- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 07 October 2014 10:17
- Hits: 3946
วันที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8714 ข่าวสดรายวัน
สปช.อุแว้! 40 สว.-กปปส.ชื่อพรึบ โปรดเกล้าฯครบ 250 'บิ๊กตู่'ขอเวลาทำงาน ว้ากสื่อให้เลิกวิจารณ์
โปรดเกล้าฯ 250 สปช.แล้ว 40 ส.ว. -นกหวีดพรึบ คสช.ถกครม.วันนี้ ผบ.ทบ.เปรยอาจหารือ เรื่องยกเลิกอัยการศึก'บิ๊กตู่'ว้ากสื่อให้เลิกวิจารณ์รัฐบาล ขอโอกาสทำงานก่อน ยันแก้ปัญหาข้าวไม่ใช่ประชานิยม 'ปธ.สนช.'ยันมีอำนาจถอดถอน ขณะอดีตป.ป.ช.ชี้ไร้รธน. 50 ถอดถอนไม่ได้ ถ้าอ้างม.6 อาจเข้าข่ายเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง แถมใช้ย้อนหลังไม่ได้ เรืองไกรแนะร้องศาลอาญาชี้สนช.ใช้อำนาจถอดถอน
บิ๊กตู่หัวโต๊ะถกนโยบายข้าว
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว โดยมีม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยนายกฯมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้ พล.อ. ประยุทธ์เปลี่ยนมาใช้รถประจำตำแหน่งนายกฯอย่างเป็นทางการ โดยเป็นโฟล์กตู้กันกระสุนสีดำ ทะเบียน ฮภ 2923 กรุงเทพมหานคร ขบวนรถของนายกฯประกอบด้วยรถจักรยาน ยนต์ของสารวัตรทหารบก(สห.) 2 คัน รถโฟล์กตู้ประจำตำแหน่ง รถจักรยานยนต์รักษาความปลอดภัย(มดดำ) 2 คัน รถเบนซ์ 3 กว 5957 กรุงเทพมหานคร รถโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทะเบียน 3 กน 5145 และทะเบียน 3 กน 5154 อีก 2 คันปิดท้าย สำหรับรถโฟล์กตู้กันกระสุนซึ่งเป็นรถประจำตำแหน่งนายกฯนั้น จัดซื้อและใช้ในสมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกฯ
ยันไม่ใช่ประชานิยม
พล.อ.ประยุทธ์แถลงภายหลังประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวว่า คณะกรรมการได้แก้ปัญหามาเป็นลำดับ ช่วง 4 เดือนแรก แก้ปัญหาเร่งด่วนในเรื่องการจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าวและปัญหาเดือดร้อนของชาวนา ชาวไร่ ส่วนระยะที่สอง เมื่อเรามีรัฐบาลก็ดำเนินการต่อในมาตรการระยะยาว เราทำคู่ขนานมาตลอดและไม่ใช่ประชานิยมตามที่สื่อวิจารณ์
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้ต้องจัดกลุ่มชาวนาให้ได้ อันดับแรกคือชาวนาที่มีที่ทำกินน้อย รายได้น้อย ยากจนมาก สองคือชาวนาที่มีพื้นที่ทำกินมากขึ้นเกิน 40 ไร่ขึ้นไป สามคือชาวนาที่มีเงินทุนสูง มีการเพาะปลูกสมัยใหม่ใช้เครื่องจักร เครื่องมือ ไม่ได้รับความเดือดร้อนมาก สี่คือเจ้าของที่ที่ให้เช่านา เพื่อแบ่งการดูแลช่วยเหลือตามลำดับ จึงมาสู่การช่วยเหลือชาวนาที่มีพื้นที่ทำกินน้อย โดยให้ความสำคัญเร่งด่วนตรงนี้ก่อน นอกจากนั้นยังหารือถึงมาตรการเร่งด่วน ทั้งระยะสั้นและยาว และปัญหาเกษตรกรบางจังหวัดที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว 2-3 จังหวัด
มอบมท. 1 ดูแลจัดโซนนิ่งเกษตร
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จากนี้ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย และศูนย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องขับเคลื่อนทุกอย่างให้กับเกษตรกร จะเชื่อมโยงทั้ง 2 ศูนย์เข้าด้วยกัน ว่าต่อไปจะกำหนดพื้นที่อย่างไร จะไปจ้างหรือให้เลิกปลูกไม่ได้ แต่ต้องสร้างแรงจูงใจ ใช้ศักยภาพของรัฐในทุกกระทรวงร่วมกัน ต้องทำตั้งแต่การผลิต พฤติกรรมผู้บริโภค การตลาด ได้ตั้งคณะกรรมการดูแลโซนนิ่งการเกษตร โดยให้รมว.มหาดไทย เป็นประธาน และสั่งให้คิดต่อให้ครอบคลุมถึงเรื่องยางด้วย ส่วนผู้มีรายน้อยและไม่มีที่ดินทำกิน ได้ตั้งคณะกรรมการ ให้รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินการและตนเป็นประธาน เพื่อจัดที่ดินให้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ลดต้นทุนการผลิต ช่วยเหลือลดราคาปัจจัยการผลิต 760 บาทต่อไร่ ตามนโยบายของคสช. แต่ไม่ทั่วถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะไปสำรวจให้การลดต้นทุน 7 ร้อยไม่พอไม่มีเงินใช้ จะให้ช่วย 1 พันบาทก็ว่าไป แต่ที่เหลือระยะยาวจะทำอย่างไรในอนาคต คิดว่าต้องสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นมาให้ได้ เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่บัดนี้ และให้ทุกกระทรวงหาทุนการศึกษาให้ลูกชาวนาเรียนให้ถึงปริญญา ด็อกเตอร์ให้ได้ ทำให้ทุกอำเภอมีความรู้ตั้งแต่เทคนิคการปลูก ต้องสร้างอนาคตที่เป็นตัวแทนในแต่ละพื้นที่ ถ้าไม่มีคนเหล่านี้ก็เป็นไปไม่ได้
