- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 10 October 2014 10:04
- Hits: 3635
วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8717 ข่าวสดรายวัน
ทบ.ห่วงจุดกระแส 'แดง'แห่ วันรับศพอภิวันท์ กลับไทยพรุ่งนี้ ตั้งรมช.แก้ยาง สปช.พร้อมหนุน เทียนฉายนั่งปธ. มติปปช.ส่งสนช. ถอด'ปู'จำนำข้าว
เยือนพม่า - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯพร้อมคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยาน กรุงเนปิดอว์ เพื่อเยือนสหภาพเมียนมาร์ มีนายวันนะ หม่อง ลวิน รมว.ต่างประเทศ เมียนมาร์ ต้อนรับ |
'บิ๊กตู่'เสริมทัพครม. ดึง 'อำนวย ปะติเส'นั่งรมช.เกษตรฯ คุมแก้'ยาง'ทั้งระบบ ลั่นอย่านำเรื่อง'รัชตะ'เลิกควบ มากดดันรัฐมนตรี คนอื่นๆ 'ปนัดดา'อ้างรธน.ชั่วคราวไม่ห้าม เช็กเสียงสปช.พร้อมหนุน'เทียนฉาย'นั่งเก้าอี้ประธาน'บวรศักดิ์-ทัศนา'เป็นรองประธาน ป.ป.ช.มีมติส่งสนช.ถอดถอน'ปู'คดีรับ จำนำข้าว พร้อมเรียก'บิ๊กติ๊ก'เข้าชี้แจงยื่นทรัพย์สินผิดพลาด ศพ"อภิวันท์"เลื่อนกำหนดถึงไทย 11 ต.ค. เพื่อไทยเบรกมวลชนแห่รับ'บิ๊กโด่ง'สั่งจับตาใกล้ชิด
ตั้ง'อำนวย'นั่งรมช.เกษตรอีก
วันที่ 9 ต.ค. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ผู้ช่วยรมว.เกษตรฯ เผยว่า กระทรวงเกษตรฯเสนอชื่อ นายอำนวย ปะติเส อดีตรมช.คลัง สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย มาดำรงตำแหน่งรมช.เกษตรฯ เพื่อดูแลเรื่องยางทั้งระบบที่ขณะนี้ยังมีปัญหาอยู่ ขั้นตอนคงรอเพียงการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงมาเท่านั้น
'อำนวย'โชว์โมเดลแก้ยาง
ด้านนายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯ ปฏิเสธจะแสดงความเห็นถึงข่าวได้รับแต่งตั้งเป็นรมช.เกษตรฯ ว่า ยังไม่ทราบเพราะยังไม่มีการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่ในฐานะที่ปรึกษารมว.เกษตรฯ เตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง อีกไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ก่อนถึงฤดูกาลกรีดยางรอบใหม่ ช่วงปลายต.ค.ถึงต้นพ.ย.นี้ กระทรวง เกษตรฯจะออกชุดมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตตกต่ำ ต้องใช้การบริหารจัดการยางทั้งระบบที่คล้ายกับการบริหารจัดการข้าว
"ข้าวและยางพาราถือเป็นสินค้าคู่แฝด มีปัญหาคล้ายๆ กันทั้งเรื่องผลผลิตที่ตกต่ำ ตลาดโลกมีการบริโภคน้อยลง จึงจำเป็นต้องใช้โมเดลเดียวกับการบริหารจัดการข้าว แต่ในแพ็กเกจนี้ ยืนยันจะมีเงินช่วยเหลือเข้าไปถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรงแน่นอน"
บิ๊กตู่ให้รอโปรดเกล้าฯ
เวลา 13.30 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวปรับครม.โดยแต่งตั้งนายอำนวย ดำรงตำแหน่งรมช.เกษตรฯ ว่า ต้องมาช่วยกัน ก็มีการเสนอ ตอนนี้ปัญหามันทับซ้อนกันมาก
เมื่อถามย้ำว่าสรุปว่า นายอำนวยใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ยิ้มก่อนกล่าวว่า ไม่รู้ ให้รอดูการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมก่อนแล้วกัน "ผมมีชื่อแล้ว คิดไว้แล้ว ขอให้รอการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงมา ทำไมต้องมาถามย้ำ มันอะไรนักหนา ผมบอกว่าให้รอการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแล้วทำไมต้องมาถามอีกว่าทูลเกล้าทูลกระหม่อมไปแล้วหรือยัง จะถามด้วยไหมว่าผมเซ็นแล้วหรือยัง ผมบอกแล้วว่าให้รอโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจะถามอะไรกันมาก"
ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปแล้วจะปรับครม.กี่ตำแหน่ง จะปรับให้ครบเต็มจำนวนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า ตอนนี้มีอยู่เท่าไร ผู้สื่อข่าวตอบว่ามีรัฐมนตรี 33 คน ขาดอยู่ 2 ตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบคำถาม แต่หันไปกระเซ้าผู้สื่อข่าวว่า แล้วอยากเป็นกันหรือไม่
หงุดหงิดถูกจี้ถามปม'ถอดถอน'
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงปัญหาการตีความอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่รับเรื่องมาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า เรื่องนี้มันเกิดขึ้นและเสร็จแล้วหรือยัง ที่ถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไม่มีอยู่แล้วนั้น สื่อเป็นนักกฎหมายหรือ จบกฎหมายกันมาหรืออย่างไร ให้ฝ่ายกฎหมายเขาคุยกันก่อนดีกว่า ตนไม่รู้เหมือนกันว่ามีหรือไม่มีอำนาจในเรื่องการถอนถอน รัฐธรรมนูญอยู่หรือไม่อยู่ ถ้าบอกว่าเรื่องนี้ไม่ให้ถอดถอน คนที่เห็นด้วยเขาก็บอกว่าไม่ถอดถอน แต่คนอีกกลุ่มก็บอกว่าถอดถอนได้ วันนี้มันมีอยู่ 2 ข้างแล้วจะให้ตัดสินใจอย่างไร ถึงขณะนี้เขายังตัดสินใจอะไรไม่ได้สักอย่าง มันเป็นแบบนี้อยู่ตลอด จะไปไหนก็ไปไม่ได้
"ผมก็ยังไม่รู้ ยังพูดอะไรไม่ได้ จะบอกว่าอะไรถูกหรือผิดยังไม่ได้ เรื่องนี้ต้องให้ผู้ที่รับผิดชอบหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตัดสินใจ พอจะเริ่มพูดหรือแสดงความเห็น พวกคุณก็ออกมาแสดงความเห็น แล้วมันจะทำอย่างไรกับประเทศดี ปล่อยให้คนที่รับผิดชอบทำงานกันบ้าง สื่อเองขอให้เสนอข้อเท็จจริง อย่าไปแสดงความคิดเห็นมากนัก ให้คนเขาคิดและทำงาน เราต้องช่วยกันรับผิดชอบ ไม่ใช่คุ้ยกันไปเรื่อย สร้างปัญหาต่อไปเรื่อยๆ แล้วใครรับผิดชอบ ผมคนเดียวที่ต้องรับผิดชอบ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์
ร่างรธน.รับฟังทุกฝ่าย
เมื่อถามว่าสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แสดงความกังวลเรื่องกรอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 6 เดือน นายกฯ กล่าวว่า ขอให้ใจเย็นๆ เขามีกำหนดการอยู่แล้ว สปช.ต้องเตรียมโรดแม็ปของเขาเช่นกันว่าเหลือเวลาเท่าไร จะเดินหน้าอย่างไร จะปฏิรูปให้ก้าวหน้าอย่างไร ไม่ใช่แค่ประชุมสภาปฏิรูปลงความเห็นแล้วจบ หลายอย่างต้องถามว่ารัฐบาลเห็นชอบหรือไม่ หากเห็นชอบก็ต้องผ่าน สนช.ออกเป็นกฎหมาย และข้อมูลของสปช.ที่จัดทำเป็นรูปเล่ม 11 เล่ม เนื้อหามีความเห็นจากทุกสีเสื้อ ขอให้ไปดูได้เพราะมีตัวแทนเข้ามาทั้งหมด แม้แต่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง ก็มาแสดงความคิดเห็น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกคนต่างหวังดีกับประเทศ ถึงไม่ได้สมัครเป็น สปช. แต่เราจะดูความคิดเห็นทั้งหมดที่ผ่านมาด้วย ยืนยันเราฟังความคิดเห็นจากทุกกลุ่มทั้งนักวิชาการ ก็เอาผลงานของผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นสปช. เข้ามาอยู่ในหัวข้อต่างๆ ด้วย ผู้ที่ออกมาติติง และคณะปฏิรูปที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ทั้ง 3 คณะ เราเก็บหมดทุกเม็ด คู่ขัดแย้ง นักการเมือง เพียงแต่เวลามาสมัคร สปช.เขาไม่ได้มาสมัคร ฉะนั้น ต้องเข้าใจตรงนี้ ถ้าไม่เข้าใจ พูดไปก็เท่านั้นไม่เกิดประโยชน์
อย่าเพิ่งพูดนายกฯเลือกตั้ง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า อย่าเพิ่งกังวล ถ้าพูดมาเดี๋ยวถูกหยิบยกเป็นประเด็น เราควรทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องเล็กมาก ทำเรื่องเล็กมากให้ไม่มีปัญหา แต่กลับเอาเรื่องเล็กมาเป็นเรื่องใหญ่สุด เริ่มมาก็เอาเรื่องการเมือง สุดท้ายกลับมาที่ตนอีกว่า นายกฯต้องมา จากการเลือกตั้งเพื่อจะได้มีประสิทธิภาพ อย่าเพิ่งพูดถึงเรื่องเหล่านี้เลย วันนี้เป็นเพียงการเริ่มต้น การเมืองต้องเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการว่าจะเดินไปอย่างไร ใครจะเป็นรัฐบาล เรื่องนี้ต้องไปคิด ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น ต้องมาว่ากัน มีทั้งฝ่ายกฎหมายและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อย่าเพิ่งกังวลถ้าทุกคนเห็นว่าประเทศชาติจะไปอย่างไรก็ไปตามนั้น คงไม่มีอะไรไปบังคับได้ เราต้องฟังเสียงคนไทยทั้งประเทศ
เมื่อถามว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯเสนอรูปแบบเวทีแสดงความคิดเห็นสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นสปช.ในกลุ่ม 7,000 คนเข้ามาหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า ได้คุยกับนายวิษณุแล้ว มีรายละเอียดมาก จำไม่ได้ทั้งหมดและตนต้องเป็นผู้อนุมัติ ดังนั้นจะให้พูดอะไรก่อนคงไม่ได้ เพราะบางเรื่องต้องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ตนจึงกำชับทุกคนแล้วว่าอย่าเพิ่งพูดอะไรตอนนี้ เดี๋ยวจะกลายเป็นปัญหา บางครั้งสื่อมาถามข่าวก็หลุดออกไป อยากขอร้องสื่อว่าอย่าเพิ่งซักมาก
อย่าโยง'รัชตะ'กดดันรมต.
