WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1BSR

กลุ่ม BSR คาดเซ็นสัญญาสายสีชมพู-เหลือง 16 มิ.ย. การดำเนินการ 'โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง'

       เมื่อเวลา 10.30 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน 2560 ณ ห้องกรุงธนบุรี โรงแรมอิสติน  แกรนด์สาทร กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ( BSR Joint Venture) โดย นายคีรี  กาญจนพาสน์  ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน ) นายภาคภูมิ ศรีชำนิ  กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ( มหาชน ) และ นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด ( มหาชน ) ได้แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนเรื่องการดำเนินการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรงภายหลังจากที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา

       นายคีรี  กล่าวว่า ในนามของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ใคร่ขอขอบคุณรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านรองนายกรัฐมนตรี คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และอัยการสูงสุด ที่ได้เห็นความสำคัญในโครงการรถไฟฟ้าซึ่งเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เม็ดเงินกว่าแสนล้านบาท ที่จะทำให้เกิดการจ้างงาน เกิดการลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ตามแนวรถไฟฟ้าของเอกชนตามมา ซึ่งการที่รัฐบาลได้อนุมัติให้เกิดการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย มีนบุรี และ สายสีเหลืองช่วลาดพร้าว สำโรง ที่เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เช่นนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

      นายคีรี กล่าวเพิ่มเติมว่า บีทีเอส ในฐานะที่ได้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามาเป็นเวลากว่า 17 ปี โดยเปิดให้บริการในปี 2542 บริษัทฯ ได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆนาๆ มามากมาย เนื่องจากเป็นรถไฟฟ้า  สายแรกที่ไม่มีใครทราบมาก่อนว่าจะเป็นอย่างไร มาจนถึงวันนี้บริษัทฯ ถือว่าได้รับความสำเร็จในการเป็นทางเลือกที่สำคัญในการเดินทางให้กับคนกรุงเทพ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล แก้ปัญหาในการเดินทางจากการจราจรที่ติดขัด สำหรับการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลืองนี้ กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งประสบการณ์การเดินรถ ด้านการก่อสร้างรวมทั้งด้านการเงิน ดังจะเห็นได้จากการที่โครงการได้รับความสนใจและได้รับการติดต่อจากสถาบันการเงินชั้นนำ ตลอดจน supplier หลายราย ประกอบกับการมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งทั้งทางด้านการเงิน และมากด้วยประสบการณ์ในการก่อสร้าง อย่างบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างชั้นนำของประเทศไทย และ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องไฟฟ้ากำลัง และระบบควบคุมมาร่วมงานซึ่งจะทำให้โครงการมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น การลงทุนทั้งสองโครงการในครั้งนี้เป็นการลงทุนโดยไม่คำนึงถึงกำไรหรือขาดทุนเป็นหลัก แต่เพื่อประโยชน์ของประชาชน และของประเทศชาติ ซึ่งการลงทุนขนาดใหญ่เช่นนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง และทำให้เกิดการจ้างงานตามมา