หนุนจัดทัวร์ให้ฝรั่งมาทำนา
"ในหลวงตรัสว่านักกีฬาทั่วโลก เขากินข้าวจึงมีพลังมาสู้เราได้ เราต้องกินข้าวให้มากขึ้น เมื่อทั้งโลกกินข้าวก็ขายข้าวได้ สถานการณ์ข้าวทั้งโลกก็ดีขึ้น ขนมจีนขนมปังไม่เอา อ้วนเปล่าๆ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงมหาดไทยต้องสำรวจ จดทะเบียนเกษตรกรให้ชัดเจน ต้องรู้ว่าอยู่นอกและในเขตชลประทานเท่าไร ในพื้นที่ปลูกอะไร มีคุณภาพข้าวอย่างไร ซึ่งมีตลาดในแต่ละส่วนอยู่แล้ว ซึ่งผมให้แนวทางกับกระทรวงอุตสาหกรรมด้วยว่าลุ่มน้ำทั้งหมดจะไม่ทำอย่างอื่น นอกจากปลูกพืช ไปตั้งโรงงานก็เสียของเปล่าๆ ต้องปรับแก้และไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต" นายกฯกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อยากส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงนิเวศโดยให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดูความต้องการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ในระยะเวลา 15 วัน ซึ่งฝรั่งชอบ ให้เขามาทำนา ดำนา เรียนรู้วิธีปลูกข้าวจนเป็นข้าวหุงมาให้กิน จะได้รู้ว่าข้าวแต่ละเมล็ดได้มายากเย็น คนไทยยังไม่รู้เลย ลูกหลานกินข้าวเหลือกันบานเบอะ ตนไม่ยอม ต้องกินให้หมดทุกเม็ด สมัยเป็นนักเรียนนายร้อยถ้ากินข้าวไม่หมดต้องแบกข้าวทีละเม็ดวิ่งรอบโต๊ะ เราต้องเข้มงวดเพราะสงสารชาวนาที่เขาไม่ได้ร่ำรวยขึ้นมาได้เลย ต้องยกระดับเขาให้ได้
ลั่นส่งต่องานคสช.ให้รัฐบาล
พล.อ.ประยุทธ์ ยังให้สัมภาษณ์ถึงวาระการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี คสช. และที่ปรึกษาคสช.ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีฯ ว่าไม่มีวาระสำคัญอะไรเป็นพิเศษ เป็นเรื่องการทำงานที่ต่อเนื่องอย่างที่เคยบอกให้ทราบว่าหลังการทำงาน 4 เดือนและมีรัฐบาลอย่างเป็นทางการแล้ว คสช.จะส่งมอบภารกิจที่ทำไปแล้วว่ามีการวางแผนระยะสั้น ระยะยาว และระยะเร่งด่วนไว้อย่างไร ให้กับรัฐบาล การหารือร่วมกันก็จะพูดคุยถึง 5 กลุ่มงานว่า 5 กลุ่มงานของคสช.ได้ทำอะไรไปบ้าง และ 5 กลุ่มงานของรัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ จะมีการเชื่อมต่อกันตรงนี้แล้วหาช่องทางที่จะคุยกันต่อไป
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก คิดว่าสถานการณ์ มีความจำเป็นแล้วหรือยังพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าก็ต้องพิจารณาดูก่อน ขณะนี้ยังมีความเคลื่อนไหวอยู่พอสมควร ตนไม่ต้องการพูดตรงนี้ เพราะไม่อยากให้เสียบรรยากาศการลงทุนและสิ่งต่างๆ อีกมาก
ขอกำลังใจสื่อ-วอนเลิกขุดคุ้ย
"เพราะฉะนั้นประชาชนต้องช่วยผม ถ้ามองแง่เดียวก็บอกให้ผมยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก แต่หากเกิดเรื่องขึ้นมาแล้วปฏิรูปไม่ได้ ทำอะไรอีกไม่ได้ใครจะรับผิดชอบให้ผม เพราะผมเป็นคนรับผิดชอบแต่ผู้เดียว ต้องเข้าใจชีวิตผม ไม่ได้กลัวอะไรอยู่แล้ว แต่ชีวิตผมแบกภาระมาโดยที่ผมไม่ได้อะไรเลย บอกว่าได้เป็นนายกฯ ก็ไม่ใช่ ได้ผลประโยชน์สักสลึงผมก็ไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาฟังจากสื่อ บางส่วนก็สนับสนุนคสช. สนับสนุนตน แต่ก็มีการเขียนวิพากษ์วิจารณ์เข้ามา ถามว่าทำไมเขียนแบบนั้น สื่อก็บอกว่าท่านและรัฐบาลนี้เป็นความหวังเดียวของประเทศไทย แล้วทำไมความหวังเดียวต้องมีเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ก็ขอร้องว่าอย่าไปขุดคุ้ยอะไรกันมากมายเลย ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะได้ประโยชน์อะไรทั้งสิ้น รัฐบาลต้องการเข้ามาแก้ปัญหา ตนแบกภาระไปไหนก็ไม่ได้ ลูกเมียก็ลำบาก ตนก็ไม่เห็นได้อะไรเลย วันนี้ต้องการกำลังใจเท่านั้นเอง ต้องการความเข้าใจ แต่สื่อก็พยายามขุดเรื่องนี้เรื่องโน้นเข้ามา นักการเมืองอื่นๆ ก็ขอบอกว่าตอนนี้ยังไม่ใช่เวลา
รู้ผลกระทบอัยการศึกแต่ยังไม่เลิก
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวของภาคการเมืองที่เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็นั่นสิ สื่อเองก็ทราบดีแล้วจะให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก ตนถามกลับว่าแล้วจะให้ทำอย่างไรต่อไป สื่อมาหยุดความเคลื่อนไหวให้ได้หรือไม่ ตนต้องรับผิดชอบในการปฏิรูปให้เดินไปข้างหน้าได้ เข้าใจดีว่ากระบวนการประชาธิปไตยสากลเขาว่าอย่างไร กฎอัยการศึกมีผลกระทบอย่างไร ตนรู้ดีทั้งหมด เพียงแต่ต้องตัดสินใจโดยยึดหลักว่าประเทศไทยต้องมาก่อน ประชาชนต้องปลอดภัยจะบอกว่าให้ต่างชาติยอมรับอย่างเดียวแล้วคนในประเทศไม่มีชีวิต ไม่มีราคาหรือ ทุกคนมีความสำคัญเท่ากัน
