- Details
- Category: อบจ.
- Published: Sunday, 20 June 2021 08:34
- Hits: 7578
กรมโยธาธิการและผังเมือง ขอชี้แจงประเด็นข่าว 'คัดค้านการเปลี่ยนผังเมืองรวมจังหวัดชัยภูมิจากสีเขียวเป็นสีม่วง'
ตามที่ตัวแทนคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.) ภาคอีสาน อ่านแถลงการณ์คัดค้านมติคณะรัฐมนตรี กรณีการให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดชัยภูมิ พื้นที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์จากพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) เปลี่ยนผังเมืองให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม (สีม่วง) ที่เอื้อต่อนายทุนให้สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลเครือข่ายคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยอาจเกิดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นมลพิษสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งเป็นผลจากมลพิษการผลิตของโรงงานน้ำตาลฯ และอุตสาหกรรมผลิตหินขนาดใหญ่ จึงขอคัดค้านและเรียกร้องดังนี้
- ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีการเปลี่ยนผังเมืองที่รองรับอุตสาหกรรมน้ำตาลฯ และอุตสาหกรรมหินทันที
- ให้มีการเปิดเผยกระบวนการและขั้นตอนการให้ข้อมูลของกระบวนการประกาศเปลี่ยนผังเมืองรวมจังหวัดชัยภูมิ พ.ศ. ๒๕๕๘
นายอนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ขอชี้แจงประเด็นการคัดค้านการเปลี่ยนผังเมืองรวมจังหวัดชัยภูมิ พ.ศ. ๒๕๕๘ ดังนี้
กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดชัยภูมิ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกาศใช้บังคับ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ หลังจากประกาศใช้บังคับกฎกระทรวงฯแล้ว ปรากฏว่า สภาพการณ์ของจังหวัดชัยภูมิปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดไม่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ โดยสภาพการณ์ปัจจุบันมีการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมืองและชุมชนชนบท การขยายตัวของเศรษฐกิจฐานรากที่มาจากการเกษตร-อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากการเกษตร ทำให้การประกอบกิจการบางประเภทไม่สามารถดำเนินการได้ โดยสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดชัยภูมิมีหนังสือพร้อมบัญชีรายชื่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย จำนวนประมาณ ๒,๐๐๐ ราย ที่อยู่ในพื้นที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอหนองบัวแดง
ขอให้แก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดชัยภูมิ ให้สามารถก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายได้ เพื่อบรรเทาปัญหาการขนส่งที่มีต้นทุนสูง และโรงงานเดิมทั้งสองแห่งตั้งอยู่ในระยะทางเกินกว่า ๕๐ กิโลเมตร โดยมีประเด็นการขอแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดชัยภูมิ พ.ศ. ๒๕๕๘
ในการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) เฉพาะบริเวณหมายเลข ๒.๓ รวม ๒ ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ ๑ ขอเพิ่มเติมบัญชีท้ายกฎกระทรวงฯ
- เรื่องที่ ๑ เพิ่มเติมประเภทหรือชนิดโรงงานในโรงงานลำดับที่ ๑๑ คือ
(๓) การทำน้ำตาลทรายดิบ หรือการทำน้ำตาลทรายขาว
(๔) การทำน้ำตาลทรายดิบ หรือการทำน้ำตาลทรายขาว ให้บริสุทธิ์
- เรื่องที่ ๒ เพิ่มเติมลำดับโรงงาน
โรงงานลำดับที่ ๘๘ (๒) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน ซึ่งไม่ใช้ถ่านหินหรือนิวเคลียร์ในการผลิตพลังงาน
โรงงานลำดับที่ ๑๐๒ โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายไอน้ำ
ประเด็นที่ ๒ การขอแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับความสูงของอาคารในการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่น (จากเดิมกำหนดความสูงไม่เกิน ๑๒ เมตร) ให้สามารถดำเนินการหรือประกอบกิจการในอาคารที่มีความสูงเกิน ๑๒ เมตร
- โรงงานลำดับที่ ๑๑ (๓) และ (๔)
- โรงงานลำดับที่ ๘๘ (๒)
- โรงงานลำดับที่ ๑๐๒
ข้อเท็จจริง
ขั้นตอนดำเนินการในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดชัยภูมิ พ.ศ.๒๕๕๘ ตามมาตรา ๒๖/๑ แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘ ตามลำดับ ดังนี้
๑) ประชุมคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมจังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๐
๒) ประชุมเพื่อประกอบการให้ความเห็นกรมโยธาธิการและผังเมือง (ความเห็นกรมฯ) เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐
๓) ประชุมคณะอนุกรรมการผังเมืองเพื่อพิจารณาด้านผังเมือง เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
๔) ประชุมคณะกรรมการผังเมือง เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๑
๕) ปิดประกาศ / ประชาสัมพันธ์ทางวิทยุ ๗ วัน ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๑
๖) ประชุมชี้แจงรายละเอียดการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดชัยภูมิ พ.ศ. ๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ
๗) ปิดประกาศ ๓๐ วัน ระหว่างวันที่ ๑๖ สิงหาคม ถึง ๑๔ กันยายน ๒๕๖๑ เมื่อครบกำหนดการปิดประกาศฯ ปรากฏว่า ไม่มีผู้มีส่วนได้เสียแสดงข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร
๘) สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชัยภูมิ มีหนังสือแจ้งเวียนคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมฯ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ (เพื่อทราบครบกำหนดการปิดประกาศฯ ๓๐ วัน ปรากฏว่า ไม่มีผู้มีส่วนได้เสียแสดงข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร)
๙) ประชุมคณะอนุกรรมการผังเมืองเพื่อพิจารณาคำร้องฯ (เพื่อทราบ) เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๑ (แจ้งเพื่อทราบ ครบกำหนดการปิดประกาศฯ ๓๐ วัน ปรากฏว่า ไม่มีผู้มีส่วนได้เสียแสดงข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร)
๑๐) ประชุมคณะกรรมการผังเมือง (เพื่อทราบ) เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๑ (เพื่อทราบครบกำหนดการปิดประกาศฯ ๓๐ วัน ปรากฏว่า ไม่มีผู้มีส่วนได้เสียแสดงข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร)
๑๑) ประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๒
๑๒) เสนอร่างแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองจังหวัดชัยภูมิ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดชัยภูมิ พ.ศ. ๒๕๕๘) เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๒
๑๓) กระทรวงมหาดไทย ส่งร่างแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองจังหวัดชัยภูมิ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดชัยภูมิ พ.ศ. ๒๕๕๘) ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒
๑๔) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งร่างแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองจังหวัดชัยภูมิ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดชัยภูมิ พ.ศ. ๒๕๕๘) คืนกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้ว เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒ และเนื่องจากพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ประกาศใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษา
๑๕) คณะกรรมการผังเมืองมีมติเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๔ เห็นชอบให้ผังเมืองรวมต่างๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข ตามมาตรา ๒๖/๑ ที่อยู่ในขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยใช้บังคับต่อไป (เดิมออกเป็นกฎกระทรวง) ตามมาตรา ๑๑๐ แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๖๒ (เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ยกเลิกพระราชบัญญัติ
การผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘ และมีการเปลี่ยนรูปแบบการใช้บังคับกฎหมาย)
๑๖) เสนอร่างแก้ไขกฎกระทรวงฯ ให้คณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔
ผลของการแก้ไข
๑. การแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดชัยภูมิ พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นการแก้ไขข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและกิจการบางประเภท ในการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) เฉพาะบริเวณหมายเลข ๒.๓ ให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพการพัฒนาเกษตร อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการเกษตร และสอดคล้องกับนโยบายในการพัฒนาพื้นที่จังหวัด และกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบันของจังหวัดชัยภูมิ ให้สามารถรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเป็นการส่งเสริมด้านการเกษตรกรรม การปลูกพืชเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเกษตรต่อเนื่องที่เหมาะสมกับสภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่ของจังหวัดชัยภูมิ
๒. ในส่วนของการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทราย ก็จะต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง การให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลทรายในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งกำหนดให้เขตโรงงานน้ำตาลต้องมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่ได้รับใบอนุญาตไว้แล้วไม่น้อยกว่า ๕๐ กิโลเมตร โดยการวัดระยะเป็นเชิงเส้นตรง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ในจังหวัดเดียวกันก็ตาม
กำหนดต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๓. ในส่วนของโรงงานลำดับที่ ๘๘ (๒) การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนจะไม่อนุญาตให้ใช้ถ่านหินหรือนิวเคลียร์ในการผลิตพลังงาน ทั้งนี้ ในส่วนของภาคประชาชนที่กังวลว่าการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ทั้งด้านมลพิษ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพนั้น การที่จะสามารถดำเนินกิจการดังกล่าว ได้นั้น ต้องได้รับการอนุมัติและอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายอื่นๆ ที่ได้กำหนดไว้ด้วย เช่น การจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการอุตสาหกรรมประกอบกิจการเกี่ยวกับน้ำตาลทราย เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)การได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการโรงงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