว่าคนที่เห็นกับตาไม่กล้าแสดงตัวในการตรวจจับผู้ทุจริต เพราะเกรงภัยจะมาถึงตัว ในส่วนของ สธ.ต้องมีการฝึกอบรมคนที่จะให้ข้อมูลในเรื่องคอร์รัปชั่น
ผู้สื่อข่าวสอบถามกรณีสารถึงชาวมหิดลที่ลงชื่อ ศ.นพ.รัชตะ โดยระบุว่าจะเลือกตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น จะมีการยื่นหนังสือลาออกอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลหรือไม่ ศ.นพ.รัชตะกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "ทุกอย่างขอให้รอวันที่ 15 ตุลาคมนี้ เป็นวันที่มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล โดยขอให้รอในวันนั้นดีกว่า"
@ มติปปช.ส่งสนช.ถอดถอน'ปู'
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงการพิจารณาส่งสำนวนคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีโครงการรับจำนำข้าวไปให้ สนช.พิจารณาถอดถอนว่า ป.ป.ช.มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ยืนยันให้ส่งรายงานการไต่สวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมเอกสารความเห็นไปยังประธาน สนช. เพื่อดำเนินการถอดถอนตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยเป็นการชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามมติเดิมที่เคยชี้มูลว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11(1) กรณีไม่ยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งเป็นมูลเหตุให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 270 ประกอบ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 58 แม้มีการระบุความผิดใน 2 กฎหมายคือ รัฐธรรมนูญปี 2550 กับ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 จะไม่มีผลบังคับใช้แล้ว แต่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ไม่ได้ถูกยกเลิกไป ทั้งนี้คาดว่าจะส่งสำนวนการถอดถอนดังกล่าวไปให้ สนช.ได้ในสัปดาห์หน้า ส่วนการถอดถอนอดีต 39 ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ คาดว่าจะส่งเรื่องให้ที่ประชุม ป.ป.ช.พิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า
@ 'พิชิต'สงสัยปมข้อกฎหมาย
นายพิชิต ชื่นบาน ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) และที่ปรึกษากฎหมายทีมทนายความคดีโครงการรับจำนำข้าว กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่า 1.ทำไมต้องเร่งรีบ รวบรัด ทั้งๆ ที่มีข้อโต้แย้งถึงรายงานและสำนวนการสอบสวนของอัยการสูงสุดว่าคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนั้นมีข้อไม่สมบูรณ์ การไต่สวนพยานหลักฐานที่ผ่านมายังไม่สิ้นกระแสความในหลายประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ และข้อไม่สมบูรณ์ถือเป็นองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ อันเป็นมูลเหตุที่มีการกล่าวหาในคดีอาญา และคดีถอดถอนออกจากตำแหน่ง เมื่อเหตุของการส่งเรื่องสำนวนและรายงานยังไม่สมบูรณ์ ผลที่ สนช.จะไปดำเนินการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะสมบูรณ์ได้อย่างไร เพราะเมื่อองค์กรในกระบวนการยุติธรรมในทางอาญาด้วยกันยังโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายอยู่ นอกจากนี้ คดีถอดถอนก่อนการชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ป.ป.ช.ไปผูกรวมไว้กับคดีอาญา ทั้งๆ ที่เป็นคนละกรณีกัน และทีมทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โต้แย้งการรวมคดีมาตลอด ป.ป.ช.ไม่รับฟัง แต่เมื่อคดีอาญาถูกอัยการสูงสุดชี้ว่ามีข้อไม่สมบูรณ์ ทำไมเวลานี้ ป.ป.ช.กลับจะแยกสำนวนถอดถอนออกจากสำนวนคดีอาญา ไม่รอว่าผลที่สุดคดีอาญาจะมีผลเป็นประการใด แม้เทคนิคทางกฎหมาย ป.ป.ช.จะอ้างว่าทำได้แต่ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมด้วย
@ วอนสนช.ตรวจสอบมติป.ป.ช.
นายพิชิตกล่าวว่า 2.มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขัดแย้งในตัวเอง เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำผิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 แต่จากการให้เหตุผลในการส่งเรื่องคดีถอดถอนให้แก่ สนช. มติของ ป.ป.ช.กลับไม่กล่าวถึงมูลเหตุให้ถูกถอดถอนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 อีก กลับอ้างกฎหมายลูกคือ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มีคำถามว่าทำไมต้องใช้เทคนิคทางกฎหมาย โดยไปอ้างกฎหมายลูกที่มีลำดับรองจากรัฐธรรมนูญในการส่งเรื่องให้สภา สนช. เพราะเหตุใด ป.ป.ช.จึงสละประเด็นที่มีการชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ทิ้งเสีย ดังนั้น คำตอบเรื่องนี้น่าจะตัดสิ้นได้ว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ป.ป.ช. มีมติว่าอย่างไร ซึ่งคำตอบคือ ป.ป.ช.มีมติว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงโดยเฉพาะ มาตรา 270 เรื่องการถอดถอนจึงไม่อาจดำเนินการใดๆ ต่อไปได้อีก จึงขอเรียกร้องต่อ สนช.ตรวจสอบมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ว่ามูลเหตุแห่งการดำเนินคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ ป.ป.ช.กล่าวหาและมีมติคือ เรื่องกระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 ใช่หรือไม่ หากใช่ก็ต้องพิจารณาว่าเมื่อรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงแล้วสภา สนช.จะดำเนินคดีถอดถอนได้หรือไม่ เพราะหากเหตุไม่สมบูรณ์ผลก็ย่อมไม่สมบูรณ์ตามไปด้วย
@ ร่างอภิวันท์ถึงไทย 11 ต.ค.
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการเลื่อนกำหนดรับร่าง พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการกิจการพรรค พท. ที่เสียชีวิตที่ประเทศฟิลิปปินส์ออกไปเป็นวันที่ 11 ตุลาคม เวลา 15.20 น. เที่ยวบิน TG 621 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากเดิมวันที่ 10 ตุลาคม เนื่องจากขั้นตอนการเตรียมเอกสารยังไม่พร้อม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะมีกลุ่มคนที่เคารพรัก พ.อ.อภิวันท์ไปรับศพที่สนามบินจำนวน 300-400 คน เป็นการไปให้กำลังใจ ไม่มีกิจกรรมการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น จึงไม่ต้องกังวลเรื่องกฎอัยการศึก ขณะที่กลุ่ม ส.ส.ที่สนิท และ ส.ส.ที่อยู่จังหวัดใกล้เคียงจะไปรอรับศพที่วัดบางไผ่ จ.นนทบุรี ในบ่ายวันที่ 11 ตุลาคม ยืนยันว่าไม่มีคำสั่งจากทหารห้ามไปรับศพ พ.อ.อภิวันท์ ส่วนกำหนดการรดน้ำศพจะจัดขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคม
@ 'ตู่'โพสต์ชวนแดงไว้อาลัย
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่องเดียวกันว่า "ขอเชิญพี่น้องร่วมไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายให้กับ พ.อ.อภิวันท์ ตามกำหนดการเบื้องต้นดังนี้ วันที่ 11 ต.ค. เวลา 15.20 น. ถึงประเทศไทยด้วย TG 621 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และวันที่ 12 ต.ค. เวลา 13.00 น. รดน้ำศพ ณ วัดบางไผ่ จ.นนทบุรี"
@ 'วรชัย'วอนหยุดอาฆาตคนตาย
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) และแกนนำ นปช.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระ ได้ยื่นหนังสืองดขอพระราชทานเพลิงศพของ พ.อ.อภิวันท์ ว่า คนที่ยื่นงดขอพระราชทานเพลิงศพก็เป็นสิทธิของเขา เพราะตนเห็นว่า พ.อ.อภิวันท์ได้เสียชีวิตไปแล้วก็ไม่เคยทำอะไรให้ใคร จึงถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องเป็นการทำให้ราชเลขาธิการอึดอัดใจ
@ 'บิ๊กโด่ง'ฮึ่มอย่าจุดกระแส
ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงการเคลื่อนไหวใต้ดินที่จะต่อต้านการทำงานของ คสช.ว่า ยอมรับว่าแนวความคิดของคนเป็นเรื่องเปลี่ยนยาก ให้แต่ละกองทัพภาคได้ไปทำความเข้าใจกับประชาชนทุกพื้นที่ เพราะรู้ว่าพื้นที่ใดเรียบร้อยและมีพื้นที่ใดไม่เรียบร้อย หรือพื้นที่ใดหนักหรือเบา อีกทั้งก็รู้ว่ามีใครคิดอะไรอยู่ ได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ให้ควบคุมสถานการณ์ให้ได้
ส่วนกรณีที่มีบางกลุ่มพยายามจะใช้ประเด็นงานศพของ พ.อ.อภิวันท์ มาเคลื่อนไหวนั้น คิดว่าเรื่องดังกล่าวทางนายกฯ และรองนายกฯได้พูดชัดเจนว่าเรื่องพิธีกรรมนั้นเป็นเรื่องปกติ สามารถดำเนินการได้ เพียงแต่อย่านำประเด็นดังกล่าวมาจุดกระแส