เมื่อถามว่า มีแนวคิดจะส่งทีมไปเจรจากับฝ่ายการเมืองบ้างหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ทำไมตนต้องไปเจรจากับเขา เขาต่างหาก ที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเพราะเป็นประชาชน
ลั่นให้สื่อหยุดวิจารณ์
เมื่อถามว่าเป็นห่วงความเคลื่อน ไหวของนักการเมืองในวันนี้หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า ก็พูดอยู่นี่ไง เรื่องเหล่านี้สื่อมวลชนต้องช่วยกันบอกให้นักการเมืองเหล่านั้นหยุด สื่อก็ต้องไปเตือนกลุ่มคนเหล่านั้นบ้าง แบบที่มาเตือนตนทุกวัน ต้องไปเตือนพวกเขาบ้าง สื่อมัวแต่มาเตือนตนทั้งๆ ที่เพิ่งเริ่มมาเพียง 4 เดือน กำลังแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาไม่รู้กี่รัฐบาล กี่ 10 ปี ยังไม่รู้เลย เพิ่งผ่านมาเพียง 4 เดือนก็เอาไปเทียบกับรัฐบาลก่อนๆ ที่ผ่านมาไม่รู้กี่รัฐบาลว่าต้องระวังตรงนั้นตรงนี้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ตนรู้ทั้งหมด แต่จะแก้มันอย่างไรก็ต้องให้เวลา ให้โอกาสตน แล้วช่วยชี้แจงพวกเขาว่าอย่าทำได้หรือไม่ ขอเวลาให้ประเทศไทยให้รัฐบาลเดินหน้าก่อน นี่คือการให้กำลังใจ แต่การให้กำลังใจว่าต้องอย่างนี้อย่างโน้น อย่าทุจริต ก็จะเข้ามาแก้ทุจริตแล้วตนจะทุจริตเองทำไม สื่อต้องเข้าใจ แค่ตนคุยกับสื่อ คุมยังไม่ได้เลย แล้วคนอื่นจะไปคุมเขาได้หรือ ก็ต้องมีกฎหมายต่างๆ ไว้ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าเกิดการตีขึ้นมาใหม่อีกแล้วจะทำกันอย่างไร อะไรที่เป็นข้อขัดแย้งก็ไปว่ากัน อะไรเป็นเรื่องกฎหมายก็ต้องเป็นกฎหมาย ตนพร้อมใช้อำนาจในการสร้างสรรค์ ถ้าใช้กฎหมายปกติได้ก็ใช้ แต่ทั้งหมดเราใช้ไปในทางสร้างสรรค์ ไม่อยากไปทำอะไรกับใครมากมายเพราะกฎหมายปกติก็มีอยู่ ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าทหารยังตั้งจุดตรวจความมั่นคงในพื้นที่ต่างๆ ไม่เหมาะสมนั้น ยืนยันว่ายังมีความจำเป็นอยู่ เพราะยังมีบางเรื่องที่ไม่ปกติอยู่ แต่ก็พยายามให้ตั้งจุดแบบหลบๆ
ผบ.ทบ.ยันยังไม่เลิกอัยการศึก
ที่กองบัญชาการกองทัพบก(บก.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก วาระพิเศษว่า ชี้แจงนโยบายและเน้นย้ำในฐานะผบ.ทบ. ซึ่งมีคติพจน์การทำงานคือ "ร่วมใจ ริเริ่ม จริงจัง เพื่อชาติ และราชบัลลังก์" ฉะนั้นกองทัพบกต้องปฏิบัติงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ซึ่งปี 2558 กองทัพบกมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรมทุกด้าน สอดรับกับแนวทางปฏิบัติงานของนายกฯและหัวหน้าคสช. ทั้งนี้สิ่งที่ตนมุ่งหวังและคาดจะให้เห็นผล 1 ปี คือการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะสานต่อนโยบายเดิม ตั้งเป้าว่า 1 ปี ต้องควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ให้ได้และลดสถิติการก่อเหตุด้านความมั่นคง ซึ่งทั้ง 2 อย่างต้องทำให้ได้ 50% ถึงจะเรียกว่าสัมฤทธิผลเป็นรูปธรรม
เมื่อถามว่า จะยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ยังไม่ขอพูดถึงเพราะ ผู้บังคับบัญชาระดับสูงต้องหารือกัน ส่วนการประชุม ครม.ร่วมกับคสช. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีฯ ในวันที่ 7 ต.ค. จะสรุปสถาน การณ์ภายในประเทศว่าเรียบร้อยเพียงใด ถ้าเรียบร้อยดีอาจปรับลดกฎอัยการศึก เพื่อให้สังคมสบายใจ แต่ขณะนี้ยังต้องคงประกาศใช้กฎอัยการศึกไว้อยู่ และจะยกเลิกเมื่อใดนั้นอยู่ระหว่างการติดตามและประเมินผล อีกทั้งการจะพูดอะไรออกไปควรมีความชัดเจน ควรมาจากนายกฯ รมว.กลาโหม
หึ่งอาจยกเลิกที่ภูเก็ต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมระหว่างครม.กับคสช. รวมทั้งที่ปรึกษาคสช.ในวันที่ 7 ต.ค. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีฯ ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรก โดยรัฐบาลจะสรุปผลการดำเนินงานรอบ 1 เดือนให้คสช.รับฟังว่างานด้านต่างๆ ที่รับมาจาก คสช.ได้ดำเนินการไปอย่างไร และมีข้อขัดข้องปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้าง นอกจากนี้จะหารือเรื่องการทำงานเพื่อความต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันระหว่าง 5 กลุ่มงานของ คสช.และครม.
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เผยว่า ที่ประชุมร่วมคสช.และครม.อาจนำเรื่องการยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกมาหารือโดยจะพิจารณาในบางพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเดือนพ.ย.ที่จะมีการจัดการแข่งขันเอเชี่ยนบีชเกมส์ วันที่ 14-23 พ.ย.นี้ ที่จ.ภูเก็ต ตามที่รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ นอกจากนี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม จะรายงานผลการดำเนินงานของหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งหมด รวมถึงสถานการณ์ภายในประเทศ หลังจากเรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา
ที่องค์การเภสัชกรรม นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีสภามหาวิทยาลัยมหิดล ขีดเส้นให้เลือกว่าจะนั่งตำแหน่งใดระหว่าง รมว.สาธารณสุข และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ภายในวันที่ 8 ต.ค.นี้ว่า เรื่องการเลือกตำแหน่ง ตนมีความชัดเจนแน่นอน เมื่อถามว่ารู้สึกหนักใจหรือไม่ที่เหลือเวลาอีก 2 วัน ต้องให้คำตอบกับสภามหาวิทยาลัยมหิดลว่าจะเลือกตำแหน่งใด นพ.รัชตะกล่าวว่า ตนมีคำตอบอยู่แล้ว ไม่รู้สึกหนักใจ
โปรดเกล้าฯสปช.-ทหารพรึ่บ 31
วันเดียวกันนี้ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่ได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเมื่อวันที่ 2 ต.ค. รวม 250 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสปช.มีสัดส่วนของอดีตนายทหารเกษียณอายุราชการ 31 คน ส่วนใหญ่เป็นนายทหารบก 21 คน ทหารเรือ 5 คน และทหารอากาศ 5 คน ทั้งนี้ ในสัดส่วนของทหารที่น่าจับตามอง ได้แก่ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร หรือบิ๊กเยิ้ม อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 ซึ่งเกษียณในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก เป็นเพื่อนตท.12 และเป็นเพื่อนรักของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ทั้งนี้ พล.อ.ธวัชชัยได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นสมาชิกสนช.แต่ขาดคุณสมบัติ แต่สุดท้ายได้มาเป็นสปช. พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ.สํานักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า อดีตประธานตท.10 รุ่นเดียวกับพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
พล.ร.อ.สุรินทร์ เริงอารมณ์ อดีตรองผบ.สส. เคยได้รับแต่งตั้งเป็นสนช. เมื่อปี 2549 พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ หรือบิ๊กชิต อดีตรองผบ.ทบ.และคนสนิทพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ และเคยเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นบุตรพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผบ.ทบ. พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ นายทหารคนสนิทพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งเป็นตท.12 รุ่นเดียวกับพล.อ.ประยุทธ์
40 ส.ว.นั่งสปช.เกือบยกกลุ่ม
พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรม พระธรรมนูญ พล.อ.อ.มนัส รูปขจร อดีตผบ. หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน(อย.) เป็นน้องชายของพล.ต.มนูญกฤต รูปขจร พล.ต.เดชา ปุญญบาล เลขานุการคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช หรือเสธ.อู้ อดีตจเรทหารทั่วไปและอดีตส.ว.สรรหา ถือเป็นนายทหารที่มีบทบาททางการเมือง พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและ เป็นหลานของนายแก้วขวัญ-นายขวัญแก้ว วัชโรทัย
นอกจากนี้ยังแบ่งเป็น กลุ่มอดีตส.ว. ตั้งแต่ปี 2543-2557 จำนวน 22 คน โดยเฉพาะอดีตกลุ่ม 40 ส.ว.เกือบทั้งกลุ่ม อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน นางตรึงใจ บูรณสมภพ นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายไพบูลย์ นิติตะวัน น.ส.รสนา โตสิตระกูล นายวันชัย สอนศิริ นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ นางทัศนา บุญทอง ฯลฯ
ส่วนอดีตส.ว.เลือกตั้งและสรรหาปี 2543-2551 อาทิ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ อดีตส.ว.มุกดาหาร นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตส.ว.นนทบุรี นายประเสริฐ ชิตพงศ์ อดีตส.ว.สงขลา นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ อดีตส.ว.ตรัง นายมีชัย วีระไวทยะ อดีตส.ว.กทม. และนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตส.ว.กทม.
กปปส.ร่วมสภาปฏิรูปเพียบ
กลุ่มอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) อดีตสนช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 (กมธ.ยกร่างฯ) อาทิ น.ส.พจนีย์ ธนวรานิช อดีตรองประธาน สนช.ปี 2549 นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานส.ส.ร. นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี อดีตส.ส.ร. นางจุรี วิจิตรวาทการ อดีตส.ส.ร. นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตกมธ.ยกร่างฯ นายกงกฤช หิรัญกิจ อดีตสนช. นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อดีตสนช. นายวุฒิสาร ตันไชย อดีตกมธ. ยกร่างฯ นายสมชัย ฤชุพันธุ์ อดีตส.ส.ร.และน้องชายนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกคสช.
กลุ่มต่อต้านพ.ต.ท.ทักษิณ โดยเคลื่อนไหวในนามกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชา ธิปไตยและกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชา ธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) จำนวนมาก อาทิ นายจรัส สุวรรณมาลา นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายชูชัย ศุภวงศ์ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายพลเดช ปิ่นประทีป นายพงศ์โพยม วาศภูติ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ รวมถึงนายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตกรรมการคตส. ซึ่งมีบทบาทตรวจสอบพ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อปี 2549 ในคดีที่ดินรัชดา
อดีตนักการเมืองมีแค่ 4
กลุ่มนักการเมืองที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสปช. อาทิ นายชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตรมช.กลาโหมรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ อดีตทีมทนายความคดีรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ขณะที่กลุ่มข้าราชการในอดีตและปัจจุบัน อาทิ นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายประชา เตรัตน์ นายไพโรจน์ พรหมสาส์น อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายมนู เลียวไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
ส่วนกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มภาคเอกชน และกลุ่มเอ็นจีโอ อาทิ นายเทียนฉาย กีระนันท์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีชื่อเป็นตัวเต็งประธานสปช. นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจ และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ทีมงานด้านเศรษฐกิจกลุ่มนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาคสช. นายดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย และน้องชายนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคสช. นางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อ ผู้บริโภค นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่คาดว่าจะได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ให้รายงานตัว 8-15 ต.ค.
สำหรับสัดส่วนสื่อมวลชน อาทิ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท นายพนา ทองมีอาคม กรรมการ กสทช. นายมานิจ สุขสมจิตร สื่อมวลชนอาวุโส นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตคอลัมนิสต์ นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ นาย วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา รองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
รายงานข่าวจากรัฐสภา แจ้งว่า หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 250 คน สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสปช. ได้เปิดให้สมาชิก สปช.เข้ารายงานตัว ที่ห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. วันที่ 8-15 ต.ค. เป็นเวลา 8 วัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยต้องนำหลักฐานมาประกอบการรายงานตัว ได้แก่สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบสำคัญสมรส สำเนาบัตรประชาชนคู่สมรส สำเนาแสดงหลักฐานวุฒิการศึกษา และรูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 6 รูป ขนาด 2 นิ้ว 6 รูป และขนาด 3 นิ้ว 6 รูป ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการสปช. ได้เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อคิดเห็นการปฏิรูป 11 ด้าน ตามที่คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปแจกให้กับสมาชิก สปช.ที่มารายงานตัว ศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมทำงาน
วิษณุชี้ต้องเปิดประชุมใน 15 วัน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปทั้ง 250 คนต้องเข้ารายงานตัว จากนั้นเรียกประชุมนัดแรกเพราะจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันหลังประชุมนัดแรก ซึ่งการประชุมคงต้องใช้ข้อบังคับอื่นที่มีอยู่ อาจใช้ข้อบังคับของสนช.โดยอนุโลมก็ได้ โดยนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ที่มีอาวุโสสูงสุดจะเป็นประธานประชุม จากนั้นจะเลือกประธานและรองประธานสปช. ซึ่งรองประธานจะมีแค่ 1-2 คนเท่านั้น ขึ้นอยู่กับที่ประชุม ส่วนเรื่องที่สปช.ต้องเร่งทำคือเร่งกระบวนการปฏิรูปให้เร็วที่สุดและต้องลงมือปฏิรูปตั้งแต่วันแรก
ผู้สื่อข่าวถามว่าดูเหมือนชื่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะสมาชิกสปช.จะมาแรงในตำแหน่งประธานสปช. นายวิษณุกล่าวว่า ไม่รู้ ไม่อยากไปยุ่งกับเขา เดี๋ยวจะหาว่าไปแทรกแซง
พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกสปช. ให้สัมภาษณ์ว่า พร้อมทำงานปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองที่มีคนฝากเรื่องกับตนมากมาย ส่วนคุณสมบัติของประธานสปช. นั้น ยังไม่ได้คิดและยังไม่กล้าเสนออะไรในเบื้องต้น
ด้านนายชัย ชิดชอบ สมาชิกสปช. และอดีตประธานรัฐสภากล่าวว่า รายชื่อที่ได้รับเลือกมาทั้งหมดเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ส่วนที่มีรายชื่อตนปรากฏตามสื่อว่าได้รับการพิจารณาเป็นประธานสปช.นั้น ยังไม่ทราบและไม่มีใครมาพูดคุยทาบทาม ส่วนใครจะได้เป็นประธานสปช.นั้น ทุกคนมีความเหมาะสม มีความสามารถ
40 ส.ว.ชู'ชัยอนันต์'ปธ.สปช.
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสปช. และอดีตส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนเห็นรายชื่อสปช.แล้ว มีกลุ่มอดีตส.ว.สรรหาและเลือกตั้งเข้ามาไม่กี่คน ตอนนี้ยังไม่ได้พูดคุยกับกลุ่ม 40 ส.ว.ที่มีรายชื่ออยู่ในสปช. แต่จากนี้ต้อง เดินหน้าทำงาน ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าสปช.เป็น สิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การทำงานจึงต้องกำหนดกรอบว่าจะเป็นในลักษณะไหนก่อนที่ทั้ง 11 คณะจะเริ่มทำงาน ดังนั้นอันดับแรกตนเห็นว่าควรที่จะเปิดให้มีการอภิปรายในภาพรวมทั้งหมดก่อน เพราะภารกิจเร่งด่วนของสปช.คือการให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่านายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาฯ และนาย ชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีรายชื่อติดโผเป็นประธานสปช. นายคำนูณกล่าวว่า บุคคลทั้ง 2 มีความเหมาะสมเพราะมีความรู้ ความสามารถ ซึ่งนาย ชัยอนันต์มีความสามารถในแนวทางปฏิรูปประเทศมายาวนานด้วย
รองนายกฯ คาด 6 เดือนเห็นผล
นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯ กล่าวถึง 250 สปช. ว่า เป็นเรื่องที่ดีต่อการปฏิรูปประเทศ มีทั้ง 11 สาขามาช่วยกันดู ที่สำคัญมากคือสปช.จะเป็นผู้ตั้งกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยกมธ.ต้องทำงานให้เสร็จอย่างรวดเร็ว เพราะหลังมีกมธ.แล้ว คาดว่าภายใน 6 เดือนต้องเป็นรูปร่างขึ้นมาเพื่อดำเนินการต่อไปและนำประเทศไทยสู่ประชาธิปไตยตามปกติ เราพยายามให้กลุ่มที่เห็นต่างกันเข้ามาพบกันในสภาปฏิรูป บางกลุ่มไม่ต้องการจึงไม่เข้ามา ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร แต่กลุ่มที่เสนอตัวเข้ามาก็พิจารณาเต็มที่ ถือเป็นความหวังที่ดีมากของคนไทยที่จะได้รัฐธรรมนูญที่ดี มาจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
เมื่อถามว่าท้ายที่สุดหากข้อสรุปของสปช.ไม่เป็นที่ยอมรับจะทำอย่างไร นายยงยุทธ กล่าวว่า จะไม่ยอมรับโดยใคร หากเกิดเช่นนั้น ทุกอย่างก็ไม่มีวันได้ความเห็นพ้องต้องกัน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าได้จากคนส่วนมาก ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้ว ดังนั้นต้องดูที่คนส่วนมาก
"สปช.กับ สนช.ต้องทำงานใกล้ชิดกัน มาก จะมีประเด็นหลายอย่างที่ไม่ได้ใส่ ในรัฐธรรมนูญเพราะเป็นประเด็นย่อย หรือเฉพาะลงไป ซึ่งสปช.ต้องส่งประเด็นเหล่านี้ไปยังสนช.เพื่อออกเป็นกฎหมาย ผมคิดว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจ ถือเป็นนวัตกรรมทางการเมืองของไทยที่มี 2 สภาทำงานประสานกันขนาดนี้" นายยงยุทธกล่าว
ปธ.สนช.ยันมีอำนาจถอดถอน
ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ป.ป.ช.ยังไม่ส่งสำนวนคำร้องถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กลับมาให้สนช.พิจารณา แต่ยืนยันว่า สนช.มีอำนาจเหมือนวุฒิสภาตามมาตรา 6 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แต่จะดำเนินการหรือไม่ ต้องดูเหตุผลในสำนวนของป.ป.ช.ก่อน ส่วนจะตั้งทีมกฎหมายขึ้นมาดูหรือไม่นั้น ถ้าเป็นเรื่องยากก็ต้องปรึกษากันก่อน
เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยจะยื่นเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจสนช. นายพรเพชรกล่าวว่า หากยื่นเรื่องไปก็ไม่ต้องทำอะไรกัน และไม่ทราบว่าจะฟ้องตามความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้อย่างไร
ลั่นสนช.คือสมาชิกรัฐสภา
ด้านนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่ 2 กล่าวว่า หากป.ป.ช.ส่งเรื่องมาแล้วก็ต้องทำตามข้อบังคับการประชุม สนช. เรื่องนี้เป็นประเด็นทางกฎหมายล้วนๆ ไม่มีเรื่องอารมณ์และความรู้สึกใดๆ เกี่ยวข้องกับการพิจารณา ตนมองว่าเรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้นแล้วจะยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร และไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่
ส่วนกรณีนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ผู้ประสานงานยุโรปขององค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ส่งหนังสือถึงเลขาธิการสหภาพรัฐสภานานาชาติให้ทบทวนการเชิญ สนช. เข้าร่วมประชุมสหภาพรัฐสภานานาชาติ เพราะขาดคุณสมบัติเรื่องอุดมการณ์ประชาธิป ไตย นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญระบุให้ สนช.ทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภา จึงเชื่อว่าสนช.จะเข้าร่วมประชุมดังกล่าวได้
นิคมจ่อร้องศาลรธน.ชี้ถอดถอน
นายเจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสนช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ชั่วคราว กล่าวว่า ที่นายนิคม เตรียมยื่นฟ้อง สนช. ใช้อำนาจมิชอบและไม่มีอำนาจถอดถอน ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น ทำได้แต่หากจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าทำไม่ได้ เพราะผู้ที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ต้องเป็นองค์กร ได้แก่ คสช. ครม. สนช. ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง
นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวถึงอำนาจการถอดถอนของสนช.ว่า เชื่อว่ามีสนช.บางคนไม่เห็นด้วยและท้วงติงว่าจะทำได้หรือไม่ อาจต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะป.ป.ช.ชี้มูลความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ไม่ได้เขียนรับรองไว้ หากสนช.ดำเนินการถอดถอน ตนจะยื่นศาลยุติธรรม ในมาตรา 157 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
"ไม่รู้ว่าพวกเขาอาฆาตอะไรผม อย่าอาฆาตกันเลย บอกแล้วว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก ผมแค่ทำตามหน้าที่ ทำตามข้อบังคับการประชุม ไม่ได้ผิดทางอาญา แบบนี้เหมือนโดนกลั่นแกล้ง" นายนิคมกล่าว
ชี้สนช.เพิ่มอำนาจให้ตัวเอง
