- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 17 May 2014 14:24
- Hits: 5086
วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8571 ข่าวสดรายวัน
สว.พลิก-ไม่ดันม.7 เทือกช็อก ฉะถูกทักษิณซื้อ วุฒิฯสายกลางจี้เลือกตั้ง พท.ร้อง'สุรชัย'ผิดม.68 กลุ่มปชต.จัดจุดเทียนคึก
ตั้งไม่ได้ - นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา แถลงผลหารือวุฒิสมาชิกเพื่อหาทางออกให้ประเทศ โดยไม่มีการพูดถึง นายกฯ มาตรา 7 สร้างความผิดหวังให้กับกลุ่ม กปปส.อย่างมาก เมื่อวันที่ 16 พ.ค. |
'เทือก'ช็อก โวยลั่นทักษิณจ้องซื้อส.ว.หัวละ 200 ล. หลังสุรชัยแถลงผลถกนอกรอบ ไม่ดัน ม.7 จี้รัฐบาลมาคุย หาทางตั้งรัฐบาลตามรธน. ด้าน 50 ส.ว.สายกลางชี้แก้วิกฤตมีทางเดียว คือเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด รักษาการนายกฯ นิวัฒน์ธำรงย้ำทุกอย่างต้องมีกม.รองรับ ชัชชาติก็แนะเข้าโหมดเลือกตั้งได้แล้ว พท.ร้องสุรชัยและพวกผิดม.68 ปชป.จี้พรรคร่วมลาออก "ศุภชัย"ปัดตั้งนายกฯ ม.7 ไม่เกี่ยวกกต. จัดกิจกรรมจุดเทียนต้านรุนแรง-เร่งเลือกตั้งคึกคัก
'สว.สรรหา'ค้านเสนอตั้งนายกฯ
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่รัฐสภา นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา และกลุ่มส.ว. สายกลาง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกลุ่มส.ว.บางส่วนเสนอให้มีนายกฯ คนใหม่ที่มีอำนาจ เต็มมา บริหารประเทศเพื่อแก้ไขวิกฤตว่า สิ่งที่พูดคุยเรื่องนี้ไม่ต่างจากนายกฯ มาตรา 7 การที่บอกว่านายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ไม่มีอำนาจเต็ม อยากถามว่าหากเลือกนายกฯ คนใหม่เข้ามาไม่ว่าวิธีใดก็ตาม ก็ไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารเช่นกันหรือไม่ เนื่องจากอยู่ในพ.ร.ฎ. ยุบสภา ซึ่งในวงหารือของส.ว.ที่บอกว่าจะให้เลือกนายกฯ คนใหม่เหมือนมีธงไว้แล้ว ขณะนี้เป็นการทำตามใจ ไม่ได้ทำตามกฎหมาย การอ้างเรื่องการเทียบเคียงกฎหมายก็เทียบเคียงแบบตามใจตัวเอง
"ดังนั้นการที่ส.ว.จะให้เลือกนายกฯ คนใหม่ถือว่าไม่ใช่มติของวุฒิสภา เป็นเพียงมติของสมาชิกบางส่วน หรือแม้จะเป็นเสียงข้างมากแต่ไม่สามารถบังคับกับบุคคลภายนอกได้ หรือการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ไม่เหมาะสม" ส.ว.สรรหากล่าว
ลั่น 50 สว.สายกลางไม่เข้าร่วมแน่
นายวิชาญกล่าวว่า หากจำเป็นต้องเลือกนายกฯ คนใหม่ ทางออกที่เหมาะสมคือ การขอยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ทั้งในหมวดครม.และหมวดรัฐสภาบางส่วนแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ พร้อมระบุเงื่อนไขให้ อำนาจส.ว.ทำหน้าที่แทนฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2554 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. เคยพูดถึงนายกฯ มาตรา 7 เป็นการทำบาปกับประชาชน แต่ขณะนี้กลับมาเสนอเอง
"ถ้าวุฒิสภายังเดินหน้าไปเสนอนายกฯ คนใหม่ กลุ่มส.ว.สายกลาง 50 คนจะไม่เข้าร่วมโหวตแน่นอน และมวลชนอีกฝ่ายหนึ่ง ก็คงไม่ยอม ต้องเกิดจลาจลแน่ และทหารต้องออกมาประกาศกฎอัยการศึกแน่นอน และทหารอาจตั้งรัฐบาลเอง หรือแนะนำ ให้รัฐบาลลาออก โยนให้วุฒิสภาเป็นคนดำเนินการ" นายวิชาญกล่าว
ย้ำตั้งนายกฯซ้อนไม่ได้
นายวิชาญ ยังกล่าวถึงความพยายามจะเสนอนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล ว่า เป็นเพียงท่าทีของประชาชนและส.ว.กลุ่มหนึ่งเท่านั้น ต้องดูข้อกฎหมายว่าทำได้หรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ ส.ว.ไม่สามารถแต่งตั้งนายกฯ ซ้อนได้ เพราะขณะนี้มีรักษาการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ อยู่ และการแต่งตั้ง นายกฯ ก็เป็นอำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุว่า นายกฯ ต้องเป็นส.ส.ด้วย ส่วนตัวมอง ส.ว.ไม่มีอำนาจ เปิดรัฐธรรมนูญดูไม่มีข้อให้อำนาจส.ว.กระทำดังกล่าว ไม่สามารถทำตามใจใครได้
"ส.ว.ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามา บางส่วนอยากจะแก้ปัญหาบ้านเมือง เป็นเจตนาที่ดี แต่ยังไม่อ่านรัฐธรรมนูญกัน เลยไม่รู้ว่าตัวเองมีอำนาจทำอะไรได้แค่ไหนบ้าง เชื่อว่า ข้อเสนอดังกล่าวที่ประชุมจะเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่ให้ตีความ และอาจต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วย หากข้อสงสัยไม่ยุติ" สว.สรรหากล่าว
ชี้แก้วิกฤตมีทางเดียว คือเลือกตั้ง
นายวิชาญ กล่าวต่อว่า ไม่มีทางที่ส.ว.จะเร่งเสนอชื่อนายกฯ ให้กลุ่ม กปปส.ดู เพราะเสียงกว่าครึ่งก็ยังไม่มั่นใจ และการประชุม ส.ว.ครั้งนี้ก็ไม่มีกฎหมายรองรับ ต่อให้มีมติใดๆ จากที่ประชุมออกมาก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะอยู่ภายใต้พ.ร.ฎ.ยุบสภา วันที่ 9 ธ.ค.2556 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีคำสั่งให้พ.ร.ฎ.ยุบสภานี้โมฆะ วินิจฉัยเพียงการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมาไม่มีผลเท่านั้น
"ตอนวิกฤตปี 2553 ผมพยายามเสนอให้มีการเจรจา แต่ครั้งนั้นรัฐบาลซึ่งมีอำนาจไม่ยอมเจรจา สถานการณ์จึงเลวร้ายตามมา แต่ครั้งนี้รัฐบาลพร้อมเจรจา แต่อีกฝ่ายไม่ต้องการเจรจา ทำให้สถานการณ์ค้างอยู่แบบนี้ มีทางเดียวที่จะปลดล็อกได้คือ กกต. ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด"นายวิชาญกล่าว
นิวัฒน์ธำรง ยันไม่ได้นัดถกวุฒิ 17 พค.
ที่จ.เชียงราย นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจชาวบ้านที่เดือดร้อนจากเหตุแผ่นดินไหว ถึงการเดินสายของนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ว่าที่ประธาน วุฒิสภาและส.ว.บางส่วน ที่เสนอตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจว่า ตนเคยพูดแล้วว่าทำทุกอย่างต้องยึดของกฎหมาย การจะตั้งรัฐบาลหรือครม. ต้องนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ และการทูลเกล้าฯ ในเรื่องต่างๆ จะต้องทำอย่างถูกต้อง มีกฎหมายรองรับ มิฉะนั้นจะเดินต่อไปไม่ได้ รัฐบาลได้ติดตามอยู่ตลอด หากฝ่ายดังกล่าวเสนอในส่วนที่รัฐบาลต้องดำเนินการต่อ ถ้าเป็นข้อเสนอที่ดีถูกต้องตามกฎหมายรัฐบาลก็ยินดีอยู่แล้ว ส่วนข้อเสนอตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจนั้นยังไม่เห็น
เมื่อถามว่า ทางวุฒิสภาอ้างว่านัดรัฐบาลหารือกันในวันที่ 17 พ.ค. นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า "ไม่ทราบ วันนี้ผมมาปฏิบัติราชการที่จ.เชียงราย ส่วนวันที่ 17 พ.ค.มีภารกิจต้องปฏิบัติราชการที่จ.เชียงใหม่ ทั้งวันเสาร์และอาทิตย์ ผมอยู่ที่ภาคเหนือ"
เมื่อถามว่า วุฒิสภา ระบุรัฐบาลตอบรับที่จะหารือแล้ว นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ตนไม่เคยตอบรับ เมื่อถามว่าจะส่งตัวแทนไปหารือหรือไม่ นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า ทางวุฒิสภาคงต้องการให้ตนไปหารือเพื่อใช้อำนาจหน้าที่ของนายกฯ
รอกฤษฎีกาชี้ทูลเกล้าฯ'ปธ.วุฒิฯ'
ผู้สื่อข่าวถามว่าวุฒิสภาระบุว่า ได้เสนอชื่อประธานและรองประธานวุฒิสภาให้รัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า ยังไม่มีการประสานหรือติดต่อมา ตนยังไม่เห็นเรื่อง นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ ก็ยังไม่ได้ส่งเรื่องอะไรมาให้ ยืนยันว่าภารกิจของตนในช่วงวันหยุดนี้จะอยู่ที่จ.เชียงรายและเชียงใหม่ และอาจไปดูพื้นที่ที่จ.ลำพูนด้วย เพราะเมื่อลงพื้นที่มาแล้วต้องใช้เวลาให้เป็นประโยชน์
เมื่อถามว่า ในตำแหน่งประธานและรองประธานวุฒิสภา หากเสนอชื่อมาให้ทูลเกล้าฯ รัฐบาลต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนหรือไม่ นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวยอมรับว่าใช่ เนื่องจากมีคนไปยื่นร้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง อาทิ ป.ป.ช. และช่วงที่เปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญก็มีเพียง 2 วาระคือการแต่งตั้งคณะกรรมการป.ป.ช.และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง ไม่มีวาระการเลือกตั้งประธานและรองประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย ตนเคยพูดแล้วว่าหากจะนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ จะต้องถูกต้องทั้งหมด ถ้าไม่ถูกต้องทางสำนักราชเลขาธิการก็คงไม่ส่งเรื่องอยู่แล้ว เพราะต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ฉะนั้นรัฐบาลต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา
ย้ำทุกอย่างต้องมีกม.รองรับ
เมื่อถามถึงนายสุเทพ ประกาศจะระดมพลและทำทุกอย่างให้จบภายในวันหยุดนี้ นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า ต้องเรียนถึงทุกภาคส่วนและทุกฝ่ายว่า การดำเนินการใดๆ ต้องยึดกฎหมายเป็นที่ตั้ง เพราะสุดท้ายทุกอย่างต้องมีกฎหมายรองรับ การใดๆ จึงจะสำเร็จได้ ฉะนั้นต้องรอดูว่าข้อเสนอของแต่ละ ฝ่ายมีกฎหมายใดรองรับหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้หลายฝ่ายมองว่าอาจมีการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อรักษาความสงบในบ้านเมือง นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า เรื่องนี้พูดกันไปเอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ออกแถลงการณ์ 7 ข้อ มี ขั้นตอนมากมาย แต่พวกเราไปสรุปคำท้าย คำเดียวมันก็ไม่ถูกต้อง ต้องฟังว่าทั้งหมดผบ.ทบ.พูดอะไรบ้าง และไม่ใช่เรื่องการขู่ เป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ
เมื่อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นในประเทศ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามโดยกล่าวเลี่ยงว่า เราไปดูพื้นที่ที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวกันดีกว่า
ชัชชาติ สงสัยอำนาจรบ.มาตรา 7
ที่กองบินตำรวจดอนเมือง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปฏิบัติหน้าที่รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจว่า ปัญหาการเมืองเวลานี้ส่วนตัวไม่ได้กังวลรู้สึกสบายใจมาก คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าให้ออกก็ออก ปัญหาขณะนี้ยอมรับว่าหลายอย่างมันเจ๊งแน่ เพราะไม่สามารถทำงบประมาณได้หรือผลักดันโครงการต่างๆ ได้ และยังมีงบประมาณอีก 6 แสนล้านบาท ของกระทรวงคมนาคมต้องชะลอไปซึ่งกระทบต่อการพัฒนาประเทศ
"ผมไม่เข้าใจ บอกว่ารัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจทำ แต่สมมติว่ามีรัฐบาล มาตรา 7 ได้จะมีอำนาจมากกว่ารัฐบาลปัจจุบันได้อย่างไร เพราะรัฐบาลที่มาจากมาตรา 7 หรือรัฐบาลเฉพาะกิจก็ต้องมาดูการเลือกตั้ง ไม่ใช่ว่าเป็นนายกฯจากคนกลางจะเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจหรือทำอะไรได้ทุกอย่าง ผมยังงงที่บอกว่าตั้งรัฐบาลคนกลางแล้วแก้ปัญหาได้ อำนาจก็ไม่ได้เพิ่มแล้วจะทำได้ดีกว่ารัฐบาลขณะนี้ได้อย่างไร" นายชัชชาติกล่าว
ถ้าต้องล้มรธน.ก็ไม่ต่าง'ปฏิวัติ'
เมื่อถามว่ารัฐบาลเฉพาะกิจแค่เข้ามาแก้ปัญหาการชุมนุมใช่หรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า ใช่ เพราะหากรัฐบาลคนกลางเข้ามาจะอนุมัติโครงการ 4 แสนล้านบาทได้หรือไม่ เนื่องจากไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลเฉพาะกิจไม่มีอำนาจ เพราะกำหนดให้อยู่แค่ 2 เดือนเพื่อจัดการเลือกตั้ง ซึ่งตนไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมพยายามหาทาง ออกด้วยการตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ ไม่เข้าใจเหมือนกัน หรือคิดว่าเลือกตั้งไปก็แพ้ ซึ่ง ตนเห็นว่าการเลือกตั้งอาจจะไม่ได้คนดีที่สุด แต่จะเป็นวิธีลดความขัดแย้งได้ดีที่สุด
เมื่อถามว่า ตอนนี้พยายามจะเอารัฐบาลเฉพาะกิจให้ได้ นายชัชชาติกล่าวว่า ต้องถามว่ารัฐบาลเฉพาะกิจเอาอำนาจมาจากไหน ถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็ไม่ต่างจากการปฏิวัติ เพราะหลักการคือต้องล้มรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตนแล้วว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะคิดนอกกรอบไม่ได้ ต้องรักษารัฐธรรมนูญ แต่ถ้าจะนอกกรอบก็เป็นหน้าที่คนอื่นไป ใครจะทำก็ได้
แนะเข้าโหมดเลือกตั้งได้แล้ว
ต้าน'ม.7'เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย จัดกิจกรรม 'หยุดล้ำเส้น เล่นตามกติกา เดินหน้าเลือกตั้ง'แสดง ออกเชิงสัญลักษณ์ คัดค้านการมีนายกฯ คนนอก ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อค่ำวันที่ 16 พ.ค. |
เมื่อถามถึงนายสุเทพขีดเส้นตายวุฒิสภาเรื่องนายกฯ มาตรา 7 ในวันที่ 16-19 พ.ค. นายชัชชาติกล่าวว่า อยากดูเหมือนกันว่าใครจะเป็นคนนำรายชื่อนายกฯคนกลางขึ้นทูลเกล้าฯ ส่วนที่จะชุมนุมปิดเส้นทางคมนาคม ไม่ได้ห่วง มีบทเรียนมาแล้ว รัฐบาลไม่เดือดร้อนแต่คนเดือดร้อนคือประชาชน ซึ่งตอนนี้ประชาชนเบื่อเต็มทนแล้ว ม็อบก็ไม่ใช่จะมีเป็นแสนคน ตอนนี้รัฐบาลยุบสภาแล้ว นายกฯก็ไปแล้ว ควรเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งได้แล้ว
เมื่อถามว่าถ้าวันที่ 19 พ.ค. ผบ.ทบ.ไปรายงานตัวตามที่นายสุเทพสั่ง นายชัชชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องของเขา ไปรับผิดชอบกันเอง
ชวลิต ยก'อย่าลืมฉัน'สอนลดทิฐิ
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอเรียกร้องนายสุรชัยอย่าฝืนเดินนอกกรอบรัฐธรรมนูญ อย่าโยนภาระ โยนความเดือดร้อนทูลเกล้าฯตั้งนายกฯคน กลางหรือนายกฯเฉพาะกิจอันเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท คนไทยผู้มีความจงรักภักดีไม่ควรทำ หน้าที่ของนายสุรชัยในอนาคตอันใกล้คือประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นตำแหน่งมีเกียรติ ตรงข้ามกับเนติบริกร เท่าที่รู้จักนายสุรชัยเป็นคนฉลาด จบกฎหมาย จบเนติบัณฑิตไทย มีประสบการณ์มาก มีหนทางก้าวหน้าในหน้าที่ คงไม่มาจบชีวิตการเมืองด้วยการกระทำผิดกฎหมายเสียเอง
นายชวลิต กล่าวว่า สงสัยว่าทางออกในการแก้ปัญหาบ้านเมืองที่ชอบด้วยกฎหมายที่คนส่วนใหญ่และนานาอารยประเทศยอมรับทำไมไม่เดิน กลับเดินในทางที่ผิดกฎหมาย ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท การให้เนติ บริกรหาช่องว่าง ข้อยกเว้นเท่ารูเข็มและตัน อย่าทำเลย กลียุคแน่นอน
"เมื่อคืนดูละครอย่าลืมฉันตอนจบ ได้คติชีวิตที่ผู้ประพันธ์นำคำสอนทางพุทธศาสนามาแก้ปัญหาที่ยากมาก แก้ได้ด้วยการละทิฐิ ดังนั้นขอแนะนำว่าอย่าฝืนกฎหมาย ทางออกของประเทศคือการร่วมมือกันรักษาระบอบประชาธิปไตย เดินทางสายกลาง จัดให้มีการเลือกตั้งแบบมีเงื่อนไขเพื่อการปฏิรูปประเทศ โดยมีประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นสักขีพยานการลงนามในสัตยาบันระหว่างพรรคต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เราจะก้าวข้ามวิกฤตได้" นายชวลิตกล่าว
'ปึ้ง'ย้ำสว.ส่วนหนึ่งไม่เอาม. 7
ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปราม ยาเสพติด (บช.ปส.) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ได้เข้าร่วมประชุม ศอ.รส. โดยระบุว่ายังไม่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ตนพ้นจากตำแหน่ง จึงยังต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อ รวมถึงเชื่อว่าตำแหน่งรองนายกฯ ของตนยังอยู่
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การที่ส.ว.ประชุมนัดพิเศษที่ผ่านมาทั้งหมดไม่มีความชอบธรรม และส.ว.ที่มาจากการสรรหาจะมาทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรตามที่นายสุเทพระบุนั้นไม่ได้ ขณะนี้มีส.ว.จำนวนหนึ่งประกาศจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับส.ว.ลากตั้ง ถือว่าถูกแล้ว ซึ่งคิดว่าส.ว.ไม่มีอำนาจที่จะเสนอนายกฯ คนกลาง จึงอยากบอกนายสุเทพที่ประกาศสู้ครั้งสุดท้ายในวันที่ 17-19 พ.ค. อยากเห็นเป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ เพราะประเทศเสียหายมามาก โดยวันนี้ รมว.ต่างประเทศของอังกฤษ ส่งอีเมล์มาถึงตนว่าเป็นห่วงสถานการณ์ของประเทศไทย และอยากเห็นการเลือกตั้งเดินหน้าต่อไป หากพยายามให้เกิดนายกฯ มาตรา 7 จะมีประชาชนกลุ่มหนึ่งไม่ยอมรับ รวมถึงสังคมโลกด้วย ฉะนั้นควรเลิกพูดเรื่องนี้ได้แล้ว ถ้าใครอยากเป็นนายกฯ คนกลางให้ไปลงเลือกตั้ง จะไปอยู่พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้
เผยมีรมต.ร่วมฟ้อง 9 ตุลาการ
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เวลา 10.00 น. วันที่ 19 พ.ค. จะเข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ เอาผิดกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ปฏิบัติหน้าที่โดย มิชอบ เพราะตัดสินตนโดยที่ไม่มีโอกาสไปรับทราบข้อกล่าวหาเลย และหนึ่งในนั้นไม่ได้เป็นศาลรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง นอกจากนี้นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรอง นายกฯ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรมว. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จะเข้าแจ้งความเช่นกัน
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรมว.แรงงาน เดินทางมาเป็นประธานการประชุมศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โดยให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า ที่ยังมานั่งประชุมศอ.รส. เนื่องจากในหลักกฎหมายตัวเองไม่ได้เป็นคู่ความกับนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อีกทั้งขั้นตอนจะสมบูรณ์ต่อ เมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ พ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ตอนโยกย้ายนายถวิล ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว จึงเข้าเกณฑ์ยกเว้นหรือไม่ โดยผู้ที่สามารถให้คำตอบรัฐบาลได้คือ คณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ตนระมัดระวัง ในฐานะรมว.แรงงาน และในฐานะผอ.ศอ.รส. จะไม่เซ็นงานอะไร หรือหากว่าสุดท้ายจะต้องยุติการทำหน้าที่ รัฐบาลคงต้องตั้งตนเป็นที่ปรึกษา สามารถมาทำงานได้
เหลิมท้าเทือกทำประชามติ
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวถึงกรณีนายสุเทพระบุว่ารัฐบาลชุดนี้มิชอบด้วยกฎหมายว่า หากไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอาญาคงไม่อนุมัติหมายจับตามที่ศอ.รส. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร้องขอ กลับกันการที่นาย สุเทพจะเอาประธานศาลต่างๆ มาพิจารณา นายกฯ ตามมาตรา 7 ไม่มีใครเอากับคุณแล้ว ขอถามนายสุเทพเอาอย่างนี้หรือไม่ ที่บอกว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศจะเอารัฐบาลคนกลางมาปฏิรูปนั้น มาทำประชามติกันหรือไม่ว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนายสุเทพ หรือเห็นด้วยกับรัฐบาลที่ให้มีการเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปฏิรูป ตนจะพูดกับรัฐบาลให้ จะได้จบ ส่วนที่วุฒิสภาประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อยู่ขณะนี้นั้นเหมือนลิเก พวกขาดสติ องค์กรเถื่อน เพราะนายสุรชัยยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานวุฒิสภา แล้วพวกที่ไปหารือมีอำนาจอะไร ตนฟันธงนายสุเทพเปิดทำเนียบรัฐบาลเรียกคนไปรายงานตัวจะไม่มีคนไป
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ออกแถลงการณ์ 7 ข้อว่า ตนเห็นด้วย เพราะท่านมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง พล.อ.ประยุทธ์ประกาศชัดเจนว่า หากมีเหตุการณ์รุนแรงตำรวจเอาไม่อยู่ ส่วนเรื่องการประกาศกฎหมายอัยการศึกนั้นแล้วแต่ท่าน เป็นดุลพินิจและอำนาจตามกฎหมาย ส่วนตัวไม่คัดค้านหากเกิดจลาจลจริง สำหรับการจัดเลือกตั้งรัฐบาลควรปล่อยให้เป็นหน้าที่กกต. หากไม่ทำจะผิดกฎหมาย แจ้งจับเอาเข้าคุกไป ตอนนี้มีคนแจ้งความแล้ว นอกจากนี้กกต.มี 5 คน ทำไมต้องฟังนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ฝ่ายจัดการเลือกตั้งคนเดียว
นพดล ชี้ม.7 ผิดบรรทัดฐาน 8 ข้อ
นายนพดล ปัทมะ กรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถ้าความพยายามสร้าง นายกฯ คนกลางนอกรัฐธรรมนูญสำเร็จ จะสร้างบรรทัดฐานที่ผิด 8 ประการ และสร้างปัญหาใหม่ให้กับประเทศ ดังนี้ 1.ทำให้มีการจัดม็อบจ้างคนมาชุมนุมและใช้อาวุธสงครามได้ตามที่ต้องการ 2.นักการเมืองที่ไม่ทำหน้า ที่และบอยคอตการเลือกตั้ง จะบรรลุเป้าหมายทางการเมืองซึ่งสมประโยชน์กับความประสงค์ ของม็อบ 3.ขบวนการสมคบคิดเพื่อล้มประชาธิปไตยและล้มรัฐธรรมนูญจะได้ตามที่ตั้งเป้าไว้
4.รัฐธรรมนูญถูกใช้และตีความตามอำเภอใจ ไร้มาตรฐาน 5.มวลมหาประชาชนกลุ่มเดียวมีอำนาจเหนือปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ 6.ปวงชนชาวไทยเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่สามารถใช้อำนาจในการเลือกตั้งและการเลือกตั้งซึ่งเป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญและประเพณีประชาธิปไตย ต้องถูกทำลายลงและหลีกทางให้ขบวนการลากตั้งตามอำเภอใจ 7.การข่มขู่คุกคามประชาชนโดยใช้อาวุธสงครามได้ ผลกว่าการได้อำนาจผ่านบัตรเลือกตั้งของประชาชน และ 8.คนทำลายกติกาได้ประโยชน์ คนยึดกติกาต้องรับโทษ
จวกสร้างเงื่อนไขเพื่อตั้งนายกฯ
นายนพดล กล่าวว่า ประเทศไทยเดินมาถึงจุดเปลี่ยนบนทางสามแพร่ง เราได้รัฐบาลและนายกฯ ใหม่ล่าช้าเพราะการขัดขวางการเลือกตั้งและขบวนการสมคบคิดอื่นๆ แต่ วันนี้กลับอ้างว่าต้องมีนายกฯ คนกลางเพื่อให้มีนายกฯ ที่มีอำนาจเต็มมาบริหารประเทศ ทั้งที่พวกตนเองเป็นผู้สร้างเงื่อนไขไม่ให้มีรัฐบาลใหม่โดยเร็วมาตั้งแต่ต้น
"เรามีทางออกปกติแต่ขบวนการสมคบคิด ต้องการทางออกฉุกเฉิน คิดหรือว่าถ้ามี นายกฯ คนกลางนอกรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่รัฐบาลใหม่ที่มั่นคง การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง การยอมรับจากต่างชาติ และบ้านเมืองสงบตามต้องการ เชื่อว่าผลจะเกิดขึ้นในทางตรงข้าม แม้มวลมหาประชาชนอาจจะชนะ แต่ปวงชนชาวไทยจะเป็นผู้แพ้" นาย นพดลกล่าว
ศอ.รส.ย้ำนอกรธน.เพิ่มขัดแย้ง
เวลา 13.00 น. พ.ต.ท.หญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล คณะทำงานศอ.รส.แถลงผลประชุมว่า ตามที่ ศอ.รส.มีแถลงการณ์ฉบับที่ 8 เรื่องข้อเรียกร้องและแจ้งเตือนส.ว. รวมถึงกลุ่มต่างๆ ให้ยุติการคัดเลือกและแต่งตั้ง นายกฯ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือนายกฯ มาตรา 7 เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น ศอ.รส.เชื่อมั่นว่าการกระทำในสิ่งที่นอกเหนือกฎหมาย โดยเฉพาะการพยายามแต่งตั้งนายกฯ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะไม่ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้ แต่จะเพิ่มความขัดแย้งและความแตกแยกมากขึ้นในหมู่ผู้เห็นต่างและยึดถือในบทบัญญัติของกฎหมาย
"ศอ.รส.ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายสนับสนุนแนวทางตามรัฐธรรมนูญและระบอบประชา ธิปไตยด้วยการผลักดันให้มีการเลือกตั้งส.ส. เพื่อให้มีนายกฯ และรัฐบาลใหม่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย จะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมืองได้อย่างยั่งยืน"คณะทำงานศอ.รส.กล่าว
พท.ร้องสุรชัยและพวกผิดม.68
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมทีมทนายความ เข้าพบนายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษและโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อยื่นหนังสือถึงนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด (อสส.) ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีนาย สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา พร้อมพวก กระทำการแต่งตั้งนายกฯตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่
นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า พฤติการณ์ของนายสุรชัยกับส.ว.บางส่วน ที่พยายามผลักดันให้เกิดนายกฯ มาตรา 7 ตามข้อเสนอของนายสุเทพ ซึ่งมีหมายจับในข้อหากบฏนั้น เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและปราศจากอำนาจตามรัฐธรรมนูญรองรับ และเข้าข่ายสนับสนุนการกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ จึงเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 อันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 68 วรรคแรก
อัยการรับพิจารณา-ส่งศาลรธน.
"จึงยื่นเรื่องให้อสส.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย สั่งห้ามมิให้นายสุรชัยกับพวก กระทำการเสนอตั้งนายกฯ คนใหม่ ซึ่งตนเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุดก็คือการเลือกนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย"นายพร้อมพงศ์กล่าว
ด้านนายนันทศักดิ์กล่าวว่า ทางอัยการจะรับเรื่องไว้พร้อมตั้งคณะทำงานตรวจสอบ ข้อเท็จจริงทันที จะพิจารณาตรวจสอบพยานหลักฐาน หากพบว่าการแต่งตั้งนายกฯ เฉพาะกาล มาตรา 7 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 1 เดือน
ปชป.จี้พรรคร่วมฯลาออก
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรค ปชป. กล่าวว่า ขอเรียกร้องพรรคร่วมรัฐบาลแสดงสปิริต ลาออกจากการเป็นพรรคร่วม คนเป็นรัฐมนตรีขอให้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้ประเทศมีทางออก เพราะถ้าเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยลาออกคงยาก ดังนั้นพรรคร่วมรัฐบาลอย่าทำตัวเป็นของตาย แต่ควรแสดงจุดยืนให้พรรคเพื่อไทยปฏิบัติตามด้วย เพื่อให้การทำงานของส.ว.ง่ายขึ้น ไม่เช่นนั้นหากเกิดปัญหาพรรคร่วมรัฐบาลต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงแถลงการณ์ของผบ.ทบ.ว่า เป็นการปรามให้เห็นว่า ถ้าการเมืองไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ กองทัพต้องมีบทบาทแก้ปัญหาด้วย ซึ่งบางคนคิดถึงกฎอัยการศึก บางคนตีความไกลกว่านั้น ฝ่ายที่พยายามสกัดกั้นด้วยวิธีการไม่ถูกต้อง กองทัพจะเข้ามาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหารุนแรง
ไพบูลย์ อ้างสุรชัย ยื่นทูลเกล้าฯได้เลย
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การบอกว่าห้ามสรรหาคนใหม่นั้นไม่จริง แต่การสรรหาคนใหม่เกิดปัญหาเพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น และสิ่งที่วุฒิสภาดำเนินการคือทำตามมาตรา 180 ที่ให้ดำเนินการตามมาตรา 172 และ 173 โดยอนุโลม เป็นการหาทางออกให้ประเทศ ส่วนคุณสมบัติของนายกฯ เฉพาะกาลนั้น 1.เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย 2.ไม่ควรสังกัดหรือเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง และประกาศด้วยว่าจะไม่ลงเลือกตั้ง และ 3.เป็นบุคคลที่มีความเชื่อว่าจะนำพาประเทศเข้าสู่การปฏิรูปและกลับสู่ระบบการเลือกตั้ง เพราะถ้าเป็นคนที่ไม่มีใจจะปฏิรูปเลย คงแก้ปัญหาไม่ได้ วุฒิสภาควรพูดให้ชัดตั้งแต่ต้นว่ารัฐบาลเฉพาะกาลต้องทำอะไรบ้าง อยู่นานเท่าใด ขอเป็นกำลังใจให้คนที่ทำงาน
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า นายนิวัฒน์ธำรงคงไม่นำรายชื่อ นายสุรชัยขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่เร็วๆ นี้แน่นอน เนื่องจากยังมีข้อถกเถียงทางกฎหมายถึงอำนาจของรองนายกฯ ซึ่งรักษาการนายกฯ อยู่ แต่ตามมาตรา 125 ระบุชัดว่านายสุรชัย ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา มีอำนาจเต็มเหมือนประธานวุฒิสภาทุกอย่าง ดังนั้นหากขั้นตอนเดินไปถึงการตั้งนายกฯ ตามแนวทางวุฒิสภาแล้ว นายสุรชัยสามารถเป็นผู้นำรายชื่อนายกฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้มีการโปรดเกล้าฯ ตำแหน่ง ประธานวุฒิสภาก่อน
'ศุภชัย'ปัดยื้อเลือกตั้ง
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าการเลือกตั้ง ส.ส.จะเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะการหารือระหว่าง กกต.กับรัฐบาล 2 ครั้งที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ ขณะนี้รอการประสานงานจากรัฐบาลอยู่ ซึ่งการจะพูดคุยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์นั้นต้องถามระดับเจ้าหน้าที่ก่อน เพราะเรื่องเลือกตั้งมีรายละเอียดมาก จึงควรพบปะพูดคุยกันจะดีกว่า เผื่อมีรายละเอียดที่ต้องถกเถียง เช่น เรื่องผู้มีอำนาจทูลเกล้าฯ ร่างพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ที่มีข่าวว่ารองนายกฯ ก็เคยเป็นผู้รับสนองฯ มาแล้ว ซึ่งเหตุการณ์อาจจะเหมือนกันแต่เหตุข้อเท็จจริงแตกต่างกัน ต้องพูดคุยทำความเข้าใจ รวมถึงประเด็นที่อาจเห็นต่างกันจะต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายศุภชัย กล่าวปฏิเสธกรณีมีสื่อมวลชนนำเสนอเหตุการณ์ประชุมร่วมกกต.กับรัฐบาลล่มเมื่อวันที่ 15 พ.ค. เพราะกกต.ต้องการยื้อเลือกตั้งว่า ไม่จริง การพูดคุยไม่สำเร็จไม่ใช่ความผิดกกต. ก่อนเริ่มประชุม ทราบแล้วว่ากปปส.จะมาที่โรงเรียนนายเรืออากาศ กกต.จึงเสนอฝ่ายรัฐบาลว่าหาก ผู้ชุมนุมมาถึงให้เชิญแกนนำเข้ามาหารือกับกกต.และรัฐบาลเป็นแบบส่วนตัว ซึ่งรัฐบาลก็รับฟังแต่เมื่อถึงเวลา ฝ่ายรัฐบาลแจ้งขอให้ยุติการประชุมและออกจากห้องประชุมไปก่อนกกต.ด้วยซ้ำ ดังนั้นการนำเสนอของสื่อจึงอยากให้ความเป็นธรรมกับ กกต.ด้วย
ลั่นตั้งนายกฯม.7 ไม่เกี่ยวกกต.
