- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 01 October 2014 10:21
- Hits: 3674
วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8707 ข่าวสดรายวัน
ท้วง'สปช.'หน้าเดิม-ขัดแย้งเพิ่ม ศาลปกครองนัดชี้วันนี้ สนช.แจงร้องเปิดเซฟ เหตุปปช.2 มาตรฐาน เบรกย้าย44ขรก.ที่ดิน ญาติ 99 ศพยื่นอุทธรณ์
อำลา - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และผบ.ทบ. เดินตรวจแถวกองเกียรติยศในพิธี?จปร.เทิดเกียรติและอำลาชีวิตราชการทหาร?ประจำปี 2557 ที่โรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า จ.นครนายก เมื่อวันที่ 29 ก.ย. |
'บิ๊กตู่'อำลาผบ.ทบ. ส่งไม้ต่อ'บิ๊กโด่ง' เตรียมเยือนพม่าอย่างเป็นทางการชาติแรก แล้วไปร่วมประชุมอาเซม ปธ.สนช.ชี้ไร้รธน.'50 รองรับ ส่งคดีถอดถอนคืนป.ป.ช. ให้ทำสำนวนมาใหม่ ด้านป.ป.ช.เร่งถกถอดถอน'ปู' สนช.ใหม่รายงานตัวแล้ว 16 ราย เพื่อไทยติงสปช.มีแต่หน้าเก่าๆ ห่วงยิ่งทำขัดแย้ง นักวิชาการชี้มีแต่คนร่วมอุดมการณ์'คสช.' มท.เบรกย้าย 44 ขรก.กรมที่ดิน ทนายยื่นอุทธรณ์ข้อหาฆ่า 99 ศพ ต้องขึ้นศาลอาญา
บิ๊กตู่ร่วมพิธีอำลากองทัพ
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) จ.นครนายก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะผบ.ทบ. เป็นประธานในพิธีเทิดเกียรติและอำลาชีวิตราชการทหารของนายทหารชั้นนายพลประจำปี 2557 จำนวน 262 นาย ซึ่งมีตำแหน่งสำคัญ อาทิ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน ในฐานะปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.สนธิศักดิ์ วิทยา เอนกนันท์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. พล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์ด้วย โดยมีพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และเลขาธิการคสช. ในฐานะ รองผบ.ทบ. และคณะนายทหารระดับสูงของกองทัพบกเข้าร่วมอย่างคับคั่ง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวระหว่างร่วมพิธีว่า ตนภูมิใจมาตลอด 38 ปีของการรับราชการ ไม่มีวันไหนไม่ภูมิใจหรือเสียใจที่ต้องเป็นทหาร ซึ่งหลังจากนี้จะถอยหลังจากกองทัพ และไปขับเคลื่อนดูแลกองทัพและประชาชนทั้งประเทศที่มีความสำคัญ ไม่คาดคิดที่จะมาทำตรงนี้ หวังว่ากองทัพจะดูแลให้เข้มแข็ง มีความรักสามัคคี รวมพลังให้เป็นหนึ่งเดียวเหมือนแขนงไผ่ หากแยกกันจะอ่อนแอ หากรวมกันจะเกิดความแข็งแรง และทุกเหล่าทัพต้องเข้มแข็ง ทำงานยึดประโยชน์ส่วนรวมและยึดแนวการทำงานเศรษฐกิจพอเพียง
ย้ำต้องสร้างความเข้าใจ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การสร้างความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศเป็นหนึ่งเดียว เราขัดแย้งกันได้แต่ต้องอยู่ร่วมกันได้โดยสันติวิธี มีประชาธิปไตยที่ถูกต้อง มีสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบ ตลอด 4 ปีในฐานะผบ.ทบ. มุ่งมั่นทำเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชนมาตลอด โดยไม่มีส่วนตัว ไม่มีอำนาจและไม่เคยสร้างอะไร และขอให้ช่วยกันทำให้สังคมมีการพัฒนาเรียนรู้ค่านิยม 12 ประการ หากทำได้ประเทศจะเจริญอย่างแน่นอน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้นั้น ต้องใช้เวลาพอสมควร ไม่ได้บอกว่าการแก้ปัญหาจะต้องจบภายในปีนี้ ฝากบอกคนที่เห็นต่างและ เจ้าหน้าที่ว่าอยากให้จบปีนี้เพื่อเดินหน้าไปพร้อมกับการเปิดประชาคมอาเซียน แต่ทั้งหมดต้องใช้เวลาสร้างความเข้าใจเพื่อให้หยุดสถานการณ์ ที่ผ่านมาอาจพูดแรงไปบ้าง พูดไม่เข้าหูใครบ้าง แม้กระทั่งผู้บังคับบัญชา อยากให้รู้ว่าตนรักทุกคน แต่อะไรที่เป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีที่จะทำให้กองทัพเสียหาย ตนยอมไม่ได้ เราต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่าทำอะไรที่ไม่ดีเพราะมันจะบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ในอนาคต เราจำเป็นต้องทำให้กองทัพเข้มแข็งและทันสมัย และต้องมีอำนาจต่อรอง เราไม่ต้องการรบ แต่เราต้องมีศักยภาพแบบไม่มีตัวตน
"ผมไม่เคยบ่นว่า ท้อแท้หรือเหน็ดเหนื่อย วันนี้เลิกทำหน้าย่นได้แล้ว ทุกคนต้องยิ้ม ส่วนผมคงทำหน้ายิ้มแย้มได้อีกแค่ 2 วัน และต้องตั้งใจทำหน้าที่จากนี้ให้ดีที่สุด และขอให้ทุกคนช่วยกันเดินหน้าทำเพื่อประเทศ" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
ตอบรับเยือนพม่า-ประชุมอาเซม
ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 ก.ย. เวลา 08.00 น. พล.อ.ประยุทธ์มีภารกิจในฐานะผบ.ทบ. ส่งมอบตำแหน่งให้แก่พล.อ.อุดมเดช ว่าที่ผบ.ทบ.คนใหม่ และรมช.กลาโหม ที่กองบัญชาการกองทัพบก(บก.ทบ.) จึงเลื่อนการประชุมครม.ไปประชุมในวันที่ 1 ต.ค. แทน
