WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8711 ข่าวสดรายวัน


ไขเซฟสนช. อิสระรวยสุด 5 พันล.
เผยมีถึง 51 คน อู้ฟู่เกิน 100 ล้าน น้องบิ๊กตู่ 80 ล. สวนยางขอมั่ง 2.5 พันบ.ต่อไร่ 


ตักบาตร - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ทำบุญตักบาตร ถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ และครบ 1 ปีการสิ้นพระชนม์ ที่วัดบวรนิเวศ เมื่อวันที่ 3 ต.ค.

       ป.ป.ช.โชว์ทรัพย์สิน 195 สนช.'อิสระ'เจ้าสัวมิตรผล อู้ฟู่สุด 5 พันล้าน 'สมพร เทพสิทธา'แค่ 1.6 แสน 'บิ๊กติ๊ก'80 ล้าน 'สมยศ'356 ล้าน 'พรเพชร'49 ล้าน "วิษณุ"ยันรัฐบาลไม่ก้าวก่ายเลือกประธานสปช. อ้างแจกเงินชาวนาไร่ละพัน ไม่เข้าข่ายประชานิยม เพราะไม่ได้คะแนนเสียง 'บิ๊กต๊อก'ประกาศเดิมพันเก้าอี้รมต. ถ้า"ชัชวาลย์" ทำหน้าที่ปลัดยธ.ไม่ได้ รัฐบาลตั้งคณะทำงานปราบทุจริต เพื่อไทยเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดอำนาจถอดถอนของ สนช. 

ชี้สปช.ตั้งกมธ.ช่วยงานได้

      เวลา 07.00 น. วันที่ 3 ต.ค. ที่วัดบวรนิเวศวิหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระภิกษุสามเณร 150 รูป เพื่อน้อมอุทิศถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 3 ตุลาคม และครบ 1 ปีแห่งการสิ้นพระชนม์ โดย นายกฯ เปิดเผยว่า ยังไม่มีการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขอให้ใจเย็นๆ

       ที่กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า สปช.ที่คัดมานั้นครอบคลุมทุกด้าน ขอให้มั่นใจว่าต้องปฏิรูปได้ทั้ง 11 ด้าน อีกทั้ง สปช.อาจตั้งคณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นได้ เพราะไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ตายตัว และสิ่งใดที่ควรปฏิรูปก็อาจตั้งเพิ่มได้อีก

'วิษณุ'ชี้ชื่อปธ.ต้องร้องฮ้อ

       เวลา 15.00 น. ที่หอประชุมกองทัพเรือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯด้านกฎหมาย ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานพิธีมอบรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติประจำปี 2557 ถึง ข้อครหารายชื่อสปช.ทั้ง 250 คนไม่มีความหลากหลาย ว่า เชื่อว่าผู้คัดเลือกทำด้วยความหลากหลายพอสมควร เพราะไล่จากรายชื่อกว่า 7,300 คนจนเหลือ 250 คนและผ่านมาหลายด่าน ด่านแรกคัดเลือก 11 คณะ คณะละ 50 คน รวม 550 คน ทราบว่าทุกคณะใช้วิธีเหมือนกัน คือหยิบชื่อขึ้นมาแล้วลงคะแนน ทีละคน ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับเลือกจะได้ 5-7 คะแนน ซึ่งคน ที่ได้ 7 คะแนนขึ้นไปจะติดหมดทุกคนเชื่อว่าการคัดเลือกหลากหลายพอสมควร 

       นายวิษณุ กล่าวว่า คาดว่าคงมีการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมในเร็ววันนี้ จากนั้นไปรายงานตัวที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสปช. และนัดประชุมนัดแรก ซึ่งไม่มีพิธีเปิดอะไรนอกจากเรียกประชุมเลือกประธานและรองประธานอีก 2 คน รัฐบาลจะไม่เข้าไปกำหนดเพราะเป็นหน้าที่ของสปช.ทั้ง 250 คนจะเลือกกันเองว่าจะใช้วิธีใด อาจมีใครสักคนประกาศตัวหรือประกาศว่าหนุนใคร อาจจะได้รับเสียงมาก "ถ้ารู้สึกว่าร้องฮ้อ ก็ใช้ได้ ไม่ยี้ มันอยู่ที่ว่าชื่อนั้นคือใคร ผมไม่ทราบ"

เปิดเวทีให้คนหลุดโผ
       นายวิษณุ กล่าวว่า จากนั้นจะเป็นขั้นตอนตั้งกรรมาธิการ(กมธ.)ร่างรัฐธรรมนูญ 36 คนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันประชุมสปช.ครั้งแรก โดย 36 คน จะมาจากสปช. 20 คน สนช. 5 คน ครม. 5 คน โดยห้ามเลือกจากรัฐมนตรีต้องมีจากคนนอก คสช. 5 คน รวม 35 คนบวกกับประธานกมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคสช.จะเป็นผู้ส่งไปรวมเป็น 36 คน เมื่อตั้งกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ สปช.ต้องให้กรอบว่าอยากเห็นหน้าตาของรัฐธรรมนูญใหม่เป็นอย่างไร ซึ่งระยะเวลากำหนดกรอบ 60 วันจากนั้นกมธ.ยกร่างฯ จะไปลงมือเขียนอีกเป็นเวลา 4 เดือน
       นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนรายชื่อคนที่ไม่ได้รับคัดเลือกเป็นสปช. มีความคืบหน้าไปมากแต่พูดตรงนี้ไม่ได้เพราะต้องปรึกษากับผู้ที่เกี่ยวข้องอีก 2-3 ฝ่าย นายกฯให้แนวคิดว่าต้องตั้งเวทีรองรับคนเหล่านี้ตามความถนัดและสมัครใจ เป็นเวทีที่เป็นทางการหลายเวที นอกเหนือจากเวทีที่ไม่เป็นทางการแต่อย่าให้ขัดกับกฎอัยการศึก เวทีจะจัดเหมือนสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยจัดเวทีปฏิรูปประเทศซึ่งเป็นเวทีเดียว แต่ของรัฐบาลนี้จะจัดหลายเวที ความเห็นของแต่ละเวทีจะส่งให้สปช. รัฐบาล คสช.และสนช. ส่วนจะตั้งเวทีคู่ขนานก็ไม่ขัดข้องแต่ขอให้ระวังเรื่องการชุมนุมเกิน 5 คน
     เมื่อถามว่าการห้ามชุมนุมเกิน 5 คนจะยกเลิกได้เมื่อไรเพื่อให้ประชาชนตั้งเวทีแสดงความคิดเห็นได้ นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้ผูกกับกฎอัยการศึก แม้จะคงกฎอัยการศึกแต่ถ้าเห็นสมควรผ่อนปรนก็ทำได้ ตนไม่ทราบจะดำเนินการได้เมื่อไรเพราะคสช.เป็นคนดำเนินการ และในการประชุมครม.ร่วมกับคสช.วันที่ 7 ต.ค.นี้ ไม่ทราบว่าจะหารือเรื่องการยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่เพราะยังไม่เห็นวาระ

แจกเงินชาวนาไม่ใช่ประชานิยม 
     นายวิษณุ กล่าวถึงเสียงวิจารณ์นโยบายรัฐบาลที่จ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาทเป็นประชานิยมว่า รัฐบาลแถลงไว้ในนโยบายว่าไม่พยายามให้เกิดประชานิยม และในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้อยู่ในมาตรา 35 ล็อกไว้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ห้ามมีเรื่องประชานิยมที่นำไปสู่การหาคะแนนเสียงโดยใช้งบประมาณของรัฐเพื่อหวังผลทางการเมือง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาก็ไม่นำไปสู่สิ่งที่เขาเรียกกันว่าประชานิยม เพราะไม่ได้นำไปสู่การได้คะแนนเสียงกลับมาแต่เป็นการช่วยประชาชน และไม่ขัดกับข้อกำหนดองค์การการค้าโลก หรือ WTO และไม่ได้ขัดต่อพันธะระหว่างประเทศ จึงคิดว่าถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าจะเดินไปได้ 
      นายวิษณุ กล่าวว่า การเขียนรัฐธรรมนูญ ต่อไปนี้ต้องสร้างเกราะป้องกันไม่ให้นำงบประมาณไปใช้ในโครงการที่ผูกพันให้เกิดหนี้ยาวนานกับประชาชนเพื่อแลกกับคะแนนนิยม ดังนั้น ถ้าเราแปลว่าประชานิยมคือสิ่งเหล่านี้ซึ่งไม่พึงปรารถนา ถ้าพ้นจากนี้ก็ทำได้เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ช่วยประชาชนซึ่งต้องใช้งบประมาณอยู่แล้ว และจะถือเป็นประชานิยมทั้งหมดไม่ได้เพราะประชานิยมที่ดีก็มี

'อุ๋ย'ชี้ไร่ละพันสมควรแล้ว
     ที่หอประชุมกองทัพเรือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์ถึงเสียงวิจารณ์นโยบายจ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เป็นประชานิยมว่า ไม่ได้เป็นประชานิยม ตนคิดว่าขอให้ชาวนาที่มีรายได้น้อยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะเวลากระตุ้นเศรษฐกิจถ้ากระตุ้นตรงจุดที่มีรายได้น้อยที่สุด ดีกว่ากระตุ้นตรงส่วนอื่นและปีนี้ราคาข้าวค่อนข้างต่ำ อย่างน้อยสิ่งที่รัฐบาลให้ก็ช่วยลดการขาดทุน แต่อาจช่วยให้ได้กำไรบ้างซึ่งถือเป็นจุดสำคัญ ดังนั้นอย่าคิดเรื่องอื่นเพราะเรื่องนี้ไม่ใช่การช่วยเหลือราคาข้าว แต่บังเอิญราคาข้าวตกมากจนชาวนามีรายได้น้อยที่สุด เราจึงต้องช่วยคนที่มีรายได้น้อยที่สุดก่อน
      เมื่อถามว่า ชาวนาบางส่วนแย้งว่าไร่ละ 1,000 บาทถือว่าน้อยเกินไป ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า การให้มีขอบเขตอยู่ ข้าวขาวราคาตอนนี้ 8,000 บาทต่อเกวียน รวมกันก็ได้กว่า 9,000 บาทต่อเกวียน การให้ 1,000 ต่อไร่ถือว่าสมควร เพราะจะเอาเงินภาษีประชาชนไปถมอยู่ที่เดียวไม่ได้ ยอมรับว่าคนอยากได้มากขึ้น แต่เราเป็นคนกลางเอาภาษีของประชาชนไปใช้ก็ต้องมีจุดพอดี 

ไม่ใช่ประชานิยม-ไม่ได้หาเสียง
      ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า ยืนยันนโยบายนี้ไม่ใช่ประชานิยมเพราะตนไม่ได้หาเสียงแต่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าไม่กระตุ้นด้วยวิธีนี้จะทำอย่างไรเพราะการสร้างงานต้องใช้เวลา 42-45 วัน เมื่อเราเร่งมาตรการนี้วงล้อเศรษฐกิจจะหมุนเอง สินค้าอุปโภคบริโภคจะเดินต่อได้ ทำให้สินค้าอื่นเดินหน้าต่อไปได้ด้วยเช่นกัน
     "การจ่ายเงินครั้งนี้ให้เพียงนาปีเท่านั้น นาปรังไม่ให้เพราะนาปรังเป็นพวกที่มีฐานะดี มีที่ดินเยอะและปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้งอยู่แล้ว จึงให้เฉพาะนาปีเพียงครั้งเดียวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
   ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวถึงการยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจว่า การยกเลิกกฎอัยการศึกต้องแล้วแต่ฝ่ายความมั่นคงเห็นสมควร เพราะประเทศขณะนี้ถือว่าความมั่นคงเป็นเรื่องสำคัญ หากฝ่ายความมั่นคงเห็นอย่างไรฝ่ายเศรษฐกิจก็ทำได้ทั้งนั้น

ปปช.เปิดเซฟสนช.-'อิสระ'รวยสุด
     วันเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ เปิดเผยรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 ส.ค. จำนวน 195 คน พบ สมาชิก สนช.มีทรัพย์สินในระดับเกินหลักร้อยล้านบาท 51 คน เกินหลักพันล้านบาท 2 คน ที่เหลืออีกจำนวนมากอยู่เกินหลักสิบล้านบาท 
       นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานคณะกรรมการบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีทรัพย์สินมากที่สุด 5,225,733,163 บาท ส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุน 3,599,792,752 บาท เงินให้กู้ยืม 1,195,316,300 บาท มีหนี้สิน 13,957,172 บาท รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 5,225,733,163 บาท 

'สมพร เทพสิทธา'จนสุด
     รองลงมา นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ เจ้าของธุรกิจโรงแรมในเครือปาร์คนายเลิศ มีทรัพย์สิน 1,313,781,715 บาท พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผบ.ตร. และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 962,067,522 บาท มีของสะสมเป็นปืน 45 กระบอก และภาพวาดหลายรายการ รวมมูลค่ากว่า 70 ล้านบาท นายชัชวาล อภิบาลศรี และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 838,463,795 บาท ส่วนผู้ที่มีทรัพย์สินน้อยที่สุดคือ นายสมพร เทพสิทธา มีทรัพย์สินเพียง 160,735 บาท

'พรเพชร'รวย 49 ล้าน 
      นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 48,536,225 บาท ในส่วนของทรัพย์สินอื่นๆ มีหลายรายการที่ไม่ได้ระบุมูลค่าไว้ ซึ่งแจ้งว่าประเมินมูลค่าไม่ได้ เพราะเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าจิตใจ ส่วนใหญ่เป็นของประจำบ้านที่ได้รับตกทอดมา อาทิ งาช้า พระเครื่อง ภาพวาด นาฬิกา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 มีทรัพย์สิน 177,134,015 บาท นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 มีทรัพย์สิน 36,773,372 บาท นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน มีทรัพย์สิน 276,938,687 บาท 
     กลุ่ม 28 สนช.ที่ยื่นร้องต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนมติป.ป.ช.ที่ให้สนช.ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนสนิทของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม และเป็นกรรมการในมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด หลายคนมีทรัพย์สินหลักสิบล้านและร้อยล้านบาท อาทิ พล.อ.นพดล อินทปัญญา มีทรัพย์สิน 21,313,634 บาท พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 388,207,253 บาท พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 55,798,389 บาท พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 136,563,177 บาท 

ผบ.ตร. 356 ล้าน-บิ๊กติ๊ก 80 ล้าน
     ทหารระดับผบ.เหล่าทัพ อาทิ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีทรัพย์สิน 108,821,375 บาท พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.สส. มีทรัพย์สิน 48,886,238 บาท พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. มีทรัพย์สิน 34,159,030 บาท พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผบ.ทอ. มีทรัพย์สิน 31,375,701 บาท พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผบ.ตร. มีทรัพย์สิน 355,857,726 บาท มีของสะสมเป็นพระเครื่องชื่อดัง 12 รายการ มูลค่า 25 ล้านบาท อาทิ เหรียญหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม จ.นครศรีอยุธยา และพระขุนแผน
     นายทหาร 5 เสือทบ. มีทรัพย์สินทะลุ 50 ล้านบาท ได้แก่ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วยผบ.ทบ. น้องชายพล.อ.ประยุทธ์ มีทรัพย์สิน 79,821,468 บาท เป็นเงินฝากในบัญชีธนาคาร 42 ล้านบาท มีของสะสมเป็นพระเครื่องชุดเบญจภาคี 5 ล้านบาท พล.อ.ธีรชัย นาควานิช มีทรัพย์สิน 70,232,161 บาท พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก มีทรัพย์สิน 60,182,285 บาท พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 มีทรัพย์สิน 99,864,992 บาท

อดีตผบ.เหล่าทัพอู้ฟู่
      อดีตผบ.เหล่าทัพหลายคนมีทรัพย์สินหลักร้อยล้านบาท อาทิ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ อดีตผบ.ทร. มีทรัพย์สิน 801,788,369 บาท พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ อดีตผบ.ทอ. มีทรัพย์สิน 263,487,636 บาท พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรรท.ผบ.ตร. และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 469,417,130 บาท 
       ส่วนข้าราชการประจำ อธิการบดี และนักวิชาการที่น่าสนใจ อาทิ นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 196,428,815 บาท พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีทรัพย์สิน 27,058,457 บาท นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คู่สมรส มีทรัพย์สิน 18,277,002 บาท นาย กล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการป.ป.ช.และ คู่สมรส มีทรัพย์สิน 18,727,155 บาท นาง กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา มีทรัพย์สิน 315,438,447 บาท

'รัชตะ-อาคม'ยังไม่ได้ยื่น
      นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะ กรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า จากสนช.ทั้งหมด 197 คน มีผู้มายื่นบัญชีทรัพย์สินฯต่อป.ป.ช. 195 คน ไม่ยื่น 2 คน ได้แก่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเมื่อลาออกจากสนช.แล้วจะไปรอยื่นในตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ความจริงต้องยื่นในตำแหน่งสนช. ขณะนี้ป.ป.ช.ทำหนังสือแจ้งให้ทั้ง 2 คนทราบแล้วว่าให้มายื่นบัญชีทรัพย์สิน ส่วนจะมีความผิดหรือไม่ต้องดูว่าจงใจไม่ยื่นหรือเข้าใจผิดคิดว่าไม่ต้องยื่น เมื่อทั้ง 2 คนชี้แจงเหตุผลมาแล้ว ป.ป.ช.จะพิจารณาว่าเหตุผลรับฟังได้หรือไม่ หลังจากนี้ป.ป.ช.จะตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินฯของสนช.ทุกคน ถ้าพบว่าผิดปกติจะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงโทษต่อไป ขณะที่สนช. 28 คน ที่เพิ่งปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา จะต้องยื่นทรัพย์สินฯต่อป.ป.ช.ภายใน 30 วัน
     นายวรวิทย์ กล่าวว่า ส่วนครม. ขณะนี้ทยอยยื่นทรัพย์สินฯเข้ามาจำนวนมากแล้ว รวมทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ด้วย โดยจะเปิดเผยต่อสาธารณชนในปลายเดือนต.ค.นี้ 
      ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายฉัตรชัย ปิยะสมบัติกุล สมาชิกสนช. ที่ได้รับการแต่งตั้งเพิ่มเติม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้แจ้งต่อสำนักเลขาธิการ ปฏิบัติหน้าที่สำนักงาน เลขาธิการสนช.ว่าติดภารกิจอยู่ต่างประเทศ ได้เข้ารายงานตัวแล้ว นายฉัตรชัยจึงถือเป็นสนช.คนสุดท้าย ทำให้สนช.ที่ได้รับการแต่งตั้งเพิ่ม 28 คนรายงานตัวครบแล้ว 

