- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 21 September 2014 12:02
- Hits: 4608
วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8698 ข่าวสดรายวัน
จ่อปลัดยธ. 'ชัชวาลย์'ดีเอสไอ คสช.แจงโละ 14 อรหันต์ รธน.ให้อำนาจเฟ้นสปช. สนช.ยันต้องมีถอดถอน ผู้นำจีนเชิญ'ตู่'ถกเอเปก
ลงพื้นที่ - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า ที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต พร้อมพบปะและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. |
กระทรวงยุติธรรมเตรียมดัน'พล.ต.อ.ชัช วาลย์ สุขสมจิตร์'อธิบดีดีเอสไอ ขึ้นเป็นปลัดยุติธรรมโฆษกคสช.แจงคำสั่งยกเลิกตั้ง 14 นายพลเลือกสปช. ชี้รัฐธรรมนูญให้เป็นอำนาจคสช.อยู่แล้ว กกต.มั่นใจ 23 ก.ย.ส่งรายชื่อครบ'บิ๊กนมชง'ควง'ปีติพงศ์'พบชาวนาชัยนาท-สุพรรณบุรี อ้อนขอโอกาสทำงาน จะทำให้ราคาข้าวสูงกว่าเกวียนละ 7,900 บาท เผยนัดคุยตัวแทนชาวนาทุก 15 วัน ย้ำจำนำ-ประกันข้าวไม่ใช่ของจริง แต่ต้องผลิตข้าวดีมีคุณภาพ แกนนำเครือข่ายยางภาคใต้ห่วงรัฐทุ่ม 1 หมื่นล้านให้สกย.ซื้อยางจากเกษตรกรจะสูญเปล่า นัดถกท่าที 29 ก.ย.นี้ เผยผู้นำจีนเชิญ"บิ๊กตู่"ร่วมประชุมเอเปกเดือนพ.ย.นี้ สนช.ถกร่างข้อบังคับวาระ 2-3 วันที่ 25 ก.ย.นี้ กมธ.ย้ำต้องมีหมวดถอดถอน แต่งตั้งได้ก็ควรถอดถอนได้
"บิ๊กนมชง"ลุยแก้ปัญหาข้าว
เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 20 ก.ย. ที่วัดดักคะนน ต.ธรรมามูล อ.เมือง จ.ชัยนาท พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ พร้อมด้วยนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่พบปะชาวนากว่า 300 คนเพื่อรับฟังปัญหาโดยเฉพาะราคาข้าวและปัญหาน้ำแล้ง
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า นายกฯ สั่งการให้ รมว.พาณิชย์และ รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่รับทราบปัญหาของประชาชนโดยเฉพาะเรื่องข้าวเพื่อนำไปแก้ไข โดยจะให้ตัวแทนชาวนาเข้าไปพบที่กระทรวงตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป มีการจัดตั้งกลุ่มผู้แทนชาวนาขึ้น 5 กลุ่มทั่วประเทศ เพื่อรับปัญหาจากชาวนาแล้วตนจะเข้าไปพูดคุยกับตัวแทนชาวนาอีกต่อหนึ่ง ทุก 15 วันเราจะมาพูดคุยกัน เราจะไม่รอให้ปัญหาเกิดขึ้น ทั้ง 2 กระทรวงมองว่าถ้าผลิตข้าวที่ดีมีคุณภาพ มีจำนวนที่เหมาะสม การขายของกระทรวงพาณิชย์จะได้ราคาสูงขึ้นได้
ด้านนายปีติพงศ์กล่าวว่า น้ำในเขื่อนต่างๆ ในปีหน้าจะมีน้อย การทำนาปรังครั้งที่ 3 อาจเป็นปัญหา จึงไม่ควรทำนาอย่างยิ่ง สำหรับพื้นที่ชลประทานก็อาจมีปัญหา เช่นกัน ตรงนี้เป็นการเตือนภัยล่วงหน้า ต่อไปกรมชลประทานกับกรมวิชาการเกษตรต้องทำงานร่วมกัน เข้ามาดูแลเกษตรกรที่ไม่สามารถทำนาในเขตชลประทานได้ เล็งหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาล่วงหน้าก่อนเกิดภัยแล้ง
นัดคุยตัวแทนชาวนาทุก 15 วัน
ต่อมาเวลา 10.30 น. ที่วัดโคกโคเฒ่า อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี พล.อ.ฉัตรชัยและนายปีติพงษ์ พร้อมคณะ เดินทางพบปะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวใน จ.สุพรรณบุรี โดยพล.อ. ฉัตรชัยกล่าวว่า ทราบว่าชาวนาอยากขายข้าวได้เกวียนละ 7,900 บาท ซึ่งเราจะทำให้ชาวนาขายข้าวได้ในราคาสูงกว่านั้นและพูดต่อหน้าหลวงพ่อบุญ อดีตเจ้าอาวาสวัดโคกโคเฒ่า จะพยายามทำราคาข้าวให้สูงกว่านี้ ซึ่งนายกฯ ให้ความสำคัญมากเพราะเป็นคนกลุ่มใหญ่ ถ้าขายข้าวดีประเทศมีความสุขแน่นอน ตนรับนโยบายจากนายกฯ ให้ชาวนาทำข้าวแบบมีคุณภาพ และทุก 15 วันเราจะพูดคุยกับตัวแทนชาวนาว่าจะร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างไร และจะเชิญนาย ประภัตร โพธสุธน อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ ไปร่วมพูดคุยด้วย
ชี้"จำนำ-ประกัน"ไม่ใช่ของจริง
"วันนี้คุยกันเรื่องราคาข้าวซึ่งผมอยากให้สูงขึ้น ต้องผลิตข้าวดีๆ มีคุณภาพ จะทำให้ในอนาคตต่างประเทศต้องการข้าวเพิ่มขึ้นแน่นอน ดังนั้น เราต้องผลิตข้าวดีมีคุณภาพ ขอให้ชาวนาอย่าอยู่กับความฝัน เรื่องจำนำ เรื่องประกัน มันไม่ใช่ของจริง วันนี้ต้องตื่น ต้องมาทำจริงๆ แบบยั่งยืน ทำตามที่ในหลวงท่านว่าไม่ต้องคิดใหม่แล้วเพราะท่านคิดมาแล้ว 50-60 ปีแล้วขอให้ทำตามในหลวง เราจะแก้ปัญหาก่อนที่ปัญหาจะเกิด เราจะร่วมกันคิดร่วมกันแก้ปัญหา" พล.อ. ฉัตรชัยกล่าว
ปปช.-อสส.นัดถกปมจำนำข้าว
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการนัดประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างป.ป.ช.กับอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อหาข้อสรุปในสำนวนโครงการรับจำนำข้าวที่ยังมีพยานหลักฐานไม่สมบูรณ์ว่า หลังจากตั้งคณะทำงานร่วมขึ้นมารวม 20 คนแล้ว สำนักงานป.ป.ช.ได้ส่งหนังสือเชิญประชุมไปยังสำนักงานอัยการ โดยนัดประชุมในวันที่ 23 ก.ย.นี้ ที่สำนักงานป.ป.ช. สนามบินน้ำ
นายสรรเสริญกล่าวว่า ทั้งนี้ จะหารือถึง 4 ประเด็นที่ไม่สมบูรณ์ตามที่ อสส.ตั้งข้อสังเกต จะพิจารณาอย่างละเอียดตามข้อกฎหมายเพื่อดูว่ามีข้อตกลงร่วมกันได้ หรือไม่ หากมีข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ หรือถ้า อสส.เห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ทางป.ป.ช.ต้องนำเรื่องกลับมาและรายงานที่ประชุมคณะ กรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ทราบและพิจารณา ส่งฟ้องเอง ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนอยู่แล้ว
เผยจีนเชิญ"บิ๊กตู่"ร่วมวงเอเปก
พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รอง นายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า เพื่ออำลาตำแหน่งผบ.สส. พร้อมทั้งร่วมงานเอ็กซ์โปที่ทางการจีน จัดขึ้น โดยได้หารือกับฝ่ายการเมืองและฝ่ายทหารของจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์แนะนำตัว รวมถึงอธิบายถึงสถานการณ์ ในไทย ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจ รวมทั้งมีโอกาสพูดคุยกับผู้นำประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่ไปร่วมงาน เช่น นายกฯ สิงคโปร์ นายกฯ กัมพูชา รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศเวียดนาม ได้ชี้แจงทำความเข้าใจการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ผ่านมา หากไทยประสบปัญหาก็จะส่งผลกระทบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วย ทั้งนี้ นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ทำหนังสือเชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ไปร่วมประชุมเอเปก ในเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งที่ผ่านมาทางการจีนให้ความสำคัญกับการเชิญผู้ใหญ่ของไทยไปเยือนจีน อยู่แล้ว
"ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์"ว่าที่ปลัดยธ.
รายงานข่าวจากกระทรวงยุติธรรม แจ้งว่า กระทรวงยุติธรรม เตรียมเสนอชื่อ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขึ้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม ต่อครม.ในเร็วๆ นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้พล.ต.อ. ชัชวาลย์ ดำรงตำแหน่งรองผบ.ตร. ก่อนที่คสช.มี คำสั่งฉบับที่ 8/2557 เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ให้มาปฏิบัติหน้าที่อธิบดีดีเอสไอแทนนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ที่ย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอนั้น จะเป็นนายตำรวจระดับสูงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)คนหนึ่ง ถูกโยกมานั่งแทน
ตักบาตรหมู่ - ชาวสงขลาร่วมกันตักบาตรพระสงฆ์ 500 รูปถวายเป็นพุทธบูชาและสร้างความสมานฉันท์ โดยจะนำภัตตาหารไปถวายวัดต่างๆ ในพื้นที่ 4 จว.ชายแดนภาคใต้ ที่หน้าวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จ.สงขลา |
ทีมโฆษกพร้อมเปิดเผยข้อมูล
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวทางการทำงานของทีมโฆษกรัฐบาลว่า มีหน้าที่ชี้แจงการทำงานของรัฐบาล ทั้งการประชุมคณะรัฐมนตรี และการทำงานของกระทรวงต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจการทำงานของรัฐบาลอย่างเต็มที่ รัฐบาลนี้จะมีที่มาไม่เหมือนรัฐบาลชุดก่อนๆ เพราะไม่ได้มาจากพรรคการเมือง จึงเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชนได้ เพราะไม่ต้องกังวลถึงผล กระทบทางการเมือง ข้อมูลที่เป็นแนวทางชัดเจนแล้วสามารถเปิดเผยได้เลย แต่อะไรที่ยังอยู่ในการพิจารณาเราทำได้แค่บอก กรอบกว้างๆ และรายงานความคืบหน้า เพราะหากพูดไปก่อนมีความชัดเจนประ ชาชนอาจสับสนได้ แต่ถ้าพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วถึงจะให้ข้อมูลได้
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ส่วนการช่วย นายกฯ ชี้แจงข้อมูลต่างๆ นั้น ทีมงานโฆษกจะเป็นผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากที่นายกฯ ได้พูดไป เพราะบางครั้งนายกฯ พูดในภาพกว้างเท่านั้น ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด ยืนยันว่าเราพร้อมให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน และเปิดให้สอบถามข้อสงสัยต่างๆ อย่าง เต็มที่
คสช.สั่งยกเลิกตั้งกก.คัดเลือกสปช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจ จานุเบกษา ได้เผยแพร่คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 121/2557 เรื่องยกเลิกคําสั่ง คสช.ที่ 117/2557 ว่า ตามที่ได้มี คําสั่ง คสช.ที่ 117/2557 ลงวันที่ 17 ส.ค.2557 กําหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทําหน้าที่พิจารณาคัดเลือกบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น สปช.นั้น โดยที่มาตรา 30 (6) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กําหนดให้ คสช.คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น สปช. จากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอจํานวนไม่เกิน 250 คน
ดังนั้น อํานาจในการพิจารณาคัดเลือก ผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น สปช. ให้เหลือจํานวนดังกล่าวจึงเป็นอํานาจของ คสช.ตามที่รัฐธรรมนูญกําหนดเพื่อให้กระบวนการคัดเลือก สปช. เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 15 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหา สปช. คสช.จึงมีคําสั่งให้ยกเลิกคําสั่ง คสช.ที่ 117/2557 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกสปช. ลงวันที่ 17 ส.ค.2557 ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่งวันที่ 19 ก.ย.2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.
ชี้มาตรา 30 ให้เป็นอำนาจคสช.
พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษก คสช. กล่าวว่า เนื่องจากในรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 กำหนดให้เป็นเรื่องของ คสช.เป็นผู้ดำเนินการ โดยรับรายชื่อมาจากคณะกรรมการคัดสรรเสนอขึ้นมาเป็นหลัก ซึ่งผ่านกระบวน การพิจารณาภายใต้หลักการคือให้ได้ผู้มีความรู้ความสามารถในลักษณะทั่วถึง ทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ ทุกภูมิภาค อาจมีปัญหาบ้างในเรื่องของจำนวนผู้ที่สนใจจำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมการคัดสรรคงมีมาตรการตรวจสอบที่สมบูรณ์ที่สุดในชั้นต้นมาแล้วอย่างดี และ คสช.ก็มีผู้ทรงคุณวุฒิ มีคณะที่ปรึกษาร่วมพิจารณาอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่
กกต.ยันไม่กระทบงานสรรหาสปช.
นายบุญยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการส่งรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา สปช.ประจำจังหวัด ให้คสช. ว่า สำนักงาน กกต.ได้ส่งรายชื่อให้ คสช.แล้วชุดหนึ่ง และจะรอรวบรวมรายชื่อส่งให้ คสช.อีกครั้งในวันที่ 23 ก.ย.นี้ ส่วนที่ คสช.ยกเลิกคําสั่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก สปช. 14 คนนั้น การคัดเลือก สปช.เป็นอำนาจของ คสช.โดยตรงอยู่แล้วตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว จึงไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการอีกชุดขึ้นมาทำหน้าที่ดังกล่าว และการยกเลิกคณะกรรมการดังกล่าวก็ไม่ส่งผลต่อการคัดเลือก สปช.
ส่วนที่มีผู้เสนอชื่อเข้ารับการสรรหาต่อคณะกรรมการสรรหา สปช.จังหวัดสุรินทร์ ร้องเรียนว่าการคัดเลือก สปช.ของ จ.สุรินทร์ อาจไม่โปร่งใสเนื่องจากกรรมการบางคนเป็นเครือญาติกับผู้เสนอชื่อนั้น นายบุญยเกียรติกล่าวว่า สำนักงาน กกต.ยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียน แต่เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดจะคัดเลือกรายชื่อเสนอให้ คสช.พิจารณา หากสำนักงาน กกต.ได้รับการร้องเรียนก็ต้องตรวจสอบ โดยให้คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดทำหนังสือชี้แจง
อดีตรองปธ.วุฒิร้องสุรินทร์ส่อทุจริต
นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ อดีตรองประธานวุฒิสภา เปิดเผยว่า ในฐานะผู้เข้ารับการสรรหาเป็น สปช.จ.สุรินทร์ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธาน กกต.และประธานกรรมการสรรหา สปช. จ.สุรินทร์ เพื่อให้ตรวจสอบกรณีกรรมการสรรหา สปช.จ.สุรินทร์คนหนึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เข้ารับการสรรหา เนื่องจากเป็นเครือญาติกัน หากกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องจริงจะทำให้กระบวนการสรรหา สปช.จ.สุรินทร์ ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรมต่อผู้สมัครคนอื่น จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเพื่อแก้ไขให้กระบวนการสรรหา สปช. เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริงตามที่นายกฯ ประกาศว่าจะทำให้โปร่งใส ไม่มีการล็อก สเป๊ก หรือกำหนดตัวบุคคลไว้ล่วงหน้า
กมธ.ยันต้องมีหมวดถอดถอน
นายตวง อันทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับ สนช. เปิดเผยว่า การพิจารณาร่างข้อบังคับ สนช.วาระ 2-3 น่าจะเข้าสู่การประชุม สนช.ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ โดยขณะนี้มีผู้เสนอขอแปรญัตติเพียงคนเดียวคือ นายธานี อ่อนละเอียด ในหมวดถอดถอน ตนยืนยันว่า สนช.จำเป็นต้องมีข้อบังคับหมวดถอดถอนเอาไว้ ขณะเดียวกันเราก็มีอำนาจในการแต่งตั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามมาตรา 6 และมาตรา 13 ของรัฐธรรม นูญฉบับชั่วคราว และไม่ได้เกี่ยวข้องกับความปรองดองหรือไม่ปรองดอง มันเป็นเรื่องกฎหมาย เมื่อมีการกระทำผิดก็ต้องลงโทษ และเรายังไม่รู้ว่าจะมีการถอดถอนบุคคลใดบ้าง อย่าเพิ่งจินตนาการ
รับ"ป๋า" - พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เดินทางมาชมการแสดงคอนเสิร์ตของวงดุริยางค์ฟิลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ที่หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีรศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ต้อนรับ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. |
"ธานี"ชงตั้งกก.ศึกษาคดีก่อน
นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิก สนช. กล่าวว่า ตนได้ขอแปรญัตติร่างข้อบังคับการประชุมสนช. หมวดถอดถอน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ เสนอตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง มีสมาชิก 19 คน มาจากตัวแทน กมธ.สามัญประจำ สนช.ทั้ง 16 คณะ คณะละ 1 คน ส่วนอีก 3 คนมาจากวิปสนช. ทำหน้าที่ศึกษาตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของคดีถอดถอนแต่ละคดี โดยจะไม่ทำรวมกันทั้งหมด เนื่องจากบุคคลที่ถูกชี้มูลมีฐานความผิดแตกต่างกัน อาทิ กระทำการทุจริต กระทำขัดรัฐธรรมนูญ จากนั้นคณะกรรมการจะสรุปความคิดเห็นให้ที่ประชุม สนช.ใหญ่ลงมติว่าจะถอดถอนคดีนั้นๆ หรือไม่ต่อไป
จี้สนช.ยึดโรดแม็ปสร้างปรองดอง
นายธานี กล่าวว่า ส่วนที่ สนช.บางคนระบุว่าเมื่อ สนช.มีอำนาจแต่งตั้งก็ต้องมีอำนาจถอดถอนนั้น เราต้องพิจารณาถึงหลักการทางกฎหมาย จะเห็นว่าการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งคือกฎหมายที่เป็นคุณแก่องค์กร แต่การถอดถอนคือกฎหมายที่เป็นโทษ ต้องถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี และในบางกรณีก็ตลอดชีวิต อีกทั้งยังไม่ชัดเจนว่าจะกระทำการถอดถอนบุคคลที่ถูกชี้มูลตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ขณะนี้ไม่มีแล้วได้หรือไม่ ดังนั้น การถอดถอนของ สนช.ต้องระมัดระวัง และ สนช.จำเป็นต้องคำนึงถึงโรดแม็ปของ คสช.ที่ต้องการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นด้วย
"ยืนยันว่าผมไม่ได้เข้าข้างใคร เพียงแต่ต้องการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นและให้ สนช.เดินในทางที่เป็นกลาง จึงอยากเตือนสติเพื่อนสมาชิกทุกคนให้ฉุกคิดว่าเรามีอำนาจถอดถอนหรือไม่ หวังว่าจะเห็นด้วยกับการแปรญัตติเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า สนช.ไม่ใช่สภาตรายางที่จะถูกใครชี้นำได้ง่ายๆ" นายธานีกล่าว
เครือข่ายยางใต้ชี้แนวทางรัฐสูญเปล่า
ที่ จ.นครศรีธรรมราช นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ เผยว่า หลังจากรัฐบาลได้สรุปแผนความช่วยเหลือชาวสวนยางพารามานั้น เห็นว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง เงินทั้งหมดสูญเปล่า โดยเฉพาะ 1 หมื่นล้านที่ให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กู้ยืมนั้นไม่ชัดเจนว่าจะรับซื้อยางอย่างไร หากขาดทุนใครจะรับผิดชอบ จะให้ สกย.รับผิดชอบใช่หรือไม่ พยายามสอบถาม สกย.หลายส่วนต่างยืนยันชัดเจนว่าไม่ทราบว่าจะกู้มาเพื่ออะไร
นายทศพลกล่าวว่า ส่วนภาคีเครือข่าย 16 จังหวัดนั้นยืนยันว่าในวันที่ 8 ต.ค. เรายังไม่มีความเคลื่อนไหวเพื่อกดดันรัฐบาล แต่เราจะร่วมกันหารือเวทีใหญ่ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อสังเคราะห์กรอบการแก้ไขปัญหาออกมาให้ชัดเจนที่สุด สิ่งที่รัฐบาลพยายามจัดการนั้น ยังอยู่ในชุดความคิดแบบเดิมๆ จากกลุ่มทุนอิทธิพลที่ครอบงำยางพาราไทยมานาน 30-40 ปีแล้ว และก่อนหน้านั้นคือวันที่ 29 ก.ย. เราจะหารือกับชุมนุมสหกรณ์การเกษตรชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย ที่สกย.เขต 1 จังหวัดสงขลา เพื่อให้ทุกส่วนมีแนวที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ป้ายพรึ่บเมืองคอน-ต้านผวจ.คนใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครศรี ธรรมราชว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 20 ก.ย. บริเวณเส้นทางจากท่าอากาศยานนครศรี ธรรมราช ต.ปากพูน อ.เมือง มุ่งหน้ามาตามถนนอ้อมค่ายวชิราวุธ ต.ท่าวัง และต.คลัง อ.เมืองนครศรีธรรมราช มีการติดตั้งแผ่นป้ายไวนิล ข้อความต่อต้านการเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯนครศรีธรรมราชของนายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ที่จะเดินทางมารับตำแหน่ง โดยระบุว่า "พวกเราคนคอน ไม่เอาผู้ว่าฯ เสื้อแดง" ซึ่งมีคนนำไปปิดไว้ตามจุดต่างๆ
กระทั่งเวลา 11.00 น. ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทหารปลดป้ายไวนิลออกจนหมดแล้ว ซึ่งมีจำนวน 86 ป้าย อย่างไรก็ตาม หลังมีป้ายต่อต้านผู้ว่าฯ คนใหม่เกิดขึ้น มีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า สาเหตุมาจากความขัดแย้งบางกลุ่มในวงการมหาดไทยที่มีปัญหาไม่พอใจนายพีระศักดิ์ ในการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมา ฝ่ายต่อต้านจึงจงใจขึ้นป้ายเพื่อดิสเครดิตก่อนมาปฏิบัติหน้าที่ใน จ.นครศรีธรรมราช อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ต.ค.นี้
เผยงบฯซ่อมรังนกกระจอก2ล้าน
วันที่ 20 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบทำเนียบรัฐบาล หลังจากดำเนินการในส่วนของตึกไทยคู่ฟ้า และตึกบัญชาการ 1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ประสานงานกรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการปรับปรุงห้องปฏิบัติงานผู้สื่อข่าว (รังนกกระจอก) ทั้ง 3 ห้อง เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของสื่อมวลชนทุกแขนง โดยวันเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่กรมโยธาฯ ได้สำรวจพื้นที่อีกครั้งหนึ่งก่อนเริ่มให้ช่างลงมือปรับปรุง โดยระบุว่า จะทำความสะอาดแอร์ ติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกรอบด้านของรังนกกระจอก และทาสีหลังคา รวมทั้งทาสีภายนอกตัวอาคารใหม่ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับตัวตึกที่อยู่ใกล้เคียง ได้แก่ ตึกไทยคู่ฟ้า ตึกบัญชาการและตึกนารีสโมสร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบราคากลางงานปรับปรุงรังนกกระจอก จากเว็บไซต์ของกรมโยธาฯ พบว่าเมื่อวันที่ 22 ส.ค. มีการเผยแพร่รายงานละเอียดงานบางส่วน โดยใช้งบฯ ทั้งหมด 2,020,000 บาท ด้วยวิธีพิเศษ ในส่วนของรังนกกระจอก 1 จะใช้งบฯ ทั้งหมด 622,000 บาท แบ่งเป็นงานปรับปรุงอาคาร 352,000 บาท งานปรับปรุงพื้นที่โดยรอบ 90,000 บาท งานจัดหาครุภัณฑ์ตู้ล็อกเกอร์ 1 ชุด 180,000 บาท ส่วนรังนกกระจอก 2-3 ใช้งบฯ 998,000 บาท แบ่งเป็นงานปรับปรุงอาคาร 968,000 บาท และงานปรับปรุงพื้นที่โดยรอบ 30,000 บาท
โพลหนุน"บิ๊กตู่"อยู่ยาว-จี้แก้โกง
วันที่ 20 ก.ย. ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "คะแนนนิยมพรรคการเมืองไทย หลังจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" จากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,170 คน ระหว่างวันที่ 17-18 ก.ย. พบว่า คะแนนนิยมของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ที่ร้อยละ 24.0 เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจเมื่อเดือนมี.ค. 2557 ร้อยละ 5.6 (จากเดิมร้อยละ 18.4) ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย มีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 22.3 ลดลงจากผลสำรวจครั้งก่อนร้อยละ 4.5 (จากเดิมร้อยละ 26.8)
เมื่อถามว่าหากวันนี้เป็นวันเลือกตั้งจะเลือกพรรคใด ร้อยละ 27.4 ระบุจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนร้อยละ 8.4 รองลงมาร้อยละ 23.5 จะเลือกพรรคเพื่อไทย ซึ่งลดลงจากครั้งก่อนร้อยละ 5.8 และร้อยละ 2.8 จะเลือกพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3
ส่วนอยากให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีเวลาการทำงานอย่างไร พบว่าร้อยละ 66.4 อยากให้ทำงานจนกว่าประเทศจะเรียบร้อยในทุกด้าน โดยอาจจะมากกว่า 1 ปี ร้อยละ 33.6 อยากให้ทำงานแล้วเสร็จภายใน 1 ปี และจัดให้มีการเลือกตั้ง
ส่วนปัญหาที่อยากให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ปฏิรูปให้เสร็จภายใน 1 ปีมากที่สุดคือ ปัญหาการคอร์รัปชั่น ร้อยละ 30.8 รองลงมาคือ ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 30.1 และปัญหาความแตกแยกในสังคม ร้อยละ 19.8
บช.น.นัดถกโผรองผบช.-ผบก.
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) รายงานข่าวแจ้งว่า พล.ต.ต.อดุลย์ รัตนภิรมย์ ผบก.อก.บช.น. ได้ทำหนังสือเชิญรอง ผบช.น.ทั้งหมดประชุมพิจารณาจัดทำบัญชีผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เพื่อดำรงตำแหน่งระดับรอง ผบช.-ผบก. วาระประจำปี 2557 โดยบช.น.ได้กำหนดให้มีการประชุมพิจารณาจัดทำบัญชีผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเพื่อดำรงตำแหน่งระดับรอง ผบช.-ผบก. วาระประจำปี 2557 ในวันที่ 23 ก.ย. เวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุมปารุสกวัน 2 หลังการประชุมพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการตำรวจครั้งที่ 2/2557 เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางที่ ตร.กำหนด และขอให้ ผบก.ทุกหน่วยจัดเตรียมข้อมูลและเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงข้อมูลดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณา
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ตำแหน่งว่างระดับรอง ผบช.-ผบก. สังกัดบช.น.นั้น ตำแหน่งรองผบช.น. ว่าง 1 ตำแหน่ง โดยแทนที่ตำแหน่งของพล.ต.ต.ชยุต ธนทวรรัชต์ รอง ผบช.น. ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบช.ตำแหน่ง จตร.(สบ 8) และระดับ ผบก.ว่าง 3 ตำแหน่ง แทนที่ตำแหน่งของพล.ต.ต.สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ ผบก.น.5 พล.ต.ต.ทักษิณ พ่วงเงิน ผบก.ประจำ บช.น. และพล.ต.ต.ประยนต์ ลาเสือ ผบก.สส.บช.น. ที่จะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 ก.ย.นี้ รวมถึงตำแหน่งที่ถูกให้ช่วยราชการอีก 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ผบก.น.1 และ ผบก.น.6 ที่อาจจะพิจารณาคัดเลือกบุคคลผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทน
รายงานข่าวแจ้งว่าขณะนี้ในสังกัดบช.น.มีรอง ผบก.มีอาวุโสเป็นผู้เหมาะสมดำรง ตำแหน่งผบก. 42 นาย และ ผบก.มีอาวุโสเป็นผู้เหมาะสมขึ้นดำรงตำแหน่งรอง ผบช. 5 นาย ทั้งนี้ พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วยผบ.ตร. รรท.ผบช.น. จะเป็นผู้พิจารณาเสนอรายชื่อผู้เหมาะสมให้ ตร.พิจารณาคัดเลือกตำแหน่งดังกล่าวทั้งหมดภายในวันที่ 26 ก.ย.
"ดาว์พงษ์"ลงพื้นที่แก้รุกที่สิรินาถ
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 ก.ย. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่จากภารกิจทวงคืนผืนป่า หลังนายกิตติพัฒน์ ธาราภิบาล หน.อุทยานฯ สิรินาถ ถูกข่มขู่จนต้องขอย้าย ซึ่งพล.อ. ดาว์พงษ์ได้ใช้เวลาพูดคุยกับนายกิตติพัฒน์เป็นการส่วนตัวประมาณ 10 นาที
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า จากการสอบถามทราบว่าก่อนหน้านี้มีการข่มขู่ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว โดยนายกิตติพัฒน์ก็ยินดีที่จะอยู่ต่อ ตอนนี้มีพื้นที่ร้อยละ 20 ของพื้นที่เกาะภูเก็ต ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ส่วนอีกร้อยละ 80 เป็นพื้นที่ที่มีการออกโฉนดอย่างถูกต้อง ซึ่งการแก้ปัญหานี้จะใช้ความรุนแรงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้เหตุผลและข้อกฎหมายเป็นหลัก โดยตนอยากให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแปลงที่เป็นปัญหา แต่ยังไม่มีสิ่งปลูกสร้าง พวกนายทุนจะได้ไม่ต้องมาลงทุนสร้างอะไร ส่วนพื้นที่ที่มีสิ่งปลูกสร้างแล้วก็แจ้งให้ทราบว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบและให้หยุดการดำเนินการจนกว่าการตรวจสอบจะสิ้นสุด
รมว.ทส.กล่าวต่อว่า ส่วนใครที่จะมาลงทุนใน จ.ภูเก็ต และต้องการซื้อที่ดิน หากไม่แน่ใจให้ตรวจสอบกับสำนักงานที่ดินอุทยานฯ สิรินาถ ว่าที่ดินแปลงนั้นๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการถูกหลอก ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ากรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้มีปัญหาขัดแย้งกับกรมที่ดินนั้น ตนยืนยันว่าไม่ใช่อย่างนั้น เพราะที่ผ่านมาต่างก็ทำงานร่วมกันเพียงอาจมีความเห็นต่างกันในบางเรื่อง ซึ่งต่อจากนี้ก็จะทำงานร่วมกันง่ายขึ้น เพราะตนได้รับการประสานจาก รมว.มหาดไทยในเรื่องการอำนวยความสะดวกทำงานร่วมกันของทั้งสองกระทรวง
ด้านนายกิตติพัฒน์กล่าวว่า หลังได้พูดคุยกับพล.อ.ดาว์พงษ์ซึ่งสร้างความมั่นใจและพร้อมที่จะช่วยเหลือสนับสนุนในการทำงานอย่างเต็มที่ ตนก็จะไม่ขอย้ายออกนอกพื้นที่ พร้อมเดินหน้าปฏิบัติการทวงคืนผืนป่ากลับมาเป็นสมบัติของชาติ
โละ 14 นายพลคัดสปช. 'บิ๊กตู่'นำเฟ้น ชี้รธน.ชัด-อำนาจคสช. พท.จวกทีมกม.หลวม นักวิชาการขอเสรีภาพ ล้มอีกเวทีสัมมนามช.
มติชนออนไลน์ :
คสช.ยกเลิกคำสั่งตั้ง กก.เคาะ สปช. โฆษกชี้เป็นอำนาจของ คสช.อยู่แล้ว 'เรืองไกร'ซัดกุนซือบกพร่อง ไม่กลั่นกรองก่อนชง'บิ๊กตู่'
@ ยกเลิกคำสั่งตั้ง 14 กก.เคาะสปช.
เมื่อวันที่ 20 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่ง คสช.ที่ 121/2557 ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 117/2557 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2557 ที่ตั้งคณะกรรมการ 14 คน เพื่อคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ
ทั้งนี้ คำสั่ง คสช.ที่ 121/2557 ระบุว่า เรื่อง ยกเลิกคําสั่ง คสช.ที่ 117/2557 ตามที่ได้มีคําสั่ง คสช. ที่ 117/2557 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2557 ซึ่งกําหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทําหน้าที่พิจารณาคัดเลือกบุคคล ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก สปช.นั้น โดยที่มาตรา 30 (6) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้กําหนดให้ คสช.คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก สปช. จากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ จํานวนไม่เกิน 250 คน ดังนั้น อํานาจในการพิจารณาคัดเลือกผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก สปช.ให้เหลือจํานวนดังกล่าว จึงเป็นอํานาจของ คสช.ตามที่รัฐธรรมนูญกําหนด
เพื่อให้กระบวนการคัดเลือกสมาชิก สปช.เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และมาตรา 15 แห่งพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการสรรหาสมาชิก สปช. พ.ศ.2557 คสช.จึงมีคําสั่งให้ยกเลิกคําสั่ง คสช. ที่ 117/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกสมาชิก สปช. ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2557 ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
@ 'วินธัย'แจงเป็นอำนาจคสช.
พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษก คสช. กล่าวว่า การยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 117/2557 เนื่องจากรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 30 กำหนดให้เป็นเรื่องของ คสช.เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก สปช.อยู่แล้ว โดยรายชื่อที่คณะกรรมการคัดสรร สปช.เสนอขึ้นมานั้น ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาภายใต้หลักการคือ ให้ได้ผู้มีความรู้ความสามารถในลักษณะทั่วถึง ทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ ทุกภูมิภาค รวมทั้งได้มีมาตรการตรวจสอบที่สมบูรณ์ที่สุดในชั้นต้นมาแล้วเป็นอย่างดี ดังนั้น ในส่วนของ คสช.มีผู้ทรงคุณวุฒิ มีคณะที่ปรึกษาร่วมกันพิจารณา จึงไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการใดๆ ขึ้นใหม่
@ นักวิชาการชี้คำสั่งชอบกม.
นายยอดพล เทพสิทธา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงกรณี คสช.ออกคำสั่ง คสช.ที่ 121/2557 เรื่องให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 117/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกสมาชิก สปช. ว่าประเด็นมีปัญหาคือ สถานะคำสั่งของ คสช. ต้องดูว่าอยู่ในสถานะอะไร ถ้าออกมาในคำสั่ง หรือประกาศที่เห็นว่ามีความจำเป็นก็สามารถทำได้ เพราะมีรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 44 รองรับไว้หมดแล้วที่เปิดโอกาสให้หัวหน้า คสช.สามารถออกคำสั่ง หรือประกาศใดๆ ก็ได้ที่เห็นว่าจำเป็นต้องออก ฉะนั้น จึงมีสิ่งที่ซ้อนกันอยู่ในระบบการปกครองตอนนี้คือ มีรัฐธรรมนูญที่เหมือนเป็นแม่บทการปกครอง แต่ในทางกลับกัน ก็รับรองว่าประกาศหรือคำสั่ง คสช.ที่ออกมาไม่ว่าจะพิสดาร ผิดแผกอย่างไร ก็ชอบด้วยกฎหมายได้
"ประเด็นที่ คสช.ยกเลิกคำสั่ง มองว่ารัฐธรรมนูญระบุไว้อยู่แล้วให้ คสช.ดำเนินการได้ แต่ประเด็นอยู่ที่ความต้องการลดความซ้ำซ้อนว่าจะใช้แบบใดกันแน่ ระหว่างตามรัฐธรรมนูญ หรือตามประกาศ หรือคำสั่ง คสช. ประการต่อมา มองว่าไม่ใช่ประเด็นกฎหมาย แต่คิดว่าเป็นความรู้สึกมากกว่าว่าพยายามจะผ่อนคลาย เพื่อไม่ให้การกระทำทั้งหลายออกมาในรูปแบบ คสช." นายยอดพลกล่าว
@ 'เรืองไกร'ซัดฝ่ายกม.บกพร่อง
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ความที่ไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการสรรหา สปช. ให้ถ่องแท้ก่อนนำคำสั่งเสนอหัวหน้า คสช. ของฝ่ายกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหา โดยคำสั่งที่ 117/2557 ได้อ้างมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 15 ของ พ.ร.ฎ. ซึ่งทั้ง 2 มาตรานี้ ไม่มีมาตราไหนให้อำนาจตั้งคณะกรรมการคัดเลือก สปช.เลย เพราะอำนาจในการคัดเลือกเป็นของ คสช.เต็มๆ ทั้งนี้ คสช.ได้ตั้งคณะกรรมการสรรหามาแล้ว 11 คณะ และคณะกรรมการสรรหาของจังหวัดแล้ว ขั้นต่อไป คสช.จะต้องเป็นผู้คัดเลือก สปช.
นายเรืองไกร กล่าวว่า การออกคำสั่งที่ 121/2557 มา จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ทำให้เห็นว่าคนที่ดูเรื่องกฎหมายทำไมถึงปล่อยให้หลุดออกมาได้ ทำไมเสนอให้หัวหน้า คสช.เซ็นชื่อ และเมื่อหัวหน้า คสช.เซ็นแล้วก็ไม่ได้กรองต่อ โดยฝ่ายกฎหมายของ คสช. หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ควรดูเรื่องของกฎหมายให้ถี่ถ้วน และไม่ควรให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก
@ 'เอกชัย'ชี้ยกเลิกไม่ขัดรธน.
