- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Thursday, 20 October 2016 11:08
- Hits: 6430
ก.แรงงาน จับมือ มูลนิธิซิตี้ - คีนัน ผุดไอเดียพัฒน'แอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน' ตั้งเป้าเสริมความรู้การเงินให้กลุ่มแรงงาน
ก.แรงงาน จับมือ มูลนิธิซิตี้-คีนัน ผุดไอเดียพัฒนา'แอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน' ตั้งเป้าเสริมความรู้การเงินให้กลุ่มแรงงาน มุ่งแก้ปัญหาหนี้ทั้งในและนอกระบบ
กระทรวงแรงงานเดินหน้าร่วมมือมูลนิธิซิตี้และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ภายใต้โครงการคนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน พัฒนาแอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน และฝึกอบรมบริหารการเงินกลุ่มแรงงาน ตั้งเป้าแก้ปัญหาหนี้สินด้วยการเสริมแกร่งองค์ความรู้ทางการเงินให้แก่แรงงานไทย เพื่อแก้ปัญหาการก่อหนี้ทั้งในและนอกระบบ
นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ในฐานะผู้แทนจากมูลนิธิซิตี้ กล่าวว่า การพัฒนาแอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน เป็นผลสำเร็จที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ "คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน" ที่มูลนิธิซิตี้และสถาบันคีนันแห่งเอเซียดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี ด้วยจุดเริ่มต้นจากมูลนิธิซิตี้ เล็งเห็นว่า ทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) นับเป็นทักษะชีวิตพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 อีกทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากภาระหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เหตุสำคัญเพราะประชาชนขาดความรู้และทักษะทางการเงิน จำเป็นต้องเสริมสร้างทักษะการเงินเร่งด่วน
โครงการฯ จึงเริ่มทำการวิจัยค้นคว้าปัญหาหนี้สินและทางออกให้กับ 3 กลุ่มเสี่ยงหลัก ได้แก่ กลุ่มแรงงาน - กลุ่มเกษตรกร - กลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมถึงสร้างเครือข่ายพันธมิตร และนำเครื่องมือการเรียนรู้ทางการเงินที่เหมาะสมกับกลุ่มต่างๆ ไปประยุกต์ใช้งานจริง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อมุ่งสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารการเงินส่วนบุคคลในประเทศไทย
ทั้งนี้ หลังดำเนินงานครบ 3 ปี ก็พบว่า หัวใจสำคัญของปัญหาหนี้สินคนไทย คือ การขาดความรู้ความเข้าใจทางการเงิน โดยที่ผ่านมาการให้ความรู้ทางการเงินมักถูกผนวกย่อยกับหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในรูปแบบต่างกันและมีความทับซ้อนกัน นอกจากนี้ ภาครัฐควรวางยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้เป็นวาระแห่งชาติและร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายไปสู่แผนปฎิบัติการให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
"กลุ่มนักเรียน นักศึกษา จะมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนาเนื้อหาแทรกในหลักสูตร ส่วนกลุ่มเกษตรกร จะมีธนาคารของรัฐให้ความรู้การจัดทำบัญชีครัวเรือน ถือว่าสองกลุ่มนี้มีความคืบหน้าตามลำดับ ขณะที่กลุ่มแรงงานแม้จะเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด หากยังไม่มีหน่วยงานใดเป็นหลัก จึงเป็นเหตุให้โครงการฯ ร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ผลักดันนโยบายสร้างการเรียนรู้ทางการเงินที่เป็นรูปธรรม เช่น แอพพลิเคชั่นฉลาดคิด เรื่องเงิน จนเป็นผลสำเร็จ" นางวีระอนงค์ กล่าว
ขณะที่ คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ขยายความว่า "แอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน" ถูกพัฒนาขึ้นโดยมีสาระสำคัญ 2 ส่วน คือ 1. ฉลาดคิดเรื่องเงิน ชุดความรู้การบริหารการเงินส่วนบุคคล แบบทดสอบ ตลอดจนเครื่องคำนวณทางการเงิน ภายใต้ 4 โมดูลย่อย ได้แก่ 1) การตั้งเป้าหมายทางการเงิน 2) การออมอย่างมีประสิทธิภาพ 3) การใช้จ่าย 4) การบริหารหนี้ 2. เกมครอบครัวหรรษา ซึ่งออกแบบตัวละครให้สอดคล้องกับสภาพชีวิตจริงแรงงาน ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อาทิ การซื้อหวย ซื้อประกัน ทำงานโอที เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ฯลฯ ซึ่งผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง Google Play และ App Store
นอกจากนี้ สถาบันคีนันฯ ยังได้ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และองค์กรลูกจ้างในระดับต่างๆ จัดฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารการเงินสำหรับกลุ่มแรงงาน และวางแนวทางจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในโรงงาน เพื่อส่งเสริมให้มีการออมอย่างครบวงจรด้วย
ด้าน คุณวรานนท์ ปีติวรรณ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ภายใต้การกำกับโดยกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมมือกับมูลนิธิซิตี้และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ในโครงการ "คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน" เพื่อหาแนวทางสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเงิน แก้ไขปัญหาหนี้สินให้กลุ่มแรงงานในและนอกระบบ กระทรวงแรงงานมีพันธกิจที่จะพัฒนากำลังแรงงานให้มีศักยภาพสูงและสอดคล้องต่อความต้องการของภาคเศรษฐกิจ เล็งเห็นว่าเศรษฐกิจครัวเรือนของแรงงานโดยเฉพาะการบริหารการเงินส่วนบุคคล มีผลโดยตรงต่อผลิตภาพของแรงงาน ดังนั้นจึงได้ร่วมกับมูลนิธิซิตี้และสถาบันคีนันแห่งเอเชียพัฒนาวิธีสร้างการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์เทรนนิ่ง ด้วย "แอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน" ที่มีทั้งชุดความรู้ทางการเงินและเกมออนไลน์ สอดคล้องกับพฤติกรรมแรงงานยุคใหม่ พร้อมมีแผนที่จะบรรจุหลักสูตรฝึกอบรมการบริหารการเงินให้กลุ่มแรงงาน โดยมีกระทรวงแรงงานเป็นผู้รับผิดชอบ
กลุ่มแรงงานในและนอกระบบทั่วประเทศ มีประมาณ 38.4 ล้านคน มีความรู้ทางการเงินอยู่ในระดับกลางและต่ำถึงร้อยละ 83 นอกจากนี้กลุ่มแรงงานยุคใหม่ที่มีอายุระหว่าง 25 - 35 ปี มีอัตราการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนความสะดวกในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ทำให้แรงงานยังประสบปัญหาด้านการชำระหนี้ ถึงแม้ว่าแรงงานจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างมั่นคงเมื่อเทียบกับกลุ่มเกษตรกร
กระทรวงฯ คาดหวังว่า แอพฯ นี้จะช่วยเพิ่มความรู้และทักษะด้านการเงินที่กลุ่มแรงงานยุคใหม่สามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ปลูกฝังพฤติกรรมการบริหารจัดการการเงินที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป" รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว