- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Sunday, 08 May 2016 15:06
- Hits: 9388
ชงมาตรฐานกำหนดค่าแรง ก.อุตฯชูแผนงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
บ้านเมือง : เอกชนเสนอให้มีมาตรฐานการกำหนดค่าแรงควรให้ในแต่ละภูมิภาคเป็นผู้กำหนด ระบุหวังสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ขณะที่ ก.อุตฯ ชงแผนงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทุ่มงบ/โครงการกว่าครึ่งพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า การกำหนดค่าแรงงานควรมีมาตรฐานที่เห็นตรงกัน โปร่งใส และชัดเจน เพราะจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศในระยะยาว เพื่อจะสามารถคำนวณทิศทางค่าแรงว่าจะมีอัตราการปรับขึ้นขนาดไหน และควรพิจารณาควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภาพของแรงงานด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญการแข่งขันด้านแรงงานจากทั้งประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า ทำให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเหล่านี้ และต้องแข่งขันกับประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่า ที่มีเทคโนโลยี การพลิตที่ดีกว่าไทย นอกจากนี้ยังเห็นว่า การขึ้นค่าแรงไม่ควรกำหนดอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ควรให้ในแต่ละภูมิภาคเป็นผู้กำหนด เพราะมีสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ และ ปัจจัยที่กระทบแตกต่างกัน
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแผนงานในภารกิจหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ซึ่งส่งให้ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รวบรวมนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) โดยแผนงานของกระทรวงฯ ที่เสนอไปแบ่งเป็น 4 ช่วง โดยแต่ละช่วงมีระยะ 5 ปี ซึ่งได้ระบุระดับความสำเร็จของแต่ละช่วงเป็นลำดับขั้น เช่น แผนงานที่มีจำนวนโครงการและงบประมาณมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 50 นั่นคือ แผนงานการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เป้าหมายในระยะที่ 1 (พ.ศ.2560-2564) คือ พัฒนาขีดความสามารถและส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมศักยภาพให้ลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ระยะที่2 (พ.ศ.2565-2569) ขยายเครือข่ายการผลิตสู่ต่างประเทศและเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการผลิตในภูมิภาค ระยะที่ 3 (พ.ศ.2570-2574) อุตสาหกรรมศักยภาพเป็นที่ยอมรับในภูมิภาค ระยะที่ 4 (พ.ศ.2575-2579) อุตสาหกรรมศักยภาพก้าวสู่การผลิตชั้นนำของโลกและเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล
นอกจากนี้ ยังกำหนดเป้าหมายของอุตสาหกรรมศักยภาพฯ ที่ภาครัฐส่งเสริมเป็นอุตสาหกรรมอนาคตของไทย จำนวน 12 สาขา ประกอบด้วย (1) อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ (2) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (3) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (4) อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (5) อุตสาหกรรมเกษตร แปรรูป (6) อุตสาหกรรมเหล็กและโลหะการ (7) อุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ (8) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (9) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม (10) อุตสาหกรรมการบินและโลจิส ติกส์ (11) อุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และ (12) อุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งทั้ง 12 สาขาดังกล่าวจะมีโครงการและงบประมาณสนับสนุน
โดยแผนงานส่วนใหญ่ร้อยละ 82 (จำนวน 42 โครงการ) จะตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถการแข่งขัน โดยมี 6 แผนงานหลัก ส่วนใหญ่มุ่งเน้นในเรื่องแผนงานการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต รองลงมาคือ 2.แผนงานยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก เป้าหมายในช่วงระยะ 5 ปีแรกนี้คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม 3.แผนงานการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม มีการตั้งเป้าหมายผลิตภาพการผลิตรวม/ผลิตภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องสูงขึ้นประมาณ 3% ต่อปี และ 5% ต่อปีตามลำดับ และความสำเร็จของการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายความร่วมมือ ที่จะช่วยลดต้นทุน/สร้างมูลค่าเพิ่มได้
4.แผนงานยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางมาตรฐานในอาเซียน เป้าหมายในช่วงแรกเป็นการโครงสร้างพื้นฐานด้านการตรวจสอบรับรองอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เพียงพอต่อความต้องการ และระบบการรับรองมาตรฐานของไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล 5.แผนงานการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เป้าหมายช่วงแรกคือมีพื้นที่รองรับจำนวน 5 แห่ง และ 6.แผนงานการยกระดับการบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรม เป้าหมายลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมูลค่าไม่น้อยกว่า 12,500 ล้านบาท
"โครงการของกระทรวงฯ ต่อจากนี้ ได้มีการบูรณาการการทำงานกับภาคเอกชน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตามนโยบายประชารัฐ ซึ่งคำนึงถึงความเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ระดับภูมิภาค จังหวัด และลงสู่ท้องถิ่น โดยมีการทบทวนแผนงานเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว นอกจากนี้ แผนงานพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ส่งไปตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (จำนวน 3 โครงการ) คือแผนงานพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสู่การเติบโตที่ยั่งยืน เป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ (จำนวน 6 โครงการ) คือแผนงานการพัฒนาระบบบริหารจัดการ ที่ต้องพัฒนาบุคลากรของกระทรวงฯ และปรับโครงสร้างหน่วยงานในสังกัดให้มีประสิทธิภาพ" นายอาทิตย์ กล่าว