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า คณะทำงานด้านการต่างประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ ประชุมเพื่อรับทราบการตอบรับของนายกฯที่จะไปเยือนสหภาพพม่า วันที่ 9-10 ต.ค.ตามคำเชิญของรัฐบาลพม่า ในฐานะประธานอาเซียน พร้อมกันนี้นายกฯยังตอบรับไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ระหว่างวันที่ 16-17 ต.ค.นี้ ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นการประชุมด้านเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและยุโรป โดยคณะทำงานจะประสานรายละเอียดต่างๆกับกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า การตอบรับคำเชิญเพื่อเข้าร่วมประชุมอาเซมครั้งนี้ของพล.อ.ประยุทธ์ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะเดินทางไปพบผู้นำของประเทศต่างๆ หลังจากรัฐประหารตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากการประชุมอาเซม จะมีผู้นำจากประเทศต่างๆ ทั้งยุโรปและเอเชียเข้าร่วมประชุม ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์จะถือโอกาสชี้แจงสถานการณ์ภายในประเทศและข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีการสอบถาม
ปปช.เร่งถกคดีถอดถอน"ปู"
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความคืบหน้าการตรวจสอบการจัดซื้อไมโครโฟนทำเนียบรัฐบาลว่า เรื่องอยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะ กรรมการป.ป.ช. มอบให้เจ้าหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงอยู่ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากมีข้อเท็จจริงเพียงพอจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป คาดว่าจะนำเข้าเสนอที่ประชุมได้ กลางเดือนต.ค.นี้
เมื่อถามถึงการส่งเรื่องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้กับสนช. เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า เรื่องที่ยังค้างอยู่ที่สนช. มีอยู่ 2 เรื่อง คือคดีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ซึ่งสนช.พิจารณาได้ทันที และยังเหลืออีก 2 เรื่องที่ยังไม่ได้ส่ง คือ คดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กรณีไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว และคดี ส.ส.-ส.ว. ร่วมกันลงชื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ กรณีที่มาของ ส.ว. เนื่องจากหลังชี้มูลความผิดไปแล้ว เกิดรัฐประหารก่อน โดยที่ประชุมป.ป.ช. เตรียมหารือเรื่องดังกล่าวในวันที่ 30 ก.ย. หากพิจารณาเสร็จจะส่งเรื่องให้กับ สนช.
จ่อชี้คดีมาร์คปิดสถานีดาวเทียม
นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ต้องรอความชัดเจนในที่ประชุมป.ป.ช.วันที่ 30 ก.ย. นี้ว่าจะส่งเลยหรือไม่ แต่ทราบว่า สนช.มีข้อบังคับเรื่องถอดถอน ดังนั้นป.ป.ช. ต้องดูรายละเอียดอีกครั้งว่าเข้าพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช.หรือไม่ ส่วนคดีระบายข้าวให้กับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ปรับปรุงข้าว เพื่อส่งมอบแก่อินโดนีเซีย 3 แสนตัน โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรมว.พาณิชย์ มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น อยู่ระหว่างไต่สวน โดยไต่สวนนัดแรกไปแล้วในวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ มาให้ถ้อยคำต่อป.ป.ช.ในฐานะผู้ร้องและพยาน ส่วนพ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ซึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหาคดีระบายข้าวนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งป.ป.ช.รออยู่
รายงานข่าวจากป.ป.ช.เผยว่า ในวันที่ 30 ก.ย. ที่ประชุมป.ป.ช. ยังจะพิจารณาคดีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ กรณีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ในการออกคำสั่งปิดสถานีดาวเทียม หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกทม. และปริมณฑล เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 ทำให้เว็บไซต์ 36 แห่งภายในประเทศ และเว็บไซต์ดาวเทียมต่างประเทศ 15 ประเทศใช้งานไม่ได้ และยังระงับการเสนอข่าวหรือรายการทางวิทยุโทรทัศน์ และสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีเพิลแชลเนล ถือเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรองรับ ทั้งนี้หากที่ประชุมป.ป.ช.เห็นว่าข้อมูลที่คณะอนุกรรมการไต่สวนส่งมามีความสมบูรณ์เพียงพอแล้ว ก็พิจารณาชี้มูลความผิดได้ทันที
ส่งปปช.ทำสำนวนถอดถอนใหม่
ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงผลการหารือกับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 และนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 ถึงการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า วันนี้จะให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสนช. ทำหนังสือเพื่อส่งคืนสำนวนและการรายงานพิจารณาคดีการถอดถอนนายนิคม และถอดถอนนายสมศักดิ์ ที่ป.ป.ช.เคยส่งมายังวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ก่อนรัฐประหาร เพื่อให้ป.ป.ช. พิจารณาข้อกฎหมายใหม่ เพราะสำนวนเก่าอ้างตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ปัจจุบันไม่มีรัฐธรรมนูญปี 2550 บังคับใช้แล้ว และป.ป.ช.จะอ้างกฎหมายใดต้องพิจารณาให้ครบถ้วน ซึ่งไม่ทราบว่าป.ป.ช.จะยื่นสำนวนกลับมาใหม่ รวมกับสำนวนการถอดถอนอดีตส.ว. 36 คน และการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่
นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ป.ป.ช.ต้องไปตรวจสอบและทำสำนวนใหม่ให้เชื่อมโยงกับกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. ให้เชื่อมโยงกับอำนาจการถอดถอนของสนช.อีกด้วย หากทำได้ก็ส่งเรื่องกลับมาให้สนช.เพื่อถอดถอนต่อไป นอกจากนี้ยังได้หารือกับกับประธาน และรองประธานคนที่ 1 ถึงเรื่องสัดส่วนกรรมาธิการ (กมธ.) ทั้ง 16 คณะ เบื้องต้นได้หารือคร่าวๆ ว่า จะให้พลเรือนเป็นประธานกมธ.บางคณะ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม เช่น กมธ.สาธารณสุข กมธ.ท้องถิ่น และกมธ.กฎหมาย ส่วนนายทหารที่เป็นสนช. และยังรับราชการอาจไม่สามารถทำหน้าที่ประธานได้
รายงานตัว - พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 เดินทางมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา หลังได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นสนช. ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 29 ก.ย. |
28 สนช.ใหม่รายงานตัวแล้ว 16
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ สนช. เปิดให้สมาชิก สนช. ที่เพิ่งได้ รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งเพิ่มเติมอีก 28 คน เข้ารายงานตัว ที่ห้องโถง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา 2 ปรากฏว่ามีสนช.ทยอยข้ามารายงานตัว โดยนายแถมสิน รัตนพันธ์ อดีตสนช.ปี 2549 เข้ารายงานตัวเป็นคนแรก รวมทั้งวันมีผู้เข้ารายงานตัว 16 คน จากทั้งหมด 28 คน ทั้งนี้จะเปิดรับรายงานตัวถึงวันที่ 1 ต.ค. ตั้งแต่เวลา 08.30 น.เป็นต้นไป
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. กล่าวว่า สมาชิกสนช. ที่ได้รับการแต่งตั้งเพิ่มเติมทั้ง 28 คน หากมารายงานตัวเสร็จภายในวันที่ 1 ต.ค. จะต้องทำพิธีปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้การทำงานของ สนช.เป็นไปในทิศทางที่ดีต่อการพิจารณากฎหมาย และไม่ทำให้เกิดปัญหาที่ซ้ำซ้อนต่อการทำงานของสนช. เพราะมีสมาชิกครบ 220 คน ส่วนการประชุมสนช.ในวันที่ 2-3 ต.ค.จะมีผลต่อการพ้นสภาพของ สนช.หากขาดการประชุมเกิน 1 ใน 3 ครั้ง
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 กล่าวถึงสัดส่วน สนช.ที่ได้รับการแต่งตั้งเพิ่ม มีทหาร 17 นายว่า ขอให้พิจารณาแยกกลุ่มเป็น 2 กรณี คือที่ยังรับราชการและนอกราชการ บุคคลเหล่านี้อาจมีความเชี่ยวชาญมากกว่าพลเรือน ยืนยันว่าจะทำงานอิสระ การพิจารณาออกกฎหมายจะทำอย่างรอบคอบ และจะเชิญคนนอกมาร่วมทำงานในกมธ.พิจารณากฎหมายให้มากขึ้น ส่วนรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็น กลุ่มคนตรงข้ามรัฐบาลเดิมว่า ยังไม่ทราบว่ามีใครบ้าง อย่าเพิ่งวิจารณ์
สภาพร้อมรับสปช.รายงานตัว
นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสปช. กล่าวว่า ขณะนี้สภาเตรียมพร้อมรองรับการทำงานของ สปช.แล้ว และเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง สปช.ทั้ง 250 คน จะให้เข้ารายงานตัวในวันรุ่งขึ้นทันที รวมทั้งได้เตรียมบุคลากรไว้พร้อมสนับสนุน งานของสปช. ทั้งการตั้งกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และการตั้งกมธ. 11 คณะ พร้อมทั้งเตรียม งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบของสภาผู้แทนราษฎรในปี 2557 มาใช้ดำเนินการ
นายจเร กล่าวว่า สำหรับการประชุมนัดแรกของ สปช. จะหารือเพื่อเลือกประธานและรองประธาน โดยใช้ข้อบังคับการประชุมของ สนช.ไปก่อน จากนั้นค่อยยกร่างข้อบังคับการประชุม สปช.อีกครั้ง ซึ่งเนื้อหาจะใกล้เคียงกับข้อบังคับการประชุม สนช. ส่วนการกำหนดวันประชุมสปช.นั้น ขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะพิจารณา เมื่อถามว่าสปช.ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ นายจเรกล่าวว่า สถานะของ สปช.ไม่ได้เป็นทั้งส.ส. และส.ว. จึงขึ้นอยู่กับป.ป.ช. จะพิจารณา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศบริเวณห้องโถงอาคารรัฐสภา 1 มีการเตรียมสถานที่รับรายงานตัวของสมาชิก สปช.ไว้แล้ว
"บิ๊กป๊อก"ยันไม่มีล็อกสเป๊ก
ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงรายชื่อ สปช.ที่ปรากฏออกมาแล้วว่า ต้องตอบว่าดี ตนถือว่าผ่านการพิจารณามาอย่างดี และสังคมไม่ต้องห่วงใยเรื่องการล็อกสเป๊กไม่มีแน่นอน ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่ผ่านการคัดเลือก ดูแล้วว่าน่าจะสร้างสรรค์และปฏิรูปในทุกแนวทางได้ ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นมีตัวแทนจากผู้มีประสบการณ์ทุกฝ่ายทั้งนักวิชาการ ผู้มีประสบการณ์ อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงมหาดไทยและทุกด้าน หวังว่าจะปฏิบัติหน้าที่ได้ตามเป้าหมายการ ปฏิรูปของคสช.
เมื่อถามว่ามีอดีตส.ว.บางคนจะยื่นร้องต่อศาลปกครองให้ชะลอการประกาศรายชื่อสปช.ออกไปก่อน พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ตนไม่มีความเห็น ใครทำอะไรได้ตามกฎหมายก็ทำไป ยืนยันว่าได้พิจารณาอย่างดีแล้ว เมื่อถามว่ายังมีเสียงวิจารณ์ว่ารายชื่อยังเป็นคนกลุ่มเดิม พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า มันไม่มีคำว่ากลุ่มเดิม เรายังมีการปฏิรูปกันยืนยันว่าการดำเนินการทุกอย่างโปร่งใสและรอบคอบ น่าจะออกมาดี
กกต.รับได้ไม่มีชื่อร่วมปฏิรูป
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวว่า ไม่ผิดหวังแม้จะพบว่าบุคคลที่องค์กรอิสระเสนอชื่อไม่ได้รับการคัดเลือก เพราะต้องยอมรับดุลพินิจของคสช. ซึ่งคงพิจารณาดีที่สุดแล้ว ทั้งนี้ คงไม่มีผลต่อการปฏิรูป โดยกกต.ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ต้องดูว่าจะเสนอแนวความคิดปฏิรูปได้หรือไม่ กกต.ก็เตรียมแผนปฏิรูปของกกต.เพื่อเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะการปฏิรูปคือการทำให้ดีขึ้น ทำให้ทุกอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ไม่อยากให้มองว่าการไม่มีตัวแทนองค์กรอิสระเป็น สปช. เพราะคสช.ต้องการปฏิรูปหรือปรับเปลี่ยนภายในองค์กรอิสระแต่ควรต้องมองในแง่ดีว่าปฏิรูปแล้วจะดีขึ้น
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า การที่คนขององค์กรอิสระไม่ได้รับการคัดเลือก น่าจะเกี่ยวกับการปฏิรูปองค์กรอิสระ จึงไม่อยากให้เข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ส่วนตนจะยังคงบทบาทในการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะในประเด็นการปฏิรูปที่เป็นประโยชน์ต่อไป เมื่อถามว่ารู้ผิดหวังหรือไม่เนื่องจากก่อนหน้านี้เหมือนมั่นใจว่าต้องได้รับเลือก นายสมชัยกล่าวว่า สื่อมั่นใจไปเอง
อลงกรณ์ ปัดให้ความเห็นชื่อโผล่
นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงมีชื่อเป็นสมาชิกสปช.ว่า ทราบข่าวจากสื่อว่ามีชื่อเป็นสปช.ด้านพลังงาน จึงยังไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร เพราะไม่มีที่มาที่ไปของรายชื่อเหล่านี้ หรือตรวจสอบไม่ได้ จึงไม่ขอให้ความเห็นใดๆ ขอรอความชัดเจนในแหล่งที่มาของรายชื่อเหล่านี้ก่อนว่าเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าปชป. กล่าวว่า อย่ากังวลว่ารายชื่อเหล่านี้จะเป็นใคร เพราะการปฏิรูปประเทศอยู่ในแนวทางของคสช. ส่วนที่มีรายชื่อนักการเมืองหลายคน เช่น นายชัย ชิดชอบ อดีตประธานสภา มาเป็นสปช.ด้วยนั้น ตนไม่อยากวิจารณ์ตัวบุคคล แต่ช่วงหลังสังคมก็เรียกร้องให้นักการเมืองเข้าไปปฏิรูปประเทศ กรณีที่มีรายชื่อนายอลงกรณ์ ถือเป็นสิทธิ ต้องยอมรับว่าการเข้าไปเป็นสปช.แล้ว จะไม่มีอิสระไม่สามารถนำเสนอความคิดเห็นของตนได้ ทั้งนี้น่าสนใจคือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่ามีใครบ้างเพราะเป็นคนกำหนดแนวทางทั้งหมด ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดว่า กมธ.ยกร่างต้องมาจากคสช. ส่วนหนึ่ง และครม.ส่วนหนึ่ง
เพื่อไทยติงมีแต่คนหน้าเดิม
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล กรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงรายชื่อ สปช.ว่า รู้สึกผิดหวังเพราะคาดหวังไว้มากที่พล.อ.ประยุทธ์บอก สุดท้ายก็เป็นคนหน้าเดิมและเป็นทีมงานเดียวกับคสช. ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ดังนั้นแนวทางการปฏิรูปคงออกมาไม่ดี เพราะยังยึดติดกับความคิดแบบเดิม ปฏิรูปในมุมที่อีกฝ่ายต้องการ ประเทศชาติและประชาชนคงไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก นอกจากนี้การปฏิรูปอาจล้าสมัย ปัญหาไม่ได้รับการคลี่คลาย ซ้ำอาจเพิ่มปัญหาเหมือนอยู่ในวังวนเดิมๆ ท้ายที่สุดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องไปแก้ พอแก้เดี๋ยวก็มีปฏิวัติอีก ทั้งนี้ขอดูการทำงานก่อน ที่สำคัญคือขอให้สปช.เดินตามโรดแม็ป อย่าประวิงเวลาให้ยาวออกไป เพราะประเทศชาติต้องเดินหน้าและต้องเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของคนที่เห็นต่าง ไม่ใช่เอาความเห็นของตัวเองเป็นที่ตั้ง
นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พท. กล่าวว่า คสช.แต่งตั้งสปช.จากคนหน้าเดิม ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทย จะเห็นว่ากลุ่ม 40 ส.ว.เข้ามาเยอะมาก ไม่เข้าใจว่าคสช.ต้องการให้บ้านเมืองสงบ หรือเกิดวิกฤตอีกครั้ง เกรงว่าการปฏิรูปจะล้มเหลวสูญเปล่า ในอดีตเรารู้อยู่แล้วอะไรคืออะไร ไม่อยากให้เกิดปัญหาซ้ำอีกในอนาคต ขอฝากสภาปฏิรูปให้เขียนกติกาสำคัญไว้สักข้อ ระบุให้ชัดว่าต่อไปถ้าพรรคการเมืองไหนไม่ส่งคนลงสมัครเลือกตั้ง ให้ตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี
อดีตส.ว.ห่วงใช้กม.ห้ำหั่นกัน
นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พท. และแกนนำ นปช. กล่าวว่า รายชื่อสปช.ที่ออกมานั้น ไม่ว่าจะมาจากค่ายไหน ต้องทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ซื่อตรง และให้ดูบทเรียนจากการทำรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับสร้างปัญหามากขึ้น มาถึงครั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ต้องไม่ทำให้การยึดอำนาจเสียเปล่า ดังนั้นต้องให้ สปช.ปฏิรูปในทุกด้านอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะด้านกระบวนการยุติธรรม ต้องทำให้การบังคับใช้กฎหมายเท่าเทียมกัน ส่วนสปช.บางคนที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายต่อต้าน นปช. และพรรคเพื่อไทยนั้น อยากฝากว่า สังคมประชาชนจับตามองอย่างใกล้ชิด หากทำอะไรไม่ดี ทำสิ่งที่ซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่แล้วให้หนักขึ้น ประชาชนจะรับไม่ได้ ถ้าสปช.เข้ามาทำงานแล้วสร้างปัญหาอีก จะทำให้ประเทศชาติเสียหาย สปช.จะต้องตั้งใจทำหน้าที่ให้ดี
อำลา - พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. และรมว.พม. ตรวจเยี่ยมและอำลาหน่วยกองบินตำรวจ ซึ่งจัดพิธีสวนสนามกองเกียรติยศเพื่อเทิดเกียรติและอำลาชีวิตราชการตำรวจประจำปี 2557 ที่กองบินตำรวจ ถ.รามอินทรา เมื่อวันที่ 29 ก.ย. |
นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตส.ว.อุทัยธานี ในฐานะผู้สมัครรับการสรรหาสปช. ด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่า รายชื่อที่หลุดมา มีลักษณะเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน จึงไม่ใช่เรื่องผิดแปลก เข้าใจได้ว่า คสช. จำเป็นต้องเลือกคนที่มีแนวคิดเดียวกัน เพื่อทำหน้าที่ปฏิรูปให้สอดคล้องไปตามโรดแม็ปที่วางไว้ ซึ่งอยากฝากว่าที่สปช.ว่า การปฏิรูปควรดำเนินการตามหลักกฎหมาย สปช.ทุกคนต้องคำนึงคำว่า ปรองดอง สมานฉันท์ และความร่วมมือกัน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคสช.ที่ต้องการสร้างความปรองดอง อย่าใช้กฎหมายเข้าห้ำหั่นกัน
นักวิชาการชี้มีแต่คนแนว"คสช."
นายปราชญ์ ปัญจคุณาธร อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงรายชื่อสปช.ทั้ง 250 คนว่า ไม่ใช่เรื่องผิดคาด ที่รายชื่อว่าที่สมาชิกสปช.ทั้งหมด คือกลุ่มที่มีอุดมการณ์เดียวกับคสช. เพราะ คสช.จำเป็นต้องเลือกบุคคลที่มีความเห็นในทางเดียวกันอยู่แล้ว เพื่อควบคุมได้ เนื่องจากสปช.มีหน้าที่ปฏิรูปด้านต่างๆ ตลอดจนการลงมติเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่สิ่งที่แปลกใจคือ คสช. กล้าคัดสรรบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่เหมือนกันมากเพื่อเป็นสปช. เหมือนการคัดเลือกสนช.ที่กล้าแต่งตั้งทหารเข้ามามากกว่าครึ่งหนึ่ง
นายปราชญ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังทำให้เรารู้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับถัดไปจะไม่มีความชอบธรรม เพราะผ่านการทำหน้าที่จากสปช.ตรายาง ส่วนเนื้อหาจะลดทอนความเป็นประชาธิปไตย แต่จะสร้างคุณค่าให้กับกองทัพและองค์กรทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งให้สูงกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมผลิตค่านิยมความเป็นคนดี คนเก่ง และประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ตาม นิยามของคสช.ฝ่ายเดียว
เรียกร้องสิทธิแสดงความเห็น
"ไม่เชื่อว่าคสช.จะเปิดโอกาสหรือพื้นที่ให้นักวิชาการหรือประชาชนได้วิจารณ์ ตามที่ คสช. เคยระบุว่าขอให้มีสปช.ก่อนจึงจะให้วิจารณ์ เพราะที่ผ่านมาคสช.ไม่เคยสร้างความเชื่อใจได้เลย ไม่ว่าการยกเลิกกฎอัยการศึกที่หลายคนเชื่อว่าเมื่อมีรัฐบาลแล้วจะยกเลิก หรือการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะที่ต่างเคยเชื่อว่า เมื่อมีรัฐบาล นักวิชาการและประชาชนจะมีพื้นที่แสดงความคิดเห็น ทั้งหมดไม่เคยเกิดขึ้น" นายปราชญ์กล่าว
นายปราชญ์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นการแสดงความคิดเห็นจึงไม่ใช่เรื่องต้องมีสปช.ก่อนหรือไม่ จึงอยากเรียกร้องให้นักวิชาการและประชาชนทุกคนอย่ากลัวที่จะแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะตามสิทธิขั้นพื้นฐาน เหมือนที่เราทำได้อย่างปกติในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา" นายปราชญ์กล่าว
กสม.ถกปิดกั้นเสรีภาพวิชาการ
ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นประธานประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริงและแสวงหาแนวทางดำเนินการ จากกรณี คสช.ขอความร่วมมือศูนย์ทนายความเพื่อ สิทธิมนุยชน งดกิจกรรมแถลงข่าวและเสวนา "ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง" ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ วันที่ 2 ก.ย. กรณีขอความร่วมมือกลุ่มธรรมศาสตร์เพื่อประชาธิปไตย งดจัดกิจกรรม ห้องเรียนประชาธิปไตย บทที่ 2 เรื่อง"การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 13 ก.ย. รวมทั้งกรณีขอให้ยกเลิกจัดกิจกรรมทางวิชาการ "ความสุขและความปรองดอง ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 57" ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 ก.ย.
