- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 27 February 2018 18:10
- Hits: 7208
นายกฯ ยันรัฐบาลไม่คิดคว่ำร่างกม.เพื่อยื้ออำนาจ วอนทุกฝ่ายสัญญาหากมีเลือกตั้งแล้วต้องไม่ขัดแย้งกัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ถึงเส้นทางการเลือกตั้งของไทยในช่วงต่อจากนี้ไป โดยระบุว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกกฎหมายลูก 4 ฉบับ ที่จำเป็นต่อการเลือกตั้ง ได้แก่ 1.กฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2.กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง 3.กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ 4.กฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งกฎหมายลูกใน 2 ฉบับท้ายกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อจะพิจารณาในทุกประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกัน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ส่วนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภายหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วในอีก 90 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา การเลือกตั้งก็อาจจะเกิดขึ้นในเดือนใดก็ได้ภายใน 150 วันหลังจากนั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของทุกฝ่าย ทั้งพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ กกต. ในระหว่างนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะแจ้ง คสช.ให้เชิญ กกต., กรธ. รวมถึงทุกพรรคการเมืองมาพูดคุยหารือว่าการเลือกตั้งนั้นควรจะเกิดขึ้นเมื่อใด วัน เวลา ที่ทุกฝ่ายพร้อม ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันแล้วก็ถือเป็น 'วาระสำคัญของชาติ' อาจจะต้องเป็นสัญญาร่วมกันว่า ทำอย่างไรเราจะเดินหน้าประเทศไปให้เป็นไปตาม Roadmap ของประเทศ ให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในอนาคต
"รัฐบาลและ คสช.ไม่เคยมีความคิด และไม่ไปก้าวล่วงอำนาจใดๆ ที่จะทำให้เกิดการคว่ำร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะรัฐบาลไม่อยากให้กำหนดเวลาคลาดเคลื่อนตามที่มีใครหลายคนพยายามบิดเบือนให้ข้อมูลผิดๆ ต่อสังคม เว้นอย่างเดียว คือการเกิดความวุ่นวายประชาชนขัดแย้ง ใช้กำลัง ใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง การหาเสียงมีปัญหา ประชาชนขัดแย้งกันอีก เกิดความไม่สงบเหมือนช่วงก่อนปี 57 อันนั้นก็เป็นอีกเรื่อง ทุกคนต้องช่วยกันอย่าให้เกิดขึ้น"นายกรัฐมนตรีกล่าว
พร้อมขอให้ประชาชน นักการเมือง และทุกฝ่ายต้องช่วยกันรักษาบรรยากาศความมีเสถียรภาพของประเทศ ต้องไม่ขัดแย้ง ไม่แบ่งฝ่ายกันอีกต่อไป และต้องสัญญากันว่าหลังการเลือกตั้ง เราจะได้มีฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่จะต้องร่วมมือกัน ทำในสิ่งที่ประเทศชาติและประชาชนทั้งประเทศต้องการ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่เป็นฐานเสียงของฝ่ายใดก็ตาม รวมทั้งร่วมกันหรือช่วยกันในการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติต่อไป
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเปรียบเทียบการเลือกตั้งว่าเหมือนกับการเลือก 'กล้วย' เพราะหากเป็นกล้วยที่เปลือกยังเขียวอยู่ก็ยังไม่สุก ไม่พร้อมจะรับประทาน คุณสมบัติก็ไม่ครบ แต่กล้วยเปลือกสีเหลือง คือสุกงอม กินได้ เหมาะสม หากเป็นกล้วยเปลือกดำแล้ว คือไม่ดี ไม่ควรเลือกกิน พร้อมย้ำว่าการเข้าคูหาเลือกตั้งต้องคำนึงถึงการเลือกนักการเมืองที่มีคุณภาพ ไม่มีประวัติเสื่อมเสียหรือทุจริตมาก่อน เลือกพรรคการเมืองที่น่าเชื่อถือ ดูจากนโยบาย จากการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่มีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง หรือถูกครอบงำ
