- Details
- Category: อบจ.
- Published: Sunday, 22 October 2017 17:33
- Hits: 17815
จ.ร้อยเอ็ด จับมือ อุตสาหกรรมจังหวัด และสถาบันอาหาร เร่งยกระดับห่วงโซ่การผลิตข้าวหอมมะลิแบบครบวงจรสู่ตลาดสากล
จ.ร้อยเอ็ด ผนึกกำลัง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ด และสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดตัวโครงการ ‘พัฒนาคุณภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงครบวงจร’ หนุนผู้ผลิตต้นน้ำและกลางน้ำ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน โรงสีข้าว ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแปรรูปข้าว ให้พัฒนาข้าวหอมมะลิด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี งานวิจัย และมาตรฐานการผลิตระดับสากลเพื่อสอดคล้องกับความต้องการของตลาดการค้าในปัจจุบัน ตั้งเป้ามีผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิ แปรรูปเกิดใหม่ 10 แบรนด์ ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และเวชสำอาง ภายใน 6 เดือน คาดมีผู้เข้าร่วมโครงการได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 200 ราย
นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวในพิธีเปิดโครงการ‘พัฒนาคุณภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงครบวงจร’ว่า จังหวัดร้อยเอ็ดได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ด และสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการ‘พัฒนาคุณภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงครบวงจร’ ซึ่งสนับสนุนพันธกิจของจังหวัดร้อยเอ็ดประการหนึ่ง ที่ต้องการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพการบริหารทรัพยากรและสินค้าการเกษตรให้เป็นเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย โดยในปีเพาะปลูก 2558/2559 ที่ผ่านมา จังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวและข้าวเจ้ารวมกันราว 3.5 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง แบ่งเป็น ข้าวเจ้าราว 2.8 ล้านไร่ ข้าวเหนียว 6.5 แสนไร่ สำหรับข้าวหอมมะลิเป็นที่รู้จักและยอมรับกันโดยทั่วไป เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่เป็นผลผลิตจากทุ่งกุลาร้องไห้ มีพื้นที่ครอบคลุม 5 จังหวัด กล่าวเฉพาะที่จังหวัดร้อยเอ็ดมีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิได้ 2.6 ล้านไร่ ได้ผลผลิตรวมราว 1.2 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 442 กิโลกรัมต่อไร่ มีรายได้จากการจำหน่ายราว 10,000 ล้านบาทต่อปี
นายวันชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “หากเราได้นำนวัตกรรม เทคโนโลยี และงานวิจัยมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ข้าวหอมมะลิของจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน โรงสี ตลอดจนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในภาคการผลิต สามารถนำผลผลิตข้าวหอมมะลิมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างครบวงจร เช่น แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม และแปรรูปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอาง เป็นต้น ก็จะเป็นการยกระดับคุณภาพและมูลค่าของข้าวหอมมะลิให้สูงขึ้น ช่วยสร้างศักยภาพการแข่งขัน เพิ่มรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ดได้อีกทางหนึ่ง”
นางลักษมี รุจิระมานนท์ อุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ดกล่าวว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีภารกิจในการส่งเสริมพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการยกระดับห่วงโซ่ข้าว สู่ตลาดสากล เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตต้นน้ำและกลางน้ำในห่วงโซ่คุณค่าข้าว ให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดการค้า สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยที่เกี่ยวกับสินค้าเป้าหมาย ส่งเสริมการนำเอางานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาพัฒนาให้เกิดเป็นสินค้าในเชิงพาณิชย์ สนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งโรงงานต้นแบบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าว เพื่อเป็นตัวอย่างในการผลิต และสร้างเอกภาพในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืนกับภาคเอกชนที่มีการกำกับดูแลจากคณะกรรมการคลัสเตอร์แปรรูปสินค้าข้าวของไทย
สำหรับ โครงการพัฒนาคุณภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงครบวงจรครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ทั้งหมด 3 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ธุรกิจชุมชน เอสเอ็มอี และโรงสีข้าว กลุ่มที่ 2 ได้แก่ เกษตรกรหรือผู้ประกอบการโรงงาน หรือวิสาหกิจในภาคอุตสาหกรรมที่สนใจแปรรูปสินค้าจากข้าว และกลุ่มที่ 3 คือ หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนหรือประชาชนทั่วไปที่สนใจ ในภาพรวมคาดว่าจะเกิดกลุ่มหรือคลัสเตอร์ผู้ประกอบการข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวในระดับท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมีความสามารถในการลดต้นทุนการผลิต หรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตหรือผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม หรือเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น มีการนำนวัตกรรม นำงานวิจัยมาปรับปรุงผลิตภาพและผลิตผล ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาศักยภาพ และได้รับการส่งเสริมทางการตลาด
“ในเชิงผลผลิตคาดว่าจะเกิดแผนการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการเพื่อความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 10 กลุ่ม เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยการนำนวัตกรรม และงานวิจัยมาต่อยอดไม่น้อยกว่า 10 ผลิตภัณฑ์ เกิดบรรจุภัณฑ์ต้นแบบไม่น้อยกว่า 10 ผลิตภัณฑ์ มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้แก่สมาชิกกลุ่มไม่น้อยกว่า 200 คน โรงสีข้าวและผู้ประกอบการเป้าหมายมีการพัฒนากระบวนการผลิตให้สอดคล้องตามมาตรฐานไม่น้อยกว่า 10 ราย ผู้ประกอบการเป้าหมายได้รับการออกแบบสายการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์สิ่งที่จำเป็นในการผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ไม่น้อยกว่า 10 ราย เกิดการสร้างแบรนด์ไม่น้อยกว่า 10 แบรนด์ เกิดแผนพัฒนาคลัสเตอร์ข้าวจังหวัดร้อยเอ็ดไม่น้อยกว่า 10 แผนงาน เกิดการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคในประเทศไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง และเกิดการสื่อสารเพื่อสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้แพร่หลาย”
นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รักษาการรองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวถึงสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยว่า ในปี 2560 นี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดหมายปริมาณส่งออกข้าวอยู่ที่ 10 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 150,000 ล้านบาท โดยข้าวหอมมะลิจะมีปริมาณส่งออก 2.28 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 23 มีมูลค่าราว 34,500 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปี 2559 ที่มีปริมาณส่งออก 2.36 ล้านตัน อย่างไรก็ตามพบว่าการส่งออกข้าวในภาพรวมยังมีแนวโน้มที่ดี โดยข้าวไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ตลาดที่สำคัญในภูมิภาคแอฟริกา และเอเชียยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวเพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง ขณะที่ตะวันออกกลาง ทั้งอิหร่านและอิรัก ได้กลับเข้ามาซื้อข้าวจากไทยมากขึ้น
สำหรับ ข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวคุณภาพราคาสูง การค้าข้าวหอมมะลิในตลาดโลกมีเพียงปีละ 3-4 ล้านตัน ตลาดผู้นำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา จีน และฮ่องกง ในปี 2559 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดส่งออกประมาณ 60% ของปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิในตลาดโลก แต่ก็มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งจากการเปิดตลาดส่งออกข้าวบาสมาติของอินเดีย การพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมหลากหลายชนิดของสหรัฐฯ เพื่อป้อนตลาดในประเทศทดแทนการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทย การพัฒนาการผลิตข้าวหอมของประเทศคู่แข่งในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม และกัมพูชา ที่มีราคาถูกกว่าแต่คุณภาพใกล้เคียงข้าวหอมมะลิของไทย
“จากการเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นตามลำดับดังที่กล่าวมาแล้ว การเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิของไทยให้มีคุณภาพสูงจะช่วยให้เรายืนหยัดเป็นที่หนึ่งในตลาดได้ต่อไป ขณะเดียวกันหากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี โดยมีมาตรฐานการผลิตในระดับสากล ย่อมเป็นทางเลือกที่จะช่วยยกระดับให้ข้าวหอมมะลิของไทยมีพัฒนาการล้ำหน้าประเทศคู่แข่งได้ในตลาดโลก”
นางนิตยา กล่าวต่อว่า ตามที่สถาบันอาหารได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานดำเนินการโครงการ’พัฒนาคุณภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงครบวงจร’ โดยมีกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน 6 เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ มีแนวทางการดำเนินงานในภาพรวม ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมหลักหลายด้านเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ได้แก่ ด้านที่ 1 การวิจัย หรือเชื่อมโยงงานวิจัยนวัตกรรมสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเกิดการจ้างงานในพื้นที่ เป็นการกำหนดแนวคิดผลิตภัณฑ์ที่จะพัฒนา ให้สอดคล้องกับความต้องการของคู่ค้า และผู้บริโภค ขณะเดียวก็ต้องสื่อถึงความเป็นอัตลักษณ์ของข้าวในจังหวัดร้อยเอ็ดไปพร้อมกันด้วย
ด้านที่ 2 ได้แก่ การสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ให้เกิดการผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ โดยพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์โดยคำนึงถึงคุณสมบัติในการรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ด้านที่ 3 ได้แก่ การแลกเปลี่ยนทางธุรกิจระหว่างผู้ผลิตและลูกค้าผู้บริโภคในประเทศ และการประกอบธุรกิจด้านการตลาดเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์ ด้านที่ 4 ได้แก่ การพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิตข้าว เป็นการพัฒนาทางด้านระบบคุณภาพมาตรฐานโรงสีข้าว และจัดเตรียมวางแผนการพัฒนาสถานที่ผลิตให้เป็นมาตรฐานคุณภาพ ด้านที่ 5 ได้แก่ การดำเนินกิจกรรมการส่งเสริมการตลาดสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าว อาทิการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้วยการการฝึกอบรม สัมมนาให้ความรู้แก่สมาชิกวิสาหกิจผู้ปลูกข้าว และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตภัณฑ์เบื้องต้น
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแผนพัฒนาเครือข่าย หรือ Cluster Roadmap เพื่อนำไปสู่การวางแผนการพัฒนาศักยภาพเชิงธุรกิจ โดยการมีส่วนร่วมของสมาชิกคลัสเตอร์ข้าวร้อยเอ็ด และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งผู้นำเครือข่ายและผู้ประสานงานเครือข่าย จนสามารถได้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคลัสเตอร์ข้าวร้อยเอ็ดของสมาชิกทั้ง 10 ราย ที่เข้าร่วมโครงการอย่างสมบูรณ์