- Details
- Category: อบจ.
- Published: Tuesday, 26 August 2014 22:02
- Hits: 7649
คืนความสุขบ้านไร้แผ่นดินภาครัฐ-นักวิชาการระดมสมองคึก
บ้านเมือง : ชาวชุมชนบางชัน จันทบุรี นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐ ร่วมเวทีสาธารณะกันคึกคัก ถกประเด็นร้อนหาทางออกวิธีการทำประมงพื้นบ้านริมชายฝั่งทะเล สิทธิในการอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
'น้ำขึ้นเป็นของประมง น้ำลงเป็นของป่าไม้'กลายเป็นคำนิยามที่ใช้เรียกหมู่บ้านไร้แผ่นดินในประเทศไทย ที่มีอยู่กว่า 600 ชุมชน แม้จะตั้งรกรากอยู่ในทะเลมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะมีสิทธิครอบครองเอกสารสิทธิเป็นของตนเอง ดังเช่นที่ ต.บางชัน อ.ขลุง จ.จันทบุรี ที่แม้จะมีหลักฐานการตั้งรกรากมากว่า 135 ปี แต่ชาวบ้านกว่า 3,678 คน จาก 6 หมู่บ้านแนวชายฝั่งทะเลไทย กว่า 4 หมื่นไร่ ต้องตกอยู่ในสภาพไร้แผ่นดิน เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิในการครอบครอง
ดร.ภีม ธงสันติ ประธานคณะผู้เข้าอบรบหลักสูตรบริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูงรุ่นที่ 5 (บสส.5) กล่าวในการสัมนาหัวข้อ'บางชันโมเดล : คืนความสุขให้หมู่บ้านไร้แผ่นดิน'จัดโดย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยร่วมกับ บสส.5 และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า การสัมนาที่หมู่บ้านปากน้ำเวฬุ ต.บางชัน อ.ขลุง ครั้งนี้มุ่งแลกเปลี่ยนความเห็นและหาทางออกร่วมกันให้กับคนไทยไร้เอกสารสิทธิครอบครองที่ดินและไร้สิทธิในการประกอบอาชีพกว่า 600 หมู่บ้านตลอดแนวชายฝั่งทะเลกว่า 2,000 กิโลเมตรทั่วประเทศ โดยยกเอาปัญหาของชุมชนบางชันมาเป็นกรณีตัวอย่าง
ด้านนายชัยชาญ พูนผล นายอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ปัญหานี้กระจายทั่วไปทุกภูมิภาคส่งผลกระทบชาวบ้านหลายแห่ง ในส่วนของจังหวัดจันทบุรีก็มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ในขณะเดียวกันผลต่อธรรมชาติซึ่งก็แยกจากกันไม่ได้ ที่บางชันไม่มีอาชีพอื่นรองรับเหมือนที่อื่น ในอนาคตควรปฏิรูปกฎหมายให้ยืดหยุ่น อาจจะมอบอำนาจให้ภูมิภาคมีอำนาจตัดสินใจแก้ปัญหาเองมากขึ้นเรื่องหลักเคยและโพงพางเบื้องต้นยังแก้ไม่ได้การทำโพงพางไม่ได้ทำทุกวัน มีแนวคิดเชิญคนทั่วไปให้เงินชดเชยแก่ ผู้ยอมหยุดทำในบางวันหรือเชิญชวนไถ่ชีวิตสัตว์ทะเลค่อยๆ ลดไปและลดความขัดแย้งกัน ในเรื่องสิทธิครอบครองที่ดินเคยมีการเสนอหลายแนวทาง เช่น ส.ป.ก.4-01 หรือบ้านขยายให้ชุมชนเห็นชอบกับราชการ ให้มีการปลุกป่าชายเลนแทนนากุ้งรกร้าง
ขณะที่นายวินัย บุญล้อมหัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 45 พื้นที่ตำบลบางชัน กล่าวว่า พื้นที่บางชันประมาณ 90% อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามประกาศเขตป่าสงวนปี 2505 ซึ่งขณะนั้นเป็นที่อยู่อาศัยเพียงส่วนน้อย ดังนั้นการจะออกเอกสารสิทธิที่ดินทางกรมกรมที่ดินระบุว่าต้องมีเอกสารก่อนปี 2481
ภาพถ่ายทางอากาศช่วงปี 2480 ตรงนี้มีชุมชนอยู่แต่เป็นพื้นที่เล็กๆ ในการแก้ไขปัญหาเราต้องการให้ชุมชนเข้ามาร่วมโดยอาศัยแนวทางของรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นตัวตั้ง สำหรับบางพื้นที่เจ้าหน้าที่ ต้องอลุ่มอล่วยให้ชาวบ้านอาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนได้
นายวินัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการเข้าร่วมคุยกับชาวบ้านบ้าง เช่น เรื่องการเพาะเลี้ยงปลา เมื่อเร็วๆ นี้ โดย คสช.มีคำสั่งมีคำสั่งให้ตรวจสอบการบุกรุกป่า โดยสำหรับผู้มีรายได้น้อยให้ผ่อนผันอยู่ได้ แต่ห้ามบุกรุกใหม่
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ไพโรจน์ แสงจันทร์หัวหน้าศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคตะวันออกสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. กล่าวถึงปัญหาของชุมชนว่า เป็นปัญหาความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากฐานทรัพยากร ปลา ทรัพยากรจากป่าชายเลน ปัญหาการใช้มาตรการของรัฐต่อชุมชนกฎหมายทางภาครัฐซึ่งมีเจตนาดี บ้างก็สำเร็จบ้างก็ยังเป็นปัญหา กระบวนการแก้ไขปัญหามีความสำคัญ หากใช้มุมมองว่ารัฐมีหน้าที่แก้ไขปัญหารัฐจะเข้าไปแก้ จัดอบรมเติมความรู้ แล้วเกิดลิงแก้แหยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง จึงได้เสนอให้ชาวบ้านแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยเริ่มจากนากุ้งเพื่อเรียนรู้การแก้ไขปัญหาร่วมกันใช้ชุมชนเป็นฐานแก้ไขปัญหาและใช้ความรู้ของเขาที่มีมานาน เป็นการคืนศักดิ์ศรีคืนความสุขให้ชาวบ้านในเรื่องเอกสารสิทธิหากให้ชุมชนมีส่วนร่วม กระตุ้นให้เขาใช้ความรู้ของเขาเพื่อการทำงานร่วมกับราชการอย่างกลมกลืน นายไพโรจน์เสนอให้ชุมชนปรับตัวเองและพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวขึ้นในชุมชน
ขณะที่นายบัญชา สุขแก้ว ประมงจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า โพงพางทำมาชั่วอายุคนแล้ว แต่จากการเก็บข้อมูลของกรมประมงพบว่าโพงพาง 1 ปาก จับปลาได้ 27 กิโลฯ โดยร้อยละ 51 เป็นสัตว์เศรษฐกิจซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่เจริญวัยจึงมีกฎหมายบังคับปี 2521 ให้เวลารื้อถอนทั่วประเทศ ขณะนี้เหลือ 11 จังหวัดยังดำเนินการไม่ได้รวมทั้งจันทบุรี แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันรื้อไป 100 แหล่งที่ช่องแหลมสิงห์ การรื้อที่บางชันทำไม่ได้เพราะมีการลุกฮือขึ้นต่อต้านจากชาวบ้าน ทางประมงจังหวัดพยายามหาทางแก้ไขมีการเก็บมีข้อมูลแต่ละบ้าน และสอบถามความต้องการเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งพบว่า
ชาวบ้านร้อยละ 90 ไม่อยากเปลี่ยนอาชีพจึงคิดว่าแก้ปัญหานี้ยากจึงมีการตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อติดตามปัญหานี้ โพงพางบางแห่งขวางทางน้ำต้องไปรื้อถอนเพื่อป้องกันน้ำท่วมจันทบุรี เมื่อเร็วๆ นี้รื้อไป 5 แห่ง การแก้ไขในอนาคตคิดว่าทำได้ จะจัดระเบียบอย่างไร คุยมา 2-3 อำเภอแล้ว เมื่อได้ข้อมูลจะเสนอจังหวัดและส่วนกลาง ให้อาจารย์มหาลัยบูรพามาวิจัยร่วมกับชุมชนเพื่อให้ได้เห็นปัญหาด้วยกัน นายบัญชาเสนอการแก้ไขร่วมกันกับชุมชนแก้ 2 ระยะ ระยะแรกแก้เครื่องมือประมงหรือโพงพาง ระยะกลางรอร่าง พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ซึ่งจะให้มีการตั้งองกรค์ประมงชุมชนขึ้น และให้ชุมชนมีตัวแทนในคณะกรรมการประมงจังหวัด
