WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ชงสูตรใหม่ที่มา'นายกฯ'ไร้พรรค สกัดโกง-เอื้อพวกพ้อง 'บิ๊กตู่'ขึ้นเวทีต้านทุจริต ย้ำเอาจริง-ชู'วาระชาติ''ปนัดดา'ปัดเอี่ยวไมค์ แถลงนโยบาย 12 ก.ย.

ต้านโกง - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้าร่วมงาน "วันต่อต้านคอร์รัปชั่น 2557 " ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กทม. เมื่อวันที่ 6 กันยายน

     'ประยุทธ์'ย้ำวาระแห่งชาติ ลุยแก้ทุจริตคอร์รัปชั่น ลั่นควบคุมอำนาจไม่ได้หวังผลประโยชน์ นักวิชาการดันนายกฯไม่สังกัดพรรค เลขาฯ สมช.ปูด 25-50%

@ 'บิ๊กตู่'ลั่นแก้ทุจริตวาระชาติ

       เมื่อวันที่ 6 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะนายกรัฐมนตรี กล่าวปาถกฐาพิเศษตอนหนึ่งในงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่น 2557 'HAND IN HAND .... ปฏิรูปการต่อสู้ เพื่อชัยชนะอย่างยั่งยืน' จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศไทย ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ว่าปีนี้เป็นที่ทราบดีว่าเป็นปีแห่งการปฏิรูปประเทศไทย ทั้งรัฐบาล และ คสช.ได้ให้ความสำคัญและให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ในทุกหัวข้อของการปฏิรูป ถือเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิรูปประเทศอย่างที่คนไทยทุกคนต้องการ 

        "การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ ที่สะสมมาเป็นเวลานาน ฝังรากลึกอยู่ในสังคมของเรามาตลอด นับวันจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความวุ่นวายทางการเมือง ความแตกแยกของคนในชาติ ความเหลื่อมล้ำในสังคม ประเทศต้องสูญเสียในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดความเชื่อมั่นจากสายตาของชาวต่างชาติ และองค์กรต่างชาติต่างๆ ทำให้ปิดกั้นโอกาสการลงทุนใหม่ๆ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า รัฐบาลและ คสช. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ถือเป็นประเด็นแรกของการปฏิรูปประเทศไทย ที่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนให้เป็นผลรูปธรรม ลำพังรัฐบาลอย่างเดียวนั้นคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้ทั้งหมด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และประชาชนทั่วไป 

@ ยันใช้อำนาจไม่หวังประโยชน์

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ในการปฏิรูปประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศต่างๆ ในโลกได้โดยเร็ว ฉะนั้น ปีนี้เป็นปีที่ 4 ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น จะเป็นปีแห่งผลสำเร็จ และผลสัมฤทธิ์บางประการให้เกิดขึ้นให้ได้

       "วันนี้เข้ามาในนาม คสช. แม้ว่าจะเป็นทหารส่วนใหญ่ เข้ามาแบกภาระเต็มบ่า อย่ากังวลว่าจะรู้เรื่องเศรษฐกิจหรือเปล่า ทำไมไม่ใช้คนที่มีความรู้เข้ามาทำงาน ผมไม่จำเป็นต้องรักษาฐานเสียงที่ไหน วันนี้เราเข้ามาทำงาน 3-4 เดือนที่ผ่านมา หลายอย่างขับเคลื่อน บางคนบอกว่าควบคุมอำนาจแล้วทำอะไร ผมก็อธิบาย มาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไข ผมจะไม่ไปก้าวล่วง แต่จะถามว่าแล้วเรื่องนี้เป็นอย่างไร ปัญหาอยู่ที่ไหน จะแก้ไขอย่างไร นั่นคือการควบคุมอำนาจของผม ไม่ได้ควบคุมอำนาจมุ่งหวังประโยชน์" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าประเทศไทยมีเสถียรภาพ เชื่อว่าอีกไม่นานประเทศไทยจะเป็นมหาอำนาจได้อย่างแน่นอน วันนี้ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ทำให้เร็ว ต้องรีบนำพาประเทศชาติให้พ้นจากความขัดแย้ง จากนั้นทำให้เกิดความยั่งยืน ต้องไม่สร้างความขัดแย้งอีกต่อไป และไม่ได้มุ่งหวังให้จะต้องมีการปฏิรูปกันใหม่ในปี 58-59-60 

@ สมช.ให้หยุด 3 ประสาน

      นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่ากว่า 40% ของผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับข้าราชการนักการเมือง เพื่อให้โครงการใดโครงการหนึ่งสามารถดำเนินการไปได้ และยังพบว่าวงเงินที่ต้องจ่ายให้กับกลุ่มคนเหล่านี้สูงถึง 25-50% ของมูลค่าโครงการนั้นๆ การยึดถือปฏิบัติเช่นนี้มาอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไม่ได้ ไม่เกิดการพัฒนาใหม่ๆ เพราะยังคงอยู่ในวงจรทุจริตเดิมๆ 

     "ถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมมือกันเดินหน้าแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นอันเกิดจาก 3 ประสาน คือนักการเมือง ข้าราชการ และผู้ประกอบการ เพราะที่ผ่านมานักการเมืองมีอำนาจในการต่อรองผลประโยชน์ทางตำแหน่ง หรือด้านอื่นๆ มากมาย เพื่อให้ข้าราชการยอมทำในสิ่งที่อันก่อผลประโยชน์ทับซ้อนให้พวกพ้อง หากข้าราชการรายใดจิตแข็งก็อยู่ไม่ได้ ทั้งนี้ ต้องมีการปลูกฝังจิตสำนึกร่วมกันในการต่อต้านปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ปลูกฝังในจิตใจพนักงานทุกคน แล้วหยุดเสียทีกับข้าราชการชั่ว นักการเมืองเลว และผู้ประกอบการที่ทำลายชาติบ้านเมือง" นายถวิลกล่าว

@ อสส.แนะยึดหลัก'3 ป.'

     นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวว่า สิ่งที่ต้องยึดดำเนินการเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมกับการพัฒนาให้ทัดเทียมนานาประเทศ คือ ต้องยึด 3 ป. คือ ปลูกฝังให้ทุกคนยึดการทำงานโปร่งใส ป้องกันการเกิดปัญหาทุจริต และปราบปรามปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและเด็ดขาด

      นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนของสภาหอการค้าได้มีการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่นมากว่า 12 ปีแล้ว ร่วมกับหอการค้าทั่วประเทศใน 77 จังหวัด โดยทางสภาหอการค้าได้จัดตั้งคณะกรรมการดูแลและสร้างจริยธรรม จรรยาบรรณของผู้ประกอบการภาคเอกชน ไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็ก ทั้งนี้ ภาคเอกชนและภาครัฐต่างต้องเชื่อมโยงกันกับปัญหาคอร์รัปชั่น ดังนั้น ต้องเปลี่ยนแปลงให้เกิดการต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างสามัคคี เพื่ออนาคตข้างหน้า

@ สภาอุตฯให้ลงโทษเอกชน

        นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคเอกชนนั้นถือเป็นโจทก์และจำเลยของปัญหาการคอร์รัปชั่น โดยมีมูลเหตุมาจากการที่ภาคเอกชนไม่ได้อนุญาตในการประกอบธุรกิจ จึงใช้หนทางอื่นเพื่อให้สามารถทำธุรกิจ ตั้งใจทำผิดกฎหมายหวังที่จะกอบโกยผลประโยชน์ให้มากที่สุด และการอยากได้งาน การอยากมีส่วนร่วมในผลประโยชน์นั้นๆ 

     นายสุพันธุ์ กล่าวว่า วิธีแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นของภาคเอกชนคือ ภาครัฐที่มีส่วนสำคัญในการเอื้ออำนวยการทำธุรกิจแก่ภาครัฐ ต้องมีการตรวจสอบ โปร่งใส มีจิตสำนึก และการมีกฎหมายที่ลงโทษบริษัทเอกชนได้อย่างชัดเจน

@ ดันนายกฯไม่ต้องสังกัดพรรค

      นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในงานเสนาต่อต้านคอร์รัปชั่นตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปการเลือกตั้ง ส.ส. ควรให้การศึกษากับประชาชนในเรื่องของการเลือกตั้ง โดยเฉพาะที่มาของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคการเมือง เพราะจะส่งผลภายหลังกับด้านการออกนโยบายที่จะสามารถเอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องได้ นอกจากนี้ ยังควรมีการปฏิรูปการเลือกตั้งให้เป็นประชาธิปไตย ไม่ให้เป็นเพียงแค่เครื่องหมาย เช่น ไม่ควรสูญเสียงบประมาณในการเลือกตั้งสูงเหมือนอย่างที่ผ่านมา ใช้งบประมาณทำป้ายหาเสียง ป้ายรณรงค์การเลือกตั้งด้วยเงินมหาศาล แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 

      นายอัทธ์ กล่าวว่า เรื่องการหาเสียงนโยบาย มองว่าควรให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีพรรคการเมืองหลายพรรคที่ออกนโยบายโดนใจประชาชน เพื่อหาเสียงให้กับพรรคตนเอง แต่เมื่อนำมาปฏิบัติจริงกลับไม่สามารถเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันกับแผนยุทธศาสตร์ได้ 

@ แนะออกแผนต้านโกง 5 ปี

      นายวิชัย อัศรัสกร เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า การปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ควรมีการปฏิรูปกฎหมายให้มีความศักดิ์สิทธิ์และบทลงโทษที่ชัดเจน นอกจากนี้ ควรมีการส่งเสริมข้อมูลระหว่างทางภาครัฐกับเอกชน โดยทางรัฐควรเปิดเผยข้อมูลสัญญาที่ทำร่วมกับเอกชน ขณะเดียวกัน ประชาชนต้องเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ 

       นายมานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า การหาแนวทางใหม่เพื่อต่อสู้คอร์รัปชั่นนั้น ควรเริ่มด้วยการปลูกฝังวัฒนธรรมและความคิด ผ่านทางคนรุ่นใหม่ เช่นการให้การศึกษา เป็นต้น การสร้างค่านิยมให้กับเด็กในการต่อต้านคอร์รัปชั่น และต้องการให้รัฐบาลกำหนดแผนรณรงค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น พร้อมลงมือปฏิบัติตามแผนนั้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ ควรลดเรื่องระบบอุปถัมภ์ โดยเฉพาะการโยกย้ายข้าราชการ ผู้มีอำนาจควรพิจารณาจากความสามารถความรู้มากกว่าความชอบส่วนบุคคล 

@ 'ปนัดดา'ปัดรู้เห็นซื้อไมค์แพง 

        ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการจัดซื้อไมโครโฟนในห้องประชุม ครม.ที่มีราคาค่อนข้างสูงว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบเพราะเป็นเรื่องของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรมโยธาธิการและผังเมืองที่จะเจรจาในราคาที่ต่ำที่สุด เข้าใจว่าข่าวที่ออกมาเป็นไปอย่างเลื่อนลอย ไม่ใช่ข้อเท็จจริง และนำไปเปรียบเทียบกับระบบของต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีย้ำมาตลอดให้ประหยัดและพอเพียง 

        "มีคนเอาชื่อผมไปเขียน ต้องยืนยันว่าเรื่องราคาผมไม่รู้เรื่องจริงๆ เพราะดูแลแต่เรื่องอาคารและความสะอาดของพื้นที่ หากไปตอบเรื่องราคาจะกลายเป็นว่าไม่รู้แต่อยากพูด เรื่องนี้อธิบดีกรมโยธาฯพูดกับผมเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมาว่า จะพยายามให้อยู่ในราคาที่ต่ำที่สุดและยังไม่มีการลงนามจัดซื้อเลย" ม.ล.ปนัดดากล่าว และยืนยันว่า การปรับปรุงทำเนียบไม่มีเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น นายกรัฐมนตรีกำชับทุกขั้นตอน ใครทำโดนลงโทษทันที ทั้งข้าราชการและบริษัทที่เข้ามาร่วมรับผิดชอบ

@ นัดประชุมสนช.11 กันยาฯ

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ออกหนังสือที่ สว (สนช.) 0007/(น11) ถึงสมาชิก สนช. ระบุว่า ตามที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ได้มีคำสั่งนัดประชุม สนช.ครั้งที่ 7/2557 ในวันที่ 11 กันยายนนี้ เวลา 10.00 น. โดยมีวาระเรื่องด่วนเพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.... ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ ยกร่างข้อบังคับการประชุมได้พิจารณาเสร็จแล้ว 

     นอกจากนี้ ยังมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายอีก 5 ฉบับ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์เสนอ หลังจากที่ถูกเลื่อนการพิจารณาเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากประธาน สนช.มีคำสั่งให้งดประชุมเพื่อรอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แถลงนโยบายต่อสภาตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่อื่น ดังนี้ 1.ร่าง พ.ร.บ.การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ.... 2.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.... 3.ร่าง พ.ร.บ.การรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ.... 4.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ.... และ 5.ร่าง พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด (ฉบับที่..) พ.ศ....

@ ร่างข้อบังคับสนช.เพิ่ม3เรื่อง 

        นายตวง อันทะไชย สนช. ในฐานะโฆษก กมธ.ยกร่างข้อบังคับการประชุม สนช. กล่าวว่าร่างข้อบังคับมี 17 หมวด 1 บทเฉพาะกาล รวมทั้งหมด 221 ข้อ ส่วนใหญ่ยังคงยึดตามร่างข้อบังคับการประชุม สนช. ปี 2549 แต่มีเรื่องใหม่เพิ่มเข้ามา 3 เรื่อง คือ 1.การกำหนดการสิ้นสมาชิกภาพของ สนช. ตามมาตรา 9 (5) ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557 โดยสมาชิกที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติ เกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนครั้งที่มีการแสดงตนทั้งหมดในระยะเวลา 90 วัน ให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง ยกเว้นมีการทำหนังสือขอลาประชุมต่อประธาน สนช. 2.จำนวน กมธ.สามัญประจำ สนช. มี 16 คณะ บวก กมธ.กิจการ สนช.อีก 1 คณะ รวมเป็น 17 คณะ ซึ่งสมาชิกที่จะเป็น กมธ.สามารถเป็นได้ไม่เกิน 2 คณะ ส่วนคนที่เป็นประธาน กมธ.เป็นได้เพียงคณะเดียว 

        นายตวง กล่าวว่า 3.หมวดการถอดถอนบุคคลและให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ให้ สนช.ทำหน้าที่เป็นทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ซึ่งในส่วนของ ส.ว.มีอำนาจในการแต่งตั้งถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้จำเป็นต้องร่างข้อบังคับเรื่องถอดถอนขึ้นมาเพื่อรองรับ ไม่ได้เป็นการจงใจที่จะดำเนินการถอดถอนผู้ใดผู้หนึ่ง 

@ เลื่อนสรรหาสปช.เร็วขึ้น

        นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขานุการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ของคณะกรรมการทั้ง 11 ด้าน ว่าทราบจากคณะกรรมการสรรหาทั้ง 11 ด้านว่า ในส่วนของทั้งจังหวัดและส่วนกลางได้เลื่อนกำหนดการสรรหาจากเดิมคือ วันที่ 13 กันยายน เป็นวันที่ 12-22 กันยายน โดยในส่วนของจังหวัดนั้นคาดการณ์ว่าจะมีการประชุม 1-2 ครั้ง เพราะมีผู้สมัครน้อย ยกเว้น กทม.ที่อาจจะมีการประชุมมากกว่า 2 ครั้ง เนื่องจากมีผู้สมัครจำนวนมากและหลากหลาย สำหรับกรอบในการสรรหาของคณะกรรมการทั้ง 11 ด้านนั้น คือพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหา สปช. พ.ศ.2557 โดยจะพิจารณาคุณสมบัติว่า บุคคลนั้นๆ มีความเหมาะสมอย่างไร 

      "ยอดรวมของผู้สมัคร สปช.ในวันนี้ (6 ก.ย.) คือ 7,360 คน และคาดว่าจะสามารถสรุปยอดรวมอย่างเป็นทางการได้ หลังจากรวบรวมเอกสารที่สมัครทางไปรษณีย์และด่วนพิเศษแล้วไม่เกินวันที่ 8 กันยายนนี้" นายภุชงค์กล่าว 

@ รัฐบาลแถลงนโยบาย 12 กันยาฯ

       รายงานแจ้งว่า กรณีจะมีการประชุมคณะกรรมการสรรหา สปช.นัดที่ 2 ในวันที่ 12 กันยายนนี้ เพื่อนำข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อและคุณสมบัติบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อมาพิจารณานั้น ล่าสุดอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงและเลื่อนกำหนด

       การดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากคณะกรรมการสรรหา สปช.บางคนที่ควบตำแหน่ง สนช. ต้องเข้าร่วมประชุม สนช. เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่จะแถลงนโยบายต่อ สนช.ในวันที่ 12 กันยายน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!