WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aa2พอช5พื้นที่ต้นแบบ

พอช.ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวทีนำเสนอผลวิจัย 5 พื้นที่ต้นแบบ ‘การพัฒนาชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตัวเองและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง’

     พอช.ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวทีนำเสนอผลวิจัย เรื่อง ‘การพัฒนาชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตัวเองและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง’ ใน 5 พื้นที่ เชียงใหม่ ชัยนาท มหาสารคาม ปราจีนบุรี และสตูล เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาองค์ความรู้นำไปส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตัวเองได้     

       วันนี้ (15 กุมภาพันธ์) ระหว่างเวลา 9.30-12.00 น. ที่โรงแรมเดอะพันธุ์ทิพย์โฮเทล เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีนำเสนอ ‘ผลการศึกษาวิจัยพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเอง และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยอาศัยการดำเนินงานอย่างบูรณาการ’ มีผู้เข้าร่วมในเวทีจำนวน 30 คน และร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom ประมาณ 80 คน มีนายธนสุนทร สว่างสาลี รองปลัดกระทรวง พม. เป็นประธานในการจัดงาน

       นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า งานวิจัยในครั้งนี้มีความสำคัญมาก ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้ลงไปศึกษาพื้นที่จากชีวิตจริงทั้ง 5 พื้นที่  เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์และเป็นผู้กล้าแห่งยุค สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ต้องขอขอบคุณ สกสว.ที่ได้จัดส่งงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้กับกระทรวง พม.เปิดโอกาสให้ขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคมให้มีการปฏิบัติการศึกษาพื้นที่ที่จะเป็นทิศทางของขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ เพื่อจะนำไปสร้างองค์ความรู้ สร้างการเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งพาตัวเองและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงได้ต่อไป

        นายธนสุนทร สว่างสาลี  รองปลัดกระทรวง พม. กล่าวมอบนโยบาย ‘การวิจัยกับการพัฒนาสู่ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเอง’ มีใจความสรุปว่า ถ้าเรามีพื้นฐานงานวิจัยรองรับ เราทำโครงการกิจกรรมจากการหาข้อมูลจากพี่น้องประชาชน มีนักวิจัยจากอาจารย์มหาวิทยาลัยมาช่วย ความน่าเชื่อถือจะได้รับการยอมรับมากขึ้น งานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นงานชิ้นหนึ่งที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้พึ่งพาตนเองได้

QIC 720x100

5 พื้นที่ต้นแบบ เชียงใหม่ มหาสารคาม ชัยนาท ปราจีนบุรี สตูล

         การศึกษาวิจัยพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเอง และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยอาศัยการดำเนินงานอย่างบูรณาการ ดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) โดยมีนางสาวสุธิดา  บัวสุขเกษม เป็นหัวหน้าโครงการ นักวิจัยหลัก ประกอบด้วย นายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง นางสาวนพรัตน์  พาทีทิน ดร.โอฬาร อ่องฬะ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ นายนาวิน โสภาภูมิ และคณะนักวิจัยร่วมจากชาวบ้านในพื้นที่ 

     ส่วนพื้นที่วิจัย 5 จังหวัด คือ 1.เชียงใหม่ ศึกษาการก่อรูปและปฏิบัติการของสภาลมหายใจเชียงใหม่ และพื้นที่ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง 2.มหาสารคาม ศึกษาในประเด็นความมั่นคงทางอาหาร และพื้นที่ตำบลดงใหญ่ อำเภอวาปีปทุม 3.จังหวัดชัยนาท ศึกษาเรื่องการจัดการข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ผ่าน ‘นักจัดการข้อมูลชุมชน’และพื้นที่ตำบลโพงามและตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี

      4.ปราจีนบุรี ศึกษาเรื่องการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ และพื้นที่ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี และ 5.สตูล ศึกษาการใช้สภาองค์กรชุมชนและการสร้างพื้นที่กลางในการแก้ไขปัญหาของชุมชน และพื้นที่ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า

       คณะผู้วิจัยได้ใช้แนวทางในการศึกษาในลักษณะแบบผสมผสาน ระหว่างการวิจัยในเชิงคุณภาพกับการวิจัยเชิงปริมาณ โดยการวิจัยเชิงปริมาณได้ใช้เครื่องมือ ‘แบบสอบถามเพื่อศึกษาความคิดเห็นต่อชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเอง’ มีกลุ่มตัวอย่างในการตอบแบบสอบถามทั้งหมดจำนวน 676 ราย ใน 5 พื้นที่  ประกอบด้วยข้อมูล  2 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไป และความคิดเห็นต่อความเข้มแข็งของชุมชน โดยสอบถามความคิดเห็นต่อความเข้มแข็งของชุมชนใน 6 ด้าน คือ ด้านคนมีคุณภาพ ด้านการมีส่วนร่วม ด้านคุณภาพชีวิต ด้านความสามารถในการปรับตัว ด้านองค์กรชุมชน และด้านความสัมพันธ์กับหน่วยงานภาคี 

        ทั้งนี้การศึกษาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ 2 ข้อที่สำคัญ คือ 1.เพื่อศึกษารูปแบบการดำเนินงานของพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเอง โดยอาศัยการดำเนินงานอย่างบูรณาการ และ 2. เพื่อศึกษาองค์ประกอบที่สำคัญต่อการดำเนินงานอย่างบูรณาการของพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเอง

6 ประเด็นร่วมพลังชุมชนท้องถิ่น

จากการศึกษาของคณะวิจัยในพื้นที่ 5 จังหวัด  นำมาสู่กระบวนการสังเคราะห์บทเรียนจากเงื่อนไขของพื้นที่ต่างๆ โดยพบว่า การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงโดยอาศัยการดำเนินงานอย่างบูรณาการ มีประเด็นร่วมสำคัญที่สามารถสะท้อนให้เห็นพลังของการทำงานของชุมชนท้องถิ่น 6 ประเด็นที่สำคัญ คือ

1.การมีจินตภาพร่วมของผู้คนในชุมชนท้องถิ่นรวมถึงเครือข่ายชาวบ้าน ตัวอย่างเช่น ที่ตำบลดงใหญ่ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ชาวในตำบลได้ใช้ประโยชน์จาก ‘ป่าดงใหญ่’เพื่อเป็นแหล่งอาหารมาเป็นเวลานาน  เมื่อมีการบุกรุก แผ้วถางป่า ทำให้ป่าเสื่อมโทรม ผู้นำชุมชนกลุ่มหนึ่งจึงชักชวนชาวบ้านให้ลุกขึ้นมาปกป้องป่า  มีการกำหนดกฎระเบียบข้อห้าม มีการดูแลป่าร่วมกัน เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของชุมชน จนทำให้ป่าฟื้นตัวขึ้นมา

2.กลไกการขับเคลื่อน ตัวอย่างเช่น กรณีการต่อสู้เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ตำบลเขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี ทำให้เกิดการประสานความร่วมมือกันของผู้นำในท้องถิ่น เช่น อบต.เขาไม้แก้ว  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะครูโรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว รพ.สต.และเกิดผู้นำรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชนขึ้นมา นำไปสู่การจัดตั้งกลไกองค์กรชุมชนแบบใหม่ๆ ขึ้นมาในตำบล  และส่งเสริมให้ชุมชนมีการพัฒนาในหลายมิติ

3.การมีฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น การดำเนินงานของ ‘นักจัดการข้อมูลชุมชน’ ใน จ.ชัยนาทในระดับพื้นที่ที่ดำเนินงานร่วมกันในรูปแบบของขบวนองค์กรชุมชน นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ภาคประชาชนจังหวัดชัยนาท จนได้รับการบรรจุเป็นแผนพัฒนาจังหวัด 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) รวม 2 โครงการ คือ 1.โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ 2.โครงการครอบครัวดีมีภูมิคุ้มกันบนฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

                4.มีกติกา มีข้อตกลงร่วม ตัวอย่างเช่น ตำบลดงใหญ่ จ.มหาสารคาม มีกติกาหรือข้อตกลงร่วมกันเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าและสิ่งแวดล้อมในป่าชุมชน เช่น มีกำหนดกฎระเบียบการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน   การอนุรักษ์ป่าโดยใช้ความรู้ ภูมิปัญญา ความเชื่อ ประเพณีที่เกี่ยวกับป่า เช่น ภูมิปัญญาชาวบ้านในการจัดเก็บเห็ด สมุนไพร เก็บฟืน ประเพณีบวชป่าฯลฯ ทำให้ลดผลกระทบต่อระบบนิเวศในป่าได้

                5.บทบาทภาคประชาสังคม กลไกสนับสนุนที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญ ตัวอย่างเช่น ตำบลดงใหญ่  จ.มหาสารคาม ในอดีตมีปัญหาสิ่งแวดล้อมจากโรงงานต้มเกลือปล่อยน้ำเสีย ทำให้ดินเค็มส่งผลกระทบไปถึงต้นน้ำลำน้ำเสียว ซึ่งเป็นสายน้ำสำคัญในการทำการเกษตรของชาวบ้าน ต่อมาได้เกิดขบวนการอนุรักษ์ลำน้ำเสียว  โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมในจังหวัด จนสามารถยุติการทำโรงงานต้มเกลือได้ เมื่อเกิดการรวมตัวของกลุ่ม/องค์กรชาวบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาป่าชุมชนดงใหญ่ จึงเกิดการเชื่อมต่อการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชน/ภาคประชาสังคม ทำให้ชุมชนได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการบริหารจัดการป่าชุมชน

