- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 29 September 2014 12:39
- Hits: 3333
เปิดรายชื่อ 173 สปช. 'บวรศักดิ์'นำทีม-รสนาร่วมด้วย บิ๊กตู่แจงไม่ปิดกั้นวปอ. ยันไร้กม.ห้ามนั่ง"สปช." "ธนะศักดิ์"แถลงที่ยูเอ็น แฉเหตุปว.ย้ำคืนปชต.
มติชนออนไลน์ : 'บิ๊กตู่'ปัดล็อกสเปกตั้ง สปช. ลั่นไม่ทบทวน 250 รายชื่อ โต้ วปอ.นั่งสภาปฏิรูป กกต.ยันกฎหมายชัด ฟ้องไม่ได้
@ 'บิ๊กตู่'อำลาตำแหน่งผบ.ทบ.
เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 28 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เดินทางไปที่ค่ายวชิราวุธ กองทัพภาคที่ 4 จ.นครศรีธรรมราช เพื่ออำลาตำแหน่ง ผบ.ทบ. โดยมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และว่าที่ ผบ.ทบ. พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการ ทบ. ร่วมเดินทางไปด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีอะไรเน้นย้ำเป็นพิเศษ ทุกอย่างเป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ที่วางไว้ของคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และรัฐบาล ซึ่งจะฝากให้ผู้บังคับบัญชาคนปัจจุบันและคนต่อไปดูแลให้มีความเข้มข้นมากขึ้น
@ ชี้ตั้ง 28 สนช.เป็นไปตามรธน.
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่มอีก 28 คน ว่า รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าต้องคัดเลือก สนช.ไม่เกิน 220 คน เพียงแต่บรรจุให้ครบ 220 คนเท่านั้น เพื่อไปทำงานเพราะมีกฎหมายหลายฉบับที่ยังติดค้างอยู่จำนวนมากคงต้องเข้าไปเร่งดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันการทำงานของ สนช.ก็จัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการหลายคณะด้วยกันแล้ว
"ดังนั้น จะได้ไปเพิ่มจำนวนคนที่มีอยู่ทำให้ครบถ้วนในการจัดตั้งอนุกรรมาธิการที่จะได้ไม่ซ้ำซ้อนกันมากนักในการที่จะดำเนินการพิจารณาทางกฎหมาย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
@ ยันตั้งสปช.ทำตามขั้นตอน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณี นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ อดีต ส.ว.ยโสธร ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น สปช.ยโสธร ข้องใจการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยเฉพาะในระดับจังหวัดว่าล็อกสเปก และเตรียมยื่นร้องต่อศาลปกครองว่า หากรายชื่อออกมาก็ไปดูจะล็อกกันได้อย่างไร ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้แล้วว่าต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 2 ตุลาคมตามกำหนดการที่วางไว้เดิม
"รายชื่อทั้งหมดดำเนินการมา 2 ทาง คือ รับสมัครโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่แล้ว ฉะนั้น กกต.เป็นผู้ตรวจสอบทางกฎหมายว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ สำหรับบุคคลที่เข้ามาสมัคร อย่างที่เรียนไว้แล้วว่าคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและเป็นไปตามการคัดสรรของคณะกรรมการ ทุกคณะที่ดำเนินการมาตามลำดับโดยตลอด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายยุทธนาจะไปร้องที่ศาลปกครอง เพื่อให้คุ้มครองชะลอการประกาศรายชื่อ สปช. จะชะลอประกาศรายชื่อหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไปร้องก็เป็นเรื่องของศาลปกครอง ถ้ามีปัญหาตรงไหนก็ไปดำเนินการ หากคิดว่าไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมก็ดำเนินการไป ในส่วนเราต้องทำงานไปตามลำดับ ถ้า สปช.ดำเนินการยังไม่ได้ ก็ยังไม่ได้ ก็จบเท่านั้นเอง"
@ ลั่นไม่ทบทวนรายชื่อ250สปช.
