- Details
- Category: กทม.
- Published: Monday, 01 June 2020 22:59
- Hits: 11227
ผู้ว่าฯ กทม. ออกประกาศฯ ฉบับที่ 10 สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว 16 สถานที่ พร้อมผ่อนเกณฑ์ร้าน - ห้างฯ มากขึ้น
ผู้ว่ากทม.ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวฉบับที่ 10 จำนวน 16 สถานที่ และสถานที่ที่ได้รับการผ่อนคลายแต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของทางราชการอีก 27 แห่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนาม ในประกาศกรุงเทพมหานครเรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวฉบับที่ 10 ตามที่ได้มีประกาศเรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร(คราวที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 และผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและขับเคลื่อนกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติม
จากที่ได้กำหนดไว้แล้วตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ข้อกำหนด(ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 และข้อกำหนด(ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดรวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่างๆนั้น
เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 และดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 1 พฤษภาคม2563 ข้อกำหนด(ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ข้อกำหนด(ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
และข้อกำหนด(ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 13/2563 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 จึงให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว และผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ ดังต่อไปนี้
1.ปิดสถานที่
1.1 สถานบริการ ผับ บาร์ สถานบันเทิง และสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ
1.2 สวนน้ำสวนสนุก
1.3 สนามเด็กเล่น เครื่องเล่นสำหรับเด็กในตลาด ตลาดน้ำและตลาดนัด
1.4 โต๊ะสนุกเกอร์บิลเลียด
1.5 สถานที่เล่นตู้เกม
1.6 ร้านเกมส์ร้านอินเทอร์เน็ต
1.7 สนามชนไก่และสนามซ้อมชนไก่
1.8 สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ(ยกเว้นที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ)
1.9 สนามมวย
1.10 โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้(ยิม)
1.11 สนามม้า
1.12 สถานประกอบกิจการอาบน้ำ
1.13 สถานประกอบกิจการอาบอบนวด
1.14 สนามแข่งขันทุกประเภท
1.15 สถานที่ให้บริการห้องจัดเลี้ยงสถานที่จัดเลี้ยงรวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
1.16 สนามชนโคสนามกัดปลาหรือสนามแข่งขันอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน
2. สถานที่ที่ได้รับการผ่อนคลายแต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของทางราชการ
2.1 ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอยภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร ซึ่งไม่รวมถึงสถานบริการ ผับ บาร์ แต่ยังคงห้ามการบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานที่ดังกล่าว
2.2 ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้จนถึง 21.00 น.
2.3 ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ
2.4 ห้องประชุมในโรงแรมหรือศูนย์ประชุม
2.5 ร้านค้าปลีก/ค้าส่งขนาดย่อม ร้านค้าปลีก/ค้าส่งชุมชน ตลาดตลาดน้ำและตลาดนัด
2.6 ร้านค้าปลีก/ค้าส่งหรือตลาดค้าส่งขนาดใหญ่
2.7 ร้านเสริมสวยแต่งผมหรือตัดผมสำหรับบุรุษหรือสตรี ให้เปิดดำเนินการ โดยจำกัดเวลาการให้บริการในร้านไม่เกินรายละสองชั่วโมงและต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้าน
2.8 สนามพระเครื่องศูนย์พระเครื่อง
2.9 สถานรับเลี้ยงเด็กหรือสถานดูแลผู้สูงอายุ(เฉพาะที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ)
2.10 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน
2.11 คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงามสถานที่สักหรือเจาะผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ร้านทำเล็บ
2.12 สนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ
2.13 สนามกีฬา
2.14 สวนสาธารณะ ลาน-พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา ลานกีฬา
2.15 สถานที่ให้บริการดูแลรักษาสัตว์ สปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์
2.16 สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส
2.17 สถานที่หรือสนามออกกำลังกายในร่ม
2.18 สระว่ายน้ำสาธารณะทั้งกลางแจ้งและในร่ม
2.19 สวนพฤกษศาสตร์ สวนดอกไม้ พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ห้องสมุดสาธารณะ และหอศิลป์
2.20 สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา และสถานประกอบการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า
2.21 สนามฝึกซ้อมมวยโรงยิมหรือค่ายมวย
2.22 สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง สเก็ตหรือโรลเลอร์เบลด หรือการละเล่นอื่นๆในทำนองเดียวกัน
2.23 สถาบันลีลาศหรือสอนลีลาศ
2.24 สระน้ำเพื่อการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำในบึง
2.25 โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ
2.26 สวนสัตว์หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์
2.27 อาคารสถานที่ของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา
3. สถานที่ได้รับผ่อนคลายตามข้อ 2 สามารถเปิดดำเนินการ หรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ ตามมาตรการผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ข้อ 1 ข้อกำหนด(ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ข้อ 3 และข้อกำหนด(ฉบับที่ 9):ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ข้อ 2 และข้อ 3
4. มาตรการป้องกันโรค
4.1 สถานที่ได้รับการผ่อนคลายตามข้อ 2 ผู้เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคดังนี้
4.1.1 คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ที่ 2/2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ที่ 3/2563
เรื่อง แนวทางปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 และคำสั่งศูนย์บริหารการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ที่ 4/2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ 2548 (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2563
4.1.2 มาตรการป้องกันโรคตามที่กรุงเทพมหานคร กำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แนบท้ายประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว(ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 (ยกเว้นข้อ 1 ก.ในส่วนการจัดระบบการเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่ง(บุคคล)ไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร หรือกรณีมีระยะห่างระหว่างที่นั่ง(บุคคล)น้อยกว่า 1.5 เมตร ต้องจัดให้มีฉากกั้นระหว่างที่นั่ง(บุคคล) แต่ทั้งนี้ระยะห่างระหว่างที่นั่ง(บุคคล) ต้องไม่น้อยกว่า 1 เมตร)
มาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แนบท้ายประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว(ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 และมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แนบท้ายประกาศกรุงเทพมหานครนี้
4.2 สถานที่อื่นนอกเหนือจากประกาศนี้ให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดและข้อ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563
ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อ 4 จะถูกสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
สบส.กำหนดมาตรฐานร้านนวด สปา ต้องผ่านการประเมินก่อนเปิดให้บริการ ป้องกันโควิด 19
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กำหนดมาตรฐานร้านนวด และสปา ต้องผ่านเกณฑ์ประเมินตนเองก่อนเปิดให้บริการ พร้อมรายงานผลทุกสัปดาห์ ย้ำผู้ให้และผู้รับบริการต้องป้องกันตัวเองทั้งสวมหน้ากาก ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เตียงนวดห่างกันไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร เวลาให้บริการไม่เกิน 2 ชั่วโมง
วันนี้ (31 พฤษภาคม 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า กรมสบส.ได้เตรียมความพร้อมรองรับมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 ในส่วนของร้านนวดเพื่อสุขภาพ นวดเสริมความงาม และสปา ที่ขึ้นทะเบียนกว่า 10,500 แห่ง แยกเป็นร้านนวดเพื่อสุขภาพ 9,400 แห่ง นวดเสริมความงาม 200 แห่ง และสปาอีก 900 แห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการ โดยกำหนดข้อปฏิบัติสำหรับผู้ให้บริการ การจัดการสถานบริการ และผู้รับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องผ่านการประเมินความพร้อมของตนเอง (Self-Assessment) ในการจัดเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ในการป้องกัน/ทำความสะอาด ได้แก่ จัดเตรียมหน้ากากผ้าหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ อุปกรณ์วัดไข้ น้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อทำความสะอาดพื้นผิวจุดสัมผัสต่างๆ ภายในสถานบริการ รวมทั้งการจัดเก็บขยะมูลฝอยให้ถูกสุขลักษณะ
ในการให้บริการ ต้องมีพนักงานต้อนรับ สอบถามประวัติ บันทึกข้อมูลผู้รับบริการ ตลอดจนติดตามควบคุมดูแลการให้บริการ ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยจัดระยะห่างของเก้าอี้นวดอย่างน้อย 1.5 เมตร ห้องบริการนวด 1 คนต่อห้อง ให้บริการได้ครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมง สถานที่เก็บเสื้อผ้าและอุปกรณ์มิดชิด มีช่องทางชำระเงินที่ปลอดภัยเน้นผ่านระบบออนไลน์ จัดระบบระบายอากาศให้ไหลเวียนถ่ายเทได้ดี เมื่อเสร็จสิ้นการให้บริการแม่บ้านจะต้องเก็บผ้าปูเตียง ปลอกหมอน ผ้าขนหนู ด้วยการม้วนออกจากตนเองห้ามสะบัดเพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นหรือละอองฝอยได้
สำหรับ ผู้รับบริการจะต้องผ่านการคัดกรองทุกครั้งที่เข้ารับบริการ ต้องไม่มีไข้ สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่รับบริการ ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและหลังรับบริการ ส่วนผู้ให้บริการ ต้องคัดกรองทุกวันก่อนเข้าทำงาน หากพบมีไข้ต้องหยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ ส่วนข้อห่วงใยเรื่องพนักงานนวดไทยที่กลับจากต่างประเทศนั้น ทุกคนจะต้องเข้ากระบวนการกักตัวสังเกตอาการตามที่รัฐกำหนด เมื่อครบ 14 วันตรวจไม่พบเชื้อโควิด19 หากจะมาทำงานในสถานประกอบการจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพตามข้อกำหนดต่อไป
ด้าน ดร.สุวภรณ์ แนวจำปา ผู้อำนวยการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า ผู้ประกอบการร้านนวดและสปาต้องลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบการประเมินตนเอง ของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด19ให้ครบทุกข้อ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่าผ่านตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ เมื่อเป็นไปตามเกณฑ์แล้วจะถือว่าได้รับการอนุญาตให้เปิดบริการ โดยผู้ประกอบการต้องพิมพ์ใบรับรองการผ่านประเมิน (e-certificate) และพิมพ์ QR Code เพื่อให้ผู้รับบริการลงทะเบียนเพื่อประเมินการใช้งานด้วย รวมทั้งจะต้องลงทะเบียนในเว็บไซต์ไทยชนะ.คอมเพื่อติดตามการรับบริการของประชาชนต่อไป โดยทุกสัปดาห์สถานประกอบการแต่ละแห่งต้องส่งรายงานผลการปฏิบัติงานตามแบบฟอร์มออนไลน์ และจะมีการสุ่มตรวจจากเจ้าหน้าที่ สบส.และเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขจังหวัดเพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการ
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