"แก่นสารของเรื่องนี้คือ ทำอย่างไรให้คนไทยสามารถแยกแยะว่า ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วควรเลือกใคร และเลือกจากอะไร ไม่ใช่ใช้ความรัก ความชอบ ความคุ้นเคย ใช้อารมณ์ แต่ไม่พิจารณาด้วยเหตุด้วยผล เช่น ดูที่นโยบายพรรค ดูที่ประวัติการทำงานเหล่านี้...อยากให้พี่น้องประชาชน มีความรู้ หลักคิด มีหลักการเลือก ส.ส.ที่มีคุณภาพ หลีกเลี่ยงผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หรือพรรคที่มีนโยบายในลักษณะสัญญาว่าจะให้ เพื่อดึงดูดใจในสิ่งที่ผิดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นนโยบายที่มีผลต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่สิ้นเปลืองมากเกินไป ขาดวินัยการเงินการคลัง หรือขัดแย้งพันธกรณีต่างประเทศ" นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกฯ ย้ำเดินหน้าจัดทำ กม.ลูกที่เหลืออีก 2 ฉบับ ยันไม่มีล้มเด็ดขาด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับ
ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ว่า รัฐบาลได้ให้แนวทางไปแล้วว่าให้มีการแก้ไขตามที่คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณา โดยตนเองไม่ไปก้าวล่วง แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการล้มกฎหมายลูกโดยเด็ดขาด เป็นเรื่องของการพิจารณาตกลงกันให้ได้ จึงขอให้คนที่เรียกร้องยุติเรื่องนี้ได้แล้ว เพราะหากไม่มีเหตุผลที่สมควรก็ล้มไม่ได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการลงพื้นที่จังหวัดนครปฐมในวันพรุ่งนี้ ( 21 ก.พ.) ว่า เป็นการเดินหน้า"โครงการไทยนิยมยั่งยืน" เพื่อเน้นเรื่องการสร้างการรับรู้และรับทราบปัญหาและความต้องการของประชาชนโดยตรง ในทุกตำบลทุกหมู่บ้าน และจะนำการดำเนินการที่รัฐบาลได้ทำมากว่า 3 ปีให้ประชาชนได้รับรู้ว่าได้ทำเรื่องใดไปบ้าง เพราะหากประชาชนไม่ได้รับรู้ ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่เกิดการพัฒนาตัวเอง
และอีกเรื่องที่จะเน้นย้ำ คือเรื่องของความโปร่งใสที่ทุกคนต้องช่วยกันดู ทั้งเรื่องความโปร่งใสในการจัดทำงบประมาณ การทำเวทีประชาคม และต้องดูความต้องการของประชาชนว่าจะดูแลได้อย่างไร และอย่าให้การทุจริตเกิดขึ้น และหากพบการทุจริตในส่วนราชการก็จะต้องแจ้งให้ทราบและจะต้องมีการลงโทษ ยืนยันจะไม่ยอมให้ส่วนราชการเข้าไปมีผลประโยชน์เด็ดขาด
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ไทยนิยม คือ การทำความดีเพื่อประชาชน เพื่อประเทศชาติของเราให้เกิดความยั่งยืนเกิดขึ้น โดยจะเริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป โดยจะลงพื้นที่ดูการลดต้นทุนปลูกข้าว เกษตรอินทรีย์ ดูว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น และขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะมีหลายกลุ่มงานในการลงพื้นที่ และต้องดูว่า เมื่อทำการเกษตรแล้วไม่ดีขึ้น จะต้องมีการปรับรูปแบบการทำเกษตรใหม่ ว่าจะทำอย่างไรให้ยั่งยืน และมีการท่องเที่ยวเข้าไปเสริม ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลคิดไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่การตั้งวงเงินและมอบให้ประชาชน แบบนั้นทำไม่ได้
ทั้งนี้ อยากให้สังคมช่วยกันคิดต่อว่านโยบายการหาเสียงต่อไปนี้ จะหาเสียงด้วยเรื่องตัวเลข วงเงิน หรือโครงการราคาพืชผลทางการเกษตรมาหาเสียงนั้น มีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เพราะตามหลักข้อเท็จจริง จะใช้เงินของรัฐเข้าไปอุดหนุนราคาพืชผลการเกษตรนั้นไม่สามารถทำได้ ที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าทำให้เกิดความเสียหายหลายประการและขออย่าให้กลับไปเป็นเช่นเดิม
"อาจจะมีหลายคนที่ออกไปเดินสายข้างล่าง ว่าจะทำให้ราคาข้าวขึ้นเท่าโน้นเท่านี้ ยางขึ้นเท่าโน้นเท่านี้ นี่ทำแทบตาย หัวจะผุแล้ว คิดทุกวัน แก้โน้นแก้นี่ ก็มีปัญหาหมดทุกวัน การที่เราจะไปกำหนดราคาเองทั้งหมด ต้องอย่าลืมว่า เรามีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ที่จะกำหนดราคาต่างประเทศ เขาก็ดูกลับมาถึงความมั่นคงและศักยภาพของประเทศ ถ้าตราบใดที่ความขัดแย้งสูง ก็ไม่มีใครฟังมาก ก็กำหนดราคาสินค้าของเราไป เราต้องเข้มแข็งด้วยตัวของเราเอง ให้เห็นว่าเรามีเสถียรภาพ เราพูดคนถึงจะฟัง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
อินโฟเควสท์