WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 02 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8709 ข่าวสดรายวัน

บิ๊กป้อมเข้าพบ'ป๋า' นำ 5 ผบ.ตบเท้า ครม.ตั้ง 77 ขรก. ชัชวาลย์ปลัดยธ. อนุสิษฐคุมสมช. 


พบป๋า - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม นำผบ.เหล่าทัพและผบ.ตร.คนใหม่ เข้าพบพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.

     ครม.แต่งตั้งบิ๊กขรก.ล็อตใหญ่ 77 ตำแหน่ง 'ชัชวาลย์'นั่งปลัดยธ. 'อนุสิษฐ'เลขาฯสมช. ตั้ง 4 ที่ปรึกษานายกฯ เสริมการข่าว- ต่างประเทศ อนุมัติ 22 ผู้ช่วยรัฐมนตรี'บิ๊กตู่'แบ่งงานรองนายกฯ สั่งรมต.ดึงประชาชนรากหญ้าเป็นพวก ยอมรับโผชื่อสปช.ส่วนใหญ่ตรงตามข่าว'อนุพงษ์"เผย คสช.ยึดรายชื่อตามที่กรรมการคัดเลือกเสนอ 'บิ๊กป้อม'นำ 5 ผบ.เหล่าทัพคนใหม่พบ'ป๋าเปรม'ชาวนาพิจิตร-นครสวรรค์ บุกทวงค่าจำนำข้าว ขู่ปิดถนน 15 ต.ค 

คสช.คงชื่อสปช.ตามที่ได้เสนอมา
      เวลา 08.45 น. วันที่ 1 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางด้วยรถเบนซ์ส่วนตัว สีดำ เลขทะเบียน ญค 1881 เข้ามายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 3/2557 ซึ่งเลื่อนมาจากวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยยังคงใช้ตึกสันติไมตรีเป็นสถานที่ประชุมครม. เนื่องจากห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ยังปรับปรุงไม่เสร็จเรียบร้อย มีวาระสำคัญเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง และการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
       พล.อ.ประยุทธ์ ทักทายกับสื่อมวลชนด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แต่ปฏิเสธจะตอบคำถามกรณีมีการนำรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ยื่นทูลเกล้าทูลกระหม่อมแล้วหรือไม่ เนื่องจากจะครบกรอบเวลาที่กำหนดไว้เป็นวันที่ 2 ต.ค.นี้ นายกฯ ยิ้มแต่ไม่ตอบอะไร 
      ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงมหาดไทย ถึงการแต่งตั้งสปช. ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมแล้ว โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อตามที่กรรมการคัดสรรได้เลือกไว้ คสช.พิจารณาบุคคลที่กรรมการสรรหาเสนอชื่ออย่างดีแล้ว จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลง 

'ประยุทธ์'ชี้ส่วนใหญ่ตรงตามข่าว 
       เวลา 13.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลหลังการประชุมครม.ถึงการทูลเกล้าทูลกระหม่อมรายชื่อสปช. 250 คนว่า ได้ลงนามและนำเสนอไปตามขั้นตอน ผ่านสำนักราชเลขาธิการแล้ว ส่วนรายชื่อที่มีการเปิดเผยทางสื่อก็ไม่ได้ถูกทั้งหมด ไม่ทราบว่าหลุดออกมาได้อย่างไรเพราะเป็นการกลั่นกรองขึ้นมา ซึ่งมีไม่ตรงอยู่หลายคนแต่ส่วนใหญ่รายชื่อก็เดากันได้อยู่แล้ว 
      "ประเด็นหนึ่งที่ผมขอชี้แจงเพิ่มเติมว่าทำไมกลุ่มนี้เข้ามา แต่อีกกลุ่มไม่เข้ามา อยากบอกว่ากลุ่มที่ไม่มาเพราะไม่ยอมสมัครเข้ามาแล้วจะเข้ามาได้อย่างไร ไม่สมัครก็แสดงว่าไม่เห็นด้วยในการเข้ามาปฏิรูป ก็ไม่เข้ามา พอบอกให้เข้ามาก็จัดเพียงระดับเลขาฯ เมื่อกรรมการพิจารณาแล้วก็ไม่ได้ ให้ผ่านเข้าไปไม่ได้ก็แค่นั้นเอง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวและว่า บางคนไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่มีรายชื่อหรือได้รับการคัดเลือก สาเหตุเพราะไม่มีใครส่ง ความจริงต้องหาคนส่งเข้ามาก่อน ตอนนี้ตนให้นโยบายกับฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่าจะทำอย่างไรกับคนที่เหลืออยู่จาก 250 คน อาจตั้งเป็นคณะทำงาน อีกส่วนที่หลุดจาก 7 พันคนในรอบแรกก็จะพิจารณาด้วย ซึ่งจะมี คณะทำงานอยู่ 3-4 คณะ ต้องทำให้สอดประสานและต่อเนื่อง ทุกคนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม กำลังพิจารณาอยู่
      เมื่อถามว่า ทำไมมีชื่อทหารจากกองทัพบกเข้ามาจำนวนมาก นายกฯ กล่าวว่า กฎหมายเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าให้ส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคลส่งชื่อเข้ามาได้ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ก็ส่งรายชื่อเข้ามาได้หน่วยละ 2 คน เหล่าทัพต่างๆ ก็ส่งคนเข้ามาแต่ไม่สามารถคัดกรองได้ทั้งหมด ได้สัดส่วนที่เป็นของราชการบ้าง มีพลเรือน ตำรวจ ทหาร มีสัดส่วนที่ระบุไว้อยู่แล้ว และประชาชนก็ไม่ใช่ว่าใครก็สมัครเข้ามาได้ จำเป็นต้องมีคนส่งเป็นตัวแทนเข้ามา 

ครม.ตั้ง'ชัชวาลย์'ปลัดยธ.
      เวลา 15.00 น. รอ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.มีมติแต่งตั้ง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม และมีมติแต่งตั้งตามที่นายกฯ เสนอให้ตั้งข้าราชการการเมือง 5 ราย ได้แก่ พล.อ.สกล ชื่นตระกูล พล.อ.จีระศักดิ์ ชมประสพ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล เป็นที่ปรึกษานายกฯ และนายอนุสนธิ์ ชินวรรโณ เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง 
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแต่งตั้ง พล.อ. อนันตพร ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) และพล.อ.สกล หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (สปก.คสช.) เป็นที่ปรึกษานายกฯ เพื่อทำหน้าที่ประสานงานด้านการข่าวและงานด้านบริการ ขณะที่แต่งตั้งนายวีระศักดิ์ และนายอนุสนธิ์ เพื่อเสริมทีมงานของนายกฯ ในภารกิจด้านการต่างประเทศ เนื่องจากนายวีระศักดิ์ เคยเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตไทยในประเทศสำคัญๆ ทั้งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ส่วนนายอนุสนธิ์ เป็นอดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

โยกย้าย 9 บิ๊กกระทรวงเกษตรฯ
       ร.อ.นพ.ยงยุทธ แถลงว่า ครม.ยังเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งประจำสำนัก นายกฯ ดังนี้ 1.นายกีรติ เวฬุวัน (กระทรวงการคลัง) 2.นางนาถธิดา เด็ดแก้ว (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) 3.พ.อ.ถนอม สบายพร (กระทรวงแรงงาน) 4.นายกิตติพงศ์ พร้อมวงศ์ (กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) และเห็นชอบแต่งตั้งตามที่กระทรวงต่างๆ เสนอ 
       กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 9 รายคือ 1.นายสมปอง อินทร์ทอง ผู้ตรวจราชการ เป็นรองปลัด 2.นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นรองปลัด 3.นายอภัย สุทธิสังข์ ผู้ตรวจราชการ เป็นรองปลัด 4.นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรม ส่งเสริมสหกรณ์ เป็นอธิบดีกรมประมง 5.นาย วราวุธ ขันติยานันท์ ผู้ตรวจราชการ เป็นอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร 6.นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมหม่อนไหม เป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร 7.นายโอภาส กลั่นบุศย์ ผู้ตรวจราชการ เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ 8.นางวีณา พงศ์พัฒนานนท์ ผู้ตรวจราชการ เป็นอธิบดีกรมหม่อนไหม 9.นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ รองปลัด เป็นเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ตั้งแต่วันที่ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
        แต่งตั้ง นายสมบัติ ศานติจารี กรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นประธานกรรมการ กฟผ. แทนนางอัญชลี ชวนิชย์ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ครม.มีมติอนุมัติเป็นต้นไป 

'อนุสิษฐ'นั่งเลขาฯสมช. 
     กระทรวงการต่างประเทศ แต่งตั้ง เรืออากาศโท อรรถยุทธ์ ศรีสมุทร อธิบดีกรมอาเซียน เป็น เอกอัครราชทูตไทยกรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย สืบแทนพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งจะทรงโอนไปรับราชการที่สำนักงานอัยการสูงสุด ในวันที่ 1 ต.ค.2557 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2557
      กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1.น.ส.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวง เป็น เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ 2.นายสุทธิเวช ต.แสงจันทร์ ผู้ตรวจราชการ เป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ
     สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) แต่งตั้ง นายอนุสิษฐ คุณากร รองเลขาธิการสมช เป็นเลขาธิการสมช. 

'วันชัย'อธิบดีกรมอุตุฯ 
       กระทรวงแรงงาน 6 ราย 1.นางปราณิน มุตตาหารัช รองปลัดกระทรวง เป็น เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม 2.ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดเป็นอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 3.นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองปลัด เป็น อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 4.น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ ผู้ตรวจราชการ เป็นรองปลัด 5.นายวินัย ลู่วิโรจน์ ผู้ตรวจราชการ เป็นรองปลัด และ 6.นายอารักษ์ พรหมณี ผู้ตรวจราชการ เป็นรองปลัด มีผลตั้งแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 
      กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) 3 ราย คือ 1.นายเสรี โสภณดิเรกรัตน์ ผู้ตรวจราชการ เป็นรองปลัด 2.นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และ 3.นายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากร ธรณี เป็น อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีผลตั้งแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 
      กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) 1.น.ส.อารีวรรณ ฮาวรังษี ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวง เป็น รองปลัดกระทรวง 2.น.ส.รัจนา เนตรแสงทิพย์ รองผอ.สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นผู้ตรวจราชการ 3.น.ส.วิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล รองผอ.สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็น ผู้ตรวจราชการ 4.น.ส.มาลี วงศาโรจน์ รองผอ.สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นผู้ตรวจราชการ 5.นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เป็น อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

ตั้งผู้ช่วยรมต. 22 ราย 
       ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ที่ประชุมครม.มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ดังนี้ นายไพศาล พืชมงคล (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ) นายไมตรี ศรีนราวัฒน์ (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ) นายพิชัย สนแจ้ง (นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯ) นายไชยา ยิ้มวิไล (นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ) พล.อ.รุ่งโรจน์ จำรัสโรมรัน (กระทรวงกลาโหม) น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร (กระทรวงการคลัง) นางชวนี ทองโรจน์ (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) 
       พล.ต.อ.สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) นายอภิชาต พงษ์ศรีหดุลชัย (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) พล.ต.ท.วรศักดิ์ นพสิทธิพร (กระทรวงคมนาคม) นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ (กระทรวง ทส.) นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา (กระทรวงไอซีที) นายพรายพล คุ้มทรัพย์(กระทรวงพลังงาน) พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ (กระทรวงพาณิชย์) พล.ต.ท.ณัฐพิชย์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา(กระทรวงมหาดไทย) 
       พล.อ.นิวัตร มีนะโยธิน (กระทรวงยุติ ธรรม) นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร (กระทรวงวัฒนธรรม) พล.อ.กิตติ ปทุมมาศ (กระทรวงแรงงาน) น.ส.เสาวณี มุสิแดง (กระทรวง วิทยาศาสตร์ฯ) นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ (กระทรวงศึกษาธิการ) นายวีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ (กระทรวงสาธารณสุข) และนายปราโมทย์ วิทยาสุข (กระทรวงอุตสาหกรรม)

ตั้งอธิบดีกรมพลังงานทดแทน 
      กระทรวงพลังงาน 1.นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็น รองปลัดกระทรวง 2.นายประพนธ์ กิติจันทโรภาส รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ เป็น ผู้ตรวจราชการ 3.นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ รองผอ.สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็น ผู้ตรวจราชการ 4.นางสาววรรณาภรณ์ สวัสดิมงคล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็น ผู้ตรวจราชการ 5.นายธรรมยศ ศรีช่วย รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ เป็น อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2557 เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการและตำแหน่งที่ว่าง
       แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการระดับทรงคุณวุฒิของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นางกิตติยา คัมภีร์ ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการเชี่ยวชาญ) สำนักงานก.พ.ร. เป็นที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการทรงคุณวุฒิ) สำนักงานก.พ.ร. และน.ส.นลินี จันสว่าง ผู้ช่วยเลขาธิการก.พ.ร. เป็นที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการทรงคุณวุฒิ) สำนักงานก.พ.ร. ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 

'บิ๊กตู่'แจกงานรองนายกฯ
       นอกจากนี้ ครม.รับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 120/2557 มอบหมายอำนาจให้รองนายกฯและรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการ รองประธานคณะกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอ
       พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ประธานคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ประธานคณะกรรมการบริหารสถาน การณ์ฉุกเฉิน ประธานคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และรองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ รองประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ 
       ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ประธานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประธานคณะกรรมการมาตรฐานแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมพาณิชยนาวี
       นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นประธานสภาวิจัยแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการปรมาณู เพื่อสันติ ประธานคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ประธาน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
       พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการภาพยนต์และวีดิทัศน์แห่งชาติ 

แบ่งงานปนัดดา-สุวพันธุ์
      นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ ประธานคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ และประธานคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ 
      ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ประธานคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี 
      นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ประธานคณะกรรมการนโยบายรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ 