เมื่อถามว่ามีรูปแบบใดบ้างที่ดูแล้วจะเป็นแนวทางที่ดี นายกฯกล่าวว่า ขณะนี้เรามีสปช. 250 คนแล้วจะพิจารณาคัดเลือกจากกลุ่ม 550 คน ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาตั้งอีก 1 กลุ่ม เหมือนสภาที่ปรึกษา จากนั้นจะพิจารณาในส่วนของจังหวัดที่ไม่ผ่านการคัดเลือกมาเป็นกลุ่มที่ 2 และจะพิจารณาในส่วนที่นอกเหนือจากนี้ ซึ่งอาจดูแลในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เสนอแนะผ่าน กอ.รมน. ศูนย์ดำรงธรรมและทางจังหวัด ทุกคนจะมีส่วนร่วมปฏิรูป และขอร้องว่าอย่ากดดันรัฐบาลเพราะมันไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องของสภาปฏิรูป รัฐบาลมีหน้าที่อำนวยความสะดวก ไม่มีการชี้นำ ไม่มีการมุ่งสู่อำนาจในอนาคต ขอทำวันนี้ให้จบและในวันข้างหน้าประเทศเดินหน้าต่อไปโดยไม่มีความขัดแย้ง
เมื่อถามถึงกรณีนพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ลาออกจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ นพ.รัชตะ ตัดสินใจเอง เมื่อถามว่าจะทำให้เป็นบรรทัดฐานกับรัฐมนตรีคนอื่นที่มีตำแหน่งอื่นอยู่ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า จะให้เป็นบรรทัดฐานอะไร สื่ออย่ามาโยงกับพวกตน อย่ามาสร้างแรงกดดัน เขาเป็นข้าราชการประจำ พวกสื่ออย่านำมาโยงเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องนั้น มันเป็นคนละเรื่อง
'ปนัดดา'อ้างรธน.ไม่ห้าม
ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการดำรงสองตำแหน่งทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง ที่มีการวิจารณ์เปรียบเทียบกับกรณี นพ.รัชตะ ลาออกจากอธิการบดี มม. ว่า ตนถือว่าที่ได้รับตำแหน่งให้เข้ามาปฏิบัติงานเพราะได้รับความไว้วางใจจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และไม่มีข้อกำหนดใดตามรัฐธรรมนูญห้ามเอาไว้ ส่วนกรณีของมหาวิทยาลัยนั้นไม่ขอวิจารณ์เพราะอาจมีข้อกำหนดอื่นที่ไม่เหมือนกัน นอกจากนั้นงานบริหารของรัฐบาลถือเป็นเรื่องเฉพาะกิจที่ทุกฝ่ายเข้ามาเร่งรัดแก้ไขปัญหาของประเทศให้เรียบร้อยโดยเร็ว
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าประเด็นดังกล่าวจะถูกนำมาเป็นบรรทัดฐานเปรียบเทียบกับการควบตำแหน่งของรัฐมนตรีคนอื่นๆ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ตนไม่วิจารณ์ ส่วนที่มองว่าการดำรง 2 ตำแหน่ง มีผลถึงการรับเงินค่าตอบแทนหรือเงินประจำตำแหน่งหรือไม่นั้น ตนไม่กังวลเพราะกฎหมายกำหนดไว้ละเอียดว่าการดำรงตำแหน่งมากกว่าหนึ่งต้องรับเพียงทางเดียว ทั้งนี้ ตนบริสุทธิ์ใจเพราะรับราชการมาด้วยความซื่อสัตย์ตลอดชีวิต
'บิ๊กนมชง'ก้าวข้ามประเด็นควบ
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ในฐานะรองผบ.ทบ. กล่าวถึงกรณีนพ.รัชตะ เลิกควบ ว่า เรื่องนี้เป็นความกดดันของหน่วยงานและเป็นเรื่องส่วนตัวของนพ.รัชตะ วันนี้เราเลยจุดตรงไหนไปหมดแล้ว คนใดที่สามารถเข้ามาช่วยทำงานเพื่อประเทศชาติได้ ต้องเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องมองประเด็นนี้มากกว่าเรื่องส่วนตัว ยึดประเทศชาติเป็นหลัก
"ความจริงนพ.รัชตะ ไม่ต้องลาออกก็ได้เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ระบุว่าข้าราชการประจำไม่สามารถเป็นข้าราชการทางการเมืองได้ คิดว่าเป็นเรื่องภายในหน่วยงานของเขา ซึ่งเป็นคนละหน่วยงานกัน วันนี้ประเทศชาติเสียหายมาเยอะแล้ว ฉะนั้นใครที่มีความรู้ ความสามารถ และทำงานได้ก็น่าจะเข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนประเทศชาติให้เดินหน้าไป รัฐมนตรีทุกคนที่เข้ามาทำงานไม่ได้มุ่งหวังเรื่องลาภยศสรรเสริญใดๆ เพียงแต่คิดว่าเราควรมาร่วมกันทำงานเท่านั้น คงต้องก้าวข้ามประเด็นเหล่านี้ให้ผ่านพ้นไปได้แล้ว เพื่อให้ประเทศเจริญก้าวหน้าต่อไป"พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว
'อภิรดี'ยันนั่งรมต.เก้าอี้เดียว
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ตนได้ลาออกจากทุกตำแหน่งก่อนมารับตำแหน่งรมช.พาณิชย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติถือว่าต้องทำก่อนที่จะมารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ตำแหน่งที่นางอภิรดี ลาออกไปก่อนรับตำแหน่งรมช.พาณิชย์ คือประธานบริหาร สถาบันนานาชาติเพื่อเอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กรรมการอิสระ บริษัท POSCO Thainox จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัทโบลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด
'อภิวันท์'เลื่อนถึงไทย11ต.ค.
นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตส.ส. นนทบุรี พรรคเพื่อไทย เผยว่า กำหนดการรับศพพ.อ.อภิวินท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กลับไทย ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่จะมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 10 ต.ค. เลื่อนเป็นวันที่ 11 ต.ค. โดยเที่ยว TG 621 ถึงไทยเวลา 15.20 น. เนื่องจากต้องรอความเรียบร้อยในขั้นตอนการดำเนินการด้านเอกสาร
ส่วนที่มีกลุ่มมวลชนเตรียมรอรับที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายอุดมเดชกล่าวว่า หากมีกลุ่มคนไปรอรับจำนวนมากอาจไม่สะดวก เนื่องจากมีขั้นตอนการประสานเคลื่อนย้ายผู้เสียชีวิต รวมถึงระเบียบข้อกำหนดของการท่าอากาศยาน (ทอท.) ที่อนุญาตเฉพาะผู้เกี่ยวข้องเข้าไปภายในได้เท่านั้น ดังนั้น หากไปรวมตัวเพื่อแสดงความเคารพและแสดงความเสียใจกับญาติที่วัด จะดีกว่า และไม่สมควรไปรวมตัวเพราะมีเจตนาแสดงสัญลักษณ์ใดๆ เพราะต้องให้เกียรติผู้เสียชีวิต ไม่ควรไปเคลื่อนไหวใดๆเพราะยังมีเวทีอื่นๆ ที่เปิดให้แสดงออก