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องทบทวนรายชื่อหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ทบทวนเรื่องอะไรเป็นเรื่องของศาลปกครอง ศาลว่าอย่างไรก็ต้องว่าตามศาล" เมื่อถามว่าได้ผ่านกระบวนการพิจารณารายชื่อทั้ง 250 คน เมื่อวันที่ 26 กันยายน แล้วจะนำขึ้นทูลเกล้าฯเลยใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าต้องทำ หากไม่ทำจะทำอะไรต่อไป ต้องรอใครที่ไหน ไม่ได้มีอะไรเขียนไว้ว่าต้องรอ รอใครเพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า นายยุทธนาเปิดเผยข้อมูลว่ามีนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.)ที่มีสายสัมพันธ์กับทหาร มีแนวโน้มได้รับเลือกจำนวนมาก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "แล้วทำไมนักศึก วปอ.เป็นไม่ได้หรอ เขาเขียนไว้ในคุณสมบัติข้อไหนว่าเป็น วปอ.เป็นหลักสูตรอะไรแล้วเป็น สปช.ไม่ได้มีไหม ไปอ่านกฎหมายดู" เมื่อถามว่า สปช. 250 คน มีนักศึกษา วปอ.อยู่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่ทราบ ไม่ได้สนใจ ไม่ได้เอาชื่อ วปอ.มาอ่าน ไม่ได้ดู ไม่ทราบ เมื่อถามว่าคนที่ผ่านหลักสูตร วปอ.มีความเหมาะสมเป็น สปช.หรือช่วยชาติได้หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า "มีเหรอข้อไหนที่เขียนว่า สปช.ต้องเป็น วปอ.หรือว่าไม่เป็น วปอ. ถ้าไม่มีอย่ามาถามผมตรงนี้ ถามตรงอื่น"
@ 'พรเพชร'งดออกความเห็นร้องศาล
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงรายชื่อ สปช.ที่ปรากฏผ่านสื่อมวลชนว่า ยังไม่เห็นรายชื่อ ไม่ทราบว่ามีใครที่ได้เป็น สปช.บ้าง ทราบเฉพาะ 50 คน ที่ได้เป็นคนคัดเลือกในด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ทั้งนี้ เห็นว่าหาก สปช.มีความหลากหลายก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
"ส่วนการที่นายยุทธนาจะยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้ออกคำสั่งคุ้มครองชะลอการประกาศรายชื่อ สปช.ในจังหวัดที่มีปัญหานั้น เป็นสิทธิที่สามารถยื่นเรื่องได้ แต่ต้องดูว่าศาลปกครองมีอำนาจที่จะรับเรื่องนี้ไว้ตามกฎหมายได้หรือไม่ ไม่อยากแสดงความเห็น เพราะต่างคนต่างความคิด" นายพรเพชรกล่าว
@ ยุทธนาเชื่อถูกแกล้ง-ร้องศาลปค.
นายยุทธนากล่าวว่า จากการสรรหา สปช.ยโสธร ทราบว่ากระบวนการคัดเลือกไม่เป็นธรรม คณะกรรมการตัดสิทธิผู้สมัครหลายคนอย่างไม่เป็นธรรม จากผู้สมัคร 50 คน แต่มีผู้สมัครถูกตัดสิทธิเกือบ 20 คน พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหา สปช. และประกาศของ กกต.กำหนดคุณสมบัติ 2 ข้อ และลักษณะต้องห้าม 8 ข้อ ซึ่งล้อมาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 มาปรับแก้นิดหน่อยที่ผู้สมัครต้องมีอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่คณะกรรมการในจังหวัดยโสธร ทำเกินอำนาจหน้าที่และละเมิดสิทธิของผู้สมัครหลายคน ทำให้ตนไม่ได้รับการพิจารณาด้วย
"เชื่อว่า อาจมีกระบวนการกลั่นแกล้ง ใส่ร้าย ทำให้ถูกตัดสิทธิไป ทั้งๆ ที่การประเมินผลงานของคณะกรรมการประเมิน ที่นำระดับการศึกษา ความรู้ความสามารถ วิสัยทัศน์ และประสบการณ์ ซึ่งผมมีคะแนนเป็นอันดับต้นๆ จากการที่มีประสบการณ์เป็น ส.ว.มาตั้งแต่ปี 2551-2557 มีประสบการณ์ในการเป็นประธานวิสามัญรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมประชาชนประจำจังหวัดยโสธร เมื่อปี 2549-2550 น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ สปช.ตามนโยบายและความคาดหวังที่จะก่อให้เกิดการปฏิรูป ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้เป็นอย่างดียิ่ง" นายยุทธนากล่าว และว่า แม้จะขอเอกสารการประชุมตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารตามสิทธิ แต่ยังไม่ได้เลย ดังนั้น เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของตนเองและต้องการสร้างบรรทัดฐานอันชอบธรรม ตนและทนายความจะไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองอุบลราชธานีในวันที่ 29 กันยายน
@ ผวจ.ยโสธรปัดให้ความเห็น
นายประวัติ ถีถะแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กรรมการสรรหา กล่าวถึงกรณีนายยุทธนาจะร้องศาลปกครองโดยกล่าวหาว่ามีการล็อกสเปกในการสรรหา สปช.ว่า ไม่สามารถให้สัมภาษณ์ได้ เพราะจบหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ไปแล้ว ส่วนการจะไปร้องศาลปกครองนั้นเป็นสิทธิที่จะกระทำได้
@ ชี้ม.17กม.สรรหาปิดช่องร้องศาล
นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีนายยุทธนาเตรียมร้องศาลปกครอง ว่าสามารถยื่นฟ้องร้องได้แต่ศาลปกครองอาจจะไม่สามารถสั่งให้ชะลอกระบวนการต่างๆ ได้ เพราะถ้าดูตามมาตรา 17 ของพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการสรรหา สปช. กำหนดไว้ชัดเจนว่ากรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเสนอชื่อหรือการสรรหา หรือมีปัญหาอื่นใดเกี่ยวกับการดำเนินการตาม พ.ร.ฎ.นี้ ให้หัวหน้า คสช.วินิจฉัย และเมื่อได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของหัวหน้า คสช.แล้วให้ถือว่าเป็นการชอบด้วย พ.ร.ฎ.นี้
"เท่ากับว่า มาตราดังกล่าวเป็นการปิดช่องโหว่เพราะคงรู้อยู่แล้วว่ากระบวนการสรรหาอาจจะมีปัญหาได้ ดังนั้นจึงได้เขียนกฎหมายครอบคลุมไว้และมาตรา 17 ก็สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง" นายบุณยเกียรติกล่าว
@ เปิดกม.มาตรา 17 สรรหาสปช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามมาตรา 17 ของพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการสรรหา สปช. ระบุว่า ในกรณีที่มีปัญหา เกี่ยวกับการเสนอชื่อหรือการสรรหา หรือมีปัญหาอื่นใดเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติวินิจฉัย และเมื่อได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว ให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยพระราชกฤษฎีกานี้และกฎหมาย
ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อให้การสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจประกาศเปลี่ยนแปลงระยะเวลา กำหนดให้ดำเนินการหรืองดเว้นการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ได้
@ ทส.ป๋าไร้ปัญหายื่นทรัพย์สิน
พล.ท.พิษณุ พุทธวงศ์ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ และนายทหารคนสนิทของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในฐานะว่าที่ สนช.กล่าวถึง กรณีที่ สนช.กลุ่มหนึ่งได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่ามติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ สนช.ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า เข้าใจบุคคลที่เคลื่อนไหว เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนด อยู่ที่การตีความ จึงไม่มีใครผิดถูก แต่ทั้งนี้ในส่วนตัว หากเข้ามาทำหน้าที่เป็น สนช.นั้น การยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน ไม่มีปัญหา การเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ต้องถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะอยู่แล้ว
@ 'สุกรี'ไม่คลุมปี๊บประชุมสภามม.
นายสุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) เปิดเผยว่า วันที่ 30 กันยายน จะเข้าร่วมประชุมคณบดีร่วมกับ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดี มม.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่สำนักอธิการบดี มม. แต่ครั้งนี้จะไม่คลุมปี๊บหรือเสนอข้อเรียกร้องใดๆ เพราะสภามหาวิทยาลัยมีมติแล้วที่จะให้ นพ.รัชตะเลือกเพียงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง
"ฉะนั้นให้เป็นหน้าที่ในการตัดสินใจของสภา มม. ซึ่งผมได้ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถแล้ว จะไม่ไปก้าวก่ายใดๆ อีก คิดว่าทุกอย่างน่าจะจบลงด้วยดี ทุกฝ่ายอยากเห็นมหาวิทยาลัยกลับมาสู่สภาวะปกติโดยเร็วผมก็อยากให้เป็นอย่างนั้นเช่นกัน" นายสุกรีกล่าว
@ พท.ร้องข้อบังคับสนช.ขัดรธน.
