- Details
- Category: กทม.
- Published: Wednesday, 03 August 2022 11:02
- Hits: 9047
กทม.จับมือ บพท.-พอช.สานพลังพหุภาคีแก้ปัญหาคนจนเมือง ดีเดย์เดือนส.ค.ในพื้นที่นำร่องเขตป้อมปราบฯ-พระโขนง-คันนายาว
บพท.บรรลุความร่วมมือกับ กทม. - พอช. รวมทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ถือฤกษ์เดือนสิงหามหามงคล เดินหน้าแก้ปัญหาคนจนเมืองแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ในพื้นที่นำร่อง 3 เขตคือป้อมปราบศัตรูพ่าย-พระโขนง-คันนายาว โดยตั้งเป้าปูพรมฟังเสียงคนจนไม่น้อยกว่า 19,000 ครัวเรือน
นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่า บพท.สามารถบรรลุความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่กรุงเทพมหานครแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ด้วยองค์ความรู้ที่ บพท.ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยดำเนินการอย่างได้ผลมาแล้วใน 20 จังหวัด
“โครงการความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะนำร่องใน 3 เขต คือเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระโขนง และเขตคันนายาว โดยมี ดร.พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ และมีชุดความรู้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำใน 20 จังหวัดเป็นแม่แบบ”
ดร.พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์ หัวหน้าโครงการการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การคัดเลือกพื้นที่ 3 เขตนำร่อง ในการแก้ปัญหาความยากจนในกรุงเทพมหานคร อาศัยบทเรียนการทำงานแก้จนของ บพท.ใน 20 จังหวัดเป็นแนวทางดำเนินการ โดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบการแก้ปัญหาความยากจนในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ขณะที่คณาจารย์สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง จะรับผิดชอบในเขตพระโขนง และ พอช.จะรับผิดชอบในเขตคันนายาว
“การดำเนินโครงการแก้ไขความยากจนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป โดยจะใช้ฐานข้อมูลคนจนจากข้อมูลสำมะโนประชากรของฝ่ายพัฒนาชุมชน สำนักงานเขตกรุงเทพมหานครเป็นหลัก เพื่อวางแผนปูพรมเก็บข้อมูลคนจนอย่างละเอียดให้ได้ไม่น้อยกว่า 19,000 ครัวเรือนครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 3 เขต”
ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครในยุคนี้มีความตั้งใจ และจริงจังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาคนจนเมือง ยิ่งกว่านั้นยังรู้สึกดีใจมากที่ได้สนับสนุนให้เกิดการแก้ปัญหาคนจนเมืองร่วมกับหลายหน่วยงาน
“กระบวนการแก้ปัญหาคนจน ที่ควรจะเป็นต้องเริ่มจากการเก็บข้อมูลก่อน แล้วนำไปวิเคราะห์และออกแบบแนวทางแก้ปัญหา โดยพยายามทำให้คนจนมีบ้าน แล้วหาหนทางช่วยเขาเข้าหาแหล่งเงินทุนได้ และช่วยพัฒนาให้เขามีอาชีพที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ บพท.ได้มีประสบการณ์อยู่แล้ว“
นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครขอยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่ายในการเดินหน้าแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่กรุงเทพมหานครไปด้วยกัน และยินดีที่จะรับเอาชุดความรู้ในการแก้ปัญหาความยากจนไปสานต่อ
“ผมเชื่อเสมอว่าไม่มีจุดมุ่งหมายใดที่ไหนที่เราไม่สามารถทำได้ โดยความพยายามของเรา ผมยังใช้คำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ‘แม้ไม่เห็นฝั่งเราก็จะว่ายไปท่ามกลางมหาสมุทร โภคะทั้งหลายไม่เสร็จเพราะเพียงคิดเท่านั้น’ เพราะฉะนั้นเราจะทำโภคะให้สำเร็จเราต้องทำวันนี้ เราเริ่มจุดที่สำคัญที่เราจะเดินต่อไป หาความแม่นยำหากระบวนการที่จะทำให้งานนี้เดินต่อไปได้ ต้องขอบคุณสภาอุตสาหกรรมที่ส่งตัวแทนมาร่วม เราได้ตัวแทนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ตัวแทนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้ตัวแทนจากทุกภาคส่วน แล้วต้องขอบคุณ บพท.และ พอช.ที่มาร่วมกัน”
A8086