- Details
- Category: กทม.
- Published: Sunday, 05 August 2018 22:17
- Hits: 12833
กทม.เปิด PPP รถไฟฟ้าสายสีเขียวต้นปี 62 รู้ผล เอกชนอึ้ง 11 ปีแรกรายได้ยังไม่เข้าเหตุติดสัมปทานเดิม-ใช้ค่าโดยสารใหม่
นายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.)กล่าวว่า กทม.คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 9 เดือนในการดำเนินการหาเอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ในโครงการบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสาย และลงนามในสัญญาภายในช่วงไตรมาส 1/62
หลังจากนี้จะนำเสนอโครงการให้ รมว.มหาดไทย, คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ,คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) พิจารณาก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ จากนั้นจะจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพื่อยกร่างทีโออาร์ และประกาศเชิญชวนเอกชน โดยจะให้เวลาเอกชน 45 วันถึง 2 เดือนก่อนยื่นซองข้อเสนอ ใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน และเจรจากับเอกชนที่ได้รับคัดเลือก 1-2 เดือน
ขณะเดียวกัน กทม.มีกำหนดเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ในเดือน ธ.ค.นี้ โดย กทม.จะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ฟรีในช่วงเดือน ต.ค.ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ส่วนสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 63
วันนี้ สำนักงานจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร จัดสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding Seminar) งานศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมแนวทางการให้เอกขนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยมีเอกชนเช้าร่วมรับฟัง ได้แก่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
นายธนูชัย หุ่นนิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวว่า การเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เนื่องจาก กทม.มีสภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ โดย กทม.จะต้องรับทรัพย์สินและหนี้สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายดังกล่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวนกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท ที่เป็นค่าก่อสร้างงานโยธาและค่ากรรมสิทธิ์ ซึ่งส่วนนี้กระทรวงการคลังจะจัดหาเงินกู้ให้ก่อน
ที่ปรึกษาโครงการนี้ กล่าวว่า รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการนี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกคือ ในช่วงปี พ.ศ.2562-2572 ที่มีแนวเส้นทางหลัก (Core System) เอกชนผู้ให้บริการรายปัจจุบัน คือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) จะดำเนินการต่อภายใต้สัญญาสัมปทานจนสิ้นสุดปี พ.ศ.2572 ขณะที่แนวเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 (คือช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และ ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง) และส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) จะให้ BTSC ดำเนินการภายใต้สัญญาจ้างจนถึงปี พ.ศ.2572 โดยมีเงื่อนไขยกเลิกสัญญาก่อน จากที่เคยกำหนดสิ้นสุดสัญญาในปี พ.ศ.2585
ช่วงที่ 2 ปี พ.ศ.2573-2602 ที่จะให้สัมปทานกับเอกชนรายใหม่ จะสามารถเข้ามาบริหารจัดการ โดยจัดเก็บรายได้ ดำเนินงาน และบำรุงรักษา ทั้ง 3 ช่วงของสายทาง ภายใต้สัญญาสัมปทานใหม่มีระยะเวลา 30 ปี
ที่ปรึกษาโครงการกล่าวว่า ในช่วง 11 ปีแรก (ปี พ.ศ.2562-2572) เอกชนจะต้องรับผิดชอบภาระทางการเงินทั้งหมดของ กทม.ในส่วนที่มีไม่เพียงพอ หรือประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทที่ กทม.มีภาระเงินกู้และดอกเบี้ย และเอกชนจะต้องรับภาระส่วนต่างของรายได้ จากกรณีอัตราโดยสารปัจจุบัน (Base Fare) และกรณีอัตราค่าโดยสารตามระยะทางตลอดสาย (Single Fare Table) นอกจากนี้ยังต้องจ่ายงบลงทุนปรับปรุงสถานีสะพานตากสินประมาณกว่า 1 พันล้านบาทด้วย
และในช่วงปี พ.ศ.2572-2602 เอกชนจะมีรายได้เป็นของตัวเอง ขณะที่เอกชนจะต้องจัดซื้อทรัพย์สินทดแทน พร้อมทั้งการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) รวมทั้งจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับกรุงเทพมหานครตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยคาดว่าเอกชนจะมีผลตอบแทน 9% ระยะเวลาคืนทุน 16 ปี
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายตลอดอายุโครงการ (ปี พ.ศ.2562-2602) มากกว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นค่าลงทุนโครงการราว 1.27 แสนล้านบาท ได้แก่ ค่างานโครงสร้างพื้นฐาน ค่าจัดกรรมสิทธิ ค่าจัดหาและติดตั้งระบบไฟฟ้า เครื่องจักรกล และระบบการเดินรถ ค่าจัดหาขบวนรถไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีค่าดำเนินงาน (ปี พ.ศ.2572-2602 ประมาณ 1-4 พันล้านบาท/ปี และค่าบำรุงรักษา (ปี พ.ศ.2572-2602 จำนวน 1.5 -3.5 พันล้านบาทต่อปี
"ในช่วงที่ 1(2562-2572) ระยะเวลา 11 ปี เอกชนลงทุนอย่างเดียว รายได้ยังไม่มีเข้ามา เพราะติดสัญญาสัมปทานและสัญญาว่าจ้าง BTSC แต่ในช่วงที่ 2 (2573-2602) เอกชนก็จะมีรายได้"ที่ปรึกษาโครงการกล่าว
สำหรับ อัตราค่าโดยสาร กรุงเทพมหานครมีนโยบายที่จะปรับอัตราค่าโดยสารในปัจจุบัน (Base Fare) ให้เป็นระบบอัตราค่าโดยสารตามระยะทางตลอดสาย (Single Fare Table) โดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตอลดสายสีเขียวทั้ง 3 ช่วง โดยมีค่าแรกเข้า 15 บาทและเก็บตามระยะทาง 3 บาท/สถานี หากยังเก็บอัตราในปัจจุบันอัตราค่าโดยสารสูงสุดทั้งเส้นทางสายสีเขียวจะขึ้นไปถึง 158 บาท/เที่ยว ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนเปลี่ยนไปใช้ระบบโดยสารอย่างอื่นแทน
ทั้งนี้ คาดว่า ในปี 62 จะมีผู้โดยสารสำหรับสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ วันละ 97,100 เที่ยว และจะเพิ่มมาเป็น 178,800 เที่ยว/วัน ส่วนสายสีเขียวเหนือ คาดในปี 64 จะมีผู้โดยสาร 250,000 เที่ยว/วัน และเพิ่มเป็น 411,300 เที่ยว/วัน
โดยปัจจุบันผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนใหญ่ หรือมากกว่า 80% มีการเดินทางไม่เกิน 10 สถานี และหากเปิดบริการส่วนต่อขยายสีเขียวเหนือและสีเขียวใต้ จะทำให้ผู้ใช้บริการมากกว่า 80% เดินทางไม่เกิน 14 สถานี
ขณะที่ กทม.โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ว่าจ้าง BTSC บริหารเดินรถและซ่อมบำรุงรวมทั้งเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 มีสัญญาว่าจ้างสิ้นสุดในปี พ.ศ.2585 ดังนั้น หากเอกชนรายใหม่ได้เข้ามาบริหาร จะต้องมีการยกเลิกสัญญาส่วนนี้กับ BTSC ที่อาจจะต้องมีการจ่ายชดเชยค่าเสียหายซึ่งก็ต้องมีการเจรจากัน รวมทั้งรถไฟฟ้าที่ BTS ได้สั่งซื้อเข้ามารองรับการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย
แต่หาก BTSC หรือ BTS ชนะโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายแบบ PPP ก็จะต้องมีการจัดทำสัญญากันใหม่ ให้เปลี่ยนมาเป็นระบบสัญญาสัมปทาน และปรับปรุงเรื่องอัตราค่าโดยสารใหม่ โดยทาง กทม.มีความต้องการให้ใช้อัตราค่าโดยสาร Single Fare Table ที่อัตราสูงสุดไม่เกิน 65 บาท/เที่ยวทันทีหลังจากเอกชนร่วมลงทุนแล้ว
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC และ กรรมการ BTS กล่าวว่า บริษัทได้เข้าร่วม Market Sounding Seminar ครั้งนี้ แต่คงต้องรอดูเงื่อนไขก่อนตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งคาดว่า กทม.จะได้ผู้ร่วมลงทุนภายในปีนี้ โดยในส่วนเขียวใต้ แบริ่ง -สมุทรปราการ มีกำหนดเดินรถในเดือน ธ.ค.นี้
ทั้งนี้ BTSC ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างการเดินรถกับกรุงเทพมหานคร ในทั้งสายสีเขียวส่วนต่อขยายด้านเขียวใต้และเขียวใต้ ที่มีระยะเวลา ปี พ.ศ.2559-2585
ส่วนผู้โดยสารที่เช้ามารับมาตรการเยียวยาในช่วงรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องในวันที่ 25-27 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีจำนวน 2 แสนราย ต่ำกว่าที่บริษัทคาดไว้ที่ 4 แสนราย อย่างไรก็้ตาม ปัจจุบัน รถไฟฟ้าบีทีเอส ยังคงมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการกลับมาเป็นปกติที่เฉลี่ย 7 แสนเที่ยวคน/วัน
ด้านตัวแทนจากบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด กล่าวในที่ประชุมว่า รูปแบบ PPP ของกทม.เป็นรูปแบบที่แหวกแนวมาก คือ 11 ปีแรกเอกชนที่ชนะประมูลยังไม่ได้ดำเนินการแต่ต้องจ่ายเงินลงทุนไปก่อน และทำไม BTSC ไม่ทำต่อ ซึ่งที่ปรึกษาโครงการกล่าวว่า BTSC ก็มีสิทธิเข้ามาร่วมประมูลได้
อินโฟเควสท์