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะกิจการพรรคเพื่อไทยและคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ในวันที่ 29 กันยายน จะส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (อีเอ็มเอส) ถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พ.ศ.2557 ข้อ 147 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 20 วรรคสอง ประกอบมาตรา 9 วรรคหนึ่งหรือไม่ และข้อ 146 ถึง 161 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 12 หรือไม่ ข้อบังคับการประชุมฯข้อ 147 ระบุว่า เมื่อมีคำร้องขอถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 ออกจากตำแหน่งให้ประธานสภาแจ้งให้ที่ประชุมทราบโดยเร็ว แต่ขณะนี้รัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสุดลงแล้ว และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้บัญญัติให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีกต่อไป จึงไม่มีตำแหน่ง ส.ส.หรือ ส.ว.ให้ถูกถอดถอนได้ตามที่ข้อบังคับการประชุม สนช. ข้อ 147 บัญญัติไว้
@ ชี้จงใจขยายอำนาจให้โทษผู้อื่น
นายเรืองไกรกล่าวว่า อีกทั้งการตราข้อบังคับการประชุมตั้งแต่ข้อ 146 ถึง 161 ขึ้นมา ทำให้เห็นเจตนามุ่งให้มีการถอดถอนบุคคลเชื่อมโยงไปถึงการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส.และ ส.ว.ตามความในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยการอ้างพระราชบัญญัติ ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่มีบทบัญญัติมาตราใดให้อำนาจกระทำการเช่นนั้นได้ ดังนั้น ข้อบังคับการประชุมตั้งแต่ข้อ 146 ถึง 161 ย่อมเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเช่นกัน
"หากพยายามตีความว่า สนช.สามารถตราข้อบังคับการประชุมฯ เพื่อให้มีการถอดถอน ส.ส. ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ด้วยนั้น โดยอ้างบทกฎหมายจากมาตรา 58 ของพระราชบัญญัติ ป.ป.ช.มาขยายความให้มีอำนาจตามความในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 13 วรรคสอง ในส่วนที่ระบุว่า สนช.มีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ก็ไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่มีบทบัญญัติมาตราใดรองรับให้ สนช.มีอำนาจในการถอดถอนผู้เคยดำรงตำแหน่ง ส.ส. ส.ว. หรือคณะรัฐมนตรีในปัจจุบันไว้ และหากจะอ้างมาตรา 6 วรรคสองที่ระบุว่า สนช.ทำหน้าที่เป็น ส.ส. ส.ว. และรัฐสภา จนทำให้สามารถตราข้อบังคับมาถอดถอนบุคคลที่อยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ด้วยนั้น ก็ไม่อาจรับฟังได้ เพราะเท่ากับเป็นการจงใจตีความขยายอำนาจอย่างกว้างในลักษณะเป็นโทษแก่บุคคลโดยอาศัยกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ทั้งที่ สนช.ควรรู้อยู่แล้วว่าไม่มีอำนาจกระทำการเช่นนั้นได้" นายเรืองไกรกล่าว
@ ปลัดมท.มอบนโยบายอปท.
เมื่อเวลา 11.00 น. วันเดียวกัน ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย บรรยายพิเศษนโยบายการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้แก่สมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากการสรรหาและผู้ปฏิบัติหน้าที่นายก อปท. รุ่นที่ 3 ที่เข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน จากทั่วประเทศ มีนายวัลลภ พริ้งพงษ์ อธิบดีกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยร่วมรับฟัง
นายวิบูลย์กล่าวว่า สถานการณ์ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาและกำลังจะก้าวเดินไปข้างหน้าจึงต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้สถานการณ์เดินไปได้ทำให้ประชาชนมีความสุข มีความอยู่ดีกินดี ไม่เอาเรื่องเล็กน้อย มาเป็นเครื่องหยุดยั้งการทำงานหรือการแก้ไขปัญหาของทุกภาคส่วน
"สำหรับผมผ่านงานมาทุกยุคทุกสมัย ผ่านเหตุการณ์สำคัญประเทศมาหลายเหตุการณ์และหลายรัฐบาลได้รู้ได้เห็นในเรื่องของการติดขัดของปัญหาหลายอย่าง เชื่อว่าทุกคนน่าจะคิดได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งปกครองการบริหารราชการแผ่นดินด้วยข้อกฎหมายเป็นนิติรัฐ สิ่งแรกที่ยึดกันอยู่มากคือการใช้ระเบียบกฎหมายเป็นหลักทั้งส่วนกลาง ภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการรวมอำนาจ แบ่งอำนาจ กระจายอำนาจ ขณะเดียวกันเมื่อก่อนอำนาจอธิปไตยจะมีเพียง 3 ฝ่ายคือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีอำนาจขององค์กรอิสระ และการบริหารในรูปขององค์กรมหาชน ขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้กฎหมายด้วย" นายวิบูลย์กล่าว
@ แนะอย่าแบ่งสี-ชูปรองดอง
นายวิบูลย์กล่าวว่า ต้องยอมรับกระแสของสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่นำเสนอด้วยความรวดเร็วนั้นมีส่วนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นต่างๆ อาจเกี่ยวข้องกับทางการเมือง ซึ่งการที่มีประกาศ คสช. ให้สรรหาผู้บริหาร อปท.แทนการเลือกตั้งในช่วงเหตุการณ์ปัจจุบันนี้ นับว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งเพราะว่าใครๆ ก็ติดตามและเป็นที่จับตามอง ถือเป็นเรื่องที่ควรภูมิใจ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงประกาศ คสช.ก็จะมีความคาดหวังและความสนใจจากสังคมและรัฐบาล ที่ต้องตรวจสอบการทำงานตามมา
"จึงฝากให้ช่วยกันทำงานให้ดีและเป็นไปอย่างถูกต้อง ทำงานด้วยความปรองดอง ไม่แบ่งฝ่าย ไม่มีสีใดๆ แม้ทุกหน่วยงานจะมีทั้งคนดีและไม่ดี แต่เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเกิดยอมรับ" นายวิบูลย์กล่าว และว่า อปท.ต้องใช้ความละเอียดในการทำงาน โดยเฉพาะเมื่อมีการสรรหาเข้ามาปฏิบัติงาน ควรทำงานให้ใกล้ชิดกับประชาชนและข้าราชการประจำ ดังนั้นควรมีการบูรณาการการทำงานให้เป็นไปอย่างโปร่งใส สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาล ที่สำคัญต้องพร้อมในการตรวจสอบการทำงานเพื่อตัดข้อครหาในการทำงานที่จะตามมา
@ ทนายปูชี้ปปช.ถอดถอนมีพิรุธ
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่าสัปดาห์หน้า ป.ป.ช.จะส่งรายงานและสำนวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปยัง สนช.ดำเนินการว่า ขอตั้งข้อสังเกตการแยกคดีถอดถอนไปดำเนินการโดยไม่รอคดีอาญามีข้อยุตินั้น ทำให้เห็นว่าการดำเนินการของ ป.ป.ช.มีข้อพิรุธ คือคดีโครงการรับจำข้าวมีการ กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ 2 เรื่อง คือคดีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กับคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดย ป.ป.ช.มีมติให้รวมคดีทั้ง 2 เรื่องรวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดย ป.ป.ช.อ้างว่ามีพยานบุคคล และพยานเอกสารในมูลเหตุเดียวกัน "ซึ่งได้คัดค้านการรวมคดีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งแต่เริ่มดำเนินคดีและในการชี้แจงในการต่อสู้คดีก็มีข้อคัดค้านการรวมคดีไว้ด้วย แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กลับไม่สนใจ ไม่นำพาต่อข้อคัดค้าน ยังยืนยันรวมคดีเรื่องถอดถอนกับคดีอาญาเข้าด้วยกัน กระทั่งถึงเวลาที่มีการชี้มูลความผิด" นายนรวิชญ์กล่าว
@ ย้ำไร้พยานหลักฐานปมทุจริต
นายนรวิชญ์กล่าวว่า กรรมการ ป.ป.ช.ใช้พยานหลักฐานที่เป็นพยานบุคคลและพยานเอกสารชุดเดียวกัน โดยสรุปคือเมื่อรวมคดีแล้ว จึงมีพยานบุคคล และพยานเอกสารเพียงชุดเดียวเท่านั้น ซึ่งพยานเอกสารและพยานบุคคลชุดเดียวกันนี้ ต่อมาอัยการสูงสุด (อสส.) เห็นว่ารายงาน เอกสาร และความเห็นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งให้ไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ โดยระบุข้อไม่สมบูรณ์ในแต่ละประเด็นโดยชัดแจ้ง โดยเฉพาะข้ออ้างว่าโครงการรับจำนำข้าวมีการทุจริตทุกขั้นตอน ก็ไม่มีพยานหลักฐานเรื่องการทุจริต คงมีแต่ปกรายงานทางวิชาการ ซึ่งเป็นเรื่องเก่า
"ประเด็นอื่นๆ ที่เป็นสาระสำคัญอีกมาก ยังมีข้อโต้แย้งต่อกันอยู่ ซึ่งขั้นตอนตามกฎหมาย ต้องยุติ โดยคณะกรรมการร่วม ระหว่างอัยการกับ ป.ป.ช. แต่ขณะนี้ ตามที่ปรากฏเป็นข่าว คณะกรรมการร่วมระหว่างอัยการและ ป.ป.ช. ยังไม่ได้มีการร่วมประชุมอย่างเป็นทางการ เพื่อหาข้อยุติ ทั้งนี้การต่อสู้คดีตลอดมาผมเคยคัดค้านไม่ให้รวมคดีกัน แต่เมื่อรวมแล้ว ต่อมาเมื่อคดีอาญาถูกอัยการสูงสุดชี้ข้อไม่สมบูรณ์ ต้องถือว่าคดีถอดถอนมีข้อไม่สมบูรณ์ไปด้วยเช่นกัน" นายนรวิชญ์กล่าว
นายนรวิชญ์กล่าวว่า ระหว่างที่ยังไม่มีข้อยุติจากการทำงานของคณะกรรมการร่วม ว่าจะดำเนินคดีอย่างไร กลับมาปรากฏเป็นข่าวว่า ป.ป.ช.จะมาแยกสำนวนคดีถอดถอนออกจากคดีอาญาไปให้แก่ สนช. เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาคดีถอดถอน จึงเรียกร้องจุดยืนในการอำนวยความยุติธรรมต่อ ป.ป.ช.
@ 'ธนะศักดิ์'แถลงยูเอ็น ย้ำไทยมุ่งกลับสู่ปชปต.
เมื่อวันที่ 27 กันยายน ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 69 โดยชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทยและทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินของกองทัพ ที่มีจุดมุ่งหมายในการนำพาประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืนผ่านการปฏิรูปตามโรดแมป ซึ่งไทยไม่ถอยห่างและยังยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย แต่ขณะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่มุ่งการสร้างความปรองดองของคนในชาติ การปฏิรูปการเมือง และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันประชาธิปไตย เพื่อที่จะไม่ให้ประเทศต้องกลับไปสู่เหตุการณ์วันที่ 22 พฤษภาคมอีกครั้ง
พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวถึงหัวข้อหลักของการประชุมปีนี้คือวาระการพัฒนาหลังปี 2558 ว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องควบคู่ไปกับการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สันติภาพและความมั่นคง ซึ่งถือเป็นสามเสาหลักของสหประชาชาติ ทั้งนี้ ไทยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ ซึ่งหมายถึงการสร้างค่านิยมที่ถูกต้องและการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของคนในชาติและชุมชน โดยหัวใจหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่ที่การสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ในส่วนของการยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ไทยเห็นว่าการสร้างความแข็งแกร่งให้ประชาธิปไตยมีความหมายมากกว่าการเลือกตั้ง แต่ยังครอบคลุมถึงการเคารพหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
พล.อ.ธนะศักดิ์ให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นการกล่าวถ้อยแถลงว่า จากที่ได้เข้าร่วมการประชุมยูเอ็นจีเอทุกประเทศให้ความมั่นใจและสนับสนุนประเทศไทย ทั้งยังเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือต่างๆ ที่เรามีในเวทีโลก เนื้อหาในถ้อยแถลงยังพูดถึงความมั่นคงของไทยที่ขณะนี้มีความจำเป็นต้องมีการปรับให้มีความเหมาะสม พร้อมกับยืนยันว่าไทยยังคงเป็นประเทศที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ขณะที่รัฐบาลจะบริหารงานด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมา และเป็นรัฐบาลที่ดีที่จะนำประเทศไปสู่ความมั่นคงของภูมิภาคอาเซียน
ขณะที่สำนักข่าวเอพีรายงานว่า พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวปกป้องการที่ทหารเข้ายึดอำนาจปกครองทางการเมือง และว่า จะไม่มีการต่อต้านกระแสประชาธิปไตย และประชาธิปไตยเป็นอะไรที่มากกว่าการจัดการเลือกตั้ง