- Details
- Category: อบจ.
- Published: Saturday, 30 April 2022 09:36
- Hits: 7197
จุรินทร์ ลุยภูเก็ต 'มอบบ้านพอเพียงมอแกน' ย้ำเป้าหมายก้าวกระโดดทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงภายใน 3 ปี เพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านครัวเรือน
ภูเก็ต/ วันนี้ (29 เมษายน 65) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ และคณะ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อมอบบ้านมั่นคงให้ผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยและมีรายได้น้อย 98 ครัวเรือน จำนวน 2,009,000 บาท ย้ำเป้าหมายก้าวกระโดดทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงภายใน 3 ปี เพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านครัวเรือน
และยังได้มอบงบประมาณโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามัน ปี 2565 จำนวน 514,145,296 บาท แบ่งเป็น การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบท 458,265,646 บาท โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต55,883,650 บาท โดยมีผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตัวแทนพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนภาคใต้ และชาวชุมชนกว่า 200 คน เข้าร่วมงาน ณ ชุมชนมอแกนบ้านแหลมหลา ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
ชุมชนมอแกนบ้านแหลมหลา ประชากรประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์มอแกนอาศัยอยู่ในที่ดินราชพัสดุส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง ไม่มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและเป็นผู้มีรายได้น้อย ซึ่งตำบลไม้ขาวได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย จำนวน 58 ครัวเรือน ภายใต้โครงการบ้านพอเพียง จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. สังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวนเงิน 1,189,000 บาท
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบาย การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน สร้างชุมชนที่น่าอยู่ รวมทั้งการพัฒนาทักษะอาชีพ และพัฒนาพื้นที่เมืองแบบองค์รวม พร้อมที่จะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุนงบประมาณโครงการบ้านมั่นคง โครงการบ้านพอเพียงอย่างต่อเนื่อง และอีกหนึ่งโครงการของรัฐบาล
ตามมติคณะรัฐมนตรีสัญจรกลุ่มจังหวัดอันดามัน เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ได้แก่ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามัน มีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ คือ 1.) ทำงานแบบมีส่วนร่วม ใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง 2.) ทำงานโดยใช้ฐานข้อมูลเป็นเครื่องมือในการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ 3.) สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รักษากฎกติกาในการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยให้กับชุมชนจังหวัดชายฝั่งทะเล 21 จังหวัด 4.) เกิดความสำเร็จของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัย 4 จังหวัด 6 ตำบล 1,055 ครัวเรือน
ทั้งนี้ เพื่อสร้างพื้นที่รูปธรรมสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย 6 จังหวัด 29 อำเภอ 139 ตำบล 14,388 ครัวเรือน รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยกำหนดให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นนโยบายเร่งด่วน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579)
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ มีแผนที่จะเสนอผลการดำเนินงานและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัย กลุ่มจังหวัดอันดามัน ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2565 – 2569) ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการสนับสนุนแผนงานและงบประมาณ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ตามแผนเพื่อให้พี่น้องประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ตนเดินทางมาเยี่ยมพี่น้องชาวภูเก็ตในวันนี้ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ซึ่งมีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นเลขานุการ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เป็นหน่วยปฏิบัติ คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย หรืออยู่อาศัยในที่ดินที่ผิดกฎหมาย ได้มีโอกาสมีที่ดินและที่อยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณด้านสาธารณูปโภค เงินช่วยเหลือ และบริหารจัดการต่างๆ ดำเนินภายใต้โครงการบ้านมั่นคง
“โครงการบ้านมั่นคงดำเนินการต่อเนื่องมาทุกรัฐบาล แต่ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ไป เราตั้งเป้าหมายอย่างก้าวกระโดด จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เช่น โครงการบ้านมั่นคง บ้านพอเพียง การซ่อมแซมบ้านผู้ที่มีรายได้น้อยให้มั่นคงแข็งแรงขึ้น โดยจะทำเพิ่มเป็น 1,000,000 ครัวเรือน เป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้พี่น้องได้อยู่อาศัยในที่ดินถูกกฎหมาย มีบ้านที่มั่นคงแข็งแรง มีอนาคตและชีวิตที่ดีกว่าเดิม และที่สำคัญก็คือพี่น้องทุกชุมชนสามารถบริหารจัดการเองชุมชนของตนเองได้ โดยรัฐบาลจะเข้ามาสนับสนุนเรื่องอาชีพและความเป็นอยู่ของพี่น้องให้ดีขึ้น”รองนายกฯ กล่าวย้ำในตอนท้าย
นายบัญชา ธนูอินทร์ นายอำเภอถลาง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตมียุทธศาสตร์แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีมาตรฐานระดับโลก สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนสู่มาตรฐานสากล ตามนโยบายรัฐบาล ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox)’ซึ่งจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของไทยเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรก ในการต้อนรับนักเดินทางจากต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด – 19 ครบโดสแล้ว นอกจากพี่น้องชุมชนตำบลไม้ขาวทั้ง 58 ครัวเรือน ยังมีพี่น้องชุมชนจังหวัดภูเก็ตอีก 6 ตำบล 98 ครัวเรือน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการบ้านพอเพียง
รวมถึงพี่น้องชุมชนในกลุ่มจังหวัดอันดามัน (ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต สตูล ตรัง) ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีสัญจร กลุ่มจังหวัดอันดามัน ภายใต้ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามัน ซึ่งมีเป้าหมายสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยทั้ง 6 จังหวัด 29 อำเภอ 139 ตำบล 14,388 ครัวเรือน ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้เกิดจากความร่วมมือของขบวนองค์กรชุมชน หน่วยงานภาคี ภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่ ทำให้เกิดการสร้างความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อมชุมชน และสังคม ส่งผลถึงกลุ่มเปราะบางทั้ง เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา Covid-19 ให้ได้รับการช่วยเหลือ
นางจิ้ม วารี ตัวแทนชุมชนมอแกนแหลมหลา อาชีพชาวประมงชายฝั่ง อาศัยอยู่กับสามีและลูกรวม 9 คน สภาพบ้านเดิมชำรุดทรุดโทรม ฝนตกหลังคารั่ว หลังคามุงสังกะสีเก่าๆ เล่าความรู้สึกให้ฟังว่า “รู้สึกดีใจที่ได้บ้านหลังใหม่ ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาช่วยกันหางบมาให้ ถึงไม่สวยงามแต่ก็มั่นคงแข็งแรงขึ้น ขอบคุณคนที่มาช่วยซ่อมบ้านด้วย เพราะลำพังก็ไม่มีปัญญาที่จะหาเงินมาซ่อมเอง เพราะมีรายได้พอกินไปวันๆ เท่านั้น”
นายธนภณ เมืองเฉลิม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนสำนักงานภาคใต้ กล่าวว่า พอช.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบท โดยใช้กระบวนการสำรวจข้อมูลเป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน/ผู้เดือดร้อน และสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการหาแนวทางแก้ไขปัญหาและมาแลกเปลี่ยนนำเสนอข้อมูลชุมชน และวิเคราะห์ประเด็นปัญหา การพัฒนาหมู่บ้านของตัวเองและการพัฒนาร่วมกับท้องถิ่น ที่เป็นการสำรวจเพื่อทำแผนการพัฒนาที่จะนำไปสู่การจัดการตนเอง ที่เกิดการมีส่วนร่วมจากคนหลายฝ่าย มุ่งเน้นการสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนในพื้นที่ สร้างทีมงานของขบวนชุมชนให้มีความรู้ความสามารถ เป็นผู้ขับเคลื่อนงานด้วยขบวนชาวบ้านเป็นหลัก นำไปสู่การเสนอเป็นแผนร่วมของทั้งตำบล จังหวัด และกลุ่มจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและเครือข่ายองค์กรชุมชน
ส่วนการจัดทำแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้ดำเนินการภายใต้แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน Andaman Go Green มีประเด็นการพัฒนา 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านการพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน 2. ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 3. ด้านการจัดการเศรษฐกิจและทุนชุมชน 4. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต และ ด้านการจัดการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม แนวทางในการขับเคลื่อนเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย กำหนดให้มีการพัฒนาระบบข้อมูล ในการจัดทำผังที่ทำกินและที่อยู่อาศัยทุกมิติ การพัฒนากลไกความร่วมมือเพื่อการจัดการแบบองค์รวม และการพัฒนาข้อเสนอสิทธิชุมชนสู่นโยบายสาธารณะในการจัดการที่ทำกินและที่อยู่อาศัย
นางวารุณี สกุลรัตนธารา คณะทำงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันมีการขับเคลื่อนงานพัฒนาในนามขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดภูเก็ต ภายใต้ยุทธศาสตร์ภูเก็ตเกาะสวรรค์ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาประเด็นยุทธศาสตร์ 11 ประเด็น ซึ่งในช่วงสุดท้ายของงานสมัชชา ได้มีการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อระดมความเห็นต่อการพัฒนาประเด็นยุทธศาสตร์คือ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม การสร้างปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างมีส่วนร่วม การจัดการน้ำเพื่อการบริโภคอย่างยั่งยืน
การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างความมั่นคงในอาชีพรายได้ การสร้างความมั่นคงในระบบสวัสดิการสังคมอย่างทั่วถึง การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน การสร้างความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย การส่งเสริมอัตลักษณ์คนภูเก็ต การเสริมสร้างสุขภาวะภาคประชาชนอย่างมีส่วนร่วม และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน ส่วนโครงการบ้านพอเพียง ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดภูเก็ต มีเป้าหมาย ‘สร้างบ้าน สร้างความสุข สร้างความมั่นคง พัฒนาคุณภาพชีวิต อย่างมีศักดิ์ศรี มียุทธศาสตร์’ ทำให้ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกในการทำงาน สามารถเชื่อมโยงหน่วยงานท้องถิ่น/ภาคีพัฒนาสนับสนุนทรัพยากรในการพัฒนาที่อยู่อาศัย เกิดแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานระยะ 3 – 5 ปี ทั้งในระดับตำบลและจังหวัด
สำหรับ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามัน เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเกิดความั่นคงในการอยูอาศัยการดำรงชีวิต และเป็นกลไกที่สามารถในการจัดการตนเอง ในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมรวบรวมระบบฐานข้อมูลให้เกิดการยอมรับร่วมกันทุกฝ่ายบูรณาการแผน และงบประมาณ เกิดความร่วมกับหน่วยงานท้องที่/ท้องถิ่นความร่วมมือรัฐ/ท้องถิ่น/ชุมชน/ภาคี ทุกระดับ ในทุกมิติพัฒนา(เจ้าภาพร่วมในการพัฒนา) สร้างกระบวนการเรียนรู้ หนุนเสริมการทำงาน เสริมศักยภาพ สร้างรูปธรรมเชิงพื้นที่ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย