- Details
- Category: อบต,
- Published: Wednesday, 01 December 2021 14:08
- Hits: 7550
พช.จัดประชุมเพิ่มศักยภาพคณะกรรมการโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ผ่านระบบการประชุมทางไกล
พช.จัดประชุมเพิ่มศักยภาพคณะกรรมการโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ผ่านระบบการประชุมทางไกล นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานการประชุมเพิ่มศักยภาพคณะกรรมการโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) และมอบนโยบายในการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ณ ห้องประชุม War Room ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน โดยนางเตือนใจ อุ่นจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาทุนชุมชน รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน กล่าวรายงาน
การประชุมเพิ่มศักยภาพคณะกรรมการโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนความรู้ ความเข้าใจและสร้างความตระหนักในการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ที่เป็นแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพให้กับครัวเรือนเป้าหมายและให้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาของโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด 76 จังหวัดๆ ละ 2 คน รวม 152 คน คณะกรรมการโครงการปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย จำนวน 2,500 คน และเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง จำนวน 8 คน รวมทั้งสิ้น 2,660 คน
ทั้งนี้ ประเด็นในการชี้แจงสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่คณะกรรมการ โครงการ กข.คจ.หมู่บ้าน และพัฒนากร ในการแก้ไขปัญหาเงินทุนโครงการฯ ที่อยู่ระหว่างเร่งรัดติดตามการชำระเงินคืนตามสัญญาประกอบด้วย 1. นโยบายของผู้บริหารในการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน 2. ทบทวนบทบาทและหน้าที่ของพัฒนากรและคณะกรรมการ กข.คจ.หมู่บ้าน ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย 3. การติดตาม ตรวจสอบเงินทุนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ที่มีปัญหาด้านการชำระเงินยืมตามสัญญาฯ 4. แนวทางแก้ไขปัญหาและกรณีศึกษากรณีเกิดความเสียหายต่อการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.)
ซึ่งในโอกาสนี้ นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ซึ่งเป็นกองทุนที่เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับผู้มีรายได้น้อยนำไปประกอบอาชีพได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถสนับสนุนครัวเรือนยากจนได้เข้าถึงแหล่งทุน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านกลไกของชุมชนและหน่วยงานพัฒนาชุมชน ด้วยหลักคิดที่ว่าชุมชนเกื้อกูล พัฒนาชุมชนเกื้อหนุน
รวมทั้งเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของบทบาทหน้าที่ของพัฒนากรและคณะกรรมการฯ ให้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยอย่างเคร่งครัด โดยได้ให้ข้อเสนอแนะในการติดตาม ส่งเสริม สนับสนุนงานอย่างต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ และถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ให้มีแนวทางแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน