- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 27 September 2014 11:34
- Hits: 4430
ห้ามถกนอกวง-ผวาวุ่น เข้ม'สปช.'คสช.คัด 250 ชื่อ-ทูลเกล้า 'ประยุทธ์'คาดทัน 2 ตุลา ปปช.ชงสนช.ถอดถอน เชือด 2 คดี'ปู-อดีตสว.'
คสช.เคาะแล้วรายชื่อ 250 สปช. 'บิ๊กตู่'ยันครอบคลุมไม่มีล็อก ให้ถกกันเองจากข้อมูล สนง.เตรียมการปฏิรูป ห้ามไปเปิดเวทีข้างนอก หวั่นยุ่ง
'บิ๊กตู่'ออกตัวพูดเยอะกดดัน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 กันยายน ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหนัาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในการเปิดสัมมนาและกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "พัฒนาคนเพื่ออนาคตประเทศไทย" ในการประชุมประจำปีของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประจำปี 2557 ตอนหนึ่งว่า การพูดครั้งนี้ตื่นเต้นเพราะมีคนจำนวนมาก ถ้าพูดแรงเกินไปเดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องขึ้นมา หากพูดอ่อนไปเดี๋ยวจะหาว่านุ่มนวลไปอีก
"ความจริงผมไม่ชอบพูดกับคนเยอะๆ ผมพูดมาเยอะก็เริ่มกดดัน เมื่อวานก็พูดมา 3-4 ชั่วโมง กลับบ้านก็คุยกับภรรยาไม่รู้เรื่อง หูอื้อ เคยพูดแต่กับทหารด้วยกันไม่ต้องระวังตัวเท่าไร บางทีพูดเพราะบ้าง ไม่เพราะบ้าง ก็ต้องระวัง เย็นวันเดียวกันนี้ผมก็ต้องพูดในรายการคืนความสุขให้คนในชาติให้กับประชาชนรับฟังก็กลัวว่าจะเบื่อกัน หลายคนถามว่าเมื่อไรจะเลิกรายการนี้สักที แต่อีกพวกก็บอกว่าไม่เป็นไรละครดูทีหลัง อยากดู ผบ.ทบ.มากกว่า ก็ไม่รู้ว่าพูดจริงหรือไม่" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
วอนเรียก'คสช.-คุณสมชาย'
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า วันเดียวกันนี้เรียบร้อย คสช.ดูความเหมาะสมและคุณสมบัติ จะล็อกสเปกไปทำอะไรถามหน่อยสิ เพื่ออะไร เพื่ออำนาจรัฐบาลหรือ รัฐบาลไม่ต้องการอำนาจ แต่ต้องการใช้อำนาจในทางที่สร้างสรรค์ ไม่จำเป็นต้องหาใครมาช่วย ถ้าทำความดีก็สำเร็จ ที่ผ่านมาก็พูดกันไปเรื่อยเปื่อย เสียเวลา เสียบรรยากาศ ตนต้องการแก้ปัญหา 11 เรื่อง ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องล็อกสเปก จะทราบไหมว่าวันหน้ากระทรวงศึกษาธิการจะเดินไปอย่างไร นั่นเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ การปฏิรูปไม่ใช่เพื่ออำนาจ การทำงานในขณะนี้ต้องนำแผนงานไปสู่การปฏิบัติให้ได้ คสช.กับรัฐบาลจะคุยกันในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ จะประชุมร่วมกันว่าจะทำงานกันอย่างไร แต่ไม่ได้สั่งงานกัน หัวหน้า คสช.จะสั่งนายกฯ อย่างไร ก็งงเหมือนกัน
"คสช.เรียกให้มันดีๆ ซอฟต์ๆ ลง เรียกคุณสมชาย อะไรก็ได้ คสช.คุณสมชายอย่างเดียวพอแล้ว ไม่มี คสจ.คุณสมจิตร อะไรอีก ทำให้มันดี จะได้ไม่ต้องมีวันนั้น ใครจะมาจะไป ใครจะเป็นรัฐบาล เลือกตั้ง ไม่เลือกตั้ง ไม่สนใจ ถ้ารัฐมีกระบวนการแข็งแรง ข้าราชการแข็งแรง ประชาชนแข็งแรง ใครจะมาชี้นำเราในทางไม่ดีได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
คสช.เคาะรายชื่อ 250 สปช.
ต่อมาเวลา 13.30 น. ที่บ้านพักรับรองเกษะโกมล พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุม คสช.ชุดใหญ่ครั้งแรก หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์มีคำสั่งแต่งตั้งปรับโครงสร้างใหม่ โดยมีวาระพิจารณาคัดเลือกสมาชิก สปช. 250 คน โดยมี รอง คสช.อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมทั้งสมาชิก คสช. อาทิ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหาร พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สส. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และผู้ช่วย ผบ.ทบ. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และรอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ขาดแต่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ติดภารกิจ
จากนั้นเวลา 15.00 น. พล.อ.ประยุทธ์แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม คสช.ได้เห็นชอบรายชื่อ สปช.จำนวน 250 คน หลังจากที่ตนพิจารณามาแล้วเบื้องต้น โดยไม่จำเป็นต้องเข้าที่ประชุม ครม. เนื่องจาก คสช.ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ จากนี้จะส่งรายชื่อทั้งหมดให้นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ ครม.ตรวจสอบคุณสมบัติและนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไปให้ทันวันที่ 2 ตุลาคม
ยันครอบคลุม-ไม่มีล็อก
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การประชุม คสช.ครั้งนี้เป็นการขอมติรับรองรายชื่อ สปช. ที่ได้รับการคัดสรรหาในรอบที่ 1 ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งได้รับรายงานมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งจำนวน 550 คน จาก 7,000 กว่าคน ที่มาจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทางคณะกรรมการคัดสรรที่มี พล.อ.ประวิตรเป็นประธาน ทั้งหมด 11 ด้าน ซึ่งมีการประชุมคัดกรองกันมาเป็นอย่างดีทุกชั้นประมาณ 3-4 ครั้ง เพื่อให้ครอบคลุม มีบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมทั้ง 11 เรื่อง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มีการคัดสรรในระดับที่เรียงลำดับให้ง่ายต่อการที่ คสช.จะพิจารณา เช่น ฝ่ายบริหารราชการแผ่นดินต้องมีทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยภาคประชาชนมีส่วนร่วม เป็นการเกลี่ยเบื้องต้นมาก่อนแล้ว ไม่ใช่เป็นการล็อกใครเข้ามา เป็นการดูสัดส่วนให้เหมาะสม ซึ่ง 550 คนเรียงลำดับตามความสำคัญมาให้ดู ส่วนกลุ่มที่ 2 อีก 385 คนมีขั้นตอนการคัดสรรเป็นอย่างดีจากที่ได้ฟังเจ้าหน้าที่รายงาน โดยมีการคัดสรร 2-3 รอบ ส่วนมีประเด็นเรื่องฮั้ว ยังไม่ทราบ เท่าที่ฟังจากที่ประชุมและจากคณะกรรมการคัดสรรทราบว่ามีการปรับตลอดเวลาเมื่อมีกระแสข่าวในแต่ละเรื่อง ทุกอย่างต้องระมัดระวังมากขึ้น มีการแก้ไขปรับปรุงให้รัดกุมจะได้ไม่เกิดปัญหาในอนาคต
ดึงคนที่หลุดโผมาช่วยงาน
"วันนี้ถือว่าโอเค และอนุมัติในหลักการว่าทั้งหมดคือ 250 คน และกังวลว่าที่หลุดจาก 250 คน จะทำอย่างไร เรากำลังหาช่องทางให้คนเหล่านั้นมาร่วมกระบวนการปฏิรูปได้อย่างไร จึงมอบให้สำนักงานเตรียมการปฏิรูปของ คสช. ที่กระทรวงกลาโหมดำเนินต่อไป เพราะมีสำนักงานที่ปรึกษาของสภาปฏิรูปอยู่ ก็ไปจัดกลุ่มว่าที่เหลือจะเข้ามาช่วยงานได้อย่างไร รายชื่อ 250 คน ขอเป็นความลับ เพราะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯก่อน หลังจากนี้จะตรวจสอบคุณสมบัติอีกครั้งหนึ่ง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เมื่อมี สปช.เกิดขึ้น จากนั้นก็จะเรียกประชุมเพื่อตั้งประธานและรองประธานต่อไป รวมถึงจะดำเนินการจัดกลุ่มใหม่ 11 กลุ่มอีกครั้ง เพราะบางคณะอาจมีคนมาก บางคณะอาจมีคนน้อย แต่ละฝ่ายอาจไม่เท่ากัน เช่น การศึกษา 700-800 คน แต่ด้านสื่อมี 100 กว่าคน เพราะฉะนั้น 250 คน จะตีรายชื่อยาว และนำมาปรับใหม่ ไม่จำเป็นที่ต้องไปอยู่ด้านศึกษาทั้งหมด เพราะคณะอื่นจะไม่มี แต่จะเป็น 11 กลุ่มเหมือนเดิม แต่คนที่สมัครด้านศึกษาอาจจะไปอยู่ด้านพลังงานหรือบริหารราชการแผ่นดินก็ได้ อย่าไปห่วงว่าไม่ตรงที่สมัครมาแล้วจะทำไม่ได้ คงไม่ใช่ เพราะการจะทำหรือไม่นั้นไม่ได้อยู่ที่กลุ่ม แต่ละกลุ่มเมื่อได้ข้อสรุปก็จะเสนอสภาใหญ่เพื่อเห็นชอบรับรอง ถ้าไม่เห็นด้วยก็ค้านในที่ประชุมใหญ่เหมือนกับ สนช.
ห้ามเปิดเวทีข้างนอกหวั่นยุ่ง
"ยืนยันว่าที่ผ่านมา คสช.ให้อิสระในการทำงานด้านการปฏิรูป การตั้งสำนักงานเตรียมการปฏิรูปของ คสช. ที่กระทรวงกลาโหมนั้นเป็นการเตรียมข้อมูลให้ สปช.เพื่อทำงานได้ทันที โดยรวบรวมความเห็นจากทุกภาคส่วนผ่านศูนย์ดำรงธรรมและ กอ.รมน.จังหวัด ในแต่ละเรื่องโดยสำนักงานเตรียมการปฏิรูปจะส่งให้ สปช.หาข้อสรุปกันเอง อย่าไปเปิดเวทีข้างนอก เพราะจะยุ่งกันใหญ่ ถ้าเปิดเวทีนอกสาย เรารับไม่ได้ ทั้งนี้ทางกระทรวงกลาโหมจะนำไปดำเนินการต่อเพื่อกำหนดความชัดเจน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า 250 คนส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยช่วยงาน คสช.มาก่อนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ทราบเพราะไม่ได้รู้จักหมดทุกคน บางคนก็เป็นทหารเก่า ข้าราชการเก่า ผู้แทนกลุ่มต่างๆ นักวิชาการมากมาย ไม่รู้จักหมด รู้จักแค่ 10% แต่ไม่ได้รู้จักส่วนตัว เพราะไม่ได้ห้ามใคร ถ้าเขาไม่ผ่าน 550 หรือ 385 คน จะมาว่า คสช.ไม่ได้ เพราะไม่ได้ผ่านคณะกรรมการคัดสรรหรือคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมา
เมื่อถามถึง การประชุม คสช. ครั้งหน้าในวันที่ 7 ตุลาคมจะพิจารณายกเลิกประกาศกฎอัยการศึกหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยืนยันว่าจะยังไม่มีการนำประเด็นการประกาศยกเลิกใช้กฎอัยการศึกมาหารือในวันดังกล่าว แต่หากจะยกเลิกจะต้องหารือร่วมกันอย่างแน่นอน และต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม.
'ประยุทธ์'อัดนักวิชาการยับ
ต่อมาเมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า สื่อขององค์กรต่างๆ ทุกภาคส่วน ขอร้องช่วยกันปลูกฝังค่านิยม 12 ประการ ท่องไว้ เตือนใจตัวเองไว้ มันก็น่าจะได้ประโยชน์กว่าไม่มีอะไรอยู่ในหัวสมองเลย เรากำลังปฏิรูปประเทศอยู่ เพื่อไม่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่ใช่เลือกตั้งอย่างเดียว แล้วได้นักการเมืองที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาบริหารประเทศ อย่างนี้ไม่ใช่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "สำหรับอาจารย์หลายสิบท่านคิดว่าน่าจะเข้าใจที่ผมพูด ถ้าไม่มีอคติเป็นอย่างอื่น ท่านก็จะอ้างเรื่องความเป็นประชาธิปไตยบ้าง ท่านต้องการสอนการเมืองบ้าง ท่านบอกว่าไม่สอนบ้านเมืองแล้วคนจะเรียนการเมืองอย่างไร ก็มีวิธีการสอนตั้งหลายหมื่น หลายแสนวิธี ที่จะเข้าใจเรื่องการเมืองที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ทำไมท่านไม่สอนว่านักการเมือง ต้องทำตัวอย่างไร ประชาชนต้องเลือกอย่างไร การเป็นประชานิยมที่สร้างปัญหาเป็นอย่างไร ท่านสอนอย่างนั้นกันบ้างหรือเปล่า
"ผมไม่เคยเห็นท่านพูดเรื่องเหล่านี้ ท่านพูดแต่เพียงว่าจะต้องเลือกตั้ง จะต้องเป็นประชาธิปไตย แล้วที่ขัดแย้งที่ผ่านมา ท่านก็ไม่ได้แก้ปัญหาให้คนทั้งประเทศเลย เพราะฉะนั้นท่านหยุดสักที ไปหาวิธีการสอนอย่างอื่น ไปสอนลูกศิษย์มาอีกวิธีหนึ่ง ไม่ใช่ว่าสถาบันนี้ต้องสอนเรื่องการเมือง ก็ต้องเด่นดังการเมืองอย่างเดียว ไม่ใช่ ผมว่าสอนอย่างไรให้คนประกอบอาชีพได้ สอนอย่างไรให้เป็นคนดี สอนอย่างไรให้มีงานทำ ถ้าสอนให้เป็นการเมืองอย่างเดียวแล้วตีกัน ผมว่าเหนื่อยเปล่า ไม่รู้จะสอนไปทำไม"
จวกสื่อไทยชี้โพรงให้สื่อนอก
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สื่อก็ต้องระมัดระวังการขยายความขัดแย้ง ขยายคำพูดที่ไม่ได้เจตนาร้ายไปสู่เจตนาร้าย สื่อต่างประเทศเขาก็นำคำพูดไปเขียนว่าพวกเรากันเอง คนไทยเขียนว่าคนไทย คนต่างชาติก็นำสิ่งที่คนไทยว่าคนไทย ไปว่าต่อ ก็เหมือนกับไปชี้โพรงให้กระรอก ถ้าผิดจริง ถ้าไม่ดีจริง ไม่ได้ปิดกั้นเลย แต่ถ้าไม่ใช่แล้วพูด มันเสียหายกับประเทศชาติ แม้รู้ว่าเป็นห่วงประเทศชาติเหมือนกัน
"ท่านเตือนผม ผมก็รับฟัง แต่ผมเตือนท่าน ท่านไม่ฟังผม อย่างนี้ไม่ใช่ ต้องช่วยกัน ผมโกรธท่านไม่ได้ ท่านก็โกรธผมไม่ได้เหมือนกัน ผมต้องขอร้องอีกครั้งให้เสนอข่าวให้ตรงตามข้อเท็จจริง อะไรที่เสียหายกับประเทศก็เพลาๆ บ้าง เรื่องอื่นๆ ก็เป็นเรื่องของการสอบสวนสืบสวน พอสืบสวนสอบสวน ท่านก็ไปว่าเจ้าหน้าที่ไม่ดี ไม่มีฝีมือ พูดอย่างนี้ มันขยายความขัดแย้ง แต่ส่วนใหญ่ดีอยู่แล้ว ผมชมเชย มีส่วนน้อยบางสื่อ บางสำนัก เรารู้อยู่ว่าท่านเป็นอย่างไรมาโดยตลอด ท่านสนับสนุนฝ่ายใดอยู่ ผมว่าวันนี้เราอย่ามีฝ่ายเลยได้ไหม วันนี้เอาประเทศไทย เอาคนไทย เอาประชาชนคนไทยที่ยากจน ที่มีรายได้น้อยไม่ดีกว่าหรือ เราจะได้แก้ปัญหาให้ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