                6.การสร้าง ‘พื้นที่กลาง’ หรือ ‘พื้นที่เจรจา’ ตัวอย่างเช่น การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาไม้แก้วขึ้นมาในปี 2555 ทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางและหน่วยประสานความร่วมมือกับองค์กรชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในตำบลและองค์กรภาคีอื่นๆ ที่อยู่ภายนอก รวมทั้งการทำงานเป็นเสมือนสื่อกลางระหว่างภาครัฐกับชุมชน เป็นช่องทางในการกระจายข่าวสารจากราชการสู่ชุมชน และเป็นผู้รวบรวมความต้องการในพื้นที่สื่อสารไปยังหน่วยงานภาครัฐ  สภาองค์กรชุมชนตำบลเขาไม้แก้วจึงมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือกับองค์กรภาคีต่างๆ ทั้งในชุมชนและนอกชุมชนให้มาทำงานร่วมกัน

sme 720x100

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากงานวิจัย

1.นโยบายของจังหวัด/แผนพัฒนาจังหวัดที่จะให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการดูแลตนเองมากขึ้น เปิดพื้นที่ให้องค์กรชุมชนมากขึ้น มีช่องทางงบประมาณในแผนพัฒนาจังหวัดสำหรับเครือข่ายองค์กรชุมชน

2.การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ที่ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอิสระในการทำงานและไม่เอื้อต่อการสนับสนุนชุมชน เช่น การจัดสวัสดิการชุมชน การจัดการที่อยู่อาศัยที่ดินทำกิน และการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม การจัดการความมั่นคงทางอาหารชุมชน เป็นต้น

3.การสนับสนุนสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสุขภาพ

4.การสนับสนุนพื้นที่กลางหรือพื้นที่สาธารณะ (Public space) ที่ทุกคนเป็นเจ้าของ การสร้างพื้นที่ของการพูดคุย ปฏิบัติการและการสื่อสาธารณะ เพื่อเป็นทางออกหนึ่งของชุมชนและสังคมไทยที่จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งทางสังคม และเป็นช่องทางในการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมทางสังคมในระดับต่างๆ ดังนั้นการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการสร้างพื้นที่สาธารณะในระดับท้องถิ่น (ตำบล) ในระดับจังหวัด ในระดับภาค หรือในระดับชาติ จึงเป็นความท้าทายของสังคมและเป็นความท้าทายเชิงนโยบาย

5.การส่งเสริมการวิจัยชุมชนท้องถิ่นเพื่อชี้เป้าปัญหาและความต้องการของชุมชน รวมทั้งเพื่อสร้างนวัตกรรมการพัฒนาที่เหมาะสมกับชุมชน

6.การสนับสนุนการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based and Community Engagement) โดยเอาปัญหาและความต้องการของชุมชนเป็นตัวตั้ง และเชื่อมโยงบูรณาการภารกิจของหน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่างๆ ให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของชุมชน

7.การส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้กลไกเชิงสถาบันแบบใหม่ๆ สำหรับ ชุมชนให้ทันกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

8.การส่งเสริมบทบาทภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง

ข้อเสนอเพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่กลางระดับตำบลให้เป็นกลไกกลางเพื่อการพัฒนาชุมชนเช้มแข็ง

1.ข้อเสนอต่อขบวนองค์กรชุมชน เช่น เร่งสำรวจสถานภาพของสภาองค์กรชุมชนระดับตำบลและเทศบาลทั้งหมดในจังหวัด สร้างความรู้ ความเข้าใจถึงประโยชน์และความสำคัญของการสร้างพื้นที่กลางในระดับตำบลที่ต้องทำงานเชื่อมโยงกับท้องถิ่น ปกครอง ส่วนราชการ และภาคีพัฒนาอื่นๆ

สภาองค์กรชุมชนระดับตำบลต้องเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเชื่อมร้อยเพื่อให้เกิดพื้นที่กลางในระดับตำบล เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกมิติแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จัดทีมหรือคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

2.ข้อเสนอต่อส่วนราชการระดับอำเภอ และจังหวัด เช่น ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดพื้นที่กลาง หรือกลไกการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมระดับตำบล เพื่อให้ชุมชนได้มีแผนงาน หรือโครงการพัฒนาที่สอดคล้องและเป็นไปตามความต้องการของพื้นที่ สร้างการเชื่อมโยงแผนการพัฒนาระหว่างพื้นที่ตำบล อำเภอ และจังหวัด อย่างมีเป้าหมายร่วมกัน

จัดตั้งกลไก หรือคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับจังหวัด ที่ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวแทนของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ภาคประชาสังคม และภาคีพัฒนาต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาพรวมของจังหวัด

 

 Click Donate Support Web

 

EXIM One 720x90 C JGC 720x100TU720x100

BANPU 720x100

ais 720x100

วิริยะ 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!