ด้านนายยุทธนา ยุพฤทธิ์ อดีตส.ว.ยโสธร 1 ใน 39 ส.ว.ที่ถูกป.ป.ช.ส่งสำนวนให้ถอดถอนจากปมแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องที่มาส.ว. กล่าวว่า การถอดถอนเป็นเรื่องการเมือง ส.ว.ที่ถูกยื่นถอดถอนกลายเป็นเหยื่อ ยืนยันว่า สนช.ไม่มีอำนาจถอดถอนได้ เพราะรัฐ ธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว การอ้างมาตรา 5 รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อถอดถอนนั้น ไม่ถูกต้อง หากสนช. เดินหน้าเรื่องนี้เท่ากับเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง จะสร้างความเสียหายให้ ผู้ถูกกระทำ ทั้งที่ตามปกติหากกฎหมายไม่ชัดเจนจะยกให้เป็นคุณต่อผู้ถูกร้อง และเรื่องนี้น่าจะจบไปแล้ว
นายยุทธนา กล่าวว่า ส่วนการฟ้องร้องสนช.ฐานปฏิบัติโดยมิชอบ คงต้องหารือกันก่อนระหว่างอดีตส.ว. โดยวันที่ 14-15 ต.ค. มีนัดพบปะสังสรรค์กันที่จ.อุดรธานี คงมีความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ เท่าที่ทราบมีอดีตส.ว.หลายคนเตรียมฟ้องด้วย นอกจากนี้ยังพูดถึงกรณีคณะกรรมาธิการสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุม สนช. เพิ่มหมวดการถอดถอนว่าดำเนินการมิชอบด้วยหรือไม่ เพราะปกติร่างข้อบังคับไม่มีเรื่องดังกล่าว แต่ขณะนี้มีการบรรจุไว้ จึงถือเป็นการกระทำที่มิชอบหรือไม่
พท.ติง'40 ส.ว.'ตะแบง-ดื้อดึง
นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสนช.ระบุอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่สามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สนช.มีอำนาจถอดถอดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากไม่มีข้อบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 รองรับว่า ในฐานะผู้เสียหาย ได้มอบให้ทนายส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายในสัปดาห์นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างสำนวน ยืนยันว่า สนช.ไม่มีอำนาจถอดถอนเพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกฉีกไปแล้ว ส่วนที่สนช.อ้างมาตรา 5 ใช้ดุลพินิจชี้ขาดตามประเพณีปกครอง รวมทั้งเปิดช่องยื่นเรื่อง ต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น มันไม่ใช่และยิ่งไปกันใหญ่ เพราะขณะนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะมาอ้างแบบนี้ไม่ได้
"ผมไม่เข้าใจว่า สนช.บางคนมีเจตนาอะไร ทั้งที่ คสช.เลือกให้มาพิจารณากฎหมายสำคัญ เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนมากที่สุด แต่เอาเวลามามุ่งทำร้ายกันโดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว.ยังอาฆาตกันไม่เลิก จะตะแบง ดื้อดึงไปถึงไหน ไม่รู้ว่าคสช.ตั้งคนกลุ่มนี้เข้ามาทำไม เพราะมีแต่จะสร้างความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้น สวนทางกับนโยบายปรองดองสมานฉันท์" นายอำนวยกล่าว
แนะร้องศาลอาญาชี้ถอดถอน
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า หากสมาชิกพรรคเพื่อไทยจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความอำนาจการถอดถอนของสนช. ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ในพรรคไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้ เนื่องจากติดข้อบังคับห้ามประชุมหรือดำเนินกิจกรรมใดๆ ทางการเมือง มองว่าหากยื่นจริงก็คงแค่รับเรื่องไว้ แต่ไม่มีผลในการพิจารณา เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสภาพบังคับใช้ไปแล้ว เชื่อว่าสนช.ก็รู้อยู่แล้วว่ามีอำนาจถอดถอนส.ส.และส.ว.หรือไม่ ตนมองว่าสนช.ไม่มีสิทธิ์หยิบเรื่องการ ถอดถอนส.ว.และส.ส.ที่เคยถูกยื่นร้องต่อป.ป.ช.ขึ้นมาพิจารณาได้ แม้ป.ป.ช.จะส่งเรื่องกลับมาแล้ว สนช.ทำได้เพียงแต่รับทราบเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ถอดถอนใครได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ไม่ได้ให้อำนาจไว้ หากสนช.หยิบยกมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวมาบังคับใช้ และลงมติกันเองโดยอ้างคำพิพากษาเดิมที่เคยวินิจฉัยไว้ ต้องดูว่าการกระทำของสนช.จะเข้าข่ายไม่ชอบตามกฎหมายหรือไม่ และสนช.ควรรับผิดชอบการกระทำของตัวเองด้วย
"ผมไม่เห็นด้วยที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะบทบัญญัติของกฎหมายสิ้นสภาพไปแล้ว ส่วนผู้เสียหายและได้รับผลกระทบ เช่น นายนิคม หรือนายสมศักดิ์ รวมถึงส.ส.และส.ว.ที่ร่วมลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 ควรยื่นร้องต่อศาลอาญา ตามมาตรา 123/1 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช.มากกว่า และหากสนช.ต้องการมีอำนาจยื่นถอดถอนก็ควรเสนอต่อคสช.และครม. ให้แก้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ว่าด้วยอำนาจการถอดถอนส.ส.และส.ว.ปี 2550"นายเรืองไกรกล่าว
ยื่นสตง.สอบสนช.เสียภาษี
นายเรืองไกรกล่าวว่า ตามที่ ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของสนช. ซึ่งสื่อตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ สนช.บางรายว่าอาจมีทรัพย์สินมากกว่าที่ควรจะได้รับจากการทำงานตามปกติ โดยเฉพาะผู้มีตำแหน่งทางราชการและหน่วยงานรัฐ แต่การรอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ อาจได้ผลไม่มากนัก ดังนั้นเพื่อให้สนช.ได้รับการตรวจสอบอย่างเพียงพอ ตนจึงยื่นเรื่องต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ให้ตรวจสอบการเสียภาษีตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร และขอข้อมูลการเสียภาษีจากกรมสรรพากรและแบบแสดงรายการทรัพย์สินของ สนช.ที่เคยยื่นในฐานะข้าราชการประจำและในฐานะ สนช. จากป.ป.ช.มาตรวจสอบเปรียบเทียบ เพื่อดูว่าสนช.รายใดมีพฤติการณ์ร่ำรวย ผิดปกติหรือไม่ หรือมีสนช.รายใดได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย
นายเรืองไกร กล่าวว่า หากพบว่า สนช.รายใดมีพฤติการณ์ดังกล่าว ขอให้แจ้งกรมสรรพากรประเมินภาษีและแจ้ง ป.ป.ช.ทำเรื่องการขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินและดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนมาตรา 103 พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
พท.ยันไม่ขวางสร้างปชต.