       นอกจากนี้ แล้ว กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ยังได้มีข้อเสนอที่เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองโครงการเป็นอย่างยิ่ง คือ รถไฟฟ้าสายสีชมพู บริษัทฯ ได้เสนอขยายเส้นทางเข้าไปในศูนย์ประชุม อิมแพค เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร ประกอบด้วย 2 สถานี สถานีแรกตั้งอยู่บริเวณอาคาร อิมแพคชาเลนเจอร์ และสถานีที่สองบริเวณทะเลสาบ ทางแยกนี้จะแยกออกจากสถานีศรีรัช ซึ่งในปีที่ผ่านมาศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี มีผู้ใช้บริการถึงกว่า 10 ล้านคน และในเมืองทองธานีมีประชาชนอยู่อาศัยกว่า 150,000 คน ซึ่งการขยายเส้นทางนี้จะช่วยลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นจำนวนมาก อำนวยความสะดวกในการเดินทาง ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งมีจุดสิ้นสุดที่แยกรัชดาตัดกับถนนลาดพร้าว กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ได้เสนอให้ขยายเส้นทางต่อไปตามถนนรัชดาภิเษกอีกประมาณ 2.6 กิโลเมตร สิ้นสุดบริเวณแยกรัชโยธิน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวสถานี N 10( บริเวณปากซอยพหลโยธิน 24 ) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ( จากหมอชิตไปคูคตที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ) โดยเสนอให้มีสถานีรับ ส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 2 สถานี สถานีแรกอยู่ประมาณกึ่งกลางของเส้นทางส่วนต่อขยายนี้ และสถานีสุดท้ายบริเวณก่อนถึงแยกรัชโยธิน ซึ่งการเสนอขยายเส้นทางทั้ง 2 ส่วนดังกล่าว ทางบริษัทฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดซึ่งคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทฯ หวังว่ารัฐบาลคงเห็นถึงประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับเป็นสำคัญ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะได้รับการสนับสนุนให้ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับกำหนดการเปิดใช้บริการเดินรถทั้งสองโครงการ  อีกทั้งเมื่อการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลืองเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ ผู้โดยสารจะสามารถใช้บัตรโดยสารใบเดียวกันเดินทางด้วยความสะดวกสบาย ทั้งบัตรประเภทเที่ยวเดียว และบัตรเติมเงิน ( เช่นบัตรแมงมุม) โดยสามารถเดินทางได้ทั้ง 3 ระบบ คือ สายสีเขียว สายสีชมพู และ สายสีเหลือง โดยจะออกแบบให้เป็นลักษณะการเชื่อมแบบ Paid to Paid ที่ผู้โดยสารไม่ต้องออกนอกระบบ เพียงแตะบัตรเข้า และออก เพียงครั้งเดียว ทำให้จะยิ่งช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการเดินทางให้กับผู้โดยสารมากขึ้น

       สุดท้ายนี้ นายคีรีได้กล่าวย้ำว่า “BSR จะระดมทุกสรรพกำลังผลักดันโครงการทั้งหมดให้เกิดขึ้นได้ทั้งสัญญาหลักและส่วนต่อขยายอย่างมั่นคง รวดเร็วทันเวลาเพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการโดยเร็ว  ซึ่งเมื่อโครงการทั้งส่วนต่อขยายสายสีเขียว โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลืองแล้วเสร็จ  จะสามารถรองรับการเดินทางของผู้โดยสารได้มากกว่า 1.5 ล้านคนต่อวัน ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็วในการเดินทางที่เชื่อมโยงครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นับเป็นความสำเร็จอันเกิดจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน

       นายภาคภูมิ ได้กล่าวว่า ซิโน-ไทยฯ เป็นหนึ่งในบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ของประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและความชำนาญในการก่อสร้างโครงการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่มานานกว่า 50 ปี มีประสบการณ์ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนมาแล้วหลายโครงการ ซิโน-ไทย ฯ มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้นอกเหนือจากการเป็นผู้ถือหุ้นของ BSR แล้ว ภารกิจของซิโน-ไทย ฯ คือการก่อสร้างงานโยธาของรถไฟฟ้าระบบ Monorail สายแรกของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ในระหว่างก่อสร้างต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก ซิโน-ไทย ฯ ยินดีที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงานให้แก่คนไทย และซิโน-ไทย ฯ มั่นใจว่าจะส่งมอบผลงานที่ดี มีคุณภาพด้วยความปลอดภัยสูงสุด

      เมื่อโครงการเปิดให้บริการ BSR หวังว่าจะช่วยพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น และที่สำคัญคือให้คนกรุงเทพและคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพได้รับความสะดวกสบาย มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต้องเผชิญกับปัญหารถติด และประชาชนจะได้หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้น และหวังว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และ สายสีเหลือง ซึ่งเป็นโครงการการลงทุนมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท จะเป็นระบบขนส่งมวลชนที่สมบูรณ์แบบ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ผู้ใช้บริการมีความปลอดภัยและมีความพึงพอใจ

       ด้านนายกิจจา บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง กล่าวว่า บริษัทฯ ขอขอบคุณรัฐบาลและพันธมิตรทั้งสองรายที่ให้โอกาสบริษัทฯ มีส่วนร่วมพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความหมายในการขยายธุรกิจนอกภาคพลังงานไฟฟ้า บริษัทฯ จะนำศักยภาพด้านระบบไฟฟ้าและเครื่องกลจากการบริหารโรงไฟฟ้าเข้ามาเสริมการดำเนินงานรถไฟฟ้าทั้งสองโครงการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้โครงการสามารถตอบสนองความคาดหวังของทุกภาคส่วนอย่างเต็มประสิทธิภาพ

คีรี'ชูแผนลุยรถไฟฟ้าเชื่อมสาย'แคราย-มีนบุรี'เข้า'เมืองทอง'

      แนวหน้า : นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ได้เปิดแถลงข่าวหลังจาก คณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้า 2 สายคือ 1.รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และ 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง โดยให้ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture:BSR) ที่ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และบริษัท ผลิต ไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง เป็นผู้ดำเนินโครงการทั้ง 2 เส้นทาง ในรูปแบบเป็นโมโนเรล(รถไฟฟ้ารางเบา)

     นายคีรี กล่าวว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ผู้ให้สัมปทาน จะลงนามในสัญญาการก่อสร้างกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์(BSR Joint Venture:BSR) ในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ และกำหนดระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน ก่อนเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการช่วงประมาณปลายปี 2563 รวมถึงคาดว่าหากทั้ง 2 โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงแรกคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการประมาณเส้นทางละ 200,000 คนต่อวัน และจะใช้ขบวนรถโดยสารทั้งหมด 288 ตู้ ภายใต้งบประมาณการจัดหาประมาณ 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง 120 ตู้ และส่วนที่เหลือเป็นขบวนรถไฟฟ้าสายสีชมพู

      ทั้งนี้ทาง BTS เตรียมที่จะยื่น ข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณา และเร่งศึกษาเพื่อขอขยายเส้นทางเพิ่มเติมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี โดยจะขอขยายเส้นทางเข้าไปที่อิมแพค เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร โดยจะมี 2 สถานี คือ บริเวณอาคารอิมแพค ชาเลนเจอร์ และบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี เพื่อรองรับการใช้บริการของประชาชนที่มีประมาณปีละกว่า 10 ล้านคน และประชาชนที่อยู่อาศัยอีกกว่า 1.5 แสนคน

      ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสาย สีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ก็จะมีการเสนอขอเพิ่ม 2 สถานี ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร ในช่วงจากบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตามแนวถนนรัชดาภิเษกจนถึงแยกรัชโยธิน เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ(หมอชิตสะพานใหม่-คูคต)

     นายคีรี กล่าวว่า ทางกลุ่ม BSR จะเสนอขอเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท และจะมีการศึกษาตามขั้นตอนของกฎหมายก่อน และคาดว่าจะต้องรอผลสรุปเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) ประมาณ 1 ปี รวมถึงการจัดทำแผนแม่บทของ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)ซึ่งกระบวนการก่อสร้างจะต้องเสร็จในปี 2563

       พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ บริษัท บางกอกแลนด์ ของ นายอนันต์ กาญจนพาสน์ แต่เห็นถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในการเดินทางไปยังพื้นที่เมืองทองธานี ได้อย่างสะดวก และเมื่อการเชื่อมต่อต่อโครงการรถไฟฟ้าสาย สีเขียว สีชมพู และสีเหลือง เชื่อมต่อกันคาดว่า จะมีผู้ใช้บริการ 1.5 ล้านคนต่อวัน ส่วนอัตราค่าโดยสารก็ยังกำหนดไว้เท่าเดิมที่ 15 - 42 บาท และจะปรับทุกสองปีตามอัตราเงินเฟ้อ

    ส่วนกระแสข่าวการเข้าซื้อหุ้นของช่อง NOW 26 ยอมรับว่ามีการพูดคุยและสนใจที่จะซื้อหุ้นดังกล่าวจริงแต่เป็นเพียงแค่การหารือเท่านั้น และการเข้าซื้อหุ้นก็ไม่ได้ส่งผลประโยชน์ต่อกิจการของ BTS แต่จะมีประโยชน์ต่อ บริษัท วีจีไอ โกบอล มีเดีย ที่เป็นบริษัทโฆษณา และยังไม่สามารถบอกได้ว่าในการเจรจาครั้งนี้จะออกมาในรูปแบบใดและจะเกิดขึ้นหรือไม่

ผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว สำโรง

        เรื่อง ผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว สำโรง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

       คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

     1. เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย มีนบุรี (โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว สำโรง (โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ) ตามนัยมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เสนอ

       2. อนุมัติให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีในลักษณะการก่อหนี้ผูกพันข้ามปี ตามนัยมาตรา 23 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่องหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ และมาตราการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ รฟม. สามารถก่อหนี้ผูกพันล่วงหน้าเกินกว่า 5 ปีได้

        ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ คค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการด้วย ดังนี้

      1. ให้ คค. โดย รฟม. ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางรองรับปัญหาการจราจรติดขัดที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าตามแผน ในอนาคต

       2. ให้ คค. และ รฟม. กำกับดูแลการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิดและเข้มงวด เพื่อมิให้การดำเนินโครงการก่อให้เกิดความเสียหายและเป็นอันตรายต่อประชาชนหรือผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งเพื่อให้การก่อสร้างโครงการมีความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

        3. ให้ คค. เร่งรัดการดำเนินการเพื่อจัดให้มีการใช้ระบบตั๋วร่วม (Common Ticket) และการใช้อัตราค่าโดยสารร่วม (Common Fare) โดยเร็วต่อไป

กิจการร่วมค้า BSR ผ่านประเมินสูงสุดสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง

      รฟม.ประกาศเอกชนผู้ผ่านการประเมินสูงสุดสัมปทานลงทุนด้านโครงสร้างงานโยธา งานระบบและขบวนรถไฟฟ้า (รถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง) และให้บริการเดินรถบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

        รฟม.ประกาศเอกชนผู้ผ่านการประเมินสูงสุดสัมปทานลงทุนด้านโครงสร้างงานโยธา งานระบบและขบวนรถไฟฟ้า (รถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง) และให้บริการเดินรถบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

       รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เผยว่า ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กำลังดำเนินการคัดเลือกผู้รับสัมปทานการลงทุนออกแบบและก่อสร้างงานโยธาการจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว สำโรงนั้น คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. เอกชนร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2556 ได้ประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 1 (ด้านคุณสมบัติและเทคนิค) และเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน) เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีผลสรุปว่า กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) (ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS Group) บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)) เป็นเอกชนผู้ผ่านการประเมินสูงสุด

      หลังจากนี้คณะกรรมการฯ จะพิจารณากำหนดประเด็นเจรจาต่อรองและเริ่มการเจรจาต่อรองกับกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ให้ได้ข้อสรุปก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติประมาณเดือนมีนาคม เมษายน 2560 การนี้ รฟม. เร่งรัดประเมินข้อเสนอเอกชนร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และสายสีเหลืองฯ เป็นไปตามนโยบายที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายไว้ ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่วางไว้ประมาณ 1 เดือน โดยคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาสัมปทานได้ภายในเดือนเมษายน 2560

       สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และสายสีเหลืองฯ นั้น เป็นโครงการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดย รฟม. ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและเอกชนผู้รับสัมปทานลงทุนด้านโครงสร้างงานโยธา งานระบบและขบวนรถไฟฟ้า (รถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง) และให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา รวมถึงเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร (PPP Net Cost) มีระยะเวลาสัมปทานทั้งสิ้น 33 ปี 3 เดือน โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1: งานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา พร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า เป็นระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน และระยะที่ 2: งานให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ มีมูลค่าลงทุนรวม 53,519.50 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ มีมูลค่าลงทุนรวม 51,931.15 ล้านบา

กลุ่ม BSR คาดเซ็นสัญญาสายสีชมพู-เหลือง 16 มิ.ย.พร้อมเร่งศึกษาส่วนต่อขยายคาดใช้เวลารวมปีครึ่ง

       นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) คาดว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะลงนามในสัญญากับกลุ่ม BSR ที่ได้รับคัดเลือกดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในวันที่ 16 มิ.ย.นี้

     ขณะที่ในวันเดียวกันจะมีการลงนามสัญญาเงินกู้ ลักษณะ Project Finance ของ 2 โครงการกับสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ และการลงนามซื้อรถโมโนเรล จำนวน 288 ตู้ (รถไฟฟ้าสายสีชมพูใช้ 168 ตู้ รถไฟฟ้าสายสีเหลืองใช้ 120 ตู้) มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท พร้อมกับลงนามสัญญางานก่อสร้างด้วย

      การลงนามสัญญาสัมปทานและลงทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองนับเป็นครั้งที่ 2 ของ BTS หลังจากได้ลงนามสัญญาสัมปทานและลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสุขุมวิทและสายสีลมเป็นครั้งแรกกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อ 25 ปีก่อน

      พร้อมกันนั้น รฟม.ได้เร่งรัดให้กลุ่ม BSR ทำการศึกษาส่วนต่อขยายเส้นทาง ตามข้อเสนอของกลุ่ม เพราะจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

      "รฟม.เสนอให้ทางเรารีบทำ Study ไม่มีเวนคืน  แต่ต้องทำ EIA ...หลัง ครม.อนุมัติสัญญาหลัก แต่ก็มีส่วนข้อเสนอของเราไป เพราะ TOR รฟม.ให้มา 3 ซอง ซอง 2 ตัดสินแล้วว่าใครชนะ ซอง 3 เป็นสิ่งที่ทางรัฐให้เสนอ หรือขออะไรจากรัฐบาล โดยสิ่งที่เราเสนอต้องรอทำ EIA" นายคีรี กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

       สำหรับ ส่วนต่อขยายของสายสีชมพูนั้น กลุ่ม BSR เสนอให้ต่อเชื่อมเส้นทางเข้าไปยังศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม. ประกอบด้วย 2 สถานี สถานีแรกตั้งอยู่บริเวณอาคารอิมแพคชาเลนเจอร์ และสถานีที่ 2 บริเวณทะเลสาบ โดยปีที่แล้วมีผู้ใช้บริการศูนย์ประชุมอิมแพคฯ ถึงกว้า 10 ล้านคน และในเมืองทองธานีทีประชากรอาศัยกว่า 150,000 คน

     ขณะที่ส่วนต่อขยายสายสีเหลือง กลุ่ม BSR เสนอขยายเส้นทางต่อไปตามถนนรัชดาภิเษกอีก 2.6 กม.สิ้นสุดบริเวณแยกรัชโยธิน เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวสถานี N10 (บริเวณปากซอยพหลโยธิน24) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ซึ่งเสนอเพิ่มอีก 2 สถานี

       นายคีรี กล่าวว่า ส่วนต่อขยาย 2 เส้นทางนี้ กลุ่ม BSR จะเป็นผู้ลงทุน โดยคาดว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาท

        อย่างไรก็ตาม หากส่วนต่อขยายสายสีเขียว โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และ สายสีเหลือง สามารถเชื่อมต่อกันแล้วเสร็จจะสามารถรองรับการเดินทางของผู้โดยสารได้มากกว่า 1.5 ล้านคน/วัน

       นายคีรี คาดว่า จะใช้เวลา 1 ปีครึ่งจะได้ข้อสรุปในส่วนขยายของ 2 เส้นทาง โดยมีการจัดทำ EIA ที่คาดใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี  รวมทั้งให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) บรรจุส่วนขยายทั้ง 2 เส้นทางในแผนแม่บทรถไฟฟ้า และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาอนุมัติเห็นด้วย จากนั้นจะมีการลงนามสัญญาในส่วนขยายดังกล่าว ซึ่งส่วนขยายนี้จะก่อสร้างได้แล้วเสร็จได้ทันกับงานสัญญาหลักที่มีระยะเวลาก่อสร้าง 39 เดือน หรือ 3 ปี 3 เดือน และได้สัมปทานเดินรถ 30 ปี

      ทั้งนี้ ประธานกรรมการ BTS คาดว่าภายใน 3 ปีนี้ BTS จะเดินรถไฟฟ้าด้วยระยะทางที่เพิ่มเป็น 141 กม. จากปัจจุบันเดินรถ 67 กม. โดยเป็นการเพิ่มจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ระยะทาง 64 กม. ส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน อีก 7 กม. รถไฟฟ้าสายสีทอง (กรุงธนบุรี-ประชาธิปก) ราว 3 กม.

      นอกจากนี้ BTS ได้เจรจาเข้าบริหารงานเดินรถ และเจรจาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้า จำนวน 3 เมือง ในประเทศจีน โดยคาดว่าจะได้ความชัดเจนภายในปีนี้

*มั่นใจทำผลตอบแทนได้ดีกว่า 8%

      นายคีรี กล่าวว่า เบื้องต้นคาดการณ์อัตราผลตอบแทน(IRR) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และ สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีอัตราเฉลี่ย 8% แต่มั่นใจว่ากลุ่ม BSR จะทำได้ดีกว่านั้น โดยคาดว่าน่าจะได้สูงถึง 10% เพราะมีแผนจะควบคุมค่าใช้จ่าย จากมูลค่าการลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท โดยมาจากส่วนของทุน (Equity) จำนวน 2.8 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินกู้ Project Finance

      ทั้งนี้ ตาม TOR ได้กำหนดอัตราค่าโดยสารเก็บที่อัตรา 14-42 บาท/เที่ยวคน ณ ปีที่ประมูล แต่เมื่อเปิดให้บริการในปี 63 ก็ต้องพิจารณาอัตราเงินเฟ้อในการกำหนดอัตราค่าโดยสารในปีที่เปิดให้บริการ ขณะเดียวกันกลุ่ม BSR คาดว่าจำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง จะมีจำนวน สายละ 120,000 เที่ยวคน/วันในปีแรกที่เปิดดำเนินการ และมั่นใจว่าการเติบโตเพิ่มขึ้น จากการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ทั้งที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้าใหม่

       "จริงๆแล้ว อัตราผลตอบแทนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองไม่สูงเลย แต่บริษัทเรารู้จักธุรกิจนี้ดี ไม่ต้องใช้ของ luxury  สิ่งสำคัญเชื่อมต่อระบบให้เดินนทางได้สะดวก มีความปลอดภัย ต้นทุนของเราจริงๆอาจต่ำที่ตั้งไว้" นายคีรีกล่าว

       นอกจากนี้ กลุ่ม BSR ยังจับกลุ่มกันเหนียวแน่นเพื่อเข้าร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพราะเชื่อว่ากลุ่ม BSR มีศักยภาพพร้อม แต่ต้องติดตามความชัดเจนโครงการใน EEC โดยอย่างน้อยโครงการระบบราง ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟทางคู่ เป็นต้น ทางกลุ่ม BSR มีความเชี่ยวชาญ โดย BTS มีประสบการณ์เดินรถไฟฟ้ามา 17 ปีแล้ว

       ทั้งนี้ กลุ่ม BSR ประกอบด้วย  BTS (ถือหุ้นใหญ่ 75%) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ถือหุ้น 15% และบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ถือหุ้น 10%

      ส่วนประเด็นการเข้าลงทุนในช่อง Now 26 ของบมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG)นายคีรี กล่าวยอมรับว่า เคยเข้าเจรจาเข้าลงทุนจริง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตาม มองว่าหากเข้าลงทุนช่อง NOW26 จะช่วยต่อยอดธุรกิจของ บมจ.วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย (VGI) แต่ก็ต้องพิจารณาว่าไม่ใช่เรื่องราคาอย่างเดียว ต้องดูว่าจะนำไปต่อยอดธุรกิจอย่างไรหรือมีประโยชน์กับ VGI อย่างไรด้วย

    อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!