'พนม'ผอ.พศ.'บวรเวท'กรมศิลป์
       รอ.นพ.ยงยุทธกล่าวต่อว่า ครม.ยังแต่งตั้ง นายพนม ศรศิลป์ รองผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เป็นผอ.พศ. น.ส. นงนารถ สกุลเพชรสม ที่ปรึกษาระบบราชการสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นรองเลขาธิการ ก.พ. และนายจำเริญ ยุติธรรมสกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ เป็นรองปลัดสำนักนายกฯ
      ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เผยว่า ที่ประชุมครม. อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการศธ. ตามที่เสนอไป 5 ราย ประกอบด้วย 1.นายพินิติ รตะนานุกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เป็นเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) 2.นายวัชรินทร์ จำปี ผู้ตรวจราชการ เป็นรองปลัด 3.นายกมล ศิริบรรณ ผู้ตรวจราชการ เป็นรองปลัด 4.นายรังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็น รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ5.นายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการ เป็นรองเลขาธิการ สกศ. มีผลตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นต้นไป
     ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม เผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงทดแทนตำแหน่งที่ว่าง รวม 4 ราย ประกอบด้วย 1.นายอนันต์ ชูโชติ ผู้ตรวจราชการ เป็นรองปลัด 2.น.ส.นันทิยา สว่างวุฒิธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) 3.นายบวรเวท รุ่งรุจี ผู้ตรวจราชการ เป็นอธิบดีกรมศิลปากร (ศก.) และ4.นายชาย นครชัย อธิบดีสวธ. เป็นผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ส่วนตำแหน่งผู้ตรวจราชการที่ว่างลง 3 ตำแหน่ง วธ.จะคัดเลือกข้าราชการระดับ 9 มาดำรงตำแหน่งแทนต่อไป

ลือเด้งปลัดสธ. 
       ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขว่า การประชุมครม.ครั้งนี้คาดว่าจะนำโผแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเข้าที่ประชุม ทั้งระดับรองปลัดกระทรวง อธิบดีกรมต่างๆ ผู้ตรวจราชการ โดยการเสนอรายชื่อผู้บริหารระดับ 10 ที่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข เตรียมเสนอที่ประชุมครม.นั้น เป็นรายชื่อที่หารือร่วมกับนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสาธารณสุข แต่มีข่าวลือว่านพ.รัชตะกลับไม่นำเข้าที่ประชุมครม. และขอเลื่อนการพิจารณาเป็นครั้งหน้า นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่าจะมีการเสนอย้ายนพ.ณรงค์ เป็นที่ปรึกษานายกฯ ด้วย 
       รายชื่อที่เตรียมเสนอครม.นั้น หลักๆ มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งรองปลัด 3 คน คือ นพ.ทรงยศ ชัยชนะ ที่เกษียณอายุราชการ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ และนพ.อำนวย กาจีนะ ถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการ ผู้มาแทนคือ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวง นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการ และนพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ ผู้ตรวจราชการ ขณะที่นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ เป็นรองปลัดเช่นเดิม 
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อไม่มีการเสนอรายชื่อดังกล่าวจึงมีการปล่อยข่าวว่า ฝ่ายการเมืองเตรียมปรับโผใหม่อีกครั้ง เนื่องจากไม่ลงตัวในตำแหน่งของนพ.วชิระ 
      ขณะที่ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.) และนพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวถึงข่าวลือโยกย้ายนพ.ณรงค์ โดยเชื่อว่าเป็นข่าวปล่อย หรือถ้าจริงก็เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ 

อนุมัติงบจัดซื้อฮ. 2 ลำ 
       รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมครม.อนุมัติงบประมาณตามที่พล.อ.ประยุทธ์ เสนอผ่านสำนักเลขาธิการนายกฯ ในการขออนุมัติจัดหาเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ วาระดังกล่าวผ่านความเห็นจากคตร. กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่มีการเปิดเผยหรือแถลงข่าว รวมทั้งไม่มีรายละเอียดระบุถึงวงเงินแต่อย่างใด

นายกฯ ห้ามจ้อประชานิยม
        นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯด้านสังคม กล่าวว่า นายกฯกล่าวในที่ประชุมครม. เหมือนครั้งที่ผ่านมา เน้นเรื่องความปรองดองและการปฏิรูป เพื่อให้ประชาชนมาอยู่ข้างรัฐบาลให้มากที่สุด โดยเฉพาะประชาชนระดับรากหญ้า พร้อมย้ำให้ระวังการใช้คำพูดเพราะเกรงว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะถูกมองว่าเป็นประชานิยม จึงพูดมากไม่ได้ ขณะที่มาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง รัฐบาลจะรักษาระดับราคายางต่อเนื่องจนถึงปลายปีนี้ และหากไทยมียางจำนวนมาก ต้องพัฒนาการผลิตทางอุตสาหกรรมเพื่อให้มีสินค้าที่หลากหลาย 
       เมื่อถามว่า นายกฯเป็นห่วงกลุ่มเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ นายยงยุทธ กล่าวว่า นายกฯ พูดถึงเรื่องนี้ไม่มาก ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ในที่ประชุม ส่วนใหญ่พูดถึงเรื่องอนาคต ส่วนใครที่ทำผิด มีคดีติดตัวอยู่ก็ต้องพยายามนำมาดำเนินการตามกฎหมาย เช่น คนที่อยู่กัมพูชา 

สนช.เล็งถกปมถอดถอน
       ที่รัฐสภา สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับการเข้ารายงานตัว สนช.ที่ได้รับแต่งตั้งเพิ่ม 28 คน เป็นวันสุดท้าย ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ที่ห้องโถงชั้น 1 อาคารรัฐสภา 2 มีสนช.รายงานตัว 3 คน คือ นางสุรางคณา วายุภาพ ผอ.พัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นายอนุมัติ อาหมัด อดีตส.ว.สงขลา และพล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพน้อยที่ 1 ตลอดการรับรายงานตัวตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. -1 ต.ค. มีสนช.มารายงานตัวทั้งหมด 27 คน ส่วนอีก 1 คน ที่ยังไม่มารายงานตัว คือนายฉัตรชัย ปิยะสมบัติกุล อดีตกรรมการองค์กรจัดการน้ำเสีย ติดภารกิจที่ต่างประเทศซึ่งแจ้งสำนักงานเลขาฯวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ สมาชิกทั้งหมดจะกล่าวคำปฏิญาณตนในที่ประชุมสนช.ในวันที่ 2 ต.ค. นี้ ก่อนปฏิบัติหน้าที่ 
       นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งสำนวนการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบ กลับมายังสนช.ว่า ยังไม่ได้รับเรื่อง แต่ถ้าป.ป.ช.ส่งเรื่องกลับมาก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ส่วนปัญหาข้อกฎหมายที่ยังสับสนว่าถอดถอนได้หรือไม่เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ยกเลิกไปแล้วนั้น ต้องรอดูคำร้องที่ป.ป.ช.ส่งมาก่อนว่ามีการแก้ไขหรือไม่ จึงจะพิจารณาได้
        นายพรเพชร กล่าวว่า ส่วนที่นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. อาจเสนอให้ที่ประชุมใช้มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี2557 ชี้ขาดนั้น มาตรา 5 ใช้เพื่อตีความกฎหมายเท่านั้น เช่น ตีความว่า สนช.ทำหน้าที่แทน ส.ว.ได้หรือไม่ แต่เรื่องการถอดถอนยังไม่เห็นอำนาจว่าจะใช้มาตรา 5 ได้ อาจนำเรื่องเข้าที่ประชุมให้สมาชิก สนช. ชี้ขาดว่าถอดถอนได้หรือไม่ ส่วนประธานนำเข้าที่ประชุมแล้ว หากสมาชิกสนช. ไม่เห็นชอบก็เสนอญัตติได้

ยืนยันสนช.มีอำนาจถอดถอน 
       นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 กล่าวว่า ยังไม่เห็นรายงานของ ป.ป.ช.ที่จะส่งกลับมายังสนช. ต้องพิจารณาอีกครั้งว่า ป.ป.ช.อ้างกฎหมายหรือบทบัญญัติใด ยืนยันว่าการพิจารณาและการดำเนินการจะยึดตามหลักกฎหมาย จึงขึ้นอยู่ว่าป.ป.ช.จะยืนยันบนฐานความผิดของกฎหมายใด โดยไม่จำเป็นต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากหน่วยงานอื่นมาช่วยพิจารณา เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นข้อกฎหมายที่มีความยุ่งยาก สภาพิจารณาได้เองแต่จะทำอย่างให้ 2 หน่วยงาน มีความเห็นในทิศทางเดียวกัน แต่หากยังพบปัญหาก็นำเรื่องเข้าที่ประชุม สนช. ให้พิจารณาได้ ตามมาตรา 5 แต่จะบรรจุให้ที่ประชุมพิจารณาในวันที่ 2 ต.ค. นี้หรือไม่ เป็นดุลพินิจของประธานสนช. พิจารณา
       ด้านนายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญกิจการ สนช. หรือวิปสนช.ชั่วคราว ให้สัมภาษณ์ว่า หลังประธานสนช. บรรจุเรื่องแล้ว อาจส่งให้วิปสนช.พิจารณาว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่หรือไม่ จากนั้นจะส่งให้ที่ประชุมพิจารณาตามหมวดถอดถอนของข้อบังคับการประชุมสนช. ที่กำหนดให้ดำเนินการภายใน 45 วันนับจากประธานสนช.บรรจุในระเบียบวาระ และจะตั้ง กมธ.ซักถามแทนสมาชิก เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง จากนั้นจะปิดสำนวนนัดหมายวันลงมติ
      นายสมชาย กล่าวว่า ส่วนที่โต้แย้งว่าสนช.ไม่มีอำนาจถอดถอนนั้น ขอให้ไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 5 ที่ระบุกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยเรื่องที่เกิดในวงงานของสนช. ให้สนช.เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด การถอดถอนเป็นเรื่องในวงงานของสนช. ตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนอกวงงานของสนช. จึงจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ดังนั้น หากมีการยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญต้องดูว่าศาลจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ แต่จะไม่มีผลต่อกระบวนการพิจารณาถอดถอนของสนช.ให้ต้องยุติหรือชะงักการดำเนินการ

'นิคม'ขู่สนช.-ยื่นฟ้องศาลยุติธรรม 
       นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวถึงป.ป.ช.ยืนยันสำนวนถอดถอนของนายนิคมและนายสมศักดิ์ ให้สนช.ดำเนินการต่อไปว่า ชัดเจนว่าป.ป.ช.ชี้มูลตนและนายสมศักดิ์ ไปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ถูกยกเลิกตามคำสั่งของคสช. อีกทั้งสนช.ก็ยอมรับว่าการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญที่ฉีกทิ้งไปแล้วเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง สะท้อนถึงความลังเลในอำนาจการถอดถอนของ สนช.เองว่ามีหรือไม่ ตนอยากให้ สนช.คำนึงถึงความเป็นธรรมสำหรับผู้ถูกชี้มูลความผิดด้วยว่า พวกเราแก้ไขรัฐธรรมนูญตามอำนาจหน้าที่ที่มีและรัฐธรรมนูญฉบับเดิมถูกฉีกทิ้งไปแล้ว 
       นายนิคม กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้สมาชิกสนช.ทุกคนพิจารณาถึงกระบวนการถอดถอนให้รอบคอบตามข้อกฎหมาย และพึงระวังให้มากที่สุดหากจะถอดถอนตน นายสมศักดิ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และอดีตส.ว.ทั้ง 39 คน จะส่งผลให้การดำเนินการของสนช.กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่แก่การเมืองไทยที่อาจมีปัญหาต่อไปอนาคต 
        "เบื้องต้นมองว่า หากกระบวนการถอดถอนยังเดินหน้าต่อไป ผมจะไม่ไปร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแต่จะฟ้องต่อศาลยุติธรรม เพื่อให้ศาลพิจารณาว่าการยกร่างข้อบังคับ สนช.พ.ศ.2557 โดยอาศัยเพียงกฎหมายลูกแล้วนำมาลงมติถอดถอนส.ส. ส.ว.ที่ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามอำนาจหน้าที่และมีเอกสิทธิ์คุ้มครองอย่างชอบธรรม ถือเป็นการประพฤติมิชอบของ สนช.หรือไม่ เพื่อให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้รับการคุ้มครองตามกติกา" อดีตประธานวุฒิสภากล่าว 

พท.ย้ำสนช.ไม่มีอำนาจถอดถอน 
        นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย หนึ่งในผู้ถูกป.ป.ช.ร้องถอดถอน กรณีร่วมกันผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว. กล่าวกรณีป.ป.ช.มีมติส่งรายงานถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ ให้ประธานสนช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ว่า ยืนยันว่า สนช.ไม่มีสิทธิพิจารณาเพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีแล้ว สนช.จะอ้างข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ.2557 หมวดว่าด้วยการถอดถอนไม่ได้ ขณะที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ก็ไม่มีเรื่องการถอดถอน หาก สนช.ดำเนินการจะถือเป็นการขยายอำนาจและทำให้คสช.เสียหาย ทั้งนี้หากป.ป.ช.มีมติถอดถอนอดีตส.ส.ในข้อกล่าวหาเดียวกัน ขอถามว่าจะใช้รัฐธรรมนูญข้อไหนถอดถอน 
      นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้ตน ส่งทางอีเอ็มเอสไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 45 เสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าพ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งขององคมนตรีและรัฐบุรุษ พ.ศ.2551 มาตรา 4 และมาตรา 5 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 หรือไม่ เนื่องจากมาตรา 40 ไม่ได้บัญญัติให้จ่ายเงินประจำตำแหน่งให้องคมนตรีไว้ ที่ผ่านมาจ่ายเงินตามความในพ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งขององคมนตรีและรัฐบุรุษ พ.ศ.2551 นับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ถึงวันที่ 22 ก.ค. ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 196 มารองรับ จึงอาจมีปัญหาการใช้จ่ายเงินแผ่นดินในส่วนนี้ตามมา

ประวิตร นำผบ.เหล่าทัพพบ'ป๋า'
     เวลา 16.00 น. ที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม นำพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม และผบ.เหล่าทัพคนใหม่ประกอบด้วย พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.สส. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผบ.ทอ. และพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. เข้าพบพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีเเละรัฐบุรุษ 
      พล.อ.ประวิตร กล่าวให้สัมภาษณ์หลัง เข้าพบว่า ในฐานะรมว.กลาโหมคนใหม่ ต้องนำผบ.เหล่าทัพคนใหม่มากราบประธานองคมนตรีเเละรัฐบุรุษ และแนะนำตัว ซึ่งพล.อ. เปรมให้กำลังใจในการทำงาน และผบ.เหล่าทัพทุกคนให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำงานให้ดีที่สุด รวมถึงการสร้างความปรองดองของคนในประเทศ ทั้งนี้พล.อ.เปรมไม่ได้แสดงความเป็นห่วงกองทัพแต่อย่างใด
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.เปรมได้เน้นย้ำเรื่องการทำงานว่าเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ร่วมถึงฝากดูแลชาติบ้านเมือง เพราะกองทัพมีงานเพิ่มขึ้นในการดูแลประเทศชาติ ต้องทำให้ประชาชนได้เห็นว่าเราทำได้และทำได้ดีด้วย อย่างไรก็ตาม พล.อ.เปรม ได้มอบพระสยามเทวาธิราชจำลองพร้อมเนกไทเป็นของที่ระลึก

คสช.จับตางานเสื้อแดง 
       พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษกคสช. ให้สัมภาษณ์กรณีกลุ่มคนเสื้อแดง นัดรวมตัวกันวันที่ 5 ต.ค. ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เพื่อทำบุญนมัสการหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก และร่วมพิธีทำบุญฉลององค์พระกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. เนื่องในวันเกิดว่า เบื้องต้นกำลังตรวจสอบว่ากลุ่มคนดังกล่าวได้ไปพูดคุยรายละเอียดการจัดงานกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่หรือยัง หากเป็นงานบุญไม่มีอะไรแอบแฝงทางการเมืองหรือขัดกฎอัยการศึกก็ไม่น่ามีปัญหา ที่ผ่านมานายจตุพรให้ความร่วมมืออย่างดีในการงดเคลื่อนไหวทางการเมือง

ชาวนาทวงเงินจำนำข้าว-ขู่ปิดถนน
      เวลา 09.00 น. วันที่ 1 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชวนากร ฉิมปาน สมาชิกสภาเกษตรจ.พิจิตร พร้อมกลุ่มเกษตรกรจากจ.พิจิตรและนครสวรรค์กว่า 10 คน ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้นายกฯ สั่งการเร่งรัดเบิกจ่ายเงินให้ชาวนาตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/2557 
        นายชวนากร กล่าวว่า ผ่านมานานกว่า 11 เดือน แต่ชาวนายังไม่ได้รับเงินจากโครงการ ขอให้นายกฯ เร่งรัดอนุมัติจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่เดือดร้อนรวม 121 ราย วงเงิน 20,646,007.01 บาท และขอให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอีกทาง ชาวนาจะรอฟังคำตอบจากรัฐบาลถึงวันที่ 15 ต.ค.นี้ หากยังไม่ชัดเจนจะปิดถนนประท้วงต่อไป
        จากนั้นตัวแทนสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย(อปท.) นำโดยนายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคม และสหพันธ์พนักงานท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ให้รัฐบาลระงับการยกเลิกสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราว และตั้งคณะทำงานที่มีผู้แทนจากส่วน ท้องถิ่นและผู้บริหารเพื่อกำหนดแนวทางแก้ปัญหา สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มอัตราเงินเดือนและค่าจ้างให้ข้าราชการร้อยละ 8-10 แต่ไม่ได้จัดสรรเงินเพิ่มให้กับอปท. จึงต้องปรับลดลูกจ้างชั่วคราว โดยวันที่ 1 ต.ค.มีผู้ถูกเลิกจ้าง 1 หมื่นราย 
      พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวกรณีลูกจ้างอปท. ร้องเรียนเพราะถูกเลิกจ้าง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเข้มงวดการใช้จ่ายงบของอปท.ว่า เป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่มีการปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำ มีแต่งบอุดหนุนเฉพาะที่ต้องดูแลการใช้ไม่ให้ รั่วไหล ส่วนงบประจำที่เกี่ยวกับเงินเดือน ค่าจ้างไม่มีผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล การร้องเรียนต้องไปดูเป็นรายอบต.ไป คงไม่ใช่ทั้งหมด 

มทภ.1 ย้ำคำผบ.ทบ.-ไม่มีปฏิวัติ
     เวลา 06.40 น. วันที่ 1 ต.ค. ที่บก.ทอ. มีพิธีรับ-ส่งหน้าที่ผบ.ทอ. ระหว่างพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ในฐานะผบ.ทอ.คนเก่า กับพล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง เสนาธิการทหารอากาศ ในฐานะผบ.ทอ.คนใหม่ มีพิธีวางพานพุ่มถวายสักการะพระอนุสาวรีย์ จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ จากนั้นลงนามในเอกสารรับ-ส่งหน้าที่ผบ.ทอ. ต่อมาเวลา 07.00 น. พล.อ.อ.ประจิน และพล.อ.อ.ตรีทศ ร่วมพิธีสวนสนามจากภาคพื้นดินและภาคอากาศ ที่ลานอเนกประสงค์ โรงเรียนนายเรืออากาศ การสวนสนามทางอากาศใช้เครื่องบินขับไล่กริพเพนและเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 เข้าร่วมด้วย โดยมีผู้ช่วยทูตทหาร ผู้บังคับบัญชาระดับสูง รวมทั้งข้าราชการของทอ.เข้าร่วมในพิธีอย่างพร้อมเพรียง 
      เวลา 08.00 น. ที่บก.ทร. มีพิธีรับ-ส่งหน้าที่ผบ.ทร. ระหว่างพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร.คนเก่า กับพล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร.คนใหม่ มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่จากหน่วยต่างๆ ของ ทร.เข้าร่วมพิธี พิธีเริ่มด้วยการตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ บริเวณลานหน้าบก.ทร. จากนั้น พล.ร.อ.ณรงค์ มอบการบังคับบัญชาโดยส่งมอบตราประจำตำแหน่งผบ.ทร. และลงนามในสมุดรับส่งหน้าที่ให้แก่พล.ร.อ.ไกรสร ที่ท้องพระโรง พระราชวังเดิม จากนั้นมีพิธีอำลากองทหารเกียรติยศ ยิงสลุต 19 นัด เทิดเกียรติให้แก่พล.ร.อ.ณรงค์ โดยพล.ร.อ.ไกรสร ได้ส่งพล.ร.อ.ณรงค์ เดินทางกลับ ตลอดเส้นทางที่รถของพล.ร.อ.ณรงค์ เคลื่อนผ่าน มีข้าราชการ ทหาร ลูกจ้างและกำลังพลจากหน่วยต่างๆ ยืนมอบดอกไม้
        เวลา 09.00 น. ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วยผบ.ทบ. ทำพิธีรับ-ส่งมอบหน้าที่และการบังคับบัญชาของแม่ทัพภาคที่ 1 ให้ พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ หลังเสร็จพิธี พล.ท.กัมปนาทให้สัมภาษณ์ว่า กองทัพภาคที่ 1 ในฐานะกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) มีหน้าที่หลัก 2 เรื่อง คือ 1.การเตรียมกำลังพลให้พร้อมรบสูงสุด 2.การใช้กำลังในทุกภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ที่สำคัญคืองานรักษาความสงบตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ต้องรักษาสมดุลระหว่างการบริหารราชการแผ่นดินและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์และการปฏิรูป ทั้ง 3 เรื่องเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหัวหน้า คสช.มอบหมายไว้ 
        เมื่อถามว่า จะยกเลิกกฎอัยการศึกในบางพื้นที่หรือไม่ พล.ท.กัมปนาทกล่าวว่า ให้รับนโยบายจากผบ.ทบ.ในวันที่ 6 ต.ค.นี้ก่อน จากนั้นจะมาประชุมที่กองทัพภาคว่าจะดำเนินการอย่างไร การยกเลิกขึ้นอยู่กับนโยบาย ขอให้รัฐบาลและผู้บังคับบัญชาสั่งมาเราพร้อมปฏิบัติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมดุลเรื่องความมั่นคง ปรองดองและปฏิรูปเพื่อให้ประเทศเดินไปได้ สิ่งที่สำคัญคือสถาบัน ตนยอมไม่ได้ถ้าใครจะมาก้าวล่วง 
       เมื่อถามว่าผบ.ทบ.คนใหม่ระบุจะไม่มีการปฏิวัติซ้อน ในฐานะกองทัพภาคที่ 1 ดูแลพื้นที่ภาคกลางและปริมณฑลมองอย่างไร พล.ท.กัมปนาทกล่าวว่า ตนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาและทหารอาชีพ เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ฉะนั้นผบ.ทบ.พูดอย่างไรก็ตามนั้น ยืนยันไม่มีการปฏิวัติอย่างแน่นอน และตนยึดมั่นในสายการบังคับบัญชาทั้งนายกฯ และผบ.ทบ. 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!