- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 16 September 2018 15:02
- Hits: 7242
วิษณุ เตือนนักการเมืองหน้าใหม่ระวังหาเสียงช่วงคสช.ยังไม่คลายล็อค ยันตั้ง พุทธิพงศ์ ไม่ขัดจริยธรรม
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในระหว่างรอการพิจารณาคลายล็อคให้พรรคการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น นักการเมืองสามารถพูดถึงนโยบายของพรรคการเมืองได้ หากเป็นการแสดงความเห็นว่าประเทศควรมีทิศทางอย่างไรต่อไป ไม่ใช่การพูดเชื้อเชิญให้เลือกพรรคหรือส่อไปในทางหาเสียงจะเข้าข่ายกระทำผิด ซึ่งทางคณะกรรมการการเลือกตั้งจะเป็นผู้ที่ตรวจสอบในเรื่องเหล่านี้ แต่เชื่อว่า นักการเมืองส่วนใหญ่ทราบดีว่าควรจะพูดอย่างไร เพราะมีประสบการณ์หาเสียงมาก่อน เว้นแต่นักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่ต้องระวังด้วย
ส่วนกรณีมีการตั้งข้อสังเกตุว่า การแต่งตั้งนายพุทธิพงศ์ ปุณณกันต์ เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีที่ขัดต่อจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 วรรคสอง เนื่องจากผู้ที่ได้รับแต่งตั้งดังกล่าวยังเป็นผู้ถูกกล่าวหาในชั้นศาลในคดีกบฏ และยังขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลักที่กำหนดอยู่ในข้อ 19 แห่ง "มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561" ที่ถูกนำมาใช้กับคณะรัฐมนตรีด้วย ที่กำหนดไว้ว่า "ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่" นายวิษณุ กล่าวว่า ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษายังถือว่าบุคคลนั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งไม่ใช่เป็นการคบหาสมาคมแบบที่มีการกล่าวหากัน และถือเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีหน้าที่ดูแลประมวลจริยธรรมไปวินิจฉัยกันเอง
พุทธิพงษ์ เข้าทำเนียบ รับนโยบายหลังได้แต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการนายกฯ ยันไร้เงื่อนไขทางการเมือง
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี บนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เพื่อเข้ารายงานตัวพร้อมรับนโยบายการทำงาน โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ติดตามผลการดำเนินงานของกระทรวงต่างๆ เพื่อนำไปสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับประชาชน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลมีผลงานจำนวนมาก แต่ยังไม่เป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลาย และยังมอบหมายให้เป็นผู้ประสานรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา โดยเป็นการทำงานกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่ไม่ถึงขั้นเป็นโฆษกประจำตัว
พร้อมยืนยันว่า การเข้ามารับตำแหน่งเพื่อทำงานให้กับรัฐบาล ไม่มีเงื่อนไขทางการเมืองในอนาคต ซึ่งได้พูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ไม่มีอะไรที่ผิดใจหรือมีปัญหากัน และพรรคประชาธิปัตย์เข้าใจในการรับทำหน้าที่ตรงนี้ ขณะเดียวกันยังเร็วไปที่จะตอบว่าจะไม่ร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์อีก เนื่องจากตอนนี้การปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม หรือกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งยังไม่ชัดเจน แต่ส่วนตัวเข้าใจมารยาททางการเมืองดี ดังนั้นในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น คงไม่ลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนจะลงสมัคร ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ยังเร็วเกินไปจะให้ความชัดเจน
นายพุทธิพงษ์ ไม่ปฏิเสธหลังถูกวิจารณ์ว่าเคยเป็นแกนนำกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และมีคดีความติดตัว เพราะตัวเองเป็น กปปส.จริง แต่วันนี้ทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ และคดีอยู่ในชั้นศาล ซึ่งศาลชั้นต้นนัดสืบพยานปีหน้า ดังนั้นตอนนี้ก็ยังไม่มีปัญหาอะไรที่ส่งผลให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงไม่มีอะไรน่ากังวล เช่นเดียวกับหลายคนที่ยังสามารถทำงานปกติได้
นายพุทธิพงษ์ ย้ำว่า เหตุผลที่มาร่วมงานกับรัฐบาลในครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับการถูกดูดมาเป็นกลุ่ม หลังจากนายณัฐพล ทีปสุวรรณ และนายสกลธี ภัทริยะกุล ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมงานกับรัฐบาล และยืนยันว่าไม่มีผลประโยชน์แลกเปลี่ยนกับเรื่องคดีของ กปปส.
สำหรับ เหตุผลที่ไม่สามารถปฏิเสธการเข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้ นายพุทธิพงษ์ ชี้แจงว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีผู้ใหญ่ทาบทามให้มาเป็นประธานบอร์ดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แต่ได้ตอบปฏิเสธไปเพราะติดภารกิจอยู่ แต่เมื่อได้รับการทาบทามเป็นครั้งที่ 2 จึงไม่กล้าปฏิเสธ เพราะเป็นมารยาท และถือเป็นเกียรติที่ถูกทาบทามเข้ามาทำงานในตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง แต่ไม่ขอเปิดเผยว่าได้รับการทาบทามจากบุคคลใด และการเข้ารับตำแหน่งไม่ได้ปรึกษากับนายสุเทพเทือก สุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย เพราะถือว่าภารกิจในการเป็นแกนนำ กปปส. ได้สิ้นสุดลงแล้ว
ส่วนเหตุผลที่รัฐบาลเลือกตนมาทำหน้าที่นั้น นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า ไม่ทราบ แต่คาดว่าคงเป็นเพราะเคยทำงานการเมือง และช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีบทบาทหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองกับฝ่ายไหน ขณะเดียวกัน ยังไม่ได้รับมอบหมายให้ประสานกับฝ่ายการเมือง หรือถูกวางตัวไว้สำหรับการหาเสียงเลือกตั้งของรัฐบาล เพราะยังไม่ปลดล็อกการเมือง และที่สำคัญนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองว่าจะไปอยู่ที่ไหนหรืออยู่กับใคร ดังนั้นตอนนี้ตนเองต้องช่วยงานและอยู่กับนายกรัฐมนตรี
อินโฟเควสท์
คสช.ออก ม.44 คลายล็อคพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมเตรียมพร้อมเลือกตั้งได้แต่ยังห้ามหาเสียง
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2560 เพื่อให้มาตรการเกี่ยวกับพรรคการเมืองได้ผลในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งเพื่อให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นก่อนแล้ว และพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่ สามารถดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมว่าด้วยพรรคการเมืองได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ หรือยุ่งยากสับสน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.โดยความเห็นชอบของ คสช.จึงมีคำสั่งที่มีสาระสำคัญ คือ 1.การจัดตั้งพรรคการเมือง กำหนดให้มีทุนประเดิม 1 ล้านบาท และแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 180 วันนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ, จัดให้มีสมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คนชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองสำหรับปี 61 ภายใน 180 วันนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และให้พรรคการเมืองแจ้งให้นายทะเบียนทราบ พร้อมด้วยหลักฐานแสดงการชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายใน 15 วันนับแต่วันพ้นระยะเวลาชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองดังกล่าว, จัดให้มีสมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คนภายใน 1 ปีนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายใน 4 ปีนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และให้นายทะเบียนสมาชิกแจ้งให้นายทะเบียนทราบตามรายการและวิธีการที่นายทะเบียนกำหนด
กรณีที่พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด คณะกรรมการอาจมีมติให้ขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปได้อีกหนึ่งเท่าของระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละเรื่อง เมื่อครบระยะเวลาที่มีมติให้ขยายแล้วแต่กรณี ให้พรรคการเมืองที่ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จสิ้นสภาพลง ทั้งนี้ในระหว่างเวลาที่พรรคการเมืองยังปฏิบัติไม่ครบถ้วนจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้
การวินิจฉัยเรื่องใด ๆ ตามมาตรานี้ที่มีผลกระทบต่อพรรคการเมืองให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะวินิจฉัย ในกรณีที่พรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ภายใน 60 วันนับแต่วันได้รับทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ
2.การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้แจ้งให้คณะกรรมการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วัน และเมื่อได้แจ้งเรื่องดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าได้รับอนุญาตจาก คสช.ได้แก่ เลือกตั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรค, จัดตั้งสาขาพรรคหรือแต่งตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัด, รับสมาชิกพรรค, จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค, มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, กิจกรรมทางการเมืองอื่นที่ คสช.กำหนด
กรณีต้องจัดประชุมใหญ่เพื่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ถ้าองค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ ประกอบด้วย กรรมการบริหารพรรคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารพรรคเท่าที่มีอยู่ และมีสมาชิกของพรรค ทั้งนี้ มีจำนวนรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่า 250 คนแล้ว ให้ถือเป็นองค์ประชุมดำเนินการดังกล่าวได้ โดยให้ดำเนินการแล้วเสร็จก่อนครบกำหนด 90 วันนับแต่วันที่มีการประกาศ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับ การดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันที่มีการประกาศ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ในราชกิจจานุเบกษา
