- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Thursday, 05 May 2016 14:38
- Hits: 4886
รายงานพิเศษ : นายจ้างนำแรงงาน 3 สัญชาติเข้ารายงานตัวคึกคักย้ำ 3 ล้านคนต้องต่อใบอนุญาตใน120 วัน
แนวหน้า : ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเปิดให้ต่อใบอนุญาตทำงานในวันแรก เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในศูนย์การค้าไอที สแควร์ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ มีนายจ้างและสถานประกอบการนำลูกจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา เมียนมา และลาว ที่เคยมีใบอนุญาติทำงาน บัตรสีชมพู แต่หมดอายุยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานในวันแรกประมาณ 700 คน มี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน และเอกอัครราชทูตกัมพูชา เมียนมา และลาว ประจำประเทศไทย เข้าตรวจเยี่ยม การทำงานและให้คำแนะนำในการปฎิบัติงานขั้นตอน การยื่นเอกสารหลักฐาน ตรวจสอบ บันทึกข้อมูล ถ่ายรูป ออกบัตรสีชมพู โดยแรงงานชาวกัมพูชาได้รับบัตรเป็น คนแรกในเวลา 11.00 น.
พล.อ.ศิริชัย กล่าวว่า การดำเนินงานในวันแรกอาจมีติดขัดบ้าง แต่เป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ทั้งนายจ้าง และลูกจ้างต่างด้าวพอใจ ทีได้รับความสะดวก เชื่อว่าหากมาตรการควบคุมทำได้ดี ต่อไปนี้ปัญหาต่างๆ ที่เคยมี เช่น บัตรสีชมพูปลอมจะหมดไป สำหรับแรงงาน 3 สัญชาติ ที่ให้จดทะเบียนเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2559 ที่เห็นชอบการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลัง วันที่ 31 มี.ค. โดยการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เคยมีใบอนุญาตทำงาน มารายงานตัวทำบัตรใหม่ภายใน 120 วัน ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-29 ก.ค. โดยจะเป็นกลุ่มเก่าซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่จดทะเบียนมีบัตรสีชมพูตามนโยบาย คสช. เมื่อปี 2557 กลุ่มที่มีเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้จากการตรวจสัญชาติ หรือพิสูจน์สัญชาติ รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี ที่มีเอกสารหนังสือเดินทางชั่วคราว เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง และเอกสารรับรองบุคคล รวมประมาณ 3 ล้านคน ในเวลา 120 วัน ขอให้นายจ้างนำลูกจ้างเข้ามาทำให้ถูกต้อง หากพ้นกำหนดจะดำเนินการเอาผิดอย่างเด็ดขด
ด้านนายอารักษ์ กล่าวว่า นายจ้างจะต้องนำแรงงานต่างด้าวไปตรวจสุขภาพ ทำประกันสุขภาพที่ โรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ชำระค่าธรรมเนียม มี่จุดบริการชำระเงิน (Counter Service) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 แล้วนำใบรับรองแพทย์และบัตรสีชมพู หรือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้ไปชำระค่าธรรมเนียมทั้งสิ้น 1,900 บาท แบ่งเป็นค่ายื่นคำขออนุญาตทำงาน จำนวน 100 บาท ค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน 2 ปี จำนวน 1,800 บาท กรณีชำระค่าบริการผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส จะเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม 10 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน จากนั้นนำแรงงานต่างด้าวไปศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) ตามแต่ละพื้นที่กำหนด โดยนำเอกสารบัตรสีชมพู หรือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้/ ใบเสร็จรับเงินชำระค่าธรรมเนียม/ใบรับรองแพทย์/ใบนัด และคำขออนุญาตทำงาน ตท.8 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรับรายงานตัวและจัดทำบัตรใหม่ให้ โดยจะทำงานได้จนถึง 31 มี.ค. 2561