- Details
- Category: อบต,
- Published: Friday, 25 March 2022 12:14
- Hits: 7582
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนากอ ตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส แปรรูป ‘ลูกหยีแห่งเทือกเขาบูโด’ วางรากฐานความสุขจากครอบครัวสู่ชุมชน ต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน
ชุมชนนากอ หมู่ที่ 6 ตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เดิมทำสวนยางพารา และรับจ้างทั่วไป ในช่วงปี 2555 เกษตรกรประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ มีรายได้ไม่เพียงพอเลี้ยงดูครอบครัว จึงรวมกลุ่มกันเพื่อหาอาชีพเสริมให้กับครัวเรือน โดยจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ชื่อว่า ‘กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนากอ’ ขึ้น เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 แรกเริ่มมีสมาชิก จำนวน 16 ราย ปัจจุบัน มีสมาชิก จำนวน 20 ราย และมีนางอรุณี ยะโย เป็นประธานกลุ่ม ด้วยนางอรุณี มีพื้นเพเดิมเป็นชาวจังหวัดชุมพร เดินทางไปกลับ นราธิวาส - ชุมพร บ่อยครั้ง ระหว่างทางพบว่าสินค้าเกษตรแปรรูป
เช่น ลูกหยี ส้มแขก ลองกอง เงาะ กล้วย มีการวางจำหน่ายในร้านของฝากตลอดเส้นทาง จึงกลับมาปรึกษากับสมาชิกกลุ่มว่าในหมู่บ้านว่ามีวัตถุดิบดังกล่าวในพื้นที่เช่นกัน น่าจะนำมาพัฒนาแปรรูปเสริมรายได้ให้กับสมาชิกได้ จึงเริ่มต้นหาความรู้จากแหล่งต่างๆ โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอยี่งอเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ ทดลองแปรรูปลูกหยี เพราะเห็นว่า ลูกหยีมีมากในชุมซน เรียกว่า "ลูกหยีแห่งเทือกเขาบูโด" ทำให้ต้นทุนในการผลิตไม่สูงนัก และเป็นพืชเอกลักษณ์ประจำถิ่น แรกเริ่มผลิตสินค้าออกมา 2 ชนิด คือ ลูกหยีฉาบและลูกหยีเคลือบน้ำตาล พัฒนาจนกระทั่งสามารถจำหน่าย เพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกเป็นอย่างดี
นางอรุณี ยะโย กล่าวว่า หลักการดำเนินงานของกลุ่มคือ เสนอและส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เหมาะสมกับวิถีชีวิต ให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และอนุรักษ์ไม้ถิ่นชุมชน ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่ต้องไปรับจ้างงานภายนอกชุมชน ส่งผลให้ครอบครัวมีความอบอุ่น ชุมชนอยู่ดีกินดีมีเงินออม
เยาวชนมีรายได้เสริมจากการรับจ้างช่วงปิดภาคเรียน รู้คุณค่าของเงิน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด มีทรัพยากรของกลุ่มที่เป็นจุดเด่นในพื้นที่ คือ 'ต้นหยี' และมี 'ฝายโต๊ะแก' ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ก่อเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตามคำขวัญที่ว่า "รักบ้านเกิดเที่ยวบ้านเกิด..เที่ยวชุมชนธรรมชาติฝายโต๊ะแก ต้นหยี 100 ปี ไม้ถิ่นแห่งเทือกเขาบูโด" และ"กินผลไม้ 100 ปี กินลูกหยีบูโด" นั่นเอง
นางอรุณี ยะโย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ด้านการบริหารจัดการกลุ่มได้แต่งตั้งคณะกรรมการ และมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบตามความชอบและความถนัด มีกฎระเบียบชัดเจน มีการออมทรัพย์ และจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก และส่งเสริมให้สมาชิกศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง มีหน่วยงานเข้ามาบูรณาการและสนับสนุนงบประมาณพัฒนาเป็นสินค้า OTOP ผลิตภัณฑ์จากลูกหยีบูโด ซึ่งได้รับความนิยมและเป็นสินค้าที่มียอดขายดีมาก เนื่องจากมีรสชาติอร่อย กลมกล่อม มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ เป็นรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของลูกหยีจากเทือกเขาบูโด บรรจุภัณฑ์สวยงามสะดุดตา สะอาด ปลอดภัย ได้คุณค่าจากสารอาหาร มีเครื่องหมายมาตรฐานรองรับ เหมาะเป็นของซื้อของฝากได้เป็นอย่างดี ปี พ.ศ. 2559 ได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน "วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านนากอ" ปัจจุบันมีเงินทุนเวียน จำนวน 667,273 บาท
ต่อมาในปี 2563 เกิดการระบาดของโรค Covid-19 กลุ่มมียอดจำหน่ายลดลง จึงนำผลไม้ที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ทุเรียน มังคุด กล้วยขนุน (กล้วยพันธุ์นากอ) ส้มแขก มาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยการกวน ฉาบ ตากแห้ง และเพิ่มช่องทางการจำหน่าย โดยการขายออนไลน์ ผ่านการ Live และ เพจ Facebook เพื่อให้กลุ่มและสมาชิกมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลากหลายมากถึง 14 ชนิด ได้แก่ ลูกหยีกวน (ไร้เมล็ด) ลูกหยีกวนน้ำผึ้ง (ไร้เมล็ด) ลูกหยีกวนสามรส (มีเมล็ด) ลูกหยีคลุกน้ำตาล น้ำลูกหยีพร้อมดื่ม ลูกหยีสดไม่แกะเปลือก ลูกหยีสดแกะเปลือกกล้วยอบน้ำผึ้งพลังงานแสงอาทิตย์ ส้มแขกตากแห้ง น้ำผึ้งแท้เขาบูโด กล้วยฉาบ กล้วยกวน ทุเรียนกวน และ มังคุดกวน มีแผนจะพัฒนายกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานต่อไป
นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนากอ เกิดจากการรวมกลุ่มจากความต้องการของสมาชิก สามารถยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนให้ดีขึ้นทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม ยึดหลักบริหารจัดการกลุ่มตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงไปจนถึงต่อยอดเป็นผู้ประกอบการ มีการนำวัตถุดิบท้องถิ่น มาแปรรูปเพิ่มมูลค่า และนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
จุดเด่นที่สำคัญอีกอย่าง ก็คือ พยายามอนุรักษ์วิถีชีวิตของชุมชนไว้ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ต่อยอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น จะเห็นได้ว่าสมาชิกกลุ่มทุกคนมีการพัฒนาสามารถเป็นวิทยากรให้ความรู้ได้เป็นอย่างดีกลุ่มมีความเข้มแข็ง จัดสรรสวัสดิการดูแลสมาชิกครอบคลุมตามหลักการบริหารจัดการกลุ่ม สร้างจิตสำนึกและปลูกฝังในการอนุรักษ์ป่าและทรัพยากรของชุมชน ตลอดจนกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม น่ายกย่องและชื่นชม กล่าวได้ว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนากอ เป็นรากฐานความสุขจากครอบครัวสู่ชุมชน ต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน