- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 06 October 2014 15:39
- Hits: 4376
วันที่ 06 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8713 ข่าวสดรายวัน
สอบทรัพย์สินสนช. ปปช.ลุยตรวจเชิงลึก กลุ่มขรก.มีเกิน 100 ล.
ป.ป.ช.จ่อสอบบัญชีทรัพย์สินสนช. รวยเกิน 100 ล้าน เน้นกลุ่มข้าราชการ 'ไก่อู'หนุนยื่นตีความอำนาจถอดถอน สนช.เตรียมหารือแนวทางดำเนินการสัปดาห์นี้'นิคม'ไม่กังวล ยันสู้เต็มที่ ชี้ทำโดยไม่มีรัฐธรรมนูญรองรับ ผิดมาตรา 157 รองโฆษกรัฐบาลเผยประชุมร่วมรัฐบาล-คสช.อังคารนี้ เตรียมพิจารณาเลิกกฎอัยการศึกบางพื้นที่'บิ๊กโด่ง'ตั้ง'วินธัย'นั่งโฆษกทบ. กระทรวงเกษตรฯ ดันแผนปรับโครงสร้างผลิตข้าว-ยางพารา ใช้งบแสนล้านต่อปี เตรียมชงครม. พิจารณา
ถกร่วมรบ.-คสช.ยังไม่แจ้งวาระ
วันที่ 5 ต.ค. น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมทั้งคณะที่ปรึกษา คสช.ในวันที่ 7 ต.ค.ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี ฯว่า วาระการประชุมยังไม่ได้แจ้งมาอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าน่าจะเป็นการพิจารณาเรื่องกลุ่มงานทั้ง 5 กลุ่มงาน ที่ทั้งสองฝ่ายได้ทำงานประสานกันมา คสช.คงมีการเสนอแนะ และอาจมีข้อแนะนำเพิ่มเติมให้กับรัฐบาลบ้าง ทั้งนี้ คสช.ไม่ได้ก้าวก่ายการทำงานของรัฐบาล
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในบางพื้นที่ ว่า ยังไม่มีความชัดเจนขนาดนั้น เพราะยังไม่ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม. คสช.และที่ปรึกษา คสช. วันที่ 7 ต.ค. อย่างไรก็ตามจากที่รับทราบจาก รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.พูดผ่านรายการคืนความสุขให้กับคนในชาติ สรุปได้ว่า 1.ขณะนี้กฎอัยการศึกยังมีความจำเป็นอยู่เพื่อดูแลเรื่องของความสงบเรียบร้อย กรณีหากมีการยกเลิกการประกาศใช้ไปแล้วและหากเกิดเหตุการณ์จำเป็นต้องกลับมาประกาศใช้อีกครั้งก็จะดูยิ่งหนักไปใหญ่
'ไก่อู'ชี้มีถกเลิกอัยการศึก
และ 2. การพิจารณาการยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกษาต้องดูที่เหตุผลหลายๆ ประการ ทั้งเรื่องความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ ข้อมูลการข่าวต่างๆ จากหน่วยงานด้านความมั่นคง รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ที่อาจเป็นปัจจัยประกอบ
"ส่วนตัวมีความเชื่อมั่นว่าคงจะมีการพิจารณายกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นบางพื้นที่ ในการประชุมร่วมระหว่างรัฐบาลและคสช.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ต.ค.โดยจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคง ขณะเดียวกัน ก็จะต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญในเรื่องของการท่องเที่ยวด้วย แต่คงไม่ใช่พิจารณายกเลิกทั้งหมด" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
เมื่อถามว่าแสดงว่าจ.ภูเก็ต ที่จะใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขัน ASIAN BEACH GAME ระหว่างวันที่ 14-23 พ.ย. 2557 จะมีการพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึกษาก่อนใช่หรือไม่ รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ยังไม่ต้องการชี้ชัด คงต้องรอข้อมูลจาก คสช.และรัฐบาลในวันที่ 7 ต.ค.ก่อน
หนุนยื่นตีความปม'ถอดถอน'
เมื่อถามถึงวาระการพิจารณาวันที่ 7 ต.ค. พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า โดยหลักการแล้ว นายกฯ แจ้งต่อที่ประชุม ครม.ว่ารัฐบาลเข้ามารับงานต่อจาก คสช. ที่ผ่านมาก็มีการบรรยายสรุปงานในด้านต่างๆ ให้รัฐบาล และหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบทราบแล้ว มีการประสานงานมาโดยตลอด ซึ่งการประชุมร่วมกันครั้งนี้ก็เชื่อว่าทางรัฐบาลเองจะได้มีการสรุปให้ทาง คสช.รับฟังว่างานด้านต่างๆ ที่รับมาจาก คสช.นั้นได้ดำเนินการไปอย่างไรบ้าง มีข้อขัดข้อง ปัญหา อุปสรรคอย่างไร เพราะในภาพรวมแล้วทาง คสช.เป็นผู้ดูแลงานด้านความมั่นคงในภาพรวม และเป็นผู้สัญญาไว้กับประชาชนว่า จะทำอะไรอย่างไรเพื่อคืนความสุขให้กับประชาชน
พล.ต.สรรเสริญ เผยกรณีนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ระบุสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลุแก่อำนาจ เพราะบัญญัติอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งที่ไม่มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ว่า ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุไว้ว่าหากมีปัญหาเกี่ยวกับการบัญญัติอำนาจถอดถอนของสนช.ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นชัดเจนอยู่แล้ว เนื่องจากถือว่าอำนาจของศาลบริสุทธิ์ยุติธรรมที่สุดไม่มีใครสามารถคัดค้านได้ แต่หากถามตามความคิดเห็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นคู่ขัดแย้งกันอยู่เรื่องก็จะไม่จบสิ้น เพราะต่างฝ่ายต่างมีความรู้สึกของตนเองร่วมด้วย และวันนี้บรรยากาศทางการเมืองของไทยกำลังเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยจึงไม่อยากให้เกิดเป็นชนวนปัญหาขึ้นมาอีกครั้ง
สนช.รอดูคำสั่งศาล
ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. กล่าวกรณีสมาชิกพรรค เพื่อไทยเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอำนาจของสนช. เรื่องถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า เป็นสิทธิของผู้ร้องที่สามารถดำเนินการได้ หากจะเป็นช่องทางหนึ่งในการหาทางออกในข้อกฎหมาย ดังกล่าว ส่วน สนช.ขอรอดูรายละเอียดของสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัช พานิช อดีตประธานวุฒิสภา ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะส่งเข้ามาให้สนช.ในสัปดาห์นี้ก่อน เพื่อดูว่าจำเป็นต้องชะลอการพิจารณาถอดถอนเพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 กล่าวว่า ตนสงสัยพรรคเพื่อไทยจะใช้สิทธิอะไรไปยื่น ในเมื่อสนช.ยังไม่ได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าว สนช.ทำตามข้อกฎหมายในการดำเนินการเรื่องการถอดถอน และต้องรอการหารือกับสมาชิกก่อนว่าจะดำเนินการเรื่องการถอดถอนอย่างไร ถ้า ป.ป.ช.ส่งเรื่องการถอดถอนมา สนช.ก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการ แต่หากมีคนไปยื่นศาลและศาลสั่งให้ชะลอการพิจารณา สนช.ก็ต้องทำตาม แต่หากศาลไม่มีคำสั่งเราก็สามารถพิจารณาตามกรอบเวลาได้ทันที ยืนยันว่าสนช.ไม่มีธงในการถอดถอน ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร แต่ทำตามข้อกฎหมายทุกอย่าง
เตรียมประชุมสัปดาห์นี้
ส่วนประเด็นการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่ามีการพูดคุยกับประธานสนช. และรองประธาน สนช. คนที่ 1 แล้ว อยากได้คนที่มีความรู้ด้านกฎหมายและมีเวลาในการทำงาน มีความสมัครใจในการมานั่งเป็นกมธ.เข้ามาทำหน้าที่ในส่วนนี้ เพราะการเป็นกมธ. ถือเป็นงานที่หนัก แต่ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดตัวบุคคลที่จะไปนั่งเป็นกมธ. อาจต้องรอการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และรอตั้ง กมธ.สามัญ 16 คณะอย่างเป็นทางการก่อน จะได้ตั้ง กมธ.สามัญกิจการ สนช. หรือวิปสนช. เพื่อกำหนดแนวทาง ซึ่งจะมีการตั้งกมธ.ในการประชุมสนช.สัปดาห์นี้ รวมทั้งการหารือเรื่องการถอดถอนในการประชุมด้วย
'นิคม'ลั่นไม่ผิด-ไม่เครียด
นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวกรณี สนช.เตรียมพิจารณาถอดถอน ส.ส.-ส.ว.กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ว่า สนช.ไม่มีอำนาจถอดถอนตน เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกฉีกทิ้งไปแล้ว และการกล่าวหาว่านักการเมืองผิดมาตรา 270 และมาตรา 274 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่รู้ว่า สนช.จะเอาอำนาจตรงไหนมาถอดถอน ถ้าจะใช้กฎหมายป.ป.ช.ก็เป็นเพียงแค่กฎหมายลูก ซึ่งการดำเนินการต้องใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 เท่านั้น เนื่องจากตนผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 และหากจะมีการถอดถอนก็ต้องให้ความผิดสำเร็จก่อน จึงจะสามารถดำเนินการยื่นร้องต่อศาลได้
"ผมไม่เครียดอะไรตอนนี้อยู่วัดจิตใจสงบ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกฉีกทิ้งไปแล้ว เหลือแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งสนช.ไม่มีอำนาจ หากสนช.คิดว่ามีอำนาจก็รีบดำเนินการถอดถอนผมเลย เพราะผมดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมตอนที่เป็นประธานวุฒิสภา ผมผิดตรงไหน ผมอยากรู้ว่าจะลงมติอย่างไร เสียง 3 ใน 5 แล้วที่บอกว่าผิดตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญปี50 จะดำเนินการอย่างไรเพราะไม่มีรัฐธรรมนูญปี 50 แล้ว" นายนิคมกล่าว
ประกาศขอสู้เต็มที่
เมื่อถามว่าเตรียมแนวทางการต่อสู้ไว้อย่างไร หากสนช.ยืนยันว่ามีอำนาจถอดถอน นายนิคมกล่าวว่า หากดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญรองรับ ถือว่าทำโดยไม่ชอบ มีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 ยืนยันว่าตนจะสู้เต็มที่ และอย่าคิดว่าตัวเองมีอำนาจแล้วใช้อำนาจมาข่มเหงรังแกกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้คุยกับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ถึงเรื่องนี้เลย
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณี ป.ปช.ยื่นยันการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกลับมายังสนช. ซึ่งคาดจะพิจารณาในที่ประชุมสนช.วันที่ 9-10 ต.ค.นี้ ว่า ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องดังกล่าวสามารถทำได้ เพราะสนช.มั่นใจในข้อบังคับ และสนช.ที่เป็นอดีตสมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว.ก็มั่นใจว่าสนช. มีอำนาจถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคม ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ให้อำนาจ ส่วนที่พรรคเพื่อไทยจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ต้องดูว่าพรรคเพื่อไทยจะใช้ช่องทางไหนและมาตราใดในการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ปชป.ติงจ่ายเงินชาวนา
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ในโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา 1,000 บาทต่อไร่ ซึ่งจะเริ่มจ่ายเงินให้ชาวนาได้กลางเดือนต.ค.เป็นต้นไป ว่า เข้าใจดีว่าเป็นมาตรการเยียวยาพี่น้องชาวนาแต่ปัญหาที่รัฐบาลต้องตระหนักและรับฟัง โดยเฉพาะชาวนาในพื้นที่ภาคกลางที่ต้องเช่าที่นา เพราะเงินดังกล่าวอาจตกแก่เจ้าของที่ดิน รวมถึงอาจมีการทุจริตเกิดขึ้นคือ การแจ้งที่นาไม่ตรงกับความจริง ดังนั้น แนวทางที่รัฐบาลควรปฏิบัติ คือ 1.การลงทะเบียนเกษตกรว่าทำนาจริงและจำนวนที่นาที่มี รัฐบาลควรแยกการลงทะเบียนชาวนาออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ไม่ใช่ลงทะเบียนรวมเหมือนอดีต กลุ่มแรกคือชาวนาที่มีที่นาเป็นของตนเอง กลุ่มที่สองคือชาวนาที่เช่าที่นา กลุ่มที่สามคือชาวนาที่ทำนาในที่สาธารณ ประโยชน์และไม่มีเอกสารสิทธิ 2.เพื่อให้ทุกอย่างโปร่งใสและเงินตกถึงมือชาวนาจริง รัฐบาลควรมีมาตรการสุ่มตรวจและลงโทษการทุจริตอย่างจริงจัง 3. การจ่ายเงินช่วยชาวนาเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มาตรการระยะยาว คือการการจัดโซนนิ่ง แปรรูปขายข้าวสารโดยใช้สหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน
เกษตรฯ ปรับโครงสร้างข้าว-ยาง
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ภายในต.ค.นี้ จะเสนอแผนการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร (ข้าวและยางพารา) ระยะเวลา 3 ปี เข้าที่ประชุมครม.พิจารณา ถือเป็นมาตรการที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการ โดยมอบ นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ผู้ช่วยรมว.เกษตรฯ ไปจัดทำแผนยุทธศาสตร์โดยเร่งด่วนให้ทัน ต.ค.นี้ ภายใต้วัตถุประสงค์ให้มีความเหมาะสมใกล้เคียงกันระหว่างผลผลิตและการบริโภค
ด้านนายอภิชาติกล่าวว่า การดำเนินการจะใช้การทำโซนนิ่งพื้นที่ปลูกพืชเป็นเครื่องมือ เพื่อกำหนดพื้นที่เหมาะสม ไม่เหมาะสม โดยรัฐบาลต้องออกกฎหมายพัฒนาภาคการเกษตร ที่จะเป็นพ.ร.บ.นำเงินงบประมาณแผ่นดินประมาณ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ขณะนี้มีมูลค่าประมาณ 13% ของจีดีพีรวม หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท เบื้องต้นคาดจะใช้เงินจากงบประมาณ ตามพ.ร.บ.ประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี
แยกช่วยเกษตรกร 2 กลุ่ม
นายอภิชาติกล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ข้าว ยางพาราเป็นสินค้าการเมือง เมื่อมีปัญหาจะกลายเป็นปัญหาทางการเมือง ดังนั้นการปรับโครงสร้างภาคการเกษตร จำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ เพื่อให้มีงบประมาณออกมาใช้ 1.ช่วยเหลือเกษตรกรช่วงวิกฤตภัยธรรมชาติ 2. การดูแลคุณภาพชีวิตของเกษตรกร 3.การปรับโครงสร้างโดยให้เกษตรกรเปลี่ยนอาชีพจากอาชีพหนึ่งไปทำอีกอาชีพ โดยให้เงินเป็นแรงจูงใจในการเปลี่ยนอาชีพ หากเกษตรกรให้ความร่วมมือ ก็จะทำให้ผลผลิตไม่ล้นตลาด เพียงพอ ให้สินค้าเกษตรหลุดพ้นจากการเป็นสินค้าการเมือง
นายอภิชาติ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรจะดำเนินการในส่วนของยางพาราและข้าวก่อน โดยแยกประเภทเกษตรกรออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. เกษตรกรรายย่อย หมายถึงผู้ปลูกข้าวไม่เกิน 15 ไร่/ครัวเรือน หรือ 1.89 ล้านครัวเรือน และผู้ปลูกยางไม่เกิน 10 ไร่/ครัวเรือน หรือ 6 แสนครัวเรือน เกษตรกรกลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือภายใน 3 ปี ไม่เกิน 5 ไร่/ครัวเรือน เพื่อให้ทำไร่นาสวนผสม เน้นการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน อาจไม่รวยแต่ไม่จน
นายอภิชาติ กล่าวว่า รายย่อยเหล่านี้ปัจจุบันมีรายได้ไม่พอกับค่าครองชีพ ตามแผนปรับโครงสร้างจะดูแลให้อยู่อย่างพออยู่พอกิน ตามการประเมินของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าผู้ปลูกข้าวรายย่อย มีรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่รายละ 2,500 บาท หรือเฉลี่ย ครัวเรือนละ 120,000 บาท จึงจะเพียงพอในการครองชีพ ดังนั้นเมื่อกระทรวงเกษตรฯส่งเสริมให้ทำไร่นาสวนผสมจะทำให้ความเป็นอยู่ขอเกษตรกรกลุ่มนี้ดีขึ้น และมีโอกาสรวยได้หากมีการบริหารจัดการที่ดี
เห็นผลเป็นรูปธรรมใน 3 ปี
นายอภิชาติ กล่าวว่า การดูแลในส่วน ของข้าว กระทรวงเกษตรฯจะดูแลทางด้านวิชาการ ขณะที่เกษตรกรจะต้องหาปัจจัยการผลิต และบริหารจัดการกันเอง ทั้งหมดนี้จะต้องเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมใน 3 ปี ส่วนกรณียางพารา ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว ทั้งสำนักงานกองทุนการทำสวนยาง (ส.ก.ย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยาง ที่หน่วยงานเหล่านี้จะต้องขับเคลื่อนกระบวนการปรับโครงสร้างให้เร็วขึ้น
นายอภิชาติ กล่าวว่า สำหรับเกษตรกรขนาดกลางและขนาดใหญ่ ในส่วนของยางพาราให้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ยางพารา แต่ข้าวจะหมายถึงเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกตั้งแต่ 15 ไร่ขึ้นไป มีจำนวน 6.6 แสนครัวเรือน ซึ่งพบว่ามีพื้นที่ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูกอยู่รวม 11.2 ล้านไร่ ภายใต้แผนโครงการปรับโครงสร้างจะให้การช่วยเหลือเฉพาะชาวนาส่วนนี้ เป็นระยะเวลา 3 ปี ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ โดยจะส่งเสริมให้ปลูกอ้อย 4.6 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 2 ล้านไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 5 แสนไร่
'บิ๊กโด่ง'ตั้ง'วนธัย'นั่งโฆษกทบ.
วันที่ 5 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ลงนามเมื่อวันที่ 3 ต.ค. ในคำสั่ง ทบ.แต่งตั้งทีมงานโฆษก ทบ. เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่การชี้แจงประชาสัมพันธ์ผลการปฏิบัติงานด้านต่างๆ ในอันที่จะสร้างความเข้าใจที่ดีต่อสังคมและสาธารณชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
โดยทีมงานโฆษกกองทัพบกประกอบด้วย พ.อ.วินธัย สุวารี เป็นโฆษก ทบ.แทน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ที่ไปทำหน้าที่รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง เป็นรองโฆษก ทบ. พ.ต.หญิง นุสรา วรภัทราทร อาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาล ทบ. เป็นรองโฆษก ทบ. พ.ต.หญิง มญชุ์พา นราแย้ม ขยับจากผู้ช่วยโฆษก ทบ. ขึ้นเป็นรองโฆษก ทบ. และ ร.ท.หญิง จุฑาทิพย์ วุฒิรณฤทธิ์ เป็นผู้ช่วยโฆษก ทบ.
ปปช.จ่อสอบสนช.รวยร้อยล้าน
วันที่ 5 ตค. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวว่า หลังจากป.ป.ช.ได้เปิดเผยรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขั้นตอนต่อจากนี้จะต้องตรวจสอบความถูกต้องตามเอกสารที่ได้รับมา พยานหลักฐานมีอยู่จริงและครบถ้วนหรือไม่ รวมทั้งข้อมูลด้านอื่นๆ ด้วย เช่น มีประชาชนแจ้งข้อมูลเข้ามาเราก็จะมาตรวจสอบร่วมด้วย หากตรวจสอบแล้วพบว่าผิดปกติหรือไม่มีข้อเท็จจริงตามเอกสาร ก็จะเชิญเจ้าตัวมาชี้
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนกรณีสังคมตั้งข้อสังเกต สนช.ที่เป็นข้าราชการมีทรัพย์สินมากกว่าปกติในหลักร้อยล้านนั้น เราจะดูตามหลักฐานเบื้องต้นก่อน หลังจากนี้เชื่อว่าเมื่อประชาชนเข้าไปดูข้อมูลการยื่นบัญชีทรัพย์สินในเว็บไซต์ของป.ป.ช. แล้วพบว่าข้อมูลไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง หรือทรัพย์บางรายไม่ใช่ หรืออาจมีทรัพย์สินมากกว่านี้แล้วแจ้งเบาะแส เข้ามา ป.ป.ช.ก็จะนำข้อมูลนั้นมาตรวจสอบร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม การที่ข้าราชการบางรายที่มีทรัพย์สินมากอาจจะมีมาจากทรัพย์สินมรดกก็เป็นได้ ขณะนี้เรายังไม่ได้ตรวจสอบลงลึกไปถึงขนาดนั้น
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ความคืบหน้ากรณีป.ป.ช.เตรียมออกระเบียบให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแสดงทรัพย์สินการทำธุรกรรมทางการเงินวงเงินตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป จากเดิมที่กำหนดไว้ 2 ล้านบาทนั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนคุยรายละเอียดเนื่องจากมีผลกระทบในหลายส่วน เช่นเรื่องธนาคาร การเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ และหากทำแล้วจะเป็นการเพิ่มภาระ มากเกินกว่า ผลที่จะได้หรือไม่ เรื่องดังกล่าวเราจะคำนึงถึงผลประโยชน์เป็นสำคัญ ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวยังไม่ลงตัว จึงยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาความชัดเจนได้
ด้านนายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่าขั้นตอนต่อไปเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบตามเอกสารข้อมูลที่มีอยู่เบื้องต้น โดยการตรวจสอบแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ การตรวจสอบตามปกติ การตรวจสอบเพื่อยืนยันตามข้อมูล และการตรวจสอบเชิงลึก กรณีที่สังคมตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดบัญชีทรัพย์สินของสนช.ที่เป็นข้าราชการจึงมีทรัพย์สินมากในระดับร้อยล้านขึ้นไปนั้น การตรวจสอบดังกล่าวจะอยู่ในขั้นที่ 3 คือการตรวจสอบเชิงลึก ซึ่งเจ้าหน้าที่จะส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการป.ป.ช.ได้พิจารณาก่อน โดยเรื่อง ดังกล่าวคณะกรรมการป.ป.ช.สามารถเข้าไปตรวจสอบได้เอง หรือให้มีผู้มาแจ้งเบาะแส หลักฐานข้อมูลต่างๆ
กสท.ถกทางออกปัญหาช่อง 3-ทรู
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 6 ต.ค.นี้ ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีวาระการประชุมที่น่าจับตา ได้แก่แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กรณี บ.ทรู วิชั่นส์ จำกัด(มหาชน) หมดสัญญาณสัมปทานกับ บ.อสมท.จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง บ.ทรูฯ ได้มีหนังสือชี้แจงการดำเนินการตามความเห็นมายังคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ พบว่าสมาชิกรายเดิมที่ย้ายไปใช้บริการในบ.ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาใหม่ เนื่องจากอยู่ในระหว่างการแก้ไขและนำส่งฉบับสมบูรณ์ให้สำนักงาน กสทช.ตรวจสอบก่อนนำไปใช้
ทั้งนี้ ยังมีสมาชิกคงค้างอยู่สองพันกว่าราย ซึ่งหากไม่ประสงค์จะใช้บริการหรือทำสัญญากับบ.ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จะต้องคืนเงินประกัน(ถ้ามี) ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศ เรื่องมาตรฐานสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบอกรับสมาชิก พ.ศ.2556 ซึ่งกรณีนี้ ได้เสนอให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินการต่อไป
ส่วนกรณีช่อง 3 บ.บางกอกเอนเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้ทำหนังสือผ่านประธาน กสท. เพื่อขอนัดหารืออีกรอบ น.ส.สุภิญญา เห็นว่า กสท.ได้เสนอทางออกจากปัญหาจอดำให้ช่อง 3 ชัดเจน แล้วคือ 1.ขอออกผังรายการช่องอนาล็อก บนช่องดิจิตอลที่ประมูลมาได้ และ 2. ช่อง 3 อนาล็อกมายื่นขอใบอนุญาตเพิ่ม เป็นทีวีดาวเทียม/เคเบิล ตามกติกาเหมือนช่องอื่นๆ แต่ถ้าช่อง 3 ไม่เดินตามกติกานี้ กสทช.จำเป็นต้องบังคับใช้กฎกติกา เพื่อความเป็นธรรมกับช่อง 7 ช่อง 9 ไทยพีบีเอส และฟรีทีวีดิจิตอลช่องใหม่ ที่เดินตามกติกามาตลอด