จตุพร ปรามมวลชนแห่รับ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. โพสต์เฟซบุ๊กเชิญพี่น้องร่วมไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายให้กับพ.อ.อภิวันท์ ตามกำหนดการเบื้องต้น วันที่ 11 ต.ค. เวลา 15.20 ถึงประเทศไทยด้วย TG 621 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 12 ต.ค. เวลา 13:00 น. รดน้ำศพที่วัดบางไผ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี และให้สัมภาษณ์ว่า การมีมวลชนจะไปรอรับถือเป็นสิทธิ์ของบุคคลนั้น แต่ขอให้อยู่กรอบที่เหมาะสม หากไม่สะดวกก็แสดงความอาลัยได้ที่วัดบางไผ่ ส่วนกำหนดสวดพระอภิธรรมศพอยู่ระหว่างการหารือของญาติและบุคคลใกล้ชิด
นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เชื่อว่าจะมีกลุ่มคนที่รักและเคารพ พ.อ.อภิวันท์ ไปรับศพที่สนามบิน 300-400 คน เป็นการไปให้กำลังใจ ไม่มีกิจกรรมการเมืองใดจึงไม่ต้องกังวลเรื่องกฎอัยการศึก และขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งห้ามจากทหารไม่ให้ไปรับศพพ.อ.อภิวันท์ ส่วนกลุ่มส.ส.ที่ใกล้ชิดพ.อ.อภิวันท์ และอดีตส.ส.จังหวัดใกล้เคียงจะไปรอรับร่าง ผู้เสียชีวิตที่วัดบางไผ่ ในวันเดียวกัน ส่วนกำหนดการรดน้ำศพจัดขึ้นในวันที่ 12 ต.ค.นี้
นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนักวิชาการบางคนยื่นหนังสืองดขอพระราชทานเพลิงศพ พ.อ.อภิวันท์ ว่า ถือเป็นสิทธิของเขา แต่มองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะทำให้ราชเลขาธิการอึดอัดใจ พ.อ.อภิวันท์ เป็น คนไทยคนหนึ่ง เคยได้รับพระราชทาน สายสะพายก็เป็นสิทธิที่ควรได้รับพระราช ทานเพลิงศพ ข้อกล่าวหาที่ถูกตั้งขึ้นก็ยังไม่มีการตัดสินของศาลว่าผิดจริงหรือไม่ จึงไม่อยากให้อาฆาตพยาบาทกับคนที่เสียชีวิต ไปแล้ว
ทบ.จับตางานศพ'อภิวันท์'
ที่กองบัญชาการกองทัพบก(บก.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผบ.ทบ. กล่าวถึงการเคลื่อนไหวใต้ดินต่อต้านการทำงานของคสช. ว่า ยอมรับว่าความคิดของคนเปลี่ยนยาก ทบ.ติดตามสถานการณ์มาตลอด ภายใต้การดูแลของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) โดยให้แต่ละกองทัพภาคไปทำความเข้าใจกับประชาชนทุกพื้นที่ เพราะรู้ว่าพื้นที่ใดเรียบร้อยและพื้นที่ใดไม่เรียบร้อย หรือพื้นที่ใดหนักหรือเบา อีกทั้งรู้ว่ามีใครคิดอะไรอยู่ นายกฯให้โอกาสทุกฝ่ายเดินเข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจกัน เพื่อให้เกิดความปรองดอง ตนเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ให้ควบคุมสถานการณ์ให้ได้
พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ส่วนที่มีบางกลุ่มพยายามจะใช้ประเด็นงานศพของพ.อ. อภิวันท์ วิริยะชัย มาเคลื่อนไหวนั้น คิดว่า นายกฯ และรองนายกฯพูดชัดเจนว่าเรื่องพิธีกรรมนั้นเป็นเรื่องปกติ ดำเนินการได้ แต่อย่านำประเด็นดังกล่าวมาจุดกระแสเพราะไม่เหมาะสมและทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่มีการติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว
'ปู'กราบสมเด็จวัดปากน้ำ
เวลา 12.00 น. ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายอุดมเดช รัตนเสถียร พร้อมคณะ เข้ากราบนมัสการสมเด็จ พระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เนื่องในเทศกาลออกพรรษา
สปช.รายงานตัววันที่สองคึกคัก
เวลา 08.00 น. ที่รัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการ สปช. เปิดให้สมาชิก สปช.เข้ารายงานตัวเป็นวันที่ 2 บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก นายวิชัย ด่านรุ่งโรจน์ เข้ารายงานตัวเป็นคนแรกในเวลา 08.10 น. ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ ที่ทยอยเข้ารายงานตัว อาทิ นายเจน นำชัยศิริ นายกาศพล แก้วประพาฬ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา นางสุกัญญา สุดบรรทัด พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นต้น ทั้งนี้ต่อมาเวลา 08.35 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เดินทางมาตรวจความเรียบร้อยสถานที่รับรายงานตัวของ สปช.ด้วย พร้อมให้สัมภาษณ์ถึงการ คัดเลือกประธานสปช. คาดว่าจะเป็นวันที่ 21 ต.ค.นี้
'ชัย'กังวลกรอบร่างรธน. 6 เดือน
นายชัย ชิดชอบ สมาชิก สปช. ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวมีเสียงหนุนให้เป็นประธานสปช. ว่า สภาเป็นเรื่องของส่วนรวม ส่วนรวมเห็นอย่างไรก็ต้องทำตามนั้น ตราบใดที่กำลังวังชาของตนนั้นยังมีอยู่ก็เป็นได้ ส่วนแนวทางการทำงานนั้นว่าแนวการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ของ คสช.ยังไม่ครอบคลุม น่าจะเพิ่มหัวข้อการปฏิรูปในอีกหลายด้าน เช่น ตัวแทน สปช.จากทั้ง 77 จังหวัด ควรเสนอแนวทางปฏิรูป โดยเฉพาะทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ที่มีความหลากหลายให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน
เมื่อถามว่า กรอบการร่างรัฐธรรมนูญ นายชัยกล่าวว่า คงเป็นไปได้ยากในระยะเวลา 6 เดือน เพราะถือว่าเร็วไป แต่สุดท้ายแล้ว การร่างรัฐธรรมนูญจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับแนวคิดของ คสช.ที่วางไว้ ว่าจะไปในทิศทางเดียวกันกับแนวคิดของสปช.ได้หรือไม่ ควรให้นักปฏิบัติเข้ามามีส่วนร่วมให้มาก เนื่อง จากนักวิชาการมีความรู้แต่ปฏิบัติไม่เป็น
ประธานสปช.ขอคนเป็นกลาง
นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิก สปช. กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่ตรงจุดนี้ ยืนยันว่าจะพยายามใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีทั้งหมดผลักดันและปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ร่วมกับเพื่อนสมาชิก สปช.คนอื่นๆ ให้เกิดความสำเร็จให้มากที่สุด ส่วนบุคคลที่มีความเหมาะสมในการทำหน้าที่ประธานสปช.นั้น ยืนยันยังไม่มีใครอยู่ในใจ แต่เห็นว่าควรเป็นบุคคลที่ต้องวางกฎเกณฑ์กติกาภายในและระเบียบการทำงานให้ดีที่สุด สาเหตุที่ต้องเลือกประธานให้ดีเพราะในอดีตที่ผ่านมาเราไม่เคยมีสปช.มาก่อน เพราะฉะนั้นสปช.จะทำงานเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับตัวประธานสปช.และสิ่งที่สำคัญที่สุดประธานสปช.ต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ต้องรับฟังความเห็นของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีจิตใจที่ดี ให้เกียรติเพื่อนสมาชิก ประสานงานกับทุกฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ใช่เป็นการออกคำสั่งกับคนที่มีตำแหน่งต่ำกว่า
'พารณ'ซ้อมนั่งปธ.ชั่วคราว
เวลา 11.45 น. นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา สมาชิกสปช. อายุ 87 ปี ให้สัมภาษณ์ถึงการทำหน้าที่ประธานชั่วคราวในการ ประชุมสปช.นัดแรก ในฐานะอาวุโสสูงสุด ว่า วันที่ 21 ต.ค. เวลา 08.30 น. ตนจะซ้อมการทำหน้าที่ประธานกับเลขาธิการสภา ผู้แทนราษฎรก่อนเริ่มประชุมจริงในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เพื่อให้กระบวนการถูกต้อง ไม่เสียเวลา
ส่วนแนวทางการปฏิรูปนั้น นายพารณกล่าวว่า ต้องแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัย ปฏิรูปกฎหมายให้ประเทศพัฒนาขับเคลื่อน ส่วนที่มองว่าสมาชิก สปช.เป็นเครือข่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น คิดว่าไม่ใช่และเพิ่งทราบข่าวจากสื่อเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจเร พันธุ์เปรื่อง ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาสปช. นำเอกสารมอบให้นายพารณ เพื่อเตรียมพร้อมทำหน้าที่ประธานการประชุมชั่วคราวในวันที่ 21 ต.ค.นี้
สักการะ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมอดีตรัฐมนตรีถวายสักการะสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เนื่องในวันออกพรรษา ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. |
สปช.ส่วนใหญ่หนุน'เทียนฉาย'
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่สองของการเปิดให้สมาชิกสปช.รายงานตัว มีสมาชิกมารายงานตัวทั้งสิ้น 63 คน รวมกับวันแรกที่มารายงานตัว 41 คน เป็น 104 คน เหลือสมาชิกที่ยังไม่มารายงานตัวอีก 146 คน โดยจะเปิดให้รายงานตัวถึงวันที่ 15 ต.ค.นี้ ไม่เว้นวันหยุดราชการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวของสมาชิกสปช.บางส่วนในการเสนอชื่อ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ สมาชิก สปช. เป็นประธาน สปช. เสนอชื่อนาย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นรองประธาน สปช. คนที่ 1 น.ส.ทัศนา บุญทอง เป็นรองประธาน สปช.คนที่ 2 โดยมีผู้ใหญ่บางคนโทรศัพท์ติดต่อสมาชิก สปช. เพื่อขอคะแนนเสียงและรวบรวมผู้สนับสนุนให้กับทั้ง 3 คน ขณะที่สมาชิก สปช.ส่วนใหญ่ได้ติดต่อพูดคุยกันแล้ว และมีเสียงตอบรับในทิศทางเดียวกันจำนวนมากว่า พร้อมสนับสนุนนายเทียนฉาย เป็นประธาน สปช. นายบวรศักดิ์กับน.ส.ทัศนา เป็นรองประธาน สปช. โดยเห็นว่านายเทียนฉาย มีความเหมาะสม เนื่องจากมาจากสายวิชาการ วางตัวเป็นกลางได้ดี อีกทั้งเคยเป็นอดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความรู้ ความสามารถทำให้สมาชิก สปช.ยอมรับค่อนข้างมาก จึงเชื่อว่าจะควบคุมการประชุมสปช. ได้ สำหรับนายบวรศักดิ์ จะไปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
'ทัศนา'พร้อมนั่งรองประธาน
น.ส.ทัศนา บุญทอง สมาชิก สปช. ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ทราบว่าตนมีชื่อเป็นแคนดิเดตรองประธาน สปช.คนที่ 2 ขณะนี้ยังไม่มีใครติดต่อประสานมา แต่หากมีสมาชิก สปช.เสนอชื่อขึ้นมาก็พร้อมทำงาน เพราะถือเป็นเกียรติยศสูงสุดที่จะทำงานให้ประเทศชาติ เมื่อถามว่าได้พูดคุยกับกลุ่ม 40 ส.ว.หรือไม่ น.ส.ทัศนากล่าวว่า ตั้งแต่มีชื่อเป็นสปช. ยังไม่ได้พูดคุยกัน
'วิษณุ'ไม่พูดถึงแคนดิเดตปธ.
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวมีชื่อนายเทียนฉาย เป็นแคนดิเดตประธานสปช. ว่า เห็นข่าวนี้จากหนังสือพิมพ์ เมื่อถามว่ามองว่าประธานสปช.ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ในใจมีความคิดและความรู้สึกแต่ไม่ขอพูด เดี๋ยวจะออกมาเป็นภาพคนนั้นคนนี้
นายวิษณุกล่าวถึงขั้นตอนการตั้งกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คนว่า หากเรียกประชุมสปช.นัดแรกวันที่ 21 ต.ค.นี้ ต้องตั้งกมธ.ยกร่างฯใน 15 วันหลังเปิดประชุม ส่วนสัดส่วนกมธ.ยกร่างฯที่มาจากครม. 5 คน ยังไม่ได้หารือกันเพราะยังไม่ถึงเวลา แต่อาจมีรัฐมนตรีบางคนที่เกี่ยวข้องคิดไว้ในใจบ้างแล้วเพื่อเตรียมคำตอบหากนายกฯสอบถาม แต่สุดท้ายนายกฯ จะเป็นผู้แจ้งชื่อให้ครม.เห็นชอบ ก่อนส่งให้สปช.ต่อไป
นายวิษณุ กล่าวว่า ยืนยันว่าครม.ยังไม่ได้คิดรายชื่อ และคิดว่าครม.อาจเสนอรายชื่อเป็นลำดับสุดท้ายหลังจากส่วนอื่นๆ เสนอชื่อหมดแล้ว เพื่อเติมส่วนที่ขาดและไม่ให้รายชื่อซ้ำกับสัดส่วนจากภาคอื่นๆ ทั้งนี้ สัดส่วนของกมธ.ยกร่างฯที่มาจากโควตาจากสนช. 5 คน โควตาจากสปช. 20 คน โควตาจาก คสช. 5 คน ยังดำรงตำแหน่งในสนช. สปช.และคสช.ได้เช่นเดิม ยกเว้นโควตาที่มาจากครม. 5 คน ไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีได้ หากเป็นกมธ.ต้องลาออกจากรัฐมนตรีก่อน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) กำหนดไว้