เมื่อถามว่าการพูดคุยยังไม่ประสบความสำเร็จ จะจัดเลือกตั้งได้สำเร็จหรือไม่ นาย ศุภชัยกล่าวว่า เราประเมินสถานการณ์อยู่และต้องถามฝ่ายความมั่นคงว่าจะดูแลความเรียบร้อยในการเลือกตั้งได้หรือไม่ กกต.ไม่อยากพูดเรื่องสถานการณ์อีกเพราะรู้กันอยู่แล้ว หากพูดมากจะถูกล่าวหาว่าโยกโย้ ส่วนที่นายสุเทพระบุประชาชน 15-20 จังหวัดจะคัดค้านหากมีการเลือกตั้งนั้น ก็ต้องคิดและหาแนวทางป้องกัน ขณะนี้จึงยังบอกไม่ได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อใด
นายศุภชัย กล่าวถึงกกต.มอบให้เลขาธิการ กกต.ไปรับฟังความคิดเห็นจากเวทีวุฒิสภาเกี่ยวกับการหาทางออกประเทศว่า ไปรับฟังข้อเสนอแล้วมาแจ้งให้ที่ประชุม กกต.ทราบอันไหนทำให้บ้านเมืองสงบ ส่วนตัวเห็นควรสนับสนุน แต่ต้องดูว่าอยู่ในกรอบของเราหรือไม่ อะไรที่ทำให้บ้านเมืองสงบก็สนับสนุน แต่ถ้าตั้งนายกฯ คนกลางก็ไม่เกี่ยวกับกกต. ตนมองเห็นเจตนาดีว่าประธานวุฒิอยากให้บ้านเมืองสงบ ไม่ตำหนิและทุกฝ่ายควรชมเชยในความกล้าหาญด้วยซ้ำ ที่ยอมเสียสละ ไม่ใช่จะไปฟ้องเขา
กลุ่มสว.'ม.7'ถกวุ่นขัด ม.68
เวลา 13.30 น. ที่อาคารัฐสภา 2 คณะทำงานประสานองค์กรและสรุปข้อมูล เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ที่มีนาย พีระศักดิ์ พอจิต ส.ว.อุตรดิตถ์ ว่าที่รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุมชั่วคราว ก่อนเข้าสู่การประชุมอย่างเป็นทางการ มีส.ว.ขอหารือในประเด็นที่พรรคเพื่อไทยยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) ให้ดำเนินการกับส.ว. ฐานล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามมาตรา 68 จากกรณีจะแต่งตั้งนายกฯตามมาตรา 7 ทั้งที่ไม่เคยพูดเลยว่าจะดำเนินการตามมาตรา 7 ทำให้ส.ว. บางรายขึ้นมากล่าวให้กำลังใจการทำหน้าที่ของส.ว.ด้วยกันเองว่า เมื่อเราคิดที่จะทำดีแล้ว ก็อย่าไปกลัว ให้รู้ไปว่าทำดีแล้วจะติดคุก
ขณะที่นายพีระศักดิ์ ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า แม้แรกเริ่มแนวทางหาทางออกประเทศของเราจะเริ่มมาจากตามมาตรา 7 แต่ตอนนี้เราก็ยังไม่ได้แถลงถึงแนวทางหาทางออกว่าจะเป็นอย่างไร จึงขอให้เพื่อนส.ว.อย่าเพิ่งคิดมากจนเกินไป เชื่อว่า อสส.ดำเนินการไปตามหน้าที่ เมื่อมีผู้ร้องมาก็ต้องรับคำร้องไว้ ยังเหลือ ขั้นตอนในการพิจารณาของ อสส. ก่อนจะ ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาอีก
ปัดไม่เกี่ยวแผน 8 ขั้นตอน
จากนั้นเมื่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาเดินทางมาถึง จึงดำเนินการประชุมเป็นการลับ พร้อมระบุว่าจะแถลงแนวทางออกประเทศอย่างเป็นทางการของวุฒิสภาในช่วงเย็นวันนี้ต่อไป
พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ สว.สรรหา ในฐานะประธานคณะทำงานประสานองค์กรและสรุปข้อมูล เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาบ้านเมือง กล่าวก่อนเข้าประชุมถึงการเผยแพร่เอกสารที่ระบุถึงแนวทางออกของการแก้ไขปัญหาประเทศ 8 ขั้นตอนว่า ตนไม่ทราบและในการประชุมร่วมกับตัวแทนเหล่าทัพและส่วนราชการ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมาที่เป็นแหล่งที่มาของเอกสาร ไม่ได้หารือถึงเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ยอมรับว่าแนว ทางที่ระบุไว้ในขั้นตอนหนึ่งคือ การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานภาพอำนาจของนายนิวัฒน์ธำรงว่าจะปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกฯ และมีอำนาจทูลเกล้าฯ นั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่วุฒิสภาไม่มีหน้าที่ต่อการยื่นศาลรัฐธรรมนูญใหัตีความ โดยส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลรักษาการหรือนายนิวัฒน์ธำรงเองควรเป็นผู้ดำเนินการ
ยัน'สุรชัย'มีอำนาจเต็ม
พล.อ.อ.วีรวิท กล่าวว่า แนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการแสวงหานายกฯ คนกลางที่มีอำนาจเต็มในการแก้ปัญหาประเทศนั้น นายสุรชัยมีความชอบธรรมที่จะดำเนินการ เนื่องจากนายสุรชัยได้รับการลงคะแนนเลือกโดยที่ประชุมวุฒิสภาให้เป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่ โดยไม่รอแล้วเสร็จในส่วนกระบวน การทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง เพราะมองว่าเป็นเพียงขั้นตอนทางธุรการเท่านั้น
"ขั้นตอนที่ระบุถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ผมว่าทำไม่ได้เพราะไม่มีรัฐสภา และหากทำได้หรือมีข้อกำหนดให้งดเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตรา ส่วนตัวมองว่าไม่เหมาะสมเพราะจะเป็นรอยด่างของระบอบประชาธิปไตยและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ" พล.อ.อ.วีรวิท กล่าว
ว่าที่ปธ.วุฒิฯ วิ่งวุ่น-หน้าเครียด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเคลื่อน ไหวของนายสุรชัย ตลอดทั้งวันนี้ ได้แจ้งกับคณะทำงานว่าขอไปปฏิบัติภารกิจส่วนตัวนอกรัฐสภา โดยไม่มีเลขานุการส่วนตัวและเจ้าหน้าที่ติดตามเหมือนกับทุกครั้ง ก่อนที่นายสุรชัยจะเดินทางมาถึงที่อาคารรัฐสภา ในเวลา 15.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นายสุรชัยจะมาร่วมแถลงข่าวกับกลุ่มส.ว.นั้น นายสุรชัยได้รับโทรศัพท์มือถือและเดินหลบไปพูดคุยในห้องส่วนตัวนานกว่า 10 นาที ก่อนกลับมาแถลงข่าวด้วยสีหน้าเคร่งเครียด อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่าการหารือทางออกประเทศไทยของส.ว. นายสุรชัยใช้คำว่าเป็นการหารือนอกรอบอยู่ตลอดเวลา แต่ปรากฏว่าในใบแถลง การณ์อย่างเป็นทางการในวันนี้ ขึ้นหัวโดยเหมารวมว่าเป็นการแถลงข่าวของวุฒิสภา ขณะที่ก่อนหน้านี้มีส.ว. เลือกตั้งและส.ว. สรรหารวมตัวกันกว่า 50 คนตั้งเป็นกลุ่มส.ว.สายกลางและเรียกร้องให้การหารือนอกรอบยุติและฟังความเห็นรอบนอกก่อน
แถลงผลถก-ไม่แตะนายกฯ ม.7
เวลา 18.15 น. นายสุรชัย พร้อมคณะส.ว.ร่วมแถลงผลการประชุมภายหลังหารือร่วมกับส.ว. 65 คน นาน 5 ชั่วโมง 30 นาที โดยระบุว่า ส.ว.ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล 3 ข้อคือ 1.เพื่อให้การแก้ไขปัญหาบรรลุเจตนารมณ์ในการคืนความสงบสุข และความสมานฉันท์ของคนในชาติ ต้องเร่งดำเนินการจัดให้มีการปฏิรูปประเทศในทุกด้านให้แล้วเสร็จโดยเร็ว จะต้องมีนายกฯและครม.ที่มีอำนาจเต็ม เพื่อดำเนินการดังกล่าว
นายสุรชัย กล่าวต่อว่า 2.ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรี ผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 วรรคหนึ่ง ตลอดจนรัฐบาลและพรรคการเมืองให้ความร่วมมือกับวุฒิสภา หาทางออกประเทศ ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในชาติอย่างเต็มกำลัง เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและลดเงื่อนไขความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น และ3.วุฒิสภาพร้อมทุ่มเทการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำความเห็นและข้อแนะนำจากทุกภาคส่วน มาพิจารณาในการประชุมตามข้อบังคับของวุฒิสภาเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกฯภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระดับสากล และประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยโดยเร็ว ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของประชาชน
สุรชัย อู้อี้แค่อยากมีรบ.อำนาจเต็ม
นายสุรชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนว่าสื่อ มวลชนไปมุ่งเรื่องนายกฯมาตรา 7 และ นายกฯเฉพาะกาลอยู่ อยากเรียนว่าแนวคิดวุฒิสภาไม่ได้หยุดอยู่ที่ปัญหาทำอย่างไรจะมีนายกฯ เราคิดว่าจะแก้ไขปัญหาสภาพครม.ที่มีอำนาจจำกัดในการบริหารราชการแผ่นดินที่ส่งผลเสียหาย ความคิดที่จะมีรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มมาบริหารราชการเป็นความคิดหนึ่งที่จะมาช่วยรัฐบาลรักษาการเพื่อแก้ปัญหาให้บ้านเมือง และช่วยให้ระบบราชการเดินได้เต็มกำลัง ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้
นายสุรชัย กล่าวว่า ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลฟังแถลงการณ์จากวุฒิสภาไปแล้ว เชื่อว่ารัฐบาลพิจารณาตัวเองได้ หวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือกัน หากทุกคนร่วมมือกัน ภาระของวุฒิสภาจะเบาบางลง ก็ฝากสื่อฯนำเสนอและเอาคำถามถามกับรัฐบาล และกกต. เพื่อช่วยกันคิดและตอบ เพราะตนไม่สามารถตอบแทนได้ ทั้งนี้จะพยายามทำหน้าที่ตามกรอบอำนาจมากที่สุด ส่วนการพูดคุยกับรักษาการนายกฯในวันที่ 19 พ.ค. เพื่อหาทางออก ร่วมกัน และอยากบอกว่าวุฒิสภาไม่ใช่พรรคการเมือง โปรดให้ความไว้วางใจเราเพราะเราไม่สามารถแยกแยะประชาชนได้ และขอร้องให้เลิกบิดเบือนการทำหน้าที่วุฒิสภาเพราะทำให้เราทำงานยาก
สว.สรรหายังลุ้นใช้ม.7
ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ตอบข้อซักถามถึงแนวคิดวุฒิสภาเสนอนายกฯ ว่า ตนคิดว่าข้อเสนอทั้ง 3 ข้อชัดเจน วุฒิสภาต้องทำทุกอย่างภายใต้รธน. ตามประเพณีการปกครองและสิ่งที่ชี้แจงเป็น คำตอบที่ชัดเจน เพื่อให้มีรัฐบาลโดยเร็ว เมื่อถามว่านายกฯเฉพาะกิจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่หรือไม่ นายสมชายไม่ตอบคำถาม พร้อมทั้งกล่าวตัดบทขอปิดการประชุมทันที
นพ.เจตน์ ศิรธารานนท์ ส.ว.สรรหา ให้สัมภาษณ์ว่า สาเหตุที่ส.ว.ยังไม่มีมติชัดเจนว่าจะตั้งรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มได้เมื่อใดและใช้ช่องทางใด เนื่องจากเกรงว่าจะถูกต่อต้าน หากรัฐบาลรักษาการยอมลาออก จะทำให้ใช้ช่องทางมาตรา 180 ง่ายขึ้น แต่ถ้าไม่ลาออกสุดท้ายอาจต้องใช้วิธีหักด้วยมาตรา 7 แทน แต่ยังห่วงว่าจะทำให้เกิดความรุนแรงตามมา ทั้งนี้การแก้ปัญหาทั้งหมดควรได้ทางออกชัดเจนภายใน 1 สัปดาห์
นายอภิชาติ ดำดี ส.ว.กระบี่ ในฐานะโฆษกคณะทำงานประสานองค์กร วุฒิสภา กล่าวว่า หากเร่งรีบไปจะเกิดการไม่ยอมรับจากกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่หากมีความชัดเจนจะใช้ข้อบังคับวุฒิสภาที่ 14 ให้ส.ว.เข้าชื่อกัน 1 ใน 4 ขอเปิดประชุมกิจการภายในของวุฒิสภาเป็นกรณีพิเศษ เพื่อพิจารณาการให้ได้มาซึ่งนายกฯที่มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการ
เทือกอ้างแม้วจ้องซื้อสว.
เวลา 15.00 น. เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปและสมาคมนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ได้ยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยขอให้วุฒิสภาเร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว และเสนอข้อดีข้อเสียของการกำหนดวันเลือกตั้งหรือการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป โดยนาย สุรชัยรับจะนำข้อเสนอเข้าหารือในที่ประชุมวุฒิสภานอกรอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หน้าอาคารรัฐสภา ถ.อู่ทองใน นายสุเทพ แกนนำกปปส. และมวลชนกปปส.จำนวนหนึ่ง พร้อมรถปราศรัยขยายเสียง มาปักหลักชุมนุมรอฟังผลการประชุมของกลุ่มสว.สรรหา
โดยระหว่างรอนายสุเทพปราศรัยบนรถขยายเสียงว่า ทราบข่าวว่าขณะนี้พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีคำสั่งให้ดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้วุฒิสภาขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ซึ่งจะทำให้เสียเวลาอีกหลายวัน และจะใช้เวลาช่วงนั้นสร้างความปั่นป่วน ทำให้คนสับสนเรื่องข้อโต้แย้งทางกฎหมาย ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณยังสั่งซื้อส.ว.เป็นรายหัว 35 คน คนละ 200 ล้านบาท ขอให้ส.ว.เอาข้อมูลนี้ประกอบการพิจารณา ถ้าตัดสินใจผิดเข้าทางพ.ต.ท.ทักษิณ อาจกลับไปตอบคำถามคนที่บ้านไม่ได้ ขอให้ระวัง ตนจะนั่งรอคำตอบด้วยใจจดจ่อ แม้จะต้องรอจนถึงวันพรุ่งนี้ก็ตาม
ฉุนตัดสัมพันธ์วุฒิสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อถึงช่วงเวลาที่นายสุรชัยแถลงผลการหารือ กลุ่มผู้ชุมนุมได้ถ่ายทอดเสียงการแถลงข่าวของประธานวุฒิสภาให้มวลชนที่ปักหลักอยู่หน้ารัฐสภาฟัง ทั้งแกนนำและมวลชนต่างตั้งใจฟังอย่างสงบ โดยนายสุเทพมีสีหน้าเคร่งเครียด
นายสุเทพขึ้นปราศรัยบนรถขยายเสียงทันทีด้วยน้ำเสียงเกรี้ยวกราดหลังจากนาย สุรชัยแถลงจบ โดยกล่าวว่า วุฒิสภาตอบว่าให้รอต่อไป วินาทีที่ได้ยินคำตอบนั้น ตนรู้สึกดีใจมากที่ไม่ต้องพบกันในสภาอีกต่อไป กปปส.ไม่อยากคุยกับวุฒิสภาอีกต่อไป จากนั้นนายสุเทพได้นำมวลชนเคลื่อนกลับไปยังเวทีสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยบอกว่าไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องเสียใจ จะกลับไปคิดหาวิธีการของพวกเราเอง
ยื่นปปช.เปิดบัญชีทรัพย์สิน'จรัญ'
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 16 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิโรจน์ พรหมมาศ ชาวบ้าน ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ได้มายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการป.ป.ช. ผ่านเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน เรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ของนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
หนังสือระบุว่า ทราบจากข่าวทางสังคมออนไลน์ว่า ระหว่างปี 2538-2555 คู่สมรสของนายจรัญ ได้รับโอนที่ดินซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ปรากฏตามคำพิพากษาฎีกา 435/2556 ลงวันที่ 22 ม.ค. 2556 ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคู่สมรส ต่อป.ป.ช. ตามมาตรา 38 พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 แต่สังคมยังเป็นที่สงสัย จึงขอให้ป.ป.ช.เปิดเผยถึงการแสดงบัญชีทรัพย์สินและ หนี้สินในกรณีดังกล่าว เพื่อความโปร่งใส่ในการปฏิบัติหน้าที่
จุดเทียนยุติรุนแรง-เร่งเลือกตั้ง
เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 16 พ.ค. ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ นักศึกษาและประชาชนในนามกลุ่ม เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยประมาณ 200 คน จัดกิจกรรม'หยุดล้ำเส้น เล่นตามกติกา เดินหน้าเลือกตั้ง'มีการเขียนข้อความบนนกกระดาษสีขาว แขวนติดไว้บริเวณทางเดินสกายวอล์ก หน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง อีกทั้งยังมีนำกรวยสีส้มมา ตั้งตรงกลางระหว่างทางเดินและตั้งโต๊ะหมู่บูชา เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะล้อเลียนว่าที่ผ่านมามีประชาชนถูกการ์ด กปปส. ทำร้ายเพราะย้ายกรวย โดยคนที่เดินผ่านจำนวนมากต่างแวะถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
นอกจากนี้ ยังนำป้ายขนาดใหญ่ระบุข้อความว่าประชาชนคือคนกลาง เจาะช่องให้ผู้ร่วมงานเข้ามาถ่ายรูป ทั้งนี้มีนายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำป้ายข้อความ ประชาชน คือ คนกลาง ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยสวมไว้ที่ตัวและนำหมอนข้างมาทำเป็นหุ่น ระบุข้อความ'นายกคนกลาง'มาผูกเชือกเดินลากไปกับพื้น
นายเจษฎากล่าวว่า กลุ่ม กปปส. และส.ว. สรรหา จำนวนหนึ่งมีท่าทีชัดเจนที่ไม่เคารพกติกา พยายามเสนอนายกฯคนกลาง เป็นการมองข้ามหัวประชาชน หารู้ไม่ว่านี่คือการปฏิเสธการปฏิรูปตั้งแต่ต้น อีกทั้งท่าทีของกองทัพที่ออกมาทำนองว่าจะเข้าควบคุมสถานกาณ์หากมีสถานการณ์รุนแรง ซึ่งเป็นท่าทีที่แข็งกร้าวเกินไป ทำให้ประชาชนที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย วิตกกังวล ว่ากองทัพอาจทำรัฐประหาร ความจริงกองทัพควรอยู่ใต้คำสั่งของรัฐบาลรักษาการและแสดงออกให้ชัดเจนว่าเคารพในกติกาประชาธิปไตย
นายธนพร ศรียากูล หัวหน้าพรรคคนธรรมดา ที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า แถลงการณ์ของ ผบ.ทบ. ชัดเจนว่าพร้อมจะทำให้กระบวนการประชาธิปไตยหยุดนิ่ง คนทั่วไปที่เคารพสิทธิ์ของตัวเองต้องออกมาแสดงพลัง ถือว่าเป็นการร่วมกันปฏิรูปตั้งแต่เริ่มต้น คือ การยืนยันว่า คนเท่ากัน ไม่ต้องการให้ใครก็ตามอ้างว่าเป็นคนดี หรือรักประเทศชาติมากกว่ามาลิดรอนสิทธิ์ของตัวเองไป
ด้านนายกิตติชัย งามชัยพิสิฐ ตัวแทนเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ประชาชนที่ต่อต้านความรุนแรง ควรออกมาแสดงพลังเพราะขณะนี้มีความพยายามจากฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย จะทำให้เกิดสุญญากาศซึ่งมีความน่ากังวลว่าสิ่งที่ตามมาจะมีผู้ใช้ความรุนแรงเป็นข้ออ้าง อย่างไรก็ตามการปฏิรูปเป็นสิ่งที่ควรทำ มีประชาชนจำนวนมากที่เห็นด้วยแต่การไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย การล้มการเลือกตั้ง ไม่มีทางที่จะทำให้การปฏิรูปสำเร็จ เวลานี้ สิ่งที่น่ากังวลคือท่าทีของผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย ต้องควรมีความอดทนอดกลั้นที่จะไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน เพราะช่วงที่ผ่านมามีคนบาดเจ็บล้มตายไปมากแล้ว
ต่อมาเวลา 19.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มจัดกิจกรรมได้ร่วมกันจุดเทียน และยืนแปรอักษรเป็นรูปสัญลักษณ์สันติภาพ และร่วมกันร้องเพลงพอกันที บรรเลงโดยวงดนตรีไฟเย็น จากนั้นต่างชูเทียนและตะโกนคำว่าหยุดความรุนแรง สันติภาพ และเลือกตั้ง ทั้งหมด 3 ครั้ง ก่อนแยกย้ายกันกลับโดยไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ
'สุรชัย'ยึกยักนายกฯม.7 สุเทพเดือด โวยให้รอถึง'ชาติหน้า'ยัวะ 3 ข้อวุฒิไม่สะเด็ด นัดคุยนิวัฒน์ฯ 19 พ.ค. ว่อนยูทูบเสรีโผล่ชิคาโก ปูดปธ.สภาสูงสายเรา 'เพื่อไทย'ยื่นสอบม.68
แจงทางออก - นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา แถลงผลการประชุมวุฒิสมาชิกเพื่อหาทางออกประเทศ โดยที่ประชุมเห็นว่าจะต้องมีนายกฯและ ครม.ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาบริหารประเทศ และเรียกร้องรัฐบาลรักษาการให้ความร่วมมือในการหาทางออกประเทศ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม
มติชนออนไลน์ : |
'เสรี วงษ์มณฑา'ปูดเอง'สุรชัย'ยืนข้าง กปปส. ดันแผนนายกฯคนกลาง มั่นใจเสียง ส.ว.ถอดถอน'ปู'ได้'ชัยเกษม'ลั่น ครม.ไม่ลาออก อยู่ขวางตั้ง รบ.เฉพาะกิจ 'นพดล'ยันนายกฯ ม.7 ไม่มีทางทำประเทศสงบ'50 ส.ว.'สายกลางลั่นไม่ยุ่งตั้งนายกฯคนกลาง
'นิวัฒน์ธำรง'ย้ำ 17 พ.ค.ไม่ถกวุฒิฯ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ จ.เชียงราย นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเหตุแผ่นดินไหว ถึงการเดินสายของนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภาและ ส.ว.บางส่วน เรื่องการตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจว่า ทุกอย่างต้องยึดข้อกฎหมาย การจะตั้งรัฐบาลต้องนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้น ต้องมีกฎหมายรองรับ มิฉะนั้นจะเดินต่อไปไม่ได้ ถ้าเป็นข้อเสนอที่ดี ถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลก็ยินดีอยู่แล้ว เมื่อถามว่า รัฐบาลมองว่าข้อเสนอตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจไม่ถูกต้องตามกฎหมายใช่หรือไม่ นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ยังไม่เห็นข้อเสนอ เมื่อถามย้ำว่า มีการอ้างว่ารัฐบาลนัดหารือกับวุฒิสภาในวันที่ 17 พฤษภาคม นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า'ไม่ทราบวันที่ 17 พฤษภาคม มีภารกิจต้องปฏิบัติราชการที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งวันเสาร์และอาทิตย์ ผมอยู่ที่ภาคเหนือ'เมื่อถามว่า วุฒิสภาระบุว่ารัฐบาลตอบรับที่จะหารือแล้ว นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า'ไม่ใช่ผม ไม่เคยตอบรับ'
ยันส่งกฤษฎีกาชี้ปธ.วุฒิฯ เมื่อถามว่า วุฒิสภาระบุว่าเสนอชื่อประธานและรองประธานวุฒิสภาให้รัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ได้รับเรื่องแล้วหรือยัง นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า ยังไม่มีการประสานมา นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการนายกฯ ยังไม่ได้ส่งเรื่องอะไรมาให้ เมื่อถามว่า หากเสนอชื่อประธานและรองประธานวุฒิสภามาให้ทูลเกล้าฯ รัฐบาลต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนหรือไม่ นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า ใช่ เนื่องจากมีคนไปยื่นร้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และช่วงที่เปิดประชุมวุฒิสภาวิสามัญก็มีเพียง 2 วาระคือ การแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิศาลปกครอง ไม่มีวาระการเลือกตั้งประธานและรองประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย
'ชัยเกษม'ยันอยู่ต่อขวางรบ.ฉก. นายชัยเกษม นิติสิริ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจว่า พูดนานแล้วว่า รัฐบาลลาออกไม่ได้ ต้องอยู่รักษาการปฏิบัติหน้าที่ต่อ ถ้ารัฐบาลอยู่ เขาก็ตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจไม่ได้ การที่ กปปส.เร่งให้วุฒิสภาตั้งนายกฯ มาตรา 7 คือต้องการให้ทหารออกมา ทั้งที่ ตามรัฐธรรมนูญทำอะไรไม่ได้ ทหารออกมาฉีกรัฐธรรมนูญ เห็นกันอยู่แล้วว่าปฏิวัติกี่ครั้งไม่เคยดีขึ้นเลยแม้แต่ครั้งเดียว "การจะให้ปลัดกระทรวงมาบริหารแทนรัฐมนตรีไปก่อนก็เช่นเดียวกัน มันทำไม่ได้ มันมีทางออกตามรัฐธรรมนูญ มีถนนให้เดินไม่เดิน แต่กลับปีนกำแพงออกไป มุดใต้ดิน" นายชัยเกษมกล่าว และว่า ที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 จะมาบอกว่า วุฒิสภาแต่งตั้งนายกฯได้ กรณีไม่มีสภาผู้แทนราษฎรยังไม่เป็นประธานวุฒิสภาเต็มตัว ไม่ได้เข้าตามตรอกออกตามประตู ยังพยายามแหวกออกไป แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการของพรรคเห็นว่าความพยายามเสนอนายกฯมาตรา 7 นั้น เป็นไปได้ยากมาก แต่ก็มีความพยายามที่จะดำเนินการอยู่ คาดว่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความขอบเขตอำนาจของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ โดยเฉพาะเรื่องการทูลเกล้าฯและรับสนองพระบรมราชโองการ หากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่านายนิวัฒน์ธำรงไม่มีอำนาจในส่วนนี้ วุฒิสภาก็จะใช้ช่องกฎหมายอื่นๆ มาเทียบเคียง เพื่อเอาอำนาจมาไว้ในมือของวุฒิสภาแล้วเสนอนายกฯคนกลาง อย่างไรก็ตาม ยังประเมินว่ายังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
'นพดล'ชี้นายกฯม.7ทำผิด 8 ปม นายนพดล ปัทมะ กรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ถ้าความพยายามในการสร้างนายกฯ คนกลางนอกรัฐธรรมนูญสำเร็จ จะสร้างบรรทัดฐานที่ผิด 8 ประการ และจะสร้างปัญหาใหม่ดังนี้ 1.จะทำให้การจัดม็อบจ้างคนมาชุมนุมและมีการใช้อาวุธสงครามได้ตามที่ตนต้องการ 2.นักการเมืองที่ไม่ทำหน้าที่ของตนและบอยคอต การเลือกตั้งจะบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของตน ซึ่งสมประโยชน์กับความประสงค์ของม็อบ 3.ขบวนการสมคบคิดเพื่อล้มประชาธิปไตยและล้มรัฐธรรมนูญจะได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ 4.รัฐธรรมนูญถูกใช้และตีความตามอำเภอใจ ไร้มาตรฐาน แล้วแต่ว่าสมประโยชน์ฝ่ายตนหรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า 5.มวลชนกลุ่มเดียว มีอำนาจเหนือปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ 6.ปวงชนชาวไทยที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยไม่สามารถใช้อำนาจของตนในการเลือกตั้งอีกและการเลือกตั้งซึ่งเป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญและประเพณีประชาธิปไตย ต้องถูกทำลายลง และหลีกทางให้ขบวนการลากตั้งตามอำเภอใจ 7.การข่มขู่คุกคามประชาชนโดยใช้อาวุธสงคราม ได้ผลกว่าการได้อำนาจผ่านบัตรเลือกตั้งของประชาชน และ 8.คนทำลายกติกาได้ประโยชน์ คนยึดกติกาต้องรับโทษ
ยันนายกฯม.7 ไม่ทำปท.สงบ "ประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนบนทางสามแพร่ง เพราะ กปปส.ขัดขวางการเลือกตั้งทุกวิถีทางและมีการตัดสินว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ที่เราได้รัฐบาลและนายกฯใหม่ล่าช้า ก็เพราะการขัดขวางการเลือกตั้งของ กปปส. และขบวนการสมคบคิดอื่นๆ แต่วันนี้กลับมาอ้างว่าต้องมีนายกฯคนกลางเพื่อให้มีนายกฯ ที่มีอำนาจเต็ม เพื่อมาบริหารประเทศ ทั้งๆ ที่พวกตนเองเป็นผู้สร้างเงื่อนไขไม่ให้มีรัฐบาลใหม่โดยเร็วมาตั้งแต่ต้น เรามีทางออกปกติ แต่ขบวนการสมคบคิดต้องการทางออกฉุกเฉิน คิดหรือว่าถ้ามีนายกฯคนกลางนอกรัฐธรรมนูญแล้ว จะนำไปสู่รัฐบาลใหม่ที่มั่นคง จะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง จะได้รับการยอมรับจากต่างชาติ และจะทำให้บ้านเมืองสงบตามต้องการ เชื่อว่าผลในทางตรงข้ามจะเกิดขึ้น"นายนพดลกล่าว
พท.ยื่นอสส.ฟันสุรชัย ผิด ม.68 วันเดียวกัน ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) และคณะเข้าพบนายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อยื่นหนังสือถึงนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด (อสส.) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภาคนใหม่ พร้อมพวก กระทำการแต่งตั้งนายกฯ มาตรา 7 ว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ด้านนายนันทศักดิ์ กล่าวว่า อัยการจะตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที หากพบว่า การแต่งตั้งนายกฯ มาตรา 7 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพิจารณาไม่เกิน 1 เดือน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะเลขาธิการ ศอ.รส. กล่าวว่า หลังมีการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา ในข้อหาสนับสนุนกบฏ จึงให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน หากมีข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่ากระทำผิด จะแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีต่อไป
หมอสวนดอกจี้เร่งหานายกฯ วันเดียวกัน กลุ่มชาวสวนดอกรักประชาธิปไตย ต่อต้านการใช้ความรุนแรง กว่า 100 คน รวมตัวกันที่ใต้ตึกสุจิณโน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (รพ.สวนดอก) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 8 เรื่อง ขอประณามการสังหารประชาชน และสนับสนุนให้ประธานวุฒิสภาสรรหานายกฯโดยเร็ว และขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีทุกคนลาออกจากตำแหน่งในทันที เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ให้ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาจัดการกับกองกำลังโจรก่อการร้ายอย่างเด็ดขาด ให้ประธานวุฒิสภาเร่งดำเนินการให้มีนายกฯคนใหม่ตามมาตรา 180 ของรัฐธรรมนูญโดยเร็ว และให้นายกฯคนใหม่ประกาศนโยบายเร่งด่วนแห่งชาติในการปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้านให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ต่อจากนั้นจึงให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ปรับปรุงแล้ว
'สันติวิธี'ชงรองนายกฯคนกลาง ที่รัฐสภา นักสันติวิธี นำโดยนายสุริชัย หวั่นแก้ว นายชัยวัฒน์ สถาอนันท์ นายโคทม อารียา พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ นายเอกพันธุ์ ปิณฑวนิช นางฉันทนา บรรพศิริโชค และนางสุกัญญา เอมอิ่มธรรม ยื่นแถลงการณ์'ข้อเสนอเพื่อเปิดบทสนทนาเรื่อง รักษาการนายกฯที่เป็นคนกลางแต่ไม่ได้มาด้วยมาตรา 7'ต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 โดยแถลงการณ์ระบุว่า ข้อเสนอหนึ่งที่คู่ขัดแย้งควรมาร่วมมือกันพิจารณา คือ จะสรรหารองนายกฯผู้รักษาการนายกฯที่เป็นคนกลางได้อย่างไร จากนั้นจึงร่วมมือกันสรรหาบุคคลดังกล่าว เมื่อได้ชื่อที่เห็นพ้องกันแล้ว รักษาการนายกฯคนปัจจุบันก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรองนายกฯ จากนั้น ครม.มีมติให้รองนายกฯคนกลางทำหน้าที่รักษาการนายกฯ แทนคนปัจจุบัน จากนั้นอาจแต่งตั้งรัฐมนตรีคนกลางคนหนึ่งมาทำหน้าที่ประสานงานการปฏิรูปการเมือง และอาจมีรัฐมนตรีคนอื่นๆ อีกอาจแต่งตั้งจากคนกลาง หรือจากฝ่ายค้านก็ได้ เพื่อมาทำหน้าที่ช่วยคลี่คลายวิกฤตการเมืองครั้งนี้ แถลงการณ์ระบุว่า จากนั้นขอให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันคิดเรื่องกระบวนการปฏิรูป และร่วมกันจัดทำข้อเสนอที่ชัดเจน และอำนาจหน้าที่ขององค์กรปฏิรูป แล้วนำข้อเสนอดังกล่าวไปลงประชามติ และตกลงร่วมกันก่อนการเลือกตั้ง เรื่องการแบ่งปันอำนาจบริหารและนิติบัญญัติหลังการเลือกตั้ง และดำรงตำแหน่งเฉพาะกาล เช่น 1 ปี ของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง โดยให้ยุบสภาและการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง
50 ส.ว.สายกลางไม่ยุ่ง'ม.7' ที่รัฐสภา นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ ส.ว.เสนอให้มีนายกฯคนใหม่ที่มีอำนาจเต็มมาบริหารประเทศเพื่อแก้ไขวิกฤตว่า สิ่งที่พูดคุยไม่ต่างจากนายกฯมาตรา 7 ที่บอกว่านายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯไม่มีอำนาจเต็ม อยากถามว่าหากเลือกนายกฯคนใหม่เข้ามาโดยวิธีใดก็ตามก็ไม่มีอำนาจเต็ม เพราะอยู่ในช่วง พ.ร.ฎ.ยุบสภาเช่นเดียวกัน ในวงหารือของ ส.ว.ที่บอกว่าจะให้เลือกนายกฯคนใหม่เหมือนกับมีธงไว้แล้ว การเทียบเคียงกฎหมายก็เป็นการเทียบเคียงตามใจตัวเอง ดังนั้น การที่ ส.ว.จะให้เลือกนายกฯคนใหม่ไม่ใช่มติของวุฒิสภา เป็นเพียงมติของสมาชิกบางส่วน "เมื่อปี 2554 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส. เคยพูดถึงนายกฯมาตรา 7 เป็นการทำบาปกับประชาชน แต่ขณะนี้กลับมาเสนอเอง ถ้าวุฒิสภายังเดินหน้าเสนอนายกฯคนใหม่ กลุ่ม ส.ว.สายกลาง 50 คนจะไม่เข้าร่วมโหวตแน่นอน และมวลชนอีกฝ่ายหนึ่งก็คงไม่ยอม ต้องเกิดจลาจลแน่ และทหารก็ต้องออกมาประกาศกฎอัยการศึกแน่นอน และทหารอาจจะตั้งรัฐบาลเอง หรือโยนให้วุฒิสภาเป็นคนดำเนินการ"นายวิชาญกล่าว
'เสรี'ยัน'สุรชัย'อยู่ข้างกปปส. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเผยแพร่คลิปผ่านทางยูทูบ ความยาว 10.23 นาที มีหัวข้อระบุว่า 'ดร.เสรี วงษ์มณฑา พบปะพี่น้อง กปปส. ชิคาโก'ซึ่งมีทั้งหมด 10 ตอน โดยนายเสรี วงษ์มณฑา แกนนำ กปปส. กล่าวปราศรัยในร้านอาหารหนึ่งในนครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีคนไทยกลุ่มรับฟัง ในเนื้อหาระบุว่า นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา เป็น กปปส.เต็มตัว อีกทั้งยังมีการตกลงกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.เรียบร้อยแล้ว "วันที่ 16 พฤษภาคม คุณสุรชัยสัญญาว่าจะดันแผนการแก้ปัญหาประเทศออกมาอย่างแน่นอน เพราะคุณสุรชัยได้คุยกับลุงกำนันแล้ว ต้องบอกก่อนว่าคุณสุรชัยเป็น ส.ว.สรรหา และคุณสุรชัยอยู่ข้างเราอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง เมื่อตอนที่ ส.ว.ครบ 95% ที่สามารถเปิดประชุมวุฒิสภาได้ เราเองก็หวั่นไหวเพราะจริงๆ แล้วตอนนั้นเรานับจำนวนที่แน่ชัดที่จะเอนเอียงมาข้างเรา เรายังไม่แน่ใจว่าจะได้ครบครึ่งหนึ่ง หรือ 76 คนหรือไม่ เพราะมี ส.ว.ที่เป็นสายโน้น และ ส.ว.ที่ครึ่งๆ กลางๆ ที่ไม่รู้ว่าเป็นสายใคร"นายเสรีกล่าว
มั่นใจเสียงส.ว.ถอด'ปู'ได้แน่ นายเสรี กล่าวว่า การเลือกประธานวุฒิสภา ในที่สุดคุณสุรชัยที่เป็นสายของเราอย่างชัดเจนได้ 96 เสียง ทางโน้นได้ 51 เสียง ที่ได้มา 96 เสียง ถือว่าเกิน 3 ใน 5 ของ ส.ว.ทั้งหมด ที่ตุนเอาไว้ว่า ถ้าวันที่ยื่นถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกฯจะทำได้หรือไม่ และจะสามารถถอดถอน ส.ส. และ ส.ว. 308 คนที่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว.ได้หรือไม่ ขณะนี้ถือว่าอุ่นใจและมั่นคงแล้ว "มีหลายคนชอบถามว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไร จะชนะได้อย่างไร ต้องตอบว่า ชนะด้วยขบวนการยุติธรรม เพราะในท้ายที่สุดเขาก็ผิดหลายๆ เรื่องที่ทำมา แต่ก็ยังมีคนถามอีกว่า ก็รู้ว่าเขาจะไปด้วยกฎหมาย แล้วทำไมเราไม่กลับบ้าน ต้องตอบว่าไม่ใช่ เพราะถ้าตรงนี้เราอยู่มันจะไม่มีที่ว่างสำหรับใคร แต่ถ้าเราไปที่ตรงนี้จะว่าง และถ้าเราไป เสื้อแดงมันจะมา ถ้าเราไปอยู่หน้าศาลก็จะทำให้ศาลอบอุ่น แต่ถ้าเสื้อแดงไปอยู่หน้าศาล จะทำให้ศาลหวั่นไหว เราจึงต้องอยู่เฝ้า เพราะก่อนหน้านี้มีการวิ่งเต้น ส.ว. จะซื้อ 6-8 ล้านบาท ถ้าเราไม่อยู่ป่านนี้ขายแล้ว แต่กระแสเราอย่างนี้ไม่มีใครกล้าที่จะขาย เราแรงขนาดนี้ ถ้าเกิดการโหวตไปอยู่สายโน้น แล้วถึงเวลาถอดถอน และไม่ถอดถอน ใครจะกล้า เพราะมวลมหาประชาชนเข้มแข็งมุ่งมั่นขนาดนี้ ทุกคนต้องมุ่งมั่นในความถูกต้อง เวลาที่เป็นไทยเฉย ไม่ว่าผู้ว่าฯจะขายตัว ผู้การฯขายตัว ส.ว.ขายตัว หรือ ส.ส.ขายตัว มันขายได้เพราะไม่มีแรงกดดัน ทำให้รัฐบาลเหิมเกริม ถ้าเราไม่เป็นไทยเฉยมันไม่กล้าเหิมเกริมแน่" นายเสรีกล่าว
แจง'สุเทพ'แค่ตัดพ้อ'สุรชัย' ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนคลิปตอนที่ 5 และ 6 ว่า "ตอนนี้เราได้ประธานวุฒิสภาแล้ว และมีคดีต่างๆ ที่รออยู่ ทั้งเรื่องนายกฯคนกลางก็ดี เรื่องการถอดถอนก็ดี เราจึงค่อนข้างจะสบายใจได้เวลานี้ แต่ถ้าฟังเสียงลุงกำนัน หลายคนอาจจะเหมือนไม่สบายใจ เพราะลุงกำนัน เหมือนจะโกรธคุณสุรชัย อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่โกรธ เพราะเป็นการตัดพ้อต่อว่า หลังจากที่เหนื่อยมา 6 เดือน จะอะไรนักหนา จะตัดสินใจอะไร จะให้ใครเป็นอะไรก็ตัดสินใจมาเลย เพราะต้องการให้เร่งเท่านั้นเอง และคุณสุรชัยก็ได้รับปากว่า วันที่ 16 พฤษภาคม แผนออกมาแน่นอน ลุงกำนันใจร้อนไปหน่อยนึง" "ตอนนี้ถ้าเปรียบกำลังภายในของจีน ก็เหมือนกำลังแตกซ่าน นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกฯ ไม่ยอมที่จะทูลเกล้าฯชื่อประธานวุฒิสภา ถ้ายังงั้นเอ็งก็ทูลเกล้าฯพ.ร.ฎ.เลือกตั้งไม่ได้ รัฐบาลต้องการที่จะแกล้งไม่ให้คุณสุรชัยได้เป็นประธานวุฒิสภา เพราะถ้าได้เป็น ก็จะมีสิทธิได้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ในการที่จะบอกว่าบ้านเมืองมีปัญหาแล้ว จะขอใช้มาตรา 7 เพื่อนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และสนองพระบรมราชโองการ ประกาศชื่อนายกฯคนกลาง แต่ตอนนี้คุณสุรชัยยังไม่ได้เป็น เพราะนายนิวัฒน์ธำรงไม่นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้น นายนิวัฒน์ธำรงต้องตัดสินใจว่าจะยอมให้คุณสุรชัยเป็นประธานวุฒิหรือไม่ ไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งวันที่ 20 กรกฎาคมก็ไม่มีทางเกิดขึ้น วันนี้บ้านเมืองเป็นผีหัวขาด เป็นเดดล็อกไปหมดแล้ว" นายเสรีกล่าว
'สุรชัย'แถลงผลถกนอกรอบ ที่อาคารรัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภานอกรอบเพื่อสรุปแนวทางหาทางออกบ้านเมืองของ ส.ว. มี ส.ว.ลงร่วมประชุม 72 คน โดยมี ส.ว.เลือกตั้งประมาณ 20 คน อาทิ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ส.ว.กทม., น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ส.ว.สมุทรปราการ, นายอภิชาติ ดำดี ส.ว.กระบี่, นายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว.อุตรดิตถ์, นายสมเกียรติ พื้นเสน ส.ว.ร้อยเอ็ด, นายศักดา ศรีวิริยะไพบูลย์ ส.ว.ระนอง, นายวิรัช พิมพะนิตย์ ส.ว.กาฬสินธุ์, นายสุชาติ อุสาหะ ส.ว.เพชรบุรี, นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ ส.ว.ตรัง, นายสมศักดิ์ ขจรเฉลิมศักดิ์ ส.ว.เลย, นายทวี ภูมิสิงหราช ส.ว.พัทลุง, นางบุญพา ลิมปะพันธุ์ ส.ว.สุโขทัย ต่อมาเมื่อเวลา 18.10 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และว่าที่ประธานวุฒิสภา แถลงข่าวภายหลังการประชุมที่ใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง ว่า วุฒิสภาจัดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพื่อหาทางออก ทั้งหน่วยงานรัฐ องค์กรอิสระ ศาล ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย รวมถึงสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมทุกภาคส่วน ซึ่งเห็นตรงกันว่าเราควรช่วยกันหาทางออกเพื่อแก้วิกฤตชาติ นายสุรชัย กล่าวว่า จากการชี้แจงของ กกต.ทราบว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันไม่สามาถจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จได้โดยเร็ว ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน หากความขัดแย้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และยังดำรงอยู่อย่างยาวนาน จะส่งผลเสียกับประเทศ
ชง 3 ข้อแก้วิกฤตประเทศ "วุฒิสภาเห็นว่าปัญหาความขัดแย้งของชาติสามารถแก้ไขให้สำเร็จใน 3 แนวทางดังนี้ 1.เพื่อให้การแก้ไขปัญหาบรรลุเจตนารมณ์ในการคืนความสงบสุข และความสมานฉันท์ของคนในชาติ ต้องเร่งจัดให้มีการปฏิรูปประเทศในทุกด้านให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งจะต้องมีนายกฯและ ครม.ที่มีอำนาจเต็ม เพื่อดำเนินการดังกล่าว 2.ขอเรียกร้องใหรัฐมนตรี ผู้ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตาม มาตรา 181 วรรคหนึ่ง และเรียกร้องให้รัฐบาลและพรรคการเมือง ให้ความร่วมมือกับวุฒิสภาในการหาทางออกประเทศภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในชาติอย่างเต็มกำลัง เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและลดเงื่อนไขความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น"นายสุรชัยกล่าว นายสุรชัย กล่าวว่า 3.วุฒิสภาพร้อมที่จะทุ่มเทการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำความเห็นและข้อแนะนำจากทุกภาคส่วนมาพิจารณาในการประชุมตามข้อบังคับของวุฒิสภาเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ได้มาซึ่งนายกฯภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระดับสากล และประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยเร็ว ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
นัดหารือ'นิวัฒน์ธำรง'19 พ.ค. นายสุรชัย กล่าวว่า ในวันที่ 19 พฤษภาคม วุฒิสภานัดหารือนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี จะคุยกันในปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เพื่อหาทางออกประเทศ ส่วนสถานที่และเวลายังไม่ได้กำหนด เพราะเกรงเรื่องความปลอดภัย ส่วนรัฐบาลรักษาการจะต้องลาออกหรือไม่นั้น อยากให้ไปถามรัฐบาลว่า ควรจะดำเนินการอย่างไร เชื่อว่ารัฐบาลจะพิจารณาตัวเองได้ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า มติของ ส.ว.ที่ออกมา คงไม่ต้องไปชี้แจงต่อ กปปส. เพราะ กปปส.คงทราบจากการถ่ายทอดสดแล้ว ยืนยันว่า ส.ว.ทำงานเต็มที่ อาจจะไม่ทันใจใครทุกคน แต่วุฒิสภาตั้งใจทำงานเต็มที่ เมื่อถามว่า วุฒิสภาเลิกคิดที่จะเสนอนายกฯมาตรา 7 แล้วใช่หรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า วุฒิสภาต้องดำเนินการทุกอย่างภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างต้องเดินภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ระบอบประชาธิปไตยสากล และประเพณีการปกครอง หลักการแก้ปัญหาต้องยึดนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และการมีส่วนร่วม
ส.ว.ลั่นรบ.ไม่ลาออกใช้'ม.7' นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า สาเหตุที่ ส.ว.ยังไม่มีมติชัดเจนว่าจะดำเนินการตั้งรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มได้เมื่อใด และใช้ช่องทางใด เนื่องจากหากรีบดำเนินการตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็วอาจส่งผลให้กลุ่ม นปช.ไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม ช่องทางในการเสนอนายกฯที่มีอำนาจเต็ม ยังคงใช้แนวทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคสอง เทียบเคียงมาตรา 171 และมาตรา 172 อยู่เหมือนเดิม "หากการเจรจากับรัฐบาลในวันที่ 19 พฤษภาคม ประสบความสำเร็จ โดยรัฐบาลยอมลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการ จะทำให้การแก้ปัญหาโดยใช้ช่องทางมาตรา 180 ง่ายขึ้น แต่ถ้ารัฐบาลไม่ยอมลาออก สุดท้ายอาจจะต้องใช้วิธีหักด้วยมาตรา 7 แทน แต่ยังเป็นห่วงว่าการใช้มาตรา 7 จะทำให้เกิดความรุนแรงตามมา ทั้งนี้ การแก้ปัญหาทั้งหมดควรได้ทางออกชัดเจนภายใน 1 สัปดาห์" นพ.เจตน์กล่าว
แย้มประชุมนัดพิเศษใช้'ม.7' นายอภิชาติ ดำดี ส.ว.กระบี่ ในฐานะโฆษกคณะทำงานประสานองค์กร วุฒิสภา กล่าวว่า แนวทางการให้ได้มาซึ่งนายกฯที่มีอำนาจเต็ม ยังคงใช้รัฐธรรมนูญหลายมาตรามาเทียบเคียงเหมือนเดิม ทั้งมาตรา 180 วรรคสอง มาตรา 132 (2) รวมถึงมาตรา 7 ก็ต้องนำมาพิจารณาด้วย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปโดยชอบธรรมทั้งหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และจารีตประเพณีการปกครอง แต่ยังไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาในการแต่งตั้งนายกฯที่มีอำนาจเต็มได้ เนื่องจากหากเร่งรีบไป จะเกิดการไม่ยอมรับจากกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย "แต่หากมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาแล้ว วุฒิสภาจะใช้ข้อบังคับวุฒิสภา ให้ ส.ว.เข้าชื่อกัน 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ขอเปิดประชุมเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งไม่ใช่การเปิดประชุมสมัยวิสามัญ แต่เป็นการประชุมกิจการภายในของวุฒิสภา เพื่อพิจารณาการให้ได้มาซึ่งนายกฯที่มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการ" นายอภิชาติกล่าว
'สุเทพ'ฉุนเลิกคุย'สุรชัย' ต่อมาเวลา 18.30 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ขึ้นปราศรัยหลังฟังการแถลงของนายสุรชัยและคณะ โดยแสดงอาการไม่พอใจข้อสรุปของวุฒิสภาว่า "เราได้ยินคำตอบแล้วว่ารอต่อไป จะบอกว่าวันนี้ วินาทีนี้ ที่ได้ยินคำตอบ ดีใจมากที่ไม่ต้องพบกันในสภาอีกต่อไป ดีใจที่ได้เลิกเล่นการเมืองทั้งชีวิต เพราะเบื่อคำพูดแบบนี้ เราก็ไม่อยากคุยกับคุณอีกต่อไปแล้ว ขอบคุณที่ช่วยแถลงให้ทราบว่าในที่สุดคุณก็ยังเกรงใจคนมากเหลือเกิน จากนี้เราจะคิดหาวิธีของเราจะได้ไม่ต้องเล่นลิ้นกับใคร ทำตามประสาเรา เป็นไงเป็นกัน ไม่ต้องรอไปถึงชาติหน้า" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายสุเทพกล่าวว่า ขอให้ กปปส.ทุกเครือข่ายและพี่น้องร่วมอุดมการณ์ทุกองค์กร กปปส.ทุกจังหวัด ส่งตัวแทนมากลุ่มละ 1 คน ในวันที่ 17 พ.ค.นี้ ประชุมกันในเวลา 14.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ขอให้ประชาชนจัดเตรียมกระเป๋ารอเสียงนกหวีดจะเริ่มปฏิบัติการยึดคืนอำนาจทันที ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังปราศรัยเสร็จนายสุเทพนำมวลชนกลับเวทีหลักที่หน้าสหประชาชาติในทันทีทางด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ได้ขึ้นเวทีและกล่าวปราศรัยว่า พี่น้องเอ๋ย ส.ว.ทรยศประชาชนแล้ว ไปเกรงใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ฟังหรือไม่ที่ ส.ว.แถลง ฟังแล้วคิดอย่างไร ประเทศนี้เป็นของใคร ของ พ.ต.ท.ทักษิณหรือ ทำอะไรต้องถาม พ.ต.ท.ทักษิณหรือ ทำไมไม่ถามประชาชน
'สุเทพ'กลับลำเข้าใจส.ว.ทำช้า ต่อมา เมื่อเวลา 21.00 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ขึ้นเวทีราชดำเนินปราศรัยว่า พี่น้องและตนคาดหวังไว้สูงกับ ส.ว. และคิดว่าวิธีการเลือกนายกฯคนกลางจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่เราต้องอยู่กับความเป็นจริง ทางฝ่ายทรราชพยายามทุกวิถีทางที่จะขัดขวางการทำงานของวุฒิสภา "ฝ่ายทักษิณพยายามถ่วงเวลา ซื้อทุกอย่างแม้กระทั่ง ส.ว.มวลชนต้องเข้าใจอุปสรรค เราไม่เคยกดดัน ส.ว.ไม่เคยบังคับให้เลือกนายกฯว่าต้องคนไหน เพราะเราเคารพในดุลพินิจวุฒิสภา แต่การแถลงการณ์ของวุฒิสภานั้นผมไม่ถูกใจ และผิดไปจากความหวังที่ตั้งเอาไว้ อย่างไรก็ตาม เราอย่าเพิ่งด่วนสรุปตัดสินใจ ส.ว. หากบนเวที กปปส.มีแกนนำต่อว่านายสุรชัยและ ส.ว. ผมฝากขอโทษนายสุรชัย และขอย้ำกับประชาชนว่าอย่าเพิ่งด่วนไปโกรธเคือง โปรดพิจารณา เห็นใจบรรดา ส.ว.ที่คงแถลงได้เพียงเท่านี้ อาจมีความคิดเหมือนเราทุกอย่าง แต่ทำช้า" นายสุเทพกล่าว นายสุเทพ กล่าวว่า ตนไม่โกรธ ส.ว. เพราะ ส.ว.คิดอ่านเหมือน กปปส. ทั้งเรื่องการแถลงการณ์ รัฐบาลใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม และรัฐบาลมีอำนาจมีอยู่จำกัดทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาของชาติได้ เพียงแต่ทาง ส.ว.ไม่ทำตามข้อเรียกร้องในเวลาที่เราคาดหวังในการรีบแต่งตั้งนายกฯคนกลางมาบริหารและปฏิรูปประเทศ แต่ก็ขอขอบคุณ ส.ว.ที่รับหน้าที่หานายกฯคนใหม่ โดยจะปล่อยให้ทำหน้าที่ต่อไปส่วนมวลมหาประชาชนจะไม่ยอมแพ้และสู้ในทางของเรา "เสียดายว่าหาก ส.ว.เลือกนายกฯวันนี้ พวกเราก็รอวันกลับบ้านกันได้ แต่ในเมื่อไม่ เราก็จะสู้และจะเดินหน้าของเรา ให้วุฒิสภาทำหน้าที่ของเขา แล้วขอเชิญแกนนำ กปปส.จังหวัดต่างๆ ทุกสาขาอาชีพ ข้าราชการ พบกันที่ตึกสันติไมตรีในวันที่ 17 พฤษภาคม เพื่อหารือกันถึงการยึดคืนอำนาจอธิปไตยมาสู่ประชาชน" นายสุเทพกล่าว
พท.ไม่รับโรดแมป'สุรชัย' ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษก พท. แถลงผลการประชุมคณะกรรมกิจการ พท.ว่า ที่ประชุมเห็นว่าการที่นายสุรชัย และกลุ่ม 40 ส.ว. ประชุมกันเพื่อหานายกฯเฉพาะกาลเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญเท่ากับเป็นการสนับสนุนแนวคิดของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และแนวคิดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป. เป็นการใช้ทฤษฎีสมคบคิดปล้นอำนาจประชาชน วันนี้ ครม.25 คนยังอยู่ ทั้งประธานวุฒิสภาก็ไม่มีอำนาจและไม่รู้จะอ้างกฎหมายใดที่จะให้ ครม.ที่เหลืออยู่พ้นสภาพไปได้ "ดังนั้น สิ่งที่นายสุรชัย และ 40 ส.ว.เสนอจึงเป็นทางตันของประเทศที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งไม่รู้จบสิ้น พรรคมองว่าทางออกที่ดีที่สุดคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วม คือการจัดการเลือกตั้ง ให้มีรัฐบาลมาดำเนินการปฏิรูปประเทศโดยใช้เวลา 1 ปีจากนั้นให้ลาออกแล้วเลือกตั้งใหม่"นายพร้อมพงศ์กล่าว
ปธ.กกต.ปัดยื้อเลือกตั้ง ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.กล่าวถึงการยุติการเจรจากำหนดวันเลือกตั้งกับรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า การหารือร่วมกับรัฐบาลผ่านไปเพียง 45 นาที กลุ่ม กปปส.ก็มาปิดล้อมสถานที่หารือ ทางรัฐบาลจึงขอยุติการหารือ แต่มีข่าวว่า กกต.พยายามยื้อการเลือกตั้ง ต้องชี้แจงว่าไม่เป็นความจริงเลย หากรัฐบาลเดินหน้าพูดคุยกับ กกต.ต่อไปทุกอย่างก็จะยุติ "เหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ไม่ได้เป็นความผิดของ กกต.เพราะ กกต.พยายามเดินหน้าแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้การเลือกตั้งเกิดความสำเร็จ ไม่มีข้อผิดพลาดเหมือนการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ทุกคนก็ทราบว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร" นายศุภชัยกล่าว นายศุภชัย กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ที่ขอให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งนั้นมองว่าเป็นไปได้ยาก แต่ไม่ได้ถือว่าเป็นอุปสรรค โดย กกต.ก็จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งต่อไป หากมีปัญหาเราก็ค่อยแก้ไขกันไป ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ค่อยว่ากันอีกครั้ง
'สมชัย'ชี้รบ.แจ้งยุติหารือเอง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ในการหารือกับตัวแทนรัฐบาลเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่หอประชุมกานตรัตน์ กองทัพอากาศ แต่หลังหารือไปสักพัก ฝ่ายรักษาความปลอดภัยของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ได้มารายงานสถานการณ์ว่ามีม็อบเข้ามา สมควรเลิกประชุม ทำให้นายนิวัฒน์ธำรงประกาศยุติการประชุม และรีบออกจากที่ประชุมอย่างรวดเร็ว "การประชุมที่ไม่สำเร็จ มิได้มาจาก กกต. แต่เกิดขึ้นจากฝ่ายรัฐบาล สื่อควรให้ความเป็นธรรมกับ กกต. ด้วย"นายสมชัยกล่าว |