- Details
- Category: กทม.
- Published: Saturday, 13 June 2015 21:25
- Hits: 4638
ขสมก.ลุยซื้อเมล์ NGV ลอตแรก 50 คันรับมอบก.ค.นี้
แนวหน้า : ผู้บริหาร ขสมก.ยันประมูลรถเมล์ 489 คัน โปร่งใส เตรียมทยอยรับมอบ จาก'เจวีซีซี'คุยซื้อได้ต่ำกว่าราคากลาง
นางปราณี ศุกระศร รักษาการผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ(ขสมก.) เปิดเผยว่า ทาง คณะกรรมการ(บอร์ด)มีมติให้ ขสมก.เร่งลงนามในการทำสัญญาซื้อ และเหมาซ่อมของโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน กับบริษัทร่วมค้าเจวีซีซี ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพื่อส่งมอบรถให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 90 วัน โดยจะมีการส่งมอบรถเมล์ใหม่ลอตแรกจำนวน 50 คัน ในเดือน ก.ค.นี้ ทั้งนี้ตามแผนขสมก.จะจัดหาทั้งหมด 3,183 คัน
อย่างไรก็ตาม จะมีการเจรจาต่อรองราคาในส่วนของสัญญาเหมาซ่อมให้ราคาต่ำลงมาอีก โดยจะพยายามให้สัญญาฯในประกัน 5 ปีแรกมีราคาอยู่ที่ 925 บาทต่อวัน และนอกเหนือประกัน 6-10 ปี มีราคาซ่อมอยู่ที่ประมาณ 1,636 บาทต่อวัน ซึ่งจะสามารถประหยัดงบประมาณไปได้ 190 ล้านบาท
เนื่องจากราคาเดิมอยู่ที่ประมาณ 1,839 บาทต่อวัน พล.อ.อ.เอก อังสนานนท์ ประธานคณะกรรมการ ขสมก.ชี้แจงกรณีที่มีการร้องเรียนว่ามีความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) เป็นเชื้อเพลิงจำนวน 489 คัน วงเงิน 1,784.85 ล้านบาท โดยขอยืนยันว่าการประมูลดังกล่าวมีความโปร่งใส เนื่องจากในกระบวนการจัดทำร่าง TOR ได้มีผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น และตัวแทนจากสมาคมผู้พิการเข้าร่วมศึกษา สังเกตการณ์ ซึ่งเป็นไปตามกรอบคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โดยการประกวดราคาของผู้ชนะการประมูลอยู่ที่ประมาณ 3,500,000 บาทต่อคัน ซึ่งต่ำกว่าราคากลางเดิมที่ตั้งไว้ที่ 4,500,000 บาทต่อคัน ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณไปได้ถึง 489 ล้านบาท
มีรายงานแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่มบริษัท เบสทรินกรุ๊ป จำกัด ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ผ่านนายสาธิต สุทธิเสริม รักษาการแทนหัวหน้าฝ่ายประสานงานมวลชน ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่าการประมูลส่อไม่โปร่งใส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้การจัดหารถเมล์เอ็นจีวี แล้ว ในนอนาคต ขสมก. อาจจะจัดหารถเมล์พลังงานไฟฟ้ามาใช้ควบคู่กับรถเมล์เอ็นจีวีด้วย เพื่อรองรับก๊าซธรรมชาติที่ลดน้อยลงและข้อดีของรถเมล์พลังงานไฟฟ้าคือพลังงาน ไฟฟ้าสามารถหาได้ง่าย ซึ่งในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ผลิตและใช้รถพลังงานไฟฟ้า เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป แม้ในปัจจุบันรถเมล์ NGV จะมีราคาที่ถูกและมีการนำมาใช้นานแล้ว แต่แหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติอาจจะหมดซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในอนาคตได้
ขสมก.ซื้อเมล์เอ็นจีวี 489 คันยัน'โปร่งใส'ทุกขั้นตอนคลังกู้ไจกาลุยสายสีแดง
ไทยโพสต์ * บอร์ด ขสมก.อนุมัติซื้อรถเมล์เอ็นจีวีล็อตแรก 489 คัน ยันทุกขั้นตอนโปร่งใส ตรวจสอบได้ เซฟเงินคันละ 1 ล้านบาท 'คลัง' เซ็นกู้ ลุยรถไฟสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ระยะที่ 2 กับไจกา 1.06 หมื่นล้านบาท กำหนดใช้หนี้ 20 ปี "สมหมาย" ฟุ้ง ดอกเบี้ยต่ำสุดตั้งแต่มีการกู้เงิน
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2558 มีมติอนุมัติให้มีการจัดซื้อจัดจ้างรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) เป็นเชื้อเพลิงจำนวน 489 คัน ซึ่งเป็นการจัดซื้อล็อตแรก จากทั้งหมดที่ต้องจัดซื้อรวม 3,183 คัน
ขั้นตอนต่อไปจะมีการลงนามในสัญญาจัดซื้อกับกลุ่มบริษัทร่วมค้าเจวีซีซี ที่มี บมจ.ช.ทวีดอลลาเซียน (CHO) ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดต่อไป
พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า การจัดซื้อครั้งนี้สามารถประหยัดงบประมาณลงได้ 489 ล้านบาท หรือ จัดซื้อได้ต่ำกว่าราคากลางที่กำ หนดไว้ประมาณ 1 ล้านบาทต่อคัน หรือราคา 4.5 ล้านบาทต่อคัน เหลือ 3.5 ล้านบาทต่อคัน
ส่วนการซ่อมบำรุงกำหนดระยะเวลาไว้ 10 ปี จะเป็นอีกสัญญา ที่ต้องลงนามด้วยเช่นเดียวกัน โดยช่วง 1-5 ปีแรก ค่าซ่อมบำรุงอยู่ที่ 925 ต่อคันต่อวัน ส่วนปีที่ 6-10ทางบริษัทได้เสนอมา 1,830 บาทต่อคันต่อวัน แต่ ขสมก.ได้ต่อรองลงมาอยู่ที่ 1,636 บาทต่อคันต่อวัน ประหยัดได้ประมาณ 190 บาทต่อคันต่อวัน
"โครงการนี้ได้พิจารณาตามขั้นตอน และดำเนินการอย่าง โปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาลตั้ง แต่ขั้นตอนแรก มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชน จนได้ข้อสรุป ขณะเดียวกัน ยังมีผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ รวมทั้งให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามา ร่วมกำหนดทีโออาร์ ทุกขั้นตอน ได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่าง เคร่งครัด จนกระทั่งได้ผู้ร่วมประมูลในราคาต่ำสุด" พล.ต.อ.เอก กล่าว
นายสมหมาย ภาษี รมว.การคลัง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. กระทรวงการคลังได้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น สำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะที่ 2 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) รวมทั้งได้มีการลงนามในสัญญาเงินกู้สำหรับโครงการดังกล่าวกับ Mr. Shuichi Ikeda หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจกา) ประจำประเทศไทย วงเงิน 3.82 หมื่นล้านเยน หรือประมาณ1.06 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ เงินกู้รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนแบบ Preferential Terms มีอัตราดอกเบี้ยสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในอัตรา 0.40% ต่อปี ถือว่าต่ำที่สุดตั้งแต่เคยกู้เงินมา สำหรับส่วนค่าจ้างที่ปรึกษา อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี และมีค่าธรรมเนียมเงินกู้ (Front-End Fee) 0.20% ของวงเงินกู้ กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ 20 ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้เงินต้น 6 ปี โดยจะนำรายได้จากการเดินรถส่วนหนึ่งมาใช้หนี้.