- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 10 June 2018 07:13
- Hits: 6259
นายกฯ ตัดพ้อตั้งใจทำงานตลอด 4 ปีแต่กลับถูกโจมตี ยันไม่คิดสืบทอดอำนาจ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ได้มาทบทวนว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ตนเองกำลังทำอะไรอยู่ นอกจากการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี และกำลังคิดว่า ตอนนี้กำลังต่อสู้กับอะไรอยู่ ต่อสู้กับตำแหน่งที่ไม่เคยอยากเป็นมาก่อนในชีวิต เพื่อรักษาอำนาจผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งก็ไม่ใช่ เพราะถ้าส่วนตัวจะทำเรื่องนี้มีอย่างเดียวคือ ทำเสร็จหรือไม่เสร็จ แต่ไม่ได้มุ่งหวังที่จะต่อสู้เพื่อให้ตัวเองอยู่ได้นานขึ้น เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับประชาชน
"การที่ตนเองเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ตนเองพยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุด คือทำหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญ มีเกียรติ ทรงคุณค่า แต่ความผิดของตนเองคือ มีความเป็นมนุษย์ ที่มีอารมณ์ โมโห โกรธ"
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่มีการวิจารณ์จะลงจากหลังเสืออย่างไรนั้น ตนเองไม่เคยขึ้นหลังเสือหรือเป็นเสือมาจากไหน ดังนั้นหลังจากนี้จะรอดูต่อไปว่าจะได้รับความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน
"ไม่ว่าผมจะอยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องพิจารณา หรือเพราะว่าผมอยากมีอำนาจ ผมไม่เคยคิดว่าผมมีอำนาจ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ส่วนกรณีมีการเขียนวิจารณ์จนตำแหน่งนี้ดูตกต่ำ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากถามว่าทำไปเพื่ออะไร แล้วอนาคตนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะเป็นเช่นนี้หรือไม่ ที่ต้องถูกด่า ถูกตำหนิ ให้ร้าย ใช้คำผรุสวาทในทางโซเซียลมีเดีย ดังนั้นต้องช่วยกันแก้ไข
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องของเทคโนโลยีอยากให้มองสองด้าน เนื่องจากโลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงมากมายจึงมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง แล้วหันมามองว่าเราจะช่วยกันอย่างไรในการสร้างภูมิคุ้มกันให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การรับข้อมูล การเขียน และโพสต์ส่งต่อข้อมูล ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าดีกว่าการมีดาวเทียมด้วยซ้ำไป หากเราช่วยเฝ้าระวังเรื่องไม่ดี และช่วยกันแก้ไขตามกฎหมาย ไม่มองเฉพาะสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก จึงอยากจะบอกทุกฝ่ายว่า วันนี้อยากให้ช่วยกันทำเพื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อย สร้างสิ่งดีๆ ให้คนรับรู้ มากกว่าทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย และทำลายเสถียรภาพของบ้านเมือง แม้วันนี้บ้านเมืองไม่มีความปั่นป่วนหรือปิดถนน แต่กลับมีการใช้โซเชียลมีเดีย สร้างความเสียหายกับประเทศ
ส่วนการจัดหาดาวเทียมดวงใหม่ของกองทัพนั้น เป็นเพียงการหารือว่ามีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาดาวเทียมเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะต้องคำนึงถึงงบประมาณและปัจจัยอื่นๆ และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอีกนาน เป็นไปตามลำดับ โดยยังไม่มีการเสนอเรื่องนี้เข้ามายัง ครม.และขอยืนยันว่าทุกโครงการต้องผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจาก ครม.ทั้งหมด หากยังไม่เข้าสู่ ครม.ถือว่าไม่มีโครงการไหนที่จะทำได้ เพราะก่อนเสนอเข้า ครม.จะมีการตรวจสอบขั้นตอนอีกชั้นหนึ่งว่าเข้าหลักเกณฑ์ เข้าตามข้อบังคับตามกฎหมายหรือไม่ ที่สำคัญต้องสอบถามประชาชนว่ายินยอมหรือไม่
นายกฯ เตรียมนัดหารือพรรคการเมืองภายใน มิ.ย.เล็งปลดล็อคกิจกรรมการเมืองเป็นรายกรณี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า เตรียมนัดหารือกลุ่มพรรคการเมืองภายใน มิ.ย.นี้หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้มีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 140 และมาตรา 141 วรรคหนึ่ง (5) และวรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
"ผมไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ ใครจะมาหรือไม่มาก็ได้ และผมก็ไม่ได้ง้อให้ใครมาร่วม หากพรรคใดไม่มาก็ให้ประชาชนไปตัดสินใจดูว่า ทำไมถึงไม่มาร่วม ส่วนข้อเสนอของบางพรรคการเมืองที่ต้องการให้มีการถ่ายทอดสดระหว่างการหารือนั้นขอนำไปพิจารณาก่อน โดยขอดูถึงความจริงใจของแต่ละพรรค" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ส่วนประเด็นเรื่องการปลดล็อคให้จัดกิจกรรมการเมืองต่าง ๆ ได้นั้น ในระยะแรกน่าจะมีการพิจารณาเป็นรายกรณีไปว่าจะปลดล็อคในกิจกรรมใดบ้าง ซึ่งหากปลดล็อคการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองทั้งหมดจะมีใครรับรองหรือไม่ว่าจะไม่มีปัญหาความวุ่นวาย เช่น การออกมาเดินขบวนเหมือนในอดีต พร้อมทั้งฝากให้นักการเมืองและพรรคการเมืองช่วยออกมารับรองว่าการหาเสียงและการประกาศนโยบายต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่อยากให้มองว่าเป็นการไปบังคับ ตัดสิทธิ์ หรือเพิ่มภาระ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีเรื่องเหล่านี้และบ้านเมืองเป็นอย่างไร หากจะมีกฎหมายบังคับใช้บ้างจะไม่ได้เลยหรือ ซึ่งประเทศจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ กฎหมายและกติกา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากต้องการรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ทุกคนต้องช่วยกันเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ต้องช่วยกันระมัดระวัง ป้องกันไม่ให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำไปสู่ความความขัดแย้ง หรือปลุกระดมประชาชน ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องไม่เกิดขึ้น และเรื่องเหล่านี้เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนและประชาชนทุกคน การพิจารณาปลดล็อคพรรคการเมืองนั้นต้องมองถึงการหาเสียงที่มีการนำเสนอเรื่องดีๆ และเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน
"การปลดล็อคอะไรต่างๆ ผมถามว่าที่ผ่านมามันเป็นอย่างไรเรื่องการหาเสียง มีการหาเสียงในสิ่งที่ดีๆ หรือไม่ ด่ากันไปด่ากันมา แทนที่จะพูดในสิ่งที่พรรคจะทำอะไร ตัวเองจะทำอะไร ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไปไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทูลเกล้าฯ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่างพระราชบัญญัตติฯ การได้มาซึ่ง ส.ว.ว่า เป็นไปตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งในขณะนี้ตนเองยังไม่ได้รับร่างกฎหมายดังกล่าว และอยู่ระหว่างการดำเนินการของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
สนช. มั่นใจเลือกตั้งต้นปี 62 ตามโรดแมพรัฐบาล หลังศาลชี้ชัดร่าง กม.ลูกไม่ขัด รธน.
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ยังคงมั่นใจว่ากระบวนการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแมพที่รัฐบาลกำหนดไว้ในช่วงต้นปี 2562 เพราะทั้งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติแล้วว่าไม่มีกฎหมายฉบับใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
"ทุกอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่าไม่มีปัจจัยใดมากระทบให้โรดแมพต้องเลื่อนออกไปอีก"นายสุรชัย กล่าว
ส่วนความคืบหน้าในการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องการเลือกตั้งท้องถิ่นนั่น นายสุรชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของกฤษฎีกา ยังไม่มีสัญญาณว่าจะส่งมาให้ สนช. พิจารณาได้เมื่อใด
นายกฯ ยืนยันเลือกตั้งก.พ. 62 เตรียมดำเนินการตามขั้นตอนหลังกม.ลูกผ่านแล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับไม่ขัดกับรัฐธรรรมนูญว่า เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ส่งคำวินิจฉัยของศาลฯ และร่างกฎหมายมายังคณะรัฐมนตรีก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ
"โรดแมพเลือกตั้งยังคงเป็นไปตามกรอบเวลาเดิมคือเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 อย่าเพิ่งไปวิพากษ์วิจารณ์ หรือกดดันให้เลื่อนการเลือกตั้งให้เร็วขึ้น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธให้ความชัดเจนเรื่องกำหนดนัดหมายหารือพรรคการเมือง หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
นายกรัญมนตรี ยืนยันว่าให้การสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ทุกพรรค รวมถึงพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่นายมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรค หากมีแนวทางการเมืองสร้างสรรค์และมีความตั้งใจจริงในการนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง เป็นรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ ก็ขอให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งการที่จะสนับสนุนพรรคใด ไม่ใช่เพราะพรรคนั้นสนับสนุนตัวเอง สนับสนุนรัฐบาล หรือ คสช.
"ไม่ว่าจะพรรคใคร พรรคคุณสุเทพ ถ้ามีความตั้งใจจริง ก็ขอให้ประสบความสำเร็จแล้วกันแสดงความยินดีด้วย"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองเก่าหรือพรรคการเมืองใหม่ จุดยืนของแต่ละพรรคในการสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนใครต่างก็ยังไม่มีความชัดเจนในเวลานี้ แต่สิ่งสำคัญและชัดเจนที่สุดคือประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจใช้สิทธิ์ ซึ่งไม่มีใครสามารถบังคับได้ และส่วนตัวไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ แต่ขึ้นอยู่กับกลไกตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่กำหนดไว้แล้ว
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่เหนื่อยหรือท้อในการทำหน้าที่ เพราะถือเป็นความจำเป็นที่จะต้องทำเพื่อประเทศชาติ พร้อมขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าว ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและมีหลักฐาน โดยไม่ควรวิจารณ์ในทางเสียหาย และเตือนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ให้ใช้ความระมัดระวังในการเผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูล หากพบว่ามีการกระทำความผิดจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายโดยไม่มีการละเว้นแต่อย่างใด
ศาล รธน.วินิจฉัยคำสั่งหัวหน้าคสช. 53/2560 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เหตุไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิ
ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 140 และมาตรา 141 วรรคหนึ่ง (5) และวรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 45
ในการพิจารณาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนได้ทำความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือ พร้อมทั้งแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และที่ประชุมได้ปรึกษาหารือร่วมกันแล้วลงมติ ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 140 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 45 หรือไม่ ซึ่งผลการลงมติปรากฎว่าศาลโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 140 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 45
ประเด็นที่สอง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 141 วรรคหนึ่ง (5) และวรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 45 หรือไม่ ซึ่งผลการลงมติปรากฎว่าศาลโดยมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 141 วรรคหนึ่ง (5) และวรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 45
"เนื่องจากทั้งสองประเด็นดังกล่าวไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล"คำวินิจฉัยของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
อินโฟเควสท์