- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 29 September 2014 09:34
- Hits: 3622
วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8706 ข่าวสดรายวัน
ธนะศักดิ์ แจงยูเอ็น ยันปชต. ไม่ใช่แค่เลือกตั้ง ดาว์พงษ์สั่งสอบ 10 ล้านรื้อรีสอร์ต ปลัดทส.เก้าอี้สั่น มีเด้งผวจ.อีกรอบ
อำลาเก้าอี้ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.ในฐานะผบ.ทบ. เดินทางไปอำลาตำแหน่งผบ.ทบ.ที่กองทัพภาคที่ 4 ค่ายวชิราวุธ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ประกาศแก้ปัญหาไฟใต้ให้จบภายใน 1 ปี |
ประยุทธ์ เมินอดีตส.ว. ยื่นศาลปกครองชะลอประกาศรายชื่อ สปช. โต้ล็อกสเป๊ก ยันกกต.เฟ้นแล้วข้องใจรธน.ข้อไหนห้ามนักศึกษาวปอ.นั่งสปช. แจงตั้งเพิ่ม 28 สนช.เป็นไปตามรธน.ที่กำหนดไว้ 220 คน เตรียมประสานกัมพูชาขอตัว "ตั้ง อาชีวะ" กลับไทย เดินสายลงใต้อำลาทัพภาค 4 ในวาระเกษียณราชการ ลั่นปัญหาไฟใต้ต้องจบใน 1 ปีก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน วอนสื่อเลิกเรียก "ขบวน การ" ยกปัญหาสวนยางวาระแห่งชาติ "บิ๊กเจี๊ยบ" แจงเวทียูเอ็นเหตุรัฐประหาร ระบุประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ปลัดมท.ส่งซิกมีแน่เด้งผู้ว่าฯ ย้ำอปท.ใกล้ชิดประชาชน ทนายปูจี้ป.ป.ช.เป็นธรรม-แสดงจุดยืน ข้องใจเดี๋ยวรวมเดี๋ยวแยกคดีถอดถอน-จำนำข้าว ดาว์พงษ์สอบ 10 ล้านรื้อรีสอร์ตทับลาน ดำรงค์ พิเดช สวนทันควัน หึ่งพิษโผจ่อเด้งปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ
บิ๊กตู่ลงใต้อำลากองทัพภาค 4
เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 28 ก.ย. ที่ฝูงเครื่องบิน กองการบิน กรมการขนส่งทางบก ดอนเมือง (ขส.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางไปยังกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 4 ค่ายวชิราวุธ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพื่ออำลาตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในโอกาสที่จะเกษียณอายุราชการ 30 กันยายนนี้ พล.อ. ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางว่าการลงพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 นี้คงไม่มีอะไรเน้นย้ำเป็นพิเศษ เพราะการทำงานทุกอย่างเป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ที่วางไว้ตามกรอบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แต่คงฝากให้ผู้บังคับบัญชาชุดปัจจุบันและชุดใหม่เพิ่มความเข้มข้นในการทำงานมากยิ่งขึ้น
แจงตั้ง 28 สนช.เพิ่มตามรธน.
ผู้สื่อข่าวถามถึงการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่มอีก 28 คน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ คือมีสนช.ได้ไม่เกิน 220 คน ปัจจุบันสนช.ต้องพิจารณากฎหมายหลายฉบับที่ติดค้างอยู่จำนวนมาก ต้องเร่งเข้าไปดำเนินการ ปัจจุบันการทำงานของสนช. ได้จัดตั้งอนุกรรมการหลายคณะด้วยกัน จำนวนคนที่มีอยู่บวกกับที่แต่งตั้งใหม่จะได้เข้าไปเพิ่มเติมให้ครบถ้วน การจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการจะได้ไม่ซ้ำซ้อนกันมากนัก ในการเร่งดำเนินการทางกฎหมายให้ได้โดยเร็ว
โต้ล็อกสเป๊กสปช.ยันกกต.เฟ้นแล้ว
ส่วนกรณีที่นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ อดีต ส.ว.ยโสธร และผู้เข้ารับการสรรหา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จ.ยโสธร ประกาศว่าในวันที่ 29 ก.ย.จะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ออกคำสั่งคุ้มครองชะลอการประกาศรายชื่อ สปช. ในจังหวัดที่มีการคัดเลือกซึ่งมีข้อครหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ล็อกสเป๊ก เช่น จ.ยโสธร สุรินทร์ พังงานั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าดำเนินการตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่กำหนดไว้ว่าต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 2 ต.ค. เป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้เดิมเพราะรายชื่อทั้งหมดมีการคัดสรรมา 2 ทางด้วยกัน และทั้งหมดได้รับสมัครโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งได้ตรวจสอบเบื้องต้นตามกฎหมายอยู่แล้วสำหรับบุคคลที่เข้ามาสมัคร อย่างที่ตนเคยพูดไปแล้วว่าคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเป็นไปตามการคัดสรรของคณะกรรมการคัดสรรทุกคณะที่ดำเนินการมาตามลำดับโดยตลอด กรณีที่มีบุคคลจะไปร้องขอความเป็นธรรมที่ศาลปกครองนั้นตนมองว่าเป็นเรื่องของศาลปกครอง ถ้าคิดว่าไม่ถูกต้องก็ดำเนินการไป ตนก็ทำงานไปตามลำดับ ถ้าสภาปฏิรูปแห่งชาติยังดำเนินการไม่ได้ก็จบเท่านั้นเอง
รธน.ไม่ห้ามน.ศ.วปอ.นั่งสปช.
เมื่อถามว่าในสมาชิกสภาปฏิรูปมีนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) อยู่หลายคน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าแล้วทำไมนักศึกษา วปอ. เป็นไม่ได้หรือ เขาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญข้อไหน หรือคุณสมบัติข้อไหนที่บอกว่าเป็นนักเรียน วปอ. แล้วเป็น สปช.ไม่ได้ กลับไปอ่านกฎหมายดู "ผมไม่ทราบว่าในสปช. 250 คน จะมีวปอ.เท่าไร ใครบ้าง ผมไม่ได้สนใจแล้วผมก็ไม่ได้เอารายชื่อ วปอ.มานั่งอ่าน ผมไม่ได้ดูคุณสมบัติที่ วปอ. มีหรือเปล่าในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า สปช.ต้องเป็น วปอ. หรือไม่เป็น วปอ. ถ้าไม่มีก็อย่ามาถามผมตรงนี้ ให้ไปถามตรงอื่น" นายกรัฐมนตรีกล่าว
ประสานกัมพูชาขอตัว"ตั้ง อาชีวะ"
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีที่เว็บไซต์ สำนักข่าวคัมโบเดีย เดลี่ ในประเทศกัมพูชา รายงานว่าได้รับการยืนยันจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของกัมพูชาว่า นายเอกภพ เหลือรา หรือ "ตั้ง อาชีวะ" ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับในคดีหมิ่นสถาบัน ทำความผิดตามมาตรา 112 ยื่นเรื่องขอลี้ภัยต่อรัฐบาลกัมพูชาหลังหลบหนีการจับกุมจากทางการไทยว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการประสานขอตัวผู้ต้องหารายนี้กับทางการกัมพูชาอยู่ ทางผู้ต้องหาเขากระทำความผิดหรือไม่ มีความผิดอยู่หลายมาตรา ก็คงต้องขอความร่วมมือกับทางการกัมพูชา เพราะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คงต้องขอความร่วมมือไป เป็นเรื่องของแต่ละประเทศที่กำลังดำเนินการอยู่ สำหรับการจะได้ตัวกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยหรือไม่อย่างไรต้องไปถามประเทศนั้นๆ ดู
วอนสื่อเลิกเรียก"ขบวนการ"ไฟใต้
ที่ค่ายวชิราวุธ กองทัพภาคที่ 4 นครศรี ธรรมราช พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานพิธีสวนสนามอำลาตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกโดยมีข้าราชการทหารมาร่วมพิธีกันอย่างพร้อมเพรียง จากนั้นผบ.ทบ.ประกอบพิธีสมโภชพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระปิยมหาราช เพื่อประดิษฐานที่กองทัพภาคที่ 4 โดยมีการประกอบพิธีพราหมณ์
จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ปัญหาในภาคใต้ว่า อยากขอความร่วมมือสื่อมวลชนทุกแขนงอย่าใช้คำว่า "ขบวนการ" กับกลุ่มบุคคลที่ก่อความไม่สงบในภาคใต้ เพราะเป็นเรื่องของบางบุคคลเท่านั้น และการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้นั้นเราต้องแก้ให้จบภายใน 1 ปีก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วจะมีประเทศต่างๆ เดินทางเข้ามา หากบ้านเมืองเรายังไม่สงบก็จะเป็นปัญหา
ยกปัญหาสวนยางวาระแห่งชาติ
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่าในส่วนการดำเนินการนั้นจะเน้นการพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติสุข ตนได้เสนอมาทุกรัฐบาลให้ปรับโครงสร้างการแก้ปัญหา เน้นการพูดคุยซึ่งมีหลายกลุ่มและตอนนี้การดำเนินการต่างๆ เริ่มเข้าสู่ทิศทางที่ดี มี ศอ.บต.ที่รู้ปัญหาภาคใต้และมีการตั้งแม่ทัพน้อยภาค 4 คือ พล.ท.กิตติ อินทสร เป็นส่วนหน้าซึ่งตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับการดูแลปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการแก้ปัญหาชาวสวนยางว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เราให้ความสำคัญและยกเป็นวาระแห่งชาติโดยจะไม่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุเหมือนที่ผ่านมา แต่จะแก้ปัญหาต้นเหตุและยั่งยืนโดยตั้งโรงงานแปรรูปยางในพื้นที่ แต่หากบ้านเมืองยังไม่สงบใครจะกล้ามาลงทุน จึงอยากให้ทุกอย่างสงบ
บิ๊กเจี๊ยบแจงยูเอ็นไทยยึดปชต.
วันเดียวกัน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญ (UNSG) สมัยที่ 69 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยแถลงต่อหน้าที่ประชุมใจความว่าไทยจำเป็นต้องปรับแนวทางด้านความมั่นคงให้เหมาะสม ยืนยันว่าไทยยังคงยึดมั่นหลักการประชาธิปไตยตามหลักสิทธิมนุษยชนด้วยความตรงไปตรงมา โปร่งใส การมีรัฐบาลที่ดีจะนำไปสู่ความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียนโดยรวม โดยไทยพร้อมพิจารณาจัดตั้งกลุ่มหารือในการจัดการสาธารณภัยในอาเซียน
ระบุปชต.ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง
พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวด้วยว่า "ประชาธิป ไตยนั้นจะต้องวางอยู่บนพื้นฐานแห่งหลักนิติรัฐ และต้องมีความเป็นธรรมาภิบาล โปร่งใส น่าเชื่อถือ เสมอภาคเท่าเทียม ปัจจัยเหล่านี้ไม่มีอยู่ในประเทศไทยก่อนวันที่ 22 พ.ค. ก่อนหน้าวันที่ 22 พ.ค. ประเทศไทยมาถึงทางตันทางการเมือง เรามีหลักประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ และสถานการณ์เข้าสู่ช่วงความวุ่นวายที่เสี่ยงต่อความรุนแรงจนอาจนำไปสู่การนองเลือด พรรคการเมืองฝ่ายค้านในขณะนั้นได้รับโอกาสในการรักษาประชาธิปไตยแต่ก็ล้มเหลว เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการประนีประนอมเพื่อชาติ วงเวียนของเหตุการณ์เลวร้ายเหล่านี้ทำให้ทหารตัดสินใจเข้าแทรกแซงสถานการณ์ด้วยความจำเป็น ซึ่งเราหวังว่าจะไม่ต้องเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเราต้องเดินหน้าต่อไปเนื่องจากหากไม่มีรัฐประหาร ประเทศไทยคงต้องแตกสลาย"
ด้านสำนักข่าวเอพีระบุด้วยว่า รมว.ต่างประเทศกล่าวกับที่ประชุมตอนหนึ่งว่า "กองทัพจะไม่ดำเนินการใดๆ ที่เป็นการต้านกระแสประชาธิปไตย และประชาธิปไตยนั้นมีความหมายมากกว่าแค่จัดการเลือกตั้ง ขณะนี้ไทยต้องการเวลาเพื่อสร้างความสมานฉันท์และปฏิรูปทางการเมือง"
เชื่อทุกประเทศสนับสนุนไทย
ภายหลังเสร็จสิ้นถ้อยแถลงการณ์ พล.อ.ธนะศักดิ์ระบุว่าการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้มั่นใจและพอใจที่ทุกประเทศให้ความมั่นใจ และสนับสนุนประเทศไทย หลังจากที่ตนได้ชี้แจงความจำเป็นในการบริหารประเทศตามหลักการประชาธิปไตย นอกจากนี้ การเข้าร่วมประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้ประเทศไทยแสดงออกถึงบทบาทของไทยในเวทีโลก เช่น การจัดการสภาวะโลกร้อน ปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา ปัญหาการก่อการร้าย และการพัฒนาที่ยั่งยืน
ถกทวิภาคี-เข้าพบบันคีมุน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวในที่ประชุม UNSG"s Partnership Group on Myanmar ซึ่งมีนาย บัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติและผู้แทนจาก 15 ประเทศและสหภาพยุโรปเข้าร่วมว่า พม่ามีพัฒนาการทางการเมืองที่ดีและกระบวนการสร้างสันติภาพเป็นไปอย่างประสบความสำเร็จ นอกจากนี้พม่ายังสวมบทบาทการเป็นประธานอาเซียนได้ดี ไทยพร้อมช่วยเหลือพม่าในการเสริมสร้างสมรรถนะและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านกลไกความร่วมมือและการพัฒนาต่างๆ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อชาวพม่าที่พำนักอยู่ในประเทศไทย และพร้อมดำเนินการให้กลุ่มคนเหล่านี้เดินทางกลับประเทศในอนาคต
ทั้งนี้ ในส่วนการประชุมระดับทวิภาคี อาเซียน-สหประชาชาติ-สหรัฐ และการพบปะกันอย่างไม่เป็นทางการในระดับรัฐมนตรีอาเซียน และการหารือร่วมกับกลุ่มสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน พบว่าส่วนใหญ่มั่นใจต่อสถานการณ์ในประเทศไทย นอกจากนี้ รมว.ต่างประเทศยังได้เข้าพบนายบัน คีมุน และนายกรัฐมนตรีบาห์เรน พร้อมหารือทวิภาคีกับจีน ทุกชาติแสดงพันธไมตรีที่ดีต่อไทย
