WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'นักถักทอชุมชน'ตอบโจทย์ อบต.เปิดรุ่น 2 เปลี่ยนสไตล์การทำงานเชิงรุกบุกถึงตัวชาวบ้าน

                        บ้านเมือง : มูลนิธิสยามกัมมาจล

    ทำอย่างไรให้ท้องถิ่นไทยได้เกิดการพัฒนาก้าวไกลทัดเทียมคนทั้งประเทศ ทั้งความรู้ ความสามารถ อีกทั้ง ปัญหาเด็กและเยาวชน ที่กลายเป็นโจทย์ใหญ่ระดับประเทศที่ทุกฝ่ายร่วมกันคิด ร่วมกันทำมาเป็นเวลาช้านาน แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะหาโมเดลใดมาแก้โจทย์ยากตรงนี้ได้ การพัฒนาประเทศไม่เพียงแต่ทิ้งภาระให้กับภาครัฐเท่านั้น

   ในฐานะคนไทยถ้าหากมีไอเดียดีๆ ก็สามารถนำมาช่วยพัฒนาประเทศได้ อาทิ 'หลักสูตรนักถักทอชุมชน' ที่กลายเป็นนวัตกรรมทางสังคม ที่นายกฯ เล็ก ปลัดฯ ต่างยกนิ้วให้ เพราะได้เปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำงานของทีมงานให้แอ็กทีฟ และเกิดกลไกในชุมชนก่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

พัฒนาคน พัฒนาคุณภาพชีวิต

   เพราะอะไรหลักสูตรฯ นี้ถึงถูกพูดถึง ฟังเสียงสะท้อนความสำเร็จ ที่มองเห็นเป็นรูปธรรมตัวอย่างจากผู้บริหาร นายสุรศักดิ์ สิงห์หาร ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก จ.สุรินทร์ ที่เห็นประโยชน์จากหลักสูตรฯ นี้ กล่าวว่า เพราะผมเห็นว่าชุมชนไปไกลแล้ว แต่ข้าราชการยังย่ำอยู่ที่เดิม เมื่อดูเนื้อหาและรายละเอียดของหลักสูตรเห็นว่ามีประโยชน์

   โดยเฉพาะขั้นตอนสุดท้ายที่ต้องลงมาทำโครงการร่วมกับชุมชน ซึ่งก็ตรงกับใจที่เราอยากให้น้องๆ เข้าไปเป็นจิ๊กซอว์ความสำเร็จของชุมชนลงไปฝังตัวอยู่กับกลุ่มชาวบ้านให้มากกว่าที่ทำอยู่ ถ้าถามถึงความรู้สึกตอนนี้ บอกได้เลยว่าภูมิใจกับพวกเขามาก วันนี้พวกเขาสามารถทำให้ชาวบ้านได้งาน ได้ประโยชน์จากคุณค่าที่เกิดจากมือของพวกเขาที่ "ร้อยเรียง" ทุน ปัญหา คน และชุมชนเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นกิจกรรมได้ วันนี้เห็นชัดว่าเด็กมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง ผู้ปกครองเปลี่ยนแปลง

    นายธนินธร พิมพขันธ์ หรือเอ็กซ์ หัวหน้าสำนักงานปลัด องค์การบริหารส่วน ต.หนองขาม อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี นักถักทอฯ รุ่น 1 ผลจากการเข้าร่วมหลักสูตรฯ ได้มีการจัดทำ โครงการพัฒนาคุณภาพเด็ก เพื่อให้เด็กหนองขามมีทักษะชีวิตเพิ่มขึ้น โดยดึงเด็กและเยาวชนอายุ 9-12 ปี จำนวน 120 คน เข้าร่วมกิจกรรม 6 สัปดาห์ อาทิ กิจกรรมเชิงวิชาการ พัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม กิจกรรมจิตอาสา ฯลฯ เพื่อให้เด็กได้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม รู้จักบทบาทหน้าที่ตนเอง

   "ผมเข้ามาหลักสูตรฯ นี้กับเพื่อนอีกสองคน เพื่อนำความรู้มาพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพขึ้น ตอนแรกผมไม่อยากมาเข้าร่วมเท่าไรเพราะเพิ่งเลื่อนตำแหน่ง ภาระงานก็เพิ่มขึ้น แต่พอผมมาเข้าอบรม 2 ครั้ง รู้เลยว่า'คิดไม่ผิด'ที่เชื่อท่านนายก (นายบุญยัง วังเปรม) เพราะทำให้เราได้กระบวนการทำงาน ได้เทคนิควิธีการพูดกับคนในชุมชน ได้เรียนรู้วิธีการกระจายงาน รวมไปถึงการสร้างเครือข่าย ทำให้ภาระหน้าที่ลดน้อยลง

    จนมีเวลาคิดงานอื่นได้มากขึ้น อ.ทรงพล จะเน้นที่การพัฒนา "ใจ" ก่อน พูดบ่อยๆ ว่าให้มองหมากทั้งกระดาน มองช้างทั้งตัว อาจารย์ยังนำแง่คิดเรื่อง "หลักการทรงงาน" ของในหลวงมาแนะนำเราด้วย"

สร้างนวัตกรรมทางสังคม

    เบื้องหลังความสำเร็จนี้ หนีไม่พ้นต้องไปคุยกับผู้จัดทำหลักสูตรฯ อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการ สรส. กล่าวถึงที่ไปที่มาว่า ที่ สรส.ลงมาทำเรื่องนี้เพราะอยากทำให้เป็น 'หลักสูตร" หรือ 'โมเดล'เป็นตัวอย่าง เราไม่ใช่หน่วยงานรัฐบาลสิ่งที่เราทำต้อง'สร้างนวัตกรรมทางสังคม'พยายามสร้างวิธีการ ซึ่งทุกคนอยากได้อะไรเยอะมาก แต่เขาไม่รู้วิธีการทำ เราเองมาทำเรื่องนี้ เพราะเราเห็นความสำคัญและเรามีประสบการณ์ร่วม 20 ปีในการทำงานกับชุมชนมาก่อน เราก็ใช้ประสบการณ์ของเรามาสร้างสิ่งที่คิดว่าจะเป็นจุดคานงัดที่สำคัญในการปฏิรูปประเทศ โดยได้รับการเสริมหนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่เห็นประโยชน์ของการจัดทำหลักสูตรนี้ร่วมกัน

   ความสำเร็จของนักถักทอต้องดูย้อนหลังไป เมื่อก่อนนักถักทอสถานการณ์ของเขาเป็นอย่างไร เจ้าหน้าที่ อบต.ส่วนใหญ่เขาทำงานตัวใครตัวมัน แยกกันอยู่ เพราะฉะนั้นการทำงานเป็นทีมใน อบต.มีน้อย คือประการที่หนึ่ง ประการที่สองก็คือ เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยได้ลงไปคลุกคลีกับชาวบ้าน ส่วนใหญ่ก็จะอยู่แต่ที่สำนักงานและชาวบ้านจะสะท้อนว่าทาง อบต.ไม่ค่อยมาคลุกคลีกับชาวบ้านมากที่ควรทำงานเป็นทีม คือพลังความสำเร็จ

  มาดูจากฐานหนึ่งปีที่ผ่านไปจากที่ทางนักถักทอเองนั่งทำงานกันเป็นทีมในการที่เราให้เขาไปทำโครงงานเดียวกันแล้วช่วยกันทำ เหมือนกับเซตเงื่อนไขให้เขาได้ทำงานร่วมกัน เพราะฉะนั้นเป้าหมายแรกที่เราคิดว่าเขาจะทำงานเป็นทีมและเขาทำงานมีความก้าวหน้ามีความสำเร็จเพราะเราประเมินจากผลงาน ความรู้เราให้ไปเพื่อไปสร้างผลงาน เพื่อให้เขาไปสร้างกลไก สร้างกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนเราก็ถือว่าเขาสำเร็จระดับหนึ่ง ที่เหลือก็จะเป็นเรื่องของชั่วโมงบินที่จะทำให้เก่งมากขึ้น

  มองในแง่ของการเริ่มต้นก็คิดว่ามันมีความก้าวหน้าพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการทำงานของเขา การทำงานเป็นทีม พอเขาลงไปทำงานในเรื่องเด็กและเยาวชนเขาพบว่าสิ่งที่เขาลงไปทำไม่ว่าเรื่องของสันทนาการ เรื่องการที่เขาใช้หลักทรงงานเช่นทำจากจุดเล็กไปจุดใหญ่ ทำให้เขาเห็นความสำเร็จความก้าวหน้าเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก เห็นการเปลี่ยนแปลงของชาวบ้านที่เป็นผู้ปกครองมีการตอบรับเขามากขึ้นเขาก็แฮปปี้

คนในชุมชนร่วมกันพัฒนาท้องถิ่น

  และสุดท้ายหลักสูตรฯ นี้จะสำคัญอย่างไร อ.ทรงพล ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า เพราะถ้ารัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลตำบล สามารถทำงานสร้างตอบโจทย์กับชุมชนได้มันก็จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ทั้งหลาย เพราะทุกคนก็คาดหวังว่า อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) จะเป็นหน่วยเล็กที่สุดที่อยู่ใกล้ชุมชนและจะทำงานใกล้ชุมชนที่สุด ใกล้ประชาชนมากที่สุด

   แต่อย่างที่กล่าวแล้วว่า เจ้าหน้าที่เข้าไปแล้วทัศนคติ ความรู้ความสามารถ การทำงานกับชุมชน มันยังไม่มี ถึงเราไปช่วยตรงนี้ก็ไปช่วยท้องถิ่นให้ไปทำงานกับชาวบ้านได้มากขึ้นและในระยะยาวจะมีการถ่ายโอนภาระกิจเยอะขึ้น การเตรียมคนในการรองรับภารกิจงานและผลนั้นไม่ใช่เจ้าหน้าที่ อบต. ต้องไปดึงคนในชุมชนหรือผู้นำในชุมชน หรือคนในเรื่องราวต่างๆ ได้ลุกขึ้นมาทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ทำงานอย่างแยกส่วนอีกต่อไป

     เริ่มต้นต้องเริ่มเปลี่ยนกระบวนคิดและกระบวนทัศน์ของการทำงาน "นักถักทอชุมชน หมายถึง เจ้าหน้าที่ทีมงานของ อปท. ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ นักวิชาการศึกษา นักพัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่ที่ผู้บริหารมอบหมาย มีบทบาทในการประสาน เชื่อมร้อย และถักทอพลังชุมชนท้องถิ่น สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกาคส่วนในชุมชนทิ้งถิ่น เพื่อผลักดันให้เกิด'กลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน'พื้นที่

3 หน่วยงานร่วมผลักดัน

  หลักสูตรนักถักทอชุมชน เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) ร่วมกับมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน

  เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี เริ่ม 19 มีนาคม 2556-19มีนาคม 2558 สำหรับหลักสูตรนักถักทอชุมชนรุ่น 1 มีผู้จบหลักสูตรไปแล้ว จำนวน 13 ตำบลจำนวน 45 คน ได้แก่ อบต.หนองสาหร่าย

   อบต.วัดดาว เทศบาล ต.ไผ่กองดิน อบต.ไผ่กองดิน อบต.ดอนมะสังข์ และ อบต.หนองขาม จ.สุพรรณบุรี อบต.ท่างาม อบต.ป่างิ้ว จ.สิงห์บุรี เทศบาลเมืองแก จ.สุรินทร์, อบต.หนองอียอ อบต.หนองสนิท อบต.เมืองลีง จ.สุรินทร์ เพิ่งเข้ารับประกาศนียบัตรไปเมื่อวันก่อน และจะมีการเปิดตัวนักถักทอรุ่น 2 อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 16-18 กรกฏาคม 2557 ที่ผ่านมา ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.scbfoundation.com

   ประเทศชาติจะพัฒนาได้ถ้าหากทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันทำ สำหรับ'หลักสูตรนักถักทอชุมชน'ที่มีข้อพิสูจน์เห็นได้ชัดว่า ได้ช่วยตอบโจทย์ให้ข้าราชการท้องถิ่นได้ในวันนี้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!