WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 09 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8716 ข่าวสดรายวัน

'เทียนฉาย'จ่อนั่ง ปธ.สปช. 'บวรศักดิ์-ทัศนา'รอง 
บิ๊กตู่ไม่ขวางศพอภิวันท์ บิ๊กติ๊กแจงยิบ 80 ล้าน มรดกพ่อรวมเงินเมีย หนองคายปลดป้ายปู เบรกเปิดงาน'บั้งไฟ'


ทักทาย - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ทักทายนักกีฬา เอเชี่ยนพาราเกมส์ พร้อมให้โอวาทก่อนเดินทางเข้าร่วมแข่งขันที่เมืองอินชอน เกาหลีใต้ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 ต.ค.

        เปิดโผ'เทียนฉาย'เต็งเก้าอี้ประธานสปช. 'บวรศักดิ์-ทัศนา'นั่งรองประธาน'บิ๊กติ๊ก'แจงรวย 80 ล้าน เป็นบัญชีกองทัพภาคที่ 3 รวมกับทรัพย์สินเมีย มรดกพ่อและเงินสะสม'บิ๊กตู่'ไม่ปลื้มคำ'ประยุทธ์นิยม'บอกให้เรียก'ประเทศไทยนิยม'แทน ไฟเขียวนำศพ'อภิวันท์'กลับเมืองไทย ด้าน'รัชตะ'เลิกควบแล้ว ประกาศทิ้งเก้าอี้อธิการบดี ม.มหิดล'น้องวิษณุ'ลั่นเป็น สปช.ด้วยความสามารถ ไม่ใช่เพราะพี่ให้ กระทรวงเกษตรฯ เตรียมชงมาตรการช่วยสวนยาง จ่าย 2.5 พันต่อไร่ หนองคายสั่ง'ปู'ยกเลิกเป็นประธานเปิดงานบั้งไฟ ปลดป้ายต้อนรับ 

'ประยุทธ์'อ้อนคนพิการ
       เวลา 09.00 น. วันที่ 8 ต.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวให้โอวาทและให้กำลังใจกับนักกีฬาเอเชี่ยนพาราเกมส์ เจ้าหน้าที่ และผู้ฝึกสอนที่จะไปร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนพาราเกมส์ ครั้งที่ 11 จำนวน 336 คน ที่เกาหลีใต้ ตอนหนึ่งว่า อยากให้ทุกคนเมื่อได้เจอกับเพื่อนนักกีฬาด้วยกันทำความเข้าใจว่าที่คสช.เข้ามาเพื่อทำให้ประเทศดีขึ้น เข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมอยู่ ไม่มีเจตนาทำให้เกิดความแตกแยก จะทำทุกอย่างโดยสุจริต ไม่ใช่แค่ตนคนเดียว รัฐมนตรีทุกคนก็มีความสุจริต ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น อยากเข้ามาแก้ไขปัญหาซึ่งถือเป็นการปฏิรูปและการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การบริหารราชการโปร่งใส ใช้งบอย่างประหยัดและคุ้มค่า สร้างความเข้มแข็ง วางรากฐานประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต 
      "ผมเข้ามาเพราะเป็นคนไทยและสามารถทำได้ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ไม่ใช่คนไทย จึงขอความร่วมมือทุกคนช่วยกันทำความเข้าใจว่าก่อนหน้านี้เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ผมจึงต้องเสี่ยงเข้ามาทำหน้าที่เพื่อพวกเรา ทุกคน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวและว่า วันนี้ทุกอย่างสงบเรียบร้อยมากขึ้นแต่มีบ้างที่มีคนบางกลุ่มไม่เข้าใจ หรือแกล้งไม่เข้าใจ อีกทั้งสื่อ นำเสนอและต่างประเทศนำไปใช้เป็นข้อมูลจนเกิดความเข้าใจผิด แม้จะวิพากษ์วิจารณ์ภายในประเทศแต่สุดท้ายก็ออกไปสู่นอกประเทศ จึงขอให้วิจารณ์อย่างถูกต้องและมี ผลดีต่อประเทศ ไม่เช่นนั้นจะไม่เป็นผลดี ต่อประเทศเลย ตนเองก็ไม่ได้มีความสุข ไม่ได้ดีใจว่าได้เป็นนายกฯ หรือมีอำนาจล้นฟ้า ยืนยันว่าใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์ ทุกอย่างต้องใช้เวลา ขอให้ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ขอบคุณที่ให้เกียรติรัฐบาลและเกียรติให้ตน ถือเป็นกำลังใจให้รัฐบาลและตนเองด้วย

ใช้หลักลดความเหลื่อมล้ำแก้ปัญหา 
       พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม ร่วมคสช.และครม.ว่า มีการประเมินผลงานที่พอใจคือ 1.เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2.การบริหารราชการที่เรียบร้อย ทำได้เป็นปกติ ไม่มีปัญหา แต่ทั้งหมดต้องปรับแก้ให้เป็นเชิงรุก ไม่ใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หรือใช้เงินทองมากเกินเหตุ อย่างนั้นไม่ได้ มันต้องทำทั้งสองอย่างคู่กัน คือลดความเดือดร้อนโดยทันที เช่น ดูแลผู้มีรายได้น้อย ดูแลชาวนา แต่ขณะเดียวกันการสร้างความเข้มแข็งในกระบวนการผลิต การลดต้นทุนการผลิต การจัดโซนนิ่งพื้นที่ ก็ทำคู่ขนาน ไปด้วย
      นายกฯ กล่าวว่า ขณะเดียวกันเป็นความท้าทายของรัฐบาลเช่นกันว่าจะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเท่ากันหมด เพราะนั่นไม่ใช่ระบบประชาธิปไตย ถ้าทุกคนมีรายได้เท่ากันทุกอย่างก็ต้องเป็นของรัฐทั้งหมด วันนี้เป็นประชาธิปไตย คนทุนมากทำมาก ทุนน้อยทำน้อย ใครไม่มีทุนก็ไปหาแหล่งเงินทุน เราก็ดูเขาตรงนั้น ถึงจะเรียกว่าลดความเหลื่อมล้ำ เป็นวิธีการปฏิบัติ ไม่ใช่เอาเงินมาแจกเท่ากันทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ ใครเดือดร้อนต้องดูแลแต่ระยะสั้นแค่ปีเดียว อย่างการช่วยเหลือชาวนาในช่วงนาปี ต่อไปนี้เลิกพูดดีกว่า คำว่าประชานิยมให้เลิกพูด ถ้ามันไม่เสียหายก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามันเสียหายคือไม่ดี

วอนเรียกประเทศไทยนิยม 
       เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้มีคำว่าประชานิยม แต่วันนี้เริ่มมีคนพูดถึงคำว่าประยุทธ์นิยม นายกฯ กล่าวว่า อย่าไปเรียกอย่างนั้นเลย และตนก็ไม่ดีใจที่มีคนเรียกอย่างนี้ หรือแม้แต่จะเรียกว่าประยุทธ์ฟีเวอร์ ก็ไม่ดีใจ เพราะไข้แบบนี้เดี๋ยวมันก็หาย แค่ฟีเวอร์เดี๋ยวมันก็ หายไป อยากให้เป็นประเทศไทยนิยม หรือนิยมประเทศไทย เมื่อถามย้ำว่าจะลำบากใจหรือไม่ ถ้าประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ยาวครบ 4 ปี พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แค่นี้ก็แย่พอแล้ว เมื่อถามว่าจะเป็นนายกฯแค่ 1 ปี นายกฯกล่าวว่า ไม่รู้ ไม่ทราบ 
       เมื่อถามว่า ถ้าปฏิรูปสำเร็จจะกลายเป็นประยุทธ์โมเดลหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ประยุทธ์โมเดล แต่เป็นของคนไทยทุกคน เรียกว่านี่คือไทยโมเดล ประเทศไทยต้องเป็นอย่างนี้ ต้องมีอนาคต มีวิสัยทัศน์ มีแผนงานยุทธศาสตร์ว่าจะไปเจรจากับเขาอย่างไร ไม่ใช่ไปแค่จับมือ ทักทายสวัสดีแล้วเดินทางกลับ โดยไม่ไปพูดว่าเรามีอะไรเสนอหรือเปิดช่องทางให้ต่างชาติเข้ามาค้าขายกับเราได้บ้าง

ยังวัยรุ่นมีโกรธบ้าง
      เมื่อถามว่า หากวันนี้อยากตะโกนดังๆ ให้คนได้ยินทั้งประเทศ จะตะโกนคำว่าอะไร นายกฯ กล่าวว่า รักประเทศไทย รักคนไทยทุกคน ซึ่งการทำหน้าที่ของตนวันนี้ คือ 1.พูดด้วย คิดด้วย ประสานงานอย่างบูรณาการ ขับเคลื่อนงาน 3-4 แท่ง บริหารด้วยความโปร่งใส 2.ปฏิรูปประเทศให้ได้ 3.สร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินให้ได้ 4.วางยุทธศาสตร์ประเทศระยะยาว 
       เมื่อถามว่า แสดงว่าต้องอยู่ในตำแหน่งของรัฐบาลยาวใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า บางคนบอกให้อยู่ปีเดียว บางคนถามว่าอยู่ปีเดียวแล้วจะทำงานทันหรือ ก็ไม่รู้จะตอบตรงไหนดี ตอนนี้ให้ทุกคนรู้ว่าประเทศมีปัญหาอะไรบ้าง ทุกคนต้องช่วยและเป็นกำลังใจให้รัฐบาลทำงาน เดี๋ยวมันก็แก้ไขได้ ส่วนจะแก้ปัญหาได้จบหรือไม่ ต้องไปว่ากัน 
      นายกฯ กล่าวว่า การที่ตนต้องพูดมากทุกวัน เพื่ออธิบายให้สังคมเข้าใจ ถ้าพูดน้อยแล้วจะรู้เรื่องกันหรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็มโนกันอยู่เรื่อย ตนพูดขนาดนี้ก็ยังเข้าใจไม่ตรงกันเลย ตนชอบอธิบายให้คนทั้งประเทศเข้าใจในเจตนาของตนและรัฐบาล และลดความขัดแย้ง ไม่มีใครอยากจะแบกภาระอันนี้ ถามว่าใครอยากมาเป็น ใครอยากจะมาทำก็มา ไม่เห็นมีใครสมัครเลยในตอนนั้น ตนถึงต้องเข้ามาทำและแก้ปัญหามาตลอด ยืนยันว่าตนเป็นกลางแต่วิธีการและขั้นตอนต้องว่ากันอีกที บางครั้งมีอารมณ์โกรธบ้างก็ต้องยอมรับว่าตนเป็นมนุษย์เป็นปุถุชนและยังวัยรุ่นอยู่

ยันออกกฎหมายคุมม็อบ
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ควบคุมการชุมนุมว่า กำลังดำเนินการอยู่ ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งที่มีการชุมนุมทางการเมืองมาตลอดก็เพราะการเมือง เนื่องจากการเมืองต้องการมวลชนสนับสนุน กฎหมายจึงออกไม่ได้เพราะไปจำกัดการเคลื่อนไหวของตัวเอง แต่วันนี้เราไม่ต้องการให้มีกลุ่มของใครทั้งสิ้น และไม่มีกลุ่มไหนแล้ว พ.ร.บ.ดังกล่าวต้องออกมาแน่นอน เมื่อมีการร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เสร็จสิ้นแล้วจะนำมาพิจารณาใน ครม.และส่ง สนช.ต่อไป กฎหมายนี้จะมาป้องกันการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ 
       เมื่อถามถึงเสียงวิจารณ์สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายกฯ กล่าวว่า ไม่ต้องกลัว เข้ามาก็แยกเป็นกลุ่ม สมาชิก สปช.จะไปจัดกลุ่มกันเองใหม่ 11 ด้าน เมื่อถามว่ามีกระแสวิจารณ์ว่า สปช.คือคมช.แปลงร่างมา พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ขอถามว่าพวกพรรคการ เมืองที่ตำหนิเขาสมัครมาหรือไม่ ถ้าไม่สมัครเข้ามาตนจะไปเลือกเข้ามาได้อย่างไร สมัครมาแค่ไหนก็เลือกได้แค่นั้น จะให้ไปเชิญมาก็ไม่ใช่หน้าที่ของตน เลือกตามที่สมัครมา 7,000 กว่าคน คัดเหลือ 550 คน ตนก็คัดเป็น 173 คน ตนเลือกได้แค่คนใน 550 คน คนที่หลุดไปไปเลือกมาไม่ได้ กติกาเป็นอย่างนี้ ส่วนจังหวัดเช่นกัน ทางนั้นส่งมา 5 คน ตนเลือกได้แค่ 1 ใน 5 เท่านั้น ไม่ใช่ตกรอบแรกไปแล้วไปเลือกมา ตนทำไม่ได้

ปธ.ร่างรธน.ต้องไม่สร้างปัญหา 
        นายกฯ กล่าวว่า ส่วนสมาชิกที่ตกรอบแรกไป 7 พันกว่าคนนั้น ตนสั่งการไปแล้วว่าให้ตั้งเป็น 2 คณะ คณะแรกคือ 250 คน คณะที่ 2 เป็นที่ปรึกษา แล้วให้ส่งเรื่องเข้ามา ใครอยากพูดอะไรให้ส่งมาตามช่องทางนั้น ดังนั้นทั้ง 7 พันกว่าคนงานทำหมด แต่จะนำ 7 พันกว่าคนเข้าสภามันทำไม่ได้ ส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนดไว้แล้วว่าแต่ละหน่วยงานมีโควตาได้กี่คน
        ส่วนประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีชื่ออยู่ในใจแล้วหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนยังไม่รู้เลย ต้องดูก่อนว่ามีใครบ้าง ต้องนำชื่อทั้งหมดมาดูและหารือร่วมกัน คนที่ทำตรงนี้ต้องทำให้เกิดความยั่งยืน ไม่ได้สร้างปัญหา แต่ประเด็นอยู่ที่การทำให้ประชาชนยอมรับว่าเราต้องการให้ประเทศไทยเป็นอย่างไร แบบเดิมหรือแบบใหม่ ถ้าอยากได้แบบใหม่ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการเป็นแบบใหม่ อาจไม่เคยเกิดขึ้นแล้วจะรับได้หรือไม่ หากไม่ได้จะทำแบบไหน ฉะนั้นการปฏิรูปไม่ใช่สภายกมือแล้วเสร็จเรียบร้อย ต้องออกเป็นกฎหมาย บางอย่างก็ต้องใส่ในรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งหมดต้องฟังเสียงภายนอกก่อน
       เมื่อถามว่า จะทำประชามติหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า การทำประชามติเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่ อย่าเพิ่งถามดัก เอาเรื่องที่ยังไม่เกิดมาถาม วันนี้ไม่ได้ ค่อยๆ ทำไป วันนี้ยังไม่ได้เริ่มก็ตีกันแล้ว ถ้าตอนนั้นสถานการณ์ปกติดีทำประชามติได้ก็ทำ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ได้ 

ไม่ร่วมงานศพ'อภิวันท์'
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และแกนนำ นปช. ว่า เมื่อเป็นคนไทยก็สามารถกลับมาประกอบพิธีทางศาสนาได้ตามปกติ เราไม่มีปัญหาขัดข้อง แต่เรื่องความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ผ่านมารัฐบาลยอมไม่ได้ หากผิดก็คือผิด และขณะนี้ พ.อ.อภิวันท์ ยังเป็นทหารอยู่ เป็นเรื่องของราชการต้องดำเนินการตามขั้นตอน
        เมื่อถามว่า อาจมีคนที่ต้องเสียชีวิตในต่างประเทศในลักษณะนี้อีก พล.อ.ประยุทธ์ ถามกลับว่าแล้วเขาไปต่างประเทศทำไม ถ้าอยู่เมืองไทยก็สู้คดีในศาลได้ ผู้สื่อข่าวกล่าวว่าหนีเพราะไม่มั่นใจว่าคสช.จะเอาอย่างไร พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมไม่ได้จะเอาอะไรกับเขา เขาผิดกฎหมายมาตราอะไร หากต่อสู้ในชั้นศาลก็จบแล้ว บางคดีศาลยังไม่ตัดสินก็เสียชีวิตก่อน แต่นี่หนีไปก่อน หนีไปทำไม แต่เมื่อเสียชีวิตไปแล้วคดีก็จบ อย่างไรก็ตามผมคงไม่ไปร่วมงานพิธีศพ"


รื้อป้าย - ภาพขณะเจ้าหน้าที่รื้อป้ายข้อความต้อนรับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นประธานเปิดงานไหลเรือไฟ จ.หนองคาย ซึ่งมีผู้นำมาเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แจ้งยกเลิกการเดินทางดังกล่าว เมื่อ 8 ต.ค.

จัดพิธีศพได้-อย่าเอี่ยวการเมือง 
        ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีนายสุนัย จุลพงศธร อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความปลุกระดมให้คนออกมารับและร่วมพิธีศพ พ.อ.อภิวันท์ ที่เสียชีวิตลงที่ประเทศฟิลิปปินส์ และจะเคลื่อนศพมาถึง ไทยในวันที่ 9 ต.ค.นี้ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ ต่อต้านคสช. ว่า หากร่วมพิธีศพทางศาสนา เป็นญาติ เพื่อน หรือบุคคลที่เคารพนับถือย่อมดำเนินการได้ เราไม่เคยปิดกั้น แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่หากมีเรื่องที่เกี่ยว ข้องทางการเมืองทำให้เกิดความวุ่นวาย ไม่ปรองดอง จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลและ ส่วนตัวยังพร้อมเปิดโอกาสให้นายสุนัยเข้ามาพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจ

เลิกอัยการศึกหลังปฏิรูป 
       พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงการดูแลความมั่นคงภายในประเทศว่า เราทำทุกมิติ อยากขอร้องให้ทุกฝ่ายหยุดการเคลื่อนไหวที่ทำให้ไม่เกิดสันติสุข อย่าออกมาเคลื่อนไหวเลย รัฐบาลกำลังทำงานในหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องความต้องการของประชาชน ขอว่าอย่าออกมาเคลื่อนไหวจนส่งผลกระทบต่อความมั่นคง
       เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายกฎอัยการศึกในจังหวัดท่องเที่ยว พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า กฎอัยการศึกไม่ได้ส่งผล กระทบต่อคนทั่วไป ยกเว้นมีไว้ดำเนินการ กับกลุ่มที่ทำผิดกฎหมาย ส่วนกลุ่มที่ยังเคลื่อนไหวใต้ดินควรยุติดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย 
      "นายกฯพูดชัดเจนแล้วว่าจะผ่อนคลาย กฎอัยการศึกหลังการปฏิรูปประเทศ และหากสถานการณ์สงบ ไม่มีคลื่นใต้น้ำ เราก็ต้องผ่อนคลาย ไม่มีใครอยากเอาไว้" พล.อ. ประวิตรกล่าวและว่า ส่วนการจัดเสวนาของกลุ่มนักศึกษาหรือนักวิชาการ หากเป็นไปตามหลักทางวิชาการก็ทำได้แต่ขอว่าอย่ามีประเด็นการเมืองหรือสร้างความแตกแยก

ศพ'อภิวันท์'ถึงไทย10ตค.
      รายงานข่าวแจ้งว่า ญาติของพ.อ.อภิวันท์จะนำร่างพ.อ.อภิวันท์กลับมาถึงประเทศไทยวันที่ 10 ต.ค. ด้วยเครื่องบินสายการบินไทย TG 621 โดยออกจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เวลา 13.05 น. ตามเวลาท้องถิ่น ถึงสนามบินสุวรรณภูมิในเวลา 15.20 น. ตามเวลาประเทศไทย จากนั้นญาติจะนำ ศพไปบำเพ็ญกุศลทางศาสนาที่วัดบางไผ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ในเวลา 18.00 น.

ปปช.ถกปมถอด'ปู'9 ตค.
      ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และอดีตส.ว. 39 รายว่า ป.ป.ช.ต้องพิจารณาหลักการกรณีถอดถอนทั้ง 2 เรื่อง รวมทั้งการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองอื่นๆ ว่าหากเป็นการกล่าวหาว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ตามมาตรา 58 พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ถือว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.ที่จะไต่สวนต่อไป 
      นายสรรเสริญ กล่าวว่า กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ในคดีจำนำข้าวนั้น ที่ประชุมป.ป.ช.ให้เจ้าหน้าที่ไปทบทวนสำนวนเพื่อความรอบคอบ เนื่องจากมีเรื่องเกี่ยวกับการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ อาจเข้าข่ายตามความผิดกฎหมายอื่นๆ ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมข้อมูลเสร็จแล้ว และจะรายงานต่อที่ประชุมป.ป.ช.ในวันที่ 9 ต.ค.นี้ เพื่อพิจารณาและสรุปส่งไปยังสนช.พิจารณาถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อไป สำหรับการประชุมคณะทำงานร่วมป.ป.ช.กับอัยการสูงสุด(อสส.)ในคดีอาญาน.ส.ยิ่งลักษณ์ปมจำนำข้าวนั้น จะประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 10 ต.ค. เพื่อสรุปให้ได้ว่าอสส.จะส่งฟ้องหรือป.ป.ช.จะส่งฟ้องเอง

'อาคม'ยื่นแสดงทรัพย์สินแล้ว 
       นายสรรเสริญ กล่าวถึงเสียงวิจารณ์การแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) บางรายไม่ถูกต้องหรือสับสนว่า ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ต้องให้เจ้าหน้าที่สำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาคการเมืองทำงานตามขั้นตอน โดยจะประสานให้ชี้แจงว่ามีเจตนาปกปิดหรือเกิดความเข้าใจผิดในขั้นตอนและกระบวนการยื่น ก่อนรายงานให้ที่ประชุม กรรมการป.ป.ช.ทราบต่อไป สำหรับการกำหนดวันเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของคณะรัฐมนตรีนั้น คาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนต.ค.นี้ ส่วนความชัดเจนกรณีสปช.จะต้องยื่นรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและต้องเปิดเผยต่อสาธารณะหรือไม่นั้น คณะกรรมการป.ป.ช. ยังไม่ได้หารือในประเด็นดังกล่าว 
       นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการป.ป.ช. เผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม ยื่นบัญชีทรัพย์สินทุกตำแหน่งแล้วในวันที่ 8 ต.ค. แต่ยังไม่ได้ตรวจรายละเอียดว่าได้ชี้แจงถึงเหตุผลที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินล่าช้ามาด้วยหรือไม่ สำนักงานป.ป.ช.จะเปิดเผยบัญชีรายชื่อของ 2 สนช.ที่ไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินตามกรอบเวลาที่กำหนด คือนายอาคมและนพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข พร้อมกับสนช. 28 คนที่แต่ง ตั้งเพิ่มภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้ง
       นายอาคม เผยว่า สาเหตุที่แจ้งบัญชี ล่าช้า เนื่องจากก่อนหน้านี้อยู่ระหว่างการรวบรวมและตรวจสอบรายละเอียดของเอกสารทั้งหมด รวมถึงการหาสมุดบัญชีเงินฝาก การยื่นเอกสารก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรและอยู่ในกรอบระยะเวลา

'บิ๊กติ๊ก'แจงที่มา 80 ล้าน 
        พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วยผบ.ทบ. สมาชิกสนช. กล่าวกรณีป.ป.ช.ระบุการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตนเองที่มีตัวเลขเกือบ 80 ล้านบาท อาจมีปัญหาเรื่องตัวเลขบัญชีผิดพลาดว่า อาจจะมีความเข้าใจผิด ทรัพย์สินที่ชี้แจงไป 70 กว่าล้านบาทนั้น คือภาพรวมทั้งหมด แบ่งเป็นเงินสด อสังหา ริมทรัพย์ ที่ดิน คอนโดฯ รวมทั้งทรัพย์สินของคู่สมรส ตนได้รับมรดกจากพ่อที่ได้มาจากการขายที่ดิน ลูกทั้ง 4 คนได้รับมรดกตรงนี้หมดทุกคน นั่นคือทรัพย์สินของเรา ตนจะไปปลูกบ้านที่จ.พิษณุโลก และซื้อที่ดิน ก็เป็นทรัพย์สินของตน ที่ว่าตนมีที่ดิน 9 แปลง 10 แปลง ไม่ใช่ จริงๆแล้วตนซื้อที่ดิน 1 ไร่ครึ่ง แต่มีโฉนดที่ดินอยู่ 9 แผ่น ไม่ใช่ 9 แปลงอย่างที่เป็นข่าว ทรัพย์สินของภรรยาตนก็มี เขาเป็นคนมีฐานะอยู่แล้ว 
         "ผมรับราชการมาตั้งแต่ปี 2532 สะสมเงินต่างๆ มาจนปัจจุบันนี้ เกือบ 30 ปี จะไม่มีเงินเก็บเงินสะสมบ้างเลยหรือ ส่วนที่เป็นข่าวที่ว่าผมนำทรัพย์สินของกองทัพบกสมัยเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 มาร่วมในบัญชีทรัพย์สินด้วยนั้น มีเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.เขาแนะนำผมว่าควรจะชี้แจงบัญชีของทางราชการที่ผมมีอำนาจเซ็นด้วย ผมจึงกลับไปที่กองทัพภาคที่ 3 ไปนำเอกสารมาชี้แจงให้เขาทราบ มันไม่เกี่ยว ไม่ใช่เงินผม" พล.อ.ปรีชากล่าว

'รัชตะ'ยอมทิ้งอธิการฯ มหิดล 
        เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ว่า วันนี้สภา มม. กำหนดให้นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุขและอธิการบดี มม. ตัดสินใจจะเลือกดำรงตำแหน่งใด ซึ่งนพ.รัชตะมาประชุมสภาคณบดีมหาวิทยาลัย ร่วมกับคณบดีจากคณะต่างๆ รวมถึงนายสุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ กระทั่งเวลา 11.00 น. นายสุกรีลุกออกจากที่ประชุมไปก่อน ขณะ ที่ช่วงท้ายการประชุม นพ.รัชตะกล่าวถึงผลการตัดสินใจว่า ขอเลือกดำรงตำแหน่งรมว.สาธารณสุข 
        นายสุกรี เผยว่า บรรยากาศการประชุมเป็นไปตามวาระปกติ ไม่มีผู้ใดสอบถามนพ.รัชตะ ว่าจะเลือกดำรงตำแหน่งไหน หลังจากนั่งประชุมมานานกว่า 2 ชั่วโมง เห็นว่าไม่มีอะไรสำคัญจึงลุกออกจากห้องประชุม ก่อนมาทราบภายหลังว่า นพ.รัชตะ เลือกดำรงตำแหน่งรมว.สาธารณสุข ซึ่งเป็นเรื่องดี ถือว่านพ.รัชตะ รักษากติกา ส่งผลให้ปัญหาทุกอย่างจบลงด้วยดี และยังเป็นแบบอย่างให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้ การยอมรับกติกาจะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

นั่งรักษาการต่อ-รอสรรหาคนใหม่ 
        นพ.วิรุณ บุญนุช ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นพ.รัชตะ กล่าวต่อที่ประชุมว่าขอเลือกตำแหน่งรมว.สาธารณสุข เมื่อกล่าวจบทุกคนในที่ประชุมจึงลุกขึ้นปรบมือแสดงความชื่นชมต่อการตัดสินใจครั้งนี้ เพราะถือเป็นสุภาพบุรุษ รักษาสัญญา พูดคำไหนคำนั้น และน่าดีใจที่บ้านเมืองมีผู้ใหญ่ที่พูดแล้วทำตามสัญญา ส่วนที่จดหมายเปิดผนึกที่ระบุข้อหนึ่งว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เปิดให้ดำรงตำแหน่ง ข้าราชการการเมืองควบคู่กันได้นั้น แม้จะเป็นรัฐธรรมนูญแต่มหาวิทยาลัยยังมีข้อบังคับการสรรหาอธิการบดี ข้อ 5 (2) ที่ระบุว่าอธิการบดีต้องทำงานเต็มเวลา ซึ่งนพ.รัชตะ ต้องปฏิบัติตาม หลังจากนี้นพ.รัชตะ จะรักษาการในตำแหน่งจนการสรรหาอธิการบดีคนใหม่จะเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งเชื่อว่าจะเร่งสรรหาจนได้อธิการบดีคนใหม่ในเร็ววันนี้

15 ต.ค.ร่วมประชุมสภามม.
       ทั้งนี้ มีสารจาก นพ.รัชตะถึงชาวมหิดลตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 41 ระบุให้ข้าราชการหรือพนักงานของรัฐดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมืองควบคู่กันไปด้วยได้ เจตนารมณ์คือขอตัวมาช่วยปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีในช่วงเวลาสั้นๆ 1 ปี ซึ่งเป็นอายุของรัฐบาลนี้และเป็นระยะเปลี่ยนผ่านที่สําคัญของประเทศ โดยยังปฏิบัติงานประจําควบคู่กันไปได้ด้วย ซึ่งในภาวะปกติสถาน การณ์นี้จะไม่เกิดขึ้น มีรัฐมนตรีอีกหลายคนในรัฐบาลชุดนี้อยู่ในสถานะเดียวกับตน คือควบตําแหน่งรัฐมนตรีและงานประจําด้วยเนื่องจากขณะนี้เป็นภาวะวิกฤตของประเทศ จําเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้และประสบ การณ์ในสายงานต่างๆ ช่วยแก้ไขวิกฤตประเทศ 
       นพ.รัชตะระบุ ทราบว่าชาวมหิดลบางกลุ่มประสงค์จะให้ตนดํารงอยู่ทั้ง 2 ตําแหน่ง แต่บางกลุ่มไม่เห็นด้วย ความคิดเห็นที่แตกต่างนี้ตนเตรียมปรึกษาหารือระหว่างฝ่ายที่เห็นแตกต่างด้วยสันติ เป็นการภายในมหาวิทยาลัย แต่น่าเสียใจที่ชาวมหิดลบางกลุ่มไม่ได้เลือกใช้วิธีที่จะบริหารความเห็นที่แตกต่างโดยสันติ ออกมาวิจารณ์อย่างรุนแรงตั้งแต่ก่อนที่ตนจะเริ่มทํางานในกระทรวงสาธารณสุข 
       "ตามที่ผมสัญญากับชาวมหิดลว่าจะขอเวลาตัดสินใจนั้น ผมได้ตัดสินใจว่าจะขอปฏิบัติหน้าที่ รมว.สาธารณสุขเพียงตําแหน่งเดียว เพื่อรับใช้ประเทศชาติและเพื่อความ เป็นเอกภาพของมม. สําหรับการบริหารมม.ในระยะเปลี่ยนผ่านนั้น ผมจะนําเข้าปรึกษาหารือในสภา มม.ในการประชุมวันที่ 15 ต.ค.นี้" นพ.รัชตะ ระบุ


รายงานตัว - นายดุสิต เครืองาม น้องชายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เข้า รายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หลังได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือสปช. ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 8 ต.ค.

สภาเปิดสปช.รายงานตัววันแรก
        ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สำนักเลขา ธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดให้สมาชิก สปช.เข้ารายงานตัวเป็นวันแรก เวลา 08.30-16.30 น. ระหว่างวันที่ 8-15 ต.ค. พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย เข้ารายงานตัวเป็นคนแรกก่อนกำหนดในเวลา 07.30 น. ตามมาด้วยนายอมร วาณิชวิวัฒน์ นายดุสิต เครืองาม และนายนิรันดร์ พันทรกิจ ซึ่งสำนักเลขาธิการสภาจัดเตรียมเอกสารแนวทางการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านให้กับสมาชิก สปช.ด้วย
       พ.ต.อาณันย์ ให้สัมภาษณ์ว่า อยากทำงานปฏิรูปด้านท้องถิ่น เพราะคิดว่าการปกครองท้องถิ่นจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในการปกครองตัวเอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติทำให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์แบบ ส่วนแนวทางการทำงานนั้นอะไรดีก็พร้อมผลักดัน แต่อะไรที่ไม่ดีควรพูดคุยกัน ไม่ใช่ไปยุบนั่นยุบนี่ ระยะเวลาทำงาน 1 ปีของสปช.เป็นการเข้ามาจัดระเบียบให้ถูกต้องตามโรดแม็ป ยืนยันว่าจะทำงานให้ดีที่สุด แต่จะปฏิรูปให้สำเร็จได้อยู่ที่ความตั้งใจและความร่วมมือของทุกฝ่าย

'อาณันย์'ขอปธ.เป็นกลาง
       พ.ต.อาณันย์ กล่าวว่า แม้ตนจะมาจากพรรคเพื่อไทยแต่ยืนยันไม่เป็นอุปสรรค เพราะเป็นการเข้ามาทำงานเพื่อรับใช้ประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ก็มีแนวทางปฏิรูปเป็นของตัวเอง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกิดจากความคิดแต่ละฝ่าย อยากเข้ามามีอำนาจ เข้ามาจัดการแก้ไข ตอนเพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็อยากเห็นการเลือกตั้งก่อนการปฏิรูป ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการเห็นการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ดังนั้นเมื่อมีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งก็ผลักดันเดินหน้าต่อไป
      พ.ต.อาณันย์ กล่าวว่า ส่วนประธานสปช.นั้น นอกจากเรื่องความรู้ความสามารถแล้วนั้น ยังต้องเป็นกลาง ไม่เอนเอียง รายชื่อที่ออกมาก่อนหน้านี้ ตนมองว่าก็เหมาะสมแต่ต้องรอดูต่อไปก่อน 

'อลงกรณ์'มีชื่อปธ.ในใจแล้ว 
        นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสปช. กล่าวถึงบุคคลที่จะเป็นประธาน สปช.ว่า ตนมีชื่อในใจอยู่แล้ว ซึ่งต้องเป็นกลางทางการเมือง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด มีจิตใจกว้างขวาง มีภาวะเป็นผู้นำ และมีความรู้ความสามารถ ซึ่งสปช.มีคุณสมบัติดังกล่าวอยู่หลายคน จึงอยู่ที่สมาชิก สปช.ว่าจะพิจารณาบุคคลใด
        นายอลงกรณ์ กล่าวว่า หลังจากนี้ตนจะเริ่มเดินหน้าทำงานตามกรอบของ สปช.โดยจะผลักดันการปฏิรูปด้านพลังงาน และจะดึงทุกพรรคให้มีส่วนร่วมปฏิรูปประเทศ อยากให้ทุกพรรคและทุกกลุ่มที่ขัดแย้งก้าวข้ามปัญหาการเมือง เพราะปัญหาหลักของประเทศ ยังมีทั้งปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ การศึกษา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จัดทำพิมพ์เขียวไว้แล้ว ก็จะนำมาเสนอให้กับสปช.โดยยึดเรื่อง 10 ฐานรากปฏิรูปประเทศ ซึ่งทั้งรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศจะต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

น้องวิษณุเป็นสปช.-ไม่ใช่พี่ให้ 
       นายดุสิต เครืองาม สมาชิกสปช. กล่าวหลังรายงานตัวว่า ตนสมัครเป็น สปช.ด้านพลังงาน มีแนวคิดปฏิรูปด้านพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน ผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทน การออกกฎหมายดังกล่าวจะไม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานที่เกี่ยวข้อง แต่จะเน้นลดการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง ยืนยันว่าการได้เป็น สปช.ไม่ได้เป็นเพราะพี่ให้ หรือเส้นสายความสัมพันธ์ส่วนตัวในฐานะน้องชายนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคสช. ตนลงสมัครโดยผ่านการคัดเลือกและลงมติของสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย ที่มีตนเป็นนายกสมาคม ก่อนหน้านี้ก็ไม่อยากสมัครแต่เมื่อมีการลงมติจึงต้องทำหน้าที่ตัวแทน และตนมีความรู้ ความสามารถ คุณสมบัติที่เหมาะสม มีผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลการันตี

'ชัยอนันต์'หนุนคนอื่นนั่งปธ.
       นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสปช. กล่าวว่า ตนสนใจงานป้องกันคอร์รัปชั่น โดยปรับปรุงการปฏิบัติงานของป.ป.ช. และข้าราชการประจำอย่างบูรณาการ ผลักดันแก้ไขกฎหมาย แก้นิยามคำว่า"คอร์รัปชั่น" ซึ่งกฎหมายของไทยบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องเงินอย่างเดียว ให้ครอบคลุมถึงการแต่งตั้งโยกย้าย ช่วยเหลือพรรคพวกเครือข่ายเดียวกัน สำหรับประธานสปช. ควรมีประสบการณ์การปฏิรูปเพื่อให้สังคมมั่นใจและต้องฟังเสียงจากทุกฝ่าย ทำให้สมาชิกทำงานร่วมกันได้ ส่วนการแสดงบัญชีทรัพย์สินของสปช. ขึ้นอยู่กับป.ป.ช. หากป.ป.ช.มองสปช.ว่าเป็นสภาการเมือง ตนยินดีให้ตรวจสอบเพราะในสังคมประชาธิปไตยควรให้สังคมตรวจสอบความโปร่งใสได้
       นายชัยอนันต์ สมุทวณิช สมาชิกสปช. ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวมีชื่อเป็นแคนดิเดตประธาน สปช.ว่า ตนยังไม่ทราบ ส่วนตัวคิดว่ามีคนอื่นที่เหมาะสมกว่า แต่ต้องรอดูการพิจารณาของที่ประชุม คุณสมบัติของประธาน สปช. ต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกได้แสดงความเห็น สามารถเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ มาร่วมกระบวนการปฏิรูปได้ ส่วนตัวสนใจเรื่องการกระจายอำนาจสู่ประชาชนมากขึ้น การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยการจัดระบบงบประมาณรายจ่าย ซึ่งตนเคยเสนอมาแล้ว

วันแรกสปช.รายงานตัว 41 คน 
       นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. อดีตกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า ตำแหน่งประธานสปช. ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสมาชิก แต่ส่วนตัวเห็นว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า มีความเหมาะสม แต่นายบวรศักดิ์ เห็นว่ามีสมาชิกสปช.บางรายที่มีอาวุโสและเหมาะสมกว่า คาดว่าจะเสนอนายบวรศักดิ์ ชิงรองประธานสปช.คนที่ 1 แทน 
        นายไพบูลย์ กล่าวว่า แม้คนที่เป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องเว้นวรรค 2 ปี แต่ตนจะเสนอตัวทำหน้าที่ดังกล่าวเพื่อเข้าไปสร้างกติกาให้ประชาชนที่ออกมาต่อสู้ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง ไม่ใช่ผ่านตัวแทน 
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการเข้ารายงานตัวของสมาชิก สปช.วันแรกเป็นไปอย่างคึกคัก ตลอดทั้งวันมีสมาชิก สปช.เข้ารายงานตัวทั้งสิ้น 41 คน เหลือสมาชิกที่ยังไม่ได้รายงานตัวอีก 209 คน โดยเปิดให้รายงานตัวได้ถึงวันที่ 15 ต.ค. ขณะที่นายสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง น้องชายนายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง สมาชิกสปช. มาขอเลื่อนการรายงานตัวแทนพี่ชาย เป็นวันที่ 18 ต.ค. เนื่องจากติดภารกิจในต่างประเทศ 

สปช.ถกนัดแรก 21 ต.ค.
       นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาฯสภาสปช. กล่าวว่า การประชุมนัดแรกของสปช.เบื้องต้นคาดว่าเป็นวันที่ 21 ต.ค. มีวาระเลือกประธานและรองประธาน และคาดอาจตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใน 15 วัน รวมถึงเสนอกรอบให้กมธ.ภายใน 60 วันตามรัฐธรรมนูญกำหนดด้วย โดย สปช.สามารถเสนอบุคคลภายนอกเข้ามาเป็น กมธ.ได้ ทั้งนี้ ตนไม่กังวลการทำหน้าที่ร่วมกับสปช.และพร้อมสนับสนุนการทำงานของสปช. ส่วนการแสดงความคิดเห็นของสปช.ก็ถือว่าทำได้อย่างอิสระ

'เทียนฉาย'นั่งประธาน
       รายงานข่าวเผยว่า สำหรับบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งประธานและรองประธาน สปช. ได้ข้อสรุปแล้ว โดยประธานคือ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ส่วนรองประธานคนที่ 1 คือ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ โดยมี น.ส.ทัศนา บุญทอง เป็นรองประธานคนที่ 2

พท.ขอเลือกตั้งส.ค.ปี"58
        นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้สปช.เดินหน้าสร้างการปฏิรูปประเทศให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง สร้างความปรองดองสามัคคี ที่สำคัญเร่งร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้มีกติกานำไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็ปของ คสช. คือมีการเลือกตั้งประมาณวันที่ 22 ส.ค. 2558 ดังนั้น หาก สปช.มีความจริงใจ เชื่อว่าเวลา 1 เดือนก็ร่างรัฐธรรมนูญได้เสร็จ ส่วนแคนดิเดตประธาน สปช.ที่มีชื่อปรากฏตนไม่ติดใจเพราะเชื่อว่ามีธงไว้แล้ว ใครจะเป็นประธานก็ได้ แต่ขอให้ทำหน้าที่ด้วยความ บริสุทธิ์ ยุติธรรม ปราศจากอคติ ส่วนเสียง วิจารณ์ว่าสปช.ส่วนใหญ่มาจากกลุ่ม 40 ส.ว.และกลุ่มกปปส. เมื่อผ่านการคัดสรรจากคณะกรรมการทั้ง 11 ด้านก็ต้องให้โอกาส ตนจะจับตาการทำหน้าที่ของกลุ่มคนเหล่านี้ 

จ่อจ่ายสวนยาง 2.5 พันต่อไร่ 
      ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นาย ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เผยว่า วันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้รับหนังสือจากนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เรื่องข้อเสนอการให้ความช่วยเหลือชาวสวนยางพารา 4 มาตรการคือ 1.ลดพื้นที่การปลูกยางอย่างจริงจังเพื่อลดปริมาณผลผลิตในตลาด 2.การสนับสนุนเงินทุนเพื่อปรับเปลี่ยนการปลูกยาง ซึ่งไม่ใช่การปรับพื้นที่ทั้งหมด แต่ปรับเปลี่ยนมาเป็นสวนยางแบบผสมกับการปลูกพืชอื่น ตามทฤษฎีไร่นาส่วนผสม 3.การลดปริมาณผลผลิต โดยงดการกรีดยางในสวนยางของหน่วยงานรัฐ รวมทั้งควบคุมพื้นที่การปลูกยางที่เพิ่มขึ้นใน 2 กลุ่ม คือพื้นที่ยางที่เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมตามนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้านี้ และพื้นที่ปลูกยางที่เพิ่มขึ้นจากเกษตรกร และ 4.การจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ชาวสวนยาง ที่เป็นเกษตรกรรายเล็ก ข้อเสนอทั้งหมดนี้กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการวิเคราะห์และจะเสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) พิจารณาต่อไป
        "อย่างช้าสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปว่าจะช่วยเหลือชาวสวนยางอย่างไร ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ ผมคิดเรื่องนี้ทุกวัน นอนไม่หลับ ไม่ว่าจะสร้างนโยบายอย่างไรออกมาจะไม่ให้กระทบกับเกษตรกรรายย่อย" นายปีติพงศ์กล่าวและว่า ส่วนข้อเสนอให้รัฐจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยาง ไร่ละ 2,520 บาท ถ้าจะทำก็ทำได้แต่ขึ้นอยู่ว่าจะเลือกทำในเวลาไหน ต้องปรึกษากับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจด้วย

มาตรการเดียวกับรบ.ก่อน 
       นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า การช่วยเหลือชาวสวนยางโดยจ่ายเงินไร่ละ 2,520 บาท ที่ทำมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน โดยจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยางมาแล้ว 2 รอบ รวมเป็นเงินที่จ่ายแล้ว 23,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงินที่ขออนุมัติไว้ 26,000 ล้านบาท พื้นที่สวนยางได้รับความช่วยเหลือ 10 ล้านไร่ หากรัฐบาลอนุมัติโครงการใหม่ให้จ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยางเป็นครั้งที่ 3 คาดกรอบวงเงินจะไม่เกินจากครั้งก่อนหน้าคือ 26,000 ล้านบาท 
       ที่ห้องประชุมอาคารนวัตกรรม มหาวิทยา ลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ สมาคมชาวสวนยางพารา จ.นครศรีธรรมราช และชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ร่วมเสวนาหาทางออกเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล แก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบและช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทั่วถึง มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 500 คน โดยมีนักวิชาการและตัวแทนเกษตรกรร่วมเสวนา อาทิ นายเลิศชาย ศิริชัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ นายประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้านเจ้าของรางวัลแมก ไซไซ นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคี เครือข่ายชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้

ยางใต้ยื่นรบ. 5 ข้อ-ให้เวลา 45 วัน 
      หลังการเสวนากว่า 4 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติในนาม "แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง" เสนอ 5 ประเด็นหลักต่อรัฐบาล คือ 1.ให้รัฐบาลและผู้ส่งออกทำให้ราคายางอยู่ที่ 80 บาทภายใน 45 วัน โดยให้รัฐบาลจ่ายส่วนต่างเป็นพันธบัตรรัฐบาล 2.ให้รัฐบาลยกเลิกการขายยาง 2.1 แสนตัน นำยางทั้งหมดนี้มาใช้ในประเทศผ่านช่องทาง อปท.และอื่นๆ 3.กรณีมาตรการทวงคืนสวนยางในเขตป่า ให้ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.ที่ 66 4.ให้รัฐบาลและคสช.แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ อปท.นำยางมาใช้ในทำผลิตภัณฑ์และกิจกรรมต่างๆ ได้ และ 5.จัดตั้ง "แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง" เพื่อดำเนินกิจกรรมการเคลื่อนไหว และกำหนด พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ฉบับที่เกษตรกรชาวสวนยางเป็นผู้เสนอต่อรัฐบาลและ สนช. และ 5.ให้ยุติและหยุด พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย ฉบับที่กำลังเสนอเข้าสนช.โดยทันที
       นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เผยว่า แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางพารามีมติเบื้องต้นจะให้เวลารัฐบาลแก้ปัญหาภายใน 45 วัน หากยังไม่ชัดเจนเราพร้อมบุกทำเนียบรัฐบาล เพื่อไปพูดคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ ที่ผ่านมาไปเที่ยวทำเนียบมาแล้ว อาจไปเที่ยวอีกครั้ง แต่ช่วง 45 วันนี้เราอาจไปเที่ยวตามโรงงานยางพาราต่างๆ ของนายทุน และอาจเดินรณรงค์ตามท้องถนนเหมือนกลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจให้เกษตรกรชาวสวนยางพารามาช่วยกันเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางพร้อมกัน

สนช.แบ่งโควตาประธานกมธ.
       ที่รัฐสภา พล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม สมาชิก สนช. ในฐานะประธานคณะกรรมา ธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อสรรหาสนช. ให้ดำรงตำแหน่งกมธ.สามัญประจำ สนช.คณะต่างๆ 16 คณะ เผยว่า ขณะนี้การสรรหาเสร็จเรียบร้อยแล้ว วันที่ 9 ต.ค.นี้ ตนจะรายงานเรื่องนี้ต่อที่ประชุมสนช. และวันเดียวกัน กมธ.แต่ละคณะจะประชุมเพื่อเลือกประธาน รองประธาน โฆษก และตำแหน่งอื่นๆ 
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม สนช. วันที่ 10 ต.ค. ที่ประชุมจะรับรองตำแหน่งประธาน กมธ.แต่ละคณะ และเลือกสมาชิกที่จะเป็น กมธ.วิสามัญกิจการ สนช. หรือวิป สนช. 7 คน รวมกับตัวแทนของ กมธ.สามัญ 16 คน ที่แต่ละคณะส่งรายชื่อมา บวกกับ ผู้แทนคณะรัฐมนตรี เลขาธิการวุฒิสภา รวมทั้งหมดไม่เกิน 28 คน เพื่อแต่งตั้งเป็น วิปสนช.
       สำหรับ ประธานกมธ.นั้น เบื้องต้นตกลงกันว่าจะมาจากสายพลเรือน 6 คน สายทหาร 10 คน แบ่งเป็นจากทหารบก ทหารอากาศ ทหารเรือ และตำรวจ โดยคาดว่า นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นประธานกมธ.สังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ เป็นประธานกมธ.การสาธารณสุข พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ เป็นประธานกมธ.การศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว นายกล้าณรงค์ จันทิก เป็นประธานกมธ.การเมือง ขณะที่ประธานกมธ.การต่างประเทศ มีชื่อนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล และนางพิไลพรรณ สมบัติศิริ เป็นแคนดิเดต

'ชัชวาลย์'ตั้งผบ.สำนักคดีพิเศษ 
       แหล่งข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยว่า พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดีดีเอสไอ ลงนามเสนอแต่งตั้งตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ให้นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม พิจารณาแต่งตั้งแล้ว ประกอบด้วย พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง พ.ต.ท.บรรณฑูรย์ ฉิมกรา พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ พ.ต.ท.อุดมวิทย์ เนียมอินทร์ พ.ต.ท.จตุพร อรุณฤกษ์ถวิล พ.ต.ท.สุภัทร ธรรมธนารักษ์ พ.ต.ท.หญิง พรทิพย์ ล.วีรพรรค นายเกริกไชย ศรีศุกร์เจริญ พ.ต.ท.มนต์ชัย วัชรบุตร พ.ต.ต.จิรากร อารีย์รัตนะนคร นายพิพัฒน์ เพ็ญภาค และนายชวลิต ก้อนทอง
       พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ยังลงนามเสนอแต่งตั้ง ผู้บัญชาการสำนักคดีพิเศษที่ว่างอยู่ ประกอบด้วย พ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ เป็น ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา พ.ท. ธนาธิป จุละจาริตต์ เป็นผบ.สำนักปฏิบัติพิเศษ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล เป็นผบ.สำนักคดีการเงินการธนาคาร นางชุรีวรรณ จินตกวีวัฒน์ เป็นผบ.สำนักบริหารกลาง อย่างไรก็ตาม ผู้ผ่านการคัดเลือกแต่ถูกยกเลิกก่อนหน้านี้ ได้เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว

คสช.แจงเหตุ'ปู'งดเปิดงานบั้งไฟ
       วันที่ 8 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากจ.หนองคาย ว่า คณะผู้จัดงานบั้งไฟพญานาคและพิธีบวงสรวงบูชาพญานาค ที่วัดไทย ต.จุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย มีการจัดเตรียมงาน และจากที่มีข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเดินทางมาเปิดและชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคและร่วมพิธีบวงสรวงนั้น ผู้จัดงานได้เตรียมขึ้นป้ายต้อนรับตามถนนสายหนองคาย-โพนพิสัย และบริเวณจุดที่จะมีการจัดงาน โดยทำป้ายต้อนรับขนาดใหญ่ไว้ 4 ป้าย ซึ่งช่วงเช้าวันที่ 8 ต.ค. มีการติดตั้งป้ายไว้ริมถนนสายหนองคาย-โพนพิสัย เขตเทศบาลตำบลโพนพิสัย แล้ว 1 ป้าย และกำลังเตรียมติดตั้งตามที่ต่างๆ แต่ช่วงสายได้รับการประสานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ แจ้งยกเลิกกะทันหัน จึงต้องรื้อถอนป้ายต้อนรับที่ติดตั้งแล้ว และเก็บป้ายที่เตรียมจะติดตั้งออกหมด
       พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคสช. กล่าวถึงกรณีเสียงวิจารณ์คสช.ขอร้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ งดไปเปิดงานบุญบั้งไฟ จ.หนองคาย ว่า ยืนยัน คสช.ไม่ได้สั่งห้าม แต่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยภายในจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าฯหนองคาย ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง ประชุมหารือกันเห็นว่างานดังกล่าวเป็นงานของเทศบาล หากน.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาเปิดงาน จะมีประชาชนจำนวนมากมาร่วม สุ่มเสี่ยงต่อการที่บุคคลทั่วไปจะมองในแง่มุมอื่นได้ และเมื่อมีคนมารวมกลุ่มกันแล้วอาจมีการแสดงเชิงสัญลักษณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่สบายใจและยากต่อการควบคุมสถานการณ์ ผู้จัดงานจึงแจ้งไปที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมอธิบายรายละเอียดข้อกังวลใจทั้งหมด ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ก็รับฟังด้วยดีและไม่ขอเดินทางไปร่วมงานเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย
       นายอดิศร เพียงเกษ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุ เดิมวันที่ 8 ต.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับเชิญเป็นประธานเปิดงานบั้งไฟพญานาค แต่ด้วยเหตุผลใดมิทราบได้ เหล่าทหารขอความร่วมมือไม่ให้เดินทางไปเป็นประธาน ทั้งที่กำหนดการนี้วางไว้นานแล้ว "ทราบแล้ว โคตรเซ็งกับการใช้อำนาจที่ขัดต่อวัฒนธรรมประเพณี"

นักข่าวโอด-ทำเนียบเข้มแต่งตัว 
      วันที่ 8 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ระหว่างที่นักกีฬาเอเชี่ยนพาราเกมส์ คณะผู้ฝึกสอน และเจ้าหน้าที่ เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เพื่อรับโอวาทก่อนเข้าร่วมการแข่งขันที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ วันที่ 18-24 ต.ค.นั้น เจ้าหน้าที่จากสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลว่า จากนี้ไปขอความร่วมมือให้แต่งกายสุภาพเรียบร้อยเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบ โดยอ้างคำสั่งของพล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ โดยผู้สื่อข่าว ช่างภาพ และผู้ช่วยช่างภาพต้องไม่สวมกางเกงยีนส์สีอ่อน-ขาด เสื้อยืดคอกลม และไม่ปล่อยชายเสื้อออกนอกกางเกงหรือกระโปรง หากไม่ปฏิบัติตามจะจดรายชื่อเพื่อพิจารณาไม่อนุญาตออกบัตรประจำตัวสื่อมวลชนประจำทำเนียบ เพื่อใช้ผ่านเข้า-ออกในการปฏิบัติหน้าที่ 
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาสื่อมวลชนให้ความร่วมมืออย่างดีในการแต่งกายสุภาพเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะวันที่มีการประชุมครม.หรือมีแขกต่างประเทศมาเยือนหรือมีวาระสำคัญในโอกาสต่างๆ ผู้สื่อข่าวชายจะสวมกางเกงสแล็ก เสื้อเชิ้ต หรือสูท-ผูกเนกไทแล้วแต่โอกาส ส่วนผู้สื่อข่าวหญิงจะสวมกระโปรง หรือกางเกงผ้าสีสุภาพ แต่การออกกฎเหล็กโดยระบุว่าจะไม่อนุญาตต่อบัตรประจำตัวสื่อมวลชนประจำทำเนียบครั้งนี้ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าเป็นมาตรการที่เข้มงวด

'บิ๊กตู่'ขอต่างชาติผ่อนปรนจีเอสพี
       เวลา 10.30 น. วันที่ 8 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ถึงการร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียยุโรป (อาเซม) วันที่ 16-17 ต.ค. ที่กรุงมิลาน อิตาลี ว่า อยู่ระหว่างการประสานว่าจะพบกับผู้นำประเทศใดบ้าง เท่าที่ทราบมีประเทศในอาเซียน จีน ญี่ปุ่น พบกันแน่นอนเพราะได้พูดคุยกันแล้ว ส่วนยุโรปมี 2-3 ประเทศ คือ ฮอลแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ เวทีนี้มีความสำคัญ ต้องบอกให้พวกเขารู้ว่าเราพร้อมแล้วทั้งการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การบริหารจัดการน้ำ การปรับปรุงระเบียบการค้า การลดขั้นตอนติดต่อราชการ ลดภาษีต่างๆ ซึ่งไม่เคยได้แก้แต่วันนี้เราแก้หมด
      เมื่อถามถึงการเตรียมรับมือกรณีสหภาพยุโรป (อียู) จะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่ให้กับสินค้าไทยอีก 723 รายการ หลังวันที่ 1 ม.ค. 2558 นายกฯ กล่าวว่า นี่คือปัญหาที่เราต้องคุยกับต่างชาติว่าเราขอยืดเวลาได้หรือไม่ เขาต้องผ่อนผันเราบ้าง เช่น ลดสิทธิภาษี วันนี้เราจะแก้ทั้งปัญหาเร่งด่วน ระยะสั้น ระยะยาว สร้างความเข้มแข็ง ปรับหมดทั้งโรงงาน บีโอไอ เราทำคู่ขนานมาตลอด 4 เดือน ที่ผ่านมาไม่เป็นอย่างนี้
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการเยือนสหภาพพม่า วันที่ 9-10 ต.ค.ว่า จะหารือถึงการค้าชายแดน ความมั่นคง เศรษฐกิจ การลงทุน การเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน รวมถึงเรื่องยาเสพติด ทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนความร่วมมือเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เป็นการร่วมมือกัน 3 ประเทศในกรอบอาเซียน การเยือนพม่าครั้งนี้ตนจะพบกับตัวแทนนายกฯญี่ปุ่นด้วย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!