ยันหลายปท.ชื่นชมรัฐบาลไทย
ด้านนายนรชิต สิงหเสนี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาติ ณ นครนิวยอร์ก ระบุว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ตนได้ชี้แจงถึงความจำเป็นในการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ต่อนานาประเทศ เพื่อยุติความขัดแย้ง รุนแรง ต่อนานาประเทศแล้ว โดยฝ่ายที่ไม่เข้าใจเริ่มลดลงและหลายประเทศชื่นชมการทำงานของรัฐบาลไทยที่มีเสถียร ภาพและสร้างความสงบอย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าการเข้าร่วมการประชุมสามัญสหประชาชาติของรองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จหลายด้าน ถือเป็นโอกาสอันดีที่ไทยได้ชี้แจงถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้เข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จที่ไทยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และแสดงบทบาทความรับผิดชอบในฐานะสมาชิกสหประชาชาติด้านต่างๆ เช่น การรักษาสันติภาพ การปราบปราบโจรสลัดในน่านน้ำ
ปลัดมท.มอบนโยบายอปท.เข้ม
วันเดียวกัน ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานบรรยายนโยบายการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้กับสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากการสรรหาและผู้ปฏิบัติหน้าที่นายก อปท.รุ่นที่ 3 ซึ่งเข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คนจากทั่วประเทศ มีนายวัลลภ พริ้งพงษ์ อธิบดีกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยร่วมรับฟัง
นายวิบูลย์ กล่าวว่าสถานการณ์ของประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมาเชื่อว่าทุกคนเข้าใจสาเหตุที่บ้านเมืองต้องติดขัดในหลายเรื่อง จึงนำไปสู่การปรับเปลี่ยนและวางแนวทางการทำงาน ตนผ่านการทำงานมาหลายรัฐบาล พบว่าเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การรวมหรือการกระจายอำนาจในการบริหารล้วนมีบทบาทต่อการทำงานท้องถิ่นที่ฝ่ายการเมืองต้องบังคับใช้กฎหมายควบคู่ไปกับการบริหาร ขณะนี้มีอำนาจอื่นๆ เช่น องค์กรอิสระ การบริหารในรูปองค์การมหาชนเข้ามามีผลต่อการบริหารด้วย ผู้บริหารท้องถิ่นจึงต้องศึกษาอำนาจการบริหารให้ดี และขอเน้นย้ำเรื่องการตั้งงบประมาณและการเบิกจ่ายต่างๆ รวมถึงการคัดเลือกบุคลากรในองค์กรท้องถิ่นให้ดำเนินการอย่างรอบคอบและโปร่งใสตามแนวนโยบายของรัฐบาล
ส่งซิกอาจมีปลดผู้ว่าฯจังหวัดหนึ่ง
ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวต่อว่าเมื่อมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาบุคคลมาทำหน้าที่ระดับท้องถิ่นชั่วคราว ถือเป็นเรื่องที่ควรภูมิใจเพราะท้าทายความสามารถและเป็นที่จับตามองของสังคม หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงประกาศ คสช.ก็จะมีความคาดหวังจากสังคมและรัฐบาลที่ต้องตรวจสอบการทำงานตามมา จึงฝากให้ช่วยกันทำงานให้ดีและเป็นไปอย่างถูกต้อง ทำงานด้วยความปรองดอง ไม่มีสีใดๆ ทุกหน่วยงานมีทั้งคนดีและไม่ดี แต่เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนยอมรับ
"อปท.ต้องใช้ความละเอียดในการทำงาน โดยเฉพาะเมื่อมีการสรรหาเข้ามาปฏิบัติ งาน ควรทำงานให้ใกล้ชิดประชาชนและข้าราชการประจำ บูรณาการการทำงานให้เป็นไปอย่างโปร่งใส สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาล เช่น การแก้ปัญหายาเสพติด ปัญหาขยะและการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ที่สำคัญต้องพร้อมตรวจสอบการทำงานเพื่อตัดข้อครหาในการทำงานที่จะตามมา รวมถึงการใช้จ่ายงบฯ ต่างๆ งบฯ ฉุกเฉินภัยพิบัติ ที่ต้องดูระหว่างความถูกใจและถูกต้อง หากทำไม่ถูกต้องสุดท้ายก็ต้องยึดกฎหมาย ในวันจันทร์ที่ 29 ก.ย.นี้ ผมอาจจะมีการปลดผู้ว่าฯ จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งก็เป็นได้" นายวิบูลย์กล่าว
