WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

TDRIข้อควรพิจารณาในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2559

รศ.ดร. ยงยุทธ  แฉล้มวงษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

    เมื่อใกล้ถึงวันแรงงานก็มีเสียงเรียกร้องจากตัวแทนภาคแรงงานขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ(ตามสัญญา)อีกแล้วครับคำถามก็คือถึงเวลาที่ค่าจ้างของลูกจ้างเอกชนหลังจากแช่แข็งมาแล้ว 3 ปีควรจะขึ้นได้หรือยังที่จริงคงยังจำกันได้ว่าคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติได้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ตั้งแต่ต้นปี 2556 หลังจากทดลองขึ้นเฉพาะ 7 จังหวัดที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีเมื่อกลางปี 2555  โดยขอแช่แข็งค่าจ้างขั้นต่ำ ไปอีก 3ปี  แต่ถึงแม้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่ค่าจ้างของแรงงานก็ยังเพิ่มอยู่ดีตามการขึ้นค่าจ้างประจำปี เช่น

     จากข้อมูลการสำรวจการมีงานทำของประชากรไตรมาส 3 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าค่าจ้างเฉลี่ยจะยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะช่วงปี 2556 ถึง 2557 เพิ่มขึ้นถึง 11.5% สำหรับแรงงานโดยทุกกลุ่มอายุ ขณะที่แรงงานวัย 20-24 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานทำงานได้ไม่นาน  เงินเดือนเพิ่มขึ้น 9.7% เช่นกัน สาเหตุที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงทั้งแรงงานโดยรวมและแรงงานใหม่ ก็เนื่องจากสถานประกอบการจำนวนมากยังขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้แรงงานแรกเข้ายังไม่ครบ จึงทยอยปรับขึ้นค่าจ้างค่อนข้างมาก

       อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาค่าจ้างเฉลี่ยของปี 2557 ถึง 2558 หลังสิ้นสุดข้อตกลงแช่แข็งค่าจ้างขั้นต่ำจะพบว่าค่าจ้างกลับมาสะท้อนความเป็นจริงของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผลก็คือ ในภาพรวมทุกอายุค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 1.7% และกลุ่มแรงงานใหม่อายุ 20-24 ปี เพิ่มขึ้นเพียง 0.7% เท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาจากกลุ่มอายุ 15-19 ปี บางส่วนยังทำงานไม่เต็มที่ตามกฎหมาย ทำให้ค่าจ้างรายวันเฉลี่ยยังต่ำกว่า 300 บาท เนื่องจากใช้เงินเดือนหารด้วย 26 วันเหมือนกับกลุ่มอายุอื่นๆ

     สิ่งที่พอจะเห็นได้จากข้อมูลชุดนี้คือ ค่าจ้างปี 2556-57 ยังเพิ่มขึ้นถึง 8.3% เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มอายุอื่นๆ แม้แต่ปี 2557-58 อัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามกติกาเดิม คือ จะไม่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจนกว่าจะถึงปี 2559 อย่างไรก็ตาม วันแรงงานปี 2558 จนถึงปลายปี 2558 กลุ่มตัวแทนสหภาพทางเลือกเคยขอให้ขึ้นค่าจ้างเป็น 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ตามเงื่อนไขเดิมตั้งแต่ต้นปี 2559 แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลผ่านคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติเมื่อต้นปี 2559 ขอให้ชะลอการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานแรกเข้า เนื่องจากสาเหตุหลักๆ มาจากสภาพทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการส่งออกและการขยายตัวของ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำ กำลังผลิตด้านอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 60% เศษเท่านั้นเป็นต้น (ดูตารางที่ 1 ประกอบ)

ตารางที่ 1   ค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างเอกชน

ค่าจ้างของลูกจ้างเอกชน
รวมทุกอายุ บาท/เดือน บาท/วัน Y-O-Y (%)
2556 10,539 418 11.5
2557 11,755 452 1.7
2558 11,956 460
อายุ 20-24 ปี
2556 8,363 321 -
2557 9,153 352 9.4
2558 9,221 355 0.7
อายุ 15-19 ปี
2556 6,511 250 -
2557 7,052 271 8.3
2558 7,075 272 0.3

ที่มา: NSO การสำรวจการมีงานทำของประชากรไตรมาส3

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 มีข้อเสนอจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ควรพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-7% แต่ให้ขึ้นไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่

จากเหตุผลดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องพิจารณากันอย่างจริงจังว่าถึงเวลาที่ต้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือยังโดยต้องพิจารณาปัจจัยด้านบวกและด้านลบให้รอบคอบก่อนจะพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้ง ดังนี้

ปัจจัยด้านบวก ปัจจัยด้านลบ
1. แรงงานมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น กระตุ้นการบริโภคลูกจ้างเอกชน (เป็นไปตามสัญญาที่ทางราชการรับปากว่าจะรับพิจารณาเมื่อครบ 3 ปี) อาจจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมถ้านายจ้างรับได้

1. เป็นภาระของนายจ้างถึงแม้แรงงานแรกเข้าอาจจะยังไม่มากเนื่องจากการผลิตชะลอตัว แต่จะมีผลกระทบต่อต้นทุนค่าแรงงานของแรงงานเดิมพอควรที่ต้องขึ้นหนีไปด้วย

- กระทบความสามารถในการแข่งขันของนายจ้างที่อยู่ในธุรกิจส่งออกซึ่งขีดความสามารถค่อนข้างต่ำ

- กระทบ microenterprises ซึ่งยังปรับตัวไม่ได้บางส่วนยังมีอยู่อาจจะต้องปิดกิจการ

2. อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจนถึงติดลบการขึ้นค่าจ้างจึงไม่กระทบเงินเฟ้อ
3. ชดเชยค่าครองชีพ ซึ่งน่าจะเพิ่มขึ้นทุกปี ถึงแม้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำถูก แช่แข็งอยู่ถึง 3 ปี (ประเด็นอยู่ที่ว่าค่าจ้างขึ้นเฉลี่ย 19% ในปี 2556 ประมาณ20% ใน 2557 และ 9.4% ในปี 2558 ได้ชดเชยค่าจ้างที่เคยตาม productivity ไม่ทัน ในช่วงก่อนที่จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทไปหรือยัง คำตอบ น่าจะชดเชยไปแล้วและยังเผื่อการแช่แข็งค่าจ้าง 2-3 ปีที่ผ่านมาไปแล้วอีกด้วย

2. ราคาสินค้าอุปโภค/บริโภค ที่อยู่นอกข่ายควบคุมของรัฐอาจจะเพิ่มมากขึ้น(เพียงได้ข่าวว่าจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ)และไม่มีใครจะแก้ปัญหาการฉวยโอกาสนี้ได้จนถึงทุกวันนี้

4. อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำคงเดือดร้อนไม่มากถ้าจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 3. อาจจะมีผลส่งต่อไปถึงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ถ้าขึ้นค่าจ้างเท่ากันทุกจังหวั
4. เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงถดถอยกำลังจะฟื้นตัวให้เวลาอีกหน่อยก็น่าจะเกิดผลดีในระยะยาว 
5. เราช่วยคนที่เป็นแรงงานในระบบ 9 ล้านคน แต่ผลกระทบไปถึงแรงงานนอกระบบจำนวนมากกว่า 20 ล้านคน ต้องพลอยรับกรรมกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามไปด้วย
6. ผู้ประกอบการที่แข็งแรงขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากๆอาจจะเป็นการเร่งให้มีการย้ายฐานการผลิตเร็วขึ้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อพิจารณาจากข้อดีข้อเสียข้างต้นก็พอจะตัดสินใจได้ว่า

1.        สำหรับปี 2559 เห็นด้วยบางส่วนกับข้อเสนอของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่จะให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 5-7% แต่ไม่ขึ้นทั่วประเทศ กล่าวคือ เห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแต่ผู้เขียนต้องการให้ขึ้นเพียง 7 จังหวัดที่เคยขึ้นไปเมื่อกลางปี 2555 ก่อนเช่น 15 บาท แล้วอาศัยข้อมูลของการสำรวจของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน (คณะกรรมการค่าจ้าง) พิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดที่มีค่าครองชีพสูง เช่น จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของต่างชาติมากๆ นอกเหนือจาก “ภูเก็ต” เช่น พัทยา (ชลบุรี) และเชียงใหม่ เป็นต้นให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามค่าครองชีพได้แต่ต้องปรึกษาคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดด้วย

2.        สำหรับปี 2560 คณะกรรมการค่าจ้างก็พิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปเลยโดยอัตโนมัติจากฐานค่าจ้างเดิมของปี 2559 เช่น จังหวัดมุกดาหารมีดัชนีค่าครองชีพ 3% จากฐาน 300 บาทค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ก็คือ 309 บาท

3.        สถานประกอบการตั้งแต่ ขนาดกลางและใหญ่ทุกแห่งกฎหมายต้องบังคับให้มีโครงสร้างค่าจ้างตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไปเพื่อมิให้สถานประกอบการเอาเปรียบลูกจ้างโดยอาศัยค่าจ้างขั้นต่ำเป็นบรรทัดฐานในการขึ้นค่าจ้างประจำปี

     ข้อเสนอที่กล่าวมามีเจตนารมณ์แต่เพียงต้องการให้พิจารณาปัจจัยแวดล้อมตามกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำให้ครบถ้วนรอบคอบทุกคนทราบดีว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่บนพื้นฐานของไตรภาคีซึ่งถ้าไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกทุกฝ่ายเจรจาอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เชื่อถือได้เหมือนกันเคารพในศักดิ์ศรีซึ่งกันและกันรับรองได้ว่าปี 2559 ตกลงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำได้แน่นอน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!