- Details
- Category: อบจ.
- Published: Monday, 18 August 2014 09:57
- Hits: 6889
อบจ.ชัยนาทจับมือกลุ่มวังขนาย และนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จัดสัมมนาเรื่อง'อ้อยอินทรีย์ พร้อมผลักดันเกษตรอินทรีย์ นำร่อง ข้าว อ้อย ส้มโอ'
องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท ร่วมกับกลุ่มวังขนาย ผู้ผลิตน้ำตาลโลว์เคมีคอล และนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จัดสัมมนาเรื่อง “อ้อยอินทรีย์ดีทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภคน้ำตาล” ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ จ.ชัยนาทหันมาทำเกษตรอินทรีย์ หลีกเลี่ยงสารเคมีในการเพาะปลูก นายกอบจ.ชัยนาทย้ำ นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและรายได้แล้ว ยังช่วยแก้ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพเกษตรกรอีกด้วย พร้อมเสนอจุดยืนสร้างชัยนาทเป็น “ชัยนาทโมเดล เมืองเกษตรอินทรีย์” ในอนาคต
นายอนุสรณ์ นาคาศัย นายกองค์การบริหารส่วน จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า พื้นที่ จ.ชัยนาท ส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งดินและน้ำ เหมาะสำหรับทำการเกษตรอย่างมาก ประชากรส่วนใหญ่มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์จึงประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยปลูกพืชหลายอย่างทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และผลไม้ต่างๆ จนถือได้ว่าการเกษตรเป็นหัวใจสำคัญที่สร้างความเข้มแข็งให้กับ จ.ชัยนาท แต่ที่ผ่านมาบรรดาเกษตรกรมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีเป็นปุ๋ยในปริมาณสูง เพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นจำนวนมากตามความต้องการของตลาด
“การจัดทำโครงการเกษตรอินทรีย์นั้นถือเป็นทางออกหนึ่งที่มีความน่าสนใจ โดยที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือจากจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย ในการสนับสนุนและส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์กันอย่างเต็มที่ โดยมีการเปิดอบรมให้ความรู้ในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรทุกคนในจังหวัด รวมถึงยังได้ชักชวนจังหวัดอื่นให้เข้ามาร่วมด้วย โดยจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมในขณะนี้ยังมีไม่มากเท่าไรนัก โดยต้องอาศัยผู้นำในชุมชนที่มีอุดมการณ์ทางความคิดด้านเกษตรอินทรีย์ ในการใช้ความรู้ตลอดจนภูมิปัญญาในการชักพาชาวบ้านให้หันมาสนใจการทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง”
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า เป้าหมายวัตถุประสงค์ที่สำคัญของจังหวัดชัยนาทก็คือ ต้องการทำจังหวัดชัยนาทให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างของ การปลูกพืชอินทรีย์ เพื่อเป็นจังหวัดนำร่อง และสามารถให้จังหวัดอื่นมาศึกษาดูงานนำไปใช้ได้ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับการเปิดการแข่งขันประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
“เราต้องการให้ชัยนาทเป็นจังหวัดนำร่องด้านนี้โดยตรง ต่อไปก็จะเป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่นเข้ามาดูและศึกษางาน จังหวัดชัยนาทมีพื้นที่หลายพื้นที่ ที่เหมาะกับการปลูกอ้อย แต่เราไม่ได้ส่งเสริมให้ปลูกทุกอำเภอทุกพื้นที่ ในอนาคตเราจะมีการจัดโซนนิ่ง อย่างบางอำเภอนี่เขาปลูกข้าวดีอยู่แล้วก็ปลูกต่อไป แต่บางพื้นที่ปลูกข้าวไม่ได้ผลผลิตที่ดีนัก เนื่องจากมันแล้ง เราก็ต้องหาพืชทดแทน อ้อยถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากทั้งในปัจจุบันและอนาคต”นายกองค์การบริหารส่วน จ.ชัยนาทกล่าวในท้ายที่สุด
นางสาวธัญรักษ์ ณ วังขนาย ผู้อำนวยการกลุ่มประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการปลูกอ้อยอินทรีย์ของกลุ่มวังขนายนั้น ได้มีการส่งเสริมมาตั้งแต่ในปี 2549 ซึ่งมีการพัฒนาจนเกิดแนวคิดให้เป็นการทำน้ำตาลออร์แกนิค และยังได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการทำงานทุกระดับขั้นตอนอย่างถูกต้อง และได้ปฏิบัติตามแนวทางของสถาบันที่ให้มาตรฐานการรับรองทั้งภายใน และต่างประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากพบว่า ชาวไร่ได้นำสารเคมีมาใช้ในไร่อ้อยเพื่อปราบวัชพืชและแมลงศัตรูพืช ซึ่งอาจเป็นการสร้างผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและชาวไร่
ดังนั้น กลุ่มวังขนายจึงหาทางแก้ไขด้วยความคิดว่า ทำอย่างไรที่จะจับมือกับชาวไร่ แล้วหาวิธีลดการใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด หรือเลิกใช้อย่างสิ้นเชิง โดยทางกลุ่มวังขนายได้มีขั้นตอนการทำอ้อยอินทรีย์ 6 ขั้นตอน ดังนี้ 1)การคัดเลือก และปรับพื้นที่ 2)การวางแผนจัดการสภาวะแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ และอากาศ รวมถึงพืชกันชน 3)การปลูก และควบคุม ดูแล รักษา อาทิ การกำจัดแมลง วัชพืช 4)การบันทึกข้อมูล เพื่อตรวจสอบ 5)การเก็บเกี่ยว และ 6)การดูแล รักษาตออ้อย ที่จะสร้างผลผลิตรุ่นต่อไป
นางบุญเหลือ ทองรักษาวงศ์ เกษตรกรจาก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ผู้ประสบความสำเร็จจากการปลูกอ้อยอินทรีย์ เปิดเผยว่า ตนเริ่มปลูกอ้อยเมื่อปี 2532 โดยใช้สารเคมีทำให้มีปัญหาเรื่องสุขภาพ จึงเข้ารับคำปรึกษาและเข้าร่วมโครงการปลูกอ้อยอินทรีย์ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหารเพาะปลูกเพื่อหลีกหนีจากสารเคมีและรักษาสุขภาพตัว เองและประบสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นโดยการใช้ปุ๋ยคอกแทนปุ๋ยเคมี ผ่านไป2ปีจึงเริ่มเห็นผล ผลิตผลิตอ้อยที่ได้มีมาตรฐานระดับความหวานตามเกณฑ์ ผลผลิตมากขึ้น ซึ่งสามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำมา 3 ปีแล้วซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูก ต้องที่สุดในการเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบอินทรีย์