- Details
- Category: อบจ.
- Published: Thursday, 10 June 2021 12:11
- Hits: 1274
เลขาฯ สมช. ย้ำการสั่งซื้อวัคซีนของ อปท.ต้องเป็นไปตามแผน ศบค. หลังมีประกาศราชกิจจานุเบกษาปลดล็อก
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ได้ แต่ต้องเป็นไปตามแนวทางของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. และต้องดำเนินการผ่าน 5 หน่วยรัฐ หลังจากมีประกาศ ศบค. เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กำหนด 6 แนวทาง ปลดล็อก รพ.เอกชน - อปท. จัดหาวัคซีนได้ วานนี้(8 มิ.ย.)
พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศ ศบค. ดังกล่าวว่า หน่วยงานที่ได้รับการปลดล็อกซึ่งประกอบด้วย อปท. และโรงพยาบาลเอกชนและภาคเอกชนสามารถจัดซื้อวัคซีนได้จาก 5 หน่วยงานของรัฐ ประกอบด้วย 1)กรมควบคุมโรค 2)สถาบันวัคซีนแห่งชาติ 3)องค์การเภสัชกรรม 4)สภากาชาดไทย และ 5)สถาบันจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถสั่งตรงจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนได้ และเพื่อให้การใช้งบประมาณของประเทศเป็นไปอย่างคุ้มค่ามากที่สุดและต้องสอดคล้องกับแผน ศบค. และทุกหน่วยงานที่จะซื้อวัคซีน ต้องบูรณาการร่วมกันกับแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม"
พบสายพันธุ์อินเดีย ใน 10 จังหวัด สธ. ห่วงแซงหน้าสายพันธุ์อังกฤษในไทย
ฉีดวัคซีนทั่วประเทศวันแรกตามแผน พล.อ. ประยุทธ์ ลั่น "ทุกคนได้ฉีดแน่นอน"
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับผลข้างเคียงที่พึงระวัง
เปิดแผนกระจายวัคซีนก่อนเริ่มฉีดครั้งใหญ่ 7 มิ.ย.
ในส่วนของ อปท. การจัดซื้อจำเป็นต้องเป็นไปตามแผนงานของศบค. กำหนด เพราะ ศบค.ได้พิจารณาแผนการกระจายวัคซีนได้เหมาะสมแล้ว โดยพิจารณาจากสัดส่วนประชากร สถานการณ์การแพร่ระบาด เช่น จังหวัดใดที่สถานการณ์การแพร่ระบาดสูงเป็นพื้นที่เสี่ยง จะได้รับฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น และพื้นที่เศรษฐกิจ
"ดังนั้นแต่ละอปท.ที่จะซื้อจะต้องผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจึงนำมาเข้าศบค.อีกครั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้วทุกอปท.จะสามารถซื้อวัคซีนได้เองในทันที" เลขาธิการ สมช.กล่าว
วัคซีน
ที่มาของภาพ,THAI NEWS PIX
ในส่วนภาคเอกชนที่จะจัดซื้อวัคซีนไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาจากศบค. เพราะหน่วยงานที่นำเข้าวัคซีนจะเป็นผู้รายงานให้ศบค.รับทราบอยู่แล้ว และสามารถดำเนินการควบคู่กับการกระจายวัคซีนของศบค. เพราะการฉีดเป็นไปอย่างรวดเร็ว
เลขาธิการสมช. ยอมรับว่าปัญหาขณะนี้ คือไม่ทราบว่าคนไทย ที่ต้องการจะฉีดวัคซีน มีจำนวนเท่าใด ถ้าหากสั่งวัคซีนเข้ามาในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาในภายหลังไม่มีคนฉีด
4 ประเด็นสาระสำคัญของประกาศดังกล่าวมีอะไรบ้าง
ในการแถลงข่าวเพื่อรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของ ศบค. พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวอธิบายถึงแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ดังกล่าวดังนี้
1 ให้มีการจัดหาวัคซีนมีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอ อย่างน้อยให้ครอบคลุม 70% ของจำนวนประชากร
2 องค์การอาหารและยามีหน้าที่ประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ผลิตให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนอย่างคล่องตัว
3 กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐที่หน้าที่และอำนาจให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชน ร่วมกันจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนอย่างเร่งด่วน
4 สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มากถึง โดยสถานพยาบาลเอกชน และภาคเอกชนอาจจัดหาหรือขอรับการสนับสนุนวัคซีนจากหน่วยงานตามข้อ 3
THAI NEWS PIX
แผนกระจายวัคซีนเดือน มิ.ย. 64
6.96 ล้านโดส
ตลอดทั้งเดือน
สัปดาห์ที่ 1-2:3.54 ล้านโดส
- แอสตร้าเซนเนก้า:2.04 ล้านโดส
- ซิโนแวค:1.5 ล้านโดส
สัปดาห์ที่ 3 แอสตร้าเซนเนก้า:8.4 แสนโดส
สัปดาห์ที่ 4 แอสตร้าเซนเนก้า:2.58 ล้านโดส
ที่มา: ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 7 มิ.ย. 2564
"คำว่าเริ่มซื้อได้ขอให้ดูในข้อ 3 เพราะว่าหน่วยงานที่จัดหาได้ จะต้องเป็นการที่อปท. หรือเอกชนก็ตามซื้อจาก 5 หน่วยงานที่กำหนด...ไม่ได้หมายความว่าอปท.จะนำเข้าวัคซีนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยอปท.เอง" ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว
เคาะราคาวัคซีนซิโนฟาร์ม 888 บาท/โดส ส่วนโมเดอร์นาคาด 1,900 บาท/โดส
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กวันนี้ เกี่ยวกับประกาศข้อกำหนดผู้ขอรับการจัดสรร"วัคซีนตัวเลือก" ซิโนฟาร์ม ระยะที่ 1 โดยระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการรับวัคซีนซิโนฟาร์ม ราคาเข็มละ 888 บาท โดยอัตราดังกล่าวรวมค่าวัคซีน ค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษาพร้อมประกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากวัคซีนแล้ว แต่ไม่รวมค่าบริการของโรงพยาบาลและค่าบริการทางการแพทย์ที่ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาลที่ทางองค์กร / หน่วยงานติดต่อประสานเพื่อการบริการฉีดวัคซีน
ซิโนฟาร์ม
ที่มาของภาพ,THAI NEWS PIX
คำบรรยายภาพ,
เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ซ้าย) กับ รมว.สาธารณสุข ร่วมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา หลัง อย. ขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์ม
ส่วนแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนในระยะที่ 2 สำหรับบุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะเข้ารับการฉีดวัคซีนตัวเลือกนี้ จะประกาศให้ทราบต่อไป
ก่อนหน้านี้สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานว่า สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมาได้กำหนดราคากลางค่าบริการวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นาที่จะจัดซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรมในราคาเข็มละ 1,900 บาท หรือ หากฉีดครบโดส 2 ราคารวมจะเป็น 3,800 บาท (ซึ่งรวมค่าวัคซีนและค่าบริการของโรงพยาบาลแล้ว) และคาดว่าจะส่งมอบวัคซีนของโมเดอร์นาประมาณ เดือน ต.ค.นี้
ขวดวัคซีน
ที่มาของภาพ,REUTERS
คำบรรยายภาพ,
วัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทโมเดอร์นาได้รับการขึ้นทะเบียนโดย อย.ของไทยเมื่อวันที่ 13 พ.ค.
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นพ. เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และประธานกรรมการ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังว่า ราคาดังกล่าวเป็นเพียงราคาเบื้องต้นเท่านั้น และต้องรอให้องค์การเภสัชกรรมมีมติเห็นชอบราคาดังกล่าวเสียก่อน
ยอดฉีดวัคซีนปูพรมวันที่สองทะลุ 4.7 แสนโดส
พญ. อภิสมัย เปิดเผยว่าข้อมูลการเข้ารับบริการวัคซีนถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 8 มิ.ย. มีจำนวนทั้งสิ้น 472,128 โดส ซึ่งเป็นการฉีดในเข็มแรกถึง 428,128 ราย นอกจากนั้นเป็นการฉีดเข็มที่ 2 อีก 43,669 ราย ทำให้จนถึงขณะนี้มีอัตราการใช้วัคซีนที่จัดสรรไปแล้ว 69.3% ซึ่งจะมีการระจายส่วนที่เหลือต่อไป
นับตั้งแต่เริ่มมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อ 28 ก.พ.ไทยมียอดสะสมการฉีดไปแล้ว 5,107,069 โดส ซึ่งกว่า 3,672,372 เป็นการฉีดในเข็มแรก
ยอดฉีดวัคซีนปูพรมวันที่สองทะลุ 4.7 แสนโดส
ที่มาของภาพ,ศบค.
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่า ข้อมูลจนถึงวันนี้ (9 มิ.ย.) มีการรับรายงานผู้เสียชีวิตภายหลังการฉีดวัคซีนจำนวน 27 ราย โดยในนี้มี 12 ราย ที่ได้รับการพิจารณาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว แต่ยังไม่มีรายใดที่สรุปว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน
โดยนพ.เฉวตสรร ชี้แจงว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ที่พบเป็นเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ทั้งกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 8 ราย รวมถึงลิ่มเลือดอุดตันในปอด เลือดออกในช่องท้อง และอื่น ๆ
"12 รายมีการสรุปสาเหตุชัดเจนแล้วนะครับ ว่าทุกรายมีสาเหตุของการเสียชีวิตที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของวัคซีน ก็ขอให้พี่น้องประชาชนได้มั่นใจถึงความปลอดภัยของวัคซีน"
ส่วนผู้เสียชีวิตอีก 15 รายยังอยู่ระหว่างการสอบสวน และรอผลการชันสูตรพลิกศพ
สถานการณ์ติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 24 ชม.
สำหรับ สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของ ศบค. พญ.อภิสมัย กล่าวว่า พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 2,680 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,389 ราย เรือนจำ 280 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 185,228 ราย
หากนับเฉพาะระลอกเม.ย. 64 พบผู้ติดเชื้อ 156,365 ราย โดยในวันนี้มีการพบผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 932 ราย
ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 47,644 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,286 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 355 ราย
จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (1,095 ราย) สมุทรปราการ (491 ราย) นนทบุรี (32 ราย) ประจวบคีรีขันธ์ (91 ราย) และปทุมธานี (61 ราย)