จากนั้นนายวิบูลย์ให้สัมภาษณ์ถึงการทำ งานของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ว่า ถือว่ามีการทำงานดีขึ้นและเราจะพยายามพัฒนาบุคลากรในการปฏิบัติให้ดีในการรับเรื่องร้องทุกข์หรือปัญหาต่างๆ ของประชาชนแต่ละพื้นที่ โดยจะประเมินผลการทำงานเพื่อรายงานต่อรัฐมนตรีทุกเดือน
ทนายปูข้องใจป.ป.ช.คดีจำนำข้าว
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. ระบุในสัปดาห์หน้าป.ป.ช. จะส่งรายงานและสำนวนการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ไปยังสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่าการแยกคดีถอดถอนไปดำเนิการโดยไม่รอคดีอาญามีข้อยุตินั้นทำให้เห็นว่า การดำเนินการของ ป.ป.ช.มีข้อพิรุธ คือ คดีโครงการรับจำข้าวมีการกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ 2 เรื่อง คือเรื่องคดีถอดถอนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กับคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยคณะกรรมการป.ป.ช.มีมติให้รวมคดีทั้ง 2 เรื่องรวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยกรรมการ ป.ป.ช. อ้างว่ามีพยานบุคคลและพยานเอกสารในมูลเหตุเดียวกัน ซึ่งตนได้คัดค้านการรวมคดีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งแต่เริ่มดำเนินคดีและในการชี้แจงในการต่อสู้คดีก็มีข้อคัดค้านการรวมคดีไว้ด้วย แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กลับไม่สนใจ และยังยืนยันรวมคดีเรื่องถอดถอนกับคดีอาญาเข้าด้วยกันจนกระทั่งถึงเวลาที่ชี้มูลความผิด
"อัยการ-ป.ป.ช."ยังไม่ประชุมร่วม
นายนรวิชญ์กล่าวว่าอีกทั้งกรรมการ ป.ป.ช. ได้ใช้พยานหลักฐานที่เป็นพยานบุคคลและพยานเอกสารชุดเดียวกัน โดยสรุป คือเมื่อรวมคดีแล้วจึงมีพยานบุคคลและพยานเอกสารเพียงชุดเดียวเท่านั้น ซึ่งพยานเอกสารและพยานบุคคลชุดเดียวกันนี้ต่อมา อัยการสูงสุดใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่เห็นว่ารายงาน เอกสาร และความเห็นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งให้อัยการสูงสุดไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ โดยระบุข้อไม่สมบูรณ์ในแต่ละประเด็นโดยชัดแจ้ง ซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญ โดยเฉพาะข้ออ้างว่า โครงการรับจำนำข้าวมีการทุจริตทุกขั้นตอนก็ไม่มีพยานหลักฐานเรื่องการทุจริต คงมีแต่ปกรายงานทางวิชาการซึ่งเป็นเรื่องเก่า และประเด็นอื่นๆ ที่เป็นสาระสำคัญอีกมากยังมีข้อโต้แย้งต่อกันอยู่ ขั้นตอนตามกฎหมายต้องยุติโดยคณะกรรมการร่วมระหว่างอัยการกับ ป.ป.ช. แต่ขณะนี้ตามที่ปรากฏเป็นข่าว คณะกรรมการร่วมระหว่างอัยการและป.ป.ช. เองก็ยังไม่ได้ร่วมประชุมอย่างเป็นทางการเพื่อหาข้อยุติ ตลอดจนการต่อสู้คดีตนเคยคัดค้านไม่ให้รวมคดีอาญากับคดีถอดถอนเข้าด้วยกัน เพราะผู้กล่าวหาเป็นคนละคนกัน
จี้ป.ป.ช.เป็นธรรม-แสดงจุดยืน
นายนรวิชญ์ กล่าวว่าดังนั้นในขณะที่ยังไม่มีข้อยุติจากการทำงานของคณะกรรมการร่วมและอัยการสูงสุดว่าจะดำเนินคดีอย่างไร กลับมาปรากฏเป็นข่าวว่า ป.ป.ช. จะมาแยกสำนวนคดีถอดถอนออกจากคดีอาญาไปให้แก่ สนช. เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาคดีถอดถอน ที่ตนเห็นเช่นนี้ เพราะหาก ป.ป.ช. แยกเรื่องและสำนวนในคดีถอดถอนและคดีอาญาออกจากกันเสียแต่เริ่มต้นทำคดี ตนจะไม่เห็นเป็นข้อพิรุธเลย แต่เมื่อ ป.ป.ช.ถูกท้วงติงในข้อไม่สมบูรณ์ในคดีอาญากลับมาให้ข่าวว่าจะแยกคดีถอดถอนออกจากคดีอาญาโดยไม่ฟังข้อท้วงติงจากอัยการสูงสุด จึงขอเรียกร้องจุดยืนในการอำนวยความยุติธรรมต่อ ป.ป.ช.