สุรชัย ย้ำสนช.มีอำนาจถอดถอน 
      ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. ให้สัมภาษณ์ถึงป.ป.ช.จะส่งสำนวนการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ให้สนช.พิจารณาถอดถอนว่า คาดสัปดาห์หน้า ป.ป.ช. จะส่งสำนวนดังกล่าวมาให้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของฝ่ายธุรการ ส่วนสำนวนถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และสำนวนถอดถอน อดีตส.ว. 39 คน ในกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของส.ว. ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของป.ป.ช.นั้น สนช.จะไม่ร้องขอเรื่องเพื่อมาพิจารณารวมกับ 2 สำนวนแรก เพราะถือว่ายังอยู่ในดุลพินิจของ ป.ป.ช. จึงไม่ควรชี้นำหรือก้าวล่วงการทำหน้าที่ของป.ป.ช.
     นายสุรชัย กล่าวว่า การพิจารณาถอดถอน สนช.จะพิจารณาดูเนื้อหาการถอดถอนอย่างละเอียดและรอบคอบที่สุด เชื่อว่า สนช.มีอำนาจและดุลพินิจพิจารณาเองได้ ไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามที่หลายฝ่ายเสนอ เนื่องจากมีกลไกของ สนช.พิจารณาเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่หากมีผู้ร้องคัดค้านก็ต้องดูเป็นรายกรณีว่าจำเป็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่

พท.เล็งยื่นร้องศาลรธน.
      นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในสัปดาห์หน้า ขอให้วินิจฉัยว่าสนช. มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว และขณะนี้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งไม่มีบทบัญญัติเรื่องการถอดถอน ทำได้เพียงถอดถอน สนช.ด้วยกันเท่านั้น ทั้งนี้ วันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้รับเอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญที่ยกคำร้องกรณีนายสมชาย แสวงการ และพวก ยื่นร้องว่าพวกตนล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา 68 โดยศาลรัฐธรรม นูญให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกแล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาวินิจฉัย ต่อไป และมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้อง ซึ่งหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้มาตรฐานเดียวกันวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว
       นายอำนวย กล่าวว่า อยากให้อยู่ในกฎกติกา ไม่ใช่ล้างแค้นกัน เมื่อฉีกรัฐธรรมนูญปี 2550 ไปแล้ว ทุกอย่างก็จบ ขณะนี้นโยบายของคสช.ต้องการปรองดอง ลดขัดแย้ง ก็อยากให้ทบทวนใหม่เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้ อยากเตือน สนช.ทุกคน อย่าลืมว่ามาจากการแต่งตั้งของ คสช. มาตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ได้คลอดมาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 อยากให้ทุกคนตั้งสติ ไม่อยากให้อคติ อย่าเอาเป็นเอาตาย มันน่าจะจบไปแล้ว ช่วยมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชน ให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขดีกว่า มาหักล้างกันทางการเมือง 
       เมื่อถามว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุให้ดูกฎหมายและคำวินิจฉัยที่เคยมีมาแล้ว เมื่อกฎหมายพ้นไปหรือคนพ้นจากตำแหน่งแล้วยังดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ นายอำนวยกล่าวว่า ตนถือว่านายวิษณุเป็นบรรทัดฐานของกฎหมาย พูดอะไรมาต้องยืนยันให้ชัดเจน หากพูดว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 จบแล้วก็จบไป ไม่ใช่วันนั้นพูดอย่าง วันนี้พูดอีกอย่าง มันไม่ใช่ ขณะนี้เราอยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์

'บิ๊กตู่'จี้งานด่วน 3 เดือนแรก 
        เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนไทยในชาติ" ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า การขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ ของรัฐบาล ระยะเร่งด่วน 3 เดือนแรกนี้ จะนำโครงการที่ริเริ่มไปแล้วโดยคสช. มาสานต่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว เน้นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย เช่น โครงการจัดหารถโดยสารเอ็นจีวี การปรับปรุง โครงการช่องทางด่านศุลกากรในเขตเศรษฐกิจ พิเศษตามแนวชายแดน โครงการศูนย์ดำรงธรรมอย่างเต็มรูปแบบ ให้ประชาชนเข้าถึงการบริการได้ง่าย โครงการนำร่องโซนนิ่งพื้นที่การเกษตร โครงการนำร่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ ทั้งหมดนี้รัฐบาลจะเร่งดำเนินการในระยะแรกให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืนโดยเร็วที่สุด
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือน จะให้ภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก ได้สั่งการให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินในส่วนงบเดิมที่กันไว้แต่ยังไม่ได้เบิกจ่ายหรือทำสัญญา หากเร่งเบิกจ่ายได้เร็วทันสิ้นปีจะช่วยให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 160,000 ล้านบาท สร้างงานได้อีกมาก และสั่งการให้เร่งรัดทำสัญญาจ้าง สำหรับงบลงทุนปี 2558 ให้เบิกจ่ายได้ในไตรมาสแรกของปีหน้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอีกกว่าแสนล้านบาท รวมแล้วจะมีเม็ดเงินเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ และในต้นปีหน้ากว่า 250,000 ล้านบาท

พบทุจริตลงโทษทันที 
        นายกฯ กล่าวว่า กำชับให้ทุกหน่วยงานพิจารณาถึงความจำเป็นและความสำคัญอย่างรอบคอบ จัดลำดับความเร่งด่วน ควบคู่กับการให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในเรื่องความโปร่งใส "ที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย มักมีคำกล่าวว่าเวลาอัดฉีดเม็ดเงินลงไปเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ ก็เหมือนการให้ขนม แต่ มักจะไม่ถึงมือประชาชนทั้งชิ้นหรือทั้งก้อน สุดท้ายประชาชนได้รับแต่เปลือกหรือส่วนน้อย แต่ครั้งนี้ผมจะไม่ยอมให้ใครมาแกะห่อขนมกินกลางทาง ก่อนถึงมือประชาชนโดยเด็ดขาด ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง"
      นายกฯ กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นครั้งนี้จะส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่น และโครงการลงทุนท้องถิ่นที่อาจมีมูลค่าไม่มากแต่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ เช่น ขุดลอกคูคลอง บูรณะเส้นทาง ซ่อมแซมอาคารเรียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่น เป็นการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นเพิ่มเติมอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างรอบคอบรัดกุม จะช่วยให้ประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกในขณะนี้ อย่าตื่นตระหนก เราต้องมีสติ เอาวิกฤตมาเป็นโอกาส ถือเป็นการท้าทาย ทุกภาคส่วนช่วยกันกำกับตรวจสอบ ไม่ให้ทุจริต ถ้าพบรายงานเข้ามาหรือเราจัดคณะกรรมการไปตรวจพบเองจะรีบลงโทษโดยเร็ว

แจกไร่ละพันแบ่งเบาภาระชาวนา 
      "อย่าให้โครงการเหล่านี้ชักช้าเพราะเราต้องการขับเคลื่อน แต่ต้องโปร่งใส ไม่ต้องกลัวถ้าทำสุจริตแล้วทำไปเลย เราตรวจสอบหลังจากทำแล้วก็ได้แต่ถ้าผิดก็ลงโทษ หยุดดำเนินการ อย่าไปเชื่อในคำแอบอ้างต่างๆ จากใครก็ตามที่อ้างว่าคสช. อ้างว่ารัฐบาล อ้างว่าผม หรือใครสั่ง ไม่มีทั้งสิ้น ขอให้ตรวจสอบและให้ยืนยันมาที่รัฐบาลด้วยถ้ามีคนแอบอ้าง" นายกฯ กล่าว
     นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลเข้าใจดีถึงความเดือดร้อนของชาวนา เวลานี้ใกล้หน้าการเก็บเกี่ยวแล้ว รัฐบาลมีนโยบายไม่เแทรกแซงราคา ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้ปรับตัวได้ แนวทางช่วยเหลือทางการเงินของรัฐบาลเพื่อแบ่งเบาภาระในหน้าการเก็บเกี่ยวข้าว ให้ปรับตัวและเปลี่ยนวิธีการจำหน่ายข้าวให้เข้ากับกลไกของตลาด และพึ่งตนเองได้ในอนาคต รัฐบาลมีมติผ่านครม.ช่วยเหลือชาวนาผู้มีรายได้น้อย มีที่ทำกินขนาดเล็กโดยจัดสรรเงิน 1,000 บาทต่อไร่ แต่ไม่เกิน 15,000 บาท เฉพาะชาวนาและที่ประกอบผลผลิตการปลูกข้าวในปี 2558 เฉพาะนาปีเท่านั้นตามที่ฝ่ายเศรษฐกิจเสนอมา นาปรังนั้นคงไม่ได้ 

ให้สปช.ช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องการปฏิรูปปรองดอง ตนไม่ได้มุ่งหวังสิ่งใดๆจากสภาปฏิรูป ขอให้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ฉะนั้นต้องหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆที่นำไปสู่ความขัดแย้ง การทะเลาะเบาะแว้ง เราผ่านช่วงนั้นมาแล้ว ประเทศไทยเสียหายมากแล้ว อย่ากลับไปอีกเลย ช่วยกันคลี่คลาย นำบ้านเมืองสู่ความสงบสุข เจริญรุ่งเรือง เพื่อลูกหลานดีกว่า
      นายกฯ กล่าวว่า เรื่องการจัดระเบียบสังคม การปราบปรามผู้มีอิทธิพล สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดูแลกวดขันกลุ่มมาเฟีย ผู้มีอิทธิพลต่างๆ ทุกรูปแบบ ไม่ให้กลับมาแสวงหาผลประโยชน์จากคนจนได้อีก ไม่เป็นการแก้ไขปัญหาแบบไฟไหม้ฟาง ต้องทำต่อไป และขอความร่วมมือและความเข้าใจ เห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วย ตำรวจหรือทหารต้องทำหน้าที่รักษากฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย จะต้องลดอคติความหวาดระแวงระหว่างกัน ไว้วางใจกัน ตนมอบนโยบายกับผบ.ตร.คนใหม่ไปแล้ว ขอให้สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนรักตำรวจ และเชื่อฟังการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม

งัดกม.ขู่มือป่วนโซเชี่ยลมีเดีย 
       นายกฯ กล่าวว่า นักข่าวสื่อมวลชนตนไม่เคยปิดกั้น เคารพให้เกียรติกัน การบริโภคข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์บ้านเมืองภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ทั้งกระแสประชาธิปไตย สื่อมวลชนเป็นผู้มีบทบาทนำข้อเท็จจริงมาสู่สายตาประชาชน ตนคิดว่าสื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยพัฒนาสังคมด้วย สังคมจะเป็นปกติได้สื่อต้องดำรงเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ความเป็น กลาง เสนอข่าวข้อเท็จจริงที่มีการตรวจสอบมาพอสมควร ปราศจากข้อคิดเห็นเป็นอคติ หากไปชี้นำจะเกิดความเข้าใจผิดอย่างต่อเนื่อง โดยเสนอในด้านเดียว ในโซเชี่ยลมีเดียก็เช่นกันมีปัญหามาตลอด วันนี้ไม่ทราบใครบ้างเขียนเข้ามาทำให้สังคมวุ่นวายเกลียดชังกันอยู่ ซึ่งยังมีอยู่ เราจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งการใช้กฎหมายต่างๆ ซึ่งไม่อยากทำ 

วอนสื่อ-ภาคสังคมกรองข่าว 
       นายกฯ กล่าวว่า สื่อจะต้องสื่อสารข้อมูลหลักๆ ให้ทราบในส่วนที่ดี ส่วนที่ไม่ดีก็แนะนำมา จะให้เราแก้ไขอะไร ส่วนที่ดีอยู่แล้วก็ให้ดีต่อไป ส่วนที่กำลังแก้ไขให้ดีก็นำเสนอว่าได้ทำแล้ว ดังนั้น จะต้องมีสติทั้ง ผู้ทำ สื่อ และผู้เสพ ผู้อ่าน 2 ประการคือ 1.การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารจากหลากหลายแหล่งที่มา และ 2.การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ให้ข่าวมา ผู้นำเสนอต้องเป็นกลางและตรวจสอบจนมั่นใจแล้ว จึงจะเผยแพร่ข้อมูลต่อไป อาจใช้เวลาจำกัด รวดเร็ว ดังนั้น ต้องระมัดระวังเพราะบางครั้งข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข่าวระดับล่างหรือในหน่วยนั้นหน่วยนี้ บางทีเป็นข้อมูลระดับเด็กๆ ผู้ปฏิบัติ เขาไม่ทราบว่าภาพใหญ่คืออะไร สิ่งที่เราทำทั้งภาพต้องต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นยุทธศาสตร์ 
     "ผมไม่เคยปิด ทุกกระทรวง ทบวง กรมก็ไม่ปิด เพราะเราไม่หวังผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ทำไมต้องปิด อยากรู้อะไรให้ถามมา เราจะมีเจ้าหน้าที่ มีคนชี้แจง ผมจะพูดใน รายละเอียดให้น้อยลงเพราะการปฏิบัติการ ขับเคลื่อนนั้นเป็นเรื่องของกระทรวง ทบวง กรม รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ทำกันต่อ เนื่องกัน เป็นทอดๆ ถามให้ถูกจุดด้วย" นายกฯ กล่าว
      นายกฯ กล่าวว่า ต้องขอความร่วมมือองค์กรภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศด้วยว่าเรื่องต่างๆ ที่มีคนร้องเรียนนั้น ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง การดำเนินงานของรัฐก่อน เราพร้อมอธิบายและพร้อมแก้ไขทั้งหมดเพราะรู้หน้าที่ดี เราจะไม่ทำอะไรให้เสียหายโดยไม่จำเป็น พอไม่ทำ ปล่อยปละละเลยบ้างก็แรงขึ้นๆ เราก็ทำงานไม่ได้ ต้องเห็นใจเรา ขอให้ติดตาม ตรวจสอบ ดูแลเจ้าหน้าที่รัฐบ้าง ให้กำลังใจเขาบ้าง มองผลประโยชน์ในภาพรวม ดังนั้น ต้องเสนอให้ครอบคลุมประเด็นในทุกมิติ การรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ต้องฟังเหตุผลว่าจริงไม่จริง ใช่ไม่ใช่ พอสรุปมาก่อนแล้วเป็นปัญหาทุกที มีคนรับได้ รับไม่ได้ขึ้นมาอีก 

ตีปี๊บสายด่วน 1111-1567
     นายกฯ กล่าวว่า สังคมไทยถือว่าเป็น โชคดี มีผู้รู้จำนวนมากในทุกภาคส่วน ถ้าดึงคนเหล่านี้ขึ้นเป็นพลังแฝง ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทุกพวกมาใช้ จะเกิดประโยชน์มหาศาลให้ประเทศชาติ เราต้องรวมกันให้ได้ สื่อมวลชนทุกช่องทางถือเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารกับภาครัฐที่ดีที่สุด ที่จะนำการรับรู้ไปสู่ประชาชนให้ได้ ที่เราเปิดช่องทางไว้แล้วคือสายด่วนรัฐบาล Hot Line: 1111 หรือ www. 1111 และช่องทางที่ 2 ศูนย์ดํารงธรรม Hot Line: 1567 "Smile Line" โครงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับประชาชน ทุกคนคงอยากได้รอยยิ้มวันนี้ต้องสร้างรอยยิ้มให้กัน
     นายกฯ กล่าวว่า เรื่องค่านิยม 12 ประการนั้น ขอให้คนไทยทุกคนยึดถือเป็นแนวทางดำเนินชีวิต เพราะค่านิยม 12 ประการนี้ สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของทุกศาสนา เป็นแนวทางส่งเสริมให้สังคมสงบสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เผื่อแผ่แบ่งปันกัน ต้องฝากทุกศาสนาช่วยกันเผยแพร่ด้วย 

รบ.ตั้งคณะทำงานปราบโกง 
      เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค ถ.แจ้งวัฒนะ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เป็นประธานประชุมกำหนดแนวทางความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีส่วนราชการในกระบวนการยุติธรรม 11 หน่วยงานเข้าร่วม ประกอบด้วยสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนัก งานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ปปง. กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงาน ป.ป.ท. 
   พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวภายหลังว่า ขอให้องค์กรอิสระเช่น ศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด ป.ป.ช. รวบรวมปัญหาที่ทำให้คดีล่าช้าและขาดอายุความ เพราะรัฐบาลไม่สบายใจที่ระบบการป้องกันและปราบปรามทุจริตของไทยไม่ได้รับความเชื่อถือ การจัดอันดับความโปร่งใสของประเทศลดต่ำลงทุกปี จึงขอให้ทุกหน่วยงานส่งตัวแทนเป็นคณะทำงานแก้ปัญหา เพื่อเสนอโดยตรงกับรัฐบาลและสปช. โดยส่งรายชื่อให้นายกฯ พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า 
     "รัฐบาลไม่มีเจตนาก้าวก่ายการทำงานองค์กรอิสระ แต่อยากให้มีช่องทางประสานความร่วมมือ เพราะบางคดีใช้เวลา 1-2 ปี แต่บางคดีช้าจนขาดอายุความ ทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัย และต้องการคำตอบ" พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

บิ๊กต๊อกใช้เก้าอี้รมต.เดิมพัน
     พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวถึงการแต่งตั้ง พล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมว่า ยืนยันว่าตนเป็นคนเสนอชื่อพล.ต.อ.ชัชวาลย์ ไม่ใช่บุคคลภายนอก พิสูจน์ได้เพราะตนเป็นคนลงชื่อกำกับ ตนเคารพในข้อสงสัยของทุกคน แต่ไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำงาน ทุกคนมีสิทธิสงสัย ต้องพิสูจน์กันด้วยงาน ส่วนจะใช้เวลาพิสูจน์นานเท่าใดนั้นไม่ได้ตั้งกรอบเวลา อาจเป็น 1 วันหรือ 10 เดือนก็ได้ รัฐมนตรีทุกคนเหมือนกันคือแต่งตั้งคนเพื่อขับเคลื่อนงาน หากทำงานไม่ได้ก็ต้องพิสูจน์ เราตั้งให้เขามาทำงาน ไม่ได้ตั้งมาให้โอกาส ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องพิจารณาทั้งรัฐมนตรีและคนที่ถูกตั้งมา จะปล่อยให้กระทรวงล้มเหลวไม่ได้ 
     เมื่อถามถึงกระแสไม่ยอมรับปลัดกระทรวง คนใหม่จากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า คนที่ถูกตั้งมาก็ต้องทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีความสุข เพื่อให้มั่นใจว่าเสนอชื่อไม่ผิดพลาด และคงไม่ต้องเรียกประชุมผู้บริหารทั้งกระทรวงเพื่อปรับความเข้าใจหรืออธิบาย แต่จะมีการพูดคุยในการเรียกประชุมรายกรม
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการซักถาม พล.ต.อ.ชัชวาลย์ยืนฟังอยู่ด้านนอกห้องประชุม แต่เมื่อผู้สื่อข่าวจะสัมภาษณ์ก็ปฏิเสธตอบคำถาม พร้อมรีบเดินเลี่ยงตัวออกไปพร้อมยกมือปิดปาก

จี้ดีเอสไอกู้ชื่อ
      เวลา 14.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พล.อ.ไพบูลย์ ปาฐกถางาน 12 ปี กรมสอบสวนคดีพิเศษว่า กระทรวงยุติธรรมไม่ได้ดูกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบแต่อยู่ปลายน้ำ เห็นงานไม่ชัดเจนเหมือนกระทรวงมหาดไทย ส่วนดีเอสไอต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมตามที่สังคมคาดหวัง วันนี้ดีเอสไอไม่ได้รับความเชื่อถือจากสังคม จึงอยากให้ยอมรับความจริงและพิสูจน์ตัวเอง หากคนดีเอสไอผูกพันและอยากเห็นดีเอสไอเป็นที่ เชื่อถือ ต้องทำให้เกิดความยุติธรรม 
      "หลังยึดอำนาจคำถามแรกคือเมื่อไรจะย้ายอธิบดีดีเอสไอ ทำไมดีเอสไอมีปัญหามากจริงๆ ในสายตาสังคมภายนอก ดีเอสไอเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจทั่วประเทศ ได้ใช้อำนาจเพื่อตัวเองหรือกลุ่มหรือไม่ ถ้าทำเช่นนั้นก็เลว เมื่อผมมาเป็นรมว.ยุติธรรม ก็ต้องร่วมกับปลัดยุติธรรมมีหน้าที่ปกป้องดีเอสไอ หากวันนี้คนดีเอสไอยอมรับว่าไม่ได้รับความเชื่อถือก็ต้องปรับปรุง แต่ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ต้องกลัว ดังนั้น ให้ไปทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้น จึงมีกระแสข่าวจะให้ยุบบ้าง ปรับโครงสร้างดีเอสไอบ้าง ดีเอสไอถูกแทรกแซงบ้างจึงต้องปรับปรุงปฏิรูป เมื่อผมเป็นรัฐมนตรีรับผิดชอบดีเอสไอก็ต้องเข้ามาเคลียร์ให้ดีเอสไอเป็นที่ยอมรับ" พล.อ.ไพบูลย์กล่าว 

ชัชวาลย์แจงคดี 99 ศพ
      ด้านพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดี ดีเอสไอและว่าที่ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมา 4 เดือนในตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ สิ่งที่เกิดขึ้นกับองค์กรนี้ไม่สะท้อนความเป็นดีเอสไอ ทำให้กรมเหมือนถูกปิด ตนใช้เวลาทำความเข้าใจกับคนดีเอสไอให้ช่วยกันฟื้น ดีเอสไอให้เป็นที่เชื่อถือของสังคม ต้องขอโทษที่ตั้งแต่ตนเป็นอธิบดีไม่ได้ออกมาพูดเพราะดีเอสไอต้องทำงานสืบสวนในลักษณะพิเศษจริงๆ ซับซ้อน รุนแรง มีผู้มีอิทธิพลและเกี่ยวกับปัญหาข้ามชาติ ถ้าเหตุชัดดีเอสไอจึงจะดำเนินการได้ 
      พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวถึงคดีการเมืองโดยเฉพาะคดีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ปี"53 ว่า คดีที่เหลือและสำนวนชันสูตรพลิกศพที่ยังอยู่ในกระบวนการของตำรวจ หากไม่มีข้อเท็จจริงว่าใครเป็นผู้ทำให้ตายก็ยังเป็นสำนวนชันสูตรพลิกศพ ไม่ใช่สำนวนการสอบสวน 

สวนยางขอมั่ง-2.5 พันบาทต่อไร่
      วันที่ 3 ต.ค. นายสุทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เผยระหว่างการสัมมนาเรื่อง "โครงการรับฟังความเห็นแนวทางแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ" ที่ห้องประชุม 301 ชั้น 3 อาคารวชิรานุสรณ์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ว่า ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันที่จะเสนอให้รัฐบาลนี้แก้ปัญหา 4 มาตรการ 1.มาตรการยับยั้งความเดือดร้อน สนับสนุนปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท ถือเป็นมาตรการอุดหนุนการผลิตไม่ใช่การอุดหนุนผู้ผลิตหรือตลาด
       2.มาตรการเร่งด่วน ลดปริมาณผลผลิตในระบบตลาดโดยยุติการระบายสต๊อกของรัฐ 2 แสนตัน หยุดกรีดยางของหน่วยงานภาครัฐ คือองค์การสวนยาง 5 หมื่นไร่ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 4 หมื่นไร่ สำนักงานกองทุนการทำสวนยาง 2,500 ไร่ และสวนยางที่บุกรุกเขตป่าอนุรักษ์ 3.3 ล้านไร่ รวมผลผลิต 81,360 ตัน พร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรหยุดกรีดยางโดยสมัครใจ การโค่นยางเก่าเพิ่มจาก 4 แสนไร่เป็น 1 ล้านไร่ สนับสนุนให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1 
      3.มาตรการระยะกลาง ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการตลาดยางพาราและระบบการจัดการการพัฒนาภาพรวม โดยชะลอการส่งออกทั้งยางสดและยางดิบ แต่กำหนดโควตาส่งออกโดยใช้วิธีประมูลเพื่อพยุงราคา เร่งเจรจาเพื่อพัฒนาความร่วมมือในกลุ่มผู้ผลิตยาง เร่งผลักดันพ.ร.บ.สภาการยางให้เสร็จใน 3 เดือน สนับสนุนการรวมตัวกันในรูปกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร รวมถึงจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเพื่อลงทุนในโครงการเกษตรอุตสาหกรรมน้ำยางข้น โดยใช้บริการวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาทของธ.ก.ส.
       4.มาตรการระยะยาว ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาพันธุ์ยางใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง พัฒนาระบบสวน การปลูกพืช ปศุสัตว์ ร่วมและลดปริมาณการปลูกยางเหลือ 40-45 ต้นเท่านั้น แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูประหว่างประเทศ จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการวิจัยยางพารา กองทุนการตลาดยางพารา กองทุนชาวสวนยางพารา เงินสนับสนุนทั้ง 4 กองทุนมาจากภาษีการส่งออกและงบประมาณรัฐ และการจัดตั้งธนาคารยางพารา

 

บิ๊กทหาร-ตร.-ขรก.อู้ฟู่ ฮือฮา'สนช.''อิสระ'รวยสุด 5 พันล้าน ปปช.เปิดทรัพย์สิน 195 คน ปู่สมพรมีแค่แสนกว่าบาท พท.จ่อยื่นศาลปมถอดถอน'สุรชัย'ยันสภาเคาะเองได้ 

เปิดทรัพย์สิน -สำนักงาน ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 195 คน ระหว่างวันที่ 3-17 ตุลาคม ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ กทม. เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม



เสนอกฎหมาย -นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 รับหนังสือจากว่าที่ ร.ต.เรวัต เครือบุดดีมหาโชค ประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย เพื่อยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารการปกครองและพัฒนาหมู่บ้าน พ.ศ. .... ที่อาคารรัฐสภา 2 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 

    'บิ๊กต๊อก'จวกดีเอสไอไม่น่าเชื่อถือ ซัดคนราดน้ำมันเบรกรถรอง ผบ.ไม่ใช่ลูกผู้ชาย เมินเสียงวิจารณ์ตั้งปลัดยุติธรรม ลั่นงานเหลวไปด้วยกันทั้งคู่ "บิ๊กตู่"ยังไม่เลิกกฎอัยการศึก ถามจะตายกันหรือไง

 

เปิดเก๊ะสนช.-"อิสระ"รวยสุด

 

       เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 3 ตุลาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 195 คน ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา โดย สนช.ที่รวยที่สุดคือ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ อดีตประธานหอการค้าไทย และประธานกรรมการบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด มีทรัพย์สิน 5,225,733,163 บาท โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนและเงินให้กู้ยืม 

 

       อันดับ 2 คือ นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ อดีต ส.ว.และเจ้าของธุรกิจโรงแรมในเครือปาร์คนายเลิศ มีทรัพย์สิน 1,313,781,715 บาท อันดับ 3 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร. มีทรัพย์สิน 962,067,522 บาท ส่วน สนช.ที่จนสุดคือ นายสมพร เทพสิทธา มีทรัพย์สิน 160,735 บาท

 

       ขณะที่ สนช.สายทหาร อาทิ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) มีทรัพย์สิน 34,159,030 บาท พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) มีทรัพย์สิน 31,375,701 บาท พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) มีทรัพย์สิน 48,886,238 บาท พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ

 

        และหัวหน้า คสช. มีทรัพย์สิน 79,821,468 บาท ในจำนวนนี้เป็นเงินฝากในบัญชีธนาคารอย่างเดียวถึง 42 ล้านบาท โดยมีของสะสมเป็นพระเครื่องชุดเบญจภาคี จำนวน 5 ล้านบาท พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ มีทรัพย์สิน 99,864,992 บาท พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ุม่วง ผบ.ตร. มีทรัพย์สิน 355,857,726 บาท

 

"กล้านรงค์"18 ล.-"พรเพชร"48 ล.

 

      ขณะที่บัญชีทรัพย์สินของกลุ่ม 28 สนช. ที่ไปยื่นร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนมติ ป.ป.ช.ที่ให้ สนช.เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯ อาทิ พล.อ.นพดล อินทปัญญา มีทรัพย์สิน 21,313,634 บาท พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย 388,207,253 บาท พล.อ.จิรพงศ์ วรรณรัตน์ มีทรัพย์สิน 207,551,976 บาท พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา มีทรัพย์สิน 63,679,323 บาท พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ มีทรัพย์สิน 55,798,389 บาท พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ มีทรัพย์สิน 136,563,177 บาท พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ และคู่สมรส มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 26,813,982 บาท

 

      ขณะที่บัญชีทรัพย์สินของ สนช.อื่นที่น่าสนใจอื่นๆ อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการ ป.ป.ช.มีทรัพย์สินรวม 18,727,155 บาท นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีทรัพย์สิน 315,438,447 บาท นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. มีทรัพย์สิน 48,536,225 บาท นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่หนึ่ง มีทรัพย์สิน 177,134,015 บาท นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่สอง มีทรัพย์สิน 36,773,372 บาท 

 

จี้"รัชตะ-อาคม"ยื่นบัญชีด้วย

 

     นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช.ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารของ สนช. กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม จำนวน 197 คน โดยมี สนช. 195 คน ที่เข้ายื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินฯ ขาดเพียง 2 ราย ได้แก่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งลาออกไปดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

 

       "อาจเกิดความเข้าใจผิดว่า เมื่อได้ลาออกจาก สนช.แล้วจึงไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ในฐานะสมาชิก สนช. แต่รอยื่นในฐานะรัฐมนตรี ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะต้องยื่นบัญชีในการดำรงตำแหน่งทั้ง 2 ตำแหน่ง ทาง ป.ป.ช.ได้ส่งหนังสือแจ้งให้บุคคลทั้งสองได้รับทราบแล้วว่า จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ซึ่ง ป.ป.ช.จะรอฟังเหตุผลในการชี้แจงของทั้งสอง หากเกิดจากความเข้าใจผิด จะไม่ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย" นายวรวิทย์กล่าว

 

สิ้นต.ค.เปิดกรุ"ครม.บิ๊กตู่"

 

     นายวรวิทย์กล่าวว่า หลังจากนี้ ป.ป.ช.จะตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สินที่ สนช.แสดงและเก็บข้อมูลไว้เปรียบเทียบหากพ้นตำแหน่ง หากตรวจสอบพบว่าจงใจยื่นบัญชีเท็จหรือปกปิดข้อมูล ทาง ป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาวินิจฉัย มีโทษสูงสุดห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี 

 

     "วันที่ 3 ตุลาคม เป็นวันสุดท้ายของการยื่นบัญชีแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินฯของ ครม. ซึ่งในช่วงเช้าพบว่ามีรัฐมนตรีมายื่นบัญชีแล้ว 26 คน เหลืออีก 7 คน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ

 

      ในวันนี้ ส่วนการเปิดเผยบัญชีดังกล่าวต่อสาธารณชนนั้นจะสามารถกระทำได้ในช่วงสิ้นเดือนตุลาคมนี้" นายวรวิทย์กล่าว และว่า ส่วนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะต้องยื่นแสดงรายการทรัพย์สินฯหรือไม่นั้น สำนักงาน ป.ป.ช.ได้เตรียมข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาว่าสมาชิก สปช.จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯหรือไม่ ซึ่งภายหลังการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิก สปช.เรียบร้อยแล้ว จะมีการแถลงอย่างเป็นทางการอีกครั้งว่าจะต้องดำเนินการหรือไม่ 

 

"บิ๊กตู่"แนะใจเย็นเรื่องสปช.

 

       ที่ถนนพระสุเมรุ หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อเวลา 07.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระภิกษุ-สามเณร 150 รูป อุทิศถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 3 ตุลาคม เป็นปีที่ 101 และครบ 1 ปีแห่งการสิ้นพระชนม์ โดยมีนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และพุทธศาสนิกชน เข้าร่วมพิธี

 

      ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถาม พล.อ.ประยุทธ์ ถึงรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์ตอบสั้นๆ ว่า "ใจเย็นๆ นะ นี่อยู่ในวัด"

 

      ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการคัดเลือก สปช. 250 คนว่า สปช.ที่คัดมานั้นครอบคลุมทุกด้าน ขอให้มั่นใจว่าต้องปฏิรูปได้ทั้ง 11 ด้าน อีกทั้ง สปช.อาจจะตั้งคณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นได้อีก เพราะไม่ได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ตายตัว และสิ่งใดที่ควรปฏิรูปก็อาจตั้งเพิ่มได้อีก

 

"วิษณุ"เผยโหวตเลือกสปช.

 

     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ภายหลังประธานพิธีมอบรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติประจำปี 2557 ที่หอประชุมกองทัพเรือ ถึงการคัดสรร สปช.ที่มีข้อครหาว่า ไม่มีความหลากหลาย ว่า ผู้ที่คัดเลือกเชื่อว่าได้ทำด้วยความหลากหลายพอสมควร เพราะไล่จากรายชื่อกว่า 7,300 คน จนเหลือ 250 คน และผ่านมาหลายด่าน ด่านแรกคัดเลือกจำนวน 11 คณะ คณะละ 50 คน นอกเหนือจากจังหวัดละ 50 คนแล้ว ทั้งหมดรวม 550 คน และกรรมการแต่ละคณะมี 7 คน ซึ่งทราบว่าทุกคณะใช้วิธีเหมือนกันคือ ให้หยิบชื่อขึ้นมาแล้วลงคะแนนทีละคน ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับเลือกจะได้ 5-7 คะแนน โดยคนที่ได้ 7 คะแนนจะติดหมดทุกคน ส่วนผู้ที่ได้ 0-3 คะแนน อาจจะต้องตัดออกถือว่าตก ซึ่งเชื่อว่าการคัดเลือกถือว่าหลากหลายพอสมควร

 

      นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯลงมา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ สปช. จะนัดประชุมนัดแรกเพื่อเลือกประธานและรองประธานอีก 2 คน โดยที่รัฐบาลจะไม่เข้าไปกำหนดและใครก็คงกำหนดไม่ได้ เพราะต้องเป็นหน้าที่ของ สปช.ทั้ง 250 คน จะเลือกกันเองว่าจะใช้วิธีใด แต่หนักอยู่เหมือนกันว่าแต่ละคนมาคนละจังหวัด อาจจะยังไม่รู้จักกัน แต่ในที่สุดจะต้องมีกระบวนอย่างใดอย่างหนึ่งใน สปช.เอง อาจจะเสนอชื่อมาหลายคนแล้วมาแข่งขันกันก็ได้

 

เลือกประธาน"ร้องฮ้อ"ใช้ได้

 

      "เมื่อมีการประกาศรายชื่ออกมาแล้ว อาจมีใครสักคนประกาศตัว หรือมีใครสักคนประกาศว่าหนุนใครเป็นประธาน สปช. อาจจะได้รับเสียงมาก ถ้ารู้สึกว่าร้องฮ้อก็ใช้ได้ ไม่ยี้ มันอยู่ที่ว่าชื่อนั้นคือใคร ผมไม่ทราบ" นายวิษณุกล่าว

 

    นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อเลือกประธานและรองประธานเสร็จสิ้น จะเป็นขั้นตอนตั้งกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันประชุม สปช.ครั้งแรก โดย 36 คน จะมาจาก สปช. 20 คน สนช. 5 คน ครม. 5 คน โดยห้ามเลือกจากรัฐมนตรีต้องมีจากคนนอก คสช. 5 คน รวม 35 คน บวกกับประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ คสช.จะเป็นผู้ส่งไป รวมเป็น 36 คน

 

     "หน้าที่ใหญ่ของ สปช.ที่ต้องทำในที่ประชุมร่วมอันดับแรกๆ คือเมื่อตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ สปช.จะต้องให้กรอบไปว่า อยากเห็นหน้าตาของรัฐธรรมนูญใหม่ว่าเป็นอย่างไร ระยะเวลาในการกำหนดกรอบประมาณ 60 วัน จากนั้นกรรมาธิการยกร่างฯจะไปลงมือเขียนอีกเป็นเวลา 4 เดือน" นายวิษณุกล่าว

 

ดึงคนหลุดตั้งเวทีชงปฏิรูป

 

      นายวิษณุ กล่าวถึงคนที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น สนช. แต่จะช่วยทำงานด้านต่างๆ ว่า มีความคืบหน้าไปมากแต่ไม่สามารถพูดตรงนี้ได้ เพราะต้องไปปรึกษากับผู้ที่เกี่ยวข้องอีก 2-3 ฝ่าย โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายว่าต้องพยายามเอาคนที่ไม่ได้รับเลือกเข้ามาทำงาน และให้แนวคิดว่าต้องตั้งเวทีเพื่อมารองรับคนเหล่านี้ ตามความถนัดและสมัครใจ โดยจะเป็นเวทีที่เป็นทางการหลายเวที นอกเหนือจากเวทีที่ไม่เป็นทางการ แต่อย่าให้ขัดกับกฎอัยการศึก 

 

     นายวิษณุ กล่าวว่า การจัดเวทีที่เป็นทางการต้องคิดถึงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ สถานที่และจะขัดกันเองจนเกิดความซ้ำซ้อนกันหรือไม่ และต้องมีกรอบว่าจะให้ไปคิดเรื่องอะไร ต้องแบ่งประเด็นในแต่ละเวที โดยเวทีดังกล่าวจะจัดเหมือนกับสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยจัดเวทีปฏิรูปประเทศซึ่งเป็นเวทีเดียว แต่ของรัฐบาลนี้จะจัดหลายเวที โดยความเห็นของแต่ละเวทีจะส่งให้ สปช. รัฐบาล คสช. และ สนช. ส่วนจะตั้งเวทีคู่ขนานกันก็ไม่ขัดข้อง แต่ขอให้ระวังเรื่องการชุมนุมเกิน 5 คน

 

นายกฯวอนสปช.ทำเพื่อชาติ

 

      เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับ สปช.ว่า ขอขอบคุณหน่วยงาน นิติบุคคล องค์กร ที่ได้เสนอผู้สมัครเข้ามาเป็น สปช.มากกว่า 7,000 คน มั่นใจว่าทุกท่านมีความตั้งใจเข้ามาช่วยเหลือประเทศชาติ และมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริงในด้านต่าง เพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ได้มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม 

 

       "เราคงไม่สามารถจะเลือกทุกคนเข้ามาในส่วนของสภาปฏิรูปได้ทั้งหมด แต่ผมได้สั่งการไปแล้วและยืนยันว่าจะพยายามหาวิธีให้ทุกคนและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคนนั้น ให้ได้มากที่สุด ขอให้ทุกท่านได้ตระหนักถึงผลประโยชน์ของชาติและพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ผมไม่ต้องการมุ่งหวังสิ่งใดๆ จาก สปช. ผมต้องการให้ทำหน้าที่ของท่านให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นจะต้องหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ช่วยกันนำพาบ้านเมืองไปสู่ความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรือง เพื่อลูกหลานของเราดีกว่า" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

 

รับฟังสื่อวิจารณ์-ปรับปรุง 

 

       พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับนักข่าวสื่อมวลชนไม่เคยไปปิดกั้นอะไร เคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นการบริโภคข้อมูลข่าวสาร ในเรื่องการติดตามข่าว สถานการณ์บ้านเมือง ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ทั้งกระแสประชาธิปไตย แล้วสื่อเป็นผู้ที่มีบทบาทในการนำข้อเท็จจริงมาสู่สายตาประชาชน เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยพัฒนาสังคมด้วย 

 

      "สังคมจะเป็นปกติได้ เพราะฉะนั้นท่านก็ต้องดำรงเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ความเป็นกลาง เสนอข่าวข้อเท็จจริง ที่มีการตรวจสอบมาพอสมควร ปราศจากข้อคิดเห็น เป็นอคติ ถ้าดีก็ว่าดี ไม่ดีท่านก็บอกมา เราก็จะแก้ไข เพราะฉะนั้นหากไปชี้นำก็เกิดความเข้าใจผิดอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการเสนอลักษณะเสนอด้านเดียว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า ยืนยันว่าไม่เคยปิดข้อมูล ทุกกระทรวงทบวงกรมก็ไม่ปิด อยากรู้อะไรให้ถามมา จะมีเจ้าหน้าที่มีคนชี้แจงที่รู้ดี

 

ยันไม่เลิกกฎอัยการศึก

 

ก่อนหน้านี้ เวลา 16.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เกี่ยวกับการพิจารณายกเลิก พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ว่า "ถ้ายกเลิกแล้วไม่มีการฆ่ากันก็โอเค แต่นี่ยังฆ่ากันอยู่เลย อย่าเพิ่งมาพูดกันเรื่องนี้ มันจะเป็นจะตายกันหรือไง ผมไม่เข้าใจ... เรื่องอื่นถ้าไม่มีเดี๋ยวถามท่านรองนายกรัฐมนตรีนะครับ"

 

"อ๋อย"ชี้่น่าห่วงเห็นชื่อ"สปช."

 

       นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่องสิ่งที่ต้องรีบทำเมื่อมี สปช.แล้วว่า "ถึงแม้ว่าสังคมไทยไม่อาจหวังอะไรจากการปฏิรูปที่กำลังจะทำกันอยู่นี้สักเท่าใด แต่เราก็ไม่ควรปล่อยให้การปฏิรูปครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายมากจนเกินไป เมื่อพิจารณาจากที่มาและรายชื่อผู้ที่จะมาเป็นสมาชิก สปช.แล้วจะเห็นว่าน่าเป็นห่วงเอามากๆ เพราะดูจะจำกัดอยู่ในแวดวงของผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีตกับผู้ที่สนับสนุนหรือเรียกร้องให้มีการรัฐประหารเสียเป็นส่วนใหญ่ 

 

      "การจะปฏิรูปกันไปโดยคนเพียงส่วนหนึ่งในฟากหนึ่งของสังคม อาจกลายเป็นการสร้างปัญหาความขัดแย้งใหม่ๆ ขึ้นมา หรือซ้ำเติมปัญหาเดิมให้หนักยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องรีบเปิดโอกาสให้ผู้คนที่หลากหลายสามารถเสนอความคิดเห็นและมีส่วนร่วมได้มากกว่าที่เป็นอยู่โดยเร็ว ประชาชนทุกชั้น ทุกวงการ องค์กรภาคประชาชนทุกประเภท และพรรคการเมืองต่างๆ ควรได้รับอนุญาตให้จัดประชุมเพื่อหารือ รวบรวมและแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้อย่างกว้างขวาง ถ้าทำได้อย่างนี้ นอกจากจะช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากปฏิรูปข้างเดียวแล้ว ยังอาจช่วยให้เกิดการปรองดองขึ้นมาได้บ้างด้วย" นายจาตุรนต์ระบุ

 

"บิ๊กต๊อก"แอ่นอกรับตั้ง"ชัชวาลย์"

 

       พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เกี่ยวกับการแต่งตั้ง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ว่า "เป็นการเสนอชื่อของผม ไม่ใช่บุคคลนอก ผมเป็นคนลงชื่อกำกับเพื่อเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ เคารพในข้อสงสัยของทุกคน แต่ไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำงาน ทุกคนมีสิทธิสงสัย ต้องพิสูจน์กันด้วยงาน เราตั้งให้มาทำงาน ไม่ได้ตั้งมาให้โอกาส ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องไปทั้งคู่ ทั้งผมและท่านปลัด เพราะผมเสนอชื่อ ถ้าทำงานล้มเหลวนายกรัฐมนตรีคงไม่ปล่อยไว้ ผมเป็นรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ นายกรัฐมนตรีคงไม่ปล่อยให้กระทรวงล้มเหลว"

 

ไม่สนใจโพสต์เฟซบุ๊กตัดพ้อ

 

       ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสไม่ยอมรับปลัดกระทรวงคนใหม่และจะปรับความเข้าใจกับ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และผู้บริหารบางคนที่โพสต์เฟซบุ๊กตัดพ้อหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า "ใครเขาว่ายังไง ไม่ได้อ่าน ไม่ได้สนใจ" 

 

      เมื่อถามว่าเรื่องเกี่ยวกับยุติธรรมชุมชนและกองทุนยุติธรรม คิดว่า พล.ต.อ.ชัชวาลย์จะมีความถนัดในงานด้านดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน โดย พล.อ.ไพบูลย์ย้อนถามกลับผู้สื่อข่าวว่า "คุณคิดว่าผมมีความรู้ไหม" ผู้สื่อข่าวจึงตอบกลับว่า "คงมีมั้ง" พล.อ.ไพบูลย์ตอบว่า "งั้นเขาก็คงพอรู้เหมือนกัน" 

 

       ทั้งนี้ ระหว่าง พล.อ.ไพบูลย์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว พล.ต.อ.ชัชวาลย์ยืนฟังอยู่ด้านนอกห้องประชุม แต่เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามจะสัมภาษณ์ถึงตำแหน่งที่ได้รับ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามและรีบเดินเลี่ยงออกไป พร้อมใช้มือ 2 ข้างปิดปากไว้

 

ซัด"ดีเอสไอ"เลวถ้าทำเพื่อพวก

 

        ต่อมา พล.อ.ไพบูลย์เดินทางไปร่วมงาน "12 ปี กรมสอบสวนคดีพิเศษ" ที่โรงแรมเซนทรา-ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ และกล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า วันนี้ดีเอสไอไม่ได้รับความเชื่อถือจากสังคม อยากให้ยอมรับความจริงและพิสูจน์ตัวเอง หากคนดีเอสไอผูกพันและอยากเห็นดีเอสไอเป็นที่เชื่อถือ ขอให้ทำให้เกิดความยุติธรรม หลังยึดอำนาจคำถามแรกคือ เมื่อไรจะย้ายอธิบดีดีเอสไอ ทำไมดีเอสไอมีปัญหามากจริงๆ ในสายตาสังคมภายนอก

 

       "ดีเอสไอเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีอำนาจทั่วประเทศ ได้ใช้อำนาจเพื่อตัวเองหรือกลุ่มหรือไม่ ถ้าทำเช่นนั้นก็เลว อย่างไรก็ตามเมื่อผมเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ก็ต้องร่วมกับปลัดยุติธรรม มีหน้าที่ปกป้องดีเอสไอ หากวันนี้ คนดีเอสไอยอมรับว่าไม่ได้รับความเชื่อถือก็ต้องปรับปรุง แต่ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ต้องกลัว ดังนั้นให้ไปทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้น จึงมีกระแสข่าวจะให้ยุบบ้าง ปรับโครงสร้างบ้าง ดีเอสไอถูกแทรกแซงบ้าง จึงต้องปรับปรุงปฏิรูปได้ เมื่อผมเป็นรัฐมนตรีรับผิดชอบดีเอสไอ ก็ต้องเข้ามาเคลียร์ให้ดีเอสไอเป็นที่ยอมรับ" พล.อ.ไพบูลย์กล่าว 

 

ยัวะเหตุราดน้ำมันเบรกรถรองผบ.

 

      "เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ได้รับรายงานว่าเกิดเหตุที่ไม่ควรเกิดขึ้นในดีเอสไอ เรื่องนี้ทำให้รู้สึกเจ็บปวดมาก เหมือนควบคุมพวกท่านไม่ได้ หากพบผู้กระทำผิดผมจะสอบสวนเอาผิดด้วยตัวเอง การกระทำครั้งนี้กำลังฟ้องกับสาธารณะว่าดีเอสไอถูกแทรกแซงจริง พวกท่านกำลังฆ่าดีเอสไอ พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายทำก็ต้องเรียกว่าไม่ใช่ลูกผู้ชาย ดีเอสไอเป็นหน่วยบังคับใช้กฎหมายทำงานภายใต้ความคาดหวังของประชาชนแต่กลับมาเกิดเหตุลักษณะนี้ ผมไม่พอใจและเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาก" พล.อ.ไพบูลย์กล่าว 

 

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้นำน้ำมันเบรกรถยนต์ไปราดใส่รถยนต์ส่วนตัวยี่ห้อนิสสัน รุ่นจูค สีแดง ทะเบียน ษม 51 ของ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รอง ผบ.สำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาคดีเอสไอ ที่จอดไว้ในอาคารจอดรถของศูนย์ราชการอาคารบี ได้รับความเสียหายทั้งคัน โดย ร.ต.อ.สุรวุฒิได้เข้าแจ้งความที่ สน.ทุ่งสองห้อง เบื้องต้นสันนิษฐานอาจเกิดจากปัญหาความขัดแย้งภายใน เนื่องจากมีการปรับย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ผอ.ศูนย์ฯไปจนถึงเจ้าหน้าที่คดีพิเศษหลายตำแหน่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในบริเวณดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียงเพื่อหาตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดี 

 

"ชัชวาลย์"ชี้ไม่สะท้อนคดีพิเศษ

 

       พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดีดีเอสไอและว่าที่ปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมา 4 เดือนในตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ สิ่งที่เกิดขึ้นกับองค์กรนี้ ไม่สะท้อนความเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษเลย ทำให้กรมเหมือนต้องถูกปิดในช่วงที่ผ่านมา ได้ใช้เวลาทำความเข้าใจกับคนดีเอสไอให้ช่วยกันฟื้นดีเอสไอให้เป็นที่เชื่อถือของสังคม ต้องขอโทษที่ตั้งแต่เป็นอธิบดีไม่ได้ออกมาพูด เพราะดีเอสไอต้องทำงานสืบสวนในลักษณะพิเศษจริงๆ ซับซ้อน รุนแรง มีผู้มีอิทธิพล และเกี่ยวกับปัญหาข้ามชาติ 

 

      ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองในส่วนที่ดีเอสไอรับผิดชอบจะดำเนินการอย่างไร พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวว่า คดีการเมืองบางส่วนได้ออกจากดีเอสไอไปอยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพราะมีการฟ้องคดีไปเสร็จแล้วนี้คือ คดีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม กปปส. เหลือเพียงคดีที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันในเรื่องของการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทยอยส่งสำนวนมาให้ดีเอสไอ 

 

ชี้"คุณหญิงหมอ"เหมือนพี่น้อง

 

      เมื่อถามว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของกลุ่มคนเสื้อแดงจะมีทิศทางอย่างไร พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า ตอนนี้เหลือในส่วนสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพที่ยังอยู่กับตำรวจ ยังไม่ได้รวมกับสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอ เหลืออีกไม่มาก หากไม่มีข้อเท็จจริงว่าใครเป็นผู้ทำให้ตาย ก็ยังเป็นสำนวนชันสูตรพลิกศพ ไม่ใช่สำนวนการสอบสวน 

 

        เมื่อถามถึงกรณีได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม แล้วเกิดกรณี พญ.คุญหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ และผู้บริหารกระทรวงแสดงท่าที่ตัดพ้อผ่านสังคมออนไลน์ พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ไม่มีอะไร ทุกคนเหมือนพี่น้อง เมื่อถามกรณี พล.อ.ไพบูลย์ระบุว่า ให้ปลัดยุติธรรมไปทำให้คนในกระทรวงยุติธรรมมีความสุขพล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า "ไม่ต้องห่วง ผมจะคืนความสุขให้ทั้งกระทรวงและสื่อมวลชน" 

 

"สุรชัย"ยันสนช.ชี้ขาดปมถอด

 

      นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะส่งสำนวนการถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ให้ สนช.พิจารณาถอดถอนว่า คาดว่าในสัปดาห์หน้า ป.ป.ช.จะส่งสำนวนดังกล่าวมาให้กับ สนช. ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของฝ่ายธุรการ 

 

     "สนช.จะพิจารณาดูเนื้อหาการถอดถอนอย่างละเอียดและรอบคอบที่สุด ทั้งนี้เชื่อว่า สนช.มีอำนาจและดุลพินิจในการพิจารณาเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามที่หลายฝ่ายเสนอ เนื่องจากมีกลไกของ สนช.ในการพิจารณาเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่หากมีผู้ร้องคัดค้านก็ต้องดูเป็นรายกรณีไปว่าจำเป็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่" นายสุรชัยกล่าว

 

"พท."หวังศาลรธน.มาตรฐานเดียว

 

       นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะเข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยว่า สนช.มีอำนาจดำเนินการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว และขณะนี้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติเรื่องการถอดถอน ทำได้เพียงถอดถอน สนช.ด้วยกันเท่านั้น 

 

      "เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญที่ยกคำร้องกรณีที่นายสมชาย แสวงการ และพวกร้องว่า พวกผมทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา 68 โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิกแล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาวินิจฉัยต่อไป จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้อง ก็หวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้มาตรฐานเดียวกันในการวินิจฉัย" นายอำนวยกล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!