การบ้านกมธ.ยกร่าง
นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญใหม่ที่จะร่างขึ้นนั้นต้องมีเนื้อหายึดโยงกับรัฐธรรม นูญฉบับชั่วคราว เนื่องจากมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องกำหนดเรื่องใดใส่ไว้บ้าง ซึ่งขณะนี้กำหนดไว้ 10 เรื่อง บวกกับอีกหนึ่งวรรค ที่ระบุให้พิจารณาว่าด้วยเรื่องการทบทวนองค์กรอิสระที่มีในรัฐธรรมนูญ อาทิ ป.ป.ช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศาลรัฐธรรมนูญ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ให้ทบทวนความจำเป็น ดังนั้น จะเป็นเหมือนการบ้าน 10 บวก 1 ที่กมธ.ยกร่างฯต้องนำไปคิด
"รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้บอกว่าใน 10 ข้อ ต้องเขียนออกมาอย่างไร แต่บอกหัวข้อเรื่องให้มีสิ่งเหล่านี้ แต่รายละเอียดจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาให้คิดเอาเอง เช่น จะป้องกันการทุจริตโกงเลือกตั้ง และกันไม่ให้คนที่ทุจริตโกงเลือกตั้งกลับเข้าสู่วงการการเมืองตลอดไปได้อย่างไร กมธ.ยกร่างฯต้องไปคิดหาทางเอง" นายวิษณุ กล่าวและว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องตอบโจทย์ที่สปช.ให้กรอบในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ได้ หากสปช.ประชุมวันที่ 21 ต.ค.เป็นวันแรกจริง สปช.จะมีเวลานับจากนั้นอีก 60 วัน ในการแจ้งกมธ.ยกร่างฯว่าจะนำไปร่างในลักษณะใด โดยกมธ.ยกร่างฯจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย
ชี้มีเวลาล็อกทุกขั้นตอน
เมื่อถามว่าต้องกำหนดเนื้อหาให้นายกฯมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่เป็นหน้าที่ของกมธ.ยกร่างฯจะพิจารณา เชื่อว่าในที่ประชุมสปช.จะหารือและกำหนดเป็นกรอบแนวทางเสนอให้กมธ.ยกร่างฯ ไปพิจารณา รวมถึงประเด็นที่มาของส.ส.ด้วย วิธีตั้งโจทย์การทำงานคือให้นำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาดูว่าอะไรที่ชอบใจก็กำหนดเป็นกรอบให้เขียนแบบเดิม อะไรที่ไม่พอใจ ต้องให้โจทย์ไปว่าอย่าเขียนแบบนั้น รวมถึงที่มาของนายกฯ รูปแบบวิธีเลือกตั้ง จะใช้เป็นแบบเขต พวงใหญ่พวงเล็ก จะมีส.ส.บัญชีรายชื่ออยู่หรือไม่ หรือส.ส.จะต้องสังกัดพรรคหรือไม่ เป็นต้น
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าจะถูกมองว่าการร่างรัฐธรรมนูญมีใบสั่ง รองนายกฯ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่กมธ.ยกร่างฯ จะบอกว่ากรอบแนวทางที่สปช.กำหนดเป็นใบสั่งคงไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของสปช. และให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญภายในเวลา 120 วัน เมื่อแล้วเสร็จจะต้องถามความเห็นจาก สปช. สนช. ครม. และคสช. พิจารณาซึ่งจะใช้เวลาอีก 1 เดือน ทุกขั้นตอนมีกำหนดเวลาล็อกไว้หมดแล้วจะเบี้ยวไม่ได้
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนการทำประชามติรัฐธรรมนูญที่จะร่างไม่ได้ถูกบังคับว่าต้องลงประชามติ จึงต้องพิจารณาว่าถ้าทำแล้วคุ้มก็ทำ ถ้าไม่คุ้มก็ไม่ทำ เพราะอาจทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นมาอีกได้ ถ้าประชาชนเรียกร้องและสถานการณ์อำนวย เปิดให้ลงประชามติก็ต้องยอมให้ตั้งเวทีเพื่อเชียร์หรือคัดค้าน ถ้าทำได้ก็ทำ ไม่ได้บังคับว่าต้องทำ แต่ไม่ได้ ขัดขวางว่าไม่ต้องทำ และนายกฯบอกว่าให้ดูอีกสักระยะถึงจะรู้ว่าสมควรทำประชามติหรือไม่
ผ่านกม.ใช้สิทธิ์บำเหน็จบำนาญ
ที่รัฐสภา มีการประชุม สนช. โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 206 เสียง งดออกเสียง 5 เห็นชอบหลักการวาระแรกร่างพ.ร.บ.กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ 15 คนพิจารณาใน 30 วัน
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ร่างพ.ร.บ.นี้จะกำหนดปริญญาในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ และโรงเรียนแผนที่ ให้มีปริญญา 3 ชั้น คือเอก โทและตรี และกำหนดให้มีครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ เครื่องหมายแสดงวิทยฐานะ กำหนดให้มีตำแหน่งทางวิชาการคณาจารย์ประจำของสถาบันการศึกษา และให้มีสิทธิใช้เป็นคำนำหน้านามเพื่อแสดงวิทยฐานะได้ตลอดไป
จากนั้น มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิ์ในบำเหน็จบำนาญ ตามพ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ.... วาระ 2 และ 3 ด้วยมติเอกฉันท์ 203 ต่อ 0 งดออกเสียง 5 ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป มีสาระสำคัญกำหนดให้บุคคลมีสิทธิ์ขอกลับไปใช้สิทธิ์ในบำเหน็จบำนาญ ได้แก่ ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ผู้รับบำนาญ ทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ก่อนปี 2539 โดยกมธ.แก้ไขให้รวมถึงข้าราชการที่โอนไปท้องถิ่น พนักงานมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งเคยเป็นสมาชิก กบข.ก่อนปี 2539 หากกลับไปใช้สิทธิ์ตามปี 2494 ต้องคืนเงินประเดิม เงินสมทบและผลประโยชน์ตอบแทนในส่วนที่รัฐจ่ายให้คืน โดยมีผลใช้บังคับหลัง 30 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เคาะปธ.กมธ. 16 คณะ
ต่อมาที่ประชุมรับรองการตั้งกมธ.สามัญประจำ สนช. 16 คณะ ตามที่กมธ.สามัญสรรหาสมาชิกสนช.ให้ดำรงตำแหน่งกมธ.สามัญประจำสนช.พิจารณาเสร็จแล้ว ก่อนปิดประชุมเวลา 14.10 น.