นายเอกชัย ไชยนุวัติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า การยกเลิกคำสั่งของ คสช.นั้น ตามหลักกฎหมายวิชาการทั่วไปอาจระบุได้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะมีการประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้วกลับยกเลิก แต่ขณะนี้อำนาจของ คสช.ในรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ระบุให้ พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญชั่วคราวในตอนนี้จึงเป็นแค่รูปแบบที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สามารถใช้กฎหมายเพื่อปกครองประเทศได้ รัฐธรรมนูญในขณะนี้ไม่ใช่การปกครองภายใต้ระบอบนิติรัฐ
"หัวหน้า คสช.ยอมรับเองว่า ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น การปกครองประเทศในตอนนี้จึงไม่มีการวิจารณ์เรื่องประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้งใดๆ และตามรัฐธรรมนูญ หัวหน้า คสช.มีอำนาจเหนือกฎหมาย การยกเลิกประกาศดังกล่าวจึงไม่ถือว่ามีความผิดสำเร็จหรือขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด" นายเอกชัยกล่าว
@ กกต.ส่งชื่ออีกครั้ง 23 กันยาฯ
นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า กกต.ได้ส่งรายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก สปช. ที่คณะกรรมการสรรหาคัดสรรแล้วให้ คสช.แล้วชุดหนึ่ง และจะรอรวบรวมรายชื่อส่งให้ คสช.อีกครั้งในวันที่ 23 กันยายนนี้
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. ในฐานะคณะกรรมการสรรหาสมาชิก สปช. ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีที่ไม่มีการเปิดเผย 550 รายชื่อ สปช.ที่ผ่านการคัดสรรในรอบแรกจนหลายฝ่ายกังวลเรื่องการล็อกสเปก ว่าคงไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ โดยหลักเกณฑ์การคัดสรรยึดหลักความหลากหลาย เพศ อายุ ภาคต่างๆ ทั้งรัฐบาลและเอกชน ฯลฯ ซึ่งระบุไว้ในกฤษฎีกา ขณะที่การเปิดเผยรายชื่อนั้นเป็นอำนาจของกรรมการ คสช.ชุดใหญ่
ผู้สื่อข่าวถามว่า การไม่เปิดเผยรายชื่อนี้ เป็นการป้องกันการวิ่งเต้นใช่หรือไม่ นพ.เจตน์กล่าวว่า เรื่องการวิ่งเต้นนี้คงห้ามไม่ได้หรอก แต่คณะกรรมการพยายามจะป้องกันอย่างเต็มที่
@ 'บิ๊กกี่'ย้ำไม่มีล็อกสเปก
พล.อ.นพดล อินทปัญญา ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาสมาชิก สปช. ด้านสื่อมวลชน กล่าวถึงกรณีการสรรหา สปช. 250 คน ว่าไม่มีแน่นอนในเรื่องของการล็อกสเปก โดยต้องเชื่อมั่นในกรรมการสรรหาแต่ละคณะ อย่างเช่นคณะสรรหาด้านสื่อมวลชน แต่ละคนที่เข้ามาเป็นกรรมการเป็นตัวเบิ้มๆ ของวงการสื่อสารมวลชน ใครจะกล้าไปล็อกสเปก ไม่มีทางเลย
"ที่เขาขอให้ปิดรายชื่อเอาไว้ก่อน คิดว่าเพราะเขากลัวการวิ่งเต้น ผมยืนยันว่าไม่มีการล็อกสเปกแน่นอน กรรมการแต่ละคนเขามีศักยภาพ เขาไม่ยอมให้ใครมาสั่งได้หรอก ผมก็ไม่กล้าไปสั่งใคร โดยหลักเกณฑ์การคัดเลือกเป็นความคิดของแต่ละบุคคล ซึ่งจะคัดเลือกคนดี คนที่จะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ คนที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนในการปฏิรูปประเทศชาติ ก็ยึดหลักนี้ เชื่อเถอะว่าทุกคนที่ได้รับการคัดสรรเป็นคนที่สังคมยอมรับ" พล.อ.นพดลกล่าว
@ ร้องสรรหา'สุรินทร์'ไม่โปร่งใส
นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ อดีตรองประธานวุฒิสภา เปิดเผยว่า ในฐานะผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิก สปช. จังหวัดสุรินทร์ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธาน กกต.และประธานกรรมการสรรหาสมาชิก สปช. จังหวัดสุรินทร์ เพื่อให้ตรวจสอบกรณีกรรมการสรรหา สปช.จังหวัดสุรินทร์คนหนึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เข้ารับการสรรหา เนื่องจากเป็นเครือญาติกัน
"หากกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องจริง จะทำให้กระบวนการสรรหา สปช.จังหวัดสุรินทร์ เกิดความไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรมต่อผู้สมัครคนอื่นๆ จึงต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเพื่อพิจารณาแก้ไขให้กระบวนการสรรหา สปช. เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยประกาศเอาไว้ว่า จะทำให้โปร่งใส ไม่มีการล็อกสเปกหรือกำหนดตัวบุคคลไว้ล่วงหน้า" นพ.อนันต์กล่าว
@ กห.ชี้แจงหน้าที่'ศูนย์มั่นคง'
พ.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการการจัดตั้งศูนย์การแก้ไขปัญหาความมั่นคงแบบบูรณาการ จาก 4 กระทรวงหลัก และ 1 กรม ไว้ที่กระทรวงกลาโหม มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ว่า ศูนย์นี้เป็นแกนหลักของ 4 กระทรวงหลัก และ 1 กรม คือ 1.กระทรวงกลาโหม 2.กระทรวงแรงงาน 3.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) 4.กระทรวงมหาดไทย และ 1 กรม คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)
"กระบวนการทำงานด้านความมั่นคงทั้งหมดจะมีความเชื่อมโยงสอดคล้องซึ่งกันและกัน เช่น ทส.จะเน้นการดูแลความมั่นคงด้านธรรมชาติ การตัดไม้ทำลายป่า กระทรวงแรงงานดูแรงงานต่างชาติ ที่สำคัญต้องแก้ไขปัญหาการปรับระดับการใช้แรงงานมนุษย์ของไทยให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น กระทรวงมหาดไทยจะไปเชื่อมโยงกับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดต่างๆ ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนในลักษณวันสต๊อปเซอร์วิส" พ.อ.คงชีพกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ศูนย์มั่นคงจะรับผิดชอบต่อการเคลื่อนไหวกลุ่มผู้เห็นต่างหรือไม่ พ.อ.คงชีพกล่าวว่า "ไม่เกี่ยวกัน เราทำงานคนละส่วน"
@ 'นิพิฏฐ์'ปลอบ'บิ๊กตู่'อย่าน้อยใจ
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงการห้ามมิให้กลุ่มนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ จัดเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดว่า "ผมไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ผมรู้ตัวผมดี" อยากบอกว่า อย่าน้อยใจว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะนักการเมืองจะมีอาวุธร้ายแรงชนิดหนึ่งไว้ทำร้ายฝ่ายตรงข้ามคือ คำพูดที่ว่า เรามาจากการเลือกตั้ง หากตั้งรับไม่ดีจะตกม้าตาย และตกไปหลายคนแล้ว แม้ตนจะเคยใช้อาวุธนี้ แต่มิใช่ว่าจะใช้ได้พร่ำเพรื่อ ดังนั้นจึงอยากขอให้คำว่า ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นจุดแข็ง อย่าให้กลายเป็นจุดอ่อนทำให้รำคาญใจ หรือหมดกำลังใจ และการฟังคนพูดเกี่ยวกับการเมือง ก็เหมือนกับการฟังธรรมะ ต้องดูคนที่พูดและเลือกฟังให้ดี เพราะบางครั้งโจรก็เปล่งธรรมะได้เหมือนกัน
@ ค้านเบรกเสวนาการเมือง
นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารระงับการจัดเสวนาเรื่อง "ห้องเรียนประชาธิปไตย : บทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา พร้อมเชิญนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนักศึกษาไปพูดคุยที่ สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ว่า ปัญหานี้ไม่ได้คิดว่า เป็นเรื่องเฉพาะเสรีภาพทางวิชาการ แต่เป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นของคนทั้งหมดในสังคม ไม่ใช่เฉพาะเพียงอาจารย์มหาวิทยาลัย คิดว่าต่อให้อาจารย์มหาวิทยาลัยพูดอะไรได้แต่ชาวบ้านพูดไม่ได้ ก็ไม่น่าพอใจ
"การพูดอะไรฝ่ายเดียวโดยที่ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นได้เถียง ได้แสดงข้อมูลแสดงความเห็น เท่ากับว่าสังคมไม่มีโอกาสที่จะตรวจสอบเลย หมายความว่า เราไม่รู้เลยว่าที่ทำกันนั้นทำออกมาดีหรือไม่ดี ทุจริตหรือไม่ทุจริต โปร่งใสหรือไม่โปร่งใส ถ้าทั้งหมดถูกทำให้เงียบลงด้วยอำนาจ" นายสมชายกล่าว และว่า ยิ่งสถานการณ์ไม่ปกติยิ่งจะต้องให้มีการแสดงความคิดเห็นเพิ่มขึ้น เพราะยิ่งสังคมไม่ปกติแสดงว่ามีปัญหามาก เมื่อมีปัญหามากสิ่งที่ต้องการคือ ความคิดเห็น ความรู้ มุมมองที่ต่างกันในการแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยปัญญาไม่ใช่ด้วยการใช้อำนาจ
@ ชี้ยิ่งปิดกั้นคนยิ่งเล่นใต้ดิน
นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า เสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนทั่วไป อีกอย่างหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในทางวิชาการด้วย ประกอบกันทั้งสองอัน ประเด็นไม่ใช่เรื่องเฉพาะการระงับหรือสั่งให้เลิก เพราะมองเห็นความไม่เท่าเทียมกันอยู่ในหลายๆ เรื่องหลายๆ ประเด็น เพราะจากการสังเกตเข้าใจว่า ไม่ใช่เรื่องหัวข้อที่พูด แต่เกี่ยวกับว่าใครเป็นวิทยากรมากกว่า ลองสังเกตดูบางเวทีจัดได้สบาย บางเวทีหัวข้อยิ่งกว่านี้อีก
"สถานการณ์ไม่ปกติจะนานขนาดไหน ยาวขนาดไหนก็เหมือนกาน้ำร้อน ต้องมีรูระบายบ้าง ให้คนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ปิดได้ไม่นานหรอก จะประกาศกฎอัยการศึกไปตลอดเหรอ เป็นไปไม่ได้ อย่าลืมว่าบทเรียนประวัติศาสต์ทั่วโลกมีมาหมดแล้ว ยิ่งปิดกั้นเท่าไหร่คนยิ่งลงไปใต้ดิน ลงไปข้างล่าง มีการซุบซิบนินทา มีการพูดกระซิบกระซาบ" นายชำนาญกล่าว
@ ทหารสั่งมช.งดจัดเสวนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการจัดเสวนาวิชาการเรื่อง ความสุขและความปรองดองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีผู้ร่วมเสวนา นายชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายเอกชัย ไชยนุวัติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม นายกฤษณ์พัชร โสมณวัตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 25 กันยายนนั้น ล่าสุดได้รับการประสานจากทางทหาร ให้ยกเลิกการจัดกิจกรรมดังกล่าวแล้ว
@ 'ธานี'แปรญัตติหมวดถอดถอน
นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ได้ขอแปรญัตติร่างข้อบังคับการประชุม สนช. หมวดถอดถอน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง มีสมาชิกจำนวน 19 คน ที่มาจากตัวแทนคณะกรรมาธิการสามัญประจำ สนช.ทั้ง 16 คณะ คณะละ 1 คน ส่วนอีก 3 คน มาจากวิป สนช. ทำหน้าที่ศึกษาตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเบื้องต้นของคดีถอดถอนแต่ละคดี
"การถอดถอนคือ กฎหมายที่เป็นโทษ ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และในบางกรณีก็ตลอดชีวิต อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะกระทำการถอดถอนบุคคลที่ถูกชี้มูลตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ขณะนี้ไม่มีแล้วได้หรือไม่" นายธานีกล่าว และว่า ยืนยันว่าไม่ได้เข้าข้างใคร แต่เพียงต้องการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น และต้องการให้ สนช.เดินในทางที่เป็นกลาง จึงอยากเตือนสติเพื่อนสมาชิก สนช.ทุกคนให้ได้ฉุกคิดก่อนว่า สนช.มีอำนาจถอดถอนหรือไม่ และหวังว่าเพื่อนสมาชิกจะเห็นด้วยกับการแปรญัตติ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า สนช.ไม่ใช่สภาตรายางที่จะถูกใครชี้นำได้ง่ายๆ
@ 'ตวง'เผย 25 ก.ย.ถกข้อบังคับ
นายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. ในฐานะคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับ สนช. เปิดเผยว่า การพิจารณาร่างข้อบังคับ สนช.วาระ 2-3 น่าจะเข้าสู่การประชุม สนช.ในวันที่ 25 กันยายนนี้ โดยขณะนี้มีผู้เสนอขอแปรญัตติเพียงคนเดียวคือ นายธานี อ่อนละเอียด ในหมวดถอดถอน
"ผมยืนยันว่า สนช.มีความจำเป็นต้องมีข้อบังคับหมวดถอดถอนเอาไว้ เพราะขณะเดียวกันเราก็มีอำนาจในการแต่งตั้ง ทั้งหมดนี้เป็นไปตามมาตรา 6 และมาตรา 13 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และไม่ได้เกี่ยวข้องกับความปรองดองหรือไม่ปรองดอง มันเป็นเรื่องของกฎหมาย เมื่อมีการกระทำผิดก็ต้องมีการลงโทษ และเราก็ยังไม่รู้ว่าจะมีการถอดถอนบุคคลใดบ้าง อย่างเพิ่งจินตนาการ" นายตวงกล่าว