นายไพริน โอฬารไพบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 หมู่บ้านปากน้ำเวฬุ ต.บางชัน อ.ขลุง จ.จันทบุรี กล่าวว่า ชาวบ้านมีอาชีพประมงเป็นหลัก ชุมชนนี้เกิดขึ้นจากการที่ชาวจีนอพยพมาอยู่เป็นร้อยปี นำโพงพาง หรือหลักเคย มาเป็นเครื่องมือจับปลา แต่ต่อมาในปี 2521 มีกฎหมายให้รื้อถอนทำให้ชาวบ้านมีอาชีพไม่มั่นคงเพราะอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นอาชีพหลัก ชาวบ้านรวมตัวกันแก้ไข
ปัญหา ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ถอนหลักเคยไปแล้ว 1-2 ครั้ง เคยไปพบกรรมาธิการสภาด้วย สิทธิในการถือครองที่ดินหลังมีกฎหมาย ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุก หลังสุดได้ปักเขตออกจากเขตสนวงแต่ชาวบ้านห่วงว่าการขยายครอบครัวจะทำไม่ได้อีกปัญหาคือ ปัญหาการใช้ไม้เพื่อซ่อมแซมบ้าน การบังคับใช้กฎหมายทำให้เราเหมือนถูกขังถูกกดอยู่ ในเรื่องกระบวนการแก้ไขปัญหานั้นชาวบ้านไม่ได้พบเจ้าหน้าที่มากนักเพราะทำมาหากินต้องการให้ชุมชนแก้ไขปัญหากันเอง ปัญหาน้ำจืดไม่มีพอ ต้องใช้เรือข่นถ่ายถังน้ำ 1,400 ลิตร ลิตรละ 100 บาท ค่อนข้างแพง ชาวบ้านใช้น้ำฝน แต่ใน 1 ปีไม่มีน้ำฝน 9 เดือน จึงอยากได้ที่กักเก็บน้ำฝน ที่ผ่านมาได้รับความ ช่วยเหลือบางส่วนแต่ไม่พอเพราะติดกฎหมายเรื่องป่าชายเลน ส่วนเรื่องที่เป็นห่วงที่สุดคือ เรื่องประกอบอาชีพเป็นเรื่องใหญ่สุด
นายชูชาติ จิตนาวา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 แสดงความห่วงใยเรื่องปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และไม่ทราบว่ากรมเจ้าท่าหรือกรมทรัพยากรชายฝั่งเป็นผู้รับผิดชอบ โดยที่บางชันมีพื้นดินหายไปแล้ว 6,700 ไร่ตั้งแต่ปี 2535 ทำให้ชาวบ้านที่เสียที่ดิน บุกรุกเข้าป่าสงวนแห่งชาติเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ผู้ใหญ่บ้านให้เลขบ้านได้แต่ขอไฟฟ้าไม่ได้เพราะบ้านไม่ถาวร มีการจับกุมคนที่แยกออกไปสร้างบ้านใหม่และเมื่อ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จับคนทำนากุ้งอีกหนึ่งราย
นายปวัตร กาญจนวงศ์ นักวิชาการจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เสนอให้ใช้โครงสร้างอ่อนแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง เช่นปักไม้ไผ่ลดความแรงของคลื่นแทนโครงสร้างปูนแข็ง เพื่อลดผล กระทบกับพื้นที่ใกล้เคียงความเป็นมาของปัญหาชุมชนบางชัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันตำบลบางชันมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 64.4 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 40,305 ไร่ พื้นที่เกษตร 19,050 ไร่ พื้นที่ว่างเปล่า, ป่าไม้ชายเลน 21,255 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศ มีสภาพทั่วไปเป็นเกาะและป่าชายเลน มีลำคลองน้ำเค็มหลายสายไหลผ่านในพื้นที่ พื้นที่ส่วนใหญ่ติดต่อกับชายทะเล ชาวบ้านบางชันประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ได้แก่ เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงหอยแครง วางลอบปู แร้วปู เบ็ดราว เบ็ดธง อวนปู อวนลอยกุ้ง กร่ำ แห และแทบทุกครัวเรือนใช้หลักโพงพางในการประกอบอาชีพทางการประมงที่สืบต่อมา