- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 20 January 2019 18:52
- Hits: 5068
วิษณุ ชี้ให้รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีกกต.ชี้ 4 รมต.ขาดคุณสมบัติยังปฎิบัติหน้าที่ต่อได้หรือไม่
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ 4 รัฐมนตรี ประกอบด้วย หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล อดีต รมช.ศึกษาธิการ, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กรณีถือครองหุ้นสัมปทานของรัฐเข้าข่ายกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้เป็นกรณีเดียวกันกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ
สำหรับ ขั้นตอนต่อไปก็จะส่งเรื่องของ 4 รัฐมนตรีไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล ซึ่งเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณา แต่เมื่อครั้งกรณีของนายดอน ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
"ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะพิจารณาว่ากรณี 4 รัฐมนตรีนี้อย่างไร ต่อจากนี้ 4 รัฐมนตรีก็จะต้องยื่นหลักฐานแสดงความบริสุทธิ์ให้ศาลพิจารณาเพื่อเป็นการต่อสู้คดี ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน หรือไม่เกิน 1 เดือน" นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้ง 4 รัฐมนตรีไม่เคยมาขอคำปรึกษาด้านข้อกฎหมายในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับนายดอนก็ไม่เคยมาปรึกษา ซึ่งไม่มีความจำเป็น และคงไปปรึกษาทีมงานของแต่ละคนเอง
กรณีดังกล่าวหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าดำเนินการผิด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะรับไปดำเนินการคดีต่อหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่จำเป็น ซึ่งตามปกติการร้องเรื่องคุณสมบัติ เรื่องจะถูกส่งไปที่ กกต.แต่หากเป็นเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบก็จะส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.ให้พิจารณา
ทั้งนี้ มีรายงานว่า เมื่อวานนี้ที่ประชุม กกต.ได้มีการประชุมลับเพื่อพิจารณารายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการไต่สวนกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ตรวจสอบการถือครองหุ้นสัมปทานรัฐของรัฐมนตรีทั้ง 4 ราย ซึ่งที่ประชุมมีมติว่า การถือครองหุ้นของทั้ง 4 รัฐมนตรีเข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง และเห็นควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างให้สำนักงาน กกต.ดำเนินการยกร่างคำร้อง ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุม กกต.พิจารณาและประธาน กกต.ลงนาม เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการ
ส่วนกรณีก่อนหน้านี้ที่ กกต.เคยมีมติเสียงข้างมากชี้ว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ในรัฐบาล พลอ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากคู่สมรสถือครองหุ้นในธุรกิจอยู่เกินกว่า 5% และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 เนื่องจากเห็นว่า คู่สมรสของผู้ถูกร้องได้ดำเนินการโอนหุ้นภายในกำหนดเวลา 30 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
วิษณุ คาดประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งภายใน ม.ค.และจัดเลือกตั้งไม่เกิน มี.ค.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการกำหนดวันเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรมีขึ้นภายหลังวันที่ 26 ม.ค.62 ซึ่งเป็นวันประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือไม่ว่า บางเรื่องมีการแจ้งความคืบหน้าให้ กกต.ทราบเป็นระยะๆ และหลังจากวันนี้ไปคงมีแจ้งให้ทราบเช่นกันเพื่อประกอบการพิจารณาของ กกต.
และหาก กตต.รอจนถึงวันที่ 26 ม.ค.อาจจะช้าไป เพราะวันดังกล่าวเป็นการพิจารณาเรื่องรายละเอียดของพระราชพิธีฯ ที่จะได้แจ้งให้ประชาชนได้รับทราบเท่านั้น เช่น เรื่องของหมายกำหนดการทั้งเดือน เม.ย.62 ซึ่ง กกต.ก็รับทราบข้อมูลแล้ว เมื่อ กกต.เห็นหมายกำหนดการก็สามารถพิจารณาข้อมูลได้
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ลงในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือน ม.ค.นี้ และกำหนดวันเลือกตั้งคงไม่เกินเดือน มี.ค.
"ประกาศ (พ.ร.ฎ.) ไม่เกินเดือนมกราฯ และเลือกตั้งไม่เกินเดือนมีนาคม" นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า หมายกำหนดการพระราชพิธีต่างๆ จะมีความชัดเจนภายหลังวันที่ 26 ม.ค.นี้ เนื่องจากเป็นวันที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในฐานะองค์ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยรายละเอียดต่างๆ ในวันนี้จะต้องนำความกราบบังคมทูลในวันดังกล่าวก่อน รวมถึงขอพระราชวินิจฉัย
สำหรับ หมายกำหนดการเบื้องต้นของพระราชพิธีฯ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.การเตรียมการเบื้องต้น 2.พระราชพิธีเบื้องกลาง และ 3.กิจกรรมต่อเนื่องเบื้องปลาย ส่วนที่เป็นเบื้องต้นจะใช้เวลาตลอดทั้งเดือน เม.ย.ขณะที่ เบื้องกลางเป็นตัวของพระราชพิธี ประกอบด้วย 3 วัน ระหว่างวันที่ 4-6 พ.ค.และเบื้องปลายของพระราชพิธี
นายวิษณุ กล่าวว่า วันที่สำคัญที่สุดคือวันที่ 4 พ.ค.ซึ่งปีนี้จะเป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ส่วนปีถัดไปและต่อๆ ไปจะกำหนดเป็นวันฉัตรมงคล หรือเป็นวันระลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ส่วนกิจกรรมในเบื้องปลายหลังจะต่อเนื่องด้วยพระราชพิธีพืชมงคลในวันที่ 8 และ 9 พ.ค.หลังจากนั้นจะเป็นกิจกรรมในส่วนของรัฐบาลและประชาชนที่จะจัดน้อมเกล้าฯ ถวาย ซึ่งจะเป็นการจัดกระจายในแต่ละวันโดยไม่ได้ต่อเนื่องกันทั้งหมด โดยจะไม่กระทบต่อเหตุการณ์บ้านเมืองอื่นๆ มากนัก
ส่วนการตั้งข้อสังเกตุในข้อกฎหมายว่าการเลือกตั้งและการประกาศรับรองผลเลือกตั้งต้องแล้วเสร็จภายใน 150 วันนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลไม่เคยพูดถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งตนเองระบุมาโดยตลอดว่ายึดถือหลักที่ว่า 150 วันกับ 60 วัน เป็นคนละเรื่องกัน เพราะใช้กฎหมายคนละมาตรา ไม่ใช่การนำเอากฎหมาย 2 มาตรามารวมกัน โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ซึ่งไม่ได้มีการทักทวงหรือมีประเด็นขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
อินโฟเควสท์