หวั่นเปลี่ยนวิธีระบายข้าวสร้างปัญหา
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเปลี่ยนรูปแบบการระบายข้าวจากแบบเปิดประมูลทั่วไปเป็นการขายให้เอกชนที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศของรัฐบาลชุดนี้ว่า ขณะนี้รัฐบาลใช้วิธีการแบบเดิมเหมือนในอดีต ตนจึงห่วงใยเนื่องจากระหว่างการเปิดประมูลทั่วไปกับซื้อขายตกลงเป็นรายๆ เป็นแบบลับ สร้างปัญหาให้กับรัฐบาลอดีต เนื่องจากไม่โปร่งใสเรื่องราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และเป็นไปไม่ได้เลยที่ข้าวจะถูกส่งออกทั้งหมด เพราะตลาดบริโภคในประเทศยังต้องการบริโภคข้าวเก่า ดังนั้นข้าวเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะถูกขายวนเวียนในประเทศ เมื่อเป็นราคาที่ซื้อจากรัฐบาลที่ไม่โปร่งใส ราคาขายข้าวสารจะไปกระทบต่อราคาข้าวเปลือกของชาวนาให้ตกต่ำได้ ปัญหาจะกลับมามีผลกระทบต่อรัฐบาลอีก ทางออกที่ดีคือเปิดประมูลทั่วไป แต่รัฐบาลควรรอดูจังหวะและปริมาณความต้องการข้าว ถ้ารัฐบาลดึงดันใช้วิธีขายให้เอกชนที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศอีกไม่นานคงเห็นเจ้าพ่อรายใหม่ในวงการข้าวของรัฐบาลแน่นอน และจะสร้างปัญหาให้รัฐบาลตามมา
ดาว์พงษ์เล็งสอบจนท.รื้อรีสอร์ต
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรฯ เตรียมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรณีการเข้ารื้อถอนทุบทิ้งรีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทับลาน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และอ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ระหว่างคืนวันที่ 27-28 ก.ค. 2555 จำนวน 9 แห่ง โดยใช้งบประมาณถึง 10 ล้านบาทในการรื้อถอน แต่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ โดยพล.อ.ดาว์พงษ์ให้เหตุผลว่าการรื้อถอนรีสอร์ต บ้านพักตากอากาศที่บุกรุกพื้นที่อุทยานฯทับลานในช่วงเวลาดังกล่าว ใช้งบประมาณมากเกินไปจึงต้องสอบข้อเท็จจริง
ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากคนใกล้ชิดว่าพล.อ.ดาว์พงษ์ยังไม่ให้สัมภาษณ์ในช่วงเวลานี้เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์กำชับไม่ให้รัฐมนตรีให้สัมภาษณ์จนกว่าจะศึกษางานที่รับผิดชอบให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน
ใช้งบ 10 ล้านบ. แต่ไม่แล้วเสร็จ
จากการสอบถามนายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการ รมว.ทรัพยากรฯ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย. พล.อ.ดาว์พงษ์หารือเรื่องดังกล่าวกับนายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ ว่าที่ผู้ช่วยรมว.ทรัพยากรฯ โดยตั้งข้อสังเกตว่ามีการใช้งบประมาณเกินความจำเป็นคือ 10 ล้านบาทในการรื้อถอนรีสอร์ตและบ้านพักที่บุกรุก อุทยานฯ ที่สำคัญการรื้อถอนกลับดำเนินการไม่เสร็จสิ้น และปล่อยให้ค้างมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะกรณีบ้านทะเลหมอกรีสอร์ทที่ยังรื้อถอนไม่แล้วเสร็จ ถ้าใช้งบประมาณถึง 10 ล้านบาทน่าจะดำเนินการเสร็จแล้ว
นายสุนันต์กล่าวว่าเมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมาพล.อ.ดาว์พงษ์เรียกนายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานฯ ทับลาน มาชี้แจงสถานการณ์การบุกรุกอุทยานฯ ทับลาน แต่ตนไม่ได้อยู่ในที่ประชุมตลอด จึงไม่ทราบว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง
ดำรงค์พร้อมให้สอบข้อเท็จจริง
ด้านนายดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรค ทวงคืนผืนป่าประเทศไทย อดีตอธิบดีกรม อุทยานฯ ที่เป็นผู้เข้าดำเนินการรื้อถอน รีสอร์ต บุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ทับลานในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยตัวเอง กล่าวว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงก็ตั้งไป ไม่ได้กลัวอะไร จะมาสอบข้อเท็จจริงอะไร ตนไม่ได้ไปทุจริตรับเงินรับทองจากรีสอร์ตหรือใคร ทุกอย่างมีที่มาที่ไป การทวงคืนผืนป่า ในช่วงเวลานั้นมีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ อุทยานฯ จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 1-16 ทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบเอกสารสิทธิและตรวจสอบรีสอร์ตที่บุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน โดยให้หัวหน้าอุทยานฯ ทั่วประเทศมาร่วมรับผิดชอบในคดี ไม่ได้ปล่อยให้นาย เทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานฯ ทับลาน รับผิดชอบเพียงคนเดียว เพราะอุทยานฯ เป็นของทุกคน เป็นสมบัติของชาติ หัวหน้า อุทยานฯ ทุกแห่งก็คือหัวหน้าอุทยานฯ ต้องดูแลผืนป่าทั่วประเทศอยู่แล้ว และมีการส่งฟ้องดำเนินคดีกว่า 400 คดี
จนท. 4.8 พันคนค่ารถเบี้ยเลี้ยงอ่วม
อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวอีกว่าการเข้ารื้อถอนบ้านทะเลหมอกรีสอร์ทพร้อม รีสอร์ตอื่นๆ รวม 9 แห่ง ในคืนเดียวถือว่าศาลตัดสินเสร็จสิ้นแล้ว จึงเข้าไปดำเนินการโดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่จำนวน 4,800 นาย แค่ค่ารถ ค่าเบี้ยเลี้ยงยังจะไม่พอ ตนพร้อมอธิบดีและผู้บริหารกรมอุทยานฯ ทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าวได้เข้าไปช่วยกัน เพราะมีการปลุกระดมประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องขึ้นมาต่อต้านตั้งแต่ช่วงเช้า ตนจึงต้องทำในช่วงเวลากลางคืน เมื่อทำเสร็จแล้วรุ่งเช้านายกรัฐมนตรีในช่วงนั้นจะปลดตนออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานฯ ถามว่าทำไมตนถึงรื้อไม่เสร็จ ก็เพราะจะโดนปลด ทุกอย่างจึงหยุดชะงักหมด จนตนเกษียณอายุราชการในอีกไม่กี่เดือนต่อมา "ยินดีถ้าพล.อ.ดาว์พงษ์จะตั้งคณะกรรม การสอบข้อเท็จจริง จะได้รู้ความจริงที่เกิดขึ้น และอยากให้พล.อ.ดาว์พงษ์มาสานต่องานให้เสร็จ" นายดำรงค์กล่าว
ข้องใจทำไมไม่จับนายทุนรุกที่
ขณะที่นายสุรเชษฐ์ เชษฐมาฐ นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่ารู้สึกงงที่จะมาตั้งคณะกรรมการสอบเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าดำเนินการตามกฎหมาย ทำไมไม่ไปเร่งจับกุมนายทุนที่บุกรุกพื้นที่ ส่วนเรื่องการใช้งบประมาณถึง 10 ล้านบาทยังน้อยไปด้วยซ้ำ เพราะในช่วงนั้นมีการระดมหัวหน้าอุทยานฯ และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จากทั่วประเทศให้มาร่วมรับผิดชอบดำเนินคดีกับบ้านพักและ รีสอร์ตที่บุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ทั้งค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหาร ค่าดำเนินคดี ไม่มากอย่างแน่นอน ตนเกรงว่าหากตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบจริงๆ จะบานปลายกลายเป็นเรื่องการเมือง
สะพัดเด้งมิ่งขวัญพ้นปลัดทส.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่านอกจากนี้ยังเกิดกระแสข่าวสะพัดในกระทรวงทรัพยากรฯ ว่าในการประชุม ครม.วันที่ 30 ก.ย.นี้ จะมีการโยกย้ายนางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ออกจากตำแหน่ง เพราะกรณีการจัดทำบัญชีโยกย้ายข้าราชการระดับ 9 จำนวน 39 ตำแหน่งถูกคสช.สั่งระงับ ต่อมาเกิดการเคลื่อนไหวของข้าราชการที่ถูกโยกย้ายจำนวนหนึ่งเพื่อให้โยกย้ายนางมิ่งขวัญ โดยขอให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ หรือนายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการสำนักงานนโยบายแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาดำรงตำแหน่งแทน นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งรองปลัดกระทรวงว่างอีก 1 ตำแหน่ง และผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับ 10 ว่างอีก 3 ตำแหน่ง
สิ้นอดีตส.ส."สวัสดิ์ คำประกอบ"
วันที่ 28 ก.ย. นายวีระกร คำประกอบ อดีตรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บุตรชายนายสวัสดิ์ คำประกอบ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่ากลางดึกคืนที่ผ่านมาบิดาของตนเองซึ่งล้มป่วยมานานหลายปีเสียชีวิตลงแล้ว แพทย์ลงความเห็นว่าเสียชีวิตด้วยภาวะปอดล้มเหลวเนื่องจากมีพยาธิภายในปอด เมื่อเวลา 01.20 น.วันที่ 28 ก.ย. ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โดยจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เวลา 16.00 น. วันที่ 29 ก.ย. ที่วัดจอมคีรีนาคพรต อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และจะตั้งศพสวดพระอภิธรรมอย่างน้อย 15 วัน ก่อนขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานประวัติโดยย่อว่า นายสวัสดิ์ คำประกอบ เกิดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2462 ที่บ้านพนมรอก ต.พนมรอก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมรสกับนางมะลิ คำประกอบ มีบุตรชาย 3 คน คือนายภานุวัฒน์ นายวีระกร และนายดิสทัต คำประกอบ ในอดีตเคยเป็นรองหัวหน้าพรรคเกษตรสังคม ต่อมาปี 2487-2488 เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองนครสวรรค์ ก่อนลงเล่นการเมืองสนามใหญ่เมื่อปี 2489 จนได้เป็นส.ส.นครสวรรค์ยาวนานถึง 12 สมัย สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา พรรคสหประชาไทย พรรคเกษตรสังคม พรรคกิจสังคม พรรครวมไทย พรรคเอกภาพ พรรคสามัคคีธรรม และพรรคชาติไทย เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง และเป็นรัฐมนตรี 8 ครั้งใน 8 รัฐบาล ตำแหน่งครั้งสุดท้ายเป็นรมว.ยุติธรรมในรัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร
โพลชี้ปชช.ขานรับค่านิยมคสช.
วันที่ 28 ก.ย. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,532 คน ถึงค่านิยม 12 ประการ ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.มอบให้ทุกหน่วยงานนำไปดำเนินการ ระหว่างวันที่ 22-27 ก.ย. สรุปผล ดังนี้ 1.ค่านิยม ของ คสช.ที่ประชาชนให้ความสำคัญ อันดับ 1 รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ร้อยละ 96.13 อันดับ 2 กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ ร้อยละ 90.80 อันดับ 3 ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม ร้อยละ 87.28 อันดับ 4 คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมและชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง ร้อยละ 82.30 อันดับ 5 มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน ร้อยละ 80.12 อันดับ 6 ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม ร้อยละ 79.88
อันดับ 7 มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว ร้อยละ 78.40 อันดับ 8 มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่ ร้อยละ 75.79 อันดับ 9 เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง ร้อยละ 75.14 อันดับ 10 รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสฯ ร้อยละ 72.55 อันดับ 11 เข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำหรือกิเลส ร้อยละ 71.29 อันดับ 12 รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม ร้อยละ 70.68
2.ประชาชนเห็นด้วยกับ "ค่านิยม 12 ประการ" ของ คสช.มากน้อยเพียงใด อันดับ 1 เห็นด้วยมาก ร้อยละ 64.44 อันดับ 2 ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 31.34 อันดับ 3 ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 2.46 อันดับ 4 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 1.76
3.การจะปลูกฝัง "ค่านิยมไทยทั้ง 12 ประการ" ให้ได้ผลในทางปฏิบัติ ควรทำอย่างไร อันดับ 1 ต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์ แทรกเนื้อหาในบทเรียนทุกระดับชั้น ร้อยละ 36.41 อันดับ 2 ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะนายกฯ รัฐมนตรี นักการเมือง ข้าราชการ ร้อยละ 27.64 อันดับ 3 ภาครัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจัง จัดกิจกรรม ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ร้อยละ 21.66 อันดับ 4 ต้องเริ่มที่ตัวเอง มีจิตสำนึก ตระหนักในหน้าที่พลเมืองที่ดี ร้อยละ 14.29