ช่วงบ่าย กมธ.สามัญประจำสนช. 16 คณะ ประชุมนัดแรกเพื่อเลือกประธานและตำแหน่งต่างๆ ในกมธ. ประธานคณะกมธ. ที่น่าสนใจ อาทิ กมธ.การเมือง นายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน, กมธ.การบริหารราชการแผ่นดิน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน, กมธ.การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน, กมธ.การปกครองท้องถิ่น พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง เป็นประธาน
จ่อถกถอด'ขุนค้อน-นิคม'
ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 เผยว่า ได้รับสำนวนคดีถอดถอนจากป.ป.ช.แล้ว สำนวนยังยืนยันคำฟ้องชี้มูลความผิดนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ส่วนความผิดยังมีผลอยู่หรือไม่นั้น เป็นอำนาจของประธาน สนช.จะพิจารณา ขณะนี้ยังไม่ได้สั่งการอะไรลงมา แต่จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเพื่อดำเนินการภายใน 30 วันตามข้อบังคับการประชุม หากประธานสนช.เห็นว่ามีประเด็นต้องหารือก่อน อาจนำเข้าสู่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสนช. หรือวิปสนช. โดยเข้าใจว่าประธานสนช.อยากรอให้มีวิปถาวร ก่อน เป็นไปได้ที่ประธานสนช.จะนำเรื่องถอดถอนเข้าหารือในที่ประชุมวิปถาวรภายในสัปดาห์หน้า หรือหากประธานสนช.คิดว่าไม่มีปัญหาก็ใช้อำนาจประธานบรรจุเข้าระเบียบวาระประชุมได้ คาดสัปดาห์หน้าคงมีความชัดเจนมากขึ้น
มติปปช.ชงสนช.ถอดถอน'ปู'
ที่สำนักงาน ป.ป.ช.สนามบินน้ำ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ว่า ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ยืนยันให้ส่งสำนวนคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีโครงการรับจำนำข้าว พร้อมเอกสารความเห็นไปให้สนช. พิจารณาถอดถอนตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยเป็นการชี้มูลความผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามมติเดิมที่เคยชี้มูลว่ามีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัอต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11(1) กรณีไม่ยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการดำเนินโครงการ รับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งเป็นมูลเหตุให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ตามรัฐธรรม นูญปี 2550 มาตรา 270 ประกอบพ.ร.บ. ว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 58
นายสรรเสริญ กล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่การที่คสช. มีประกาศให้พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป อีกทั้งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 6 ให้อำนาจสนช.ทำหน้าที่แทนส.ส.และส.ว. อีกทั้งสนช.ยังมีข้อบังคับการประชุมสนช. กำหนดให้สนช. มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง ดังนั้น ป.ป.ช.จึงต้องส่งสำนวนคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สนช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ คาดว่าจะส่งให้ได้ในสัปดาห์หน้า ส่วนการถอดถอน 39 อดีตส.ว. กรณี แก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ คาดว่าจะส่งเรื่องให้ที่ประชุมป.ป.ช.พิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า
อ้างพ.ร.บ.บริหารราชการ
เมื่อถามว่า กรณีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นการทำผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งไม่มีผลบังคับใช้แล้ว อาจมีปัญหาเหมือนกรณีถอดถอน นายสมศักดิ์ และนายนิคม หรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า กรณีน.ส. ยิ่งลักษณ์ มีการระบุความผิดใน 2 กฎหมายคือ รัฐธรรมนูญปี 2550 กับพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แม้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 จะไม่มีผลบังคับใช้แล้ว แต่พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ไม่ได้ถูกยกเลิกไป รัฐบาลใดที่มาบริหารประเทศต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้ ดังนั้น กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่เหมือน คดีนายสมศักดิ์และนายนิคม แต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสนช.จะพิจารณาถอดถอนหรือไม่
เช็กยิบสปช.ยื่นทรัพย์สิน
เมื่อถามถึงสมาชิกสปช. ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. หรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า ที่ประชุม ได้หารือถึงเรื่องนี้ และมอบให้สำนักงานเลขาธิการป.ป.ช.ไปสรุปเพื่อรายงานให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 16 ต.ค. ในประเด็นว่าสปช.เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และมีหน้าที่ยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินฯหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า สามารถเทียบกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2550 ซึ่ง ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินได้หรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า คล้ายกัน แต่ ต้องพิจารณาลงในรายละเอียด ส.ส.ร.ปี 2550 ไม่มีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน หากใช้กฎหมายในลักษณะเทียบเคียงคงต้องเป็นไปใน แนวเดียวกัน แต่ต้องดูตามกรอบอำนาจ ของกฎหมายก่อนว่าป.ป.ช.มีอำนาจออกประกาศเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร จึงต้องใช้ ดูข้อกฎหมายให้ชัดเจน พิจารณาอย่างรอบคอบก่อน
ให้'บิ๊กติ๊ก'ชี้แจงบัญชีผิดพลาด
เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวรณีพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วยผบ.ทบ. และสมาชิกสนช. ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินแล้วเกิดความ ผิดพลาดทำให้มีทรัพย์สินมากผิดปกติ ว่า ป.ป.ช.ได้ส่งหนังสือถึงพล.อ.ปรีชา แล้ว เพื่อให้ชี้แจงถึงการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินผิดพลาด ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน สามารถชี้แจงเข้ามาได้ว่าจงใจหรือมีเจตนายื่นผิดพลาดหรือไม่ หรือมีเหตุผลอย่างไรให้ชี้แจงเป็นเอกสารส่งมายังที่ป.ป.ช.ได้