โดยมีนางกัญญา หิรัณย์วัฒนพงศ์ ผู้ช่วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายเอกชัย ไชยนุวัติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม นายพิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มธรรมศาสตร์เพื่อประชาธิปไตย เข้าร่วมประชุม
น.ศ.แฉตร.ถามรับเงินแม้วรึเปล่า
คณะอนุกรรมการได้สอบถามตัวแทนนักศึกษา ถึงเหตุการณ์ที่ถูกสั่งงดการจัดเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว โดยตัวแทนนักศึกษา เล่าว่า หลังจากเจ้าหน้าที่เข้ามาขอให้งดจัดเสวนาแล้วได้นำตัวนักศึกษาที่เป็นผู้จัดงานและอาจารย์ที่เป็นวิทยากรไปที่สถานีตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้นักศึกษากรอกประวัติและซักถามข้อมูลส่วนตัว และยังถามในทำนองว่ารับเงินจากพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรหรือไม่ หอพักอยู่ที่ไหนห้องอะไร อีกทั้งสังเกตได้ว่ามีเจ้าหน้าที่นอก เครื่องแบบแฝงตัวอยู่ในมหาวิทยาลัย เพื่อ คอยดูว่านักศึกษาจะจัดกิจกรรมอะไร ด้านอนุกรรมการจึงให้อาจารย์ที่เป็นตัวแทน จากม.ธรรมศาสตร์ แจ้งผู้บริหารให้ทราบเรื่องเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง
นางกัญญา กล่าวว่า เมื่อมีการตั้งรัฐบาลและแถลงนโยบายเรียบร้อย ตนเห็นว่ามันน่าจะเป็นช่องทางที่ดีที่จะให้นักศึกษาและประชาชนคุยกันถึงกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ให้ความรู้ รัฐธรรมนูญชั่วคราวระบุว่าประชาชนมีสิทธิแสวงหาความรู้ ซึ่งประชาชนกับนักศึกษาไม่แตกต่างกัน การเอาสาธารณชนเข้ามาร่วมฟังน่าจะเกิดประโยชน์ ซึ่งการสั่งระงับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรงและละเมิดรัฐธรรมนูญชั่วคราวเสียเอง
อจ.ชี้คุกคามอย่างเป็นทางการ
นายสมชาย กล่าวว่า ถึงตอนนี้น่าจะตระหนักได้แล้วว่ามีการคุกคามเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ การจัดเสวนาที่ธรรมศาสตร์และเชียงใหม่ไม่ได้นั้น ทำให้ตนโกรธมาก ตนจึงเตรียมจัดเสวนาเรื่องปี๊บ โดยไม่ขออนุญาตจากมหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อแสดงให้เห็นว่าเสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งที่นำเสนอได้ แต่ต่อมามีเจ้าหน้าที่ทหารระดับนายพันมาพูดคุยกับตนพร้อมคณบดีคณะนิติศาสตร์ว่าขอความร่วมมือให้งดจัดงานดังกล่าว ตนจึงกล่าวว่าหากจะไม่ให้จัด ต้องทำหนังสืออย่างเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งมา ซึ่งตอนแรกเจ้าหน้าที่จะไม่ยอม พอตนยืนยันว่าจะจัด สุดท้ายก็ยอมออกหนังสือ
นายสมชาย กล่าวว่า สิ่งที่ตนเรียกร้องคือการแสดงออกเสรีภาพและความคิดเห็นเป็นของทุกคน ไม่เฉพาะนักวิชาการหรือนักศึกษา ถ้าออกกฎหมายไม่เข้าท่า ทุกคนต้องมีสิทธิแสดงความเห็น เพราะตอนนี้เหมือนกฎหมายคิดเองเออเอง คล้ายรับคำสั่งจากคณะรัฐประหารมากกว่า โดยเฉพาะกฎอัยการศึกที่ยังใช้อยู่ ทั้งที่การประกาศใช้ต้องเฉพาะเกิดเหตุจลาจลหรือเกิดภัยคุกคามที่เห็นได้ชัด คำถามคือมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เหมือนมโนกันเอาเอง ตนไม่เห็นเหตุผลว่ากฎหมายนี้ต้องใช้อยู่ จึงขอเสนอให้กสม.ช่วยแสดงต่อสังคมโลกว่าการที่นักศึกษาและอาจารย์ต่างๆ เคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้กำลังถูกคุกคาม ต้องแสดงให้เห็นว่าระบอบเผด็จการยังคงอยู่ เพราะกสม.ในฐานะองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนจำเป็นต้องพูดสิ่งเหล่านี้
กสม.ปัดยอมรับอำนาจทหาร
นายเอกชัยกล่าวว่า ภายใต้ข้อจำกัดทางการเมืองตอนนี้ รู้ว่าอะไรพูดได้และไม่ได้ งานเสวนาที่ผ่านมาถูกกำชับจากผู้จัดงานว่าอยากให้พูดในประเด็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เน้นปรองดองที่เกิดขึ้นในอนาคต ไม่ได้พูดว่าใครถูกใครผิด แต่งานเสวนาที่เชียงใหม่ก็ยังถูกยกเลิก ทหารและรัฐบาลมีอำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพได้ในภาวะฉุกเฉิน แต่ขณะนี้รัฐประหารมันจบสิ้นไปแล้ว จึงต้องถามว่าอะไรคือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เราจะใช้ได้ คสช.ควรประกาศเป็นนโบายให้ชัดเจนเรื่องข้อจำกัด มหาวิทยาลัยจะได้รู้ว่าอะไรสอนได้และสอนไม่ได้
ด้านนพ.นิรันดร์กล่าวว่า กสม.มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องสะท้อนปัญหาให้รัฐรับรู้ถึงการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ กสม.ไม่ได้ยอมให้กับอำนาจของทหารอย่างที่เข้าใจ เพียงแต่มีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง การประชุมวันนี้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจไม่มาแจ้งว่าติดภารกิจ กสม.ต้องเชิญมาในภายหลังเพราะต้องฟังข้อมูลทุกด้าน จากนี้กสม.จะทำหนังสือถึงนายกฯ รมว.ศึกษาธิการ และอธิการบดีที่เกี่ยวข้อง เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ยืนยันว่ากสม.เป็นอิสระจากทุกฝ่าย ซึ่งมีหลักการและเหตุผลปกป้องสิทธิมนุษยชน
มธ.ชี้สังคมไร้ระบบตรวจสอบ
ที่ห้องประชุม 101 คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) คณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับสมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แถลงเปิดงานโครงการติดตามเศรษฐกิจไทย Thammaat Economic Focus (TEF) ครั้งที่ 1 เรื่องนโยบายเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลใหม่ : อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ โดยมีอาจาย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ประกอบด้วย นายชนินทร์ ว่องกุศลกิจ นายสกนธ์ วรัญญวัฒนา นายพรายพล คุ้มทรัพย์ น.ส.ปัทมาวดี โพชนุกูล นายอาชนัน เกาะไพบูลย์ และนายอภิชาต สถิตนิรามัย และนายปกป้อง จันวิทย์ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นนโยบายการคลัง การเกษตร พลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม และการกระจายอำนาจ
นายปกป้องกล่าวว่า คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. มีบทบาทติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจมาตลอด ซึ่งภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร สังคมไม่มีระบบการตรวจสอบ ประจวบเหมาะกับช่วงที่รัฐบาลเข้าสู่โหมดการร่างรัฐธรรมนูญ สถาบันการศึกษาจึงควรทำหน้าที่จับตาการทำงานของรัฐบาล โดยใช้หลักวิชาการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ในฐานะที่มหาวิทยาลัยมีบทบาทเป็นป้อมปราการทางปัญญา ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่นี้ได้ต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ การแสดงความเห็นและการแสดงออก
ห่วงมายาคติเหมา"อปท."ไม่ดี
ด้านนายอภิชาตกล่าวว่า เสนอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งหลังรัฐประหาร ปรากฏมายาคติเกี่ยวกับการกระจายอำนาจคือ เหมารวมว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งหมดไม่ดี มองไม่เห็นความหลากหลายของผลงานและความสามารถของอปท.ในแต่ละพื้นที่ และยังมีมายาคติว่าท้องถิ่นถูกครอบงำผูกขาดการซื้อเสียงโดยเจ้าพ่อ แม้การซื้อเสียงจะแพร่หลายแต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดชัยชนะในการเลือกตั้งท้องถิ่น ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรเชื่อมายาคติ 2 ประการนี้ ไม่ควรแช่แข็งการเลือกตั้งโดยใช้วิธีแต่งตั้งข้าราชการทำหน้าที่แทนผู้บริหาร อปท.ที่ครบวาระ จะส่งผลให้ อปท.ที่มาจากการแต่งตั้งไม่ต้องรับผิดต่อพื้นที่ และผลงานไม่ออกมาตามความต้องการของประชาชน รัฐบาลควรใช้วิธีเลือกตั้ง อปท.ที่หมดวาระไปโดยเร็วที่สุด และควรเพิ่มกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น เช่น แก้ไขกฎเกณฑ์จำนวยรายชื่อการเข้าชื่อให้น้อยลง เพราะการกำหนดจำนวนชื่อมาก ทำให้กระบวนการถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นเป็นไปได้ยาก
"การกระจายอำนาจในท้องถิ่น เป็นการป้องกันการรัฐประหารในอนาคตด้วย นอกจาก ระดับท้องถิ่นแล้ว ระดับชาติต้องเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เพราะเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดของประชาธิปไตย" นายอภิชาตกล่าว
ศาลเลื่อนคดีกบฏ-4แกน"กปปส."
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 29 ก.ย. ที่ห้องพิจารณา 902 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำ อ.1191/2557, อ.1298/2557, อ.1328/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม อายุ 52 ปี และนายสกลธี ภัททิยกุล อายุ 37 ปี แกนนำกปปส. นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อายุ 63 ปี อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนายเสรี วงษ์มณฑา อายุ 65 ปี แกนนำกลุ่ม กปปส. เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, ซ่องโจร, ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ, ขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 209, 210, 215, 362, 364, 365 และพ.ร.บ.ว่าด้วยเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. จากกรณีร่วมชุมนุมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ต่อต้านรัฐบาลพาผู้ชุมนุมบุกรุกและปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง เพื่อกดดันให้รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออก
โดยวันนี้จำเลยทั้ง 4 และทนายความเดินทางมาศาล ต่อมาอัยการโจทก์แถลงต่อศาลว่าได้รับการประสานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ขณะนี้ยังแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้ง 51 รายไม่เสร็จ คาดว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาได้ครบภายในสิ้นเดือนพ.ย.นี้ จึงขอเลื่อนนัดออกไปก่อน ศาลสอบถามทนายจำเลยแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐาน เป็นวันที่ 3 ธ.ค.นี้ เวลา 13.00 น. พร้อมให้คู่ความยื่นบัญชีพยานในนัดหน้าด้วย
ญาติยื่นแล้ว-อุทธรณ์คดี 99 ศพ
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่ศาลอาญา นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของนายสมร ไหมทอง ผู้บาดเจ็บ และนางหนูชิด คำกอง ภรรยาของนายพัน คำกอง ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ในฐานะโจทก์ร่วม เข้ายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 ที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่น และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 84, 83 และ 80 จากกรณีที่ ศอฉ.มีคำสั่งขอคืนพื้นที่กลุ่มนปช.
นายโชคชัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบกฎหมายและอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดไว้ชัดเจนว่า ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนคดีที่เกี่ยวกับการทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เช่น ทุจริต ส่วนศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยมี ป.ป.ช.เป็นผู้ไต่สวน แต่ข้อหาที่อัยการโจทก์ฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ไม่ใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่เป็นความผิดต่อชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 มีโทษหนักและสูงกว่า หากจะดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพียงข้อหาเดียว ย่อมไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหาย
"แม้จำเลยทั้งสองจะกระทำในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ และรองนายกฯ แต่ก็เป็นความผิดนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ เพราะไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้สั่งการและนำมาสู่การเสียชีวิตใดๆ ทั้งสิ้น ข้อหาฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288 จึงไม่ใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เพียงแต่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ และรองนายกฯ" นายโชคชัยกล่าว
ทนายความญาติผู้ตายกล่าวต่อว่า โจทก์ร่วมทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลอาญา จึงขออุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลอาญาในประเด็นข้อกฎหมาย โดยขอถือเอาความเห็นแย้งของนายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และอุทธรณ์ของพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองด้วย จึงขอให้ศาลอุทธรณ์โปรดพิจารณาพิพากษากลับคำสั่งของศาลอาญา และให้ศาลอาญารับคดีนี้ไว้พิจารณาและให้รับคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม
ทส.ป๋าชี้สนช.ต้านเปิดเซฟปมกม.
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ และนายทหารคนสนิทของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในฐานะว่าที่สมาชิกสนช. กล่าวถึงสนช.กลุ่มหนึ่งยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่ามติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้สนช.ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า เข้าใจบุคคลที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนด มันอยู่ที่การตีความ จึงไม่มีใครผิดถูก แต่ส่วนตัวหากตนเข้ามาทำหน้าที่เป็นสนช.นั้น การยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไม่มีปัญหา การเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ต้องถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดาสนช.ที่เข้าชื่อร้องศาลปกครองกรณีดังกล่าวให้สัมภาษณ์ใน วันเดียวกันนี้โดยยืนยันว่า เหตุที่ยื่นร้องเพราะเป็นปัญหาไม่ชัดเจนในด้านข้อกฎหมาย และมีแนวโน้มว่าเป็นกรณีที่ป.ป.ช.ใช้อำนาจเกินควร รวมทั้งทำให้เกิด 2 มาตรฐานอย่างชัดเจน โดยเห็นได้ว่า กรณีผู้เข้าปฏิบัติหน้าที่ในคสช.นั้น ป.ป.ช.ตีความว่าไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่จำเป็นต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน แต่ผู้ทำหน้าที่สนช.กลับมีตีความต่างกันไปจากป.ป.ช. โดยกรณีนี้กลับชี้ว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องเปิดบัญชีทรัพย์สิน แสดงให้เห็นว่าป.ป.ช.ปฏิบัติกับคสช.อย่างหนึ่ง แต่ใช้บรรทัดฐานที่ต่างกันกับสนช. ถือว่าเป็นการใช้อำนาจเกินควรและจงใจปฏิบัติอย่างแตกต่างกัน ดังนั้นสนช.ในฐานะที่เป็นสถาบันด้านนิติบัญญัติ จึงเห็นว่าไม่ควรถูกปฏิบัติจากป.ป.ช.โดยไม่ยึดข้อกฎหมายอย่างเสมอภาคเป็นธรรม นอกจากนี้ยังจะเห็นได้ว่าในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็ไม่ได้บัญญัติเอาไว้แต่อย่างใด ขอยืนยันว่าสนช.ไม่ได้เกรงกลัวเรื่องเปิดบัญชีทรัพย์สิน แต่ยอมรับไม่ได้กับการใช้อำนาจไม่ถูกต้องและ 2 มาตรฐานจากป.ป.ช. ซึ่งเป็นสาเหตุที่บ้านเมืองแตกแยกมายาวนานหลายปี จึงต้องยุติปัญหานี้ให้ได้ โดยการพึ่งการตีความจากศาลปกครองเพื่อให้เกิดความชัดเจน
ที่สำนักงานป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช.กล่าวว่า เท่าที่ทราบสนช.ยื่นฟ้องขอให้ศาลวางบรรทัดฐานในคำสั่งทางปกครอง ไม่ได้ขอทุเลาเรื่องการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่สนช.อาจเห็นว่าเป็นคำสั่งทางปกครองที่กระทบอยู่ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองได้ เป็นเรื่องของการตีความ โดยวันที่ 30 ก.ย.นี้ ศาลจะพิจารณาว่ารับคำร้องหรือไม่ หากศาลปกครองมีคำสั่งอย่างไร ป.ป.ช.ก็ต้องปฏิบัติตาม
เมื่อถามถึงสมาชิกสปช.จะต้องยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินฯหรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่มีความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ของสปช. ต้องรอดูความชัดเจนก่อน จึงจะพิจารณาได้ว่าเข้าข่ายในกฎหมายของป.ป.ช. และต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยหรือไม่
นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช.กล่าวว่า ถือเป็นสิทธิของสมาชิกสนช. เพราะมีหลายคนคิดว่าไม่ใช่ ถือเป็นเรื่องดีเพื่อให้เกิดเป็นบรรทัดฐาน ขอให้รอศาลปกครองวันที่ 30 ก.ย.ดีกว่า