พรรคการเมืองใดยังดำเนินการตามที่กำหนดไม่ครบถ้วน ห้ามมิให้จัดสรรเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองให้แก่พรรคการเมืองนั้น
3.การทำไพรมารี่โหวต กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ประกอบด้วย กรรมการบริหารพรรคจำนวน 4 คน และตัวแทนสมาชิกที่พรรคการเมืองเลือกจำนวน 7 คน มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและเสนอคณะกรรมการบริหารพรรคให้ความเห็นชอบ โดยให้พิจารณาจากสมาชิกที่ยื่นความจำนงด้วยตนเองและผู้ที่สมาชิกเสนอ ให้คำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงด้วย และให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งรับฟังความคิดเห็นของหัวหน้าสาขาพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดและสมาชิกที่เกี่ยวข้อง นำมาประกอบการพิจารณาในการสรรหาด้วย, กรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรคเห็นชอบบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเสนอ ให้หัวหน้าพรรคออกหนังสือรับรองเพื่อประกอบการสมัครรับเลือกตั้ง โดยการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้พรรคจัดทำบัญชีรายชื่อด้วย
ถ้าคณะกรรมการบริหารพรรคไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเสนอ ให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งดำเนินการสรรหาบุคคลอื่นมาแทน หากคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งยืนยันเสนอชื่อบุคคลเดิมและคณะกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นชอบด้วย ให้คณะกรรมการบริหารพรรคและคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งประชุมร่วมกัน เมื่อมีมติเป็นประการใดให้ดำเนินกำรไปตามมตินั้น
ทั้งนี้ การลงมติดังกล่าวให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ และภายใน 7 วันนับแต่วันที่คณะกรรมการบริหารพรรคได้ให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือนับแต่วันที่มีมติเห็นชอบรำยชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งของที่ประชุมร่วมกัน ให้พรรคการเมืองเปิดเผยรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยการประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป
4.ห้ามหาเสียง พรรคการเมืองจะดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ภายในพรรคการเมืองและสมาชิกของพรรคของตน โดยวิธีผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่การดำเนินการนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งและ คสช.อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์ หรือการติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือสั่งให้มีการระงับการดำเนินการดังกล่าวก็ได้
ทั้งนี้ ในกรณีที่เห็นสมควร นายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้ คสช.แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้ และคำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจนุเบกษาเป็นต้นไป
อินโฟเควสท์
วิษณุ ชี้ กกต.เริ่มกระบวนการสรรหาส.ว.ได้ตั้งแต่วันนี้ เผย กกต.เตรียมนัดหารือพรรคการเมือง 28 ก.ย.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 ก.ย.61 กฎหมายลูก ส.ว.จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.61 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเดินหน้ากระบวนการสรรหา ส.ว. ซึ่งเข้าใจว่า กกต.ทำปฏิทินการสรรหาไว้แล้ว โดยจะดำเนินการเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกให้ กกต. แบ่งกลุ่มเป็นสาขาอาชีพให้สมัครเข้ามาแล้วคัดเลือกกันเอง และส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้เลือกในขั้นสุดท้ายให้เหลือ 50 คน จากนั้นอีก 200 คน คสช. จะกำหนดกฎเกณฑ์กติกาคัดเลือกต่อไป โดยต้องได้ ส.ว. 250 คนใน 15 วันก่อนการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า สนช.จะสามารถทำงานต่อไปได้จนถึง 1 วันก่อนวันเปิดสภาผู้แทนราษฎร และสามารถได้รับคัดเลือกเป็น ส.ว.ได้ เพราะไม่มีอะไรห้าม
พร้อมระบุว่า ในส่วนของกฎหมายลูก ส.ส. จะมีผลบังคับใช้หลังจากนี้อีก 90 วัน ซึ่งจะครบในวันที่ 10 ธ.ค.61 ขณะนี้พรรคการเมืองยังไม่สามารถทำกิจกรรมตามกฎหมายฉบับนี้ได้ โดยต้องรอให้มีคำสั่ง คสช.ที่จะออกมาเพื่อคลายล็อกให้ทำกิจกรรมบางอย่างก่อน โดยคำสั่ง คสช.จะออกมาเร็วๆ นี้ และทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยไม่จำเป็นต้องมีนำเสนอต่อที่ประชุม คสช.เพื่อให้ความเห็นชอบอีกครั้ง
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า หลังจากการคลายล็อคแล้ว ทราบว่า กกต.จะนัดประชุมพรรคการเมืองเพื่อหารือในวันที่ 28 ก.ย.นี้ เพื่อซักซ้อมและตอบคำถามที่พรรคการเมืองสงสัย จากนั้นจะมีการประชุมร่วมระหว่าง คสช. และพรรคการเมือง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เป็นประธาน
สำหรับ กรอบเวลาเลือกตั้งขณะนี้ยังเป็นวันที่ 24 ก.พ.62 หรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เคยมีใครพูดเป็นอย่างอื่น ส่วนที่ฝ่ายการเมืองวิจารณ์ว่ากรอบเวลาหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้น้อยเกินไปนั้น นายวิษณุกลับเห็นว่ากรอบเวลาหาเสียงครั้งนี้ ถือว่านานที่สุดที่เคยมีในประเทศไทย
"ก่อนหน้านี้ที่เคยให้เลือกกันภายใน 90 วันหลังยุบสภาฯ แม้ฟังดูเหมือนจะนาน แต่ยังไม่สามารถเลือกได้ ยังต้องไปออกพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งต้องรับสมัคร กว่าจะรู้หมายเลขผู้สมัคร แล้วเริ่มหาเสียง ไม่เคยมีนานถึงขนาดนี้ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมา"นายวิษณุ กล่าว