แจงไปเยือนตปท.แค่จำเป็น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องการเยือนต่างประเทศของตน หลายคนให้ความสนใจ จับตามองดูอยู่ว่าจะไปประเทศไหนก่อนประเทศไหนหลัง วันนี้ยังอยู่ในการพิจารณา ยังไม่ตัดสินใจอะไรเลย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มแรกมิตรประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ กลุ่มที่ 2 ก็เอเชียที่ไกลออกไป กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มมิตรประเทศยุโรป และประชาคมตะวันตก ต้องไปลำดับว่าใน 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะไปที่ไหนก่อนหลัง เดือนหน้าคงต้องคุยเรื่องนี้กันอีกครั้ง ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าไปแล้วคนไทยจะได้อะไรขึ้นมา เพราะเป็นรัฐบาลที่ต้องการปฏิรูป เข้ามารับหน้าที่สำคัญในช่วงสถานการณ์พิเศษ จะไปเดินสายประเทศต่างๆ บ่อยๆ คงเป็นไปไม่ได้ ก็อยู่ในประเทศให้มาก เยี่ยมเยียนคนในทุกภาค ทุกจังหวัดให้ได้ก่อน
"ขณะนี้ มีหลายประเทศที่ส่งคำเชิญให้ผมเดินทางไปเยี่ยมเยือน ขอขอบคุณ ณ ที่นี้ไว้ก่อน ที่เขาเชิญเรามาไม่ใช่เพราะผม แต่เพราะเขาให้ความสำคัญกับประเทศไทย เพราะประเทศไทยเป็นมิตรประเทศมาหลายปี บางประเทศก็กำลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่สำคัญ เช่น การประชุมผู้นำเอเปค การประชุมผู้นำอาเซียน ผมจะต้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะหารือในการดำเนินการ และจะถือโอกาสแนะนำตัวกับประเทศอื่นๆ ที่มาร่วมประชุม ขณะนี้เขาเข้าใจเรามากขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะฉะนั้นผมและคณะรัฐมนตรีชุดนี้จะพยายามเดินทางไปเยือนต่างประเทศให้น้อยที่สุด จะไปตามความจำเป็นเท่านั้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
คาด 15 วันเคาะวิปสนช.ถาวร
วันเดียวกันที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญกิจการ สนช. หรือวิป สนช.ชุดถาวรว่า วันเดียวกันนี้จะมีการยื่นญัตติตั้งกรรมาธิการสรรหาเพื่อจัดสรรสมาชิก ไปลงคณะ กมธ.สามัญจำนวน 16 คณะ ซึ่งคณะ กมธ.สรรหาตกลงกันว่าต้องมีจำนวนทั้งหมด 12 คน และถ้าที่ประชุมเห็นชอบรายชื่อทั้งหมดก็จะแจกแบบฟอร์มให้กับสมาชิก เพื่อให้แจ้งความจำนงว่าจะไปอยู่ใน กมธ.คณะไหน ซึ่งตามข้อบังคับสมาชิก 1 คน สามารถลงชื่อได้ 2 คณะ
นายสุรชัย กล่าวว่า ส่วนวิธีการจัดสมาชิกเข้า กมธ.จะจัดตามความต้องการในลำดับที่ 1 ก่อน ถ้าคณะไหนเกินจำนวน จะต้องจัดคนให้เท่ากัน หากยังไม่ได้ข้อสรุปก็ต้องจับสลาก โดยขั้นตอนในกระบวนการดังกล่าวเราให้เวลาไว้ 15 วัน คาดว่าจะเสร็จภายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม หลังจากนั้นก็จะเลือกประธาน กมธ.แต่ละคณะ และจะได้วิป สนช.ชุดถาวร จำนวน 25 คน
ปมถอดถอนต้องรอ'พรเพชร'
เมื่อถามว่า ถ้ายังไม่มีวิป สนช.ถาวร กระบวนการถอดถอนจะยังไม่เริ่มขึ้นใช่หรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะระหว่างที่รอวิป สนช.ถาวรนั้น วิป สนช.ชั่วคราวก็ยังทำงานอยู่ เรื่องถอดถอนขึ้นอยู่กับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ซึ่งยังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ แต่ถ้าส่งเรื่องนี้เข้ามา วิปจะต้องพิจารณาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อได้วิป สนช.ถาวรแล้วจะมีการตั้งวิปประสานงานขึ้นมา เพื่อประสานงานการทำงานระหว่าง สนช.กับรัฐบาล โดยสัดส่วนของ สนช.จะมี 17 คน
เมื่อถามว่า หากมีการส่งรายชื่อถอดถอนแล้วพบว่ามีสมาชิก สนช.ถูกถอดถอนด้วย สมาชิกจะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า ยังไม่ได้พิจารณาประเด็นข้อกฎหมายนี้ ถ้ามีสมาชิก สนช.ถูกถอดถอน เบื้องต้นต้องพิจารณาก่อนว่า สนช.มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย เรื่องการถอดถอนนั้น ในวิป สนช.มีนักกฎหมายหลายคน โดยทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายที่ผ่านมาได้พิจารณากันในวิป ข้อกฎหมายที่ยังไม่มีข้อยุติจะต้องส่งให้หน่วยงานภายในพิจารณา เช่น สำนักกฎหมายของ สนช. และไม่อยากให้คิดไปไกล เพราะการที่ สนช.ผ่านข้อบังคับเรื่องการถอดถอนนั้น เป็นการสร้างกลไกในการทำงานขึ้นมา
ป.ป.ช.ส่งสนช.ถอด'ปู-อดีตส.ว.'
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า ป.ป.ช.จะส่งเรื่องการถอดถอนอดีต ส.ว. กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบ และคดีการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กรณีโครงการรับจำนำข้าว ไปยัง สนช. เพื่อพิจารณาตามกระบวนการถอดถอนต่อไป หลังจาก สนช.มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุม สนช.เรื่องการถอดถอนออกจากตำแหน่งแล้ว การดำเนินการของ ป.ป.ช.เป็นกระบวนการตามปกติ แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 จะไม่มีผลแล้วก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ทำให้ต้องส่งเรื่องการถอดถอนไป สนช.
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนคดีที่ ป.ป.ช.ส่งมาก่อนหน้านี้แล้ว ได้แก่ การถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภาและนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบ สนช.สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้เลย โดย ป.ป.ช.ไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องไปให้อีก และ ป.ป.ช.เตรียมพิจารณาคดีการถอดถอนที่ยังค้างอยู่ใน ป.ป.ช. อีก 1 เรื่องได้แก่ กรณีการถอดถอนอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคร่วมรัฐบาลที่แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบ หลังจากต้องหยุดชะงักชั่วคราว เนื่องจากต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ สนช. แต่ยังไม่ได้วางกรอบว่าจะวินิจฉัยคดีได้เมื่อใด เพราะต้องไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติมบางส่วน
ป.ป.ช.-อสส.ถกคดีข้าว 10 ต.ค.
ที่ห้างสรรพสินค้าเอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ งามวงศ์วาน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าของคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับอัยการสูงสุด (อสส.) ในคดีโครงการรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต
นายกฯ ว่า ในการประชุมคณะทำงานร่วมเมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ฝ่าย อสส.ขอสืบพยานเพิ่มเติม ซึ่งทาง ป.ป.ช.ก็อธิบายแล้วว่าพยานบางคน ฝ่ายเราได้ไต่สวนไปแล้ว และเห็นว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรากล่าวหา คาดว่าคงเป็นพยานชุดเดียวกับที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เคยร้องขอมาก่อนหน้านี้ เราก็บอกเขาไปว่าพยานบางคน เราไม่สอบแล้ว เพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวข้อง เขาก็จะเอากลับไปดูว่ามีความจำเป็นจะต้องสอบพยานเพิ่มเติมหรือไม่
นายปานเทพ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีหลักฐานต่างๆ ที่ฝ่าย อสส.ขอมา เช่น หลักฐานเรื่องพยาน เวลาพยานมาให้ปากคำ ที่แย้งอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็ให้ หรือหลักฐานสำคัญทางราชการ เราก็หามาให้ได้เลย อย่างไรก็ดี ต้องรอดูที่ประชุมคณะทำงานร่วมวันที่ 10 ตุลาคมนี้ อีกครั้งว่าจะสามารถสรุปได้เลยหรือไม่ หากไม่สามารถสรุปได้อาจต้องประชุมกันอีกครั้ง
นายปานเทพ กล่าวถึงการแบ่งงานให้ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่ ว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา มีมติมอบหมายงานให้ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ดูแลในส่วนการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมือง และตรวจสอบระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ดูแลร่วมกับนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. นอกจากนี้จะเน้นหนักเรื่องการไต่สวนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง และรัฐวิสาหกิจ เพราะ น.ส.สุภาเชี่ยวชาญมากในเรื่องนี้
'พล.อ.วิทวัส'นั่งผู้ตรวจแผ่นดิน
ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมคณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน แทนนายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ลาออกจากตำแหน่งไปเป็นประธาน สนช. มีนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานโดยมีผู้สมัครเข้ารับการสรรหา 21 คน โดยที่ประชุมมีมติเลือก พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยคะแนนเสียง 4 คะแนน ซึ่งไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 6 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนจากนี้คณะกรรมการสรรหาจะนำรายชื่อ พล.อ.วิทวัส เสนอประธาน สนช.เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป นอกจากนี้ ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภายังเตรียมกรอบดำเนินการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินแทนนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 12 ตุลาคม ซึ่งจะต้องสรรหาแทนตำแหน่งที่ว่างตามกรอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจึงจัดประชุมนัดแรกวันที่ 15 ตุลาคมนี้
เผย'อภิวันท์'อาการยังทรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "กรกฎาคม 2550 ติดคุกครั้งแรก อ.มานิตย์กับหมอเหวงประกันตัวออกไปก่อนด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ผู้นำพวกเราเปลือยกายทั้งคณะตั้งแต่คืนแรกเดินเข้ามาหาพวกผมในเรือนนอน "พี่รู้ว่าเขาอยากขังแค่ 4 คน (วีระ จักรภพ จตุพร ณัฐวุฒิ) แต่พี่จะอยู่เป็นเพื่อน ออกเมื่อไหร่ก็ค่อยกลับบ้านพร้อมกัน" พี่เปียครับ พวกผมส่งใจไปอยู่เป็นเพื่อนพี่ สู้นะครับ"
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย (พท.) และแกนนำ นปช. กล่าวถึงอาการของ พ.อ.อภิวันท์ ว่าหลัง พ.อ.อภิวันท์เข้ารับการรักษามา 1 เดือน ตอนนี้อาการก็ยังทรงๆ เท่าที่คุยกับคนดูแล ทราบว่ายังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร ตนก็ห่วง เพราะอายุมากแล้ว
ด้านนายรัศม์ ชาลีจันทร์ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรณีข่าวนายเอกภพ เหลือรา หรือตั้ง อาชีวะ ยื่นขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศกัมพูชาว่า ขณะนี้ทราบเรื่องเพียงจากข่าวที่ปรากฏในสื่อเท่านั้น ทั้งนี้ กระทรวงสั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงพนมเปญตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชาต่อไป