- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 11 March 2018 11:01
- Hits: 9368
ประยุทธ์ เผยยังไม่มีพรรคการเมืองทาบนั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อ ยันเดินหน้าทำงานไม่สนโพลคะแนนลด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีอดีตแกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) สนับสนุนให้ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยว่า ขอแสดงความขอบคุณ แต่จะได้อยู่ต่อหรือไม่เป็นเรื่องของอนาคต เพราะยังไม่ได้คิดเรื่องนี้ และที่ผ่านมาก็ยังไม่มีใครติดต่อเข้ามา แต่หากมีการติดต่อเข้ามา สิ่งแรกที่จะพิจารณาคือ นโยบายของพรรคและบุคลากรในพรรคว่ามีความรอบรู้ มีความโปร่งใสหรือไม่
ส่วนกรณีกลุ่มคนรุ่นใหม่ไปยื่นคำขอจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองนั้นก็ปล่อยให้ตั้งไป เพราะถือเป็นสิทธิ์ตามกฏหมาย แต่ประชาชนจะเลือกหรือไม่เป็นดุลยพินิจ เพราะไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่าหรือพรรคการเมืองใหม่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละบุคคลที่จะเลือก แต่ขอให้เลือกพรรคที่มีธรรมาภิบาลเข้ามาบริหารประเทศ
"ไม่ว่ากลุ่มใดที่สนับสนุนผม ผมก็ขอบคุณเท่านั้นเอง ทำอย่างอื่นไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล จะรักใครชอบใคร ก็เหมือนพวกเราก็เชียร์คนนั้นก็ว่าไป แต่มันจะได้หรือไม่ ไม่รู้เหมือนกัน เพราะผมเองก็ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ จะเป็นอย่างไร ใครจะขอ ยังไม่เห็นมีใครมาติดต่อผมเลย มีแต่พูดทางสื่อนั่นแหละ แล้วหากขอมาสนับสนุนผม ผมรับหรือไม่ ยังไม่รู้เหมือนกัน เพราะเสนอได้ครั้งเดียว ยังไม่รู้เลย ยังไม่ไปถึงตรงนั่นเลย ยังปลดล็อคไม่ได้เลย"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในเดือนมิถุนายนที่จะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาพูดคุยเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง โดยจะหยิบยกเอาเรื่องการบริหารงบประมาณแผ่นดินมาหารือว่าจะใช้จ่ายอย่างไรไม่ให้ประเทศเกิดความเสียหายเหมือนอย่างที่ผ่านมา รวมถึงต้องทำความเข้าใจเรื่องยุทธศาตร์ เพราะอยากให้ช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองต่อไป
ส่วนกรณีที่ผลสำรวจหลายสำนักระบุว่าคะแนนนิยมของรัฐบาลลดลงนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ทำงานด้วยผลโพลหรือคะแนนนิยม แต่ทำงานด้วยพื้นฐานของข้อเท็จจริง นำเอาปัญหาและอุปสรรคในอดีตที่ผ่านมามาแก้ไข พร้อมขอบคุณทุกความคิดเห็นที่สะท้อนออกมาถือเป็นกระจกให้รัฐบาล แม้บางเรื่องจะไม่ไช่สาระและข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่ตนเองเชื่อมั่นคือการทำงานของตนเองและคณะรัฐมนตรี
ครม.สัญจร เล็งพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ดันโครงการไทยแลนด์ ริเวียร่า/รถไฟความเร็วสูงเชื่อมแหล่งท่องเที่ยว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคการตอนล่าง 2 ก่อนจะเข้าประชุมครม.สัญจร โดยมีวาระที่น่าสนใจ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคลางตอนล่าง 2 วงเงินกว่า 1,850 ล้านบาท ซึ่งจะกำหนดวิสัยทัศน์ให้กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่างเป็นฐานการผลิต ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม อาหาร การท่องเที่ยว นอกจากนี้ จะดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของแขวงทางหลวงชนบทของกลุ่มจังหวัดดังกล่าว วงเงินงบประมาณกว่า 770 ล้านบาท เช่น การปรับปรุงถนน บ้านหุบกระพง-หัวหิน-ชะอำ เป็นต้น
กระทรวงคมนาคม เสนอแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่างและแผนที่ ร่วมมือกับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เสนอพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตั้งแต่ จ.เพชรบุรี, อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เรื่อยไปถึง จ.ชุมพร โดยมีโครงการสำคัญ เช่น โครงการถนนเลียบชายฝั่งทะเล หรือ "ไทยแลนด์ ริเวียร่า" ระยะทาง 680 กิโลเมตร ที่ขณะนี้สร้างเสร็จไปแล้ว 200 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง 49 กิโลเมตร คาดว่าอีก 4-5 ปีจะแล้วเสร็จหากได้รับการจัดสรรงบประมาณ ปี 61-62 ซึ่งนอกจากจะดึงดูดนักท่องเที่ยวแล้ว ยังสามารถใช้เป็นเส้นทางสำรองสำหรับการขนส่งสินค้าได้หากมีเหตุอุทกภัยเกิดขึ้นกับถนนหลวงหมายเลข 4 เพชรเกษม
นอกจากนี้ ยังเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร เงินลงทุน 94,673 ล้านบาท, รถไฟทางคู่ นครปฐม-หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 420 กิโลเมตร เงินลงทุน 33,982 ล้านบาท รวมไปถึงโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 เส้นทางชุมพร-สุราษฎร์ธานี และสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 491 กิโลเมตร เงินลงทุน 81,669 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าวไทยด้านตะวันตก ส่วนทางอากาศจะเสนอแผนปรับปรุงท่าอากาศยานหัวหิน หรือสนามบินบ่อฝ้าย
รวมทั้งจะมีการนำร่างพ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ... ที่ยังค้างอยู่มาพิจารณา โดยยืนยันว่าร่างพระราชกำหนดนี้ ไม่ได้ส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวมาแย่งงานคนไทย และไม่ได้เป็นการออกกฎหมายเพื่อเอื้อแรงงานต่างด้าว
ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอโครงการบรรเทาอุทกภัยและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เพชรบุรีตอนล่าง โดยทำคลองผันน้ำออกจากแม่น้ำเพชรบุรีก่อนเข้าตัวเมือง งบประมาณ 8,500 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี รวมถึงการจัดทำระบบท่อส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตน้ำประปา อ.ชะอำ - อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำดิบผลิตน้ำประปางบประมาณจำนวน 755 ล้านบาท
กกต.เผยยอดยื่นจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ถึงวันนี้ 55 พรรคแล้ว ยังไร้เงาธานี-ธนาธร
รายงานข่าวจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า บรรยากาศการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่วันที่ 6 มีพรรคการเมืองยื่นคำขอเพิ่มอีก 5 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อคนไทย ผู้ยื่นคำขอ นายสุรพจน์ เพียรกรรพุม, พรรคภูมิพลังเกษตรกรไทย ผู้ยื่นคำขอ นายสมัคร พรมวาด, พรรคประชาธรรมไทย ผู้ยื่นคำขอ นายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีต รมช.คมนาคม, พรรคมติประชา ผู้ยื่นคำขอ นายอนุชิต งามพัฒนพงศ์ชัย และ พรรคไทยสาธุชน ผู้ยื่นคำขอ นางสาวรัชฎาภรณ์ ธารธนศักดิ์ รวมแล้วล่าสุดมี 55 พรรคการเมือง
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีชื่อของนายธานี เทือกสุบรรณ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งเป็นอดีตแกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกลุ่มไทยซัมมิท ที่เคยประกาศว่าจะมีการจดทะเบยนตั้งพรรคการเมืองใหม่เข้ายื่นขอกับทาง กกต.
ประธาน กรธ.ห่วงบทเฉพาะกาลกม.ลูกเลือกตั้ง ส.ว.คลุมเครือ แนะสนช.ส่งศาลรธน.ตีความ ยันไม่กระทบโรดแมพ
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า มีความเป็นห่วงบทเฉพาะกาลของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (ส.ว.) ที่คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายปรับแก้เสร็จสิ้นแล้ว โดยยังคงแบ่งประเภทผู้สมัครออกเป็น 2 ประเภท คือแบบอิสระ และแบบมีองค์กรรับรอง โดยหวังว่า สนช. จะทำให้ประเด็นดังกล่าวเกิดความชัดเจน ด้วยการเข้าชื่อกัน เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และไม่กังวลว่ากรณีดังกล่าวจะเป็นเหตุให้ สนช.ลงมติไม่เห็นชอบในการพิจารณาวันที่ 8 มี.ค.นี้ เพราะเป็นปัญหาเพียงประเด็นเดียว
พร้อมยืนยันว่า การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะไม่มีผลกระทบต่อการเลื่อนการเลือกตั้ง ในเดือนก.พ.62 ที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ เพราะมีการคำนวณเวลาเผื่อเอาไว้แล้ว
นายมีชัย ยังกล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่กรรมาธิการร่วมฝ่ายปรับแก้เสร็จสิ้นว่า ยังประเด็นที่ยังกังวลเฉพาะการตัดสิทธิรับราชการทางการเมือง เพราะยังไม่ชัดเจนว่า การไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ถือเป็นสิทธิ หรือเสรีภาพ หากเป็นสิทธิก็สามารถจำกัดได้ แต่ถ้าเป็นเสรีภาพ ก็ไม่สามารถไปจำกัดได้
นายมีชัย กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มการเมืองต่างๆ เริ่มทยอยขอจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองว่า แสดงให้เห็นว่า กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่หลายฝ่ายอ้างว่ากีดกันพรรคเล็กพรรคน้อยนั้นไม่เป็นความจริง
ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ชี้ปมกำหนดคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม ป.ป.ช. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณีที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิก สนช.จำนวน 32 คนที่ขอให้วินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ... มาตรา 185 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ผลการลงมติปรากฎว่าศาลโดยมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ร่างพร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ... มาตรา 185 ในส่วนที่เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) และ (18) มิให้นำมาใช้บังคับ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
อนึ่ง สมาชิก สนช.จำนวน 32 คนที่ยื่นเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย จากที่เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งผ่านการให้ความเห็นชอบของ สนช.มาตรา 185 บัญญัติว่า"ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งดำรงอยู่ในวันก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 19 เว้นแต่กรณีตามมาตรา 19 (3) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา 9 และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) และ (18) มิให้นำมาใช้บังคับ" อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
อินโฟเควสท์