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สมาชิกพรรคเพื่อไทยติดตามสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศพบว่าประชาชนยังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการประกาศกฎอัยการศึก เพราะนักท่องเที่ยวหลายประเทศไม่ได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยในการเดินทางไปยังประเทศที่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก
นายปลอดประสพ กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องคงกฎอัยการศึกไว้เพราะยังมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองของบางกลุ่ม ซึ่งตนและพรรคเพื่อไทยให้ความมั่นใจว่าจะไม่ทำตัวเป็นเงื่อนไขหรืออุปสรรคในการเดินหน้าพาประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ การเคารพในสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และสมาชิกพรรคจะไม่สนับสนุนการกระทำใดๆ ที่ละเมิดกฎหมายหรือใช้ความรุนแรงเพื่อทำลายความมั่นคงทางการเมืองของประเทศ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองของตน
อดีตปปช.ชี้คดีถอดถอนทำไม่ได้
ด้านน.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตกรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว ทำให้มาตรา 270-274 ที่ว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถูกยกเลิกไปเช่นกัน ดังนั้นสนช.จึงไม่มีอำนาจพิจารณาถอดถอน และไม่สามารถนำกฎหมายอื่นมาอ้างเรื่องถอดถอนได้ เพราะการถอดถอนเป็นบทลงโทษ หากจะนำมาใช้ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นกฎหมายฉบับใด มาตราใด ส่วนการตีความให้ใช้มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้สนช.ทำหน้าที่แทนส.ส.และส.ว.นั้น มาตราดังกล่าวให้สนช.ทำหน้าที่แทนส.ว.ได้เฉพาะเรื่องทั่วไป เช่น การกลั่นกรองกฎหมาย แต่การถอดถอนเป็นอำนาจพิเศษ ต้องมีกฎหมายระบุไว้ให้ชัดเจน ไม่สามารถอ้างประเพณีการปกครองได้ ถ้าตีความว่าสนช.มีอำนาจถอดถอนได้ตามมาตรา 6 ก็เหมือนไปเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง จะเป็นผลเสียต่อผู้ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดตามรัฐธรรมนูญฉบับเก่าที่ถูกยกเลิกไปแล้ว
น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า การตีความตามมาตรา 6 ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ย้อนหลังกับผู้ที่ถูกลงโทษตามรัฐธรรมนูญฉบับเก่าได้ หลักการตีความกฎหมายจะตีความให้เป็นโทษย้อนหลังกับใครไม่ได้ หากจะบังคับใช้ต้องใช้กับสนช. หรือครม.ชุดปัจจุบันเท่านั้น
เหตุไร้รธน. 50 รองรับ
"ส่วนที่สนช.ส่งเรื่องกลับมาให้ป.ป.ช. ทบทวนสำนวนคดีของนายสมศักดิ์และนายนิคมว่า กระทำผิดตามกฎหมายฉบับอื่นร่วมด้วยหรือไม่ นอกจากความผิดตามรัฐธรรมนูญปี"50 นั้น ป.ป.ช.ไม่มีสิทธิ์เพิ่มฐานความผิดใดๆ ได้ นอกจากฐานความผิดตามที่ลงมติ ไปแล้ว การที่ป.ป.ช.ตีกลับสำนวนเดิมไป ยังสนช.จึงถูกต้องแล้ว" อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว
เมื่อถามว่ากรณีการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คดีโครงการจำนำข้าวและการถอดถอนอดีต 39 ส.ว. กรณีการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบ สนช.จะถอดถอนได้หรือไม่ หากป.ป.ช.ส่งเรื่องไป น.ส.สมลักษณ์กล่าวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญปี 50 ถูกยกเลิกไปแล้ว สนช.จึงไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องถอดถอนใดๆ ได้อีก รวมถึงการถอดถอน.ส. ยิ่งลักษณ์ คดีโครงการจำนำข้าว และอดีต 39 ส.ว.ด้วย แม้กรณีโครงการจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์จะมีฐานความผิดอื่น เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. รวมอยู่ด้วยก็ไม่สามารถถอดถอนได้ เพราะรัฐธรรมนูญปี"50 ถูกยกเลิกไปแล้ว ไม่สามารถพิจารณาคดีถอดถอนใดๆ ได้อีก ยกเว้นความผิดตามคดีอาญาที่ยังดำเนินการได้ต่อไป
'มท.1'ยันไม่เคยคิดยุบอปท.
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการมอบนโยบายการทำงานให้กับท้องถิ่นและกำนัน ผู้ใหญ่บ้านว่า ตนจะมอบนโยบายผ่านการประชุมระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันที่ 9 ต.ค.นี้ อยากพูดคุยทุกเรื่องไม่ว่าการปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป เรื่องที่ดำเนินการไปแล้วและเรื่องที่อยากให้ร่วมมือกันทำ เช่น การกำจัดขยะ ยาเสพติด ทั้งนี้ ขอให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยช่วยประสานให้ท้องถิ่นมารวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อเห็นหน้าและโต้ตอบกันได้ และเร็วๆ นี้ตนจะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ก่อน ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ จะลงไปแก้ปัญหาความเดือดร้อน แต่ต้องไม่ลงไปแล้วทำให้เจ้าหน้าที่เดือดร้อนมาคอยต้อนรับตน
เมื่อถามถึงข่าวยุบ อบจ.และอบต. พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่ายังไม่เคยมีใครพูดเลย ตนไม่ทราบจริงๆ เพราะไม่ได้ยุ่ง แค่คิดก็ยังไม่ได้เลย ไม่รู้ว่ากระแสนี้ใครเป็นคนเริ่ม เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า สปช.จะเป็น ผู้พิจารณาปฏิรูป ไม่ใช่เรื่องที่ตนกำหนด อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจสอบและสร้างสมดุลในองค์กร หรือระหว่างองค์กรในพื้นที่ได้ ไม่เกิดการทุจริตก็เป็นเรื่องที่ดีและคนส่วนใหญ่ยอมรับได้