เมื่อถามว่า พล.อ.ปรีชา อ้างเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ให้คำแนะนำให้ยื่นแสดงบัญชีในส่วนของกองทัพภาคที่ 3 นายสรรเสริญกล่าวว่า ป.ป.ช.ต้องดูในรายละเอียดและเหตุผลที่พล.อ.ปรีชาจะชี้แจงว่าเป็นเหตุผลต่อกัน หรือไม่ อาจสื่อสารผิดพลาดระหว่างการให้คำแนะนำและเกิดความเข้าใจผิด หรืออาจ ขอคำแนะนำกันแล้วว่าอะไรยื่นได้หรือไม่ได้ แต่เกิดความเข้าใจผิด ต้องดูรายละเอียด คำชี้แจงของพล.อ.ปรีชาอีกครั้ง เชื่อว่าพล.อ. ปรีชาจะรีบส่งหนังสือชี้แจงมายังป.ป.ช. โดยป.ป.ช. ม่ได้กำหนดกรอบเวลา
'อุ๋ย'จ่อชงมาตรการช่วยยาง
ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการแก้ไขปัญหายางพารา ว่า ได้เตรียมไว้แล้วแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งต้องรายงานนายกฯหลังเดินทางกลับจากเมียนมาร์ ก่อนจึงจะเปิดเผยรายละเอียดได้ การแก้ไขปัญหาต้องดำเนินการพร้อมกันทั้งการขาย ซื้อ ปรับปรุง ยืนยันว่าจะสามารถทำได้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน โดยนำเอาข้อเสนอของชาวสวนยางพารามาปรับ แต่สิ่งที่เห็นว่าทำไม่ได้มีการบอกไปแล้ว
"ไม่ต้องห่วงครับ ผมทำทีเดียวออกมาเป็นแผนเลย เราตั้งใจจะดึงราคายางขึ้นมา ถึงจุดที่ไปได้พอสมควร อย่าไปหวังขึ้นพรวดอย่างสมัยก่อนไม่ได้ เพราะ 3 ปีที่ผ่านมาผลผลิตมากกว่าความต้องการถึง 3 ปีซ้อน ปีนี้ปริมาณผลผลิตเริ่มกลับมาใกล้กันแล้ว จะเห็นว่าตลาดล่วงหน้าที่ญี่ปุ่นเริ่มขึ้นแล้ว จะใช้จังหวะนี้ออกมาตรการเราพอดี ขอเวลา 3-4 วันให้นายกฯ กลับมาก่อน" รองนายกฯกล่าว และว่า ส่วนสินค้าเกษตรอื่นๆ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีต้นทุนมาตร ฐานอยู่แล้ว เราจำเป็นต้องช่วย ก็ต้องสลับกัน พยายามให้ความเป็นธรรมกับทุกกลุ่ม
'บิ๊กตู่'เยือนพม่าจับมือแก้ยา-แรงงาน
เวลา 13.30 น. วันที่ 9 ต.ค. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. แถลงก่อนเยือนพม่าว่า จะพูดคุยในกรอบความร่วมมือว่าจะทำ ให้อาเซียนแข็งแกร่งอย่างไร ก่อนไปสู่การพูดคุยระดับพหุภาคี เราต้องให้เกียรติทุกประเทศเพื่อความร่วมมืออย่างยั่งยืน ใช้หลักความไว้วางใจกัน ทำปัญหาเล็กไม่ให้เป็นปัญหา เช่น ลดขั้นตอนความร่วมมือให้รวดเร็วขึ้น ปัญหาใหญ่ก็ทำให้เล็กลง เช่น ความขัดแย้งของประชาชนตามแนวชายแดน และเราส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในพม่าด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายกฯไปถึงพม่าจัดพิธีต้อนรับ ที่สนามบินนานาชาติกรุงเนปิดอว์ และพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการที่ทำเนียบประธานาธิบดี พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดี พม่า นำนายกฯขึ้นแท่นรับความเคารพ ตรวจแถวทหาร กองเกียรติยศ จากนั้นหารือแบบ 2 ต่อ 2 และทวิภาคีแบบเต็มคณะ นายกฯขอบคุณที่พม่าเข้าใจและยืนเคียงข้างไทย ไทยพร้อมสนับสนุนการปฏิรูปและการพัฒนาพม่า และหารือขยายความ ร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนเพื่อความมั่นคงและการพัฒนา เช่น ปัญหายาเสพติดที่ไทยถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งพม่าพร้อมร่วมมือเต็มที่ การจัดระเบียบแรงงาน แก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดน เพื่อเชื่อมโยงการค้าการลงทุนและสร้างงานในพี้นที่ นำร่องที่อ.แม่สอด จ.ตาก
ส่วนโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย 2 ประเทศพร้อมผลักดันให้เป็นรูปธรรม ด้านพลังงานเสนอจัดทำเอ็มโอยูเพื่อยกระดับความร่วมมือครอบคลุมการซื้อขายไฟฟ้า ผู้นำทั้งสองยัง เป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง 3 จุดคือ จ.เชียงใหม่กับเชียงตุง จ.ประจวบคีรีขันธ์กับมะริด และ จ.ระนองกับเกาะสอง
'คริสตี้'ลาไทย-ไม่มีความเห็นคสช.ทำงาน
เวลา 10.30 น. วันที่ 9 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสอำลาจากตำแหน่ง
นางเคนนีย์ ให้สัมภาษณ์ว่า จะเดินทางกลับวอชิงตันดี.ซี. เดือนหน้าหลังอยู่ไทยครบ 4 ปีแล้ว ดีใจมากที่มีโอกาสอยู่และทำงานที่ประเทศไทย คิดว่าเป็นประเทศสำคัญ เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ ขอบคุณคนไทยทุกคนที่ต้อนรับตนและคนอเมริกันอย่างเป็นกันเอง ส่วนเอกอัครราชทูตคนใหม่ประธานาธิบดีสหรัฐจะเป็นคนเลือก คาดว่าจะเป็นปีหน้า ขอขอบคุณ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ที่พบกับตนวันนี้เกี่ยวกับเศรษฐกิจของไทยและสหรัฐ หวังว่าจะมีโอกาสทำงานด้วยกันในอนาคต เมื่อถามว่ามองอย่างไรกับการทำงานของคสช. นางเคนนีย์กล่าวว่า 'อยู่ที่คนไทย'
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสหรัฐ ซึ่งยืนยันไม่ได้มีปัญหา อะไรที่ยังไม่แต่งตั้ง ทางสหรัฐยังถือว่าไทยเป็นมิตรที่ดีระหว่างกัน และระหว่างที่ยังไม่มีเอกอัครราชทูตประจำนั้น จะให้ นายแพทริก เมอร์ฟีย์ อุปทูตสหรัฐประจำประเทศไทยทำหน้าที่รักษาการแทน ไปก่อน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า คุยกับนางเคนนีย์ หลายเรื่อง เขามาเพราะอยากรู้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลทำงานจริงหรือไม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจและอื่นๆ อาทิ เรื่องข้าว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พออธิบายทางสหรัฐก็เข้าใจ เมื่อเห็นว่าเราทำงานจริงก็เชื่อมั่น บางคนจะกลัวว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแล้วนั่งเฉยๆ ไม่ทำงานอะไรแค่มารักษาสถานการณ์ แต่ความจริงไม่ใช่ เมื่ออธิบายสหรัฐอาจเห็นว่าทำงานดีกว่าสมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสียด้วยซ้ำ ส่วนความร่วมมือของนักธุรกิจไทยและอเมริกายังมีอยู่เพราะเราไม่เคยทะเลาะกัน ดูจากแววตาของท่านทูตวันนี้แล้วเชื่อว่าเขาเข้าใจ