- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Tuesday, 02 January 2018 23:14
- Hits: 10592
รัฐบาลย้ำผ่อนปรนแรงงานต่างด้าวพิสูจน์สัญชาติออกไปถึง 30 มิ.ย.61 วอนทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎกติกา
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ได้ผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศและทำงานได้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.60 โดยแรงงานต่างด้าวต้องพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น รัฐบาลรับทราบถึงความจำเป็นที่จะต้องผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวราว 900,000 คน ที่กำลังดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแต่ยังไม่แล้วเสร็จ และแรงงานที่ไม่มีเอกสารใดๆ ให้ได้ขึ้นทะเบียนประวัติ จัดทำฐานข้อมูล และพิสูจน์สัญชาติให้เรียบร้อย จึงได้ขยายเวลาดำเนินการออกไปอีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.61 ตามมติ ครม.เมื่อ 19 ธ.ค.60 และขณะนี้ คสช.อยู่ระหว่างการพิจารณาใช้ มาตรา 44 ในการผ่อนผัน
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยขอให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวทำความเข้าใจกฎกติกาที่ภาครัฐได้ชี้แจง ไม่เกิดความตื่นตระหนก และดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ให้เรียบร้อย
สำหรับ แนวทางการดำเนินงานนับจากนี้ แต่ละจังหวัดจะจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงาน เพื่อทำหน้าที่จัดตั้งและกำกับดูแลการดำเนินการของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ให้บรรลุเป้าหมาย
โดยแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติกว่า 900,000 คน ต้องไปขึ้นทะเบียนประวัติจัดทำฐานข้อมูล ณ ศูนย์ OSS ในพื้นที่ที่แรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ภายในวันที่ 31 มี.ค.61 และไปพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย.61 ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารใด ๆ ให้นายจ้างพาไปขึ้นทะเบียนประวัติและจัดทำฐานข้อมูลภายใน 30 วัน นับจากวันที่ รมว.แรงงาน กำหนด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด จากนั้นให้พิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย.61 เช่นกัน
อินโฟเควสท์
ปลัดแรงงานย้ำเส้นตายหลัง 1 มี.ค.61 ไทยต้องปลอดแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายว่า รัฐบาลตั้งใจอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยตั้งเป้าหมายหลังวันที่ 31 มี.ค.61 จะไม่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยแรงงานต่างด้าวทุกคนจะต้องได้รับการเข้าสู่ระบบการพิสูจน์ตัวตน และได้รับสัญชาติจากประเทศต้นทางซึ่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เมื่อแรงงานต่างด้าวได้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้องแล้วก็จะสามารถให้ความคุ้มครองตามกฎหมายไทยได้ รวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศด้วย เพื่อไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองแรงงานประมง เนื่องจากสภาพการทำงานในปัจจุบันค่อนข้างล่อแหลม ซึ่งกระทรวงแรงงานจะให้การดูแลแรงงานอย่างดีที่สุด อาทิ ให้มีการทำสัญญาการจ้างงาน การจ่ายค่าจ้างแรงงานประมงผ่านบัญชีธนาคาร รวมทั้งกำหนดสวัสดิการบนเรือที่ควรจะได้รับเป็นต้น
การดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลไทย ไม่เพียงแค่กระทรวงแรงงานหน่วยเดียวยังมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกัน ได้แก่ กรมประมง กรมเจ้าท่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นความพยายามที่ต้องการปลด Tier เพื่อลดข้อจำกัดด้านสิทธิในการส่งออกสินค้าประมงของไทยให้ราบรื่นและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยมุ่งเน้นขับเคลื่อนและบูรณาการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งในด้านการบังคับใช้นั้นได้บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัดโดยให้น้ำหนักกับการตรวจแรงงานกลุ่มเสี่ยงในรูปแบบทีมสหวิชาชีพ นอกจากนี้ยังได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยเน้นการจัดระเบียบ ป้องกัน เยียวยา บังคับใช้กฎหมาย ให้ความคุ้มครอง อำนวยความสะดวกนายจ้างและแรงงาน ส่งเสริมความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกกฎหมายลำดับรองอีก 10 ฉบับ
อินโฟเควสท์